หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ฝากข้อมูลเรื่อง ร.ศ.๑๑๒ ให้ท่าน ผบ.ทอ. ครับ

โดยคุณ : lordsri เมื่อวันที่ : 19/07/2010 22:26:39

รบกวนพี่ ๆ ทหารอากาศท่านใดช่วยฝากไปบอกท่านด้วยนะครับ

จากบทให้สัมภาษณ์ของท่าน ผบ.ทอ ดังนี้

"..กองทัพอากาศต้องมีความอดทน ซึ่งเราอดทนมาตลอดว่ามีข้อสงสัยก็พร้อมชี้แจงตลอด เราอยากให้ประชาชนและคนไทยที่รักชาติต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องยุทโธปกรณ์ วันที่ 13 กรกฎาคมนี้เป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันวิกฤติการณ์ รศ.112 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราเสียดินแดน ดังนั้น อยากให้คนไทยนึกถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 ว่าหมู่เรือรบเพียง 3 ลำ เรือนำล่อง 1 ลำ แต่เรือปืนของฝรั่งเศส 2 ลำ สามารถบุกรุกเข้ามาผ่านสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยา เวลานั้นกองทัพเรือสู่เต็มที่ แต่ด้วยอำนาจการยิงและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ไม่สามารถต้านทานเรือรบที่ทันสมัยได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เรือรบฝรั่งเศสเข้ามาจอดที่สถานทูตฝรั่งเศส และข่มขู่รัฐบาลไทยให้ยินยอมสูญเสียดินแดนแม่น้ำโขงฝั่งซ้าย อยากให้เห็นว่ายุทโธปกรณ์ที่ไม่ทันสมัย เมื่อเกิดวิกฤติข้อขัดแย้งเราจะไม่สามารถรักษาอธิปไตยเราได้ .."




ความคิดเห็นที่ 1


"เรื่องเหตุการณ์ รศ. 112 นั้น เหมือนนิทานเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ คือ สู้ก็แพ้ ไม่สู้ก็แพ้
บางท่านอาจจะเถียง ว่า ตอนนั้นเราน่าจะสามารถหยุดยั้งเรือของฝรั่งเศสได้ก็จริง
แต่ถ้าฝรั่งเศส ยกกองเรือรบมาปิดอ่าไทยเลยล่ะ เราจะสู้ได้ไหมครับ (มีตัวอย่างจากกรณีจักรวรรดิอังกฤษบุกพม่ามาแล้ว)"


ประโยคนี้ของคุณ che โดยส่วนตัวผมมองว่า ปัจจัยของพม่ารบกับอังกฤษ กับ ปัจจัยของสยามรบกับฝรั่งเศสมันต่างกันเยอะครับ

พม่าในยุคพระเจ้าธีบอ ประเทศแทบจะสลายอยู่แล้ว และมันเละเทะมาตั้งแต่ยุคพระเจ้ามินดงแล้วครับ

ปัจจัยการเมืองในพม่า ทำให้พม่าอ่อนแอแบบสุด ๆ มีการเข่นฆ่ากันระหว่างพระญาติวงกันใหญ่โต กว่าจะสงบได้พม่าก็อ่อนไปเยอะ

พอเริ่มเข้าที่เข้าทาง อังกฤษก็มาแจม

พม่าเองก็สู้ครับ แต่ด้วยที่ว่าหลักนิยมยังเป็นระบบเดิม คือใช้ทหารราบตะลุมบอน ก็เลยทำให้พม่าแพ้

แต่ถึงจะแพ้ พม่าก็สามารถตั้งรับอังกฤษได้และตีโต้อังกฤษจนแพ้ในหลายหน

แม่ทัพในยุคนั้นของพม่า ที่อังกฤษต้องซูฮกก็คือ  "มหาพันธุละ"

ลองไปหาประวัติแม่ทัพพม่าคนนี้มาอ่านเพิ่มนะครับ แล้วจะเข้าใจเองว่า ทำไมอังกฤษต้องซูฮก "มหาพันธุละ"


โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 18/07/2010 06:23:07


ความคิดเห็นที่ 2


กลับมาประเด็นสยาม VS ฝรั่งเศส

สยามได้รับรู้หลักนิยมการสงครามสมัยใหม่มาตั้งแต่ยุค ร.๓  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระเจ้าแผ่นดินของสยามก็ได้ทรงมีพระราชวิเทโศบายเป็นพิเศษกับ "สงครามทางเรือ"

ดังจะเห็นได้ว่า ในยุค ร. ๓ ทรงต่อเรือรบเพิ่มอีกหลายสิบบำ

พอมายุค ร.๔ ทรงโปรดให้สร้างป้อมปืน(แบบโบราณ) ขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และที่พระปะแดง(เพิ่มเติมจากที่ ร. ๒ เคยทรงสร้างไว้แล้วจำนวนหนึ่ง )

รวมถึง สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ทรงโปรดให้ต่อเรือรบแบบสมัยใหม่ขึ้นมาอีกหลายลำ(ตามงบประมาณที่เรามี) รวมไปถึง พระยาศรีสุริยวงศ์(ต่อมาเป็นที่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ : ช่วง บุนนาค)

ก็ได้เรียนรู้วิธีการต่อเรือรบแบบสมัยใหม่ด้วยตนเอง จนมีความสามารถในการต่อเรือรบสมัยใหม่ได้ด้วยตนเองเช่นกัน

พอมา ร. ๕  เราต้องเสียเวลาไปนานพอควร กว่าที่จะพัฒนาประเทศได้ เพราะท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังอยู่

พอสมเด็จเจ้าพระยาฯ อสัญกรรมไปแล้ว สยามก็เริ่มพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดครับ
โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 18/07/2010 06:31:24


ความคิดเห็นที่ 3


ข้ามมาถึงเรื่องปัจจัยการรบเลย จากข้อมูลที่ผมได้บอกไป แสดงให้เห็นว่า สยามมีความพร้อมเรื่องยุทโธปกรณ์แต่ไม่มีความพร้อมด้านการฝึกศึกษา

แม้แต่จะว่าไปถึงเรื่องการรบที่ด้านลาวก็ตาม ที่แม้เราจะไม่สามารถเอาชนะได้หมด แต่ฝรั่งเศสก็ไม่สามารถจะทำอะไรเราได้มาก (การรบติดพันกันนาน)
จนฝรั่งเศสต้องตัดสินใจ นำเรือรบเข้ามารบกับสยามนั่นแหละครับ

จริง ๆ แล้ว ในวันที่ฝรั่งเศสบุกทางเรือ เมื่อฝรั่งเศสพ้นจากวิถีปืนจากป้อมพระจุลฯ แล้ว

เมื่อเรือรบฝรั่งเศสแล่นมาถึงหน้าป้อมผีเสื้อสมุทร ซึ่งเป็นป้อมที่สยามปรับปรุงใหม่ให้เหมือนป้อมพระจุลฯ  มีปืนเสือหมอบอยู่ ๓ กระบอก

ผู้บังคับการป้อมฯ ไม่กล้าสั่งยิง เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นเรือรบของสยาม หรือ ฝรั่งเศสเนื่องจากเริ่มจะมืดแล้ว

ถ้าฝรั่งเศสมาตอนที่ยังเห็นตัวชัด ๆ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องโดนปืนเสือหมอบที่ป้อมผีเสื้อสมุทร ซัดกันอีกยกครับ (ข้อมูลตรงนี้ไม่มีใครเอ่ยถึงเลย)


โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 18/07/2010 06:40:24


ความคิดเห็นที่ 4


ส่วนด้านอื่นนั้น ก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสจะบุกมาในการประชุมองคมนตรีสภา

ร. ๕ ทรงสอบถามบรรดาคณะองคมนตรีว่าจะวางแผนรับมือการบุกของฝรั่งเศสอย่างไร ซึ่งที่ถกเถียงกันมีอยู่ ๓ แนวทาง

-สร้างป้อมใหม่แถว ๆ แปดริ้ว, แม่กลอง เป็นแนวต้านทานเพิ่มเติม

- ปรับปรุงป้อมเดิมสมัย ร.๔ ทรงสร้างไว้

- จัดหาอาวุธใหม่ ๆ เพิ่มเติม (ซึ่งเราก็ได้มาคือ ปืนเสือหมอบ,ทุ่นระเบิดเรือ)

ผลสรุปที่ประชุมเลือกข้อสอง และข้อสาม โดยยกเลิกการสร้างป้อมใหม่ เพราะเห็นว่าจะไม่ทันการ และจะเปลืองเงินงบประมาณด้วย

การประชุมนี้มีมาก่อนฝรั่งเศสบุกเกือบปีนะครับ ตั้งแต่สยามยังรบกับฝรั่งเศสอยู่ทางด้านลาวด้วยซ้ำไป




โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 18/07/2010 06:45:34


ความคิดเห็นที่ 5


อีกมุมหนึ่งของสงคราม ที่สยามไม่รบแตกหักกับฝรั่งเศส เป็นผลมาจากผลการประชุมของที่ประชุมองคมนตรีสภา(เหมือนเดิม)

โดยที่ ร.๕ แต่เดิมทรงต้องการจะรบกับฝรั่งเศส แต่ กรมพระยาเทววงศ์ฯ (พระราชอนุชา และเป็นเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ) ไม่ทรงเห็นด้วย ทรงให้เหตุผลว่าควรจะรบด้านทางการทูตจะดีกว่า

เพราะก่อนที่ฝรั่งเศสจะบุกสยาม ทางสยามได้มีการประสานทางการทูตกับอังกฤษอยู่ก่อนแล้ว สยามพยายามทีจะขอให้อังกฤษมาช่วยไกล่เกลี่ย

แต่อังกฤษก็ดึงเรื่องไว้ต่าง ๆ นานา แม้แต่วันทีฝรั่งเศสบุกสยาม ทางสยามก็ได้มีโทรเลขด่วนไปถึงเอกอัครราชทูตสยามประจำลอนดอน

ให้เข้าพบ รมว.ต่างประเทศของอังกฤษด่วน เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่อาจจะเป็นโชคร้ายของสยาม เพราะคลาดกันไป (อังกฤษอาจจะพริ้วก็ได้ มีสิทธิคิด)

แม้แต่เมื่อเรือรบฝรั่งเศสมาจอดที่ท่าเรือใน กทม. แล้ว

ทางสยามก็ยังหวังว่า อังกฤษ จะเข้ามาช่วยเหลือ  แต่ไม่มีปาฏิหารย์แต่อย่างใด

นั่นจึงเป็นที่มาว่า ต่อมาทำไม ปรัสเซีย(เยอรมัน) ถึงเข้ามามีบทบาทในสยามแทนอังกฤษ (จนอังกฤษต้องน้ำลายยืด เพราะสูญเสียสัมปทานรถไฟไปหมด)


โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 18/07/2010 06:54:53


ความคิดเห็นที่ 6


หันมามองปัจจัยด้านกองเรือฝรั่งเศสที่นักวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ท่านนั้น บอกว่า "ถ้าสยามรบต่อ ฝรั่งเศสก็อาจจะโมโห แล้วยกทัพเรือมาถล่มสยาม"

โดยจะไปปลุกปั่นคนในประเทศฝรั่งเศสว่า "เรารบแพ้สยาม ขายหน้าหมด อะไรทำนองนี้"

ผมคิดว่า

๑.. กว่าเรือรบฝรั่งเศสจะมาถึง สยามมิสร้างป้อม + ฝึกคนจนพร้อมมากกว่าเดิมแล้วหรือ ?

อย่าลืมนะครับ เรือเดินทะเลสมัยเมื่อร้อยปีก่อน ยังใช้ถ่านหินหรือไม้ฟืน อยู่เลย ไม่ได้แล่นไวเหมือนสมัยนี้นะครับ อย่างน้อย ๆ ต้องเป็นเดือน ๆ หรือหลายเดือนกว่าจะมาถึง ขนาดสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่คนไทยไปยุโรปยังใช้เวลาเป็นเดือน ๆ เลยครับ

กองเรือฝรั่งเศสที่มารบกับสยาม เป็นกองเรือที่อยู่ประจำที่ไซ่ง่อน ไม่ได้แล่นมาโดยตรงจากฝรั่งเศสนะครับ !!!!

๒..ถ้าฝรั่งเศสจะรบกับสยามแบบเต็มตัวจริง ผมไม่คิดว่าเป็นไปได้ครับ
เพราะช่วงนั้น ฝรั่งเศสไม่ได้ยิ่งใหญ่อยู่คนเดียว ยังมี อังกฤษ,รัสเซีย

และประเทศดาวรุ่งพุ่งแรงขึ้นมาคือ ปรัสเซีย  ฝรั่งเศสเคยได้อับอายเมื่อแพ้สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย มาก่อนหน้านั้นเกือบ ๒๐ ปี

ที่สำคัญ วันที่ฝรั่งเศสมาจอดเรือในกรุงเทพฯ นั้น
ฝรั่งชาติอื่นทุกชาติ ต่างก็ส่งเรือรบมาประจำที่หน้าสถานทูตของตัวเองทุกสถานทูต


เพราะฉะนั้น ผมไม่เชื่อว่า ฝรั่งเศสจะกล้ารบกันกลางเมืองกับสยาม เพราะถ้ายิงปืนใหญ่ผิดนิดเดียว ไปลงสถานทูตอื่นขึ้นมา

มันจะไม่ใช่สงครามระหว่างสยามกับฝรั่งเศสแค่นั้นแน่นอนครับ


ฝรั่งเศสน่ะ อาศัยลูกเก๋าเท่านั้นเองครับ จากผลการปะทะฝรั่งเศสก็รู้ว่า ถ้าปล่อยให้สยามรอดไปจากศึกนี้ได้ งานหน้าฝรั่งเศสเจ็บตัวมากกว่านี้แน่ครับ

ฝรั่งเศสถึงได้บ้าระห่ำนำเรือเข้ามาจอด เพราะอ่านทางออกว่าสยามคงไม่กล้ารบแตกหัก และหวังพึ่งอังกฤษมากจนเกินไป



โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 18/07/2010 07:12:46


ความคิดเห็นที่ 7


อืม ไม่รู้เราเข้าใจตรงกันหรือเปล่า แต่ขอสรุปความเห็นของผมนะครับ ว่าเรื่องเหตุหารณ์ รศ. 112  เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องการเมืองนำการทหารเสียมากกว่า

(ดูตัวอย่างพระยอดเมืองขวาง ที่ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ยังไม่วายโดนฝรั่งเศส ยกเป็นข้ออ้างรุกรานสยาม และป้ายสีเราจนกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของชาติตะวันตกไป ว่างๆ ลองไปหาประวัติท่านวีรชนของเราท่านนี้อ่านดูนะครับ จะได้เห็นเขี้ยวของฝรั่งเศสว่ามันยาวลากดินแค่ไหน)

อนึ่ง โดยส่วนตัวผมเห็นว่าถ้าสมัย ร. 5 เราไม่แค่พึ่งอังกฤษ แต่พึ่งรัสเซียไว้แต่เนิ่นๆ ก็อาจพลีกสถานะการณ์ได้เหมือนกันครับ (เพราะฝรั่งเศสถือว่ารัสเซียเป็นพันธมิตร ที่ต้องคบไว้เพื่อป้องกันปรัสเซีย (เยอรมัน) รุกราน) หากสยามได้รัสเซียช่วยเจรจาไว้แต่แรกก็น่าจะเป็นผลดีต่อเราบ้างไม่มากก็น้อย

ส่วนประเด็นของกระทู้นี้  ผมยังคิดว่าผู้ใหญ่ท่านนั้นอาจแค่ส่งสัญญาณให้ทราบว่า หากตอนนี้ประเทศเรามียุทโธปกรณ์ และเทคโยโลยีให้ทันสมัย (ตามเขาทัน) จะได้ไม่เป็นเหมือนบทเรียนในอดีตนั้น  น่าจะเป็นการพูดแบบสรุปเท่านั้น
(หรือไม่ก็นักข่าวอาจโด๊ดตคำพูดมาไม่ครบก็ได้) โดยเน้นไปที่ หากเรามีความพร้อมมากกว่าในอดีต ใครที่คิดรังแกเรา คงต้องเกรงๆ เราบ้าง (ส่วนเรื่องการเมืองระหว่างประเทศนั้นผมเข้าใจว่าท่านเป็นทหารคงพูดไม่ได้ ก็คงว่ากันได้แต่เรื่องทางทหารเท่านั้นครับ ส่วนเรื่องการเมืองท่านคงละไว้) ก็อย่างที่ทราบกันในบางสถานะการ สู้ก็แพ้ ไม่สู้ก็แพ้ แต่ประเด็นคงอยู่ที่ว่า ถ้าจะแพ้ ก็ขอแพ้แบบให้สมศักศรี และสูญเสียให้น้อยที่สุดครับ

 

 

โดยคุณ che เมื่อวันที่ 19/07/2010 02:09:03


ความคิดเห็นที่ 8


/
/

การเมืองในยุคนั้น "ไม่มีผล" หรอกครับ หากเราไม่มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยรวมถึงกองทัพที่กล้าแข็งไว้ต่อกรกับฝรั่งพวกนั้น

กรณีพระยอดเมืองขวางนั่นเห็นได้ชัด เพราะเรา "เลือกที่จะไม่สู้แต่แรก" ฝรั่งเศสก็เลยรุกคืบเข้ามาเรื่อย ๆ  ครั้นมาสู้ทีหลังเราก็เสียเปรียบเขาแล้ว

ไม่ต้องห่วงหรอกครับ สมัยนั้นเป็นยุค "ล่าอาณานิคม" ครับ ต่อให้ คุณทำถูก แต่คุณรบแพ้ คุณก็คือคนผิดอยู่วันยังค่ำครับ

การเดินเกมทางการเมืองของสยามจริง ๆ จะเริ่มหลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ไปแล้วครับ

---------------------------------------------------------------

เรื่องรัสเซียช่วยเหลือนี่  ถ้าดูกันจริง ๆ ตอนต้น ๆ ดูเหมือนรัสเซียจะมาฟอร์มดีครับ ประมาณเปิดตัวหรู ถ้าเป็นนักมวยยกแรกนี่ขึ้นมาการ์ดีมาก หมัดแย๊บบ่อย มีหมัดฮุคและสวิงพอควร

แต่พอยกกลาง ๆ ถึงท้าย ๆ นี่ แรงหมด ได้แต่ป้อไปป้อมา ไม่มีหมัดเด็ดที่จะทำให้หลับได้เลย

ก็เพราะพระเจ้าซาร์ ก็เกรงใจฝรั่งเศสเหมือนกันครับ ที่ว่ากันว่ารัสเซียช่วยน่ะ แค่ช่วยพูดให้เราได้คุยกับฝรั่งเศสครับ พอไปเจรจากันจริง ๆ เราก็ไม่ได้เปรียบขึ้นมามากเท่าไรนัก

แถมกงศุลรัสเซียประจำสยาม พ่อตัวดีนี่ ยังส่งโทรเลขไปโวยวายสยามต่อทางรัสเซียด้วยครับ

ทำให้ตลอดเวลาที่สยาม-รัสเซีย สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันตลอดช่วง ร.๕ นั้น  รัสเซียไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยสักนิด

การค้าขายก็จัดว่าเข้าขั้น "ล้มละลาย" เพราะรัสเซียไม่สามารถขายอะไรให้สยามได้เลย !!!!



โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 19/07/2010 05:43:45


ความคิดเห็นที่ 9


สำหรับการเสด็จเยือนต่างประเทศของ ร.๕ นั้น

แต่เดิมเมื่อทรงเสวยราชย์ใหม่ ๆ ทรงมีพระราชประสงค์ จะเสด็จเยือนยุโรปตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่ทรงเสวยราชย์ครับ คราวนั้นถ้าจำไม่ผิด จะเป็นการถวายรายงานของที่ปรึกษาอเมริกา "เอ็ดเวิร์ด เฮ็นรี่ สโตรเบล"

แต่การณ์กลับไม่เป็นไปตามพระประสงค์ เพราะ  "สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไม่เห็นด้วย"


ทำให้ทรงเสด็จได้แต่ สิงคโปร์,ชวา,ปีนัง ฯ เท่านั้นเอง แต่แค่นั้นก็ทำให้ทรงนำสิ่งที่ได้ทรงทอดพระเนตรกลับมาพัฒนาสยามได้อย่างต่อเนื่องครับ

----------------------------------------------------------------------------

สำหรับกรณี ร.ศ. ๑๑๒ ในความเห็นผม ผมสรุปว่า "การทหารนำการเมือง" ครับ

เพราะถ้าดูบริบทของการเกิดสงครามนั้น มูลเหตุเพราะกำลังทางการทหารของสยามด้อยกว่าฝรั่งเศสเยอะมาก เยอะจนทำให้ฝรั่งเศสมั่นใจว่ารบเมื่อไรสยามแพ้แน่ ๆ

อย่างที่ได้บอกไป ยุคนั้นเป็นยุคล่าอาณานิคม ถ้าคุณไม่มีปืน ไม่มีอาวุธทันสมัยไว้สู้  คุณก็จะกลายเป็นของเล่นให้เขาเท่านั้นเอง

ไม่มีฝรั่งชาติไหนมันจะจริงใจกับเราหรอกครับ ที่มันมาทำดีด้วย เพราะมันมองเห็นผลประโยชน์ที่มันจะได้รับจากเราเท่านั้นเอง

อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย <--- ทุกประเทศได้รับผลประโยชน์จากสยามทั้งนั้น ขึ้นแต่ว่าใครได้มาก ใครได้น้อย  ใครได้มากกว่าก็ช่วยมากหน่อย ใครได้น้อยกว่าก็ไม่ช่วยเลย หรือช่วยนิดหน่อย

การเมืองนั้น จะมาเกิดจริง ก็ตอนปลาย ๆ สงครามแล้ว ที่สงครามจวนจะสงบอยู่แล้วครับ 

ถ้าเปรียบเทียบให้ชัด กรณี ร.ศ.๑๑๒ ก็เหมือนกรณี ๖๖/๒๓  นั่นเอง

กว่าคำสั่งนี้จะออกมาได้ ทหารส่วนใหญ่ก็ปราบ พคท. เสียอ่อนแรงเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่ไม่กี่ที่ ก่อนที่จะมาใช้การเมืองในตอนสุดท้าย เพราะไม่จำเป็นต้องรบให้แตกหักอีกต่อไปครับ

--------------------------------------------------------------------------
สำหรับข้อความของท่าน ผบ.ทอ. ที่เกี่ยวกับกระทู้นี้ ถ้าท่านต้องการจะสื่อ ผมว่า ท่านควรจะต้องสื่อว่า เพราะสยามมีปืนเสือหมอบและทุ่นระเบิดเรือ สยามถึงไม่เสียหายหนักมากไปนัก จึงจะถูกต้องครับ

ถ้าจะสื่อว่า เพราะเราด้อยทางอาวุธกว่าฝรั่งเศส ผมก็เลยต้องมาแจ้งว่า "ไม่จริง" เพราะเรามีอาวุธชั้นดีในการตั้งรับอยู่แล้ว แต่ขาดการฝึกฝนที่ดี และหลักนิยมก็ยังล้าหลังครับ








โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 19/07/2010 06:00:35


ความคิดเห็นที่ 10


อืมม์ น่าสนใจดีครับ

ผมคิดว่าท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผ่านรั้วโรงเรียนทหารเหล่าต่างๆ ก็คงทราบเรื่องนี้ดีนะครับ คงอยู่ที่วิธีการสื่อสารกับผู้ฟังในแต่ละสถานการณ์มากกว่าครับ ผมอยู่ในหน่วยงานของรัฐมาเกือบจะ 20 ปี ยอมรับว่า กว่าจะปรับหูให้เข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่ในวงราชการท่านสื่อออกมา ก็ล่วงเวลาไปพอสมควร แต่ก็เอาเถอะข้อมูลดีๆ อย่างนี้มีประโยชน์ดีมากครับ โดยเฉพาะที่คุณบอกว่า เราเลือกไม่สู้แต่แรก นั้นผมยอมรับว่า น่าจะจริงครับ (คงสู้เป็นพิธี เหมือนเมื่อครั้งญี่ปุ่นบุกไทยใน WW2) และเหตุการณ์นี้จะสอดคล้องกับกรณี ที่สยามยกดินแดนหัวเมืองรัฐฉาน (2433) และหัวเมืองมลายู (2451) ให้กับอังกฤษในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ รศ.112 นั่นแหละ ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่ายกให้แบบเปล่าๆ เลย เพราะคิดว่าในเมื่ออังกฤษขอมา สู้รักษาไมตรีกับอังกฤษไว้จะดีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อสยามเข้าตาจนในปี 2436 (รศ.112) อังกฤษก็ทิ้งเรา  แถมในปลายปี 2484 อังกฤษนอกจากจะไม่ทิ้งเราแล้ว อังกฤษกลับส่งเครื่องบินมาโจมตีเราก่อนที่จะประกาศสงครามกับเราหน้าตาเฉย เพราะคงกลัวว่าญี่ปุ่นจะใช้ประเทศเราเป็นฐานไปตีพม่า  (เหตุการณ์ตรงนี้ทำให้รู้ซึ้งน้ำใจชาติมหาอำนาจตะวันตกจริงๆ) 

อนึ่ง เหตุการณที่สยามยกรัฐฉานให้อังกฤษในปี 2433ตรงนี้พอจะสื่อได้ว่าสยามพยายามรักษาดุลย์ทางการเมืองกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกมาก่อนเหตุการณ์ รศ.112 แล้วนะครับ เพียงแต่ไปรักษาไปถูกคนหรือไม่ครบคนเท่านั้น (ถ้าเลือกรักษากับรัสเซียควบคู่ไปด้วยเสียแต่ทีแรกเหตุการณ์น่าจะพลิกโฉมได้ดีกว่านี้แน่)

หมายเหตุ 
เหตุการณ์สมัย WW2 ระหว่างเรากับอังกฤษ พิจารณาตามงานเขียนดังกล่าวได้ที่นี่เลยครับ (ขออนุญาต ท่านเจ้าของงานด้วยครับ)
http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2007/08/X5750237/X5750237.html

ความเห็นที่ 6

"ในตอนบ่ายของวันที่ 6 ธันวาคม 2484 นักบินตรวจการณ์ของกองทัพออสเตรเลีย ได้บินตรวจอ่าวไทย  พบเรือลำเลียงทหารของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งมีเรือรบคุ้มกันมาสองขบวน จึงได้รายงานไปยัง กองบัญชาการทหารสูงสุดที่สิงคโปร์  นายพลเพอร์ซิวัล ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่สิงคโปร์  ได้สั่งให้กำลังกองทัพเรือพร้อมทั้งเครื่องบิน  ออกโจมตีทำลายการเคลื่อนที่ของกองทัพญี่ปุ่นในท้องทะเลหลวง แต่จอมพล เซอร์ โรเบิร์ท บรุค  ป๊อปแฮม  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพอังกฤษภาคพื้นเอเซีย  พิจารณาเห็นว่า  ขบวนเรือของกองทัพญี่ปุ่นดังกล่าว มุ่งเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง  จึงไม่ใช่ธุระของอักฤษ  ดังนั้นจึงเพียงแต่สั่งการเตรียมพร้อมอันดับหนึ่งไว้เท่านั้น "

 

ความเห็นที่ 15 -16

อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศสงคราม  จนกระทั้ง เมื่อกลางคืนของวันที่ 24 มกราคม 2485  พระนครถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ลูกระเบิดถูกมุขด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคมพังลงมา  เป็นการทิ้งระเบิดครั้งแรก พอวันรุ่งขึ้น 25 มกราคม 2485  ไทยก็ได้ประกาศสงคราม

การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา  มีสาระดังนี้
               "โดยที่ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้กระทำการรุกรานประเทศไทยมาเป็นลำดับ  โดยส่งทหารรุกล้ำเขตแดนเข้ามาบ้าง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ส่งเครื่องบินลอบเข้ามา ทิ้งระเบิดบ้านเรือนของราษฎร ผู้ประกอบการหาเลี้ยงชีพอย่างปกติ ทั้งระดมยิงราษฎรสามัญ ผู้ไร้อาวุธอย่างทารุณผิดวิสัยของอารยชน  ไม่กระทำการอย่างเปิดเผยตามประเพณีนิยมระหว่างชาติ  นับได้ว่าเป็นการละเมิดต่อกฏหมายระหว่างประเทศ และมนุษยธรรม  ประเทศไทยไม่สามารถที่จะทนดูต่อไปได้อีก
           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ  ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า  ได้มีสถานะสงคราม  ระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง  ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน วันที่ 25 มกราคม 2485  เป็นต้นไป
           ฉะนั้น  จึงให้ประชาชนชาวไทยทุกเพศทุกวัย  ร่วมมือร่วมใจกับรัฐบาล ปฎิบัติกิจการเพื่อให้ประเทศไทย ประสบชัยชนะถึงที่สุด และพ้นจากการรุกรานอันไม่เป็นธรรมของฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ด้วยกระทำการสนับสนุนกิจการของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง และปฎิบัติตามคำสั่งของราชการอย่างเคร่งครัด ทั้งให้ประกอบอาชีพตามปกติของตนอย่างเต็มที่ให้ได้ผล เพื่อนำมาช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนร่วมชาติ และพันธมิตรของชาติอย่างมากที่สุด
           ส่วนผู้อาศัยอยู่ในประเทศนี้ที่มิได้เป็นคนไทย และมิได้เป็นชนชาติศัตรู ให้ตั้งตนอยู่ในความสงบ และดำเนินอาชีพอย่างปกติ และให้กระทำกิจการให้สมกับที่ตนได้รับยกย่องว่า เป็นมิตรของประเทศไทย"
           รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประกาศสงครามให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ในวันที่ 25 มกราคม 2485 มีใจความว่า
           ตั้งแต่แรกอังกฤษได้แผ่จักรภพมาทางด้านตะวันออก ประเทศไทยได้รับการเบียดเบียนบีบคั้นมาโดยตลอด  อังกฤษได้บั่นทอนดินแดน และแบ่งแยกเชื้อชาติไทยให้กระจัดกระจาย กระทำการทุกอย่างให้ไทยอ่อนแอทางการคลัง และเศรษกิจ ส่วนทางสหรัฐอเมริกาก็ดำเนินนโยบาย เช่นเดียวกับอังกฤษ  ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน สหรัฐอเมริกาได้ขัดขวาง การดำเนินการของไทยทุกประการ  ตลอดจนริบเครื่องบินและอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ไทยสั่งซื้อ และชำระเงินให้เสร็จแล้ว
           ครั้นเมื่อสงครามได้เกิดขึ้นในบูรพทิศ ประเทศไทยได้รู้สึกผูกพันในหน้าที่ ที่เป็นชาวเอเซีย จึงได้ร่วมเมือทำสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น แต่ไทยก็มิได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และมิได้ทำการประทุษร้ายรุกรานทั้งสองประเทศดังกล่าวแต่ประการใด ตรงกันข้ามอังกฤษและอเมริกา ได้กระทำประทุษร้ายไทยอย่างรุนแรง ในระหว่างวันที่ 8  ธันวาคม ถึง 20 มกราคม  ไทยได้ถูกโจมตีทางอากาศ 30 ครั้ง  และโจมตีทางบกถึง 36 ครั้ง  จังหวัดที่ถูกโจมตีมีจังหวัดเชียงราย  แม่ฮ่องสอน  ตาก  กาญจนบุรี  นครสวรรค์  พระนครและธนบุรี  ประจวนคีรีขันธ์  ชุมพร  สงขลา  และยะลา  ในบรรดานักบินที่จับได้ ก็มีนักบินที่เป็นคนชาติอเมริกันอยู่ด้วย  การโจมตีทางอากาศก็มิได้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือมิได้โจมตีที่สำคัญทางทหาร แต่กลับโจมตีบ้านเรือนราษฎร  และใช้ปืนกลยิงผู้คนพลเมืองอย่างปราศจากศีลธรรม  ครั้นเมื่อคืนวันที่ 24 มกราคม เครื่องบินอังกฤษไก้มาโจมตีพระนครอีก
           พฤติกรรมทั้งนี้ย่อมตกอยู่ในวิสัยอันไม่สามารถจะทนดูต่อไปได้ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาในวันนี้ ตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป
การดำเนินการของฝ่ายสัมพันธมิตร
           เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2485  เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอน ได้ปรารภกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า  ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ควรประกาศสงครามกับไทย เพราะจีนเชื่อว่าไทยถูกญี่ปุ่นบีบบังคับ การประกาศสงครามกับไทยเท่ากับเป็นการผลักดันให้ไทยเข้าข้างญี่ปุ่น แต่เมื่ออังกฤษได้ทราบการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการของไทยจากรัฐบาลสวิส อังกฤษจึงได้ประกาศสงครามกับไทยเมื่อวันที่ 6   กุมภาพันธ์  2485 โดยให้ถือว่ามีสงครามกับไทย ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2485  และได้โทรเลขถึงข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ประจำประเทศ  แคนาดา  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์และอัฟริกาใต้ แสดงความหวังว่า ประเทศในเครือจักรภพ จะได้ดำเนินการอย่างเดียวกัน
           รัฐบาลแคนาดาไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย  แต่ถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามทางเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกันกับประเทศบัลกาเรีย
           รัฐบาลออสเตรเลียประกาศสถานะสงครามกับไทย  เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2485
           รัฐบาลอัฟริกาใต้ประกาศสงครามกับไทย  เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2485 โดยถือว่ามีสถานะสงครามกับไทยตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2485
           รัฐบาลนิวซีแลนด์ ประกาศสถานะสงครามกับไทย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2485  โดยถือว่าสถานะสงครามกับไทยตั้งแต่ 25 มกราคม 2485
           รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศทั้งสามคือ  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  และอัฟริกาใต้  เนื่องจากไม่มีเหตุอย่างใด  ที่ก่อให้เกิดสถานะสงครามระหว่างกัน
           สำหรับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา  แสดงท่าทีไม่รับรู้การประกาศสงครามของไทย  โดยมิได้ประกาศสงครามตอบ  และยังคงถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง  เว้นเสียแต่ในกรณีที่กำลังทหารไทย  จะเข้าร่วมในการปฏิบัติการทางทหารของญี่ปุ่นต่อกองกำลังของสหรัฐ ฯ  รัฐบาลสหรัฐ ฯ  จึงจะปฏิบัติต่อกำลังทหารไทยเสมือนหนึ่งศัตรู  นโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยของสหรัฐ ฯ กับอังกฤษจึงเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่นั้นมา

http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2007/08/X5750237/X5750237.html

โดยคุณ che เมื่อวันที่ 19/07/2010 11:26:38


ความคิดเห็นที่ 11


เรื่องเหตุการณ์ รศ. 112 นั้น เหมือนนิทานเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ คือ สู้ก็แพ้ ไม่สู้ก็แพ้
บางท่านอาจจะเถียง ว่า ตอนนั้นเราน่าจะสามารถหยุดยั้งเรือของฝรั่งเศสได้ก็จริง
แต่ถ้าฝรั่งเศส ยกกองเรือรบมาปิดอ่าไทยเลยล่ะ เราจะสู้ได้ไหมครับ (มีตัวอย่างจากกรณีจักรวรรดิอังกฤษบุกพม่ามาแล้ว)

การที่บรรพชนของเรา เลือกใช้วิธีที่เจ็บตัวน้อยที่สุด (เสียน้อยที่สุด) ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้ว ส่วนกรณีที่ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่า เราแพ้เพราะตอนนั้นเราสู้แสนยานุภาพของชาติตะวันตกไม่ได้ เป็นการพูดเพียงแค่บทสรุปสั้นๆ เท่านั้นครับ เพราะเรื่องจริงทั้งหมดเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศล้วนๆ ระหว่าง หมาป่า (ชาติมหาอำนาจ) และ ลูกแกะ (ได้แก่ ชาติเล็กๆ อย่าง ไทย พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ) ที่ล้วนได้รับบทเรียนที่ข่มขื่นจากหมาป่ามาแล้วทั้งสิ้น  

แต่หากสู้กันตอนนี้ มันก็ไม่แน่นะครับ เพราะประเทศลูกแกะในปัจจุบันได้เติบโตพอที่จะป้องกันตัวเองได้แล้ว และนี่น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่พยายามส่งสารออกมามากกว่าครับ

สุดท้ายนี้ ขอฝากบทความจากสกู๊ปหน้า 1 ของ ไทยรัฐ ให้อ่านแก้เซ็งตามเคยครับ

วิกฤติ ร.ศ.112 เงื่อนใจไทย-เขมร

Pic_96633

ไกรฤกษ์ นานา

"ไทยเราก็ไม่มีหนทางที่จะทำอย่างอื่น ต้องเอากุ้งฝอยแลกปลากะพง"

สร้อยสำนวนที่ยกมาเป็นของนายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยุคแรกเริ่ม อธิบายความคับข้องใจที่ตระกูลของตนต้องสละเมืองพระตะบองคืนสู่สยาม ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5

อดีตนายกฯควงเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้ดูแลเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และระสือ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งต้อง "เอากุ้งฝอยแลกปลากะพง" เมื่อนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสเข้ากระชับพื้นที่

เหตุการณ์ "เอากุ้งฝอยแลกปลากะพง" เริ่มมาจากเหตุการณ์ สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยคือ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเกิดการต่อสู้กันอย่างเดือดดุ ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436

ก่อนเสียงปืนป้อมพระจุลฯคำรามวันที่ 13 กรกฎาคมนั้น ฝรั่งเศสนำเรือลูแตงเข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณข้างสถานทูตฝรั่งเศสข้างโรงแรมโอเรียนเต็ลแล้ว 1 ลำ ถึงเย็นวันที่ 13 จึงเคลื่อนเรือรบเข้ามาอีก 2 ลำ คือ เรือแองกองสตังต์ และเรือโคเมต์ โดยมีเรือไปรษณีย์ 1 ลำ เป็นเรือนำร่อง

เหตุการณ์เย็นนั้น นาวาโทสมควร สุกดิษฐ์ รองผู้บังคับป้อมพระ�จุลจอมเกล้าฯเล่าว่า เวลาประมาณ 18.30 น. เรือไปรษณีย์ 1 ลำ แล่นนำเรือรบเข้ามาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนั้นผู้ดูแลยุทธศาสตร์ กองทัพเรือไทยคือ พลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธิน ท่านสั่งให้รบตามมาตรฐานสากลคือ ยิงด้วยดินเปล่า 2 นัด เพื่อเตือนให้ยุติการกระทำ

แต่เรือยังแล่นเข้ามา ไม่ยี่หระคำเตือน

ดังนั้น กองทัพเรือสยามจึงส่งโทรเลขเข้าไปยังเรือรบฝรั่งเศส ให้ยับยั้งการละเมิดสิทธิ์ของสยาม แต่เรือรบก็ยังแล่นรุกคืบเข้า เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงต้องยิงด้วยกระสุนจริง แต่ยิงให้ตกบริเวณหน้าเรือรบฝรั่งเศส เพื่อเป็นไปตามขั้นตอนการเตือนระหว่างกัน

แทนที่เรือรบฝรั่งเศสจะหยุด กลับชักธงรบ

กระสุนปืนใหญ่จากป้อมพระจุลฯและเรือรบสยามจึงคำรามก้อง สาดเข้าหาเรือไปรษณีย์และเรือรบฝรั่งเศส ขณะที่กระสุนปืนจากฝรั่งเศสก็โต้กลับมาอย่างไม่ยั้งมือ เหตุการณ์นี้ สรศัลย์ แพ่งสภา บอกว่า "เสียงปืนจากการสู้รบดังสนั่น ควันปืนตลบไปทั่วยุทธบริเวณปากน้ำเจ้าพระยา ร.ล.หาญหักศัตรู ร.ล.นฤเบนทร์บุตรี ร.ล.ทูลกระหม่อม เข้าร่วมในการยุทธ์เต็มความสามารถ"
ด้วยยุทธปัจจัยที่เหนือกว่า กระสุนปืนจากป้อมพระจุลฯและเรือรบสยามจึงมิอาจหยุดเรือรบนักล่าอาณานิคมได้ ต้องปล่อยให้เรือรบแล่นเข้ามาจอดข้างเรือลูแตงที่รออยู่ก่อนแล้ว ณ หน้าสถานทูตฝรั่งเศส

พลเรือตรีญาดา เนตรเจริญ อดีตหัวหน้ากองประวัติศาสตร์ กองทัพเรือ เล่าเสริมว่า ในเช้าตรู่ของวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2436 เนื่องจากสมัยนั้นข่าวสารบ้านเมืองยังล้าหลัง ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าเกิดสงครามระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เช้าขึ้นมาก็ตื่นเต้นว่ามีเรือฝรั่งเศสลำใหญ่เข้ามาจอด

และที่ขำไม่ออกคือ "ทหารฝรั่งเศสไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะตอนเช้ามืดพระสงฆ์พายเรือออกมาบิณฑบาต มีบาตรดำๆตะคุ่มๆ ตั้งอยู่หัวเรือ ทหารฝรั่งเศสไม่รู้ว่าเป็นอะไร คงเกรงว่า
เป็นระเบิด จึงต้องระวังตัวกัน"

นั่นเป็นเรื่องเล่าสนุกๆ แต่เรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ที่เรือรบฝรั่งเศสเข้าไปจอดเทียบหน้าสถานทูตก็คือ เพื่อแสดงศักดาของตน และต้องการเข้าฉลองวันชาติฝรั่งเศส วันที่ 14 กรกฎา ที่หน้าสถานทูตอีกด้วย

เสร็จศึกผลปรากฏว่า ฝ่ายฝรั่งเศสตาย 3 ศพ บาดเจ็บ 3 คน และเรือไปรษณีย์ไปเกยตื้นไม่สามารถแล่นเข้ามาได้ ฝ่ายไทยเสียชีวิต 8 นาย และบาดเจ็บอีก 40 นาย นั่นยังไม่ร้ายเท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436

เพราะสยามต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศส ด้วยเงินจำนวนประมาณ 3,000,000 บาท และจำต้องทำสัญญาถอนทหารทั้งหมดจากชายแดน และฝรั่งเศสยังเข้าไปยึดจันทบุรีไว้เป็นประกัน เพื่อกดดันให้สยามยอมให้ฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจในเขมรอย่างสะดวก

นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เป็นต้นมา แม้สยามต้องเสียค่าชดเชยสงครามให้ฝรั่งเศส แล้วยังต้องยอมถอนตัวจากเขมรและลาว แม้แต่ตระกูลของอดีตนายกรัฐมนตรีต้องกลับสยาม
แต่ก่อนที่จะต้องยอมฝรั่งเศสถึงขั้นถอนตัวจากเขมร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กุศโลบายหลายประการเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติไว้อย่างเต็มพระปรีชาสามารถ
นายไกรฤกษ์ นานา เจ้าของหนังสือ สมุดภาพเหตุการณ์ ร.ศ.112 รวมภาพล้ำค่าจากเอกสารต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นเรื่องการล่าอาณานิคมว่า การล่าอาณานิคมมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้ต้องการทรัพยากรธรรมชาติไปป้อนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม รถไฟ และอีกมากมาย เมื่อทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตนมีน้อย จำเป็นต้องหามาป้อน จึงต้องล่าอาณานิคม

การเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากประเทศเล็กประเทศน้อยแล้ว ประเทศใหญ่ที่นักล่าอาณานิคมต้องการคือประเทศจีน พอดีสยาม เวียดนาม และเขมร มีแม่น้ำโขงไหลมาจากจีน ฝรั่งเศสจึงต้องการใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐาน เพื่อขึ้นไป "แบ่งเค้ก" ชิ้นสำคัญคือจีน

เรื่องนี้สยามรู้เท่าทันฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กุศโลบายแก้ปัญหาภัยคุกคามจากฝรั่งเศส โดยการเสด็จประเทศต่างๆ เพื่อสร้างสัมพันธ์กับมิตรประเทศ และแสดงศักยภาพ

การเสด็จไปแต่ละประเทศล้วนมีความหมายทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย อังกฤษ และเยอรมนี ทั้งนี้เพื่อถ่วงดุลอำนาจของฝรั่งเศสไว้ นาวาโทสมควร สุกดิษฐ์ ยังบอกว่า พระพุทธเจ้าหลวง นอกจากเสด็จเพื่อหามิตรประเทศที่เป็นมหาอำนาจคานกับฝรั่งเศสแล้ว ยังสร้างเสริมยุทธปัจจัย และยุทธวิธีการรบในสยามอีกด้วย

เป็นต้นว่า ส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาทหารในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียและอื่นๆ เพื่อนำความรู้มาใช้ในกองทัพสยาม แม้แต่ ป้อมพระจุลจอมเกล้าเอง พระองค์ก็ทรงสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ นำมาสร้างเพื่อต่อต้านอริราชศัตรู

ปี 2553 เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี แห่งการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และครบรอบ 117 ปีของกรณี "วิกฤตการณ์ ร.ศ.112" กองทัพเรือได้จัดงาน "สดุดีวีรชนในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112" จัดขึ้นวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2553 ณ ห้องอเนกประสงค์ สโมสรท้ายเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า

นาวาโทสมควร สุกดิษฐ์ บอกว่า พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 แห่งนี้ หันพระพักตร์ไปทางกรุงเทพมหานคร เสมือนหนึ่งทอดพระเนตรไพร่ฟ้าประชากรในพระองค์อยู่เป็นเนืองนิตย์
วันรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 อีกนัยหนึ่งก็คือ วันหาเรื่องของหมาป่าฝรั่งเศสจะกินลูกแกะสยาม ไม่คาดฝันว่าปีนี้ จะประจวบเหมาะ

กับเป็นวันที่กัมพูชาประกาศจะจัดงาน "วันโกรธแค้นไทย" ในวันที่ 15 กรกฎาคมพอดิบพอดี

เราต่างถูกนักล่าอาณานิคมทำร้าย และวางระเบิดเวลาไว้ให้ผิดใจกัน แม้เวลาผ่านพ้นมานับ 100 ปี ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะถอดสลักออกได้

ทั้งๆที่สลักเหล่านั้นอยู่ในใจของเรานี่เอง.

http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/96633

โดยคุณ che เมื่อวันที่ 17/07/2010 04:22:17


ความคิดเห็นที่ 12


เพิ่มเติมครับ

การกระทำของประเทศใหญ่อย่างฝรั่งเศส ที่ทำต่อประเทศเล็กอย่างสยาม ได้ถูกจับตามองโดยประเทศมหาอำนาจอย่างเช่น อังกฤษ ซึ่งได้คัดค้านฝรั่งเศสมาตลอด แต่เมื่อถึงเวลาคับขัน อังกฤษก็กลับวางเฉย เป็นกลาง และไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยแต่อย่างใด เพราะอังกฤษเองก็ต้องการผลประโยชน์ และไม่อยากทะเลาะกับฝรั่งเศสให้เสียเวลา โดยมากการคัดค้านของอังกฤษในช่วงแรกมักจะ แสดงออกผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการ์ตูนล้อเลียน เช่นรูป “หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Punch ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ เพื่อล้อเลียนฝรั่งเศสว่าเป็น ชาติที่ดื้อดึง และคิดเอาแต่ได้ เหมือนหมาป่ากับลูกแกะในนิทานอีสป ที่มีเรื่องราวอยู่ว่า

“วันหนึ่ง ขณะที่หมาป่ากำลังดื่มน้ำอยู่ในลำธารอยู่นั้น มันก็เหลือบไปเห็นลูกแกะตัวหนึ่งกำลังดื่มน้ำอยู่เช่นกัน มันจึงวางแผนคิดจะกินลูกแกะเสียให้ได้ ว่าแล้วมันจึงเข้าไปหาเรื่องลูกแกะ และตีโพยตีพายว่า เจ้าลูกแกะน้อย เจ้ามากินน้ำในแม่น้ำนี้ ทำให้น้ำที่ข้ากินขุ่นเสียหมด เจ้าจะชดใช้ให้ข้าอย่างไร ? ลูกแกะน้อยก็ตอบว่า ท่านกินอยู่ต้นน้ำ ข้าต่างหากที่ต้องกินน้ำขุ่นๆ เพราะท่าน... หมาป่าจึงหาเรื่องอีกว่า เจ้าลูกแกะน้อยเมื่อหกเดือนก่อนเจ้าแอบนินทาว่าร้ายข้าใช่ไหม ? ลูกแกะจึงตอบว่า ข้าเพิ่งเกิดได้สามเดือนจะไปนินทาท่านได้อย่างไร... หมาป่าหงุดหงิดแล้วอ้างต่อว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าก็เคยแอบกินอาหารของข้าใช่ไหม ? ลูกแกะน้อยก็ตอบว่า ข้าได้กินแต่นมแม่ จะไปกินอาหารของท่านได้อย่างไร... หมาป่าจนปัญญา เพราะอ้างอย่างไรมันก็ผิดอยู่ดี และโดยไม่ต้องมีการเจรจาอันใดอีก หมาป่าจึงรีบกระโดดเข้าขย้ำลูกแกะลงท้อง อย่างสบายใจ เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของภาพ หมาป่าฝรั่งเศสผู้คิดเอาแต่ได้ กับลูกแกะสยามตัวน้อย ๆ ที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย"

หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม มีแม่น้ำโขง คั่นอยู่ตรงกลาง และเป็นชนวนเหตุ ของเรื่องทั้งหมด
 
โดยคุณ che เมื่อวันที่ 17/07/2010 04:27:41


ความคิดเห็นที่ 13


อีกนิด จากบล็อกเดิม ครับ

ม.ปาวี วีรบุรุษของฝรั่งเศส สร้างวีรกรรม Mission Pavie
ทำให้เป็นที่เกลียดชังมากสำหรับชาวสยาม
ซึ่งแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเรียกว่า “อ้าย(ไอ้)ปาวี”

  • เมื่อฝรั่งเศสได้สิบสองจุไท ไปแล้ว ก็ดำเนินแผนการต่อทันที โดยส่งนาย ม.ปาวี (M. Auguste –Jean - Marie Pavie) อดีตนักสำรวจ ผู้มีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับ ประเทศสยาม พงศาวดารเขมร และลาว เป็นอย่างดี มาเป็นราชทูตประจำกรุงเทพฯ ทำให้รัฐบาลสยามมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก นายปาวียืนยันอย่างหนักแน่นว่า ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หรือลาวล้านช้าง เป็นกรรมสิทธิ์ของญวน ฝรั่งเศสจะไม่ยอมให้สยามยึดครองต่อไปเป็นอันขาด พร้อมกับใช้ นโยบายเรือปืน บีบบังคับสยาม โดยส่งเรือรบ ลูแตง (Le Lutin) เข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ตั้งแต่ เดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ เพื่อรอฟังคำยินยอมของสยาม หลังจากนั้นก็ได้ส่งทหารบุกรุกเข้ามาในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันขึ้นในวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ ที่ แก่งเจ๊ก เมืองคำม่วน ริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้ทหารฝ่ายสยามตาย ๖ คน ฝรั่งเศสตาย ๑๒ คน ในจำนวนนี้มีนายทหารชื่อ กรอสกูแรง(Grosgurin) รวมอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าการปะทะกันในครั้งนี้ จะมีการสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ด้วยเทคนิคการประชาสัมพันธ์ และการสร้างกระแสข่าวของฝรั่งเศส ทำให้ฝ่ายสยามกลายเป็นฝ่ายผิด และจะต้องเป็นผู้ชดใช้ต่อการตายของทหารฝรั่งเศส

ร้อยโท กรอสกูแรง ผู้เสียสละของฝรั่งเศส

  • เหตุการณ์ชักจะบานปลายไปกันใหญ่ เมื่อฝรั่งเศสปรับเปลี่ยนยุทธวิธีจากการใช้กำลังทางบก มาเป็นการใช้กำลังทางเรือซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของสยาม ในการนี้ฝรั่งเศสมีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น กำลังทหารเรือของสยามส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งขาดความพร้อม และประสบการณ์ ส่วนเรือรบของสยามก็มีเพียงลำเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอ ก็คือเรือพระที่นั่งมหาจักรี ส่วนลำอื่นล้วนเป็นเรือเก่า ที่หมดสภาพไปแล้ว อีกทั้งในสัญญาเกี่ยวกับการนำเรือรบเข้ามาในสยาม ที่ทำไว้ร่วมกัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๔ มีรายละเอียดไม่ตรงกัน คือในสัญญาฉบับภาษาไทยระบุว่า ฝรั่งเศสจะนำเรือเข้ามาได้ ต้อง “ขออนุญาต” สยามก่อน ส่วนในฉบับภาษาฝรั่งเศส ระบุว่า ฝรั่งเศสจะนำเรือเข้ามาได้ ต้อง “แจ้ง” สยามก่อน เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสยืนยันที่จะส่งเรือรบเข้ามาอีกสองลำ คือเรือแองคองสตังค์ (Inconstant) และเรือโคแมต (Comete) เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา
  • ข้างฝ่ายสยามไม่ยินยอม พร้อมกับเตรียมการป้องกันอย่างเร่งด่วน โดยมีพระยาชลยุทธโยธินทร์ “กัปตันริชริว” เป็นแกนหลักในการวางแผน ฝ่ายสยามดำเนินการปรับปรุงป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมผีเสื้อสมุทร ด้วยการติดตั้งปืนใหญ่อาร์มสตรอง ขนาด ๖ นิ้วรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งสั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ จัดวางกำลังทางบก และทางเรือเพื่อใช้ในการป้องกันประเทศ อีกทั้งวางเครื่องกีดขวางเช่น ตาข่าย และสนามทุ่นระเบิด ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ปืนเสือหมอบ หรือปืนใหญ่อาร์มสตรอง ที่จัดซื้อมาจากประเทศอังกฤษ สามารถยกตัวขึ้น-ลงจากหลุมเพื่อทำการยิงได้

  • แม้ว่าต่อมาฝ่ายสยามจะสามารถเกลี้ยกล่อม ให้ฝรั่งเศสระงับการส่งเรือรบสองลำเข้ากรุงเทพฯ ได้สำเร็จ แต่ไม่ทราบชัดว่าเป็นด้วยเล่ห์กล หรือเจตนาอันใดของนายปาวี ที่ไม่ยอมส่งโทรเลขด่วนอันสำคัญนั้นให้กับผู้บังคับการเรือรบอย่างจริงจัง แต่กลับใส่ไว้ในก้นถุงไปรษณีย์ที่มาส่งในช่วง เย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ปะปนกับจดหมายทั่วไปของทหารประจำเรือ แม้ว่าผู้บังคับการเรือจะได้รับการแจ้งเตือนปากเปล่า จากนายทหารอังกฤษแล้ว แต่เมื่อไม่มีหลักฐานคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร เขาจึงตัดสินใจนำเรือเข้าไป ตามแผนการที่ได้ตกลงกันก่อนหน้านี้แล้วกับนายปาวี ว่าจะ เข้าไปชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นเหนือใจกลางเมืองหลวงของสยาม ให้จงได้ ในโอกาสเฉลิมฉลองวันชาติฝรั่งเศส (๑๔ กรกฎาคม)

ปืนเสือหมอบกำลังทำการยิง เรือรบฝรั่งเศส โดยมีนายทหารต่างชาติเป็นผู้ควบคุมการยิง

  • วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เวลาประมาณ ๑๘๐๕เรือรบทั้งสองลำของฝรั่งเศสก็แล่นผ่านสันดอนเข้ามา โดยมีเรือสินค้า เจ.เบย์.เซย์. (Jean Baptist Say) เป็นเรือนำร่อง ปืนใหญ่ในป้อมพระจุลจอมเกล้ายิงเตือน แต่เรือฝรั่งเศสไม่ยอมหยุด ในที่สุดก็เกิดการยิงปะทะกัน เรือ เจ.เบย์.เซย์. ถูกยิงเกยตื้น แต่เรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมต ยังคงแล่นฝ่าดงกระสุน ผ่านเรือรบสยาม และเครื่องกีดขวางต่าง ๆ ต่อไปได้จนถึงกรุงเทพ และเทียบท่าหน้าสถานทูตฝรั่งเศส กัปตันริชลิว ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ การป้องกันประเทศจึงคิด จะนำเรือพระที่นั่งมหาจักรี พลางไฟมืดแล้วเข้าพุ่งชน เรือฝรั่งเศสให้จมลง แต่กระทรวงการต่างประเทศได้ห้ามไว้ และตกลงที่จะเจรจาอย่างสันติกับฝรั่งเศส

เรือรบฝรั่งเศส ๓ ลำ แองคองสตังค์ โคแมต และลูแตง จอดเรือกดดันสยามอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ริมท่าน้ำสี่พระยา
  • การเจรจาล่วงเลยไปไปหลายสิบวัน ก็ไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้ ฝรั่งเศสจึงยื่นคำขาดพร้อมกับยกกองเรือเข้ามาอีก ๙ ลำ เพื่อปิดปากอ่าวเตรียมการโจมตีสยาม อย่างที่เคยทำกับญวน เพื่อมิให้เหตุการณ์ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สยามจึงจำต้องยอมรับคำขาดของฝรั่งเศสดังนี้
  1. ให้สยามยอมรับว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้ เป็นของฝรั่งเศส
  2. ให้สยามถอนกำลังทหารออกจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงภายใน ๑ เดือน
  3. ให้เสียค่าปรับให้แก่ฝรั่งเศส ในกรณีทุ่งเชียงคำ และคำม่วน และกรณีที่ปากน้ำ
  4. ให้ลงโทษผู้กระทำผิด และจ่ายเงินให้กับครอบครัวของผู้เสียหายตามข้อ ๓
  5. ให้จ่ายค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศส จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์
  6. ให้จ่ายเงินมัดจำ ค่าเสียหายตามข้อ๓ ,๔ และ๕ จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นเงินเหรียญ โดยทันที ถ้าหากจ่ายไม่ได้ก็ต้องยอมให้ฝรั่งเศสเก็บภาษีในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ

ทหารฝรั่งเศสขนเงินเหรียญ จำนวนสามล้านฟรังค์ ไปไว้บน เรือลูแตงเพื่อเดินทางไปไซ่ง่อน ใช้เวลาในการขนเป็นวัน ๆ และนับกันไม่ไหวจนต้องใช้วิธีการชั่งเอา คิดเป็นน้ำหนักได้ถึง ๒๓ ตัน นี่คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใช้แลกกับความเป็น “ไท” ของสยามประเทศ
  • เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ทำให้เราเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสเป็นครั้งที่ ๓ คิดเป็นพื้นที่ ๑๔๓,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร แต่ผลพวงจากความสูญเสียยังไม่จบลงเท่านี้ เนื่องจากฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีเอาไว้ โดยอ้างว่า เพื่อเป็นหลักประกันว่าสยามจะปฏิบัติตามสัญญาครบทุกข้อ
  • แม้ว่าสยามจะปฏิบัติตามสัญญาได้ครบทุกข้อแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมย้ายออกไป จนเวลาผ่านไปนับสิบปี สยามจึงต้องขอแลกดินแดนจันทบุรี โดยยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามหลวงพระบาง รวมทั้ง มโนไพร และจำปาศักดิ์ ให้กับฝรั่งเศส เราจึงได้จันทบุรีคืนในปี พ.ศ.๒๔๔๗ แต่เสียดินแดนอีกครั้ง เป็นพื้นที่ ๖๒,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร
  • หมาป่าฝรั่งเศสยังใช้ลูกไม้เดิมคือ ถอยออกจากจันทบุรี แต่กลับไปยึดเมืองตราดแทน รวมทั้งเกาะทั้งหลายใต้แหลมลิงไปจนถึงเกาะกูด สยามจึงจำต้องขอแลกเอาดินแดนส่วนนี้คืน โดยยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๔๕๐ คิดเป็นเนื้อที่ ๕๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
  • กรณีพิพาท ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ นับได้ว่าเป็นหายนะสำหรับชนชาติสยาม อย่างแท้จริง การที่เราสามารถรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ อันเลวร้ายนี้ได้ ก็ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงหาทางออก และแก้ไขปัญหา ด้วยกุศโลบายต่างๆ เช่น นโยบายลู่ตามลม นโยบายถ่วงดุลอำนาจ และนโยบายซ้อนพันธมิตร ประเทศสยาม และประชาชนของพระองค์ จึงเป็นเพียงชาติเดียวในภูมิภาคนี้ที่รอดพ้นจากเงื้อมมือของชาติมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมทั้งหลายได้สำเร็จ


พระบรมรูปรัชกาลที่๕ และพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่๒ แห่งรัสเซีย ถ่าย ณ วังปีเตอร์ฮอฟ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๐ การที่สยาม และรัสเซียเป็นมิตรประเทศกันนั้น ได้สร้างความกดดันอย่างหนักให้กับฝรั่งเศส และทำให้การรุกของฝรั่งเศสต้องหยุดชะงักลง เป็นหนึ่งในกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
ขอขอบคุณท่านเจ้าของข้อมูลมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
 

 

โดยคุณ che เมื่อวันที่ 17/07/2010 04:30:46


ความคิดเห็นที่ 14


ข้อเท็จจริงที่จะฝากบอกท่าน ผบ.ทอ. คือ

๑..ในยุคนั้นสยามมีอาวุธที่ทันสมัยที่สุด ได้แ่ก่ปืนอาร์มสตรอง(ปืนเสือหมอบ) ติดตั้งที่ป้อมพระจุลฯ เรียบร้อยแล้ว และที่หน้าป้อมก็มี "ทุ่นระเบิดเรือ" ซึ่งก็ต้องถือว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้นเช่นกัน นำเข้ามาโดยนายทหารสหรัฐครับ
ถ้าไม่เชื่อ ไปดูรายงานพระราชกิจรายวันในสมัย ร.๕ ได้

หรือจะดูหนังสือ "การรบที่ปากแม่น้ำ กรณี ร.ศ. ๑๑๒" ของท่านพลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทะนี ประกอบครับ

๒..นอกจากที่ป้อมพระจุลฯ แล้ว ทางสยามได้ทำการติดตั้งปืนอาร์มสตรองที่ ป้อมผีเสื้อสมุทรอีกเป็นจำนวน ๓ กระบอก แต่การติดตั้งยังไม่แล้วเสร็จดี ฝรั่งเศสก็บุกมาเสียก่อน

ป้อมผีเสื้อสมุทรอยู่ตรงเขตอำเภอพระปะแดงในปัจจุบันครับ

๓..แนวต้านทานสุดท้ายของสยามอยู่ที่ ปากคลองพระโขนง มีกำลังพล ๒,๐๐๐ นาย พร้อมอาวุธปืนใหญ่บรรจุทางปากกระบอกแบบโบราณครับ


โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 13/07/2010 12:21:05


ความคิดเห็นที่ 15


๔.. ในวันรบจริง ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายละเมิดอธิปไตยของสยามก่อน โดยจงใจแล่นเรือเข้ามาบุกรุกสยาม ผู้บังคับการป้อมพระจุลฯ คือ

พระยา ชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ)

ได้สั่งให้ทหารประจำป้อม "ยิงเตือน" ตามแบบธรรมเนียมทหาร หลายครั้ง

...........แต่ฝรั่งเศส ไม่สนใจ พร้อมได้ทำการยิงโต้ตอบกลับมา...

ทางป้อมพระจุลฯ จึงยิงด้วยกระสุนจริงกลับไป

แต่เนื่องจาก เรือโคเมตและเรืออื่น ๆ แล่นไวมาก ทำให้พ้นระยะยิงของป้อมพระจุลฯ ไปครับ

โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 13/07/2010 12:24:42


ความคิดเห็นที่ 16


๕.. ในยุทธนาวีที่หน้าป้อมพระจุลฯ นั้น ทางสยามได้วางเรือรบไว้ด้วย แต่เนื่องจากเป็นเรือรุ่นเก่า ทำให้ไม่สามารถต่อกรกับเรือโคเมตได้

แต่อำนาจการยิงของปืนอาร์มสตรอง ก็ทำให้เรือนำร่องของฝรั่งเศส ...จม...นะครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะบอกว่า อาวุธไม่ทันสมัย ผมขอค้านสุดชีวิตครับ


โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 13/07/2010 12:26:55


ความคิดเห็นที่ 17


หลังจากเรือโคเมต(เรือธงฝรั่งเศส) พ้นวิถีกระสุนปืนเสือหมอบมาแล้ว ก็มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ

ท่านพลเรือตรีพระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ  "ขอพระราชทานเรือพระที่นั่งมกุฏราชกุมาร" เพื่อ "ใช้เสาเรือพุ่งชนเรือโคเมตให้จม"

แต่ไม่ได้ทรงพระราชทานลงมา พร้อมทั้งทรงให้ยกเลิกแผนการที่จะสู้รบทั้งหมด เนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ไม่คุ้มถ้าจะต้องรบกับฝรั่งเศส

เนื่องจากทรงเห็นตัวอย่างจากกรณี สงครามที่ ๘ ชาติมหาอำนาจไปรุมกินโต๊ะจีน บุกตีเมืองเป่ยจิง(ปักกิ่ง) ในยุคพระนางซูซีไทเฮา

ผลการรบทำให้ชาวบ้านแตกตื่น เมืองทั้งเมืองแทบสลาย

ล้นเกล้า ร.๕ ทรงทราบเรื่องนี้ละเอียด เพราะทรงอ่านจากหนังสือพิมพ์อังกฤษมาก่อนครับ
โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 13/07/2010 12:31:56


ความคิดเห็นที่ 18


ถ้าจะสรุปว่าเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ สยามแพ้เพราะอะไร ผมตอบได้ดังนี้

๑.. หลักนิยมของบรรดาแม่ทัพต่าง ๆ ยังล้าหลัง จะเห็นได้ชัดว่า บรรดาขุนนางสยามเป็นห่วงแนวรบทางบก ด้านลาวเสียมากกว่า แนวรบด้านปากแม่น้ำเ้จ้าพระยา

๒.. ล้นเกล้า ร.๕ ทรงมีพระราชวินิจฉัยเรื่องแนวคิดสงครามเรือปืนมานานแล้ว ดังที่ทรงได้โปรดเกล้าฯ "ให้เร่งสร้างป้อมพระจุลฯ"

แต่ปรากฏว่าการสร้างป้อมล่าช้ามาก ต้องใช้เวลาถึงเกือบ ๑๐ ปี จึงจะสร้างเสร็จ และการฝึกทหารประจำป้อมก็ยังไม่เข้าที่เข้าทาง

การจุดทุ่นระเบิดเรือ ก็ยังไม่สมบูรณ์

สรุปการฝึกศึกษาด้านยุทโธปกรณ์ไม่พร้อมมาก ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับอาวุธล้าสมัย

๓..งบประมาณแผ่นดินไม่พอ

เห็นได้ชัดคือ เงินที่นำมาสร้างป้อมพระจุลฯ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ ร.๕ เสียหลายหมื่นบาท(ในยุคร้อยกว่าปีก่อน)




ตรงนี้ทั้งหมดคือเหตุผลจริง ๆ ที่ทำไมสยามถึงแพ้ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ครับ

จริง ๆ ฝ่ายศึกษาของ ยศ.ทอ. ควรให้ข้อมูลท่านก่อนจะให้สัมภาษณ์นะครับ




โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 13/07/2010 12:38:15


ความคิดเห็นที่ 19


เอกสารอ่านเพิ่มเติมประกอบ

- การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ร.ศ. ๑๑๒ ของท่านพลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทะนี

- บทความ ป้อมพระจุลฯ กับการป้องกันสยาม ของ ดร.วุฒิชัย มูลศิลป์

- สายลับฝรั่งเศสในป้อมพระจุลฯ ของชมรมเพื่อนทหารเรือ หนังสือศิลปวัฒนธรรม
โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 13/07/2010 12:40:44


ความคิดเห็นที่ 20


ป.ล. ผมเห็นด้วยกับการจัดซื้อกริปเปน แต่ผมรับไม่ได้ตรงที่ท่านให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ไม่ตรงครับ


โดยคุณ lordsri เมื่อวันที่ 13/07/2010 12:42:30


ความคิดเห็นที่ 21


เยี่ยมเลยครับ  ไม่เคยได้ทราบข้อมูลแบบนี้มาก่อนเลย
โดยคุณ BOM เมื่อวันที่ 13/07/2010 13:39:27


ความคิดเห็นที่ 22


ขอเอาหัวใจคารวะท่าน lordsri ด้วยอีกหนึ่งใจ  จากดวงใจอันองอาจของชายชาติไทยที่ไม่อยากให้ใครใช้เลือดของบรรพบุรุษมาเป็นข้ออ้างในการหากิน   จากข้อมูลในหนังสือ สยามกำสรวล ฝรั่งเศสกำทรัพย์จะเห็นได้ว่ากองทัพไทย มิได้มีแสนยานุภาพที่ต่ำต้อยด้อยค่าอย่างที่ใครได้กล่าวอ้างเลย 

โดยคุณ Oak_model เมื่อวันที่ 13/07/2010 13:42:51


ความคิดเห็นที่ 23



ขออนุญาตเข้ามาแสดงความเห็นสนับสนุนคุณ Lordsri ครับ

เนื้อความที่ท่าน lord เขียนไว้ตรงตามประวัติศาสตร์ที่ผมเข้าใจทุกประการ

ดังนั้นผมจึงคิดว่าท่าน Lordsri ให้ความเห็นที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ครับ

เพิ่มเติมเรื่องปืน Vicker-Armstrong  ปืนแบบนี้เป็นปืนใหญ่บรรจุท้ายแบบแรกของประเืทศไทย และ มีใช้เป็นประเทศแรกๆ ในทวีปเอเซีย ครับ 
โดยคุณ CoffeeMix เมื่อวันที่ 13/07/2010 22:55:23


ความคิดเห็นที่ 24


แหม่ ดีใจจริงๆที่มีคนเห็นคุณค่าทางประวัติศาตร์ครับ แต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นมีเรื่องของการเมืองในสมัยนัน้นเกี่ยวข้องอยู่ด้วยค่อนข้างมาก เป็นเรื่องจริงที่เรามีอาวุธที่ดีแต่ขาดทักษะและการฦึกฝนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องนี้แหละที่มันผูกกับการเมืองพูดมากไม่ได้ต้องไปหาอ่านเอาเอง

มันมีหลายมิติที่ลึกซึ้งมากกว่าการโยนให้แพะเรื่องอาวุธไม่ทันสมัย เพราะจนปัจจุบันไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้ได้เต็มปาก ส่วนคนที่กล้าพูดเรื่องนี้ส่วนมากเพราะได้รับข้อมูลที่ไม่ค่อยมากพอ

ลองคิดดูนะครับถ้าเราสามารถหยุดกองเรือเล็กๆของฝรั่งเศษได้ตั้งแต่ตอนนั้น อำนาจการต่อรองของเราจะเปลี่ยนไปถึงขนาดไหน
โดยคุณ PLUTO เมื่อวันที่ 13/07/2010 23:56:08


ความคิดเห็นที่ 25


เรื่อง รศ. 112 ส่วนตัวว่าเป็นกรณีศึกษาครับ ว่าต่อให้มีของดีัทันสมัยเพียงไร หากกำลังพลไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอก็ไม่สามารถใช้งานอาวุธได้อย่างเต็มที่นะครับ

ส่วนเรื่องหลักนิยมอันล้าสมัยตัวอย่างใหม่ๆ ก็มีครับ อย่างสงครามอ่าวหรือสงครามโลกครั้งที่สอง ที่หลักนิยมแบบโบราณต้องหลีกทางให้กับหลักนิยมแบบใหม่ๆ สงครามสนามเพลาะเจอสายฟ้าแลบ และหลักนิยมครองอากาศเบ็ดเสร็จ ของเราขนาดว่าเตรียมตัวบ้างแล้วก็ยังหยุดไม่อยู่

"สมัยนั้นทหารเรือไทยยังใช้เรือรบไม่เป็น เดินทะเลยังไม่ได้ ต้องจ้างฝรั่งเป็นนายทหารระดับสูงๆ ส่วนลูกเรือใช้อาสาจาม และคนจีน เชื่อว่าทำการรบไม่ได้อย่างเต็มที่"

(จากหนังสือสามมหาราช ของ อ. สมชาย พุ่มสะอาด)
โดยคุณ Praetorians เมื่อวันที่ 14/07/2010 02:21:05


ความคิดเห็นที่ 26


สมัยสงครามอินโดจีน ก็เห็นสู้ฝรั่งเศษได้นี้ครับ กองเรือเขาอาจจะเหนือกว่า แต่ทหารราบเราสู้ในบ้าน มันก็สู้ได้นี่ครับ แสดงให้เห็นว่า จาก ร.ศ.112 ถึงปัจจุบัน กองทัพก็สู้ความทันสมัยของกองเรือฝรั่งเศษไม่ได้ แต่หัวใจเราสู้ได้

โดยคุณ kit_thaifighterclub เมื่อวันที่ 14/07/2010 11:40:50


ความคิดเห็นที่ 27


ผมเห็นมาหลายกระทู้แล้วนะเนี่ย ข้อมูลประวัติศาสตร์ของท่าน lordsri แน่นอนจริงๆครับ
โดยคุณ Puriku เมื่อวันที่ 14/07/2010 13:16:31