หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


อยากทราบความแตกต่างของหน้าที่ ของ F16 ทั้ง 3 ฝูงบินครับ

โดยคุณ : bfc_iceman เมื่อวันที่ : 20/11/2010 14:57:11

อยากทราบว่า F16 ทั้งฝูงบิน 102    103  และ 403 นั้น

มีการแบ่งภารกิจกันอย่างไรครับ





ความคิดเห็นที่ 1


ขอขอบคุณ คุณ กบ เป็นอย่างมากครับ สำหรับข้อมูลดีๆ อย่างนี้

 

ครอบคลุม รอบด้านครับ อย่างนี้แล้วทำให้ผมเข้าใจถูกมากขึ้นครับ

 

ขอบคุณครับ

โดยคุณ PINJI เมื่อวันที่ 20/11/2010 03:57:13


ความคิดเห็นที่ 2


เรียนท่านพินจิ....................... คือต้องเท้าความไปถึงต้นกำเนิดความต้องการเครื่องบินเอฟ-๑๖ก่อน เรื่องมีอยู่ว่า...................หลังจากการประเมินผลการรบในสงครามเวียตนาม ทำให้ทัพฟ้าอุษาต้องมาทำการบ้านใหม่    ในเรื่องหลักนิยมการใช้อาวุธ    จะเห็นว่าในหลังสงครามโลกและสงครามเวียตนาม อุษา   มีหลักนิยมการใช้เครืองบินรบขนาดใหญ่ภารกิจอากาศเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็น เอฟ-๑๐๔ เอฟ-๑๐๕  เอฟ-๘ หรือ เอฟ-๔  ซึ่งเมื่อทำภากิจเชิงรุกและต้องประมือกับเครื่องบินป้องกันภัยทางอากาศขนาดเล็กอย่าง มิก-๑๙ หรือ มิก-๒๑  ความได้เปรียบในการใช้อาวุธได้ไม่ได้เป็นต่อมากมาย ส่งผลให้การสูญเสียมีอัตราไล่เลี่ยกัน  คิดคำนวณแล้วได้ไม่เท่ากับเสีย ...........เหมือนเอา อีคลาส หรือ ซีรี่ส์๕ ไปแลกกับ วีออส   อุษาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนหลักนิยม  .................... ซึ่งภารกิจในอนาคตจะเป็นการร่วมปฏิบัติการระหว่างเครื่องใหญ่ราคาแพงกับเครื่องเล็กราคาถูก เพื่อแชร์ และบาลานซ์ ระหว่างความเสี่ยงของภารกิจและต้นทุนราคาค่าเครื่อง................................. จึงเป็นแนวความคิดจัดหา “เครื่องบินขับไล่ขนาดเบาเอนกประสงค์” ซึ่งสามารถทำได้หลายภารกิจ    เบื้องต้น มีสองบริษัทยื่นแผนแบบตัวเองเข้าชิงชัย ได้แก่ เยนเนอรัลไดนามิกส์ ส่ง วายเอฟ-๑๖ เข้าประกวด  และ แมคโดนัล-โดนัท ส่ง วายเอฟ-๑๗ (ซึ่งต่อมาภายหลังถูกพัฒนาเป็น เอฟ/เอ -๑๘ ฮอร์เน็ต และจัดหาใช้งานในทัพเรืออุสา)  ซึ่งที่สุด วายเอฟ- ๑๖ ก็ชนะถูกเลือกนำไปสร้างใช้งาน ควบคู่กับ เอฟ-๑๕ ........... ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้นสามารถค้นคว้าได้ทั่วไป......................

 

ดังนี้ คือหลักการและแนวความคิดในการจัดหาเครื่องบินแบบ เอฟ-๑๖  แม้ว่า โดยต้นเรื่อง เจ้าเหยี่ยวตัวนี้จะถือกำเนินในรูปแบบของ เครื่องบินขับไล่น้ำหนักเบา ราคาถูก    แต่พอเอาเข้าจริง  ครั้นสร้างประจำการ  ปรากฏว่า จากการกำหนดความต้องการของกองทัพ ทำให้เธอต้องกลายเป็นเครื่องบินที่มีน้ำหนักไม่เบาอย่างที่คิด  ถูกติดตั้งด้วระบบเอวิโอนิคส์ในเกณฑ์เทคโนโลยี่ที่สูง  ที่สำคัญ ราคาค่างวดของหล่อน มันไม่ได้ถูกอย่างที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มแรกเลย............................

 

ทีนี้เรามามองที่อีกบริษัทหนึ่ง...................... หลังจากประสบผลสำเร็จอย่างถล่มทลาย ด้วยยอดจำหน่ายเครื่องบินขับไล่ขนาดเบาราคาถูกสำหรับโลกที่สาม อย่าง เครื่องบินในซีรี่ เอฟ-๕  นอร์ธร้อป ก็พยายามพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ภายใต้คอนเซปท์เดิม  เอฟ-๕ จี  หรือ เอฟ-๒๐ ถือเป็นสายเลือดใหม่ที่จนำะเข้ามาทดแทนรุ่นพี่...................

 

ดังนี้เราจะเห็นว่า ระหว่างเครื่องบินรบสองแบบ คือ เอฟ-๑๖ และ เอฟ-๒๐ จะมีแนวความคิดเริ่มต้นในการออกแบบที่เหมือนกัน คือเป็นเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ น้ำหนักเบา ค่าใช้จ่ายต่ำ ราคาถูก  แต่ในความเป็นจริงทั้งสองค่ายต่างมุ่งพัฒนาโดยมีข้อแตกต่างอย่างสิ้นเชิง...................................  รายหนึ่ง เทคโนโลยี่ถูกสร้างเพื่อใช้เองในกองทัพ ส่วน อีกหนึ่ง มุ่งพัฒนาเพื่อส่งออกให้ประเทศด้อยพัฒนา...............นอร์ธร้อป เองก็รู้ดี   จึงเล็งเห็นช่องทางธุรกิจ   ด้วยว่า เอฟ-๑๖ เป็นสินค้าที่ต่างแนวทางการตลาดกับตน ( ไฮเนเก้น กับ ซ่าง สามขวดร่อยซาว )..............

 

เรื่องมันทำให้นอร์ธร้อปต้องเสียมวย  ตรงที่ว่า ในยุคนั้นท่าน จิมมี คาร์เตอร์ ท่านออกแนวไม่บ้าสงคราม เป็นว่าช่วงกลางๆสงครามเย็น จำนวนอาวุธสะสมของนาโต้ ดูเหมือนจะถูกฝ่าย วอซอแผ็ก แซงแบบไม่เห็นฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนทหารประจำการ จำนวนฐานทัพ จำนวนขีปนาวุธติดหัวรบบนบก เรือดำน้ำติดหัวรบนิวเคลียร์  จำนวนรถถังหลัก เครื่องบินรบ  เรียกว่า ถ้าเกร็งผึ่งเหนียงคอเหมือนกิ้งก่าอีกัวน่าแล้วหล่ะก็ วอซอ กินขาด.............................

 

ด้วยดังนี้เหมือนว่านาโต้ ซึ่งมีหัวหแกคือมะกันหรือคุณอสาควรต้องทำอะไรบางอย่าง ......................... การพัฒนากำลังรบเป็นสิ่งต้องรีบทำ ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน .....................สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การพัฒนากองทัพของอุสาเอง และพันธมิตรในเครือนาโต้  อาวุธใหม่ๆเริ่มถูกแจกจ่าย  ฐานทัพทหาร และฐานขีปนาวุธติดหัวรบ  ถูกสร้างและส่งประจำการในที่ล่อแหลม .................................... ดูเหมือนเท่านี้จะยังไม่เพียงพอ.....................ถ้าระบบทุนนิยมที่คอมมูนิตโจมตีนักหนาว่าไม่ดี  กลับกัน ที่ต้องรีดงบประมาณมาโป๊ะกองทัพมหาสารเช่นนี้     ก็เพียงเพื่อรักษาฐานการค้า ในระบอบทุนนิยมชองตัวเองเอาไว้ ..........  ซึ่งว่ากันแล้ว ฐานการค้าเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่แต่ในชาตินาโต้   แต่มีอยู่ทั่วไป..........................ประเทศไทยซึ่งมีประชากรราวสี่สิบแปดล้านคน(ตอนนั้น)  ประชาชนเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของประเทศยังคงเดินถือไถตามควายอยู่ในท้องนา อาชีพหลักของคนในชาติคือกสิกรรม  ขณะที่ศักดินาอาศัยอำนาจเผด็จการทหารเพื่อเป็นเจ้าของกิจการค้า เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ  ขยันสร้างภาพและเสพสุขบนกองทุกข์ นโยบายรัฐคือนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง (เหมือนเพลงชาวนาของ คุณ หงา คาราวาน ที่บรรเลงไว้ตอนเข้าป่า (แต่ไหงตอนนี้ท่านกลับหัวไปเข้าร่วม แถมมีความสุขเป็นเลข69อย่างนี้หว่า))................ 

          อุสาต่อรัฐไทยในมุมมองของผู้ปกครองประเทศ ก็ยังเป็นมิตรที่ต้องได้รับการโอบอุ้ม ด้วยถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองของภูมิภาค  ที่จะทำให้ระบบทุนนิยมของเขาดำรงต่อในย่านนี้ได้..................................ไทยแลนด์ หรือ สยาม เป็นหนึ่งในหลายๆประเทศที่อุสาเข้าไปมีอิทธิพล และผลประโยชน์อยู่อย่างยิ่ง    .................ดังนั้น การเสริมสมรรถภาพกองทัพแก่ประเทศเหล่านี้    ก็เหมือนการสร้างความแข็งแกร่งให้ฐานทุนนิยมของตัวอุสาเองด้วย.......................... เหมือนเป็นการลงทุนทางความมั่นคงที่ง่ายที่สุด  ไม่จำเป็นต้องไปสร้างฐานทัพ ส่งทหารเป็นกองพล อาวุธเป็นกรมเข้าไปประจำการเหมือนในยุโรป หรือ ญี่ปุ่น  .................... แค่ทิ้งอาวุธ  คุณภาพปานกลาง ราคาถูกๆให้มัน  แล้วให้ผู้ปกครองมันเกณฑ์ลูกน้องไปสู้........................แหม่   อุสา ........แ...ม้..........ง   โคตรฉลาด  ไอ้ที่นั่งตาปริบๆอยู่ มีแต่ควายโง่................พับผ่า...................

 

       ไถออกนอกลู่ สีข้างแหกไปแถบนึง................เอ้ากลับมาต่อ.......................ว่าแล้ว  ในยุคของท่าน จิมมี่ คาร์เตอร์    ท่าน โรแนน เรแก้น  หรือท่าน แจ็ค ดอสั้น นี่แหล่ะ จำไม่ได้แล้ว  ....................... สภาคองเกรส ก็มีมติ อนุมัติการขายอาวุธหลายรายการ ซึ่งไม่เคยแจกจ่ายให้กับประเทศนอกกลุ่มนาโต้มาก่อน ..........................หนึ่งในอาวุธเหล่านั้นก็คือ เครื่องบินรบแบบ เอฟ-๑๖ เครื่องบินรบเอนกประสงค์น้ำหนักเบา  สมรรถนะสูงรวมอยู่ด้วย.........................    ด้วยดังนี้จึงเป็นจุดจบ ของอีกโครงการ เพราะประเทศโลกที่สาม สามารถเป็นเจ้าของเหยี่ยวถลาลม ในชั้นคุณภาพเดียวกับกองทัพสหรัฐได้    โครงการ ฉลามเสือ เอฟ-๒๐  จึงด้องพ่ายแพ้และหลบลี้ไป......................

 

สำหรับ เอฟ-๑๖  หย่อนสมรรถนะ ที่ผมกล่าวถึงนั้น คือ  รุ่น เอฟ-๑๖ /๗๙   เป็นรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ เจ-๗๙ ที่มีอยู่ในเครื่องรุ่นเก่าคือ เอฟ-๔    นอกจากชิ้นส่วยที่เป็นเทคโนโลยี่เก่า(ควันด๊ำดำ)แล้ว กำลังเครื่องยนต์ที่ต่ำกว่า ทำให้การดึงวงเลี้ยว ที่ถือว่าเป็นไม้เด็ดและจุดขายของเจ้าเหยี่ยวลดลง       นอกจากนี้ระบบเอวิโอนิคส์อีกหลายรายการก็หย่อนสมรรถนะ จนเรียกได้ว่า ยากที่จะรับได้........................  จบ ละ  จบดีฝ่า...................

โดยคุณ กบ เมื่อวันที่ 20/11/2010 03:04:04


ความคิดเห็นที่ 3


อ้าว!!    ผมเข้าใจผิดมาตลอดเลยครับ    ว่าตอนแรก เราขอซื้อเอฟ - 16 เอ   แต่ คุณอุษา (USA) กลับจะขาย เอฟ-16 รุ่น.... (ผมจำมิได้ครับ ประมาณ 70/90 หรือไรเนี่ยครับ) ประมาณรุ่นเดียวกะ ที่คุณอุษาจะเสนอขายให้ ปากีฯ แต่ทางปากีฯด่ากลับมา ผ่านทาง พณท่าน ชารี วิลสัน นะครับ

 

ส่วน เอฟ -20 เห็นว่าแพ้ เอฟ-16 (จากแทงโก้ นะครับ) เห็นว่ามีหลายประเทศสนใจแต่ทาง คุณอุษา(USA) ไม่ขายและสั่งระงับโครงการหลังแพ้ เอฟ-16 โดยคำสั่งของประธาณาธิบดี USA  ในขณะนั้น หล่ะครับ

 

คือสงสัยจริงๆ อยากรบกวนให้ผู้รู้ ช่วยตอบหน่อยครับว่าผม เข้าใจผิด มากน้อยเพียงใดครับ

โดยคุณ PINJI เมื่อวันที่ 19/11/2010 11:28:18


ความคิดเห็นที่ 4


ขอบคุณ คุณกบ มากครับ สำหรับคำตอบ ครบถ้วนได้ความรู้เพิ่มอีกมากมายเลยครับ

โดยคุณ bfc_iceman เมื่อวันที่ 19/11/2010 02:18:27


ความคิดเห็นที่ 5


ต้องย้อนกลับไปเมื่อสักยี่สิบกว่าปีก่อนครับ...............................

 

เรื่องมีอยู่ว่า ตอนนั้นศัตรูอันยิ่งใหญ่ของเราคือเวียตนาม  ตอนนั้นกำลังทางอากาศเค้าค่อนข้างแข็งแกร่งมาก  คือถ้าว่ากันตามประจำการแล้ว ด้วยจำนวนกว่า ๓๐๐ ตัว  เขามีทีเด็ดอยู่สองรุ่น ตัวแรกคืออมตะนิรันดรกาล มิก-๒๑  ที่เคยใช้สอย เอฟ-๔ และ บี-๒๕ ของไอ้กันเมื่อครั้งสงครามเวียตนาม อีกแบบคือเครื่องทิ้งระเบิด ซู-๒๒ ซึ่งเข้าประจำการหมาดๆในเวลานั้น..............................  มิก-๒๑ เป็นเครื่องสกัดกั้นป้องกันภัยทางอากาศ   ส่วนซู-๒๒ นี่หนักหน่อยล้วงตับทางลึกเราได้.....................

 

               ในขณะนั้นเรามี ไม้เด็ดที่พอใช้ต้านทานได้คือ เจ้าเสือสอง เอฟ-๕ อี และเจ้านักรบอิสระ เอฟ-๕ เอ อยู่ ราว๕๐ตัว........... ถ้าพูดถึงบทบาทการใช้กำลังทางอากาศสกัดกั้นเชิงรับ ด้วยจำนวนและคุณภาพของไฟท์เตอร์ที่เรามีอยู่ถือว่าเพียงพอ.............ด้วยขีดความสามารถของเอฟ-๕อี ที่บินเร็วเหนือเสียง ติดจรวดตามความร้อ น และปืนใหญ่อากาศ สามารถทำการรบได้แม้ในเวลากลางคืนเนื่องจากมีเรดาร์  บวกกับระบบโครงข่ายเตือนภัยทางอากาศภาคพื้นดิน  ทำให้เราสามารถรับมือต่อภัยคุกคามจากการโจมตีด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดและการคุ้มกันจากเครื่องบินคุ้มกันของข้าศึกได้ (มิก-๒๑ ออกแบบเป็นเครื่องป้องกันภัยทางอากาศ รัศมีการรบสั้น ไม่เหมาะใช้ในการบินคุ้มกันการโจมตีมากนัก)  ..................................

 

                   เรื่องมันมาร้อนตรงที่ มีข่าวว่า ทางเวียตนามได้จัดหาเครื่องบิน มิก-๒๓ เข้าประจำการ   เท่านั้นหล่ะครับ ไทยเราถึงกับนั่งไม่ติด เนื่องจากเครื่องบินรบแบบ มิก-๒๓ ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี่ที่ใหม่กว่า  สามารถตรวจจับและสอยเครื่องบินเอฟ-๕ ของเราได้ก่อนเป็นแน่หากต้องมีการประมือกันทางอากาศ..................... เอาหล่ะสิ  นภานุภาพเหนือน่านฟ้าเราเองเริ่มสั่นคลอนแล้ว    เวียตนามจะสามารถนำเจ้านกเหล็กมากร่างบนหัวเราได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า เขาสามรถจะทิ้งระเบิดบนแผ่นดินเราได้โดยที่เอฟ-๕ ของเราไม่สามารถเอาชนะการบินคุ้มกันได้..............................

 

                              ดังนี้จึงเป็นที่มา ของการจัดหาเครื่องบินรบ แบบ เอฟ-๑๖ ซึ่งแสดงไว้ในหนังสือปกขาว (ถ้าเป็นยุคผมสมัยบ่าวแวง จะหมายถึงหนังสือพี่เอกกะน้องแนน นำมาห่อปกขาวเพื่อพลางไม่ให้ผู้ปกครองและอาจารย์เห็น)  เมื่อยุคปี ๒๕๒๘...................

                           ทำไมต้อง เอฟ-๑๖   ถ้าเป็นไปตามความคิดของผม  เอฟ-๑๖ ถือว่าเป็นไฟเตอร์เพียงบบเดียว ที่สามรถเอาชนะมิก-๒๓ ได้อย่างเด็ดขาด โดยมีเงื่อนไขการจัดหาที่เป็นไปได้มากที่สุด ( ถูกที่สุด จ่ายน้อยที่สุด  ซี้ปึ๊กกะคนขายมากที่สุด) .......................... แรกทีเดียว เฮียคนขายแกก็เล่นตั๊วเล่นตัวหรอก  ซึ่งขณะนั้น เอฟ-๑๖ เอ รุ่นประจำการใน ยูเอสแอร์อร์ซ ก็ถือว่า ใหม่ซิงกิ๊กๆอยู่ พี่กันก็หวงเทคโนโลยี่ ทำท่าจะไม่ขาย  อีกทั้งในเวลานั้น มีเครื่องบินอยู่อีกหนึ่งแบบที่กำลังปริ่มจะเข้าสู่สายการผลิต ซึ่งเทคโนโลยี่เทียบเคียงเท่ากันกับมิก-๒๓ นั่นคือเจ้า เอ-๒๐ ฉลามเสือ (แวเรี้ยนของเอฟ-๕) แต่ภายหลังเมื่อไทยยืนกระต่ายขาเดียว ยังไงก็ต้องเอาน้องนางวัยสิบหกมาร่วมหอทำมอสระเอียเมียให้ได้  พี่กันจึงยอมอ่อนข้อ แต่มีข้อแม้คือจะขายในรุ่นลดทอนสมรรถภาพ คือเป็นรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกับเอฟ-๔ และ จำกัดขีดความสามรถของเรดาร์ .................... ไทยร้องงอแง ขี้มูกใสพองเป็นลูกโป่ง นอนชักดิ้นร่าเหมือนเด็กไม่ได้ของเล่นกลางตลาด จนไอ้กันสงสารพอดีกับ นโยบายการการขายอาวุธเปลี่ยนแปลง  สภาคองเกรสจึงอนุมัติขายเอฟ-๑๖ เอ/บี โอซียู ให้เรา สิบสองลำ  ก็เป็นเวลาเดียวกับ โครงการฉลามเสือต้องแบพับไป.............................................

 

นั่นเป็นเรื่องของเอฟ-๑๖ ฝูงแรก ................... ดูเหมือนว่า เราได้เธอมาเพื่อเป็นเครื่องบินป้องกันภัยทางอากาศ ไว้ต่อสู้กับมิก-๒๓ โดยเฉพาะ.....................แต่ในความเป็นจริง ด้วยคุณสมบัติครอบจักรวาล  เธอยังทอยระเบิดได้ยอดเยี่ยม  เมื่อนำมาใช้กับกระเปาะแอตลิส๒ ที่จัดหาเข้ามาใหม่ ทำให้เธอทอยระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ ได้อย่างแม่นยำ ชนิดที่เครื่องบินชนิดที่เรามีก่อนหน้ายากที่จะทำได้ ..........................ด้วยดังนี้ จึงดูเหมือนว่า เอฟ-๑๖ ฝูงแรกของเรา จะเน้นหนักไปยังภารกิจโจมตีในบบขัดขวาง  ซึ่งเมื่อปรากฏว่า ภัยคุกคามจากมิก-๒๓ เป็นเรื่องไก่กา    ดังนั้น การสกัดกั้นทางอากาศด้วยเอฟ-๕ ของเรายังท้าชกได้ไม่กลัวใคร......................

 

 หลังจากได้เหยี่ยวฝูงแรกมาครอง  เศรษฐกิจของไทยดีวันดีคืน จีดีพีโตหลักสิบถึงสองปีซ้อน ด้วยการบริหารประเทศของเจ้าของวาทะโนพล็อบเบล้ม  ทำให้กองทัพอากาศไทยเริ่มคิดกรใหญ่    โดยส่วนตัวผมรู้สึกนิยมหลักแนวความคิดของผู้ใหญ่กองทัพยุคนั้น  เราริ่มที่จะมองหาเครื่องบินรบขนาดใหญ่เพื่อมาเสริมการโจมตีขัดขวางทางลึก ชนิดล้งตับชาวบ้าน เราเคยหมายเอื้อมมือคว้าดอกฟ้า นามว่า ทอร์เนโด ...................... เธอเป็นรุ่นโจมตีทิ้งระเบิด  ซึ่งโครงการนั้นถ้าเป็นจริงจะสร้างความครั่นคร้ามให้แก่ภูมิภาคโดยรอบ............................ ติดแต่ค่าสินสอดไม่พอ สาวเจ้าค่าตัวแพงระยับ แถมใช้จ่ายแพง สุดที่ไอ้ขวัญจะเจียดเงินรายได้ที่พอแค่ยาไส้มาปรนเปรอบำเรอความสุข................................หวยจึงมาออกที่คู่ขาเก่า น้องเอฟ สาว๑๖   ................... แต่คราวนี้เธอได้รับการตกแต่งให้เหมาะกับภารกิจล้วงตับ โดยเฉพาะในรุ่น บี ได้มีการดัดแปลงที่นั่งหลังให้เหมาะสม  ร่วมด้วยการจัดหากระเปาะเดินอากาศกลางคืนแบบรูบิส  ทำให้เธอ เป็นสาวเปรี้ยวจัดจ้านผู้นิยมรับประทานตับหวาน (ปอบ) นาม ไนท์ฟัลคอน.....................

 

วันเวลาผ่านไป ประเทศไทยผ่าพ้นยุคฟองสบู่.............. กองทัพรอบบ้านได้พัฒนากองทัพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สิงคโปร์ และ มาเลย์ ซึ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ และฟื้นได้ก่อนไทย  (เค้าฟื้นได้เร็วเพราะอะไรไม่อยากฟื้นฝอย  แต่ที่แน่ๆ ปรส. ทำหายหลายแสนล้าน แสดงความบัดซบของผู้มีอำนาจในแผ่นดินนี้)  ยังคงมุ่งมั่นสะสมอาวุธพัฒนากองทัพ......................... ในยุคการรบทางอากาศที่ใช้ยุทธวิธี เห็นก่อนยิงก่อน  ทำให้หลักนิยมการรบ และ รูปแบบของอาวุธที่ใช้เปลี่ยนไป...................... กองทัพอากาศไทยคัดเลือกนักเรียนทหาร เข้ารับราชการโดยเลือกจากบุคคลที่มีมันสมองและสายตาไม่บอด  กองทัพจึงได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จนมีการจัดหาไฟเตอร์เจ็ท ที่ได้หมายตาแอบเล็งไว้นานแล้ว นามน้องแตน แสนหวาน เอฟ-๑๘ ซี/ดี   ................ ในการจัดหาครั้งนี้ ยังคงได้รับการเล่นตัวจากผู้ขาย โดยจะไม่ยอมขายจรวดนำวิถีด้วยเรดาร์ระยะยิงปานกลางแบบ แอมแรม ซึ่งเป็นหัวใจในการตัดสินใจเลือกซื้อครั้งนี้มาด้วย .......................... จนที่สุดผู้ขายต้องยอมตามเงื่อนไข เมื่อผ้ซื้อแสดงเจตจำนงแข็งกร้าว หากไม่ได้รับการจัดหาอาวุธยิงพิสัยปานกลางดังกล่าว จะเบี่ยงเบนไปจัดหาเครื่องบินรบ มิราจ๒๐๐๐ ติดอาวุธยิง ไมค่า จากอีกประเทศ.........................

 

               เรื่องเหมืนจะจบเพียงเท่านี้  แต่เหมือนฟ้ฝ่าหัวสุนัข เมื่อรัฐบาลไทยหมดตังค์.....................การตัดงบประมาณกองทัพ ดูจะเป็นเรื่องต้องพิจารณาก่อนลำดับต้นเพื่อความอยู่รอดของชาติ...................โครงการเอฟ-๑๘ ดูเหมือนจะไม่รอดจากประกาศิตนั้น ....................... รัฐบาลไทยจำเป็นต้องขายคืนโครงการ และยินยอมถูกริบเงินมัดจำที่ได้วางไว้ก่อน   ลาก่อนน้องแตนที่รัก......................... สินสอดก็จ่ายไปบ้างแล้ว   เรือนหอก็สร้างแล้ว   แต่ไหง ฟ้าจึงทำให้ไอ้ขวัญต้องตกหม้ายขันหมาก .......................เซียนปืนบอกว่า ปืนขึ้นนกต้องยิง.......................สารขันฑ์ ลงทุนขัดจรวดแล้วหาที่ลงไม่ได้ เห็นทีมันคงจุกอก.................... เพื่อลบรอยขี้ปากชาวบ้าน  แถมยังต้องรีบหาสิ่งมาปรนเปรออารมณ์กรุ่นที่ยังเผาในทรวง  .......................... ว่าแล้วจึงไปคว้าม่ายสาวพราวเสน่ห์  ไม่มีพันธะติด แถมอายุยังน้อย มาขัดตาทับ  เธอคือ น้อง เอฟ-๑๖ ม็อด ในรุ่น เอดีเอฟ  ขีดความสามารถยิงจรวดไกลเกินสายตาแบบแอมแรมได้  ซึ่งต้องปลดจากประจำการด้วยการลดขนาดกำลังทางอากาศของสหรัฐ............................ทางบ้านของเธอมิได้กีดกัน และมิรีรอที่จะปล่อยว่าที่เจ้าสาว คือทั้งลดแลกแจกแถม พร้อมข้าวสารมาให้อีกสองทะนาน ด้วยหวังให้สมสุขในการครองเรือนเป็นครั้งที่สอง   ............................ ด้วยดังนี้ เราจึงมีสาวเปรี้ยวที่เฉิดฉายเป็นจุดเด่นเมื่อได้เดินควง  ด้วยเธอเป็นม่ายสาวที่พราวเสน่ห์ ตัวเล็กแต่เจนประสบการณ์ ไม่ว่าวิวบนหรือวิวล่าง และในทุกๆมุม...................ดังนั้น แล.......................

โดยคุณ กบ เมื่อวันที่ 18/11/2010 11:12:13


ความคิดเห็นที่ 6


สงสัยป๋ากบพิมพ์ผิดระหว่างเลข B-25กับ B52

โดยคุณ nok เมื่อวันที่ 18/11/2010 11:23:04


ความคิดเห็นที่ 7


ฮ่าาาา ชอบสไตล์บทความแบบนี้จัง กดไลท์ เลย 555

โดยคุณ KoHZaNoVSkI เมื่อวันที่ 18/11/2010 13:53:01


ความคิดเห็นที่ 8


คุณกบเขียนแล้วอ่านสนุกดีครับ 

ลีลาสำนวนแพรวพราว

โดยคุณ toeytei เมื่อวันที่ 18/11/2010 19:12:35


ความคิดเห็นที่ 9


เล่าซะเห็นภาพซ้อนเลย ภาพสาวสวยเอวบางร่างเล็กซอนเข้ามาในรูป F-16

โดยคุณ เด็กทะเล เมื่อวันที่ 18/11/2010 22:20:57


ความคิดเห็นที่ 10


^

^

^

^

หื่นไม่แคร์สื่อตัวจริงTongue out

โดยคุณ nok เมื่อวันที่ 18/11/2010 22:40:53


ความคิดเห็นที่ 11


ขอบคุณครับ อ่านแล้วสนุกดีครับ

ถ้ามีรูปประกอบหน่อยนี่จะครบถ้วนมากๆ

โดยคุณ BC_1980 เมื่อวันที่ 18/11/2010 19:42:06


ความคิดเห็นที่ 12


^

^

จริงๆ รูป ไม่จำเป็นหรอกครับ เพราะท่านกบบรรยายจนเห็นภาพไปแล้ว

 

....ผมเองก็ปวารนาตัวเองเป็นแฟนบทความ (เรียกบทความก็แล้วกัน) ในสไตล์ฮาๆ ของท่านกบมานาน

 

ขอบคุณครับ

โดยคุณ terdkiet เมื่อวันที่ 18/11/2010 21:52:15