หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เกาหลีใต้สร้างเรืออู่ยกพลขึ้นบก LPD 1501 UMS Mottama กองทัพเรือพม่า

โดยคุณ : AAG_th1 เมื่อวันที่ : 10/09/2019 11:53:28


https://aagth1.blogspot.com/2019/09/lpd-mottama.html

ภาพที่เผยแพร่ในสื่อสังคม Online ทางทหารเกาหลีใต้ถูกอ้างว่าถ่ายได้ที่อู่เรือบริษัท Daesun ใน Busan ถูกระบุว่าเป็นเรืออู่ยกพลขึ้นบก(LPD: Landing Platform Dock) ชั้น Makassar ที่สร้างใหม่

โดยหมายเลขตัวเรือ 1501 และป้ายชื่อเรือ 'Mottama' ถูกระบุว่าเป็นเรือ LPD ใหม่ที่เกาหลีใต้สร้างสำหรับกองทัพเรือพม่า ซึ่งถ้าเป็นความจริงนี่จะเป็นเรือ LPD ลำแรกของพม่า

อย่างไรก็ตามภาพนี้ได้ถูกลบออกไปจากแหล่งที่มาต้นทางในเวลาไม่นาน รวมถึงที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข้อมูลอย่างเป็นทางการถึงสัญญาการสร้างเรือ LPD ทั้งจากทางพม่าหรือทางเกาหลีใต้ใดๆออกมาเลย

จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่เรือ LPD ใหม่ของพม่าได้ถูกทำให้เป็นเรื่องเงียบเชียบเช่นนี้ อาจเพราะรัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ต้องการให้เกิดประเด็นถกเถียงในการขายอาวุธแก่ประเทศที่มีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือครับ





ความคิดเห็นที่ 1


เรืออู่ยกพลขึ้นบกใหม่ลำแรกของกองทัพเรือพม่าถูกตั้งชื่อตามเมือง 'เมาะตะมะ'(Mottama) อันเป็นเมืองท่าด้านฝั่งเหนือของแม่น้ำสาละวินที่ออกทะเลอันดามันในรัฐมอญ ในส่วนที่เรียกว่าอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งเคยถูกเรียกว่ามะตะบัน(Martaban) หรืออ่าวมะตะบัน(Gulf of Martaban)

ประวัติเมืองเมาะตะมะนั้นย้อนกลับไปได้ถึงสมัย สมิงวาโร หรือที่คนไทยรู้จักในนาม พระเจ้าฟ้ารั่ว ปฐมกษัตริย์ชาวมอญผู้สถาปนาอาณาจักรหงสาวดี ผู้มีอัครมเหสีคือ แม่นางเทพสุดาสร้อยดาว พระธิดาของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัยของไทย

พระเจ้าฟ้ารั่วมีพระนามเดิมว่า มะกะโท ได้ตั้งเมืองเมาะตะมะเป็นราชธานีแห่งแรกของอาณาจักรหลังจากสังหาร อลิมามาง เจ้าเมืองเดิมที่อาณาจักรพุกามที่เป็นชาวพม่าที่ถูกส่งมาครองเมือง ก่อนที่พุกามจะล่มสลายจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกล

โดยอาณาจักรหงสาวดีมีกษัตริย์ปกครองมาอีก ๑๙องค์ จนถึงรัชสมัยของ พญาอู่ จึงได้มีการย้ายราชธานีจากเมาะตะมะมายังหงสาวดี หรือปัจจุบันคือเมืองพะโค(Bago) ทางตอนใต้ของเขตพม่าแท้

อาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญได้ล่มสลายหลังการพ่ายแพ้ต่ออาณาจักรตองอูของชาวพม่า อันนำโดยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้ทำสงครามยึดกรุงหงสาวดีจากชาวมอญ และสถาปนาเป็นราชธานีแห่งใหม่ของราชวงศ์ตองอู

ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จนถึงพระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา ผู้มีสมญานาม 'พระเจ้าชนะสิบทิศ' พม่าได้ใช้เมืองเมาะตะมะเป็นที่ชุมนุมทัพก่อนจะยกมาตีกรุงศรีอยุธยาของไทย

โดยทัพพม่าจากเมาะตะมะจะเข้าทางด่านแม่ละเมาเพื่อเข้าสู่หัวเมืองเหนือ และเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อเข้าทางเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี มาถึงชานพระนครศรีอยุธยา จนถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๑ พ.ศ.๒๑๑๒

หลังสงครามยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงกรีธาทัพบุกหัวเมืองมอญ ทำให้ได้เมาะตะมะและหัวเมืองมอญฝ่ายใต้อื่นๆมาขึ้นกับอยุธยา

จนถึงสมัยราชวงศ์อลองพญา(หรือราชวงศ์โกนบอง) พระเจ้าอลองพญาปฐมกษัตริย์สามารถรวบรวมอาณาจักรพม่าให้กลับมาเป็นปึกแผ่นโดยมีกรุงรัตนปุระอังวะเป็นราชธานี หรือเมือง Inwa ในเขตมัณฑะเลย์ พม่าแท้ปัจจุบัน  

หลังจากที่พระเจ้าอลองพญาได้เมืองเมาะตะมะและหัวเมืองมอญต่างๆกลับมาเป็นของพม่า พม่าได้เริ่มกลับมารุกรานอยุธยาโดยใช้เมาะตะมะเป็นที่ชุมนุมทัพอีกครั้ง จนถึงครั้งรัชสมัยพระเจ้ามังระที่ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจนเสียกรุงครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๓๑๐

หลังจากที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้ชาติไทยได้ มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งมหาราชจักรีวงศ์ ฝ่ายพม่าพระเจ้าปดุงแห่งกรุงอังวะได้ยกทัพใหญ่หมายจะตีกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย

โดยในสงครามเก้าทัพและศึกท่าดินแดงนั้น ทัพพม่าก็ได้ใช้เมืองเมาะตะมะเป็นที่ชุมนุมทัพเช่นทุกครั้ง แต่ทัพไทยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชา ก็สามารถขับไล่ทัพพม่าออกจากแผ่นดินไทยได้

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 02/09/2019 09:20:33


ความคิดเห็นที่ 2



https://aagth1.blogspot.com/2016/01/blog-post_25.html


https://aagth1.blogspot.com/2017/12/ums-inlay-opv.html

จากที่เดิมกองทัพเรือพม่าเคยมีเพียงเรือระบายพลขนาดกลาง(LCM) และเรือระบายพลขนาดใหญ่(LCU) เพียงไม่กีลำ แต่ต่อมาพม่าได้สร้างเรือระบายพลได้เองในประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น เรือ LCU ขนาด 56m และเรือ LCM ขนาด 29m

UMS Mottama(1501) ซึ่งจะเป็นเรืออู่ยกพลขึ้นบก LPD ลำแรกของกองทัพเรือพม่านั้น เป็นแสดงถึงความพยายามในการเสริมสร้างขีดความสามารถปฏิบัติการยกพลขึ้นบกของกองทัพพม่า

การที่เรือ LPD ใหม่ลำแรกของกองทัพเรือพม่าถูกตั้งชื่อตามเมืองเมาะตะมะหรืออ่าวเมาะตะมะนั้น จึงดูจะมีนัยสำคัญบางประการต่อประเทศที่มีข้อขัดแย้งทางทหารกับพม่าในทะเลอันดามันทั้งบังคลาเทศและไทย

มีการคาดการณ์ว่ากองทัพเรือพม่ามีความต้องการเรือ LPD อย่างน้อย ๒ลำ และมองไปถึงการจะมีเรืออู่ยกพลขึ้นบกบรรทุกเฮลิคอปเตอร์(LHD: Landing Helicopter Dock) ครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 02/09/2019 09:23:50


ความคิดเห็นที่ 3


สำหรับกองทัพเรือไทยนั้นมีความต้องการเรืออู่ยกพลขึ้นบกใหม่เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย ๑ลำ เพื่อเสริมการใช้งานกับเรือหลวงอ่างทอง(ลำที่๓) ที่จัดหาจากสิงคโปร์

โดย ร.ล.อ่างทอง(ลำที่๓) นั้นมีพื้นฐานจากเรือ LPD ชั้น Endurance ของกองทัพเรือสิงคโปร์ ซึ่งเข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๕๕๖ นั้น ระหว่างการสร้างเรือมีความล่าช้าจากการแก้แบบเรือให้ตรงตามความต้องการของไทย

ล่าสุดมีรายงานว่านอกจากที่กองทัพเรือไทยจะผลักดันการจัดหาเรือดำน้ำ S26T จากจีนลำที่๒ แล้ว ยังมองที่จะจัดหาเรืออู่ยกพลขึ้นบก LPD ใหม่ ๑ลำจากจีนวงเงินประมาณ ๔,๐๐๐ล้านบาท ด้วย
(https://aagth1.blogspot.com/2019/08/s26t-lpd.html)

ทั้งนี้กองทัพเรือไทยอาจจะมองการทดแทนเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ชุดเรือหลวงอ่างทอง(ลำที่๒) ที่ปลดไปแล้วทั้ง ๕ลำคือ ร.ล.อ่างทอง(ลำที่๒), ร.ล.ช้าง(ลำที่๒), ร.ล.พงัน(ลำที่๒), ร.ล.ลันตา และ ร.ล.พระทอง ครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 02/09/2019 09:26:30


ความคิดเห็นที่ 4


South Korean shipyard launches landing platform dock for Myanmar Navy
https://www.janes.com/article/90852/south-korean-shipyard-launches-landing-platform-dock-for-myanmar-navy

Jane's รายงานข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมเหนือท่าเรือ Busan ในปี 2018 ว่า เรือ LPD 1501 UMS Mottama กองทัพเรือพม่าเชื่อว่าน่าจะถูกปล่อยลงน้ำในราวเดือนกรกฎาคม 2019

ตัวเรือมีความยาวประมาณ 125m และกว้าง 22m ดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือรองรับเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 ของกองทัพอากาศพม่าได้พร้อมกัน ๒เครื่อง

มีการระบุว่ากองทัพเรือพม่ากำหนดแบบเรือเป็น เรือยกพลขึ้นบกจู่โจม(Amphibious Assault Ship) ครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 06/09/2019 13:58:53


ความคิดเห็นที่ 5


สำหรับพม่า. ผมค่อยข้างสงสัยว่าทำไมจึงต่อเรือจากเกาหลีใต้ เพราะด้วยความสัมพันธ์น่าจะใกล้ชิดกับรัสเซียและจีนมากกว่า. แถมราคาน่าจะถูกกว่า.  ส่วนไทยผมสนใจใน 2 แนวทาง. ทางแรกซื้อแบบมาต่อ LPD เอง เพราะในอดีตเคยต่อเรือขนาด LST คือเรือหลวงสุรินทร์เองมาแล้ว ก็ควรพัฒนาต่อยอดมาต่อเรือ LPD  ที่ใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้นอีกหน่อย.  ส่วนแนวทางที่สองก็ซื้อสำเร็จจากต่างประเทศ เน้นตรงความต้องการในราคาที่ไม่แพงซึ่งของจีนน่าจะตอบโจทย์มากกว่าของประเทศอื่น แต่ข้อเสียก็ตรงเรื่องการเข้ากันได้ของระบบที่ไทยใช้หรือเปล่าเท่านั้นเอง. ซึ่งผมคิดว่าด้วยงบเท่ากันถ้าต่อจากประเทศอื่น 2 ลำอาจต่อจากจีนได้ 3 ลำ ด้วยครับ (สนับสนุนถ้าไม่ใช่เรือรบหลักครับ)

โดยคุณ rayong เมื่อวันที่ 07/09/2019 09:41:00


ความคิดเห็นที่ 6


รัสเซียนั้นมีความล้าหลังด้านวิทยาการเรือยกพลขึ้นบกมากครับ เรือยกพลขึ้นบกที่เป็นกำลังหลักของกองเรือรัสเซียส่วนใหญ่เป็นเรือที่ต่อมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นซึ่งล้าสมัยมากถ้าเทียบกับเรือของตะวันตก

เช่นเรือยกพลขึ้นบกของรัสเซียบางชั้นยังส่งยานเกราะล้อยาง BTR-82A ลงทะเลด้วยประตูหน้าเรืออยู่ ขณะที่เรือ LPD ตะวันตกใช้ระบบอู่ลอย Well Deck ปล่อยเรือระบายพลหรือรถสะเทินน้ำสะเทินบก AAV ลงท้ายเรือกันแล้ว

และเรือที่ต่อใหม่อย่าง Project 11711 Ivan Gren LST ก็มีปัญหาหลายๆอย่าง(https://aagth1.blogspot.com/2018/03/project-11711-ivan-gren.html)

รวมถึงเรือ LHD ชั้น Mistral ๒ลำที่รัสเซียสั่งต่อจากฝรั่งเศส แต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญาและขายต่อให้อียิปต์แทน(https://aagth1.blogspot.com/2016/06/mistral.html)

จนถึงโครงการสร้างเรือ LHD ด้วยตนเองของรัสเซียที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง(https://aagth1.blogspot.com/2017/05/2022-mi-28nm-ka-52.html)

รัสเซียจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับกองทัพเรือพม่าในการจัดหาเรือยกพลขึ้นบกแบบใหม่ที่ทันสมัย

 

ส่วนจีนนั้นปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการสร้างเรือยกพลขึ้นบกที่ทั้งสมัยแบบต่างเช่นเรือ LPD ชั้น Type 071 ที่สร้างออกมาแล้วหลายลำ(https://aagth1.blogspot.com/2017/06/type-071-lpd-4x4.html) และล่าสุดเรือ LHD ชั้น Type 075 ที่กำลังสร้าง

แต่ทว่าแบบเรือเหล่านี้จีนยังไม่เคยมีการสร้างส่งออกต่างประเทศได้จริงๆเลย นอกจากจะเป็นแบบแผนจำลองที่อู่เรือจีนนำเสนอในงานแสดงอาวุธต่างๆ

ถ้าเทียบกับแบบเรือ LPD ของ Daesan เกาหลีใต้ที่ส่งออกไปแล้วสามประเทศคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเปรู พร้อมสิทธิบัตรการสร้างในประเทศ

เกาหลีใต้จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่ารัสเซียและจีนสำหรับเรืออู่ยกพลขึ้นบกใหม่ของพม่าครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 07/09/2019 22:42:44


ความคิดเห็นที่ 7


ก่อนหน้านั้นถ้ายังจำกันได้ในเดือนตุลาคมปี 1983 สายลับเกาหลีเหนือได้ทำการวางระเบิดที่สุสานทหารผ่านศึกใน Yangon พม่าระหว่างที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้นเดินทางเยือนพม่า ผลก็คือมีผู้เสียชีวิต ๒๑ ราย และพม่าตัดความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ

แต่ต่อมาในช่วงปี 1990s รัฐบาล SLORC หรือต่อมาคือรัฐบาล SPDC ที่เข้ามามีอำนาจต่อจากรัฐบาล Ne Win หลังเหตุการณ์ก่อการกำเริบ 1988 และการยกเลิกผลการเลือกตั้งในปี 1990 ซึ่งทำให้พม่าถูกคว่ำบาตจากประเทศโลกเสรี

พม่าได้กลับมาฟื้นความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนืออีกครั้ง โดยในช่วงปี 1990s-2000s กองทัพพม่าได้จัดหาอาวุธและได้ความช่วยทหารทหารหลายๆอย่างจากเกาหลีเหนือ ทำให้เกาหลีใต้มีท่าทีไม่พอใจพม่าในจุดยืนดังกล่าว

จนกระทั่งมีการเลือกตั้งในปี 2011 และการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2015 พม่ามีรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรค NLD ของ Aung San Suu Kyi เกาหลีใต้จึงกลับมาฟื้นความสัมพันธ์กับพม่า

โดยการที่เกาหลีใต้จะมาลงทุนในพม่านั้นก็แลกมาด้วยการลดระดับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ซึ่งโครงการเรือ LPD ที่สร้างโดยอู่ Daesan ที่ Busan เกาหลีใต้ก็เป็นข้อตกลงหนึ่งระหว่างพม่ากับเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2014-2015

นอกจากการลดอิทธิพลของเกาหลีเหนือในพม่าแล้ว เกาหลีใต้น่าจะยังต้องการจะเข้ามามีบทบาทแข่งขันกับจีนในพม่าด้วย ซึ่งก็ตามที่ทราบว่ากองทัพพม่าได้จัดหาอาวุธจากจีนหลายแบบเป็นจำนวนมากมานานแล้วครับ

โดยคุณ AAG_th1 เมื่อวันที่ 10/09/2019 11:53:28