หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


เมื่อธงราชนาวีไทยโบกสะบัดเหนืออ่าวเอเดน

โดยคุณ : ผู้กองค้า เมื่อวันที่ : 22/10/2010 22:28:50

"ขอให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่อย่างองอาจ กล้าหาญ ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศมีความรอบ คอบไม่ประมาท คำนึงถึงความปลอดภัยของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นสำคัญ รวมทั้งขอให้ดำรงไว้ซึ่งการติดต่อสื่อสารกับเรือประมงและเรือสินค้าไทยที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อให้มีความพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือ หรือให้การสนับสนุนได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น...” 
    
ข้อความข้างต้น คือบางตอนของโอวาทที่ พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ  ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวย้ำแก่กำลังพลหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดของกองทัพเรือ ซึ่งออกเดินทาง ไปปฏิบัติภารกิจนอกน่านน้ำไทยร่วมกับกองกำลังนานาชาติ 
    
ภารกิจในครั้งนี้ถือเป็น  “ปฏิบัติการทหารนอกเหนือจากสงคราม” หรือ Military Operation Other Than War (MOOTW) เพื่อแสดงถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับนานาชาติ ในการรักษาความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคที่เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของโลก และเป็นการขยายขอบเขตการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลนอกอาณาเขตของไทยโดยกองทัพเรือ ศักยภาพของกองทัพเรือไทยที่พร้อมจะเดินทางไป “อวดธง” ในทั่วทุกภูมิภาคของโลก
    
ปฏิบัติการของกลุ่มโจรสลัดในอ่าวเอเดนเป็นผล  มาจากความแตกแยกและความรุนแรงภายในโซมาเลีย ผนวกกับความยากจน เสื่อมโทรม จนประเทศมีสภาพเหมือนรัฐที่ล่มสลายและไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้เช่นเดียวกับชาติศิวิไลซ์
    
โจรสลัดโซมาเลียจึงออกอาละวาดและกลายเป็นภัยคุกคามต่อเรือประมงและเรือสินค้าของชาติต่าง ๆ ที่เดินทางเข้าไปในอ่าวเอเดนนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โจรสลัดโซมาเลียมีกำลังมาก กว่า 1,000 คน มีฐานที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แบ่งกำลังออกเป็น 10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มปฏิบัติการโดยอิสระ โดยใช้เรือขนาดเล็กความเร็วสูงเป็นพาหนะในการจู่โจมเข้าประชิดเรือใหญ่ซึ่งเป็นเป้าหมายก่อนจะบุกขึ้นไปบนเรือพร้อมด้วยอาวุธสงครามทั้งปืนอาก้า และจรวดอาร์พีจี รวมถึงวิทยุสื่อสาร หากคนบนเรือต่อสู้ขัดขืนจะถูกสังหาร หรือเรือลำใดพยายามแล่นหลบหนีก็จะถูกยิงเข้าใส่เพื่อบังคับให้หยุดลอยลำ  เมื่อยึดเป้าหมายได้แล้วโจรสลัดโซมาเลียก็จะนำเรือเหล่านั้นกลับเข้าฝั่งเพื่อเรียกค่าไถ่จากเจ้าของแลกกับการได้เรือกลับคืนพร้อมสินค้ารวมทั้งชีวิตของลูกเรือ
    
ปฏิบัติการของโจรสลัดโซมาเลียมีความรุนแรงมากขึ้นจนเป็นที่รู้กันว่าน่านน้ำโซมา เลียในอ่าวเอเดนเป็นน่านน้ำที่มีอันตรายมากที่สุดในโลก เรือสินค้า เรือประมงน้ำลึก เรือบรรทุกสารเคมีจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อียิปต์ เดนมาร์ก เกาหลีใต้ ปานามา ฮ่องกง อิหร่าน รวมทั้งประเทศไทย ต่างเคยตกเป็นเหยื่อของ   โจรสลัดโซมาเลียทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ปฏิบัติการของโจรสลัดโซมาเลียเป็นอุปสรรคต่อการประมงนอกน่านน้ำไทยส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจซึ่งต้องอาศัยการขนส่งสินค้าทางทะเล เป็นหลัก 
    
ที่ผ่านมาเรือประมงและเรือสินค้าไทยตกเป็น เหยื่อของโจรสลัดโซมาเลียมาแล้ว 5 ลำ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท แต่ที่ประเมินค่ามิได้ คือ ความหวาดหวั่นเกรงกลัวอันตรายของเจ้าของเรือประมงและเรือสินค้า ซึ่งอาจไม่กล้าที่จะใช้เส้นทางในอ่าวเอเดนอีกต่อไป อันจะมีผลกระทบต่อการดำเนินการกิจการพาณิชย์นาวีนอกน่านน้ำไทย
    
ด้วยเหตุนี้กองทัพเรือซึ่งมีภารกิจในการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจึงได้เสนอต่อรัฐบาลในการจัดหมู่เรือเดินทางไปให้ความคุ้มครองเรือประมงและเรือสินค้าไทยร่วมกับกองเรือนานาชาติในฐานะ “กองกำลังผสมทางทะเล” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้กองทัพเรือดำเนินการได้ เมื่อวันที่  16 สิงหาคม 2553 ประกอบด้วย เรือหลวงสิมิลัน ซึ่งเป็นเรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ ระวางขับน้ำ 22,000 ตัน และ เรือหลวงปัตตานี ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ระวางขับน้ำ 1,440 ตัน โดยเรือทั้งสองลำมีเฮลิคอปเตอร์แบบ “เบลล์-212” ประจำอยู่บนเรือลำละ 1 เครื่อง สมทบด้วยชุดปฏิบัติการพิเศษ หรือ “ซีลทีม” ซึ่งมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการทั้ง  3 มิติ 
    
ในภารกิจปราบปราม โจรสลัดในครั้งนี้ซีลทีมของกองทัพเรือจะเป็นกำลังติดอาวุธขนาดเล็กเคลื่อนที่เร็ว จู่โจมเข้าสู่เป้าหมายด้วยการโรยตัวจาก ฮ. หรือการใช้เรือเล็กเป็นพาหนะเข้าประชิดเรือใหญ่ ตลอดจนใช้เรือเล็กเข้าตรวจค้นเรือต้องสงสัยขณะที่ ฮ. พร้อมพลแม่นปืนลอยลำอยู่เหนือหัวเพื่อคุ้มกัน หรือหากมีความจำเป็นจะต้องบุกเข้าช่วยเหลือตัวประกัน ซีล ทีมของกองทัพเรือก็มีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจนี้เช่นกัน
    
ในวันที่ 10 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดซึ่งมีกำลังพลทั้งสิ้น 371 นาย ได้ออกเดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบถือเข็มลงใต้อ้อมผ่านสิงคโปร์เข้าสู่ทะเลอันดามันด้านตะวันตก จากนั้นจึงเปลี่ยนเข็มมุ่งสู่อ่าวเอเดนซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายโดยมีระยะเวลาปฏิบัติการทั้งสิ้น 98 วัน
    
หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดของกองทัพเรือได้เริ่มเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา และผู้บังคับหมู่เรือได้รายงานสถานการณ์กลับมายัง พลเรือเอกนิพนธ์ จักษุดุลย์ รอง   ผู้บัญชาการทหารเรือทำหน้าที่ รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ผ่านระบบสื่อสารดาวเทียมทั้งภาพและเสียง โดยมีข้อมูลสำคัญบางตอน ดังนี้  
    
“...หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดของกองทัพเรือได้เข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการแล้ว และได้แยกกันทำการลาดตระเวน โดยเรือหลวงสิมิลันจะคุ้มครองเรือสินค้าและเรือประมงไทย ส่วนเรือหลวงปัตตานีจะลาดตระเวนร่วมกับกองกำลังนานาชาติในเส้นทางแนะนำในการเดินเรือ (International Recommended Transit Corridor:IRTC) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่มีความเปราะบางต่อการจู่โจมของกลุ่มโจรสลัด โดยจะเน้นคุ้มครองเรือสินค้า เรือประมงไทยเป็นลำดับต้น แต่ก็จะให้การคุ้มครองเรือชาติต่าง ๆ พร้อมกันด้วย ขณะเดียวกันได้เชื่อมโยงการสื่อสารกับเรือสินค้าและเรือประมงไทย  ทุกลำที่แล่นเข้ามาในเขตรับผิดชอบ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้ตลอดเวลา พวกเราทุกคนมีขวัญกำลังใจดีเยี่ยม พร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ ในทะเล...”
    
การปฏิบัติการหมู่เรือ ปราบปรามโจรสลัดของกองทัพเรือ ถือว่าเป็นการเปิด ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกองทัพเรือ ในการควบคุมบังคับบัญชากำลังทางเรือที่ อยู่ในทะเลที่ห่างไกลถึงกว่า 4,000 ไมล์ทะเล ด้วยระบบการผ่านทั้งข้อมูล สถานการณ์ในพื้นที่ ประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม โทรศัพท์และระบบรายงานสถานการณ์ในลักษณะทันทีหรือ Real Time ที่ถือเป็นความก้าวหน้าของกองทัพเรือในอันที่จะประสานสอดคล้องและรายงานข้อมูลในภาพรวมและปฏิบัติร่วมเหล่าทัพอื่นและกองทัพไทยได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น
    
นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการถ่ายทอดสดในทะเลเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การแพร่ภาพโดยร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในการรายงานสถานการณ์ สดจากทะเล ซึ่งถือเป็นมิติใหม่และเป็นครั้งแรกที่ปฏิบัติการของกองทัพเรือนอกน่านน้ำไทยมีการถ่ายทอดจากพื้นที่จริงชนิดวันต่อวันโดยทีมข่าวที่เดินทางไปพร้อมกับหมู่เรือเพื่อทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยไม่หวั่นเกรงต่ออันตรายเช่นเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทหารเรือทุกนายที่อยู่บนเรือทั้งสองลำ
    
ในวันนี้ ปฏิบัติการของหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดของกองทัพเรือได้เริ่มปฐมบทแล้ว พร้อมด้วยความมุ่งมั่นแน่วแน่ของลูกนาวีทุกคนบนเรือทั้งสองลำ ซึ่งหลอมรวมใจเป็นหนึ่งเดียวในอันที่จะประกาศเกียรติภูมิของทหารเรือไทยให้โลกได้ประจักษ์ ตลอดระยะเวลาที่ธงราชนาวีโบกสะบัดเหนืออ่าวเอเดนเพื่อให้น่านน้ำที่เต็มไปด้วยอันตรายแห่งนี้กลับคืนสู่สันติสุขอีกครั้ง.

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ / ข้อมูล
ทีมวาไรตี้





ความคิดเห็นที่ 1


อ่าครับรับทราบ และขอเป็นกำลังให้ทหารเรือทุกๆท่าน ขอให้ปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง แล้วกลับมาอย่างปลอดภัยครับ
เอ่อ...คือว่าผมมองหาตั้งนานเลื่อนขึ้นและลงแล้ว   แต่ยังมองไม่เห็น ธงราชนาวีซักผืนเลยครับ
...รึว่าสายตาผมสั้น หรือไม่ก็ตาถั่ว ขอโทษครับผมมองไม่เห็นจริงๆ
โดยคุณ fantom เมื่อวันที่ 21/10/2010 13:52:33


ความคิดเห็นที่ 2


.


โดยคุณ OLDMAN เมื่อวันที่ 21/10/2010 20:21:21


ความคิดเห็นที่ 3


อ่า..ขอบคุณท่าน OLDMAN เห็นธงแล้วครับ แต่ที่เห็นธงบนเรือนั้นสังเกตุเรด้าห์ ฮาพูน ปตอแท่นคู่น่าจะเป็นชั้น นเรศวร นะครับ
รึว่าผมมองผิดอีกละ ยังไงก็ทหารเรือไทย สู้ๆนะครับ *0*/
โดยคุณ fantom เมื่อวันที่ 21/10/2010 22:04:53


ความคิดเห็นที่ 4


เอ่อคุณ fantom ค้า  ผู้กอง ก็ Copy บทความจาก นสพ.เดลินิวส์นะค้า  แต่ไม่ได้เอารูปมาลง เลยไม่มีธงให้เห็น  และตรงหัวข้อที่ว่า เมื่อธงราชนาวีไทยสะบัดเหนืออ่าวเอเดน  ก็Copy  ตรงToppic ของบทความใน นสพ.นะค้า  มันก็ไม่เห็นธงอยู่แล้วนะค้า
โดยคุณ ผู้กองค้า เมื่อวันที่ 21/10/2010 22:46:57


ความคิดเห็นที่ 5


หูยๆๆ...ก็อยากเห็นให้ชื่นใจนี่ครับ ท่านผู้กองค้า เป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยด้วย  อยากเห็นโจรสลัดตาเดียวจัง อ่าวเอเดน/สวนเอเดน
โดยคุณ fantom เมื่อวันที่ 22/10/2010 11:28:51