หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


หมู่เรือปราบปรามโจรสลัด เดินทางถึงประเทศศรีลังกา

โดยคุณ : NATSATTAHIP เมื่อวันที่ : 21/09/2010 07:19:29

 
 
            วันนี้ (19 กันยายน 2553)  เวลา  16.30  น.   นายทินกร  กรรณสูตร เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศศรีลังกา  ได้เดินทางมาต้อนรับ  หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดของกองทัพเรือไทย ที่ได้เดินทางถึงท่าเรือเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา  ภายหลังเดินทางออกจากฐานทัพเรือชางงี ประเทศสิงคโปร์   เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 โดยกองทัพเรือศรีลังกาได้จัดเรือเร็วโจมตีจำนวน 2 ลำ มาให้การต้อนรับริเวณปากร่องน้ำ ทั้งนี้หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดมีกำหนดจอดเรือเป็นเวลา 2 วันก่อนที่จะออกเดินทางต่อเพื่อไปปฏิบัติภารกิจที่อ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย   โดยในช่วงเย็นของวันนี้   เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศศรีลังกา ได้จัดให้มีงานเลี้ยงรับรอง    ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ โดยเรียนเชิญ  พลเรือโท ที เอส จี ซามาราซิงค์   ผู้บัญชาการทหารเรือ   ศรีลังกา  เจ้ากรมยุทธการทหารเรือศรีลังกา  และผู้บัญชาการภาคตะวันตก กองทัพเรือศรีลังกา   ร่วมเป็นเกียรติ  ในงาน    ส่วนในวันพรุ่งนี้   พลเรือตรี ไชยยศ  สุนทรนาค ผู้บังคับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดและคณะ           จะเดินทางไปสักการะพระทันตธาตุ  ณ วัดพระเขี้ยวแก้ว ณ เมืองแคนดี้   เพื่อความเป็นสิริมงคล ตามคำเชิญของ   เอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศศรีลังกา  โดยมี  นาวาเอก บัญชา  บัวรอด ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทยประจำประเทศอินเดีย   ร่วมคณะก่อนจะเดินทางมาร่วมงานเลี้ยงรับรอง ซึ่ง ผู้บัญชาการทหารเรือ ศรีลังกา   เป็นเจ้าภาพ   ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ณ  สโมสรนายทหารสัญญาบัตร  กองบัญชาการกองทัพเรือศรีลังกา ส่วน ในวันที่ 21 กันยายน 2553   ผู้บังคับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด มีกำหนดเดินทางไปเยี่ยมคำนับ                          ผู้บัญชาการทหารเรือศรีลังกา ณ กองบัญชาการกองทัพเรือศรีลังกา  โดยมี เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศศรีลังกา  และ นายณรงค์  ยุทธกาจกำธร  อัครราชทูตที่ปรึกษา  ร่วมคณะ และจัดให้มีงานเลี้ยงรับรองโดย      หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดเป็นเจ้าภาพ บนเรือหลวงสิมิลัน
จากปัญหาโจรสลัดบริเวณอ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย            นานาประเทศได้ส่งกำลังทางเรือเข้าร่วมปฏิบัติการปราบปรามโจรสลัดในพื้นที่อ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย  ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ส่งกำลังทางเรือเข้าร่วมการปราบปรามโจรสลัดใน อ่าวเอเดนจำนวน  29 ประเทศสำหรับประเทศในแถบเอเซียที่ได้มีการจัดกำลังเข้าร่วมปฏิบัติการ ในบริเวณนี้แล้ว คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย มาเลเซีย และ สิงคโปร์    โดยในส่วนของประเทศไทย นั้น  รัฐบาลได้อนุมัติให้กองทัพเรือ จัดกำลังทางเรือ อากาศยาน และส่วนสนับสนุน ประกอบกำลังเป็น หมู่เรือปราบปรามโจรสลัด (มปจ.) ไปปฏิบัติภารกิจร่วมกับกำลังผสม    ทางเรือจากนานาชาติ ประกอบด้วยเรือหลวงสิมิลัน และ เรือหลวงปัตตานี เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ เบลล์  212  จำนวน 2  เครื่อง   และชุดปฏิบัติการพิเศษของ   หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ      โดยมี    พลเรือตรี ไชยยศ  สุนทรนาค      ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 2  เป็น  ผู้บังคับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด (ผบ.มปจ.)           
                นับตั้งแต่ออกเดินทางจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา  หมู่เรือปราบปรามโจรสลัด    ได้มีการฝึกทบทวนในหัวข้อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจู่โจมและตรวจค้นทางเรือและอากาศยาน การป้องกันเรือ  การฝึกรับส่งสิ่งของในทะเล  การฝึกดับเพลิง  ซึ่งผลการฝึกเป็นที่น่าพอใจเนื่องจากกำลังพลมีความชำนาญและมีการฝึกอย่างสม่ำเสมอมาแล้วก่อนหน้านี้    ทั้งนี้หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดจะทำการฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้กำลังทางเรือเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการจริงเพื่อความสำเร็จสูงสุดของภารกิจและเพื่อเกียรติภูมิของประเทศชาติและกองทัพไทย  
สำหรับประเทศศรีลังกา  เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาช้านาน ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1700  เมื่อเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ส่งคณะผู้แทนไปประเทศศรีลังกา เพื่อนิมนต์พระภิกษุลังกา 3  รูป                  มาช่วยฟื้นฟูและเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นครศรีธรรมราช  ก่อนที่จะเผยแผ่ไปยังอาณาจักรสุโขทัย ในสมัย   พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  ทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้นและเรียกว่านิกายลังกาวงศ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2296  ประเทศไทยได้ส่งคณะพระภิกษุนำโดย พระอุบาลีมหาเถระ  เดินทางไปประเทศศรีลังกาตามคำร้องขอ  เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาในลังกาอีกครั้ง และได้สถาปนาพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ขึ้นในประเทศ ศรีลังกาจนรุ่งเรืองตราบจนปัจจุบัน      นอกจากความสัมพันธ์ในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ประเทศไทย ยังมีความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในด้านอื่น ๆ กับประเทศศรีลังกา  อาทิ ด้านวัฒนธรรม  ด้านวิชาการ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูบูรณะประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
การเดินทางของหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด ได้ใช้เส้นทางเดินเรือ ฐานทัพเรือสัตหีบ – สิงคโปร์ -  โคลัมโบ (ศรีลังกา) -  ซาลาห์ลา (โอมาน)  รวมระยะทาง 4,894 ไมล์ทะเล ใช้เวลาเดินทาง 19 วัน โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติการในพื้นที่ 60  วัน     โดยหมู่เรือฯ  จะออกเดินทางจาก เมืองโคลัมโบ ในวันที่             21 กันยายน นี้ และคาดว่าจะเดินทางถึงเมือง ซาลาห์ลา ประเทศโอมาน ในวันที่ 27 กันยายน 2553 




ความคิดเห็นที่ 1


คุ้นๆแต่ไม่ชัวร์ว่า ประเทศไหนอยากเป็นเจ้าภาพเลี้ยงข้าวโจรสลัดก็เอาไปประเทศตัวเองได้เลย ไม่ต้องแย่งกัน ไม่ผิดกติกา
โดยคุณ Puriku เมื่อวันที่ 20/09/2010 10:44:34


ความคิดเห็นที่ 2


ถ้าเรือสัญชาติอื่นถูกโจรยึดไว้ หากเราจะไปช่วยด้วยการแย่งยึดคืนก็ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐเจ้าของธง และบริษัทเจ้าของเรือก่อน ปกติไม่ค่อยมีใครกล้าทำ เพราะถ้าเกิดความเสียหาย หรือลูกเรือบาดเจ็บล้มตายเราก็คงต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วย ตอนเรือไทยถูกยึดไปก็มีเรือรบฝรั่งเศลแล่นติดตามดูอยู่ แต่เจ้าของเรือตกลงใจที่จะจ่ายคาไถ่มากกว่า ก็เลยต้องปล่อยให้วิ่งกลับไปถึงโซมาเลีย  แต่ถ้าเรือกำลังถูกโจมตีนี่เล่นงานได้เลยไม่ต้องรออะไร มีกฎหมายทั้งของสากล ทั้งมติคณะมนตรีความมั่นคงของUN แม้กระทั่งกฎหมายไทยก็ใช้ได้  เพราะโจรสลัดถือเป็นภัยของทุกประเทศ  ก็ระบุไว้ชัดเจน

ถ้าเกิดหน้ามืดมาขึ้นเรือรบไทยก็ยิ่งง่าย เรือรบต่างชาติที่หน้าตาคล้ายเรือสินค้า เช่นเดียวกับเรือสิมิลัน เคยถูกโจรสลัดจู่โจมหลายครั้งแล้ว ผลก็คือโดนจับทุกราย  อย่างไรก็ตามการจับแล้วนำกลับมาขึ้นศาลไทยไม่ใช่เรื่องสนุก ต้องหาข้าวให้กินอีกเกือบร้อยวัน ส่งให้ประเทศใหนก็ไม่มีใครรับ

มีหลายประเทศที่ยึดอาวุธแล้วปล่อยไป  บางประเทศที่โหดหน่อยอาจทำแรงกว่านี้ เรื่องนี้ไม่ยืนยัน

โดยคุณ โย่ง เมื่อวันที่ 20/09/2010 20:19:32


ความคิดเห็นที่ 3


แถมให้อีกข่าว กองทัพเรือเคลื่อนกำลัง บ่อยมากช่วงนี้

          กองทัพเรือไทยส่งกำลังพลนักรบทางเรือลงเรือ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงตากสิน ทะยานออกจากน่านน้ำไทย เข้าเทียบท่าเรือฐานทัพเรือชางงี ประเทศสิงคโปร์ฝึกร่วมผสมทัพเรือสิงคโปร์ “สิงห์สยาม 2010” สร้างสมประสบการณ์ ความชำนาญคุ้มกัน ไล่ล่า ค้นหา ทำลายศัตรู รักษาอธิปไตยของชาติ และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

           จากกรณีที่ นาวาเอก โฆษิต เจียมศุภกิตต์ เสนาธิการ กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ผู้อำนวยการฝึกร่วมสิงสยาม 2010 ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้นำเรือหลวงจักรีนฤเบศร และเรือหลวงตากสิน พร้อมกำลังพล ยุทโธปกรณ์ กำลังพล มุ่งหน้าไปยังท่าเทียบเรือชางงี ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเปิดฝึกร่วมกันระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือประเทศสิงคโปร์ เพื่อฝึกร่วมกันในสาขาปฎิบัติการทางเรือในเรื่องของ การคุ้มกัน ไล่ล่า ค้นหา ทำลายศัตรู ตลอดจนการสร้างสมประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนการยุทธ์ และการพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสารในระดับสากล ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อป้องกันการผิดพลาดในเรื่องของการสื่อความหมาย ถ้ามีการปฎิบัติภารกิจร่วมกันในทะเล หรือมีการติดต่อสื่อสารในการให้ความช่วยเหลือเรือประมงหรือภัยพิบัติอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           ความคืบหน้าในเรื่องนี้(20 ก.ย.53) เรือหลวงจักรีนฤเบศร นำโดย นาวาเอก สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บังคับการเรือ และเรือตากสิน นำโดย นาวาเอก สมาน ขันธพงศ์ ได้นำเข้าเทียบท่าเรือชางงีเป็นที่เรียบร้อย และปลอดภัยทุกประการ ซึ่งได้มี นาวาเอก นาวาเอก สุธีพงศ์ แก้วทับ ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย ประจำประเทศสิงคโปร์ พร้อมภริยา คุณณัฐิยา แก้วทับ และนาวาเอก เงียม หอก คุณ (COL.Giam Hak Koon) ผู้บังคับการเรือ 185 กองทัพเรือประเทศสิงคโปร์ ผู้แทนกองทัพเรือประเทศสิงคโปร์ และนายทหารของทหารเรือสิงคโปร์ มาให้การต้อนรับ ณ ท่าเรือฐานทัพเรือชางงี พร้อมหารือเบื้องต้นในเรื่องการฝึก ณ ห้องรับรอง เรือหลวงจักรีนฤเบศร เพื่อร่วมกันวางแผนในการจัดกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ อากาศยานปราบเรือดำน้ำ(ซีฮอร์ก) จำนวน 3 ลำแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของการพัฒนาการฝึกให้ก้าวหน้ากว่าทุกปีโดยเฉพาะการแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วนที่เกิดขึ้นตามกระแสโลก

          นาวาเอก โฆษิต เจียมศุภกิตต์ กล่าวว่า สำหรับการฝึกร่วมผสมในปีนี้ได้รับมอบหมายจาก พลเรือตรี ไชยยศ สุนทรนาค ผู้บัญชาการ กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ ให้ผู้อำนวยการฝึกร่วมสิงสยาม 2010 ณ ประเทศสิงคโปร์ นำเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงตากสิน และกำลังพลเดินทางไปฝึกร่วมกับกองทัพเรือสิงคโปร์ เป็นระยะเวลา 10 วัน เป็นอย่างน้อย ซี่งปีนี้กองทัพเรือประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพการฝึก ถือว่าเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านการทหาร เป็นโอกาสของกำลังพลที่ได้มีการพัฒนา เรื่องขององค์ความรู้ ประสบการณ์ และได้ล่วงรู้ถึงการพัฒนากำลังพลของกองทัพเรือมิตรประเทศ เกิดความเข้าใจในเรื่องการติดต่อสื่อสาร การใช้ภาษาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เกิดผลดีต่อการปฏิบัติการร่วมในทะเล ถ้าเกิดวิกฤตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

อุดมเกียรติ ทิพย์ศรีกุล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ขอบคุณสำหรับข้อมูล
 


หนังสือพิมพ์ สัีตหีบนิวส์ www.sattahipnews.com
โดยคุณ ocean เมื่อวันที่ 20/09/2010 10:28:08


ความคิดเห็นที่ 4


ผมไม่แน่ใจในเรื่องข้อกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศ  เช่นสมมุติโจรสลัดโซมาเลียมันเกิดหน้ามืดเห็นเรือหลวง สิมิลัน เป็นเรือบรรทุกน้ำมันมันขึ้นไปปล้น แล้วทหารเรือไทยก็ใจดีทำอาหารยำตีนกบให้พวกมันกิน หลังจากนั้น ก็ส่งให้ศาลไทยดำเนินคดีได้เพราะมันปล้นเรือของไทยเพราะบนเรือถือเป็นอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย   แต่ถ้ามันเกิดไปปล้นเรือของญี่ปุ่นแล้วไทยเข้าไปช่วยทำยำตีนกบให้มันกิน ในกรณีนี้จะต้องให้ศาลญึ่ปุ่นดำเนินคดีหรือไม่  และทหารเรือไทยมีกฏหมายระหว่างชาติคุ้มครองด้วยหรือไม่ครับในการปฎิบัิติหน้าที่ครั้งนี้ในการขึ้นไปตรวจสอบหรือเข้าไปช่วยเหลือเรือที่ถูกปล้น  ครับ
โดยคุณ nok เมื่อวันที่ 20/09/2010 10:00:24