นั่นคือ ลูกบอลดับเพลิง ใช้โยนเข้ากองไฟทำปฏิกิริยาเคมีดับไฟภายในไม่กี่วินาที ผลงานจดสิทธิบัตรของคนไทย และส่งออกจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก
ลูกบอลดับเพลิงปรากฏตัวเป็นทางเลือกสำหรับอุปกรณ์ดับเพลิงมาตั้งแต่ปี 2541 ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมจากสภาวิจัยแห่งชาติในปี 2544 ล่าสุดปี 2551 ยังคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นจากหน่วยงานที่เรียกว่า WIPO หรือองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ไม่นับอีกสารพัดรางวัลจากอังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้
ในแง่ของนวัตกรรมแล้ว ลูกบอลดับเพลิงมีจุดเด่นชัดเจนต่างจากอุปกรณ์ดับเพลิงทั่วไปอย่างถังดับเพลิง และระบบป้องกันอัคคีภัยอย่างพวกเครื่องตรวจจับควัน และสปริงเกอร์ คือผู้ใช้สามารถทิ้งระยะห่างกับจุดเกิดเพลิงไหม้เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ไม่ต้องเข้าฝึกอบรมการใช้อุปกรณ์ดับเพลิง ไม่ต้องพึ่งพิงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจล้มเหลวได้เมื่อเกิดเพลิงไหม้
"เวลาเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ คนตายกันเยอะ ทรัพย์สินวอดวายก็เพราะอุปกรณ์ดับเพลิงมันใช้งานยาก ถังดับเพลิงแบบเก่าน้ำหนักมาก ผู้ถือถังต้องเข้าไปใกล้จุดที่มีไฟ 1.5 เมตร หรือ 6 ฟุต และพ่นต่อเนื่อง 16 วินาทีสารเคมีจึงหมดถัง" ภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทสยามเซพตี้พรีเมียร์ จำกัด แจง
วิธีการดังกล่าวเขามองว่าในความเป็นจริงคนทั่วไปทำได้ยาก เพราะไม่มีชุดป้องกันรังสีความร้อนเหมือนนักดับเพลิง ทำให้การดับเพลิงเบื้องต้นจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์เกิดขึ้นได้น้อย
ไอเดียที่ผุดขึ้นในหัวของเขาคือ อุปกรณ์ดับเพลิงน้ำหนักเบา ใช้งานง่าย และไม่จำเป็นต้องเข้าไปประชิดกับจุดเกิดเพลิง
หลังจากกลั่นความคิดจนตกผลึก เขาได้ฉีกแนวอุปกรณ์ดับเพลิงออกมาในรูปแบบลูกบอลขนาดเหมาะมือสำหรับขว้าง โยน หรือกลิ้งเข้าไปยังจุดเกิดเพลิงไหม้ ตอบโจทย์ข้อแรกและข้อสองของถังดับเพลิงแบบเดิม
ภณวัชร์นันท์อธิบายว่า การเกิดเพลิงไหม้ต้องมีอุณหภูมิที่ทำให้เชื้อเพลิงทุกชนิด เกิดการหลอมละลายกลายเป็นไอ โดยมีออกซิเจนและอุณหภูมิ เป็นตัวนำกลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ทำให้เกิดเพลิงต่อเนื่อง และจะดับลงเมื่อเชื้อเพลิงหมด
"บอลดับเพลิงมันไปตัดวงจรลูกโซ่ดังกล่าวได้ และยังใช้ดับเพลิงจากเชื้อไฟได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพวกไม้ กระดาษ หรือ พลาสติก" ผู้ให้กำเนิดลูกบอลดังเพลิง กล่าว
ในแง่ของการเฝ้าระวังเพลิง ลูกบอลดับเพลิงยังสามารถติดตั้งไว้เหนือจุดเสี่ยงที่อาจเกิดเปลวไฟได้อย่างเช่น ห้องจัดเก็บสารเคมีที่ไวไฟ จุดเชื่อมต่อแก๊ส LPG หรือ NGV รวมถึงจุดเสี่ยงประเภทที่ใช้น้ำดับไม่ได้ เช่น เหนือปลั๊กไฟฟ้า เป็นต้น เมื่อเปลวไฟลามถึงตำแหน่งลูกบอลดับเพลิง ความร้อนจะทำให้ลูกบอลแตกสารเคมีออกมาระงับเพลิงโดยทันที
การทำงานของลูกบอลดับเพลิง เมื่อเปลวไฟสัมผัสหรือเผาไหม้ลูกบอลดับเพลิง ภายใน 3-10 วินาที จะเริ่มการทำงาน ด้วยการแตกกระจายผลักดันสารเคมีซึ่งเป็นผงแป้ง ออกมาดับไฟได้โดยอัตโนมัติ โดยมีเสียงดังตกกระแทก 130-139 เดซิเบล โดยการติดตั้งควรอยู่ในระยะ เหนือจุดเสี่ยง 1.5 เมตร หรือ 6 ฟุต สามารถใช้ได้ทั้งแบบเฝ้าระวัง และระงับเพลิงขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะใช้งานทีละลูกหรือหลายลูกพร้อมกันได้เพื่อให้เพลิงสงบ
ลูกบอลดับเพลิง 1 ลูก หนัก 1.3 กก. ครอบคลุมฐานเพลิงรัศมี 1.296 เมตร 2 ลูกครอบคลุมฐานเพลิงรัศมี 2.592 เมตร มีทิศทางทำปฏิกิริยาดับเพลิง 360 องศา และอายุการใช้งานนานถึง 5 ปี
สารเคมีที่ใช้ในลูกบอลดับเพลิงผ่านการตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการจากในหลายประเทศที่เป็นองค์กรสากลแล้ว ไม่มีชื่อสารเคมีที่อยู่ในรายการของสารเคมีอันตราย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมของ อีกทั้งวัสดุห่อหุ้มเป็นชั้นโฟมไร้สาร CFC ไม่ลามไฟ ไม่มีวัสดุที่แข็ง มีแต่วัสดุที่นิ่ม ไม่ทำให้สิ่งของที่อยู่นอกกองเพลิงเสียหาย
ตลาดเป้าหมายหลักของลูกบอลดับเพลิง ผู้ประกอบการบอกว่า จะเน้นการขายตรงในตลาดโลกมากกว่าการทำตลาดในประเทศ โดยขณะนี้มียอดส่งออกมากกว่า 95%
ลูกบอลดับเพลิงสามารถสร้างตัวแทนจำหน่ายในประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม WTO หรือ องค์การค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้กว่า 58 ประเทศแล้ว โดยเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ จะขยายตลาดให้ครอบคลุมใน 101 ประเทศทั่วโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า
บริษัทตั้งใจไว้ว่าจะหาตัวแทนจำหน่ายประเทศละ 1 รายเท่านั้น โดยเน้นการทำสัญญาที่มีอายุ ไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพื่อให้เกิดแรงจูงใจต่อนักธุรกิจ ตัดปัญหาการแข่งขันกันเองในแต่ละประเทศ และหากอนาคตสามารถขยายตลาดได้สำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้อาจมีการขยายกิจการด้วยการขายลิขสิทธิ์เพื่อตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศก็ได้" นายภณวัชร์นันท์ กล่าว
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยาม เซพตี้ พรีเมียร์ จำกัด กล่าวต่อว่า นวัตกรรมบอลดับเพลิงถือเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เชื่อว่าหากธุรกิจอื่นใช้ความพยายามอดทนไม่ย่อท้อกับอุปสรรค อนาคตจะมีสิ่งประดิษฐ์อีกมากที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทยและประเทศก็จะเจริญยิ่งกว่านี้