ไม่มากก็น้อย...บทบาทของกัปตัน "แจ็ค สแปร์โรว์" ในภาพยนตร์ Pirates of the carribian ยิ่งย้ำให้ภาพของโจรสลัด จัดอยู่ในหมวดจินตนาการ - แฟนตาซี มากยิ่งขึ้น และนั่นทำให้เรายิ่งเชื่อว่า มาเฟียแห่งท้องทะเลกลุ่มนี้ น่าจะหมดไปนานแล้ว
แต่ในชีวิตจริง ชั่วไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา กลับมีข่าวโจรสลัดปล้นเรือประมงไทยไปทีเดียว 3 ลำ และตอนนี้ก็ยังอยู่ ณ แห่งใดแห่งหนึ่งในเขตโซมาเลีย
...จนกว่าวันที่ค่าไถ่จะมาแลกตัว
ประสบการณ์ "ค่าไถ่"
ในฐานะคนเคยมีประสบการณ์ ผ่านโจรสลัดมาแล้ว 2 ครั้ง วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ประธานกลุ่มบริษัทศิริชัยการประมง จำกัด ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและ สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด
ราวๆ 7 ปีที่แล้ว เรือ อ.ศิริชัยนาวา 12 ถูกส่งเข้าไปทำการประมงในประเทศโซมาเลีย โดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐพุนท์แลนด์ (Puntland)
ที่ต้องเป็นรัฐพุนท์แลนด์เพราะ ก่อนหน้านี้โซมาเลียเคยเป็นอาณานิคมของหลายประเทศ พอได้เอกราชมา ก็ไม่สามารถรวบรวมเป็นประเทศได้ เพราะแยกเป็นหลายก๊กเหล่า วนเวียนอยู่กับการสู้รบในประเทศ โดยเฉพาะ โซมาลีแลนด์ - ดินแดนทางตอนล่าง กับ พุนท์แลนด์ - ดินแดนตอนบน เป็นชายฝั่งทะเล
"ทั้งๆ ที่เข้าไปพบกับประธานาธิบดีของรัฐ และผู้นำต่างๆ หลายครั้งแล้ว เราก็ยังไม่มั่นใจ จึงจ้างชาวโซมาเลียมาเป็นการ์ด 3 คน กลับหักหลับเอาปืนจี้ไต้ก๋ง เรียกค่าไถ่ 800,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 25,600,000 บาท) แต่โชคดีที่ตอนนั้นเรือรบของประเทศพันธมิตรที่ลาดตระเวณอยู่ มาช่วยทัน และจับโจรสลัด 3 คนมาขึ้นศาลที่เมืองไทย" วิชาญยังจำได้ดี
เหตุการณ์ไม่จบแค่นั้น ญาติโจรสลัดกว่า 10 ชีวิต เอาคืนด้วยการจับเจ้าหน้าที่ บ.ศิริชัยฯ ไปเป็นตัวประกัน ต่อรองขอแลกตัวกับญาติทั้ง 3
"เราพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง ทั้งติดต่อกระทรวงต่างประเทศ ทางนั้นก็ทำได้เพียงแค่ส่งหนังสือ ผมต่างหากที่ต้องเดินทางไปพบนายกฯ ของรัฐบาล(พลัดถิ่น)โซมาเลียที่เคนย่า คณะฑูตโซมาเลียในประเทศต่างๆ ต้องเข้าออกดูไบนับสิบครั้งเพื่อให้เพื่อนและคนรู้จักผู้นำมาช่วยประสานงาน 7 เดือนเสียค่าโทรศัพท์หลายแสน"
ยังมีค่าเดินทางของรัฐมนตรีและตัวแทนโซมาเลียมาเจรจาที่กระทรวงต่างประเทศของไทยหลายครั้ง ต้องขอให้เพื่อนชาวสหรัฐช่วยประสานโซมาเลียหลายรอบ จนในที่สุดก็บรรลุข้อตกลงที่จะปล่อยเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ กลับคืนสู่ประเทศไทย
"ขั้นตอนทั้งหมดบริษัทดำเนินการเองเป็นหลัก หมดเงินไปหลายล้าน กระทรวงต่างประเทศดำเนินการเพียงเรื่องทางราชการที่เกี่ยวข้อง" วิชาญหมายถึงการส่งหนังสือไปยังสถานฑูตไทยในกรุงไนโรบี เคนย่า เพราะไม่มีสำนักงานในโซมาเลีย
กับอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2551 เรือเอกวัฒน์ นาวา 5 ของบริษัทศิริชัยฯ เดินทางไปเยเมนเพื่อส่งมอบอุปกรณ์การประมง เมื่อถึงอ่านเอเดน ถูกโจรสลัดโซมาเลียยึดเรือไว้อีก ในเวลาเดียวกัน เรือรบอินเดีย ผ่านมาเห็นเหตุการณ์ จึงส่งสัญญาณขอขึ้นไปตรวจสอบเรือสัญชาติไทยลำนี้ แต่กลุ่มโจรสลัดขัดขืน เรือรบอินเดียเข้าใจผิดจึงยิงเรือลำนี้จมลง
คราวนั้นลูกเรือหายสาบสูญ 14 คน พบผู้รอดชีวิต 1 คน ซึ่งลอยคอกลางอ่าวเอเดนนานถึง 6 วัน ก่อนเรือที่แล่นผ่านมาจะเข้าช่วยเหลือ
ด้วยฐานะเหยื่อและการต่อรองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน วิชาญจึงให้ข้อมูลได้ละเอียดราวกับเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน รวมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์โซมาเลีย ด้วยความจำเป็น
ว่าง(งาน)เลยมาเป็น "โจร"
ภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down จำลองเรื่องราวมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในเมืองโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย ในปี 1993 สหรัฐและสหประชาชาติ ส่งกองกำลังเข้าไปรักษาความสงบ หนึ่งในแผนยุติสงครามกลางเมือง ระหว่าง Warlord ของแต่ละดินแดน ที่ยืดเยื้อมายาวนาน สร้างความอดอยาก วุ่ยวาย ไร้งานทำ ให้เกิดขึ้นไปทั่ว
แต่ภารกิจก็ล้มเหลว เฮลิคอปเตอร์ Black Hawk สองลำ ถูกยิงตก สหรัฐสั่งถอนกำลังกลับเหลือที่ไว้เพียงกองกำลังยูเอ็น ทิ้งโซมาเลียให้อยู่กับสภาพไร้ขื่อแปต่อไป
รัฐชายฝั่งทางตอนเหนืออย่าง พุนท์แลนด์ ก็ปกครองกันแบบมีปืนกันต่อไป มีความพยายามตั้งตัวเป็นรัฐบาลกลางอยู่เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว แต่ก็ถูกรัฐอิสระตอนใต้-โซมาลีแลนด์ ต่อต้าน
"ย้อนกลับไปเกือบ 20 ปี ก่อนสหรัฐเข้ามาอีก พุนท์แลนด์อยู่ในสภาพไร้กฎหมาย คนโตมาอย่าง outlaw ใครมีอำนาจก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ นำไปสู่การสะสมอาวุธ เพื่อความมั่นคง ปลอดภัย และคุ้มครองตัวเอง จากบนบกก็เลื่อนลงทะเล เพราะบนบกทำงานกันลำบาก จะทำอะไรคนก็รู้จักว่ากลุ่มไหน พวกไหน แต่ในทะเลไม่มีปัญหา เลยเริ่มจากการจับเรือประมงเรียกค่าไถ่ พอจับก็มีรายได้ มีกำลัง พัฒนาจนมีเครือข่ายมากขึ้น" วิชาญ เลคเชอร์วิชาโจรสลัดคร่าวๆ
ด้าน พ.อ.เรือรบ เมืองมั่น นักวิเคราะห์ข่าวกรอง กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งศึกษาและเก็บข้อมูลของโจรสลัดแอฟริกาตะวันออกกลุ่มนี้ในแง่ความมั่นคง ช่วยเสริมข้อมูลว่า กำลังสำคัญมาจากกลุ่มคนว่างงานและชาวประมง
"ชาวประมงไม่พอใจที่ส่งออกสินค้าไม่ได้ ประกอบกับต่างชาติเมื่อเห็นว่าโซมาเลียไม่สามารถคุ้มครองน่านน้ำของตัวเอง ก็เลยมาหากิน พวกโซมาเลียเลยเอาคืนบ้าง และเอาคืนหนักขึ้นเรื่อยๆ และที่ตามมาคื อ ตลาดมืด สำหรับซื้อขายของที่ยึดมาได้"
ในแง่ภูมิศาสตร์ โซมาเลียอยู่ตรงจุดที่เรียกว่า Horn of Africa ติดกับอ่าวเอเดน (Gulf of Aden) เป็นเส้นเดินเรือสำคัญ เป็นทางผ่านจากทะเลอาหรับ ไปทะเลแดง ก่อนเข้าสู่คลองสุเอซ จึงกลายเป็นขุมทองสำหรับโจรสลัด
ก่อนหน้านี้ ราวๆ สิบกว่าปีที่แล้ว ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่องแคบมะละกาก็เคยชุกชุมไปด้วยโจรสลัด แต่ด้วยความร่วมมือกันของ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ช่วยกันปราบปราม ส่งกองกำล้งเข้าลาดตระเวณ ทำให้การปล้นเรือเบาบางลง และช่องแคบมะละกา
"3-4 ปีมานี้ โจรสลัดโซมาเลียเพิ่งจะอาละวาดหนัก และไม่มีใครเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง แม้ปี 2008 สหประชาชาติจะออกมติให้ต่างชาติเข้ามาช่วยกันลาดตระเวณคุ้มครองน่านน้ำของโซมาเลีย ทั้ง สหรัฐ ฝรั่งเศส แต่การปล้นยึดเรือกลับยิ่งมากขึ้น" พ.อ.เรือรบ เผย
"ถ้าไม่ใช่เรือของชาติตัวเอง ความรับผิดชอบของเขาไม่เต็มที่ เกิดไปช่วยตัวประกันแล้วตัวประกันตาย ใครจะรับผิดชอบ แต่ถ้าไม่มีตัวประกัน ยังช่วยได้" ความเห็นเสริมจากวิชาญ
ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์นาวีระหว่างประเทศระบุว่า 5 ปีที่ผ่านมา (2546-2550) การโจมตีของโจรสลัดทั่วโลกลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ จาก 452 ครั้งในปี 2546 เหลือเพียง 282 ครั้งในปี 2550 แต่ถ้าวัดเฉพาะชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกเพียงปีเดียว ตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์
"กับโซมาเลีย เรือไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็มีจำนวนมากขึ้น ทั้งโดนจับ ไปจนถึงโดนเรือจมก็มี ตัวเลขเรือที่ถูกจับปี 2009 มีสูงถึง 32 ลำ ลูกเรือ 533 คน เฉพาะบริเวณอ่าวเอเดน" สถิติล่าสุดจาก ภูมินทร์ หะริณสุต ประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย
โจรสลัดมืออาชีพ
จากปากคำของหลายฝ่าย ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า โจรสลัดแห่งอ่าวเอเดนนั้นขึ้นชื่อเรื่อง "สัจจะในหมู่โจร" ปากบอกจับเพื่อเรียกค่าไถ่ ก็คือเรียกค่าไถ่จริงๆ ไม่มีการทำร้ายให้บาดเจ็บหรือถึงขั้นเอาชีวิต
"ไม่อย่างนั้น ไม่มืออาชีพ และก็คงไม่เป็นโจรสลัดมาได้นานขนาดนี้" พ.อ.เรือรบ วิเคราะห์จากฐานข้อมูลในมือ
ภูมินทร์ เสริมว่า โจรสลัดโซมาเลียเป็นโจรประเภทปล้นเรือเพื่อเรียกค่าไถ่ ไม่ได้มุ่งหวังจะเอาสินค้าเหมือนโจรสลัดที่เคยมีในแถบอินเดีย
"แต่ก่อนพวกโซมาเลียจะใช้สปีทโบ้ทไล่ล่า พอมาเทียบเรือก็ปีนขึ้นไปพร้อมอาวุธ เข้าไปถึงห้องกัปตัน ซึ่งเราไม่มีทางหนีทันอยู่แล้ว เพราะสปีดโบ้ทเร็วกว่าเรือขนสินค้ามาก แต่เดี๋ยวนี้ พัฒนามาปลอมตัวเป็นเรือประมง จอดลอยลำอยู่กลางทะเล แล้วพอเห็นเรือเป้าหมาย ก็จะเอาสปีดโบ้ทลงไล่ล่าเหมือนวิธีแรก พอยึดเรือได้ ก็จะเอาไปลอยลำอยู่ในเขตพื้นที่ของเขา"
เขตพื้นที่ที่ภูมินทร์หมายถึง วิชาญช่วยต่อจิกซอว์ให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นว่า เป็นเมืองเล็กๆ ชื่อ อิลล์ (Eyl) อยู่ชายฝั่งตะวันออกของโซมาเลีย บางทีก็นำตัวประกันขึ้นบกทั้งหมด หรือไม่ก็ปล่อยกัปตันให้อยู่บนเรือ โดยไม่มีการทำร้ายหรือทรมาน
จากนั้นคือ การติดต่อไปยังเจ้าของเรือว่า ต้องการค่าไถ่จำนวนเท่าไหร่ คราวที่เรือศิริชัยนาวา 12 ถูกจับไป โดยเรียกค่าไถ่ไป 800,000 ดอลลาร์ ซึ่งจะคิดตามขนาดของเรือ ปกติอยู่ราวๆ 1- 2 ล้านดอลล่าร์ต่อลำ และจุดนัดจ่ายส่วนใหญ่อยู่ที่ดูไบหรือไม่ก็เคนย่า
ลองเอาตัวเลข 32 ลำที่ถูกจับไปเมื่อปีที่แล้วคูณด้วยค่าไถ่เข้าไป ได้เท่าไหร่นั่นคือเงินคงคลังของโจรสลัดโซมาเลีย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยเจอเบี้ยว
"ถามว่าทำไมถึงยอมจ่าย...เพราะชีวิตคนประเมินค่าไม่ได้" วิชาญ ตอบ
ด้วยฐานะทางการเงินที่อู้ฟู่มากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับ เจ้าของเรือเริ่มรู้ว่าลู่ทางไหนเสี่ยงต่อการถูกปล้น ก็เลี่ยงทางนั้น กลุ่มโจรสลัดจึงต้องหากินไกลและไม่เป็นหลักเป็นแหล่งมากขึ้น
ล่าสุด เมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมา เรือประมงสัญชาติไทย พรานทะเล 11 ,12 และ 14 ลูกเรือ 77 คน ถูกโจรสลัดเข้าโจมตี ขณะแล่นอยู่ห่างจากชายฝั่งของโซมาเลียออกไปเกือบ 2,000 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ปล้นเรือที่มีระยะห่างจากชายฝั่งมากสุดเท่าที่เคยมีมา
"เราพยายามไม่เข้าไปเขตมหาสมุทรอินเดียและอ่าวเอเดน แต่ก็ไม่รู้อีกว่าจะโดนตอนไหน เพราะมันไปได้หมดแล้ว" วิชาญ ยังพูดถึง ธุรกิจนายหน้าที่อาสาเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจากับโจรสลัด แต่สนนราคาก็ไม่น้อย มิหนำซ้ำ บางทียังซูเอี๋ยกับโจรสลัดเสียเอง
สอยแล้วลอยนวล
"เราได้แจ้งไปยังสถานฑูตไทยในกรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า ให้ช่วยติดต่อไปแล้วครับ" กองสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ บอกถึงมาตรการการช่วยเหลือเรือประมง 3 ลำที่เพิ่งโดนจับไป
เพราะในโซมาเลียไม่มีสถานฑูตไทยจึงต้องทำเช่นนั้น แต่เมื่อถามถึงการเจรจาและค่าไถ่ เจ้าหน้าที่จากกองสารนิเทศฯ ตอบว่า เป็นเรื่องระหว่างเจ้าของเรือและโจรสลัดเท่านั้น รัฐบาลไม่มีนโยบายเข้าไปแทรงแซงนอกเหนือจากภารกิจด้านการฑูต
จนถึงขณะนี้ ข่าวคราวล่าสุดของเรือประมงไทยทั้งสามยังไม่มีออกมา แต่ก็เชื่อว่ายังปลอดภัยดี อยู่ที่โซมาเลีย
"รัฐบาลโซมาเลียเองก็ขอให้ต่างชาติเข้ามาช่วยปราบปราม เพราะเขาถือว่าเป็นผู้ก่อการร้าย โดยเฉลี่ยแล้ว เรือที่โดนจับ กว่าจะต่อรอง จ่ายค่าไถ่กันได้ ก็ราวๆ 3 เดือน โดนจับเฉลี่ยเดือนละ 3 ลำ เท่ากับว่าเดือนหนึ่งๆ จะมีเรือที่ถูกจับและลอยลำอยู่ราว 10 ลำ" ภูมินทร์ ให้ข้อมูล
สุดท้าย เจ้าของเรือต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อปรึกษา และหาวิธีป้องกันและแก้ไขกันเอง
"เรือเองต้องมีระบบติดตั้งไว้ประสานงานกับกองกำลังนานาชาติ เผื่อเกิดเรื่องจะได้สามารถบอกตำแหน่งหรือชี้เป้า" วิชาญ เผย
ภูมินทร์เสริมว่า นอกจากการทำงานให้รัดกุมที่สุด กลุ่มธุรกิจเรือประมงและขนส่งได้หน่วยงานราชการอย่าง ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล.เข้ามาเป็นตัวกลาง คอยประสานกับกองกำลังนานาชาติที่ตรวจการณ์อยู่ ว่า จะลอยลำอยู่ตรงไหน เวลาเท่าไร แล้วจะแจ้งมาให้ทางเรือไทยรับทราบเพื่อการจัดเวลา เส้นทางที่น่าจะปลอดภัยที่สุด
"เราก็แจ้งไปทาง ศรชล.เพื่อให้ประสานงานต่อ แต่ต้องบอกันเป็นโค้ดนะ ไม่อย่างนั้นโจรสลัดจะรู้ด้วย"
ครั้งหนึ่ง สมาคมเจ้าของเรือไทย เคยหารือกันเรื่องการขอติดอาวุธเป็นกรณีพิเศษเพื่อป้องกันตัว เนื่องจากกฎหมายสากลห้ามไม่ให้เรือการค้า ติดอาวุธ แต่สุดท้ายวาระก็ตกไป ด้วยเหตุผลสำคัญว่า ไม่มีประเทศไหนยอมให้เรือพกพาอาวุธเข้ามาในน่านน้ำ
โจรสลัด จึงสลัดการจับกุม คุมตัวประกันขึ้นฝั่ง และยังลอยนวล...
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20100518/116022/ตามล่า!-โจรสลัดโซมาเลีย.html