คมชัดลึก : โครงการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง รุ่น "บีทีอาร์ 3 อี 1" จากประเทศยูเครน เฟสที่ 1 จำนวน 96 คัน และเฟสที่ 2 จำนวน 121 คัน รวมวงเงินงบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท เป็นอีกโครงการของกองทัพบก (ทบ.) ที่ถูกจับตามองเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อมากที่สุด
เพราะหลังจากการอนุมัติในสมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2551 การส่งมอบรถยูเครนเฟสแรก 96 คัน ก็มีอันเลื่อนแล้วเลื่อนอีกมาตลอด แม้จะมีการวางเป้าหมายว่า จะมีการส่งมอบในปี 2553 แต่ก็ส่งมอบได้เพียง 2 คันเท่านั้น
ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดใจกับทีมข่าว "คม ชัด ลึก" เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รับตำแหน่ง โดยยืนยันหนักแน่นว่า ขั้นตอนทุกอย่างไม่ได้ล่าช้า และเป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับยูเครนทุกประการ
การเข้ามาของรถเกราะ 2 คันแรก เมื่อปลายปี 2553 ถือเป็นลอตแรก เพื่อนำมาทดสอบสมรรถนะว่า ต้องมีการปรับปรุงอะไรบ้าง ซึ่งทบ.ได้กำหนดหัวข้อในการปรับปรุงต่างๆ ไปเรียบร้อยแล้ว
ต่อมา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 จึงมีการส่งลอตที่ 2 มา จำนวน 12 คัน รวมเป็น 14 คัน ซึ่งทางบริษัทได้แก้ไขในส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเราดูแล้วยังไม่พอใจ
"ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการทดสอบของหน่วยที่ใช้งาน คือ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ซึ่งเป็นหน่วยพร้อมรบยานเกราะ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการฝึกการข้ามเครื่องกีดขวาง การใช้อาวุธ การบังคับป้อมปืน การฝึกพลขับ การฝึกพลประจำรถ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการถ่ายทอดยุทโธปกรณ์ดังกล่าวเพื่อให้กำลังพลชุดแรกเข้าใจ" ผบ.ทบ.กางปฏิทินฝึกรถยูเครน
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาได้ส่งกำลังพลไปเรียนที่ประเทศยูเครน ระหว่างนี้อยู่ในช่วงการทำความคุ้นเคย โดยมีเจ้าหน้าที่เราและเจ้าหน้าที่ยูเครน บริษัทมาฝึกร่วมกัน ทั้งการขับเคลื่อน
"ที่ผ่านมามีการทดสอบการวิ่งกลางคืน การใช้อาวุธในเวลากลางคืน รวมถึงการลงน้ำ ซึ่งผ่านขั้นตอนตามมาตรฐานทั้งหมดตามสัญญาที่เขียนไว้"
พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า การทำสัญญาไม่ใช่ว่าไปซื้อของแล้วได้ของมาก็จบ แต่มีข้อตกลงว่า จะต้องมีการถ่ายทอดในเรื่องเทคโนโลยี รวมถึงการซ่อมแซม ซึ่ง 2 คันแรกที่ส่งมา เราได้ส่งไปไว้ที่หน่วยซ่อมบำรุงของกรมสรรพาวุธทหารบก จ.นครสวรรค์ เพื่อถอดประกอบ โดยรื้อ 2 คันแรกออกเป็นชิ้นๆ ทั้งเกียร์ และเครื่องยนต์ รวมถึงระบบขับเคลื่อนเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการซ่อมสร้างในอนาคต
ส่วนอีก 12 คันที่เหลือ ประจำอยู่ที่ พล.ร.2 รอ. เพื่อทำการทดสอบเพื่อให้เป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนที่จะมีการตรวจรับ ซึ่งตนได้ตรวจสอบไปยัง พล.ร.2 รอ. ก็ตอบรับมาว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่เรากำหนดไปทั้งสิ้น
"อย่างเรื่องการลงน้ำ ที่ไม่ต้องมีการติดตั้งเครื่องประกอบอื่นใด สามารถลงน้ำได้เลย ซึ่งไม่ใช่ทุกยี่ห้อที่จะลงน้ำได้เลย รวมถึงการใช้อาวุธในเวลากลางคืนก็มีความแม่นยำมาก" พล.อ.ประยุทธ์ การันตีประสิทธิภาพ
หลังจากทำความเข้าใจและฝึกฝนเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการตรวจรับของคณะกรรมการกองทัพบก และคณะกรรมของ พล.ร.2 รอ.ด้วย จากนั้นจะเป็นการทยอยส่งที่เหลือมา โดยจะใช้ตามมาตรฐานเดียวกัน โดยจะสิ้นสุดในเดือนมกราคม 2555 ประมาณ 100 กว่าคัน
พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความมั่นใจว่า อยากจะเรียนว่า ไม่ต้องเป็นห่วง กองทัพบกเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์ และพยายามจะเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะซื้อได้เมื่อไร ซึ่งการใช้งานมีอายุยาวนาน 10-15 ปี เมื่อเรามีเงินเท่านี้ และได้ของระดับนี้ ก็ถือว่าเป็นมาตรฐานที่น่าพอใจ เพราะเรามีทั้งรถ และเครื่องยนต์ที่เราเลือกได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีบริษัทไหนที่ให้เราเลือกถึงขนาดนี้ในราคาเดียวกัน
ส่วนระบบต่างๆ ก็ถือว่าเป็นมาตรฐาน ทั้งระบบขับเคลื่อนที่เป็นระบบ "อัตโนมัติ" ซึ่งทั้งหมดผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ตน หรือใครเป็นผู้พิจารณาเพียงคนเดียว
"ในการดำเนินงานจะต้องหาสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเราจะต้องใช้ยุทโธปกรณ์ดังกล่าวในเวลาที่ยาวนาน เพราะเราไม่มีงบประมาณมากมาย การได้มาถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กองทัพ เพราะเดิมทีเรามีเอ็ม-13 ซึ่งขณะนี้มีอายุใช้งานนานพอสมควร
"เราพยายามทำให้ดีที่สุด ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยและกองทัพบก อยากให้สบายใจว่าการจัดซื้ออาวุธเรามุ่งหวังให้มีการซ่อมและพัฒนา ขอให้มั่นใจศักยภาพของกองทัพไทยในการดูแลอธิปไตยของประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวย้ำถึงประโยชน์ของยานเกราะว่า จุดประสงค์ของยานเกราะ คือ การนำกำลังพลทหารราบเข้าถึงที่หมายโดยเร็วที่สุด ลดการถูกยิงจากฝ่ายตรงข้าม เพราะปัจจุบันมีอาวุธร้ายแรงมากขึ้น การเข้าที่หมายจะต้องใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดและปลอดภัยที่สุด
"เมื่อทดสอบเรียบร้อยแล้ว และมีการส่งมอบ เราจะมีการสาธิตศักยภาพและสมรรถนะของยานเกราะเพื่อให้หายกังวล โดยจะจัดขึ้นโดยระยะเวลาอันใกล้ แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน เพียงแต่ต้องรอตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ทุกขั้นตอนเราทำด้วยความรอบคอบ เราไม่กล้าเสี่ยง เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ต้องอยู่กับกองทัพอีกนาน และถือเป็นชื่อเสียงเกียรติยศของทหารเราด้วย"
ถือเป็นคำมั่นและสัญญาลูกผู้ชายของ ผบ.ทบ.ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า คนไทยจะได้เห็นเขี้ยวเล็บของยานเกราะยูเครนในเร็ววันแน่นอน
ทีมข่าวความมั่นคง
งดประเด็นการเมืองและประเด็นการพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาในขณะนี้ด้วยครับ
บีทีอาร์ 3 อี 1 ตกลงเราซื้อมาแทน M-113 หรือเราซื้อเพราะ กองทัพเราไม่มี รถประเภทนี้ใช้งานครับ
เรามีM113 ใช้งานครับโดยวิสิยทัศน์ของ กองทัพบกเห็นว่าควรจะย้ายM113 ที่อยู่ในหน่วยทหารราบยานเกราะ ที่อยู่ณ.พล.ร.2ค่ายพรมโยธี จ.ปราจีนบุรี และหน่วยอะไรจำไม่ได้ ที่เป็นหน่วยทหาราบยานเกราะเหมือนกันที่อยู่แถวสระแก้วที่เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ พล.ร.2 ซึ่งBTR3E1 ต้องไปอยู่ที่สระแก้วนี่แน่นอนส่วนหนึ่งครับ ไปไว้ในหน่วยที่อยู่ห่างออกมาจากชายแดน อย่าง ร.21 จังหวัดชลบุรี และทดแทนด้วย รถ APC อย่างBTR3E1 ซึ่งมีความคล่องตัวสูงกว่า รถAPC แบบ M113 ที่เป็นสายพานและสิ่นเปลืองเชื้อเพลิงเยอะกว่า รถเกราะล้อยางแบบBTR3E1 ที่มีความคล่องตัวสูงกว่าเพราะเป็นล้อยางและปัจจุบันนี้ถนนหนทางที่ไปสู่ชายแดนมึความสะดวกสบายขึ้น ดังนั้นรถตีนตะขาบจึงดูไม่จำเป็นเท่าไหร่ เพราะพื้นที่ไม่ทุระกันดารเหมือนสมัยก่อนครับ