สนองแนวพระราชดำริ พึ่งพาตนเอง
จากพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงยกตัวอย่างการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้กองทัพเรือน้อมนำและยึดถือการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติในการจัดกำลังรบตามโครงสร้างกำลังรบตาม ยุทธ ศาสตร์ของกองทัพเรือมาโดยตลอด จาก โครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ที่กองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ ดำเนินการต่อเอง มาถึง โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพด้วยการต่อเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554
ตามแผนยุทธศาสตร์ ของกองทัพเรือในอีก 10 ปี ข้างหน้า กองทัพเรือจะยังคงปฏิบัติภารกิจหน้าที่ครอบคลุมทั้งการปฏิบัติการทางทหารใน การป้องกันประเทศ การรักษากฎหมายและการช่วยเหลือประชาชน โดยให้มีขีดความสามารถในการลาดตระเวนตรวจการณ์รักษาฝั่ง ป้องกันการแทรกซึมทางทะเล คุ้มครองเรือประมง และทะเลอันดามัน รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ตลอดจนการรักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนั้น กองทัพเรือยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้อง คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล ประกอบไปด้วย มูลค่าทางการประมงทะเล ประมาณ 123,000 ล้านบาทต่อปี แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทย รวมจำนวน 225 แท่น ผลิตก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันป้อนประเทศ มูลค่าประมาณ 930,000 ล้านบาทต่อปี หรือ คิดเป็นจำนวนร้อยละ 30 ของปริมาณการใช้ภายในประเทศ
นอกจากนั้น ทะเลยังเป็นเส้นทางคมนาคมในการลำเลียงขนส่งสินค้าเข้าและออกจากประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นการขนส่งที่ถูกที่สุด โดยปัจจุบันร้อยละ 90 ของสินค้านำเข้าและส่งออกของไทยขนส่งทางทะเล ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรม ชาติ จำนวนร้อยละ 70 ของปริมาณการใช้ภายในประเทศ จำนวนเรือสินค้าเข้า-ออกประมาณปีละ 15,000 ลำ หรือโดยเฉลี่ยเดือนละ 1,250 ลำ รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยวทางทะเล คิดเป็นมูลค่า ถึง 240,000 ล้านบาทต่อปี
จากข้อมูลข้างต้นจะ เห็นได้ว่า ภารกิจ หน้าที่รับ ผิดชอบของกองทัพเรือ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติโดยตรง กองทัพเรือจำเป็นต้องมีความรอบคอบ เพื่อสนองตอบต่อภารกิจต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งความพร้อมนั้น ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ คือ องค์บุคคล องค์ยุทธวิธี และองค์วัตถุ ซึ่งหมายถึง กำลังทางเรือที่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจตามแผนยุทธศาสตร์ โดยตลอด 24 ชั่วโมง จะมีเรืออย่างน้อย 10 ลำ ออกลาดตระเวนในทะเลบริเวณพื้นที่สำคัญ ๆ ทางด้าน อ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณชายแดนทางทะเลบริเวณเกาะกูด และเกาะช้าง จังหวัดตราด บริเวณชายแดนทางทะเล ที่จังหวัดนราธิวาส บริเวณเกาะสมุย และด้านทะเลอันดามัน บริเวณ ชายแดนทางทะเล ที่จังหวัดระนอง และบริเวณชายแดนทางทะเล ที่จังหวัดสตูล นอกจากนี้ยังมีอากาศนาวีทั้งเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ขึ้นลาดตระเวนทั้ง เช้าและเย็นตามสภาพอากาศอีกด้วย
เพราะความจำเป็นดังกล่าว กองทัพเรือจึงได้กำหนดโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 1 ลำ เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ข้างต้น ผูกพันปีงบประมาณ 2551-2554 ในวงเงินรวมกว่า 2,800 ล้านบาท ในการนี้ กองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยรับผิดชอบในการสร้างเรือ โดย ใช้พื้นที่ของ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ เป็นสถานที่ต่อเรือ เพื่อเป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเอง กับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือ ในการต่อเรือตรวจการณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการต่อ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ตามแนวพระราชดำริ และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 ที่ได้มีการขยายแบบ เรือ และรูปทรงตามพระบรมราชวินิจฉัย ทั้งนี้ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช นับได้ว่า เป็นอู่ซ่อมเรือที่มีขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถให้บริการซ่อมบำรุงเรือทุกขนาด ที่กองทัพเรือมีประจำการ
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหมให้เป็น โครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 กองทัพเรือ จึงได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราช ดำเนินไปทรงเป็นประธาน ในพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2553
สำหรับรายละเอียดของโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาซื้อขายแบบเรือและพัสดุ ซึ่งเป็นแบบเรือของบริษัท BVT Surface Fleet จำกัด จากประเทศอังกฤษ ส่วนการบริการทางเทคนิคในการติดตั้ง การเชื่อมต่อ การทดสอบ ทดลองอุปกรณ์ ตลอดจนการสร้างเรือในสาขาต่าง ๆ นั้น ได้ลงนามกับบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในส่วนของกองทัพเรือ โดยมีแผนให้โครงการดังกล่าวสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในปี 2555 หรือ 3 ปี นับจากวันลงนาม
ในส่วนของการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ในครั้งนี้ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชจะดำเนินการทั้งการประกอบตัวเรือ การต่อบล็อกเรือ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์และระบบ ต่าง ๆ ของเรือจนแล้วเสร็จ จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทัพเรือ ได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลของกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าจะใช้แบบเรือของต่างประเทศ แต่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเรือขนาดใหญ่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่กองทัพเรือดำเนิน การต่อเองในครั้งนี้ มีความยาวตลอดลำ 90.50 เมตรกว้าง 13.50 เมตร ความสูง ที่กราบเรือ 7.70 เมตร กิน น้ำลึก 3.80 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,969 ตัน สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 23 นอต รัศมีทำการที่ความเร็ว 15 นอต ได้ถึง 3,500 ไมล์ทะเล มีอาวุธประจำเรือที่สำคัญ คือ ปืนขนาด 76 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก และปืนขนาด 30 มิลลิเมตร จำนวน 2 กระบอก นอกจากนั้น บริเวณดาดฟ้าเรือสามารถจอดเฮลิคอปเตอร์แบบ ซูเปอร์ลิงก์ ซึ่งมีประจำการในกองการบินทหารเรือได้อีก 1 ลำ เป็นการเพิ่มระยะการตรวจการณ์ในทะเลให้ไกลขึ้นอีกระดับหนึ่ง
ทะเลไทย ยังคงเป็น แหล่งทรัพยากรที่สำคัญของชาติในการเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการนำเข้า และส่งออกสินค้า เป็นปัจจัยสำคัญของการดำเนินกิจการพาณิชยนาวี ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยทั้งหมดนี้ จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการมีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จึงนับได้ว่าเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งของกองทัพเรือในอันที่จะเสริมสร้างกำลัง ทางเรือและเป็นหลักประกันในความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล ซึ่งมีอาณาเขตถึง 1,500 ไมล์ทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์คงอยู่อย่างมั่นคงตลอดไป.
ที่มา : http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=86861
อยากให้คนไทยผลิตได้ทั้ง บก เรือ อากาศ ครับ
เพราะเมื่อก่อนไทยสร้างเครื่องบินจนดังทั่วโลกมาแล้ว
รู้สึกชื่อบริพัตร แต่ก่อนหน้าซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตเอง
กอบทัพบกซื้อลิขสิทธิ์ผลิตและพัฒนาHK33จนนักสะสมปืนทั่วโลกหมายปอง
แถมตอนนี้ไทยสร้างรถหุ้มเกราะใช้เองได้แล้ว
กองทัพเรือก็สร้างเรือใช้เองแล้วก็เหลือแต่อาวุธประจำเรือโซนาและเรดา