 |
มิสไซล์ อาร์-27 ของรัสเซีย ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นแบบของมิสไซล์ บีเอ็ม-25 ของเกาหลีเหนือ |
|
 |
 |
เอเอฟพี - หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เชื่อว่า อิหร่านได้รับขีปนาวุธศักยภาพสูงมาจากเกาหลีเหนือ ซึ่งสามารถใช้โจมตีได้ไกลถึงยุโรป หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงาน ข้อมูลลับจากเอกสารที่วิกิลีกส์นำมาเปิดโปง วานนี้ (28)
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน ของอังกฤษ รายงานว่า เอกสารลับดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของนักการทูตสหรัฐฯ ซึ่งกำลังกดดันจีนให้ขวางการขนส่งมิสไซล์จากเกาหลีเหนือไปยังอิหร่าน
ทางด้านสื่อสหรัฐฯ ฉบับดังกล่าว ซึ่งอ้างอิงข้อมูลทางการทูตเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รายงานว่า "การประเมินสถานการณ์ของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ สรุปได้ว่า อิหร่านได้รับขีปนาวุธศักยภาพสูง ซึ่งมีต้นแบบมาจากมิสไซล์ของรัสเซีย"
เกาหลีเหนือส่งมอบขีปนาวุธ ซึ่งพัฒนามาจากมิสไซล์ อาร์-27 ของรัสเซียให้อิหร่านจำนวน 19 ลูก ข้อมูลลับจากวิกิลีกส์เผย อีกทั้งยังระบุว่า "อิหร่านมีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการค้นคว้าเทคโนโลยีการสร้างขีปนาวุธ รุ่นใหม่"
"ขีปนาวุธของโสมแดง รุ่น บีเอ็ม-25 สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้" นิวยอร์กไทม์ส รายงาน พร้อมทั้งระบุว่ามีพิสัยการยิงไกลกว่า 3,000 กิโลเมตร
"ในทางทฤษฎี หากยิงจากอิหร่าน มิสไซล์รุ่นดังกล่าวสามารถยิงได้ไกลถึงยุโรปตะวันตก อย่าง กรุงเบอร์ลิน หากตั้งเป้าไว้ทางตะวันออกเฉียงเหนือ มิสไซล์ดังกล่าวสามารถยิงได้ไกลถึง กรุงมอสโก"
"เอกสารที่รั่วไหลครั้งนี้ระบุว่า อิหร่านไม่เพียงได้รับ มิสไซล์ บีเอ็ม-25 จากเกาหลีเหนือ แต่ยังมองหาเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อการค้นคว้าออกแบบ และสร้างขีปนาวุธรุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพทำลายล้างรุนแรงมากยิ่งขึ้น" หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงาน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังไม่สามารถยืนยันได้ ว่า เกาหลีเหนือมีเทคโนโลยีสูงพอที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในหัวรบมิสไซล์ได้ หรือไม่
จากรายงานฉบับดังกล่าว เดอะการ์เดียน อ้าง "ข้อมูลลับ" ทางการทูตเมื่อปี 2007 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่แจ้งไปยังทางการจีน เกี่ยวกับการขนส่งส่วนประกอบของขีปนาวุธผ่านทางกรุงปักกิ่ง และต้องการให้จีนขานรับ และขัดขวางปฏิบัติการครั้งนั้น
"ทางการสหรัฐฯ เชื่อว่า เกาหลีเหนือและอิหร่านจะพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธให้มีศักยภาพรุนแรงยิ่งขึ้น และมีความพยายามขนส่งอาวุธผ่านดินแดนจีน" เอกสารดังกล่าวระบุ
ทั้งนี้ มีการระบุรายชื่อเที่ยวบิน 11 เที่ยวบินที่ต้องสงสัยว่าขนส่งขีปนาวุธจากโสมแดงไปยังอิหร่านผ่านทางสนามบิน ในกรุงปักกิ่ง โดยสายการบินพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ
อนึ่ง กระทรวงต่างประเทศของจีนยังไม่ได้แสดงท่าทีแต่ใดๆ ออกมา หลังจากนักข่าวเอเอฟพีขอความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว
จีนเป็นพันธมิตรสำคัญของทั้ง อิหร่าน และเกาหลีเหนือ โดยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของอิหร่าน และคอยให้การสนับสนุนเกาหลีเหนือเสมอมา
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน รายงานว่า ทางการจีนอ้างว่า จากการสืบสวนกรณีดังกล่าว ไม่พบหลักฐานการส่งมอบขีปนาวุธตามคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ แต่เอกสารลับฉบับนี้ยืนยันว่า "การขนส่งขีปนาวุธได้เกิดขึ้นจริง และยังคงมีการดำเนินการผ่านทางกรุงปักกิ่งในปัจจุบัน"
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9530000168359
|