หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ห้าพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดสงครามในเอเชียตะวันออก

โดยคุณ : che เมื่อวันที่ : 05/10/2010 17:49:45

มีบทความดีๆ มาฝากครับ เรื่อง " ห้าพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดสงครามในเอเชียตะวันออก "  จาก URL  http://www.siamintelligence.com/5-potential-flashpoints-in-east-asia/  เผื่อจะใช้มองอนาคตรอบๆ บ้านเรา ว่าจะมีทิศทางไปทางใดบ้าง

จึงขออนุญาตท่านเจ้าของบทความ นำบทความของท่านมาเผยแพร่เป็นความรู้ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

ห้าพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดสงครามในเอเชียตะวันออก

February 8, 2010

หนังสือ Rivals: How the Power Struggle Between China, India, and Japan Will Shape Our Next Decade ของ Bill Emmott อดีตบรรณาธิการนิตยสาร The Economist พูดถึงความขัดแย้งของมหาอำนาจแห่งเอเชียทั้ง 3 ได้แก่ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ว่าจะชี้ชะตาของโลกและเอเชียในทศวรรษหน้า

ในบทที่ 8 ของหนังสือเล่มนี้ Emmott ได้กล่าวถึง “พื้นที่ที่เสี่ยงจะเป็นชนวนแห่งความขัดแย้ง” หรือ flashpoint ของมหาอำนาจทั้งสามแห่งเอเชียตะวันออก ว่ามีทั้งหมด 5 จุดตามแนวพรมแดน ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นชนวนแห่งสงครามในอนาคตอันไม่ไกลนี้

แผนที่แสดง flashpoint ทั้งห้าจุดของเอเชียตะวันออก

ปากีสถาน

คู่ขัดแย้ง: จีน vs อินเดีย, อินเดีย vs ปากีสถาน

การเมืองในปากีสถานนั้นยังไม่มีเสถียรภาพ หลังจากอดีตผู้นำเผด็จการมูชาราฟลงจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันก็พบกับปัญหาภายนอกอย่างการก่อการร้ายของขบวนการอัลเคด้า พรมแดนธรรมชาติที่ติดกับอัฟกานิสถาน

ความสัมพันธ์ของปากีสถานกับอินเดียนั้นไม่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นับแต่สมัยได้เอกราชจากอังกฤษ ปัญหาแคว้นแคชเมียร์ที่ยังไม่คลี่คลาย จึงเป็นไปได้ว่าจีนอาจสอดแทรกเข้ามาสร้างสัมพันธ์กับปากีสถาน เพื่อลดความสำคัญของอินเดียในภูมิภาคนี้ลง อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้นี้มีไม่มากเท่าใดนัก

ไต้หวัน

คู่ขัดแย้ง: จีน vs ไต้หวัน, จีน vs สหรัฐอเมริกา

จีนกับไต้หวันผ่านจุดที่ตึงเครียดที่สุดมาแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศค่อยๆ ดีขึ้น Emmott คาดว่าในที่สุดจีนกับไต้หวันอาจจะรวมกันได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร มุมมองในประเทศไต้หวันเองก็ยังแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย และยังถกเถียงกันไปอีกนาน

พรมแดนจีน-อินเดีย รวมทิเบต

คู่ขัดแย้ง: จีน vs อินเดีย, จีน vs ทิเบต

จีนกับอินเดียมีความขัดแย้งในด้านพรมแดนที่สำคัญสองจุด จุดแรกได้แก่ Aksai Chin ที่อยู่เหนือเนปาลขึ้นไป และ Arunachal Pradesh ที่อยู่ติดกับภูฏาน

แผนภาพความขัดแย้งที่แคว้นแคชเมียร์ (Aksai Chin อยู่ขอบด้านขวาของภาพ)
ที่มา – Library of Congress/Wikipedia

แผนที่ของแคว้น Arunachal Pradesh ของอินเดีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับทิเบต
ที่มา – Wikipedia

อย่างไรก็ตาม จุดขัดแย้งที่สำคัญกว่าคือทิเบต ซึ่งมีปัญหาทางการเมืองในประเทศของจีน และความสัมพันธ์ของอินเดียกับดะไลลามะมาเกี่ยวข้อง ความขัดแย้งที่ทิเบตกำลังรอวันปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อดะไลลามะองค์ปัจจุบันเสียชีวิต และชาวทิเบตกับจีนจะต้องแย่งสิทธิ์ในการแต่งตั้งดะไลลามะองค์ใหม่

หมู่เกาะเซ็นคาคุ

คู่ขัดแย้ง: จีน vs ญี่ปุ่น

หมู่เกาะเซ็นคาคุ (Senkaku) หรือชื่อภาษาจีนคือ Diaoyutai เป็นโขดหินขนาดเล็กในทะเลจีนตะวันออก อยู่ระหว่างไต้หวันกับหมู่เกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างอ้างความเป็นเจ้าของหมู่เกาะนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าหมู่เกาะเซ็นคาคุจะมีความสำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติไม่เยอะมากนัก แต่ก็มีความสำคัญในด้านชาตินิยมสูง สุดท้ายแล้วคาดว่ากรรมสิทธิ์ของหมู่เกาะจะไม่เป็นของใคร แต่จีนกับญี่ปุ่นจะลงทุนร่วมกันในการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพื้นที่บริเวณนี้มาใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์

เกาหลีเหนือ

คู่ขัดแย้ง: จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย

อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคิมจองอิล ช่วยให้เกาหลีเหนือยังมีเสถียรภาพไปได้ อย่างน้อยก็จนหมดอายุขัยของคิม จองอิล แต่ถ้าเกาหลีเหนือไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจของคิม จองอิลที่ยังไม่ลงตัว ก็มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อเขาเสียชีวิตแล้ว จะเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนกระทั่งเกิดสงคราม และเป็นไปได้ว่าจีน (หรืออาจรวมถึงรัสเซีย) อาจปฏิบัติการทางทหารเพื่อยึดครองเกาหลีเหนือ (อาจรวมถึงเกาหลีใต้) ได้ และจะกลายเป็นความขัดแย้งที่สหรัฐและญี่ปุ่นต้องลงมายุ่งเกี่ยว

ถ้ามองในแง่ดี การเปลี่ยนแปลงอำนาจในเกาหลีเหนือ อาจช่วยเร่งความคืบหน้าของการรวมชาติเกาหลีได้เช่นกัน เพียงแต่การรวมชาติจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ ที่นับวันยิ่งห่างกันเรื่อยๆ

นอกจากความขัดแย้งทั้งห้าจุดแล้ว Emmott ยังมองว่ามีพื้นที่เสี่ยงระดับรองอื่นๆ อีก เช่น พม่า (จีนแข่งกับอินเดียในการสร้างอิทธิพลในพม่า)





ความคิดเห็นที่ 1


ดีที่ของเราไม่ติดโผล
โดยคุณ ecos เมื่อวันที่ 05/10/2010 02:42:34


ความคิดเห็นที่ 2


เมกาตัวเร่งปฏิกิริยาสงคราม
โดยคุณ nathekop เมื่อวันที่ 05/10/2010 06:39:44


ความคิดเห็นที่ 3


อ่านไปๆมาๆ มีแต่จีน - -
โดยคุณ wizz เมื่อวันที่ 05/10/2010 06:49:48