หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เรือตรวจการณ์ชั้น M21

โดยคุณ : superboy เมื่อวันที่ : 06/07/2018 19:52:53

ไม่ได้เขียนบทความนานพอสมควร เนื่องจากงานประจำรัดตัวอย่างถึงที่สุด รวมทั้งมีแนวโน้มจะรัดแน่นมากขึ้นอีก

 

ให้บังเอิญคืนที่ผ่านมา 'น้องอู๊ด' ดันเกิดองค์ลง เล่นเอาข้าพเจ้าสติเลอะเลือนแทบทั้งวัน เลยคิดว่าเขียนบทความดีกว่า สมองยังตายด้านอยู่ก็เอาง่ายๆ แล้วกันนะครับ เรื่องเรือตรวจการณ์ที่เพิ่งรับมอบกันไปไม่นาน ผิดพลาดตรงไหนขออภัยมณีเด้งล่วงหน้า

 

ลิงค์ต้นฉบับตรงนี้ครับ -----------------> M21 class Patrol Boat





ความคิดเห็นที่ 1


เรือตรวจการณ์ชั้น M21

วันที่ 9 พฤษภาคม 2561) เวลา 10.19 น. พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.265 - ต.269 จำนวน 5ลำ ณ ท่าเรือหมายเลข 5 (LST Ramp) ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือตรี อนุชา เอี่ยมสุโร ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ กำลังพลประจำเรือ และแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับ

เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.265 - ต.269 จะเข้าประจำการในกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการตรวจการณ์ สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์

คุณลักษณะของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.265 - ต.269

1.มีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) โดยสามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการบริเวณชายฝั่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สามารถตรวจจับ ติดตามและพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ 

2.สามารถป้องกันตนเองจากเรือผิวน้ำและอากาศยานข้าศึกได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ สามารถปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

3.สามารถปฏิบัติงานได้ในสภาพทะเลไม่น้อยกว่า Sea State 2 สามารถตรวจค้นเรือที่ต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ และมีความสามารถการทรงตัวที่ดีในการบังคับเรือและบังคับเลี้ยวในการปฏิบัติงานที่ความเร็วสูง (Maneuverability)

 

คุณลักษณะทั่วไป (Ship System Performance)

ระวางขับน้ำเต็มที่ 45 ตัน

ยาว 21.40 เมตร กว้าง 5.56 เมตร ความลึกของเรือ 3.15 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ 1.05 เมตร

ความเร็วสูงสุด 30 น็อต ความเร็วเดินทาง 15 น็อต

กำลังพลประจำเรือ 9 นาย

สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้ต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง

ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 350 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทาง

เครื่องจักรใหญ่ดีเซล MAN รุ่น D2862 LE463 กำลัง 1,029 kW ที่ 2,100 RPM พร้อมเพลาใบจักร จำนวน 2 เครื่อง

เครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า PERKINS จำนวน 2 เครื่อง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า MARATHON MAGNAPLUS ขนาด 32 kW, 220 V AC. 1 Phase 50 Hz. จำนวน 2 เครื่อง

เกียร์ทด ตราอักษร TWIN DISC ชนิด Intermediate Duty ขนาด Input Rating สูงสุดที่ 1,145 kW ที่ความเร็วรอบ 2,100 RPM จำนวน 2 ชุดเครื่อง

ระบบเพลาใบจักรแบบ Fixed Pitch จำนวน 2 ชุด

อาวุธประจำเรือ

1.ปืนกลขนาด 20 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก

2.ปืนกลขนาด 12.7 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด 81 มิลลิเมตร ร่วมแกน จำนวน 1 กระบอก 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 27/05/2018 17:09:29


ความคิดเห็นที่ 2


โครงการเรือตรวจการณ์ชายฝั่งรุ่นใหม่

                ข้อมูลทั้งหมดของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดเรือ ต.265 ได้มาจากกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ ราชนาวีไทยมีโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ขนาด 45 ตันจำนวนมาก เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเดิม ที่ใช้ราชการมาเป็นเวลานาน และมีกำหนดที่จะปลดระวาง โดยได้ว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ดำเนินการสร้างเรือ เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณ มากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ เรามาดูพัฒนาการของเรือแต่ล่ะชุดไปพร้อมกันเลยครับ

1.โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งกองทัพเรือ ชุดเรือ ต.228 - ต.230 จำนวน 3 ลำ 

ประกอบพิธีรับมอบเรือ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 เป็นเรือชุดแรกสุดของเรือชั้น M21 ของมาร์ซัน ซึ่งจะเรียกเรือทุกลำว่าเรือชั้น ต.228 ก็น่าจะได้อยู่นะครับ ทว่าก่อนอื่นผู้เขียนขอพาไปชมแบบเรือก่อนหน้านี้ซักเล็กน้อย นั่นก็คือเรือ ต.227 ซึ่งเข้าประจำการก่อนเรือ ต.228 และเข้าประจำการแค่เพียงลำเดียวเท่านั้น ผิดแปลกไปธรรมเนียมที่เคยปฎิบัติกันมาช้านาน เหตุผลไม่มีอะไรมากหรอกครับ เพื่อทดแทนเรือต.215 ซึ่งเสียหายอย่างหนักจนต้องปลดประจำการ เพราะเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มในปี 2547

 

จากแบบเรือจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าต.227 กับ ต.228 มีตัวเรือหรือ Hull รูปร่างหน้าตาและขนาดใกล้เคียงกันมาก ที่แตกต่างกันก็เห็นจะเป็นสะพานเดินเรือ มีการปรับปรุงให้ทันสมัยและเหมาะสมมากกว่าเดิม

 

และถ้าย้อนเวลากลับไปอีกซัก 30 ปี กองทัพเรือไทยเข้าประจำการเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดเรือ ต.213 – ต.226 สร้างโดยบริษัท อิตัลไทยมารีน ในระหว่างปี 2523 -2527 จำนวนรวม 14 ลำ เท่ากับว่าเราสร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่งได้เองมานานหลายสิบปีแล้ว และยังสร้างเรือโดยใช้แบบเรือเดียวกันจำนวนมาก เข้าขั้นมาตราฐานสากลเทียบเท่าอารยะประเทศ เรือทั้งหมดสังกัดกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ

                                        เรือ ต.227 ท่ามกลางฝูงเรือชั้น ต.213 สะพานเดินเรือสูงโด่งอยู่ลำเดียว ส่วนตัวเรือยาวกว่ากัน 1.7 เมตร

2.โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งกองทัพเรือ ชุดเรือ ต.232 - ต.237 จำนวน 6 ลำ 

ประกอบพิธีรับมอบเรือ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 โดยโครงการนี้ได้รับงบประมาณจำนวน 822 ล้านบาท เป็นค่าเรือตรวจการณ์จำนวน 6 ลำวงเงิน 709 ล้านบาท หรือเท่ากับลำละ 118.16 ล้านบาท ค่าปืนกลอัตโนมัติขนาด 20 มม.Denel GI-2 จำนวน 6 กระบอกวงเงิน 81 ล้านบาท หรือเท่ากับกระบอกละ 13.5 ล้านบาท รวมทั้งเป็นค่าจัดซื้ออมภัณฑ์อีกจำนวน32 ล้านบาท

ต.232 มีความแตกต่างจาก ต.228 อยู่บางประการ บริเวณที่นั่งตรวจการณ์ชั้นดาดฟ้าบนสุด ต.228 จะมีแผ่นกระจกขนาดใหญ่จำนวน 3 บาน เอียงทำมุมเล็กน้อยป้องกันลมและละอองน้ำ แต่ ต.232 จะมีกระจกหูช้างด้วย ยื่นออกมาด้านข้างรับกับแผ่นอลูมิเนียมที่ยาวกว่าเดิม ตำแหน่งดังกล่าวตรงกับที่แขวนห่วงยางอันบน จะเห็นได้ว่าหูช้างเป็นแผ่นกระจกที่ยังไม่มีกรอบ

จุดติดตั้งเรดาร์เดินเรือก็แตกต่างกัน โดย ต.228 จะอยู่บนเสากระโดงพ้นหลังคานิดหน่อย ส่วน ต.228 จะวางอยู่บนหลังคาพอดี อุปกรณ์สื่อสารทั้งหมดมีความใกล้เคียงกัน จับตาดูตรงนี้ให้ดีนะครับ เพราะเรือชุดถัดไปจะมีความเปลี่ยนแปลง

 

 

 

 

3.โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งกองทัพเรือ ชุดเรือ ต.261 - ต.264 จำนวน 4 ลำ 

ประกอบพิธีรับมอบเรือ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 โดยโครงการนี้ได้รับงบประมาณจำนวน 546 ล้านบาท เป็นค่าเรือตรวจการณ์จำนวน 4 ลำวงเงิน 490 ล้านบาท หรือเท่ากับลำละ 122.5 ล้านบาท ค่าปืนกลอัตโนมัติขนาด 20 มม.Denel GI-2 จำนวน 4 กระบอกวงเงิน 54 ล้านบาท หรือเท่ากับกระบอกละ 13.5 ล้านบาท ค่าปรับปรุงซ่อมแซมปืนกล 12.7 มม.พร้อมเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มม.จำนวน 4 กระบอกวงเงิน 2 ล้านบาท หรือเท่ากับกระบอกละ 5 แสนบาท

สิ่งที่เรือ ต.261 แตกต่างจากเรือ ต.232 ก็คือ กระจกหูช้างมีกรอบเล็กๆ แล้วครับ ช่วยป้องกันแรงกระแทกให้เนื้อกระจกได้บ้าง เสากระโดงเรือสูงขึ้นเล็กน้อย มีการติดตั้ง SATCOM ลูกเล็ก ๆ บนเสากระโดง เพื่อใช้สื่อสารผ่านดาวเทียมดวงไหนก็เถอะ ทันทีที่เห็นผู้เขียนตะโกนลั่นห้องว่า…พวกเรามาถูกทางแล้ว! ปัจจุบันการสื่อสารถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ เมื่อกองทัพเรือให้ความสำคัญกับเรือที่ยาว 21 เมตร จะให้ผู้เขียนรออะไรนอกจากตีมือ

 

 

4.โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งกองทัพเรือ ชุดเรือ ต.265 - ต.269 จำนวน 5 ลำ 

ประกอบพิธีรับมอบเรือในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 โดยโครงการนี้ได้รับงบประมาณจำนวน 627.5 ล้านบาท เป็นค่าเรือตรวจการณ์จำนวน 5 ลำวงเงิน 627.5 ล้านบาท หรือเท่ากับลำละ 125.5 ล้านบาท ค่าปืนกลอัตโนมัติขนาด 20 มม.Denel GI-2 จำนวน 5 กระบอกวงเงิน 67.5 ล้านบาท หรือเท่ากับกระบอกละ 13.5 ล้านบาท ค่าปรับปรุงซ่อมแซมปืนกล 12.7มม.พร้อมเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มม.จำนวน 5 กระบอกวงเงิน 10 ล้านบาท หรือเท่ากับกระบอกละ 2 ล้านบาท

ถ้ารวมตัวเลขจะเห็นได้ว่าไม่เท่ากันนะครับ เพราะยอดรวมเท่ากับค่าเรือตรวจการณ์เปล่า ๆ เท่านั้น กองทัพเรือว่ามาแบบนี้ผู้เขียนก็ว่าตามกัน นี่คือชุดเรือล่าสุดที่เพิ่งรับมอบ รูปร่างหน้าตารวมทั้งอุปกรณ์เหมือน ต.261 นั่นแหละครับ แต่บนเสากระโดงติดอุปกรณ์เพิ่มเติม 1 อย่าง ภาพการทดสอบเรือซึ่งกองทัพนำมาเป็นภาพประกอบ ติดตั้งอาวุธปืนกล Denel GI-2 ที่หัวเรือเหมือนลำอื่นๆ ให้บังเอิญในพิธีรับมอบเรือทั้ง 5 ลำ ได้มีการติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 20 มม.Oerlikon GAM-CO1 เข้าไปทดแทน

 

GAM-CO1 พวกนี้มาจากไหน เพราะเป็นปืนเก่าที่ไม่มีขายในตลาด คิดว่าถอดมาจากเรือตรวจการณ์ที่ปลดประจำการแล้ว นำมาปรับปรุงซ่อมแซมคืนสภาพใช้งานใหม่ อย่างที่รู้ว่าปืนกล 20 มม.ใหม่เอี่ยมราคา 13.5 ล้านบาท ส่วนเอาของเก่ามาปรับปรุงคืนสภาพ จะใช้งบประมาณ 2.xx ล้านบาทไปจนถึง 4.xx ล้านบาท มีราคาแตกต่างกันพอสมควร

Denel GI-2 เป็นปืนกลจากแอฟริกาใต้ ปรับปรุงมาจากปืนกลอัตโนมัติ GIAT F2 อีกที ใช้ปืนขนาด 20/139 มม.อัตรายิงสุงสุด 720 นัดต่อนาที ระยะยิงหวังผลประมาณ 1 กิโลเมตร ป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงได้ 2 สาย แต่ละสายมีจำนวนกระสุน 150 นัด ยอดรวมก็คือ 300 นัดนั่นแหละครับ ติดตั้งแผ่นเหล็กด้านหน้าใช้ป้องกันได้เล็กน้อย

 

ส่วน GAM-CO1 ซึ่งส่วนใหญ่ต่างประเทศจะเห็นแต่ GAM-BO1 เริ่มเข้าประจำการกองทัพเรืออังกฤษหลังสงครามฟอกแลนด์ 3 ปีคือในปี 1985 ใช้ปืนขนาด 20/85 มม.อัตรายิงสูงสุด 1,000 นัดต่อนาที ระยะยิงหวังผลประมาณ 1 กิโลเมตร ป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงได้ 1 สาย มีจำนวนกระสุนรวม 200 นัด เทียบกับ Denel GI-2 แล้ว GAM-CO1 ลำกล้องปืนสั้นกว่า บรรจุกระสุนน้อยกว่า แต่มีอัตรายิงสุงกว่า รวมทั้งมีอายุราชการน้อยกว่า และนี่ก็คือปืนหลักของเรือตรวจการณ์ชั้น M21

ทางด้านปืนรองซึ่งติดตั้งอยู่ด้านหลังเรือ ใช้ปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.Ordnance M2 HB ที่ทุกคนรู้จักกันดี โดยติดตั้งร่วมกับเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มม.รุ่น Mk2 ราคาปืนใหม่ M2 ประมาณ 1 ล้านบาทบวกลบ แต่เครื่องยิงลูกระเบิดซึ่งเป็นที่นิยมในสงครามเวียดนาม ปัจจุบันน่าจะไม่มีขายแล้วนะครับ (ไม่แน่ใจ) ต้องใช้วิธีปรับคืนสภาพสถานเดียว

 

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 27/05/2018 17:10:20


ความคิดเห็นที่ 3


5.โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งกองทัพเรือ ชุดเรือ ต.270 - ต.274 จำนวน 5 ลำ 

อยู่ระหว่างการสร้างเรือ ได้ประกอบพิธีวางกระดูก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 2561 โดยโครงการนี้ได้รับงบประมาณจำนวน 627.5 ล้านบาท เป็นค่าเรือตรวจการณ์จำนวน 5 ลำวงเงิน 627.5 ล้านบาท หรือเท่ากับลำละ 125.5 ล้านบาท ค่าปรุบปรุงซ่อมแซมกลอัตโนมัติขนาด 20 มม.Oerlikon GAM-CO1 จำนวน 5 กระบอก ค่าปรับปรุงซ่อมแซมปืนกล 12.7มม.จำนวน 5 กระบอก ซึ่งไม่ได้ระบุราคาเอาไว้ โดยโครงการนี้จะเป็นเรือเฟสสุดท้ายในการจัดหา ยอดรวมทั้ง 1+4 โครงการก็คือ 3+20 = 23 ลำ

นับรวมถึงตอนนี้เรามีการจัดหาเรือที่ใช้แบบเรือร่วมกันมากถึง 23 ลำ โดยเข้าประจำการจริงแล้ว 18 ลำ และอยู่ระหว่างกว่าการสร้างเรืออีกจำนวน 5 ลำ ถือเป็นแบบเรือที่มีการสร้างจำนวนมากที่สุด ทุบสถิติแบบเรือ ต.213 ที่มียอดรวม 14 ลำ ส่วนในอนาคตจะมีเรือตรวจการณ์ชั้น M21 ตามมาอีกหรือเปล่า คงต้องรอติดตามกันต่อไปนะครับ

สำหรับผู้เขียนพอใจแล้วกับเรือแบบชั้นนี้ ทั้งขนาดเรือ จำนวนอาวุธ รวมทั้งประสิทธิภาพ สิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมมากกว่านี้ก็คือ การทำสีลายพรางให้กับเรือตามสมัยนิยม ไม่จำเป็นต้องเข้มแบบในภาพตัวอย่างก็ได้ อยากให้นึกถึงเรือ LCS ของอเมริกา หรือเรือคอร์เวตชั้นวิสบี้ของสวีเดนเข้าไว้ คือถ้าได้แบบนั้นล่ะโดนใจใช่เลย แล้วผู้อ่านล่ะครับ…ชอบลายพรางแบบนี้หรือแบบดิจิตอล หรือชอบสีเทาเข้มเดิม ๆ ของราชนาวีไทยนี่แหละ

 

อ้างอิงจาก

http://www.supplyonline.navy.mi.th

https://web.facebook.com/prthainavy/?_rdc=1&_rdr

http://monsoonphotonews.blogspot.com/2013/05/blog-post_16.html

http://thaidefense-news.blogspot.com/2018/05/blog-post_9.html

http://www.marsun.th.com/product-detail.php?cid=4&id=11

https://web.facebook.com/prthainavy/?hc_ref=ARRtgarUp7j3uTPLCwuQWjOiOYZFQe2dT3ILBWbusjCDEPZDEC6VhCncbHirde9MqvE&fref=nf

http://www.tnews.co.th/contents/355570

https://en.wikipedia.org/wiki/Denel_Land_Systems_GI-2

http://www.navweaps.com/Weapons/WNBR_2cm-85_GAM.php

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 27/05/2018 17:10:55


ความคิดเห็นที่ 4


ขอบคุณครับ มีความรู้ดีๆเข้ามาตลอด

โดยคุณ เด็กทะเล เมื่อวันที่ 28/05/2018 08:49:20


ความคิดเห็นที่ 5


ปฏิบัติงานได้ 24 ชั่วโมงนี่ ถือว่าน้อยหรือปกติครับ

โดยคุณ Naris เมื่อวันที่ 28/05/2018 09:02:57


ความคิดเห็นที่ 6


          คำถามท่านนริสสั้นมาก แต่จะอธิบายต้องยาวเขียนบทความใหม่มากกว่า ผมเอาสั้นๆ ก่อนแล้วกันเนอะ

 

          ปัจจุบันกองทัพเรือประเทศที่เขาโมเดิร์นแล้ว เรือตรวจการณ์ลำเล็กสุดมีความยาว 50 เมตร ส่วนเล็กกว่านั้นและเป็นเรือตรวจการณ์จะไปอยู่หน่วยยามฝั่ง และอย่างที่รู้ว่าเรือยามฝั่งไม่ได้ติดอาวุธหนัก อย่างดีก็ปืนกล 12.7 มม.หัวเรือกระบอกเดียว โดยออกแบบเรือไปในแนวอเนกประสงค์ใกล้เคียงเรือพาณิชย์ มากกว่าจะเน้นความต้องการทางด้านการทหาร ยกตัวอย่างเรือลำที่เห็นในภาพเป็นของฝรั่งเศส ยาว 20 เมตร เครื่องยนต์ใกล้เคียงกัน ความเร็วสุงสุดประมาณ 30 น๊อต ระยะปฎิบัติการไกลสุด 550 ไมล์ทะเลที่ 18 น๊อต มีน้ำมัน 6,000 ลิตร น้ำจืด 2,000 ลิตร ส่วน M21 ของเรามีน้ำมัน มีน้ำมัน 4,000 ลิตร น้ำจืด 1,200 ลิตร บรรทุกได้น้อยกว่ากันระยะปฎิบัติการณ์จึงน้อยกว่าตามไปด้วย

 

         

          ให้บังเอิญเรือเราจะมีข้อแตกต่างเรื่องการโหลดอาวุธและกระสุนด้วย ป้อมปืนกล GAM-CO1 เปล่าๆ หนัก 454 กิโลกรัม ส่วน Denel GI-2 น่าจะเบากว่ากันไม่เกิน 50 กิโลกรัม ไหนจะกระสุน 20 มม.อีก 1 พันนัด รวมทั้งปืนกล 12.7 มม.ด้านท้ายซึ่งมีเครื่องยิงลูกระเบิด 81 มม.ด้วย ต้องมีกระสุนปืนกล 12.7 มม อีก 1 พันนัด ต้องมีลูกระเบิด 81 มม.อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งอุปกรณ์จัดเก็บระเบิดที่มันรัดกุมเพิ่มเข้ามา เทียบกับเรือต่างประเทศที่มีปืนกล 12.7 มม. เพียงกระบอกเดียวที่หัวเรือ อย่างน้อยเรือเราโหลดหนักกว่าเขา 0.7 - 1 ตันขึ้นไปแล้ว ทั้งน้ำมันก็ดี น้ำดื่มก็ดี อาหารก็ดี บรรทุกได้น้อยกว่าของเขาแน่นอน

 

          แต่ตัวเลข 24 ชั่วโมงเนี่ย ผมว่าไม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพเรือเท่าไหร่ เป็นความต้องการของกองทัพเรือมากกว่า เพราะถ้าจะเอาให้ได้ 48 ชั่วโมงไปเรือลำใหญ่กว่านี้ก็ได้ ยกตัวอย่างเรือชั้น M25 ที่กรมศุลกากรจัดหามานั้น เรือยาว 25 เมตร ระยะปฎิบัติการณ์ไกลกว่า 2 เท่าตัว โดยที่ราคาเรือ 1 ลำแค่ 100 ล้านเท่านั้นเอง ไม่ทราบคุณภาพเรือว่าแตกต่างกันตรงไหนนะครับ เพราะดูแต่ภาพถ่ายไม่เคยเห็นของจริงเสียที

 

          ส่วนทำไมเป็นความต้องการกองทัพเรือ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องติดอาวุธหนักนั่นแหละ ตามหลักการบริหารความเสี่ยง เรือพวกนี้ไม่ควรหายไปจากสายตาเกิน 1 วัน คือถ้าเรือบังเอิญโดนฝ่ายตรงข้ามยืดไป (จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) การตามอาวุธหายใน 24 ชั่วโมงกับ 48 ชั่วโมงแตกต่างกันฟ้ากับเหว นี่ผมไม่ได้แช่งหรืออะไรนะครับ เพียงแต่เรือชั้น M21 มีความเสี่ยงมากกว่าเรือชั้นอื่น เพราะเป็นเรือลำเล็กที่สุดอยู่ใกล้ชายฝั่งที่สุด แล้วเดี๋ยวนี้เราต้องเผชิญสงครามอสมมาตรที่แท้จริง ฝ่ายตรงข้ามขับบีเอ็มดับบลิวสวมสูทผูกไทด์ก็มีเยอะแยะไป ผมถึงดีใจที่เราให้ความสนใจเรื่องการสื่อสารมากกว่าเดิม

 

          เอาสั้นๆ แค่นี้พอนะครับคุณนริส เหอๆๆ

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 28/05/2018 12:56:27


ความคิดเห็นที่ 7


เยี่ยมครับ

โดยคุณ กบ เมื่อวันที่ 30/05/2018 10:53:17


ความคิดเห็นที่ 8


น่าจะมีช่องกด LIKE บ้างนะครับ 555

แบบว่ามันเยี่ยมยอด ได้ความรู้อีกเพียบเลยครับท่าน

โดยคุณ bobbyprawich เมื่อวันที่ 30/05/2018 11:47:25


ความคิดเห็นที่ 9


ขอบคุณครับ

เรื่องการติดตั้งอาวุธบนเรือ เนื่องจากผมเคยมีโอกาศได้นั่งเรือ ต. ออกไปชมการสาธิตการปฏิบัติงานของทหารหน่วยเรือ (ต. 994 มังครับถ้าจำไม่ผิด) ลำนั้นเป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งก็ใหญ่กว่านี้อีกขั้น ในตอนนั้นมีการสาธิตการเข้าตรวจเรือ โดยการสุ่มเรียกเรือประมงลำหนึ่งมาขอตรวจ แล้วก็บังเอิ๊ญ เรือทั้งลำมีไต๋คนเดียว เปิดระวางดู เจอแกลลอนน้ำมันเพียบ ไม่มีปลาซักกะตัว ไต๋เลยงานเข้า ต้องไปพบตำรวจน้ำกับทหารเรือ แต่ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป ผมก็ไม่ทราบหนะครับ

ที่นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เพราะในตอนนั้น อาวุธที่ใช้ขณะตรวจค้นก็มีเพียงปืนประจำกายของทหารบนเรือเท่านั้น ไม่ได้มีการสั่งประจำปืนประจำเรือแต่อย่างใด ผมถามผู้บังคับการเรือ ท่านก็บอกว่า โดยปกติใช้แค่นี้เพียงพอแล้ว และไม่เคยปรากฎว่ามีเรือประมงลำใดแสดงอาการขัดขืนถึงขนาดต้องเรียกประจำปืนหัวปืนท้าย

พอท่านพี่เล่าให้ฟังว่า เรือที่ทำหน้าที่นี้ใน ตปท. ติดอาวุธน้อยกว่าของเรา ทำให้มีราคาที่ถูกลง ก็น่าสนใจครับ คือแยกเรือที่ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงในทะเล (เรือรบ) กับเรือที่ทำหน้าที่รักษากฎหมายในทะเล (หน้าที่ที่ควรจะเป็นของหน่วยยามฝั่ง) ออกจากกัน คือ แยกหน่วยงานยังไม่ได้ ก็แยก Spec เรือแทนก็แล้วกัน แบบนั้นก็คงจะประหยัดงบประมาณลงได้เยอะนะครับ

โดยคุณ Naris เมื่อวันที่ 30/05/2018 13:42:36


ความคิดเห็นที่ 10


ผมอ่านเรื่องเรือตรวจการณ์ชั้น M21แล้วได้ความรู้มากครับ ผมก็สงสัยมานานและอยารู้เรื่องอาวุธปืนท้ายเรือของเรือตรวการณ์ชั้น M 21เป็นเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มม. รุ่น Mk2 ครับวิธีการยิงอย่างใร เหมือนปืน ค.หรือไม่ครับ ผมพยายามค้นหาใน google ไม่พบครับ ขอท่าน ขจก.หรือผู้รู้ช่วยอธิบายครับรวมทั้งคุณลักษณะด้วยยิ่งดีครับ ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ


โดยคุณ civilian เมื่อวันที่ 30/05/2018 19:39:40


ความคิดเห็นที่ 11


เรือไม่ติดอาวุธหนักแบบที่ท่านนริสต้องการ เรามีใช้ในกรมศุลกากรและกรมเจ้าท่าครับ อย่าง M25 ยาว 25 เมตรลำสีเทาซื้อมา 3 ลำในงบประมาณ 300 ล้าน ส่วน M38 สีขาว ยาว 38 เมตรหรือ 130 ฟุต มีแค่ปืนฉีดนำความดันสุงเท่านั้น

 

M38 นี่ปากีสถานซื้อไปเป็นเรือ (เกือบ) เร็วโจมตีอาวุธนำวิถีด้วยนะครับ ขนาดใกล้เคียงเรือต.994 นั่นแหละ แต่กองทัพเรือให้ความสนใจเรือ M36 หรือ ต.111 มากกว่า เมื่อ 2 ปีก่อนผมเคยเขียนบทความปิดท้ายว่า ควรเอาเรือ ต.111 มาแทน ต.994 จะดีกว่า ไม่น่าเชื่อ !!! ปีนี้กองทัพเรือซื้อเรือ ต.111 เพิ่มอีก 2 ลำเลย 555 อันหลังนี้โม้ครับ เขาคงซื้อตามแผนนั่นแหละครับ เขียนอยู่ท้ายๆ บทความ

http://thaimilitary.blogspot.com/2015/09/pgm-997-997.html

 

http://www.thaifighterclub.org/webboard/20077/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B1

%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99-2-%E0%B8%A5%E0%B8%B3-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99-1-%E0%B8%A5%E0%B8%B3.html

 

 



โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 30/05/2018 22:17:37


ความคิดเห็นที่ 12


เครื่องยิงลูกระเบิด 81 มม. ยิงได้ทั้งแบบหย่อนปากกระบอกและแบบลั่นไกครับ DROP or TRIGGER fire ถ้าหย่อนยิงได้เยอะสุด 18 นัดต่อนาทีที่มุมเอียง 45 องศา ถ้าลั่นไกได้มากสุด 10 นัดต่อนาที นั่นก็คือยิงตรงก็ได้ยิงโค้งก็เยี่ยม 

ของเราน่าจะเป็น Mk2 MOD 1 เพราะติดปืนกลด้วย ดูรายละเอียดตามลิงค์นี้ก็ได้ครับ

http://www.warboats.org/mst2bremmer/stoner_ord_notes/stonerhtml/Mortar.htm

 

โดยคุณ superboy เมื่อวันที่ 30/05/2018 22:22:33


ความคิดเห็นที่ 13


ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกแล้วครับ เพึ่งทราบจริงๆว่า ศุลกากร และเจ้าท่า มีเรือแบบเดียวกับที่ ทร. ใช้อยู่  

โดยคุณ Naris เมื่อวันที่ 31/05/2018 09:09:02


ความคิดเห็นที่ 14


ขอบคุณครับ

โดยคุณ toichi เมื่อวันที่ 31/05/2018 23:15:41


ความคิดเห็นที่ 15


ขอบคุณครับ

ความรู้ดีๆ เพิ่มเติมมาอีกแล้ว

โดยคุณ ped เมื่อวันที่ 03/06/2018 20:09:05


ความคิดเห็นที่ 16


ค81 นี่เห็นว่าปัจจุบันใช้ยิงส่องสว่างเป็นหลักครับ มีตารางยิงใช้ด้วย

 

ส่วนเหตุผลที่ ทร เลือกติดอาวุธหนักๆนั้นเข้าใจว่ามาจากแนวคิดที่ว่า ภารกิจหลักของ ทร คือการปฏิบัติการรบ น่ะครับ เรือทุกลำจึงถูกออกแบบมาให้ใช้ทำการรบได้ อย่างอื่นเป็นเรื่องรอง..........เลยไม่ได้ต่อเรือที่ออกแบบมามีภารกิจหลักคือการรักษากฎหมาย

โดย "การปฏิบัติการยามฝั่ง" ของกองเรือยามฝั่งนั้นก็เป็นการปฏิบัติการรบสาขานึง

ก็เหมือนกับการที่เลือกติดปืนโตๆ(เมื่อเทียบกับเรือประเภทเดียวกัน) ไปจนถึง อวป ต่อต้านเรือ ให้กับเรือ ตกป ตกก ในกองเรือตรวจอ่าว ซึ่งมีภารกิจหลักคือ "การปฏิบัติการรบผิวน้ำ" นั่นล่ะครับ

โดยคุณ Phu2000 เมื่อวันที่ 06/07/2018 19:52:53