หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เรดาร์ที่หายไป

โดยคุณ : superboy เมื่อวันที่ : 09/11/2017 14:37:52

เห็นว่าช่วงนี้ห้องเงียบมาก ผมเลยเขียนบทความสั้น ๆ แล้วนำมาลงที่นี่ด้วย อาศัยข้อมูลในมือเขียนวันเดียวจบ แต่กว่าจะจบก็เล่นเอาหมดวัน ฮา..... ตั้งชื่ออย่างกับวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน อ่านกันพอขำ ๆ นะครับ ;)

                        -------------------------------------------------------------------------------

ต้นฉบับตรงนี้ครับ -------> The Missing Radar

 





ความคิดเห็นที่ 1


เรือหลวงชลบุรีหมายเลข 331 เป็นหนึ่งในสามเรือเร็วโจมตีอาวุธปืนชั้น MV400 (หรือชั้นเรือหลวงชลบุรี) สร้างโดยอู่ต่อเรือ Cantiere Navale Breda ประเทศอิตาลี เข้าประจำการในปี 2526 ระวางขับน้ำสุงสุด 450 ตัน ยาว 60.4 เมตร กว้าง 8.8 เมตร นับเป็นเรือเร็วโจมตีที่มีขนาดใหญ่โตมากที่สุดลำหนึ่ง

                ระบบตรวจจับเป้าหมายบนเรือหลวงชลบุรี ใช้เรดาร์ ZW06 จากบริษัท Thales Nederland ซึ่งเป็นเรดาร์เดินเรือและเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ทำงานในโหมด I-band หรือ X- band แล้วแต่จะเรียก ช่วยในการลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ มีระบบป้องกันสงครามอิเลคทรอนิกส์ ออกแบบให้ใช้งานบนเรือตรวจการณ์ไปจนถึงเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเบา นับเป็นเรดาร์เดินเรือตัวท๊อปบนสุดในเวลานั้น มีระยะทำการอยู่ที่ประมาณ 46 กิโลเมตร ได้รับความนิยมพอสมควรคือขายได้ถึง 72 ระบบ ลูกค้ารายแรกก็คือเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ซื้อไปติดตั้งในปี1972 ก่อนบราซิลซื้อไปใช้บนเรือฟริเกตชั้น Niteroi แค่เพียงนิดหน่อย

                ปัจจุบันเรือหลวงชลบุรีมีอายุอานาม34 ปีเข้าไปแล้ว บางสิ่งบางอย่างจึงได้เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา มีการถอดเรดาร์ ZW06 ออกไปจากเสากระโดง แล้วติดตั้งเรดาร์เดินเรือสีขาวสว่างโร่ทดแทน ไม่แน่ใจว่าเรดาร์หมดอายุไข ราคาซ่อมบำรุงแพงเกินกำลัง หรือเรดาร์ที่ติดเข้าไปใหม่ดีกว่ากว่าเดิม เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ตซึ่งเป็นเรือชั้นเดียวกัน ก็ถอดเรดาร์ZW06 ออกไปแล้วเช่นกัน ทว่าเรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัย ยังคงติดตั้งที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง อาจเป็นไปได้ว่า...เรือ 3 ลำหลังมีขนาดใหญ่โตพอสมควร จึงติดเรดาร์เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องถอดของเก่า คาดเดากันไปตามภาษาคนเขียนบทความ

 

                 เรือหลวงชลบุรี ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จำนวน 2 กระบอก ทำงานคู่กับเรดาร์ควบคุมการยิง WM22 mod 61 ปืนกลอัตโนมัติลำกล้องแฝด 40/70 ทำงานคู่กับระบบเรดาร์/ออปโทนิค LIROD-8 ซึ่งมีจุดเด่นคือการจัดการเป้าหมายบนฟากฟ้า ติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยเรดาร์ Elettronica ELT 211 ระบบส่งสัญญานรบกวนเรดาร์ Elettronica ELT 318 รวมทั้งระบบเป้าลวง Sippican Mk 33 RBOC อีกจำนวน 4 แท่นยิง ถ้าเปลี่ยนปืน 76/62 มม.ท้ายเรือมาเป็นจรวดเอ๊กโซเซ่ต์ 4 นัด จะกลายเป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีครบเครื่องเรื่องต้มยำที่แท้จริง

                ในภาพเล็กแสดงระบบเรดาร์ ZW06 บนชั้นสองของเสากระโดงเรือ และมีเรดาร์เดินเรืออีก 1 ตัวบนหลังคาสะพานเดินเรือ ส่วนภาพใหญ่จะเห็นว่าไม่มีแล้ว กลายเป็นเรดาร์เดินเรือสีขาวจำนวน 2 ตัวทดแทน ส่วนระบบเรดาร์ควบคุมการยิงและระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ ยังปรกติสุขอยู่ที่เดิมครบครันทั้งหมด

เรดาร์มาตราฐานกองทัพเรือไทย

                ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปี 2531 ระบบเรดาร์เกือบทั้งหมดที่ทัพเรือจัดหาใหม่ ล้วนมาจากบริษัท Signaal ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ก่อนจะกลายมาเป็น Thomson-CSF Signaal และ Thlaes Nederland ในปัจจุบัน) ประกอบไปด้วย เรดาร์ควบคุมการยิงตระกูล WM20 เรดาร์/ออปโทนิค LIROD-8 เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW06 รวมทั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ DA05  ทำงานควบคู่กับระบบสงครามอิเลคทอนิกส์จากประเทศอิตาลี ประกอบไปด้วย ระบบแจ้งเตือนภัยเรดาร์ Elettronica ELT 211 และระบบส่งสัญญานรบกวนเรดาร์Elettronica ELT 318 มีการติดตั้งบนเรือรบใหม่จำนวนมากถึง 12 ลำ

                การติดตั้งเรดาร์เป็นไปตามขนาดเรือ บางลำติดตั้งครบครันทุกระบบ ได้แก่เรือหลวงมกุฎราชกุมาร บางลำติดแค่เพียง 1 ถึง 2 ระบบ ได้แก่เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้นเรือหลวงปราบปรปักษ์ และชั้นราชฤทธิ์ บางลำติดออปชั่นเสริมเป็นระบบนำวิถีจรวดต่อสู้อากาศยาน ได้แก่เรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังจึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้นปี 2534มีการจัดหาระบบเรดาร์จากอังกฤษ เพื่อติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธ์ และได้มีการจัดระบบเรดาร์จากจีน มาติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้นเจียงหูและชั้น F-25Tปิดฉากระบบเรดาร์มาตราฐานจากบริษัท Signaal ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

                ประมาณปี 2531 กองทัพเรือไทยได้ผุดแผนสำคัญแผนหนึ่ง คือการติดตั้งเรดาร์และอาวุธจากค่ายตะวันตก บนเรือฟริเกตชั้นเจียงหูจากจีนจำนวน 4 ลำ ต่อมาได้ยกเลิกไปด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณ เรื่องคุณภาพการต่อเรือของจีน รวมทั้งปัญหาการเมืองเล็ก ๆ น้อย ๆ (แต่ไม่น้อย) ท้ายสุดจึงได้เรือรบติดตั้งอาวุธและเรดาร์จากจีนทั้งลำ โชดยังดีว่าเรือฟริเกตชั้น F-25T หรือชั้นเรือหลวงนเรศวร ยังคงติดตั้งอาวุธและเรดาร์จากค่ายตะวันตกตามแผนเดิม แต่บังเอิญแผนเดิมที่ว่านั้น มีอาวุธและเรดาร์จากจีนปะปนอยู่ด้วยนะครับ

                ปัจจุบันอะไรที่มาจากจีนได้กลับบ้านเก่าไปหมดแล้ว แทนที่ด้วยอาวุธและเรดาร์รุ่นใหม่จากค่ายตะวันตก เป็นเพราะใช้งานค่อนข้างยุ่งยากวุ่นวาย เกิดปัญหาจุกจิกมากมายตามมาไม่เว้นวัน อีกทั้งคุณภาพของสินค้าไม่เป็นไปตามใบปลิว นับเป็นบทเรียนราคาแพงและเป็นกรณีศึกษาที่ดีมาก

การปรับปรุงเรือฟริเกตจากจีน

            เรือหลวงเจ้าพระยาหมายเลข 455 เป็นหนึ่งในสี่เรือฟริเกตอาวุธนำวิถีชั้น Type 053 (หรือชั้นเจียงหู) จากประเทศจีน เป็นหนึ่งในสองของเรือฟริเกตชั้น Type 053HT ซึ่งไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือ ทั้งยังเป็นเรือฟริเกตลำแรกจากจำนวน 6 ลำที่เราสั่งซื้อจากประเทศจีน ตามโครงการออกสู่ทะเลลึกหรือ Blue Sea Project เข้าประจำการในปี 2534 ระวางขับน้ำสุงสุด 1,924 ตัน ยาว 102.87 เมตร กว้าง 11.36 เมตร

                ตลอด 20 กว่าปีที่ได้รับใช้ประเทศ เรือหลวงเจ้าพระยามีการปรับปรุงเรือเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิเช่น ติดตั้งเรดาร์เดินเรือเพิ่ม ติดตั้งเครื่องรับสัญญานผ่านดาวเทียมและกล้องตรวจการณ์กลางคืน ถอดระบบรบกวนสัญญาณเรดาร์ Type 981-2 ออกเพราะหมดอายุ กระทั่งเมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว เรือได้เข้าอู่แห้งเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ครั้งล่าสุด นอกจากปรับปรุงคืนสภาพตามปรกติแล้ว ยังได้ติดตั้งเครนและเรือยางเพิ่มเติมจนครบสองลำ ได้ Satcom ขนาดบักเป้งเพิ่มขึ้นมา 1 ใบ แต่ดันมีเรื่องที่ทำให้ต้องใจหายใจคว่ำ เมื่อเรดาร์ตรวจการณ์ Type354 Eye Shield ได้หายไปจากยอดเสากระโดงเรือ โดยมีกล้องตรวจการณ์กลางคืนติดตั้งทดแทน

 

                Type 354 Eye Shield เป็นเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำและทางอากาศ เป็นรุ่นก๊อปปี้ของเรดาร์ Fut-N (Slim-Net) จากรัสเซีย ซึ่งต้นฉบับมีระยะตรวจจับมากถึง 147 กิโลเมตร เรดาร์ของจีนมีสเป็กและตัวเลขที่น้อยกว่า สามารถตรวจจับเป้าหมายขนาด 10 ตารางเมตรได้จากระยะ 50 ไมล์ทะเล การหายตัวไปของเรดาร์ Type 354 Eye Shield  เท่ากับยกภาระอันหนักอึ้งให้กับเรดาร์เดินเรือ Sperry Marine BridgeMaster E และ Furuno ในการค้นหาเป้าหมายที่อาจจะเป็นภัยคุกคามระดับร้ายแรง ผู้เขียนเห็นภาพครั้งแรกบอกได้คำเดียว...หนักใจ !!!

                เรือหลวงเจ้าพระยารวมทั้งเรือหลวงบางปะกง ยังมีเรดาร์ควบคุมการยิง Type 343 Sun Visor ซึ่งใช้ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศได้ประมาณ 40 ไมล์ทะเล  และเรดาร์ควบคุมการยิงType 352 Square Tie ซึ่งใช้ตรวจการณ์พื้นน้ำได้ประมาณ 40 ไมล์ทะเลเช่นกัน แต่เรดาร์ทั้งสองไม่ได้ถูกออกแบบให้ทำงาน 24 ชั่วโมง จะใช้งานก็ต่อเมื่อยิงปืนเรือหรือจรวดต่อสู้เรือรบ ทั้งยังมีความเทอะทะ ติดตั้งอยู่ในจุดไม่เหมาะสม กินไฟค่อนข้างเยอะ รวมทั้งอื่น ๆ ทั้งหลายทั้งปวง ภารกิจหน้าที่จึงเป็นของเรดาร์เดินเรือตามระเบียบ

ทำไมถึงติดตั้งเรดาร์เดินเรือทดแทนของเดิม

                เริ่มจากเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีกันก่อน การเปลี่ยนจากเรดาร์ ZW06 มาเป็นเรดาร์เดินเรือ Furuno ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก คุณสมบัติอาจลดลงบ้างแต่ก็ไม่มาก มีผลต่อการทำภารกิจหลักและภารกิจรองน้อยมาก เนื่องจากเรือมีเพียงปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.และปืนกลขนาด 40/70 มม.ทำการรบได้ในระยะหวังผลไม่เกิน 8 กิโลเมตร มากกว่านั้นโอกาสยิงถูกน้อยลงตามระยะทาง

 

                ในภาพคือเรือชื่อ LÉ William Butler Yeats หมายเลข P63 ของประเทศไอร์แลนด์ เป็นเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้น Samuel Beckett อายุหนึ่งขวบปี ระวางขับน้ำ 2,256 ตัน ยาว 90 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ Kelvin Hughes SharpEye S-band และ X-band อย่างล่ะ 1 ตัว มีปืนใหญ่ 76/62 จำนวน 1 กระบอกเป็นอาวุธหลัก ทำงานควบคู่กับระบบออปโทรนิค Sea Eagle ของ Chess Dynamics อาวุธรองเป็นปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนกลเบาขนาด 7.62 มม.อีกจำนวนหนึ่ง

                Kelvin Hughes SharpEye เป็นเรดาร์เดินเรือทางทหารตัวท๊อป กองทัพเรือไทยก็ใช้งานอยู่บนเรือหลวงนเรศวร ตรวจจับเป้าหมายได้ดีกว่าเรดาร์เดินเรือพาณิชย์ แต่ระยะตรวจจับไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ หลายประเทศในยุโรปนิยมใช้แค่เรดาร์เดินเรือบนเรือตรวจการณ์ทุกขนาด เพราะไม่คิดจะเอาไปรบกับใครอย่างเป็นจริงเป็นจัง การหายตัวไปตลอดกาลของเรดาร์ZW06 ส่งผลกระทบกับเรือหลวงชลบุรีไม่มากเท่าไหร่

                แต่กับเรือหลวงเจ้าพระยานั้นตรงกันข้าม เพราะเป็นเรือฟริเกตติดจรวดต่อสู้เรือรบ จำเป็นต้องตรวจสอบและพิสูจน์ทราบเป้าหมายก่อนปล่อยจรวด การหายตัวไปตลอดกาลของเรดาร์ Type 354 Eye Shield ส่งผลต่อการทำภารกิจของเรือค่อนข้างใหญ่หลวง แล้วทำไมกองทัพเรือถึงได้ถอดถอน

                หมดอายุการใช้งาน ? ไม่มีอะไหล่ในการซ่อมบำรุง ? เหตุผลประการแรกมีความเป็นไปได้ เพราะอายุของสินค้าจีนค่อนข้างสั้นตามราคา และเมื่อพังแล้วต้องซื้อของใหม่สถานเดียว แต่เหตุผลประการที่สองไม่น่าจะใช่ เรือฟริเกตชั้นเจียงหูของพม่าและบังคลาเทศ ซึ่งได้เปลี่ยนไปใช้งานจรวดC-802 กันหมดแล้วนั้น ยังคงใช้งานเรดาร์ตัวนี้ตราบเท่าทุกวันนี้ แปลได้ว่าอะไหล่ทุกชิ้นยังขายในท้องตลาด มีอายุค่อนข้างสั้นตามราคาเฉกเช่นปรกติ ด้วยเหตุนี้เอง...ผู้เขียนจึงมองไปยังเหตุผลประการที่สาม นั่นคือกองทัพเรือต้องการลดบทบาทและภารกิจเรือ

                เรือหลวงบางปะกงที่เป็นฝาแฝดเรือหลวงเจ้าพระยานั้น ปัจจุบันยังคงซ่อมบำรุงตามวาระในอู่แห้ง ถ้ากลับมาอีกครั้งแล้วเรดาร์ Type 354 Eye Shield หายตัวไป จะสื่อความหมายอนาคตเรือทั้งสองลำได้อย่างชัดเจน

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 31/10/2017 22:40:26


ความคิดเห็นที่ 2


ภัยคุกคามที่อาจต้องเผชิญ

            ทั้งเรือหลวงชลบุรีและเรือหลวงเจ้าพระยา มีภารกิจต้องไปเข้าเวรปกป้องอธิปไตย ณ.ทัพเรือภาคที่สามฝั่งทะเลอันดามัน  ซึ่งพรมแดนส่วนใหญ่ติดกับมาเลเซียและพม่า ภัยคุกคามที่อาจต้องเผชิญก็คือพม่าและมาเลเซีย ที่ไกลออกไปอีกหน่อยอย่างบังคลาเทศ สิงคโปร์ รวมทั้งอินโดนิเซียกับบรูไน โอกาสปะทะกันแทบเป็นไปไม่ได้

                เรือหลวงชลบุรีทำได้แค่รบกับโจรสลัดหรือเรือตรวจการณ์ด้วยกัน ส่วนเรือหลวงเจ้าพระยาต้องรับศึกค่อนข้างใหญ่ ด้วยว่าตนเป็นเรือรบลำใหญ่ที่สุดในฝั่งอันดามัน ถึงแม้จะมีเรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวรเข้ามาประจำการตามวงรอบ แต่ใครเล่าจะหยั่งรู้อนาคตตนเองได้ ปะเหมาะเคราะห์ร้ายเรือหลวงเจ้าพระยาอาจต้องออกโรงเพียงลำพัง จึงเป็นที่มาของการเปรียบเทียบข้อมูล

                ออกตัวกันก่อนนิดส์นึง...ความสัมพันธ์ของไทยกับเพื่อนบ้านทุกประเทศ อยู่ในระดับดีมากจนถึงมากที่สุด ความน่าจะเป็นในการปะทะกันมีไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ และเรากำลังคุยกันถึง 1 เปอร์เซนต์ที่ว่านั้นอยู่

 

                เริ่มยกตัวอย่างจากฝั่งมาเลเซียกันก่อน พวกเขามีเรือคอร์เวตชั้น Kasturi จำนวน 2 ลำ ระวางขับน้ำ 1,850 ตัน ยาว 97.3 เมตร กว้าง 11.5 เมตร มีจรวดต่อสู้เรือรบเอ็กโซเซ่ต์MM40 ระยะยิง 72 กิโลเมตรเป็นลูกยาว มีเรดาร์ DA08 ระยะทำการไกลถึง 193 กิโลเมตรเป็นกล้องส่องดูดาว ส่วนลำถัดไปคือเรือฟริเกตชั้น Lekiu จำนวน 2 ลำ ระวางขับน้ำ 2,270 ตัน ยาว 106 เมตร กว้าง 12.75 เมตร มีจรวดเอ็กโซเซ่ต์ MM40 และเรดาร์ DA08 เหมือนกับลำแรก รวมทั้งมีจรวดต่อสู้อากาศยาน VL-Seawolf ไว้ป้องกันตนเอง นับว่าเขี้ยวเล็บแหลมคมในระดับปานกลาง

                เอ็กโซเซ่ต์ MM40 อาจมีระยะยิงไม่ไกลเท่าไหร่ แต่ไกลกว่าจรวด C-801 อย่างไม่ต้องสงสัย และไม่ต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิงจรวด เรือเรายังมีปัญหาในการค้นหาเป้าหมาย เพราะเรือมาเลเซียมีเรดาร์ที่ทันสมัยกว่ามาก ระยะตรวจจับก็ไกลกว่ากันมาก ฝากผู้อ่านไว้เป็นการบ้านข้อแรกสุด ผู้เขียนมืนตื๊บคิดอะไรไม่ออกแล้ว

 

                หันมาดูทางฝั่งประเทศพม่ากันบ้าง ทุกท่านคงคุ้นเคยเรือฟริเกตชั้นเจียงหูจำนวน 2 ลำ และเรือฟริเกตสร้างเองจำนวน 3 ลำกันเป็นอย่างดี จึงขอตัดทิ้งและนำเรือขนาดเล็กมาเปรียบเทียบบ้าง ลำแรกเป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถียาว 49 เมตร รูปทรงลดการสะท้อนของคลื่นเรดาร์ แบกจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4 นัด มีระบบดาต้าลิงค์ ระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ ระบบเป้าลวง และอาวุธป้องกันตนเองรุ่นท๊อปของกองทัพ เรดาร์เดินเรือ 2 ตัวบนเรือหลวงเจ้าพระยา ต้องรับบทหนักในการตามล่าหาตัวจิ๊ด และต้องหาเจอก่อนที่อีกฝ่ายจะปล่อยจรวด

                เรือลำถัดไปเป็นเรือคอร์เวตความยาว 77 เมตร ระวางขับน้ำไม่น่าเกิน 1,800 ตัน ติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A และไอ้โน่นไอ้นั่นไอ้นี่ครบครันเหมือนเรือฟริเกต นอกจากจะมีเรดาร์ Type360 เหมือนเรือหลวงกระบุรีแล้ว ยังมีเรดาร์ RAWL-02 Mk III ซึ่งตรวจจับเป้าหมายได้ไกลสุดถึง 350 กิโลเมตร ว่ากันตามตัวเลขซึ่งไม่เคยหลอกใคร ต้องเอาเรือหลวงนเรศวรหรือเรือหลวงตากสินมาปะทะสถานเดียว เพราะมีเรดาร์ตระกูลเดียวกันระยะทำการใกล้เคียงกัน จึงพอฟัดพอเหวี่ยงไม่มีการแบกน้ำหนัก ส่วนเรือหลวงเจ้าพระยาโฉมใหม่ของเรา ก็นะ..!!!

เรือหลวงจักรีนฤเบศรกับกรณีศึกษา

            กาลครั้งหนึ่งยังไม่นานเท่าไหร่ กองทัพเรือไทยมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่ง ซึ่งมักถูกค่อนขอดว่าเป็นเรื่องบรรทุกเฮลิคอปเตอร์อยู่เสมอ ตอนนั้นเราต้องการออกสู่ทะเลลึก ไปกันเป็นกองเรือ..โดยมีเครื่องบินขับไล่คอยคุ้มกัน จึงจำเป็นต้องมีเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล ไว้ส่องเครื่องบินข้าศึกหรืออะไรก็ตามที่ลอยมาจากฟากฟ้า เมื่อหาเจอก็ส่งเครื่องบินแฮริเออร์ไปจัดการ แผนของเราก็มีง่าย ๆ แค่นี้แล

                เพราะเราไม่มีอากาศยานเตือนภัยล่วงหน้า เรดาร์ระยะไกลจึงจำเป็นกับการป้องกันภัยทางอากาศ แต่เพราะงบประมาณเริ่มมีปัญหาตามมา กองทัพเรือจึงได้จัดหาเรดาร์มือสองรุ่น  AN/SPS-52C จากอเมริกามาใช้ไปก่อน เรดาร์ตัวนี้แปลงร่างมาจาก AN/SPS-39 ค้นหาเป้าหมายได้ 3 มิติที่ระยะไกลสุด 445 กิโลเมตร อ่านตัวเลขจากสเป๊กแล้วโหดมาก ส่วนของจริงใช้งานได้บ้างไม่ได้บ้างตามสภาพ

                เมื่อเครื่องบินแฮริเออร์ปลดประจำการ เรดาร์  AN/SPS-52C ปลดประจำการ แผนการออกสู่ทะเลลึกปลดประจำการ กองทัพเรือไทยจึงได้มีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง ซึ่งมักถูกค่อนขอดว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินอยู่เสมอ มีการติดตั้งระบบดาต้าลิงค์ ระบบอำนวยการรบ รวมทั้งเรดาร์ตรวจการณ์ใหม่เอี่ยมรุ่น Sea Giraffe AMB ซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก ระยะตรวจจับไกลสุดเพียง 180 กิโลเมตร ความเห็นส่วนตัวผู้เขียน ระยะตรวจจับเท่านี้ก็เพียงพอเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพราะเรือไม่ได้ออกไปจากน่านน้ำตนเอง มีเครื่องบินขับไล่และเรือฟริเกตคอยช่วยคุ้มกัน ภารกิจหลักคือเป็นฐานให้กับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ จะเอาอะไรกันมากมายใช่ไหมครับคุณ

 

                แต่ก็นั่นแหละ Sea Giraffe AMB ถ่ายภาพไม่ขึ้นแม้แต่น้อย เรือหลวงจักรีนฤเบศรมีขนาดใหญ่โต เสากระโดงทั้งสุงทั้งใหญ่ที่สุดในอาเซียน เหมาะสมกับเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกลรุ่น Sea Giraffe 4A ซึ่งใช้เทคโลโลยี AESA ตรวจจับได้ไกลสุดถึง 350 กิโลเมตร ตอนที่เราปรับปรุงเรือเรดาร์ตัวนี้ยังไม่ขาย ทว่านาทีนี้พร้อมแล้วสำหรับผู้ต้องการของ แบ่งงบประมาณมาซักก้อนได้ไหมครับทร.ที่รัก ปีงบประมาณหน้าไม่ทันผู้เขียนจะรอปีถัดไปได้

บทสรุปที่ยังไม่ใช่บทสรุป

                การไม่ปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยาเหมือนเรือหลวงกระบุรีก็ดี การถอดถอนเรดาร์ Type 354 Eye Shield ออกจากเรือก็ดี  พอคาดเดาความหมายได้บางอย่าง ประการแรกสุดเห็นจะเป็นเรื่องงบประมาณ เพราะการปรับปรุงเรือหลวงกระบุรีมีมูลค่าลำล่ะ 1,542 ล้านบาท  นับรวมราคาจรวด C-802A จำนวน 841 ล้านบาทเข้าไปด้วย (ไม่รู้เหมือนกันว่าได้มากี่ลูก) ประการที่สองก็คือจรวดต่อสู้เรือรบของเดิม จะทำอย่างไรดีเพราะยังไม่หมดอายุการใช้งาน เอาไปติดเรือลำอื่นก็แสนลำบาก ต้องขนเรดาร์ควบคุมการยิงและระบบอำนวยการรบไปด้วย เพราะอาวุธจีนคุยกับอุปกรณ์จากจีนเท่านั้น อุปกรณ์ใหม่กว่าหรือเก่ากว่ากันก็คุยไม่รู้เรื่อง

                สาเหตุประการที่สามเกี่ยวเนื่องกับอายุของจรวด C-801 ซึ่งกำลังจะหมดไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ส่งผลกับเรือหลวงเจ้าพระยาอย่างชัดเจน กลายเป็นปัญหางูกินหางวกไปวนมา กองทัพเรืออาจต้องการซื้อเวลา ด้วยการถอดเรดาร์ที่หมดอายุไขออกไปชั่วคราว ครั้นจรวดหมดอายุไขตามกันทั้งหมด จึงให้ผู้ใหญ่ในตอนนั้นตัดสินใจเด็ดขาด อาจจัดหาจรวดและเรดาร์รุ่นใหม่จากยุโรป แยกตัวเป็นเอกเทศจากระบบอำนวยการรบของจีน

                หรืออาจตัดสินใจมานานแล้ว ว่าถึงตอนนั้นก็ตามนั้นนั่นแหละครับ เรือหลวงเจ้าพระยารวมทั้งเรือหลวงบางปะกง ถูกลดบทบาทและภารกิจลงตามคุณสมบัติของเรือ เราอาจเห็นเรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสิน มาเข้าเวรฝั่งทะเลอันดามันชนิดถาวร ยกอ่าวไทยให้กับเรือหลวงท่าจีนลำใหม่และฝาแฝดที่ยังไม่ได้สั่งซื้อ ก็ว่ากันไปครับ

รือหลวงสายบุรี FF-458 ภายหลังการปรับปรุงใหม่ เป็นเรือฟริเกตที่ใหม่ที่สุดในฝั่งทะเลอันดามัน ใหญ่ที่สุดทันสมัยที่สุด และมีจรวดต่อสู้เรือรบ C-802A ระยะยิงไกลสุด 180 กิโลเมตรเป็นอาวุธเด็ดในการป้องกันน่านน้ำ ผู้เขียนรอว่าจะมีการทดสอบยิงกันเมื่อไหร่ ถ้ายังไม่มีก็รอกันไปจนกว่าลูกชายคนโตจะบวช ตอนนี้ยังหาแม่ของลูกไม่ได้เลยครับ ฮา....

                                             -------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

http://thaiseafarer.com/navalforces/fac331.php

http://www.rtna.ac.th/training56/455.html

https://web.facebook.com/FF455/?_rdc=1&_rdr

http://coastmonkey.ie/navys-new-ship-william-butler-yeats-arrives-into-cobh/

http://www.malaysiandefence.com/armada-2017/

https://en.wikipedia.org/wiki/Lekiu-class_frigate

https://defence.pk/pdf/threads/myanmar-defence-forum.347379/page-66

http://www.thaifighterclub.org/webboard/17274/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B5.html

https://www.kelvinhughes.com/maritime/naval-radar

http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=12&t=5736&start=200

http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=13&t=7818&start=20

http://www.thales7seas.com/html_2014/product307.html

เอกสารดาวโหลด : A Brief History of Chinese Naval Radar and EW dev.pdf

 

ปล.ตรวจทานเพียงรอบเดียว คงมีข้อมูลผิดพลาดหรือใช้คำเขียนผิด ๆ ถูก ๆ ไปบ้างเน่อ

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 31/10/2017 22:42:35


ความคิดเห็นที่ 3


ขอบคุณสำหรับบทความครับ ผมมารอบทความของคุณ superboy ตลอดเลยครับ 555 อ่านเพลินดี    พึ่งทราบว่าชั้นเจ้าพระยาปลดเรดาห์หลักออก หรือ ทร จะปรับให้เป็นเรือตรวจการณ์แทน แบบนี้ฟรีเกตที่มียิ่งน้อยลงไปอีก..........     ส่วนเรดาห์ AMB นี่เล็กจริงครับดูกี่ทีๆ ก็เล็กมาก ส่วนเรดาห์ 4A จากภาพโมเดลเรือหลวงท่าจีนก็รู้สึกว่าไม่ได้ใหญ่มากนะครับ น่าจะพอๆกับ  smart-s เลย หวังว่าคงไม่เล็กกว่า

โดยคุณ akekolos เมื่อวันที่ 31/10/2017 23:46:36


ความคิดเห็นที่ 4


นอกจากเรดาร์หายไปแล้ว เสากระโดงยังเปลือยล่อนจ้อนอีกต่างหาก ปรกติจะมีแผ่นเหล็กปิดด้านข้างประมาณ 3/5 เหมือนเรือหลวงสายบุรีภาพล่างสุด ไม่ได้ส่งผลต่อการใช้งานอะไรหรอกครับ แต่มันไม่สวยอย่างแรงเนี่ยสิ เส้าจัย >_<

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 01/11/2017 07:32:18


ความคิดเห็นที่ 5


ยอดเยี่ยมเหมือนเดิมครับ นั่งอ่านจนลืมยกกาแฟมาดื่ม ต้องไปชงใหม่เลย ขอบคุณครับ

โดยคุณ เด็กทะเล เมื่อวันที่ 01/11/2017 08:33:29


ความคิดเห็นที่ 6


ขอบคุณครับ  เห็นใน fb เลยวิ่งมาอ่านในนี้

โดยคุณ jeab2511 เมื่อวันที่ 01/11/2017 11:39:54


ความคิดเห็นที่ 7


รบกวนช่วยอธิบายหน่อยครับ คือผมยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับคำว่าเรดาร์ควบคุมการยิง ดังนี้ครับ

1.เรดาร์ควบคุมการยิงของอาวุธนำวิถี กับ ของปืนเรือ มีหลักการทำงาน หรือ คุณสมบัติแตกต่างกันยังไง

   แล้วเรดาร์ควบคุมปืนหลัก และ ปืนรองของเรือ จำเป็นต้องแยกชุดกันหรือไม่

2. เรดาร์ควบคุมการยิงของอาวุธนำวิถีเนี่ย มันควบคุมการยิงยังไงครับ เพราะที่ผ่านมาผมเคยเข้าใจว่า

    เมื่อตรวจจับเป้าหมายได้ และ อยู่ในระยะยิงของจรวดแล้ว เราก็ยิงไปในทิศทางที่เป้าหมายมุ่งหน้ามา

    แล้วระบบเซ็นเซอร์ของจรวดจะหาเป้าหมายแล้วพุ่งเข้าทำลายเอง (นึกถึงตอนอาร์เจนตินายิง Exocet ใส่เรืออังกฤษ )

   หรือว่าความจริงแล้วเราต้องควบคุมติดตามจนกว่าจรวดกระทบเป้าหมายครับ

3. เรดาร์ควบคุมการยิงของปืนเนี่ย หมายความว่า เรดาร์จะล็อคเป้าหมายที่เราต้องการทำลาย แล้วกระบอกปืนก็จะหันหา

    เป้าหมายตามทิศทางเรดาร์กำหนดใช่รึเปล่า แล้วมันจะคำนวณระยะการยิงดักหน้าเผื่อเป้าหมายเคลื่อนที่เหมือนที่เวลาเรา

    เล็งยิงแบบแมนนวลมั้ย

โดยคุณ A_hatyai เมื่อวันที่ 01/11/2017 16:00:36


ความคิดเห็นที่ 8


ในความเห็นผม การที่ ทร. เปลี่ยนเรดาร์จากจีนของเดิม ที่คงหมดอายุใช้งานแล้ว มาเป็น SharpEye ผมว่า มันดีกว่านะครับ

ในแง่ประสิทธิภาพของ SharpEye ก็สามารถตรวจจับ วัตถุพื้นน้ำ-อากาศ ได้ตั้งแต่ กลุ่มฝน ถึง Jet Ski และจัดได้ว่าเป็น เรดาร์ชั้นนำ

ทันสมัย ส่วนเรดาร์อื่น ๆ ก็มี เรดาร์ Fire control ของ C-801 แยกต่างหากกันอยู่แล้ว แถมระยะยิงของ C-801 ก็ประมาณ 40 ก.ม. เท่านั้น...

ดังนั้น ประสิทธิภาพของ SharpEye ด้วยระยะการตรวจจับ ก็เกินความสามารถของ Missile อยู่แล้ว แถมยังมีความละเอียด จับเป้าขนาดเล็กได้อีก ซึ่งปัจจุบัน เรือเร็วขนาดเล็ก ก็เป็นภัยคุกคามที่สำคัญของปัจจุบัน ซึ่งคงมีความสามารถสูงกว่าของเดิม

ซึ่งผมคิดว่า C-801 ปัจจุบัน คงไม่น่าจะใช้งานได้แล้ว...อนาคต ของชุด เรือเจ้าพระยา ผมคงมองไปที่ รับภาระกิจ OPV แทนเรือชุด ตาปี หรือ เป็น เรือฝึก ก็จะมีอยู่แค่  2 อย่างนี้...หรือ อาจจะปลดประจำการในเวลาอันใกล้นี้ก็ได้...

แต่ เรดาร์ SharpEye ก็จะยังคงมีคุณค่าทางสงครามอยู่ สามารถนำไปติดตั้งให้กับ เรือลำอื่น ๆ ได้...

 

 


โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 01/11/2017 14:37:47


ความคิดเห็นที่ 9


คำถามท่าน A_hatyai  ตอบยากมาก เพราะรายละเอียดมันเยอะมาก และผมไม่เคยยิงปืนอะไรก็ตามบนเรือมาก่อน เอาสั้น ๆ แล้วกัน

 

1.เรดาร์ควบคุมการยิงของอาวุธนำวิถี กับ ของปืนเรือ มีหลักการทำงาน หรือ คุณสมบัติแตกต่างกันยังไง

   แล้วเรดาร์ควบคุมปืนหลัก และ ปืนรองของเรือ จำเป็นต้องแยกชุดกันหรือไม่

 

คุมจรวดต้องคุยกับจรวดได้ คุมปืนไม่ต้องเพราะลูกกระสุนปืนไม่นำวิถี ฉะนั้น...เรดาร์ควบคุมจรวดต้องติดอุปกรณ์เพิ่มเติม จะอะไรบ้างก็อยู่ที่ผู้ผลิต สำคัญว่าให้มันนำวิถีจรวดได้เท่านั้น 

 

 ส่วนเรื่อง เรดาร์ปืนหลัก ปืนรอง  แยกไม่แยกขึ้นอยู่กับหลักนิยม จุดติดตั้ง เทคโนโลยี รวมทั้งระบบอำนวยการรบ มีแยกทุกตัวเลยดีที่สุด แต่ราคาแพงที่สุดและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสุงที่สุด อย่างเรือหลวงมกุฎก็มีเรดาร์แค่ตัวเดียวคุมปืน 3 กระบอก แต่มี Target Designation Sight (TDS) อีก 2 ตัวใช้คุมปืนในยามฉุกเฉินได้ ว่ากันตามข้อมูลจึงยิงปืนได้ 3 กระบอก 3 ทิศทางพร้อมกัน แต่เอาเข้าจริงไม่ทราบเหมมือนกัน

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

2 เรดาร์ควบคุมการยิงของอาวุธนำวิถีเนี่ย มันควบคุมการยิงยังไงครับ เพราะที่ผ่านมาผมเคยเข้าใจว่า

    เมื่อตรวจจับเป้าหมายได้ และ อยู่ในระยะยิงของจรวดแล้ว เราก็ยิงไปในทิศทางที่เป้าหมายมุ่งหน้ามา

    แล้วระบบเซ็นเซอร์ของจรวดจะหาเป้าหมายแล้วพุ่งเข้าทำลายเอง (นึกถึงตอนอาร์เจนตินายิง Exocet ใส่เรืออังกฤษ )

Exocet มีเรดาร์ตรวจจับและล๊อคเป้าหมายอยู่ในจรวดด้วย แต่ C-801 ไม่มีครับ

C-801 คือการก๊อปปี้รูปทรง Exocet แต่ใช้ระบบนำวิถีจากจรวด Silkworm  ของตัวเอง ซึ่ง ก๊อปปี้มาจากจรวดรุนเก่าของโซเวียต จึงต้องมีเรดาร์คุม แต่พอเป็น C-802 ก็ประมาณที่ท่าน A_hatyai  ว่ามาแหละครับ

---------------------------------------------------------------

3 เรดาร์ควบคุมการยิงของปืนเนี่ย หมายความว่า เรดาร์จะล็อคเป้าหมายที่เราต้องการทำลาย แล้วกระบอกปืนก็จะหันหา

    เป้าหมายตามทิศทางเรดาร์กำหนดใช่รึเปล่า แล้วมันจะคำนวณระยะการยิงดักหน้าเผื่อเป้าหมายเคลื่อนที่เหมือนที่เวลาเรา

    เล็งยิงแบบแมนนวลมั้ย

 

ผมก๊อปปี้มาจากตำราให้เลย เลียนรู้วิธีนี้มาจากจีนนะเนี่ย

อธิบายนิดเดียว ปืน 100 มม.บนเรือหลวงเจ้าพระยายังต้องยิงด้วยมือคน มีพลประจำจำนวน 8 นายต่อปืนหนึ่งกระบอก

 

วิธีการยิงปืน 100 มม.ตามนี้ 

1. เรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล 354 ติดตั้งอยู่ส่วนสูงสุดของเรือ จะแจ้งให้ทราบถึงระยะทางและแบริ่งของเป้า


2. MZ-2 เป็นกล้องตรวจการณ์ของเรือ ติดตั้งอยู่เหนือสะพานเดินเรือมีกราบละ ๑ ตัว ใช้เป็นอุปกรณ์ติดตามเป้าให้ข้อมูลแบริ่งของเป้า พิสูจน์และยืนยันเป้าที่ตรวจพบโดยเรดาร์ ใน MODE ฉุกเฉิน MZ - 2 สามารถควบคุมปืนได้โดยผ่านห้องควบคุมการยิง (ZPJ-2)


3. ระบบอำนวยการรบ (ZKJ-3) จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของเป้าจากเครื่องตรวจจับเป้าที่มีในเรือ ส่งให้กับระบบควบคุมการยิงของอาวุธแต่ละชนิด โดย จะเป็นผู้เลือกการใช้อาวุธในการทำลายเป้าหมาย

4. หอตรวจการณ์ SSS. (STABILIZED SIGHT STATION) ติดตั้งอยู่เหนือสะพานเดินเรือ มีลักษณะเป็นรูปโดมครึ่งวงกลม
หันได้ และมีระบบ STABILIZER ในตัวเองเป็นตำแหน่งที่สังเกตุการณ์และตรวจจับเป้าพิสูจน์และยืนยันเป้าที่เรดาร์ควบคุมการยิง 343จับได้ อีกทั้งเป็นที่สั่งการด้วย สามารถวัดข้อมูลตำบลที่ของเป้า แล้วส่งให้ห้องควบคุม (ZPJ-2) เพื่อคำนวณข้อมูลการยิง SSS มีอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้ กล้องวัดระยะ ซึ่งสามารถวัดระยะของเป้าและฝอยน้ำได้ สายอากาศของเรดาร์ 343อุปกรณ์ควบคุม SSS


5. เรดาร์ควบคุมการยิง 343 สามารถค้นหาเพื่อให้ได้มาซึ่งการติดตามเป้าซึ่งส่งมาจากแหล่งส่งหรือตามคำสั่งผู้ควบคุม วัดตำแหน่งเป้าและตรวจอัตราผิดของฝอยน้ำกระสุนตกเมื่อทำการยิงเป้าพื้นน้ำได้อย่างละเอียด เรดาร์ 343 และ SSS ทำงานร่วมกันโดยควบคุมจากที่ใดที่หนึ่งได้ และมีแกนอ้างอิงแกนเดียวกัน เนื่องจากสายอากาศของเรดาร์ 343 ติดตั้งอยู่ที่ SSS สามารถรับส่งข้อมูลให้กันและกันได้ เรดาร์ 343 จะหันติดตามเป้า และส่งข้อมูลให้ห้องควบคุมการยิง (ZPJ-2)

 


ุ6. ZPJ-2 เป็นเครื่องควบคุมการยิงปืน ๑๐๐ มม. มีเครื่องคำนวณ (แบบ ANALOG) ซึ่งจะรับข้อมูล
ของเป้าจากแหล่งส่งต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลของเรือยิงเองด้วย เพื่อคำนวณหาค่ามุมหันและกระดกดักหน้า
รวมทั้งเวลาในการตั้งค่าชนวนลูกปืน ส่งให้กับปืนก่อนทำการยิง

 

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 01/11/2017 17:09:10


ความคิดเห็นที่ 10


ลืมใส่ภาพกระปอบ เอ๊ย ภาพประกอบ ก๊อปปี้เองกับมือเชียวนะ ;)


โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 01/11/2017 17:11:49


ความคิดเห็นที่ 11


ขอบคุณท่าน Superboy มากครับ....อ่านดูแล้วถึงได้รู้ว่ากว่าจะยิงอะไรออกไปได้ซักนัด ก็ยุ่งยากเรื่องมากใช่เล่นนะเนี่ย
โดยคุณ A_hatyai เมื่อวันที่ 01/11/2017 21:25:55


ความคิดเห็นที่ 12


ผมคิดว่าเรือชุด เรือหลวงเจ้าพระยา ทั้ง 2 ลำ ขีดความสามารถในการรบเมื่อเทียบกับเรือฟริเกตสมัยใหม่ก็ถือว่าล้าสมัยมากแล้ว ควรลดชั้นมาเป็นเรือ opv ติดอาวุธนำวิถี C801 4 นัดกลางลำ แล้วรื้อจรวด C801 ด้านหลังออก ก็จะมีที่ว่างสำหรับอุปกรณ์ หรือตู้บรรทุกอุปกรณ์ รื้อปืนใหญ่ท้ายเรือ แล้วยกพื้นทำที่จอด ฮ. ซึ่งทำให้มีลักษณะเหมือนเเรือชั้นกระบี่ลำที่ 2 ซึ่งใช้งบประมาณปรับปรุงอะไรไม่มาก ส่วนเรือฟรีเกตที่หายไปอาจต่อเรือคอเวตร์หรือเรือฟริเกต ขนาด ไม่เกิน 3000 ตันที่มีอาวุธครบทุกมิติ จะดีกว่า
โดยคุณ rayong เมื่อวันที่ 02/11/2017 08:07:08


ความคิดเห็นที่ 13


อาวุธจีนในยุคนั้น ส่วนใหญ่ก๊อปปี้รูปแบบจากโซเวียต แต่ใส้ในเป็นของตะวันตก+โซเวียต ปะปนกันไป (อิตาลีเกินครึ่ง ตามด้วยฝรั่งเศส อเมริกา และอังกฤษ) ก็เลยเหมือนเอาโตโยต้า รีโว่ ไปวางเครื่อง 2J คือบทจะพังพ่อก็พังเอาดื้อ ๆ ไม่บอกกล่าว จีนน่ะไม่มีปัญหาอะไรหรอกเพราะมีอะไหล่เยอะ แต่คนอื่นที่ซื้อไปก็ต้องรับสภาพกันไป

 

อย่างในภาพเขาก็ว่าใช้อุปกรณ์จากอิตาลี คุ้นตาเนอะ....เรือประเทศไหนหนอ


โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 02/11/2017 08:07:43


ความคิดเห็นที่ 14


ติดจรวด C-802 อาจต้องเปลี่ยนระบบอำนวยการรบเหมือนเรือหลวงกระบุรีด้วย คือเปลี่ยนใหม่ยกชุด แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเรือดำน้ำ

 

ส่วนตัวอยากให้อนุรักษ์ทุกอย่างไว้เหมือนเดิม ไม่มีจรวดก็ไม่มีไม่ต้องสนใจ เพราะปืน 100 มม.ยิงได้ด้วยมือนี่หาไม่ได้อีกแล้ว ถ้าเอเลี่ยนบุกโลกแล้วทำให้ระบบไฟฟ้าทั้งหมดทำงานไม่ได้ ก็ยังมั่นใจว่าเรามีเรือ 2 ลำ ปืน 100 มม.ลำกล้องแฝด 4 กระบอก ปืน 37 มม.ลำกล้องแฝด 8 กระบอก ไว้คอยดูแลน่านน้ำนะเออ

 

ต่อให้เป็นปืนรุ่นใหม่เอี่ยมใส่กระสุนมหาเทพโซเดมาคอมนัดล่ะ 8 แสนบาท แต่ถ้ายิงไม่ออกก็ไม่ต่างไปจากอะไรกับเสาทางด่วน ลูกกระสุน 100 มม.นี่แหละ นัดละ 4-5 หมื่นบาทเองซัดมันเข้าไป

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 02/11/2017 08:15:49


ความคิดเห็นที่ 15


ใช่แล้วครับ เรื่องอย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วใน Battlestar Galactica (ฮ่า)

โดยคุณ Naris เมื่อวันที่ 02/11/2017 10:12:37


ความคิดเห็นที่ 16


มีบริษัทมานำเสนอ ทร .ปรับปรุงเรือเจ้าพระยา บางประกง รวมถึงเรือ opv ชุดนราธิวาส ด้วย แต่เรื่องเงียบหายไปครับ thales เกือบยกชุดสำหรับเรือชุด นราธิวาส ดูแล้ว น่าจะติดขัดเรื่องงบประมาณและความเร่งด่วน เป็นที่คาดการณ์ว่าหลังจากเรือเจ้าพระยา บางประกง ชุดนี้เข้าอู่เพื่อซ่อมใหญ่ครั้งล่าสุดแล้วคงจะทยอยปลดในไม่เกิน10-15 ปีข้างหน้าครับ  ส่วนการปรับปรุงเรือชุดเจ้าพระยาให้มีลานจอด ฮ. แล้วเอาไปทำเป็น opv  นั้นลืมไปเถอะครับ ซื้อใหม่ง่ายกว่า ถูกกว่า ด้วยครับ  ปล. ปืนหัวเรือ 100 มม. ของเรือชุดนี้แม่นยังกะจับวางนะครับ เห็นฝีมือการยิงและความแม่นยำแล้วนับถือเลยครับ

โดยคุณ ausangi เมื่อวันที่ 02/11/2017 10:17:05


ความคิดเห็นที่ 17


ทำไปทำมาเหมือนจะเหลือฟรีเกตแค่ 4 ลำ ในอนาคตดูทรงแล้วหลังจากจัดหา รล.ท่าจีนลำที่สอง เราจะมีฟรีเกต 6 ลำ คอร์แวต 2 ลำ กับ opv จำนวนนึง เห็นแบบนี้อยากให้ ทร. จัดเต็ม รล.ท่าจีนให้มากให้ครบกว่านี้เลย

โดยคุณ akekolos เมื่อวันที่ 02/11/2017 10:36:41


ความคิดเห็นที่ 18


แนวคิดผม...น่าจะปรับ ร.ล.เจ้าพระยา กับ ร.ล.บางปะกง ไม่เป็น เรือฝึก เต็มตัว ก็ปรับเป็น เรือ OPV ทำหน้าที่แทน ชุด ร.ล.ตาปี...

ถอน ปืน 37 ม.ม. ปืนหลัง 100 ม.ม. ถอนระบบยิง C-801  เคลียร์พื้นที่ ทำพื้นที่ใช้สอยสำหรับวาง คอนเทนเนอร์ สำหรับภาระกิจ แทน และย้ายเรือเล็กไปท้ายเรือ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการใช้งานตรวจค้นเรือที่ต้องสงสัย หรือช่วยกู้ภัยต่าง ๆ 

ติดตั้ง DS-30 ม.ม. กลางลำเรือ กราบเรือซ้าย ขวา ข้างละ 1 กระบอก...ติดตั้ง เรดาร์ SharpEye...ติดตั้ง เครน สำหรับขนย้าย คอนเทนเนอร์ มิชชั่น...บริเวณที่วาง คอนเทนเนอร์ ก็สามารถรองรับการใช้ UAV ได้...


โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 02/11/2017 17:05:11


ความคิดเห็นที่ 19


เห็นด้วยกับท่านจุลดาสครับ โดยเฉพาะใช้ uav แต่สงสัยตรงถอดปืน 37 มม. แล้วติด 30 มม. แทน ครับ เพราะ ปืน 37 มม. อำนาจการยิงน่าจะโหดกว่า ไกลกว่าครับ
โดยคุณ rayong เมื่อวันที่ 02/11/2017 17:28:30


ความคิดเห็นที่ 20


เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จะเน้นการรักษากฎหมายทางทะเล ที่สามารถปฏิบัติได้ในระยะเวลานาน ไม่ต้องกลับเข้าฝั่งบ่อย และมีขนาดเรือที่สามารถจะบรรทุกอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งในลักษณะการช่วยเหลืออุบัติเหตุ และทางการแพทย์ได้ เมื่อมีเหตุกลางทะเล และการปราบปรามโจรสลัด ซึ่งภัยคุกคามของเรือส่วนใหญ่ จะอยู่ในผิวน้ำระยะใกล้ซะมากกว่า ซึ่งปืน 37 ม.ม. แท่นคู่ จึงดูเกินความจำเป็นไป และดูจะไม่มีความสามารถในการป้องกันตัวบนผิวน้ำระยะใกล้ได้เลย แบบเดียวกับ ฟาลังซ์ ที่ไม่มีความสามารถในการป้องกันตัวบนผิวน้ำได้ จึงต้องพัฒนาเป็น block II ที่ติดตั้งกล้องบนตัวปืน เพื่ออุดช่องว่างในตรงนั้น และ 37 ม.ม. แท่นคู่ น่าจะไม่สามารถจับเป้าทำลายพวก uav ขนาดเล็กได้ เหมือนกัน ซึ่งพวกนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ เรือตรวจการณ์รักษากฎหมายทางทะเล จะต้องเจอ...
โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 02/11/2017 18:57:12


ความคิดเห็นที่ 21


เรดาร์ที่หายไป...ทำให้ แปลงกายเป็น รปภ. แทน....


โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 03/11/2017 09:45:46


ความคิดเห็นที่ 22


เหตุจาก เรดาร์ที่หายไป...จึงเกิดแนวทางความคิด ว่าจะทำอย่างไรต่อไปกันดี...


โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 03/11/2017 11:26:21


ความคิดเห็นที่ 23


แฮ่ ๆ ๆ ... ขอโทษครับ...ลืมเรือไป 5 ลำเอง...ขออนุญาตโพสใหม่ครับ...


โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 03/11/2017 11:47:38


ความคิดเห็นที่ 24


สำหรับเรือฟริเกต ที่ต้องออกรบ  เรือใหม่ต้องรบได้ทั้ง 3 มิติ ส่วนเรือเก่าอยากให้สามารถรบได้อย่างน้อยทั้ง 2 มิติ คือ ต่อต้านผิวน้ำ กับ อากาศ  ซึ่ง เรือชุดกระบุรี กับชุดปัตตานี ยังขาดจรวดต่อสู้อากาศยานซึ่งก็ควรพิจารณาติดตั้งอาจเป็น Sea Ram ก้ได้)   ส่วนชุดคำรณสินธุไม่มีทั้งจรวดต่อต้านเรือ จรวดต่อสู้อากาศยาน ส่วนตัวผมอยากลดชั้นมาเป็นเรือตรวจการณ์จะดีกว่าครับ  ส่วนเรือชุดเรือสุโขทัยเนื่องจากขนาดเล็กเมื่อปลดประจำการแล้ว ก็สร้างเรือขนาดใหญ่ทดแทน รวมมีเรือฟริเกต 6 ลำ ก็น่าจะพอรับได้ครับ (กรณีชุดปัตตานี กระบุรี ติดจรวดต่อสู้อากาศยานเพิ่มเติม จำนวน 4 ลำ)

อีกอย่าง เรือดำน้ำตามแผน น่าจะมี 3 ลำ สลับหมุนเวียนกันปฏิบัติงานครับถึงจะดี

โดยคุณ rayong เมื่อวันที่ 03/11/2017 14:18:27


ความคิดเห็นที่ 25


รล. ชุดคำรณสินธุ เป็นเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำนะครับ ไม่จำเป็นต้องติด อวป.

โดยคุณ ausangi เมื่อวันที่ 03/11/2017 14:34:53


ความคิดเห็นที่ 26


กระทู้ กลายพันธุ์ รึเปล่า ?

ประเมินจากความเห็นส่วนตัว นะครับ ว่า กองเรือรบขนาด ระวางเรือฟริเกต, คอร์เวต (ไม่รวมเรือช่วยรบ) คงจัดกำลังอยู่ที่ประมาณ 19 ลำ (เรือรบ 18 + เรือธง 1 )

เลยลองทำ แผ่นภาพ ประเมิน กองเรือรบ ทุกช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 ถึง ปี 2580 หรืออีก 20 ปี ข้างหน้า...

ส่วนเรือดำน้ำ ผมว่า สุดท้าย ยังไงๆ ก็คงไม่เกิน 2 ลำ...สำหรับ เรือดำน้ำ จีน แล้วอีก 20 ปี ข้างหน้า ค่อยมาคุยกันใหม่...

เพราะแค่ กองทัพเรือ คงกำลังทางเรือให้ได้ จำนวน 19 ลำ เท่านี้ ในอีก 20 ข้างหน้า...งบประมาณ ก็ หืด ขึ้นคอ แล้วครับ...

เรือฟริเกต สมรรถนะสูง 3 ลำ ไม่น่าจะต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท

เรือฟริเกตใหม่ จำนวน 2 ลำ (แทนชุด กระบุรี) ไม่น่าจะต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท

เรือดำน้ำ ลำที่ 2 จำนวน 1ลำ ไม่น่าจะต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท

เรือ OPV ใหม่ จำนวน 4 ลำ ไม่น่าจะต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท (ไม่รวม ร.ล.ตรัง)

เท่านี้ ก็ รวมงบประมาณคร่าว ๆ เกือบ 100,000 ล้านบาท (ยังไม่รวม เรือช่วยรบ และอื่น ๆ อีก ในระยะ 20 ปีข้างหน้า)


โดยคุณ juldas เมื่อวันที่ 03/11/2017 15:37:55


ความคิดเห็นที่ 27


เรือหลวงเจ้าพระยาหลวงถอดจรวด C-801 และเรดาร์ควบคุมการยิงออก มีตู้คอนเทนเนอร์เอนกประสงค์เป็นออปชั่นเสริม เซ็งเสากระโดงเปลือยล่อนจ้อนมาก ภาพนี้ใกล้เคียงของจริงที่สุด หมายถึงที่สุดของฝีมือคนวาดนะครับ ฮ่า ฮ่า


โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 06/11/2017 09:46:59


ความคิดเห็นที่ 28


ว่าแต่สภาพโครงสร้างปัจจุบันและอายุคุ้มค่ากับการลงทุนปรับปรุงให้เป็นOPVั้ยครับ หรือใช้ไปทั้งสภาพนี้ไม่ต้องลงทุนปรับปรุง
โดยคุณ RAF เมื่อวันที่ 09/11/2017 09:18:11


ความคิดเห็นที่ 29


เอาจริง ๆ ก็ตามท่าน ausangi ว่ามาแหละครับ ใช้ไปจนหมดอายุประจำการดีที่สุด

เรือหลวงเจ้าพระยาความเร็วสุงสุด 30 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 3,500 ไมล์ทะเล

เรือหลวงกระบี่ความเร็วสุงสุด 24 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 5,500 ไมล์ทะเล

พอมองเห็นความแตกต่างระหว่างเรือ OPV เครื่องยนต์ดีเซล กับเรือฟริเกตเครื่องยนต์ดีเซลไหมครับ ทั้งสองลำระวางขับน้ำสุงสุดใกล้เคียงกัน กับประเทศเราคงไม่ตรงตามความต้องการนัก ส่วนประเทศอื่นก็เรื่องของประเทศอื่นไป

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 09/11/2017 14:24:11


ความคิดเห็นที่ 30


อยากให้เข้าใจนิดนึงว่าเรือที่ทำภารกิจตรวจการณ์ จะเป็นม้างานที่ต้องวุ่นวายตลอดเวลา ทุกประเทศพยายามจัดหาเรือใหม่เอี่ยมเข้าประจำการ ไม่ใช่วิ่งสองวันนอนอู่แปดแบบรถซีตรอง ครั้นพอเริ่มเก่าไม่เหมือนสภาพเดิมอีกแล้ว ก็ปลดประจำการหรือขายต่อประเทศอื่น แล้วเอาของใหม่มาทดแทนกันไป

 

เรือพวกนี้จึงมีอายุใช้งาน 20-30 ปีก็ว่าไป (อย่างอังกฤษก็ขายยกชุดให้บังคลาเทศเสมอ) ติดอาวุธแค่พอป้องกันตัวเพราะไม่ได้ทำการรบอย่างจริงจัง ขณะที่เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ ปราบเรือผิวน้ำ หรือปราบเรือดันน้ำ เรือพวกนี้อาจจะเก่าหน่อยแต่ติดของหนักก็พอทนได้ 

 

ผมอยากให้กองทัพเรือตอบคำตอบให้ตรงคำถาม มากกว่าหาคำถามให้ตรงคำตอบที่เตรียมไว้แล้ว เรือ OPV ไปของใหม่เถอะ ถ้าไม่ติดลูกยาวกับปืนทันสมัยมันก็ไม่แพงอะไรมากมาย 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 09/11/2017 14:37:52