เท่าที่ผ่านมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามในลาว สงครามในกัมพูชา สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามโคโซโว มาจนกระทั่งถึงสงครามในอัฟกานิสถานในปัจจุบันผู้สื่อข่าวและช่างภาพจำนวนมากจากหลายชาติต่างต้องตกเป็นเหยื่อของกระสุนและระเบิดรวมทั้งการก่อการร้ายระหว่างที่เขาเหล่านั้นกำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างมุ่งมั่นคนแล้วคนเล่า
โดยเฉพาะระหว่างช่วงของความขัดแย้งในภูมิภาคอินโดจีนซึ่งนำไปสู่สงครามเวียดนาม สงครามในลาวและสงครามในกัมพูชา ข้อมูลที่บันทึกไว้ระบุว่าผู้สื่อข่าวและช่างภาพทั้งที่เป็นชาวตะวันตกและชาวเอเชียต้องเสียชีวิตและหายสาบสูญไปในพื้นที่สู้รบมากกว่า 60 ราย เรื่องราวและเหตุการณ์ที่คนเหล่านั้นต้องเผชิญมีทั้งความโหดร้าย ความกล้าหาญ ความน่าสะพรึงกลัว ตลอดจนความเสียสละอันน่ายกย่องและเป็นที่ประทับใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ แม้นักข่าวและช่างภาพทั้งหญิงและชายที่สะพายกล้องหรือถือไมค์พร้อมเทปบันทึกเสียงจะไม่ใช่ ทหารอาชีพ ที่ผ่านการฝึกตามยุทธวิธีเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้ในสนามรบ แต่ทุกคนก็กล้าพอที่จะเคียงข้างอยู่กับทหารอย่างไม่ถอยท่ามกลางห่ากระสุนที่ปลิวว่อนด้วยไม่เลือกเป้าว่าใครเป็นใคร ผู้สื่อข่าวและช่างภาพหลายคนที่ล่วงลับไปแล้วบันทึกเรื่องราวในฐานะ ตำนาน ของเหยี่ยวข่าวกลางสมรภูมิ เช่นกรณีของผู้สื่อข่าวที่ชื่อ แซม คาสแตน เขาเป็นนักข่าวพลเรือนที่แสดงความเป็น นักรบ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตด้วยการนำทหารอเมริกันกลุ่มหนึ่งตีฝ่าออกจากวงล้อมข้าศึกจนปลอดภัย แต่ตัวเองต้องตกเป็นเหยื่อกระสุนอย่างหน้าอนาถ วันที่เสียชีวิต แซมมีอายุ 31 ปีทุกคนที่รู้จักเขาต่างจำได้ว่าแซมเป็นคนช่างคิดและยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ เขาเดินทางมาปักหลักในเวียดนาม 3 ปี เพื่อเขียนเรื่องส่งให้นิตยสาร ลุคส์ แซมเคยเดินทางไปเมืองแอนเคเพื่อทำสกู๊ปเกี่ยวกับทหารอเมริกันในสนามรบ เขาต้องการเก็บรายละเอียดความเป็นอยู่ของมหารอเมริกันตลอดจนเปรียบเทียบแนวทางการปฏิบัติภารกิจและยุทธวิธีระหว่างทหารอเมริกันกับทหารเวียดนามใต้ สกู๊ปเรื่องนั้นแซมตั้งชื่อว่า หรือเราจะสู้โดยลำพัง? ซึ่งแซมตั้งใจที่จะสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา แต่แซมก็ประสบปัญหาในการที่จะได้เข้าไปอยู่ในการรบจริง และดูเหมือนว่าทุกครั้งที่เข้าใกล้จุกปะทะ การต่อสู้ก็มักจะจบลงจนแซมเรียกตัวเองแบบประชดประชันว่า เขาคือ คนโชคดีที่สุดในสงครามเวียดนาม แซมเคยบอกกับคนใกล้ชิดว่าเขาไปเวียดนาม เพราะต้องการเข้าไปอยู่ในสงครามเพื่อสร้างชื่อเสียงและทดสอบตนเองภายใต้ภาวะที่กดดันของการสู้รบ แล้วเขาก็ได้ในสิ่งที่เขาต้องการทั้ง 3 ประการเมื่อพาตนเองไปพบกับบททดสอบที่หนักหน่วงที่สุดเมื่อพาตนเองไปพบกับบททดสอบที่หนักหน่วงที่สุดเมื่อได้อยู่ในหมู่ลาดตระเวนที่กำลังถูกเวียดกงโจมตีอย่างหนัก แซมมีสองทางเลือกคือในสถานการณ์นั้นทางเลือกที่หนึ่งคือหลบในหลุมดินลูกรังที่รายล้อมไปด้วยข้าศึก และทางเลือกที่สองคือตีฝ่าออกไป ในเวียดนามบ่อยครั้งที่ผู้สื่อข่าวและช่างภาพจะพบกับทางเลือกต่างๆที่เลวร้าย แต่โจทย์ที่ทุกคนต่างไม่อยากพบกับมันคือ จะทำอย่างไรหากรู้ตัวว่ากำลังเผชิญหน้ากับความตาย? คำตอบนั้นมีหลากหลาย เช่น สวดมนต์ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้รอดกลับมาหรือจับอาวุธต่อสู้ตอบโต้ข้าศึกหรือจะยอมจำนนเพื่อรักษาชีวิตหรือฆ่าตัวตายแทนการตกเป็นเชลยซึ่งมีการทรมานรอคอยอยู่
นักข่าวพลเรือนที่ทำงานให้หน่วยราชการหรือกองทัพไม่ใช่นักรบ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่พกปืนติดตัว เหตุผลง่ายๆของการไม่มีอาวุธก็คือพวกเขาจะไม่สามารถเก็บรายละเอียดของสถานการณ์ได้หากกำลังยิงปืนอยู่ อย่างไรก็ตามหากตกอยู่ท่ามกลางการรบที่ดุเดือด บางครั้งผู้สื่อข่าวและช่างภาพก็จำเป็นต้องจับอาวุธต่อสู้เคียงข้างทหารเพื่อเอาชีวิตรอด ใครที่โชคดีผ่านพ้นมาได้ก็จะพบว่านั่นคือประสบการณ์ที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตของตนเอง
21 พ.ค. 1966 แซม คาสแตน กับทหารราบ 22 นายจากกองพลทหารราบที่ 1 ถูกทหารเวียดนามเหนือล้อมในทุ่งราบวินแทนใกล้แอนเค ข้าศึกซึ่งมีจำนวนมากกว่าทหารอเมริกันถึง 10 เท่า เคลื่อนเข้าปิดล้อมและระดมยิงเข้ามาจากรอบทิศทางด้วยปืนกล ปืนครกและจรวด การโจมตีอย่างรุนแรงทำให้ทหารอเมริกันหลายนายเสียชีวิตในขณะอีกหลายนายบาดเจ็บพนักงานวิทยุรีบแจ้งข้อความช่วยเหลือไปยังหน่วยบิน ฮ. ระหว่างที่รอ ผู้สื่อข่าวพลเรือนอย่างแซมซึ่งหมอบอยู่กับทหารถูกยิงสองนัดในช่วงแรกแต่ไม่บาดเจ็บมากนัก เมื่อทหารเวียดนามเหนือเริ่มบุกเข้าประชิดแนวตั้งรับ แซมปีนขึ้นจากหลุมวิ่งไปหานายสิบซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่พร้อมกับตะโกนแข่งกับเสียงปืนว่า จะออกไปจากนรกนี่เมื่อไหร่การกระตุ้นของแซมทำให้นายสิบตัดสินใจที่จะเคลื่อนกำลังตีฝ่าวงล้อมออกไป แซมจึงร้องขออาวุธและได้รับปืนพก 1 กระบอก จากนั้นแซมพร้อมด้วยนายสิบกับลูกหมู่อีก 4 นาย ก็ตีฝ่าไปถึงแนวป่าทึบ โดยแซมเป็นคนนำหน้าเขาใช้ปืนสั้นยิงข้าศึกทุกคนที่ขวางทหารเวียดนามเหนือรวมกำลังเข้าบดขยี้อีกครั้งจนเกิดการต่อสู้ระยะประชิด และแซมถูกยิงที่ที่ศีรษะ กระสุนทะลุออกด้านหลัง วินาทีก่อนจบชีวิตเขายังคงไม่หวาดกลัว แซมร้องบอกคนอื่นว่าถูกยิง แต่ให้ทุกคนรีบหนีไปแล้วก็เงียบเสียงลง ไม่กี่นาทีต่อมา กำลังเสริมก็มาถึง และยิงคุ้มกันทำให้ทหารเวียดนามเหนือต้องถอนตัวไป ฉากการต่อสู้ที่กินเวลานาน 30 นาที ทำให้ทหารอเมริกันถูกยิงเสียชีวิต 8 นาย ที่เหลือบาดเจ็บเกือบหมด ยกเว้นทหาร 4 นายซึ่งเป็นพวกที่ติดตามแซมตีฝ่าวงล้อมออกไป พวกเขารอดชีวิตเพราะความกล้าหาญของนักข่าวจากนิตสาร ลุคส์ ผู้มีนามว่า แซม คาสแตน ซึ่งพลีชีพกลางสมรภูมิอย่างสมศักดิ์ศรีผู้สื่อข่าวสงคราม
เหยี่ยวข่าวกลางสมรภูมิอีกคนหนึ่งซึ่งมีชื่ออยู่ในตำนาน คือ ดิกกี้ แชพเพิล ผู้สื่อข่าวชาติเดียวกับแซม คาสแตนและพบวาระสุดสุดท้ายกลางสมรภูมิเช่นเดียวกัน แชพเพิลเป็นนักข่าวหญิงในยุคก่อนที่สตรีชาวอเมริกันจะประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิทธิให้สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้าได้เช่นเดียวกับนักข่าวชาย แม้ในยุคแรกที่แชพเพิลเริ่มทำงาน นักข่าวหญิงจะไม่เป็นที่ยอมรับแต่แชพเพิลก็สามารถสร้างผลงานได้ทัดเทียมกับผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่เป็นชายอกสามศอก แชพเพิลผ่านประสบการณ์ทำงานในสมรภูมิรบอันดุเดือดมาแล้วหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นสมรภูมิในสงครามโลกครั้งที่สอง การรบในฮังการีและคิวบา มาจนกระทั่งถึงสงครามเวียดนาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แชพเพิลทำงานในสนามโดยเกาะติดกับทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯในการรบหลายสมรภูมิ โดยเฉพาะที่โอกินาวา ปราการด่านสุดท้ายของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันว่าเป็นสงครามโหดระหว่างนักรบบูชิโดกับทหารอมริกันโดยเฉพาะ แม้แชพเพิลจะเห็นการฆ่าอันเหี้ยมโหดระหว่างพวกแยงกี้กับพวกแจ็ป แต่ภายใต้เสียงระเบิดและควันปืนแชพเพิลได้สร้างตำนานความรักกับนายทหารหลายคนจนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว ระหว่างนั้นแชพเพิลได้จัดทำสกู๊ปข่าวและถ่ายภาพให้กับนิตยสารระดับแนวหน้าหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารไลฟ์แมกกาซีน รีดเดอร์ไดเจสต์ ,เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประสบการณ์การทำงานในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้แชพเพิลแกร่งขึ้น เธอรู้ดีว่าต้องทำอย่างไรเมื่อถึงยุคสงครามเวียดนาม แชพเพิลเคยได้รับรางวัล โอเวอร์ ซี ไดเจส อวอร์ด เมื่อปี 1962 จากผลงานภาพข่าวในสงครามเวียดนาม รางวัลดังกล่าวทำให้เธอมีชื่อเสียงมากในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน เมื่ออายุได้ 41 ปี แชพเพิลกระโดดร่มจากเครื่องบินเป็นครั้งแรกและทำให้นายพลวอร์แลนส์ กรีน จูเนียร์ ผบ.หน่วยนาวิกโยธินถึงกับถอดเครื่องหมายปีกพลร่มจากอกเสื้อของตนเองมอบให้แก่เธอเมื่อเธอบอกว่าเธอฝึกกระโดดร่มเพื่อที่จะกลับไปทำงานในสงครามเวียดนามในปี 1965 ขณะนั้นเป็นช่วงแรกๆของสงครามเวียดนาม มีการรบรุนแรงในหลายพื้นที่ ในเช้าวันที่ 4 พฤศจิกายน 1965 แชพเพิลเข้าร่วมกับทหารในปฏิบัติการแบล็ก ฟอร์เรสในพื้นที่ทางตอนใต้ของดานัง ขณะเดินเท้าลาดตระเวณทหารที่อยู่ใกล้เธอเหยียบกับระเบิดทำให้แชพเพิลถูกสะเก็ดระเบิดตัดเส้นเลือดใหญ่ คำพูดสุดท้ายของเธอก่อนเสียชีวิตก็คือ ฉันรู้สึกเหมือนมันเพิ่งเริ่มต้น การเสียชีวิตของแชพเพิลสร้างความสะเทือนใจให้กับเหล่าทหารที่เคยรู้จักและและใกล้ชิดกับเธอหัวหน้าหน่วยนาวิกโยธินคนหนึ่งกล่าวว่า ทุกครั้งที่นึกถึงแชพเพิลผมจะเห็นภาพของเธอในชุดเสื้อกันฝนสวมหมวกเหล็กกันกระสุนของทหาร เธอไม่เคยต้องการความสละสลวยเหมือนผู้หญิงทั้งหลาย แชพเพิลจะอยู่ในชุดเครื่องแบบของทหารทำตัวเหมือนพวกเรานอนกลางดินกินกลางทราย เธอทำตัวเป็นชายชาติทหารคนหนึ่งที่อยู่ในแนวหน้ากับเราเสมอ
สำนกข่าวที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกอย่างซีเอ็นเอ็น ก็ส่งคนเข้าไปทำงานในเวียดนามเช่นกัน ทอมมี่ เกียร์นักข่าวภาคสนามของซีเอ็นเอ็นประจำภูมิภาคเอเชียเล่าถึงความหลังว่า ในสงครามเวียดนามไม่มีแนวหน้าแนวหลัง ทุกที่มีอันตรายเหมือนกันหมด คุณไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่มอเตอร์ไซค์เข้ามาใกล้คุณและกำลังโบกมือให้คุณกำลังจะโยนระเบิดมือหรือว่าทักทายกันแน่ และนั่นเป็นเรื่องที่น่าของการอยู่ในเวียดนาม พวกคอมมิวนิสต์แฝงตัวอยู่ในทุกที่ คุณไม่รู้ว่าใครจะทำร้ายคุณหรือว่าใครหวังดีกับคุณ ทั้งมิตรและศัตรูอยู่ในสภาพที่แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกัน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้การเป็นช่างภาพในเวียดนามน่ากลัวก็คือ คุณมีกล้องอยู่ตรงหน้าและต้องจดจ่อกับมัน คุณจึงมองไม่เห็นภาพด้านข้าง คุณจะไม่รู้ว่าจะมีใครมายืนข้างๆแล้วสะกิดบ่าหรือมายิงคุณ เพราะคุณมองไม่เห็นเขาและนั่นคือเรื่องจริง และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนมนต์ขลังของคนที่ทำอาชีพและช่างภาพก็คือ ความรู้สึกของการท้าทายความตาย บางคนได้รับบาดเจ็บหลายครั้งระหว่างการปฏิบัติงานแต่ก็ไม่ยอมเลิกราอาชีพนี้ อย่างเช่น ทิม เพท ผู้โด่งดังจากหนังสือเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม เขาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ให้หลายสำนักข่าวและเคยได้รับบาดเจ็บในเวียดนามถึง 4 ครั้ง ที่หนักที่สุดคือครั้งสุดท้ายเขากำลังถ่ายภาพอยู่ในรัศมีการระเบิด และโดนสะเก็ดระเบิดเข้าเต็มร่างแต่ศัลยแพทย์ทหารช่วยชีวิตเขาไว้ได้ ทิม เพท เล่าว่า ที่ผมจำได้ก็คือมีเสียงกึกก้องจนหูอื้อแล้วผมก็ล้มลงเพราะแรงระเบิดระเบิด เมื่อผมลุกขึ้นมาใหม่ผมก็รู้สึกว่าตัวเองเปียกแฉะไปหมดเพราะเลือดจากบาดแผล ผมคุกเข่าลงบนพื้น ชาไปทั้งร่างแต่ก็ยังเปลี่ยนเลนส์ที่กล้องต่อไป ทิม เพทบาดเจ็บสาหัสที่ศีรษะและกลางลำตัว เขาเกือบจะไปไม่ถึงเฮลิคอปเตอร์ที่เข้ามาลำเลียงผู้บาดเจ็บไม่ไหวตอนนั้นผมจำไม่ได้ว่าอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นที่หัวหรือที่ช่องท้องซึ่งเป็นแผลเหวอะหวะกันแน่ ผมหมดสติไปนาน 25 นาทีจนกระทั่ง ฮ.บินไปถึงโรงพยาบาลสนาม ผมรู้สึกตัวขึ้นมาอีกครั้ง ทิม เพทรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ด้วยความช่วยเหลือของแพทย์ทหาร หลังพักฟื้นไม่กี่เดือนทิม เพทก็ทำงานต่อและได้รับรางวัลมากมายจากผลงานในเวียดนาม
นอกจากนักข่าวที่ทำงานในสมรภูมิเวียดนาม ซึ่งมีมีฉากชีวิตที่คล้ายคลึงกันแล้ว ยังมี ช่างภาพสงคราม ที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ถูกจารึกชื่อไว้ในฐานะเจ้าของผลงานที่ต้องเสี่ยงอันตรายชนิดเกือบที่จะต้องเอาชีวิตเข้าแลก อาทิ โรเบิร์ต คาร์พาเจ้าของภาพถ่ายการยกพลขึ้นบกที่แคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในเช้าวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1943 ซึ่งถือว่าเป็นการรบที่ละเลงเลือดที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคาร์พาสามารถถ่ายภาพทหารที่ลงจากเรือยกพลและหมอบหลบกระสุนอยู่หลังเครื่องกีดขวางบนชายหาดโอมาฮา ท่ามกลางการยิงของทหารเยอรมัน
อีกคนหนึ่งคือ โจ รอสเซนทาวน์ ช่างภาพสงครามผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิแปซิฟิกเจ้าของภาพถ่ายทหารนาวิกโยธินอเมริกัน 6 นาย ปักธงบนยอดเขาซูริบาชิ เกาะอิโวจิมา ซึ่งกลายมาเป็นภาพที่โด่งดังที่สุดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่ตราตรึงใจคนอเมริกันนับล้าน โจ รอสเซนทาวน์เคยกล่าวไว้ว่า หน้าที่ของช่างภาพสงครามไม่เพียงแต่จะบันทึกความเป็นไปที่เกิดในแนวหน้าและนำมาเผยแพร่ให้คนที่อยู่ในแนวหลังได้รับรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหากแต่บทบาทของช่างภาพและผลงานที่ได้มาจากการเสี่ยงอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตแล้วยังส่งผลไปถึงการหลอมรวมจิตใจของคนในชาติที่อยู่แนวหลังให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกด้วย แต่เมื่อสงครามยุติลง โจ รอสเซนทาวน์ กลับเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดต่อภาพถ่ายซึ่งเป็นผลงานของเขาไปในอีกลักษณะหนึ่ง เขากล่าวไว้ว่า สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดของภาพถ่ายสงครามก็คือการที่มันได้แสดงให้เห็นว่าสงครามเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวและโหดร้ายเพียงใด ผมเชื่อว่าช่างภาพสงครามทุกคนล้วนภูมิใจและมีความสุขเป็นอย่างมากหากได้รู้ว่า ผลงานภาพถ่ายของเขามีส่วนทำให้อนุชนรุ่นหลังยึดถือแนวทางสันติภาพและหลีกเลี่ยงสงครามร่วมกันด้วยทุกวิถีทางเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้มันเกิดขึ้นมาอีก
ครั้นถึงยุคที่อเมริกันเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี ภาพถ่ายหลายภาพก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์สงครามอันดุเดือด ซึ่งเป็นการรบระหว่างโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ก่อนที่การต่อสู้จะจบลงด้วยการเจรจาสงบศึกโดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ภาพถ่ายสงครามเกาหลีที่โด่งดัง อาทิเช่น ภาพนาวิกโยธินอเมริกันปีนเขื่อนกันคลื่นในการยกพลขึ้นบกที่เมืองปูซานก่อนที่จะตีโอบลงไปยึดกรุงโซลกลับคืนมาได้ ภาพถ่ายทหารอมริกันเดินเท้าผ่านศพของทหารเกาหลีเหนือที่นอนตายอยู่ข้างถนน ซึ่งภาพนั้นถูกนำมาจัดทำเป็นแสตมป์ชุดสงครามเกาหลีวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา แต่ภาพบางภาพในสงครามเกาหลีก็โหดร้ายเกินกว่าที่ช่างภาพสงครามอย่าง แฮรี่ รัทเทอร์ จะยกกล้องคู่ชีพขึ้นกดชัตเตอร์ได้ เขาเล่าว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวเมื่อฝ่ายเราถูกกองทัพของทหารจีนคอมมิวนิสต์บุกโจมตีด้วยกำลังที่เหนือกว่าประมาณ 10 ต่อ 1 คลื่นมนุษย์ของข้าศึกที่พุ่งข้ามมาจากแม่น้ำยาลู ทำให้นาวิกโยธินอเมริกันประสบความสูญเสียอย่างหนักและต้องถอยร่นกลับมาท่ามกลางอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง เมื่อผมกับช่างภาพพร้อมด้วยหน่วยช่วยเหลือไปถึงแนวหน้า เราก็พบว่านาวิกโยธินบางกองพันถูกข้าศึกโจมตีจนละลายหายไปทั้งกองพันชนิดที่ว่าไม่สามารถจะทำการสู้รบต่อไปได้อีก เมื่อผมเดินไปยังบริเวณที่มีศพทหารอเมริกันนอนตายเกลื่อนกลาดภายใต้หิมะขาวโพลนที่ปกคลุมร่างอันแข็งทื่อ ผมก็พบกับทหารนาวิกโยธินคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวท่ามกลางศพเพื่อนร่วมรบของเขา มีคนบอกผมว่านั่นเป็นนาวิกโยธินเพียงคนเดียวของกองร้อยอัลฟ่าที่รอดตายจากการรบในคืนวันที่ผ่านมา สีหน้าและเสียงคร่ำครวญของเขา ทำให้ผมสะเทือนใจจนม่อาจที่จะยกกล้องขึ้นถ่ายภาพนั้นไว้ได้ แต่ภาพนั้นยังคงติดอยู่ในความทรงจำอันขมขื่นของผมจนกระทั่งปัจจุบันนี้