สวัสดีครับ เนื่องจากกระทู้รวมเครื่องบินตระกูลต่างๆขายดี(ฮา) วันนี้เพื่อฉลองที่อีกไม่นานไทยเราจะได้เป็นเจ้าของน้องยาส39 (หรือแจ๊สนั้นแหละ) ประกอบกับที่ได้ทำเครื่องบินของค่ายมะกันและรัสเซีย เลยมองหาค่ายทางยุโรปบ้าง ก็เลยมาลงเอยที่ค่ายซ้าบของน้องยาส39นี่ละคร้าบ
เรามาทำความรู้จักกับต้นตระกูลและพี่น้องของยาส39 กันเลยครับ
Saab 17
ซ้าบ17 หรือซ้าบ บี17 เป็นเครื่องบินลาดตะเวนทิ้งระเบิดขนาดเบา แบบสองที่นั่ง ของสวีเดนที่ผลิตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง บินครั้งแรกในปี1940 ประจำการในปี1942 และปลดประจำการในช่วงปี1947-1950
ได้มีการส่งออกซ้าบ17 ให้กับฟินแลนด์ ออสเตรีย และเอธิโอเปีย
Saab 18
ซ้าบ18 หรือซ้าบ บี18 เป็นเครื่องบินลาดตะเวนและทิ้งระเบิดขนาดกลางสองเครื่องยนต์ ใช้พลประจำเครื่องสามคน (นักบิน,พลปืน และพลทิ้งระเบิด) บินครั้งแรกในปี1942 ประจำการในทอ.สวีเดน ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี1944) และปลดประจำการในปี1959 (ยุคสงครามเย็น) รวมการผลิตตั้งแต่ปี1944-1948 เป็นจำนวนสองร้อยกว่าลำ
เรียกว่าซ้าบ18 เป็นเครื่องบินที่ผ่านมาสองยุค คือสงครามโลกครั้งที่สองและยุคสงครามเย็น ในปี1948 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในการผลิต ได้มีการสร้างรุ่นที18บี ซึ่งสามารถยิงจรวดอากาศ-สู่-พื้น แบบแรกของสวีเดนด้วย
Saab 21
ซ้าบ21 เป็นเครื่องบินใบพัดขับไล่และโจมตี มีเครื่องยนต์อยู่ด้านหลัง และหางสองหาง บินครั้งแรกในปี1943 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มาประจำการเอาเดือนธันวาคม ปี1945 หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดไปแล้ว มันจึงเหมือนสองลำแรกที่ไม่เคยออกรบจริง แต่จากท่าทางที่เห็นนี่ น่าจะร้ายกาจน่าดู และไม่น่าจะแพ้ใครง่ายๆ
ซ้าบ21 น่าจะเป็นเครื่องบินใบพัดขับไล่ที่ไฮเทคและดีสุดแล้ว ตั้งแต่สวีเดนเคยสร้างมา(ขนาดนั้น) และเมื่อเข้าสู่ยุคของเครื่องบินเจ็ต ต่อมาได้มีการนำโครงสร้างของซ้าบ21 ไปพัฒนาเป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่น คือซ้าบ21อาร์ แต่ถึงอย่างไรซ้าบ21ก็ยังถูกประจำการต่อไปถึงปี 1949 จึงปลดประจำการ
Saab 21 R
หรือ ซ้าบ เจ21 อาร์ (สังเกตสวีเดนจะใช้รหัสเครื่องขับไล่ว่า"เจ" ส่วนเครื่องทิ้งระเบิดใช้ "บี") ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ซ้าบ21อาร์ ก็คือการนำซ้าบ21รุ่นใบพัด มาติดเครื่องเจ็ต เครื่องเจ็ตจึงอยู่ท้ายลำตัวเหมือนเคย ลักษณะคล้ายกับเครื่องเจ็ตของอังกฤษในยุคนั้น เครื่องยนต์ก็ยังใช้ของอังกฤษ
ซ้าบ21อาร์ บินครั้งแรกในปี 1947 และเข้าประจำการในปี1950 ทดแทนซ้าบ21รุ่นเดิมที่ใช้ใบพัด โดยประจำการในฐานะเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบแรกๆของทอ.สวีเดน อาวุธยังคงเป็นปืนกลและปืนใหญ่อากาศ และจรวดแบบไม่นำวิถีใช้โจมตีภาคพื้นดิน มันถูกผลิตมาหกสิบกว่าลำ ก็ปลดประจำการในปี1956
Saab 36
ซ้าบ36 หรือ ซ้าบ เอ36 รู้จักกันในชื่อ โปรเจ็ค1300 (Projekt 1300) เป็นเครื่องบินไอพ่นทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ที่ออกแบบในยุค1950 แต่พอถึงยุค1960 โครงการวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ของสวีเดนได้ถูกยกเลิก ในเมื่อไม่มีนิวเคลียร์ให้บรรทุก โครงการ1300ก็เลยถูกยุบไปด้วย ทำให้มันไม่ได้ถูกสร้างออกมาแม้แต่ต้นแบบ เป็นเพียงเครื่องบินในกระดาษเขียนแบบเท่านั้น
หากมีการสร้างมาจริงมันจะเป็นเครื่องบินทิ้งนิวเคลียร์ แบบที่นั่งเดี่ยว และบรรทุกนิวเคลียร์ได้ลูกเดียวเช่นกัน
Saab 38
ซ้าบ38 หรือ บี3แอลเอ,เอ38 และเอสเค38 เป็นเครื่องบินฝึกและโจมตี ที่ออกแบบไว้ในยุค1970 เพื่อทดแทนเครื่องบินฝึกแบบเก่าของทอ.สวีเดน คือซ้าบ105 แต่ก็ไม่ได้เกิดและถูกยกเลิกโครงการในปี1979 โดยยังไม่ทันได้ประกอบสร้างต้นแบบแม้แต่น้อย ยังคงอยู่แต่ในกระดาษ เพราะซ้าบหันไปออกแบบน้องยาส39แทน
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดประโยชน์ซะทีเดียว แนวคิดส่วนใหญ่ของซ้าบ38 ถูกนำไปพัฒนาเป็นเครื่องบินแบบ เอเอ็มเอ็กส์ ของอิตาลี
Saab 105
ซ้าบ105 หรือเรียกในทอ.สวีเดนว่า เอสเค60 เป็นเครื่องบินฝึกไอพ่น บินครั้งแรกในปี1963 และประจำการในปี1967 ใช้เครื่องยนต์สองเครื่อง ผลิตออกมาทั้งหมดเกือบสองร้อยลำ และได้การส่งออกให้กับทอ.ออสเตรียด้วย
Saab 210
ซ้าบ 210 ดราเค้น หรือดราก้อน(มังกร)หรือไคท(นกเหยี่ยวไคทมีขนาดเล็ก) เป็นเครื่องบินไอพ่นต้นแบบที่สร้างออกมาเพียงแค่ลำเดียว บินครั้งแรกในปี1952 และอีกครั้งในงานแอร์โชว์ เนื่องในโอกาสครบรอบ700ปี กรุงสตอกโฮล์ม ในปี1953 ตั้งแต่นั้นคนก็ตั้งชื่อเล่นให้มันว่า เหยี่ยวไคทน้อย Lilldraken ("Little-Kite", "Mini-Kite") หรือมังกรน้อย ("Little-Dragon","Mini-Dragon")
ปัจจุบันซ้าบ210 ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์
Saab 29
ซ้าบ เจ 29 ทันนาน (Tunnan) หรือรู้จักกันในชื่อว่า"กระบอกบิน" Flygande tunnan ("The Flying Barrel") จากลักษณะภายนอกของมัน ที่โดดเด่นเป็นกระบอกสมชื่อ เป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นของทอ.สวีเดน บินครั้งแรกในปี1948 และประจำการในปี 1950 และประจำการนานมาก เพราะกว่าจะปลดก็ปาเข้าไปปี1976 เรียกว่าเป็นเครื่องบินขับไล่หลักของทอ.สวีเดนเลยทีเดียว
ผู้ใช้นอกจากสวีเดนมีรายเดียวคือออสเตรีย(ลูกค้าประจำ) และใช้ในนามยูเอ็น ในการรักษาสันติภาพในคองโกด้วย ในรุ่นสุดท้ายคือ เจ29 เอฟ สามารถยิงจรวดนำวิถีไซด์ไวน์เดอร์ได้ ในปี1963 ซึ่งต่อมาสวีเดนผลิตเองภายใต้สิทธิบัตรในชื่อว่า อาร์บี24 และน่าจะเป็นแบบขับไล่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนั้นของซ้าบ เพราะผลิตออกมาเกือบเจ็ดร้อยลำ
Saab 32
ซ้าบ32 ลานเซน (Lansen) หรือลานซ์(Lance)ซึ่งแปลว่าทวน เป็นเครื่องบินไอพ่นโจมตีสองที่นั่ง และได้มีรุ่นต่างๆไม่ว่าจะเป็นขับไล่,ลาดตะเวน และโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีแนวคิดนำนิวเคลียร์ติดกับรุ่นทิ้งระเบิด แต่โครงการก็เจ๊งบ๊งไปในยุค1960 ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
ซ้าบ32 บินครั้งแรกในปี1952 และประจำการในปี1955 กว่าจะปลดก็ปาเข้าไปปี1997 ในรุ่นหลังๆ นับเป็นเครื่องบินที่ประสบความสำเร็จอีกแบบของซ้าบ ผลิตออกมากว่า450ลำ
Saab 35
ซ้าบ เจ35 ดราเคน พัฒนามาจากเจ้าตัวเล็กคือซ้าบ210 ซ้าบ35มีขนาดลำตัวใหญ่และยาวกว่าเดิม และปีกแบบสามเหลี่ยม มีนักบินเดี่ยว เหมือนเอาซ้าบ210มาขยาย เป็นเครื่องบินไอพ่นความเร็วเหนือเสียง2เท่าแบบแรกของสวีเดน บินครั้งแรกในปี1955 ประจำการในปี1960 และปลดประจำการในปี 1999
ซ้าบ35 เป็นเครื่องบินขับไล่ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ผลิตออกมากว่าหกร้อยลำ ส่งออกไปยังออสเตรีย (ใช้ถึงปี2005) ฟินแลนด์(ใช้ถึงปี2000) และเดนมาร์ก(ใช้ถึงปี1993)
Saab 37
ซ้าบ37 วิกเก้น เป็นรุ่นพี่ของน้องยาส39 ที่ใครได้เห็นก็ต้องร้องอ้อว่าเป็นพี่น้องกัน(ฮา) เพราะมีปีนคานาร์ดเหมือนกัน และมีปีกสามเหลี่ยมเหมือนๆกันอีก แต่น้องยาส39จะลดหุ่น เอ้ยปีกคานาร์ดลงมาหน่อย ให้เพียวกว่าหุ่นอ้อนแอ่นอรชรกว่า(ฮา) สำหรับน้องวิกเก้นนี่ผมจำได้ว่าเคยเห็นในแทงโก้ตอนเด็ก แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร เพราะกระแสเครื่องบินมะกันและรัสเซียแรงทำให้เห่อมากกว่า
กลับมาเข้าสาระกันดีกว่าครับ ซ้าบ37 เป็นเครื่องบินไอพ่นที่สร้างมาหลายรุ่นทั้งโจมตี,ขับไล่ ลาดตะเวน บินครั้งแรกในปี1967 และประจำการในปี1971 เป็นเครื่องบินที่ไม่ตกยุคในช่วงนั้น และใช้มาจนปี2005ก็ยังไม่ตกเทรน และไม่ได้ส่งออกเลย จึงผลิตออกมาเพียงสามร้อยกว่าลำ
Saab 39
ยาส39 กริพเพน ในที่สุดก็มาถึงน้องยาส39 สะใภ้ใหม่ของไทยเรา (เอ้า โห่ฮิ้ว) เป็นเครื่องบินที่เคยเห็นผ่านๆตามหนังสือ แต่มาบูมเอาช่วงหลังๆในไทยเมื่อเราจะหามาประจำการ แล้วน้องเค้าก็ต้องตกเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อมีนสพ.บอกว่าไทยเราจ่ายค่าสินสอดแพงกว่าชาวบ้าน(ฮา)
หลายคนคงจะสงสัยว่าคำว่ายาส(หรือแจ๊ส) มาจากไหน? ยาส1 ยาส10 ก็ไม่เคยมี39โผล่มาได้ไง? คำว่ายาสนั้นมาเรียกย่อๆมาครับคือ Jมาจาก Jakt (Air-to-Air)หมายถึงขับไล่, Aมาจาก Attack (Air-to-Surface)หมายถึงโจมตี และS มาจาก Spaning (Reconnaissance) หมายถึงลาดตะเวน หมายความว่าน้องยาสของเราเป็นงานครับ คือเป็นอากาศยานทวิบทบาท ส่วน39 ก็คือเลขรุ่นของช้าบ39 ดังนั้นชื่อเต็มๆคือ ซ้าบ ยาส39
เนื่องจากออกแบบมาเพื่อทดแทนซ้าบ35 และซ้าบ37 ในความคิดส่วนตัว ยาส39 เหมือนกับนำเครื่องสองแบบข้างต้นมาผสมผสานกัน เหมือนเอาซ้าบ37ที่อ้วน+ความเพรียวของซ้าบ35เข้าไป ออกมาเป็นยาส39ที่หุ่นเพรียว(ฮา)
ยาส39 บินครั้งแรกในปี1988 และประจำการในปี1996 จนถึงปัจจุบันนี้ รวมแล้วตอนนี้ผลิตออกมาแล้วกว่าสองร้อยลำ ปัจจุบันมีทั้งที่ประจำการและสั่งซื้อเพิ่มเติมคือ เช็ก,ฮังการี,แอฟริกาใต้ และลูกค้าคนล่าสุดคือพี่ไทยเรานี่เอง
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับประวัติการผลิตเครื่องบินอันยาวนานของซ้าบ (ไม่ใช่บริษัทชาร์ปนะ) ซึ่งเท่าที่เห็นผมการันตีได้เลยว่า ถือว่าสวีเดนเป็นอีกชาติที่ผลิตเครื่องบินได้เก่งไม่แพ้ใคร และการที่เราได้น้องยาส39 กับอิรี่อาย และเทคโนโลยีของเค้ามา ก็นับว่าคุ้มค่ามากๆ และยืนยันได้เลยว่าของเค้าดีจริงๆ
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชมครับ^_^
ตอบท่านPINJI คือในกระทู้ผมทำตั้งแต่เอฟ1 ถึง 35 ซึ่งกำหนดรหัสใหม่ในปี1962เท่านั้นน่ะครับ^_^
และคงจะรวมเฉพาะเครื่องบินตระกูลเอฟของสหรัฐเท่านั้นครับ เพื่อไม่ให้เป็นการสับสน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา อย่างเช่นญี่ปุ่นเองก็มีเครื่องเอฟ1 หากนำเครื่องของประเทศอื่นมาด้วยคงจะซ้ำกันอื้อเลยครับ
ปล.สวีเดนเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่สองก็จริง แต่ก็เป็นประเทศที่ส่งวัตถุดิบต่างๆให้กับเยอรมันมาตลอดสงครามครับ ที่เยอรมันไม่บุกสวีเดนก็อาจจะเป็นเพราะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ไม่ต้องจัดการแบบหลายๆประเทศ ที่ไม่รู้ว่าจะไปเข้ากับศัตรูคือฝ่ายพันธมิตรอันมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหัวหอกเมื่อไหร่
เช่นนอร์เวย์ที่มีกองเรืออังกฤษเผ่นพลานน่านน้ำ และมีท่าทีไม่แน่นอนว่าจะเป็นพวกใคร เดนมาร์กที่มีดินแดนติดกับเยอรมันตอนเหนือ ที่ควรจะยึดไว้ให้ได้ก่อนศัตรูใช้เป็นฐานบุกเยอรมัน สาเหตุเหล่านี้แหละครับที่ทำให้เยอรมัน ตัดสินใจบุกสแกนดิเนเวียในปี1940 ส่วนฟินแลนด์นี่เค้าแค้นรัสเซียอยู่พอดี ก็เลยเอามาเป็นพวกบุกรัสเซียได้ไม่ยาก
อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยครับท่านนก ผมเองถ้าไม่อาศัยอ่านวิกิพีเดียแล้วมานั่งแปล ก็คงไม่สามารถเล่าเครื่องบินทุกตระกูลที่รวมมาเนี่ยได้หรอกครับ ผมไม่ใช่กูรู แต่อาศัยพี่กู(เกิ้ล)รู้เอาครับ 5555+
ระหว่างที่กองทัพอากาศของเรากำลังจะจัดหาเครื่องบินขับไล่ใหม่ ทดแทนเครื่องบินขับไล่ F5 แบบเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเวียตนามและกำลังทยอยปลดประจำการ ก็เกิดกระแสความคิดไปได้หลากหลายทั้งแง่ดีและไม่ดี ในแง่ดีก็คือดีใจที่เราจะได้มีเขี้ยวเล็บใหม่มาเสริมความแข็งแกร่งให้กองทัพ จะได้มีของใหม่มาใช้พร้อมกับเทคโนโลยีรวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตนักบิน เชื่อว่ามันต้องดีกว่าเครื่องบินเดิมที่มีอยู่คือ F16,Alpha Jet,L 39 แล้วยังเลยเถิดไปถึงว่ามันต้องบรรทุกระเบิดได้มากกว่า บินได้ไกลกว่าเพื่อเอาไว้ข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะได้ดำเนินนโยบายทางการทูตแบบแข็งกร้าวเสียที หลังจากใครอยากได้อะไรเราก็ยอมเป็นเบี้ยล่างมานาน
อีกกระแสความคิดก็คือเราไม่ได้รบกับใคร ไม่เห็นต้องหาอะไรมาทดแทน เครื่องบินแบบเดิมก็ยังบินกันได้ไม่เห็นจำเป็นต้องไปหาเครื่องบินแบบใหม่มาใช้ ไม่สำคัญว่าใครผลิต ลงท้ายก็วกกลับเข้าสู่เรื่องเดิมๆอีกคือรายการนี้ต้องมีคอมมิสชั่นแน่ พวกบิ๊กๆในกองทัพอากาศคงรับทรัพย์มหาศาลร่ำรวยไปตามๆกัน ส่วนทหารระดับปฏิบัติการก็คงได้แต่อาวุธมือสองหรือสภาพแย่ๆมาใช้ ซ่อมบำรุงยากอะไหล่ก็แพง ใช้ได้ไม่กี่ปีก็คงจอดไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้วคงมองหาเครื่องบินแบบใหม่มาเพื่อแสวงหาประโยชน์เข้าตัวและพวกพ้องกันต่อไป
นั่นคือความคิดของคนไทยทั่วไปที่ยังไม่ได้ศึกษาหาความรู้ ยังไม่มีข้อมูลในสิ่งที่กองทัพจะเอาเงินภาษีของตนไปใช้ เป็นเพียงการคาดคะเนเอาจากสิ่งที่เคยเป็นมาแต่ครั้งอดีต แต่เหตุผลที่แท้จริงในการจัดหายุทโธปกรณ์ทดแทนนั้นน้อยคนที่จะรู้ เมื่อวัฒนธรรมของชาติเราไม่ได้สนับสนุนการอ่าน การสืบค้นข้อมูลเพื่อติดอาวุธทางความคิดจึงเป็นเรื่องน่าเบื่อ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จะพัฒนาไปในอนาคตเราจึงเลือกจะถามหรือคาดเดา ซึ่งง่ายกว่า เร็วกว่า แต่ขาดหลักความจริงรองรับ มีโอกาสผิดพลาดมากและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อนโยบายการป้องกันประเทศถ้าความเชื่อนั้นกลายเป็นกระแส แพร่ไปในในสื่อมวลชนและผู้มีอำนาจในการพิจารณา แต่ไม่เคยสนใจข้อมูลทางเทคนิคและยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ
ถ้าเป็นการจัดหาแบบครั้งที่แล้วๆมาผมคงไม่อยากแสดงความคิดเห็น แต่ครั้งนี้เรากำลังจัดหาอาวุธหรือพูดให้เจาะจงลงไปก็คือเครื่องบินรบจากชาติอื่นนอกจากสหรัฐฯ เป็นความแตกต่างอันเด่นชัดในประวัติศาสตร์ของกองทัพ ผมจึงอยากชี้จากมุมมองของประชาชนเจ้าของภาษีที่ตามรายละเอียดเรื่องนี้ และอยากเสนอความคิดให้คนทั่วไปได้เข้าใจด้วยคำพูดง่ายๆ ใช้ศัพท์แสงทางวิชาการให้น้อยที่สุด ขอย้ำว่าไม่ได้เขียนเชียร์เพราะถึงอย่างไรกองทัพอากาศก็ตัดสินใจซื้อไปแล้ว เชียร์ไปก็เท่านั้น แต่เป็นการแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้ชาวไทยอุ่นสบายใจว่าของที่เราหามาใช้นั้นไม่ใช่ของด้อยคุณภาพ เราได้ของดีเพียงแต่มันมาช้าไปนิดเท่านั้น
กองทัพของเราโดยเฉพาะกองทัพอากาศ เท่าที่เคยเป็นมานั้นผูกพันอยู่กับระบบอาวุธของสหรัฐฯ แรกๆก็เพราะได้รับความช่วยเหลือทางทหาร เราช่วยเขารบทั้งสงครามเกาหลีและสงครามเวียตนาม โดยเฉพาะสงครามเวียตนามนั้นเราเป็นกันชนให้พร้อมเป็นฐานบิน ให้เครื่องบินอเมริกันไปถล่มทั้งเวียตนามเหนือ(ขณะนั้น)และเขมร อเมริกาให้เปล่าหรือขายอาวุธราคาต่ำให้ในรูปความช่วยเหลือ แต่สิ่งแอบแฝงมาคือการให้เราเป็นพันธมิตรช่วยรบ สนองนโยบายของรัฐบาลอเมริกันในการดำรงตนเป็นตำรวจโลก
ของฟรี,ของมือสองราคาถูกหรือของผ่อนดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทั้งกรอบแนวความคิดในการทำสงครามของอเมริกัน ทำให้เราพึ่งพาเขา เกิดการหยั่งรากลึกทั้งแนวความคิดและเทคโนโลยี เราจำต้องจ่ายแพงเพื่อให้ได้ของไว้ใช้ โดยเฉพาะระบบอาวุธที่ต้องพึ่งพาอเมริกา ถ้าจะซื้ออาวุธใหม่ระบบของมันก็ต้องเข้ากับของเดิมได้ ของเดิมของใคร ตอบได้ว่าของอเมริกา ถ้าจะให้เข้ากันได้สนิทมันก็ต้องอาวุธอเมริกัน
ถ้าจะซื้ออาวุธยุโรปซึ่งคุณภาพไม่ด้อย เขาก็มีระบบรองรับของเขาซึ่งการเราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อทั้งระบบอีกมากมายมหาศาล ไม่ใช่แค่มีเงินแล้วจะซื้ออะไรมาใช้ก็ได้ ระบบอาวุธปัจจุบันอันซับซ้อนนั้น ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์(ตัวอาวุธ)และซอฟต์แวร์(ชุดคำสั่งควบคุม) และเทคโนโลยีอื่นที่ช่วยให้มันแม่นยำสมสมรรถนะซึ่งราคามหาศาลหากต้องซื้อกันใหม่ทั้งระบบ โดยเฉพาะเครื่องบินรบซึ่งเป็นระบบอาวุธอีกสายพันธุ์ แตกต่างจากปืนกล,ปืนใหญ่หรือรถถัง การทำงานของมันในปัจจุบันใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง(Network Centric Operation NCO)เพื่อนักบินหยั่งรู้สถานการณ์ได้เร็วที่สุด บินขึ้นต่อสู้รวดเร็วและใช้อาวุธ(ราคาแพงและมีจำกัด)ได้แม่นยำ อันเป็นผลจากข้อมูลที่ถูกส่งผ่านทั่วถึงกันตลอดทั้งสามมิติ(เครื่องบิน น้ำ และกำลังภาคพื้นดิน) เคลื่อนที่เข้าต่อตีได้รวดเร็วทันการณ์ มีกำลังน้อยเสมือนมีกำลังมาก
เราจำต้องใช้อาวุธอเมริกันเพราะใช้มานาน จนคุ้นเคย ยึดติด แม้ถูกมัดมือชกด้วยเงื่อนไขต่างๆก็ยังต้องใช้ ทั้งที่อาวุธนั้นออกแบบมาเพื่อโครงสร้างกองทัพใหญ่อย่างสหรัฐฯ ใช้เงินทอง,อุปกรณ์,บุคคลากรเพื่อดำรงสภาพมหาศาลขณะที่งบป้องกันประเทศของเรามีน้อย การพึ่งพาทำให้เราใช้อาวุธแพงมานานแม้จะไม่เข้ากับยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ระหว่างที่อเมริกาใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกด้วยงบประมาณมาก ไทยกลับใช้ยุทธศาสตร์เชิงป้องกันแต่ด้วยงบประมาณงบประมาณน้อย ที่สำคัญคือเราจำต้องทำเพราะยังขาดตัวเลือก หรือมีตัวเลือกแต่ราคาก็แพงจนรับไม่ไหว
ระบบอาวุธเดิมที่พ้นสมัยทำให้กองทัพอากาศต้องจัดหาของใหม่มาทดแทน ความจริงก็คือเครื่องบินแบบ F5 ที่เราใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียตนามนั้นพ้นสมัยไปแล้วสำหรับการรบด้วยระบบเครือข่าย พิสัยบินของมันใกล้ ติดอาวุธได้จำกัด ปรับปรุงอย่างไรก็ไม่คุ้มเพราะวัสดุและระบบอื่นๆไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่นับถึงสายการผลิตที่ปิดไปแล้วกับค่าบำรุงรักษาที่นับวันจะไม่คุ้มค่า ทุกครั้งที่ F5 ตกแล้วเราสูญเสียนักบิน ความคิดแรกที่เกิดในสาธารณชนและสื่อต่างๆคือเครื่องบินเก่า ทั้งที่ปัจจัยในการตกนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความเก่าอย่างเดียว เครื่องบินตกหนึ่งลำเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งลม,นก,เครื่องยนต์หรือแม้แต่เกิดจากตัวนักบินเอง
เมื่อของมันเก่า หมดสภาพ ใช้ไปก็เสี่ยงตาย ปกป้องอธิปไตยหรือใช้เป็นเครื่องมือหนุนนโยบายการทูตก็ไม่ได้ จะทนใช้อยู่อีกหรือ? หรือจะให้นักบินที่ใช้ทั้งเวลาและงบประมาณมหาศาลสร้างมาต้องตายอีกกี่นาย แน่นอนว่าเราต้องหาของใหม่มาใช้ ขณะนี้เครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพอากาศคือ F16 ถ้ามองแบบง่ายๆเครื่องบินที่จะมาแทน F5 ก็น่าจะเป็น F16รุ่นใหม่ๆ หรืออะไรที่ดีกว่านั้น ตามที่มีข่าวในช่วงปีสองปีก่อนกองทัพอากาศมองเครื่องบินขับไล่ทดแทนไว้ 3แบบคือ F16 รุ่น CและDของสหรัฐฯ(ของ Lockheed Martin),SU-30 MK(ของSukoi)จากรัสเซีย และ JAS39(ของ SAAB)จากสวีเดน มีการพิจารณาอยู่นานถึงความเหมาะสมสุดท้ายก็เหลือแค่ JAS 39 ของ SAAB ที่ไปกันได้กับยุทธศาสตร์และสถานภาพทางเศรษฐกิจของเรามากที่สุด
แต่ก่อนจะเข้าถึงรายละเอียดว่าทำไมถึงไม่เลือก F16 C-D หรือSU30 ต้องกล่าวถึงความเป็นมาของกองทัพอากาศสวีเดน เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียดและการพัฒนาอากาศยานรวมทั้งแนวความคิดก่อนจะมาเป็น JAS39 GRIPEN(กริปเปน)
กองทัพอากาศสวีเดนหรือ Flygvapnet(Flight Weapon) คือเหล่าหนึ่งของกำลังทหารเพื่อป้องกันประเทศแห่งราชอาณาจักรสวีเดน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1กรกฎาคม 1926 โดยการผนวกกันระหว่างหน่วยบินกองทัพบกและหน่วยบินกองทัพเรือ เป็นเหล่าทัพที่ตั้งขึ้นหลังจากเมฆหมอกของสงครามโลกครั้งที่ 1 จางลงและยุโรปยังไร้เสถียรภาพ การแย่งชิงอาณานิคมและเขตการค้ารวมถึงความไม่เป็นธรรมในสนธิสัญญาแวร์ซายล์ คือเชื้อประทุพร้อมก่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2ทุกขณะ ช่วงทศวรรษ 1930 นั้นเองที่ความไม่แน่นอนของยุโรปทำให้สวีเดนต้องจัดอัตรากำลังใหม่ เพิ่มฝูงบินจาก 4 ฝูงเป็น 7 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในปี 1939 แม้สวีเดนจะเป็นกลางไม่ถูกเยอรมันยึดครอง แต่กองทัพอากาศได้ถูกขยายออกไปอีก ความวุ่นวายในยุโรปทำให้โครงการชะงักอยู่จนสิ้นสงคราม
ถึงสวีเดนจะไม่เคยเข้าสงคราม ไม่เคยถูกรุกรานและไม่เคยรุกรานใครแต่กองทัพอากาศขนาดใหญ่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อยับยั้งภัยคุกคามอันอาจมีได้ทุกเมื่อ เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นยิ่งจำต้องมีกองทัพอันแข็งแกร่งเพื่อป้องกันการรุกรานในฐานะประเทศหน้าด่าน ถูกล้อมรอบด้วยประเทศกติกาสัญญาวอร์ซอว์ ทั้งที่ยังขยายไม่เสร็จแต่ก็น่าทึ่งที่ภายในปี 1945 อันเป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอากาศสวีเดนมีเครื่องบินพร้อมรบ(combat-ready)ถึง 800 เครื่อง รวม 15 กองพลบินขับไล่ เป็นกองทัพอากาศที่ใหญ่เมื่อเทียบกับประชากรไม่ถึง 10 ล้านคนเมื่อ 60 กว่าปีก่อน
กองทัพอากาศใหญ่ก็จริงแต่เครื่องบินต้องใช้เชื้อเพลิง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่เป็นกลางไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงทำสงคราม แต่การอยู่ใกล้ชิดประเทศที่ถูกรุกรานจึงไม่สามารถพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงได้เต็มที่ ทางออกคือต้องคิดค้นเชื้อเพลิงใช้เอง โชคดีที่สวีเดนถึงจะไม่มีแหล่งน้ำมันดิบแต่มีแหล่งหินเชล(oil shale)อุดมสมบูรณ์ เมื่อให้ความร้อนในปริมาณเหมาะสมหินนี้จะให้สารเคโรเจน(kerogen)นำมาผลิตเป็นไฮโดรคาร์บอนเหลวได้
มันยังไม่ใช่น้ำมันดิบเสียทีเดียว แต่เป็นสารที่นำมาผ่านกรรมวิธีไพโรไลซิส(pyrolysis)ได้น้ำมันดิบสังเคราะห์ ก่อนจะไปกลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์อีกขั้น จะเผาออยล์เชลโดยตรงก็ยังได้เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงคล้ายถ่านหิน ใช้ได้ทั้งเพื่อให้ความร้อนหน้าหนาวตามบ้านเรือนและเป็นเชื้อเพลิงโรงงานผลิตไฟฟ้า สวีเดนมีเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินจากหินเชล โดยพึ่งพาน้ำมันจากเพื่อนบ้านน้อยมากตั้งแต่เมื่อเกือบ 70 ปีแล้ว!
หลังจากปี 1945 สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสม์ กองทัพอากาศสวีเดนเร่งรัดปรับปรุงขนานใหญ่เพื่อป้องกันตนจากภัยคุกคาม ระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดที่ถูกสร้างในยามนี้ล้วนต้องเอื้ออำนวยต่อการป้องกันประเทศ จำนวนคนที่น้อยและกองทัพเล็กบีบให้เน้นประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ เบื้องแรกเมื่ออุตสาหกรรมอากาศยานยังไม่สามารถรองรับความต้องการของกองทัพสมัยใหม่ได้ จึงต้องจัดหายุทโธปกรณ์จากต่างชาติ ด้วยเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์ใบพัด P-51DMustangจากสหรัฐฯและเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เจ็ต de Havilland Vampire จากอังกฤษ
กองทัพอากาศสวีเดนจัดหาเครื่องบินนำเข้าเร่งด่วนไป พร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของตน SAAB J29Tunnanคือเครื่องบินขับไล่เจ็ตของสวีเดนที่เผยโฉมในปี 1950 เป็นเครื่องบินขับไล่แบบที่สองต่อจาก SAAB 21R เครื่องบินเจ็ตขับไล่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ต เดอ ฮาวิลแลนด์ ก็อบลิน 3 ของอังกฤษที่พัฒนาแผนแบบมาจาก SAAB 21 เครื่องบินใบพัดเดี่ยวท้ายเครื่อง ทั้งหมดนี้พัฒนาและผลิตในสวีเดน ใบพัดท้ายของรุ่นนี้เอื้ออำนวยให้ติดตั้งอาวุธได้เหมาะสมกับการใช้งานที่หัวเครื่อง แต่ข้อเสียคือนักบินจะถูกดูดเข้าใบพัดท้ายได้ง่ายขณะปีนจากที่นั่งเมื่อจะสละเครื่อง จึงเป็นแนวคิดให้สร้าง SAAB21 แบบเจ็ตและที่นั่งดีดตัวในเวลาต่อมา
21R บินครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบแล้ว 2 ปี เข้าประจำการในเดือนสิงหาคม 1950 ด้วยวัตถุประสงค์เดิมคือให้เป็นเครื่องบินขับไล่ แต่หลังจากมันเผยโฉมได้เพียงปีเดียว SAAB J29 ก็ถูกเข็นออกมาอีกในเดือนตุลาคม 1948 ด้วยจำนวนที่ลดจากแผนเดิม 120 เหลือเพียง 60 เครื่อง21R จึงถูกเปลี่ยนบทบาทไปเป็นเครื่องบินโจมตีสนับสนุนการรบภาคพื้นดินแทนด้วยรหัส A 21 RA
ความน่าสนใจของ SAAB J29 คือเป็นผลผลิตจากความต้องการกองทัพอากาศเทคโนโลยีสูง เน้นคุณภาพแต่ไม่เน้นปริมาณของสวีเดน โครงการJxRเพื่อการนี้เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 1945 ระหว่างสถานการณ์ในยุโรปเริ่มสงบจากความพ่ายแพ้ของเยอรมัน เครื่องบิน 2 แบบที่เสนอกองทัพเบื้องแรกเกิดจากความคิดของทีมวิศวกรอากาศยานนำโดยลาร์ส บริซิ่ง แบบแรกมีรหัสว่า R101 ลำตัวยาวและป่องคล้ายซิการ์ราวฝาแฝดกับ P-80 Shooting Star ของสหรัฐฯ แต่ผู้ชนะการคัดเลือกกลับกลายเป็น R1001 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเร็วและคล่องตัวกว่า
ต้นแบบของJ 29 คือ R1001 เดิมถูกออกแบบให้ปีกตรง แต่หลังจากวิศวกรสวีเดนได้เข้าถึงข้อมูลการวิจัยเรื่องปีกลู่(sweep-wing)จากเยอรมันเมื่อครั้งสร้างเครื่องบินขับไล่เจ็ตที่นั่งเดี่ยวต้นแบบ Messerschmidt Me P.1101(ต้นแบบที่ถูกดัดแปลงมาเป็น Bell X-5 เครื่องบินทดสอบของสหรัฐฯและใช้รูปแบบเดียวกันในเครื่องบินรุ่นหลังคือ F-111และ F14 Tomcat) ในโครงการเครื่องบินขับไล่เจ็ตเร่งด่วนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2
SAAB พบว่าปีกลู่ช่วยเพิ่มพื้นที่ยกตัวมากขึ้น จึงปรับแผนแบบใหม่ให้เครื่องบินของตนปีกลู่แบบเดียวกันด้วยมุม 25 องศา สวีเดนจะได้ข้อมูลมาอย่างไรโดยไม่ได้รบกับเยอรมันยังเป็นความลับ เพราะเอกสารการวิจัยเดิมของเยอรมันตกอยู่ในมือรัสเซียและอเมริกัน
เมื่อวิจัยและพัฒนาเสร็จ SAAB J29 เครื่องต้นแบบเริ่มบินครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 1948 ด้วยลักษณะสำคัญคือปีกลู่,ที่นั่งเดี่ยวมีช่องintake(ช่องดูดอากาศเข้า)เดี่ยวใต้ที่นั่งนักบิน เช่นเดียวกับเครื่องบินเจ็ตรุ่นแรกๆหลังสงครามฯ คือ F84 ของสหรัฐฯและ Mig-15 ของโซเวียตรัสเซีย นักบินทดสอบคือโรเบิร์ต เอ.บ็อบมัวร์ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของ SAAB GB จำกัดแห่งอังกฤษที่ก่อตั้งในปี 1960 มัวร์พูดถึงเครื่องบินสัญชาติสวีเดนแบบนี้ว่ามันดูขี้เหร่มากเมื่อจอด แต่ปราดเปรียวเหลือเชื่อในอากาศ เพราะรูปร่างตลกๆเหมือนถังไม้โอ๊คนี้เอง J29 จึงมีชื่อเล่นว่าถังไม้ติดปีก(Flygande Tunnan ในภาษาสวีดิช)
ถังไม้ติดปีกถูกผลิตออกมารวม 661 เครื่องระหว่างปี 1950-1956 เป็นเครื่องบินรบที่ผลิตมากที่สุดของ SAAB
นอกจาก J29 จะเป็นเครื่องบินรบปีกลู่แบบแรกของ SAAB ที่ทั้งเร็ว,ทัศนวิสัยยอดเยี่ยมและคล่องตัวสูง มันยังสร้างสถิติโลกด้วยในปี 1954 บินเร็วที่สุดในโลกด้วยความเร็ว 977 ก.ม./ช.ม.ในพื้นที่ทดสอบเป็นวงรอบยาว 500 ก.ม. ก่อนจะถูก F-86 Sabre เครื่องบินขับไล่/สกัดกั้นของสหรัฐฯโค่น ด้วย SAAB J29 เป็นส่วนใหญ่นี้เอง กองทัพอากาศสวีเดนจึงครองสถิติกองทัพอากาศที่ทรงเวหานุภาพอันดับ 4 ของโลกในช่วงเวลาสั้นๆของทศวรรษ 1950
ด้วยประชากรไม่ถึง 10 ล้านและใช้เครื่องบินผลิตในประเทศล้วนๆ สวีเดนทำได้อย่างไร!
J 29 ความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานยุโรป แม้จะเป็นเจ็ตขับไล่รุ่นแรกแต่สถิติตกนั้นน้อยมาก อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากนักบินผู้ไม่คุ้นเคยกับเครื่องบินความเร็วสูงปีกลู่ มันถูกใช้ในภารกิจขับไล่จนถึงปี 1965 ก่อนถูกปลดแล้วเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นเป้าลวงแบบลากจนถึงปี 1974 บินแสดงครั้งล่าสุดเมื่อสิงหาคมปี1976 ในงานแอร์โชว์ฉลองครบรอบ 50 แห่งการก่อตั้งกองทัพอากาศสวีเดน
SAAB J29 คือตัวจักรสำคัญในการพัฒนากองทัพอากาศสวีเดน ผลพวงจากการพัฒนาอากาศยานและสงครามเย็นทำให้กองทัพอากาศสวีเดนต้องเร่งพัฒนาทั้งเครื่องบิน กำลังพลและวางยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศที่ตั้งประจันหน้ากับกลุ่มประเทศกติกาสัญญาวอร์ซอว์ ด้วยแนวความคิดที่ได้จากเยอรมนีในช่วงนั้นทำให้ต้องพัฒนาทั้งอากาศยานและระบบสาธารณูปโภคให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะถนนสายหลักที่จะกลายเป็นรันเวย์ยามสงคราม
ฐานทัพอากาศถูกสร้างเพิ่มเติมพร้อมกับถนนหลวงที่ต้องใช้งานได้สองวัตถุประสงค์ คือเพื่อสัญจรแต่ขณะเดียวกันต้องให้เครื่องบินรบร่อนลงได้พร้อมวางจุดส่งกำลังบำรุงซ่อนพรางไว้ตามภูมิประเทศ เมื่อความเป็นกลางไร้ความหมาย ประเทศถูกรุกราน ฐานบินถูกทิ้งระเบิด ทางเลือกคือต้องจอดบนถนนให้ได้ เครื่องบินขับไล่ของสวีเดนยุคสงครามเย็นและหลังจากนั้นจึงถูกสร้างขึ้นด้วยหลักนิยมที่สอดคล้องกันคือ
· เล็ก,ความคล่องตัวสูง
· ใช้ระยะทางวิ่งขึ้นและร่อนลงสั้น
· ปฏิบัติงานเป็นเครือข่ายด้วยระบบส่งผ่านข้อมูลทันสมัย แจ้งเตือนล่วงหน้าได้รวดเร็ว
· ค่าใช้จ่ายต่ำ ปรนนิบัติบำรุงด้วยบุคลากรจำนวนน้อย
· ผลิตและซ่อมแซมได้ภายในประเทศ
ระหว่างสงครามเย็นงบประมาณกลาโหมของสวีเดน(ซึ่งส่วนหนึ่งถูกกันไว้เพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์) ถูกดึงมาพัฒนากองทัพอากาศและอากาศยานภายในประเทศ จนครองอันดับกองทัพอากาศทรงอานุภาพดังกล่าว ช่วงทศวรรษ 1950 นี้เช่นกันที่สวีเดนโดยเฉพาะ SAAB ได้ผลิตเครื่องบินขับไล่ดีๆออกมาใช้มากมาย ทั้ง SAAB J29 Tunnan,SAAB A32 Lansen,SAAB J35 Draken
การบอกเล่าเรื่องของกองทัพอากาศสวีเดนจะสมบูรณ์ไม่ได้หากไม่พูดถึง SAAB(ซาบ) บริษัทผลิตอากาศยานแห่งชาติที่เติบโตมาพร้อมกับกองทัพอากาศ และผลิตเครื่องบินป้อนกองทัพมาตลอด
ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์และอากาศยานของยุโรป เป็นที่ทราบกันดีว่าSAABนั้นไม่เป็นรองใคร บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1937 ในชื่อเต็มว่าSvenska aeroplanaktiebolaget" (บริษัทอากาศยานแห่งสวีเดน จำกัด) ตั้งได้ 2 ปีก็เข้าร่วมกิจการกับบริษัท ASJA มีสำนักงานใหญ่ในเมืองลินเคอปิง หลังจากเปลี่ยนผู้ดำเนินกิจการในช่วงทศวรรษ 1990 ซาบได้ชื่อใหม่เป็น SAAB AB
ด้วยชื่อเสียงของบริษัทที่เน้นอากาศยาน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ SAABจึงเป็นเครื่องบินและชิ้นส่วนอุปกรณ์เกี่ยวกับอากาศยาน แต่ก็ผลิตรถยนต์จำหน่ายด้วยแบรนด์เดียวกัน มีรถยนต์แบรนด์ SAAB วิ่งอยู่ในถนนบ้านเราจำนวนหนึ่ง คุณภาพของมันเป็นไปตามมาตรฐานยุโรป คือแกร่ง ทน ดูดีมีสง่า ไม่เพียงแต่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซาบยังควบรวมกิจการกับบริษัทผู้ผลิตรถบรรทุก Scania-Vabisในปีค.ศ.1969 ระหว่างนั้นจนถึงค.ศ. 1995 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น SAAB-ScaniaAB แต่เจเนอรัล มอเตอร์สบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯได้เข้ามาถือหุ้นถึง 51 เปอร์เซ็นต์ในแผนกยานยนต์ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 แล้ว และซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดในอีกสิบปีถัดมา
แล้วเครื่องบินล่ะ SAABมีผลงานอะไรเข้าตากรรมการบ้าง? ถ้าติดตามข่าวอุตสาหกรรมอากาศยานบ่อยๆก็จะทราบว่าเครื่องบินขับไล่ SAAB 32Lansen(ลันเซน,หลาว)คือเครื่องบินโจมตีสองที่นั่งที่SAABผลิตให้กองทัพอากาศสวีเดนตั้งแต่ค.ศ. 1955 ถึง 1960 ตัวถัดมาคือSAAB 35 Draken(ดราเคน,Dragon,มังกร) เครื่องบินรบทันสมัยในช่วงนั้นที่เข้ามาทดแทน SAAB J 29 Tunnan(ทุนนัน ถังไม้ติดปีก)
ในช่วงสงครามเย็น ดราเคนเป็นเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงส่งออกที่ประสบความสำเร็จมากของสวีเดน แม้ปัจจุบันมันจะถูกปลดประจำการไปแล้ว แต่ดราเคนก็ยังเป็นต้นแบบให้ SAAB พัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นต่อมา
เครื่องบินขับไล่เจ็ตเด่นๆของSAABนอกจากลันเซน,ดราเคนแล้วต่อไปคืออะไร? SAAB JA 37 Viggen(วิกเกน,Thunderbolt,สายฟ้า)คือคำตอบ มันเป็นเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดี่ยวพิสัยใกล้และปานกลาง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสวีเดนอันคล้ายคลึงกับไทยคือเน้นการป้องกัน จึงไม่ต้องการเครื่องบินขับไล่พิสัยไกลวิกเกนทำได้ทั้งการครองอากาศ โจมตีภาคพื้นดิน จะให้บินลาดตระเวนถ่ายรูปหรือใช้เป็นเครื่องบินฝึกเปลี่ยนแบบ 2 ที่นั่งก็ยังได้
วิกเกนรับใช้สวีเดนอยู่ระหว่างค.ศ.1970 ถึง 1990 เป็นยี่สิบปีที่มันสร้างชื่อไว้มากจากนวัตกรรมด้านอากาศยาน มีปีกเล็กหรือแคนาร์ด(Canard)เหมือนกริปเปนเพื่อช่วยการลดระยะการตีวงเลี้ยว ช่วยให้ได้เปรียบข้าศึกในยุทธเวหาระยะประชิด(dogfight) สมรรถนะอันโดดเด่นของปีกเล็กหัวเครื่องบินจากSAABได้กลายเป็นเทรนด์ของเครื่องบินขับไล่ค่ายยุโรปไปแล้วนับแต่นั้น ยูโรไฟเตอร์ก็มีปีกเล็ก แม้เครื่องบินขับไล่ประจำชาติของอิสราเอลคือKfir(คฟีร์)ก็มีปีกชนิดนี้ด้วย
เท่าที่ได้เรียบเรียงมานี้คือความเป็นมาอย่างสังเขปของกองทัพอากาศสวีเดน เครื่องบินรบและบริษัท SAAB ผู้ผลิตที่ส่งมอบเครื่องบินสมรรถนะสูงให้กองทัพอากาศสวีเดนมาอย่างสม่ำเสมอ เครื่องบินรบก่อนหน้า JAS39 ยังไม่ถูกส่งออกหรือส่งออกน้อย ไม่ใช่ระบบอาวุธของสวีเดนไม่ดีหรือราคาแพงแต่เขาเน้นความพอเพียง สร้างเครื่องบินไว้พอใช้ป้องกันชาติ
ถ้าจะถามว่ายุทโธปกรณ์ของเขาทำไมเป็นที่รู้จักน้อยกว่าของอเมริกา ต้องดูกันถึงรายละเอียด ปืนใหญ่และปืนกลหนักโบฟอร์ส(Bofors ก่อตั้งเมื่อปี1873 )ที่ติดตั้งบนเรือรบใหญ่น้อยทั่วโลกผลิตจากสวีเดน ระบบโทรคมนาคมทั้งทางทหารและพลเรือนแบรนด์อีริกสัน(Ericsson ก่อตั้งเมื่อปี 1876)ที่เราคุ้นเคยก็ของสวีเดน เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าทางยุโรปนั้นเก่งงานแต่ไม่เก่งเรื่องการตลาด สินค้าจากยุโรปส่วนใหญ่คุณภาพสูงพอๆกับราคา แต่ซื้อไว้แล้วก็ใช้กันจนลืม
สวีเดนอาจไม่มีชื่อเสียงเด่นดังด้านอาวุธเป็นชิ้นใหญ่ๆ แต่ระบบการทำงานที่ดีของมันล้วนมาจากประเทศนี้ รวมถึงประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเช่นฟินแลนด์,เดนมาร์กและนอร์เวย์
ถ้าศึกษาสภาพภูมิศาสตร์สวีเดนให้ดีจะพบว่านี่คือชาติยุโรปที่เล็ก ประชากรกระจายกันอยู่ทั่วประเทศอย่างหลวมๆ จำนวนชาวสวีดิชที่สำมโนประชากรในเดือนเมษายนปี 2007นี้คือ 9 ล้านกว่าคน เป็น 9 ล้านกว่าที่แน่นไปด้วยคุณภาพ กองทัพเคยมีทหารทั้งหมด 1 ล้านนายในช่วงสงครามเย็นแล้วลดลงเหลือเพียง 6 หมื่นในปัจจุบัน เป็น 6 หมื่นที่เพียงพอจากการป้องกันประเทศ คล่องตัวจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองและปรับปรุงต่อเนื่องให้ทันสมัยเสมอ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารแบบเครือข่าย
กล่าวถึงกองทัพอากาศสวีเดนและเครื่องบินแบบต่างๆจาก SAAB แล้ว ก็ต้องพูดถึง JAS39 Gripen (ยาส 39 กริปเปน)ที่กำลังจะประจำการในบ้านเรา มันได้ชื่อนี้มาจากชื่อย่อของภารกิจในภาษาสวีดิช โดย J คือ Jakt หรือการครองอากาศ A คือ Attack หรือโจมตีต่อเป้าหมายภาคพื้นดิน ตัวสุดท้ายคือ Sก็คือ Spaning หรือการลาดตระเวน ตัวเลข 39 คือเครื่องบินลำดับ39ที่เข้าประจำการในกองทัพอากาศประเทศสวีเดน
แล้ว Gripen ล่ะมาจากไหน? ที่มาคือชื่อของสัตว์ในเทพนิยายยุโรปโบราณ ตัว Griffin(กริฟฟิน)หรือ Griphon(กริฟอน) ในภาษาอังกฤษเป็นสัตว์ครึ่งนกครึ่งสิงโต ตัวเป็นสิงโตแต่มีหน้าตาและปีกเหมือนนกอินทรี งามสง่าและทรงอำนาจ เป็นสัญลักษณ์ของพลังเหนือธรรมชาติ กริปเปนคือตราแผ่นดินประจำจังหวัดโอสเตอร์โกตลันด์ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่บริษัทSAAB(เมืองลินเคอปิงในจังหวัดนั้น)
เปรียบลักษณะของตัวกริปเปนกับเครื่องบินขับไล่ ก็คือเครื่องบินรบทวิภารกิจ(multi role aircraft)แบบเดียวกับ F16 พร้อมจะสร้างความวายวอดให้เป้าหมาสยได้ด้วยเขี้ยวเล็บและพละกำลังอันมหาศาลดุจสิงโตติดปีก
ในการออกแบบกริปเปน SAAB ได้แผนแบบไว้มากเพื่อคัดเลือก ในที่สุดก็มาจบที่แบบมีปีกเล็กเพื่อช่วยในการเลี้ยวกลางอากาศ ช่วยยกตัวและเบรกขณะกำลังแล่นขึ้นและร่อนลงเพื่อกินระยะทางน้อยที่สุด ประกอบกับชุดเบรกอัตโนมัติที่จะคำนวณน้ำหนักการกดของผ้าเบรกให้พอดีและปลอดภัย
นอกจากปีกใหญ่และเล็กที่ช่วยด้านการบิน/แล่นขึ้น/ลงจอด ระบบอีเลคทรอนิกส์อากาศยาน(avionics)รูปแบบใหม่ยังช่วยทำให้มันกลายเป็นอากาศยานLalunarจัง เมื่อวันที่
05/09/2010 09:30:14
ขอบคุณหลายๆท่านครับที่ช่วยมาเพิ่มเติมข้อมูล
ขอแก้ฉายาเจ29 เลยนะครับ จากที่ผมแปลว่ากระบอกบิน
จริงๆแล้วต้องแปลว่าถังไม้บินครับ บังเอิญดันไปคิดถึงBarrel ของกระบอกปืนซะได้ 555 (รู้เพราะบทความยาวๆนี่ละ)