ผ่าแผนช็อปอาวุธ10ปีกองทัพ งบทะลุล้านล้าน-ผุด 2 กองพล! คมชัดลึก : การเมือง : รายงานการเมือง
วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
คมชัดลึก : ด้วยระดับความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ที่กลุ่มเสื้อแดงค่อนขอดมาโดยตลอดว่า เป็น "รัฐบาลในค่ายทหาร" จึงถูกอีกฝ่ายโจมตีมาหลายปีแล้วว่า สัดส่วน "งบประมาณ" ของกองทัพมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการต่างตอบแทนให้กองทัพ
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ตั้งธงชัดมาตั้งแต่ปีก่อนแล้วว่า
กองทัพควรมีงบประมาณในสัดส่วน 2% เมื่อเทียบกับจีดีพี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพให้ทัดเทียมกับ "เพื่อนบ้าน"
เมื่อธงของพี่ใหญ่ในกองทัพสะบัดแรงขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่ในการจัดทำ "ร่างแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563 (Modernization Plan : Vision 2020)" จะมีแผนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ขนานใหญ่
แผนดังกล่าวได้กำหนดความต้องการโครงการพัฒนา และจัดหายุทโธปกรณ์หลัก แบ่งเป็น ความต้องการระดับสูงสุด 332 โครงการ วงเงิน 1,307,731.413 ล้านบาท และความต้องการระดับต่ำสุด 301 โครงการ วงเงิน 770,392.413 ล้านบาท
งบส่วนนี้ยังรวมถึงการจัดตั้งหน่วยทหารขนาดใหญ่ในระดับ "กองพล" ถึง 2 กองพลด้วย นั่นคือ กองพลทหารราบที่ 7 (พล.ร.7) ที่ จ.เชียงใหม่ และกองพลทหารม้าที่ 3 (พล.ม.3) ที่ จ.ขอนแก่น
น่าสนใจว่า ทั้ง 2 กองพลถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวงจากกลุ่มคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย ว่า เป็นหน่วยเฉพาะกิจเพื่อไล่ล่าเสื้อแดง เพราะที่ตั้งของกองพลอยู่ในพื้นที่ "สีแดงจัด" ทั้งภาคเหนือ และภาคอีสาน
แต่วงในกองทัพยืนยันว่า เหตุผลในการจัดตั้งทั้ง 2 กองพลไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองในประเทศ หากแต่เป็นการเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อถ่วงดุลอำนาจเพื่อนบ้าน "ฝั่งตะวันตก" และเพื่อป้องปรามเพื่อนบ้าน "ฝั่งตะวันออก"
เขาเริ่มอธิบายจากฝั่งตะวันตกก่อนว่า จากการประเมินภัยคุกคามทางด้านทิศตะวันตก ตามเอกสารทบทวนยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2553
การพัฒนากองทัพของเพื่อนบ้านมุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถโดยให้ความสำคัญกับ "ระบบป้องกันภัยทางอากาศ" สำหรับ "เมืองหลวงใหม่"
ที่สำคัญยังมีข่าวการพัฒนา "โครงการนิวเคลียร์" โดยได้รับเทคโนโลยีจากรัสเซีย และเกาหลีเหนือ พร้อมจัดสร้าง "อุโมงค์ลับ" ตามแนวชายแดนนับร้อยอุโมงค์ ซึ่งอาจเป็นศูนย์บัญชาการทางทหารสำรอง หรือที่เก็บอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
"ประเทศนี้มีค่าใช้จ่ายทางทหารเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ของจีดีพี เชื่อว่าในห้วง 4 ปีหลัง ได้ใช้งบประมาณทางการทหารไปถึงร้อยละ 20 ของจีดีพี"
การพัฒนากองทัพของเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้อำนาจ "กำลังรบเปรียบเทียบ" ของกองทัพบกทั้ง 2 ประเทศในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 (ทภ.3) ตามโครงสร้างปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป
ประกอบกับหน่วยระดับกองพลที่มีอยู่ คือ กองพลทหารม้าที่ 1 (พล.ม.1) ต้องแบ่งกำลังรับผิดชอบพื้นที่ทั้งฝั่งตะวันออก (ตอนบน) และฝั่งตะวันตก
ขณะที่ กองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร.4) ต้องรับผิดชอบชายแดนตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคตะวันตก และยังมีการแบ่งกำลังลงไปปฏิบัติภารกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ดังนั้นจึงมีการจัดตั้ง พล.ร.7 ขึ้นมา โดยเป็นแผนระยะยาวตั้งแต่ปี 2554-2568
ที่สำคัญ คือ ใช้งบแค่ 47 ล้านเศษๆ เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงอาคาร สิ่งปลูกสร้างเดิมของ พล.ร.4 และไม่ใช่กองพลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกำจัดเสื้อแดงแต่อย่างใด
ส่วนเหตุผลในการจัดตั้ง พล.ม.3 ก็เช่นกัน คือเป็นการจัดตั้งหน่วยดำเนินกลยุทธ์ในระดับกองพลที่มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ มีเกราะป้องกัน และอำนาจการยิง กำลังชน สำหรับป้องกันประเทศ
ขณะที่การจัดตั้งหน่วยก็ใช้หลักการเดียวกับ พล.ร.4 คือ การปรับปรุง และพัฒนาหน่วยทหารม้าที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) เพื่อประหยัดงบประมาณ และสามารถจัดตั้งหน่วยได้ในระยะเวลาอันสั้น
โครงสร้างของ พล.ม.3 จะมีกำลังรบหลักจำนวน 2 กรมทหารม้า โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 4 ระยะ เวลาดำเนินการ 10 ปี (2554-2563) และจัดตั้งอีก 1 กรมทหารม้า
ส่วนการดำเนินการในระยะสุดท้ายจะดำเนินการในห้วงปี 2564-2568 แบ่งการดำเนินการเป็น 6 ระยะ เวลาดำเนินการรวม 15 ปี (2554-2568)
วงในกองทัพย้ำเสียงหนักแน่นว่า การจัดตั้ง พล.ม.3 ไม่ได้เกี่ยวกับเสื้อแดง แม้ผู้ที่มีแนวคิดริเริ่มจะเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แต่เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศในระยะยาว สังเกตได้จากแผนจัดตั้งกองพลที่ใช้เวลานานถึง 15 ปี
ด้านแผนการจัดหายุทโธปกรณ์หลักของแต่ละกองทัพที่น่าสนใจ เริ่มจาก "กองทัพบก" ซึ่งที่ถูกจับตามองมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นโครงการจัดหายานเกราะล้อยางรุ่นบีทีอาร์ 3 อี 1 หรือ "รถเกราะยูเครน" เฟสที่ 2 จำนวน 121 คัน วงเงินเกือบ 5,000 ล้านบาท
"กองทัพเรือ" อาจมีโครงการจัดหา "เรือดำน้ำ" ซึ่งกองทัพเรือเสนอความต้องการมานาน แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงไม่ได้รับการอนุมัติ นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงเรือหลวงจักรีนฤเบศร การจัดหาเรือฟริเกต ฮ.ประจำเรือ เครื่องบินโจมตีผิวน้ำ ฯลฯ
"กองทัพอากาศ" มีโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ 18 ก/ข (กริพเพน) (ระยะที่ 2) 6 เครื่อง วงเงิน 16,222 ล้านบาท รวมทั้งโครงการปรับปรุงขีดความสามารถ (อัพเกรด) เครื่องบินเอฟ 16 จำนวน 6 ลำ วงเงิน 6,900 ล้านบาท
นี่คือโครงการขนาดใหญ่ที่จะเป็น "ไฮไลท์" ที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลรุมถล่มอย่างแน่นอน ก่อนที่การจัดทำงบประมาณปี 2555 จะเสร็จสิ้น ซึ่งต้องติดตามกันว่า พลังอำนาจของกองทัพจะต่อรองให้งบที่ชงไปสูงสุดทะลุหลัก "ล้านล้าน" ถูกตัดไปมากน้อยขนาดไหน
ทีมข่าวความมั่นคง
คมชัดลึก
ตั้งแต่ปฏิวัติมา กองทัพก็ใด้เสริมศักยภาพใด้อย่างเต็มที่ ก็ดีแล้วครับในระยะ20ปีที่ผ่านมาการจัดหากะท่อนกะแท่นใด้แต่ของ มือสองเก่าๆมา จากนี้ไปศักยภาพการต่อรองด้านการต่างประเทศน่าจะสูงขึ้น
เห็นด้วยเช่นเดียวกัน.....................คิดดีแล้วจึงโหวต
รถ 5,000 ล้าน ไม่แพง
เสียเปล่าไปกับโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน(ล้มเหลว)....เป็นหมื่นล้าน
ไม่เห็นแปลกตรงไหน ปกติงบกลาโหมก็ปีล่ะ 150,000 ล้านบาืท ขึ้นอยู่แล้ว * 10 ก็เกินล้านล้าน ก็อยู่ครับ เป็นงบปกติ อีกอย่างค่าเงินมันก็เฟ้อเรื่อย ๆ ปีสุดท้ายๆ กองทัพอาจจะได้งบ 250-300,000 ล้่านบาท / ปี ก็ได้
ไม่แปลก ผมประชาชนผู้เสียภาษี ขอสนับสนุนกองทัพในการดำเนินที่ถูกต้อง เห็นควร โปร่งใส ครับ
อิอิ กองทัพเข้มแข็ง ประชาชนก็อุ่นใจ
ขอเพียงมีการจัดซื้อที่โปร่งใส จะได้เชียร์อย่างสบายใจ
ยานเกราะล้อยางรุ่น BTR3E-1 หรือ "รถเกราะยูเครน" นี่มันทนระเบิดพวก IED เหมือนรถยนต์หุ้มเกราะ REVA 4x4 ได้หรือไม่ครับ ?
การตั้งงป.กลาโหมมันผิดตรงใหน? ขอเพียงแต่ขอให้การจัดซื้อจัดหานั้นทำโดยสุจริตกันจริงๆ ผมว่านักข่าวหรือคนที่มุ่งโจมตีนั้นคอยเกาะติดหรือตรวจสอบหรือเสนอตัวเป็นผู้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดหาอย่างใกล้ชิดดีกว่า อย่าเพิ่งออกตัวกันแรงหรือดังที่โบราณว่าติเรือทั้งโกลน อย่างอบต.แต่ละที่สร้างอะใรที่อภิมหาอลังการณ์ หรือสร้างอะใรธรรมดาๆแต่ราคามหึมา เครื่องบินที่ซื้อแล้ว(หลายลำด้วย)ยังต้องจอดอยู่ที่ต่างประเทศเพราะเก้าอี้ที่สั่งไปมีปัญหา หรือเดรื่องบินที่ผ่านกระบวนการจัดซื้อมาแล้วพอเอามาบินจริงทำอย่างใรๆก็ไม่ใด้ทุนคืนเสียที จนตอนนี้ก็ประกาศขายแบบไม่สนใจทุน รถ-เรือดับเพลิงที่มีปัญหา อะใรๆที่ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ใด้จริง หรืออะใรที่เสียตังค์สร้างมาอย่างแพงแต่พังใวกว่าเวลาอันสมควร ข่าวเช่นนี้ก็มีให้ติดตามเหมือนกันนะครับ
ทั้งหมดจัดไปตามนั้นเลยครับ ...
ปล.อาศัยตอนกำลังมีปัญหา ซื้อตอนนี้ดูถ้าคนค้านน้อย..เหอะๆ
อยากเห็นกองทัพเรือได้งบ พอๆกับกองทัพบกกับเค้ามั้งจังเลย
อิอิ กองทัพเข้มแข็ง ประชาชนก็อุ่นใจ ขอเพียงมีการจัดซื้อที่โปร่งใส จะได้เชียร์อย่างสบายใจ |
โดยคุณ : chaisoi3 วันที่ : 2011-02-02 00:0
เห็นด้วยครับ ขอเพิ่มอีกนิด ของที่จัดซื้อมาขอให้มีคุณภาพใช้ได้จริงแล้วเป็นประโยชน์ต่อกำลังพลด้วยครับ |
2% ยังน้อยไป น่าจะซัก 2.5%
สนับสนุนครับ แต่ต้องโปร่งใส และอาวุธมีคุณภาพ
งบแค่นี้/ปี แต่ทำให้อุ่นใจ ยังไงก็เห็นด้วย ของที่มีอยู่ชักเก่าเต็มทีแล้ว
ยังคงรอเครื่องบินรบแบบสองเครื่องยนต์อยู่
ในแผนดังกล่าวก็น่าดีใจที่งบพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น แต่ผมก็กังวนว่ามันจะซ้ำรอยอย่าง GT200 กับ เรือเหาะ ในการจัดหาอาวุธ
เห็นด้วยครับ กับงบกองทัพที่ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี
เห็นด้วย.....แต่ต้องโปร่งใส....เหมือนการจัดหาJAS39ของทอ.นะครับ...สนับสนุนเต็มที่
ถึงวันนี้แล้ว(04/02/54 15.00+)ผมว่าไม่ซื้อก็ดี ซื้อแล้วก็ไม่ได้ใช้!!!...
ปล.ดีนะที่เลยวันไหว้มาแล้ว ไม่งั้นคงไม่กินเป็ด?? ^0^
อีกสิบปีข้างหน้ากองทัพเรือควรจะมีเรือดำน้ำได้แล้ว
ผมทำงาน อบต. ถึงแม้จะเป็นหน่วยงานใหม่แต่ก็มีภารกิจรับใช้ปวงชนเหมือนกัน การที่คนบางคนพูดว่าทำงานน้อยใช้เงินเยอะ กรุณาระบุมาเลยที่ไหน ใจเขาใจเราเถิดครับ
สำหรับกองทัพผมหนุนเต็มที่ มีนิวเคลียร์ได้ยิ่งดี ผมชอบ