สถานการณ์ชายไทยกับกัมพูชาด้านเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ ยังไม่สงบ หรือหยุดยิงถาวร มีเสียงปืนปะทะกันตลอดเวลา ซึ่ง ณ วันนี้ ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าเสียงปืนที่ปะทะกันแบบเล็ก ๆ จะหยุดสงบนิ่งลงเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชายแดนไทยกับกัมพูชาจะไม่สงบจริง ทางกองทัพไทยก็มีขีดความสามารถพร้อมเต็มร้อย ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ในการปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ
จากเหตุการณ์ความไม่สงบตามชายแดนประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่ทางซีกด้านไหน ทางกองทัพไทย โดยเฉพาะ “กองทัพบก” มีส่วนช่วยในการคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกองทัพบกนั้น มีส่วนในการสนับสนุน ผลักดัน ให้กองทัพบกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชามีการปะทะกันของทหารจากทั้งสองประเทศ ทำให้หลายฝ่ายย้อนกลับไปมองถึงวันเก่า ๆ ในอดีต ใช่ว่าประเทศไทยจะไม่เคยรบกับประเทศเพื่อนบ้าน ชายแดนฝั่งตะวันตกก็เคยปะทะกับประเทศพม่า ชายแดนที่ติดกับประเทศลาวก็เคยปะทะกันที่สมรภูมิบ้านร่มเกล้า ซึ่งครั้งนั้น ฝ่ายไทยยิงจนกระสุนหมดคลัง ด้วยเหตุนี้เองการปะทะกันครั้งนี้ของไทย-กัมพูชา หลายฝ่ายมองว่า อาจจะยืดเยื้อนานไปแล้วจะทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไทยมีอยู่ไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุนี้ จึงจะพาท่านไปเจาะลึกข้อมูล และรู้จักกับหน่วยงานที่สนับสนุน และเป็นแหล่งผลิตพลังงาน อานุภาพ และแสนยานุภาพ นั่นคือ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (ศอพท.) หน่วยขึ้นตรงสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมีหน่วยขึ้นตรงต่อ ศอพท.อีก 4 หน่วยงาน ได้แก่
1.กรมการพลังงานทหาร (พท.ศอพท.) รับผิดชอบในส่วนของการวางแผน วิจัย พัฒนา จัดหา และสะสมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และการพลังงานอื่น ๆ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียม ภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
2.โรงงานเภสัชกรรมทหาร (รภท.ศอพท.) มีหน้าที่ผลิต วิจัยยา และเวชภัณฑ์ อีกทั้ง จำหน่ายให้กับส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการอื่น รวมถึงประชาชน
3.กรมการอุตสาหกรรมทหาร (อท.ศอพท.) มีภารกิจหลักในการวางแผน และดำเนินการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับราชการทหาร ตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานแบตเตอรี่ทหารและโรงงานวัตถุระเบิดทหาร (รวท.อท.ศอพท.) สำหรับโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ ถือเป็นโรงงานที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะการผลิตดินส่งกระสุน จากการที่กองทัพมีประสบการณ์ในการขาดแคลนกระสุนปืนที่ใช้ในการรบ เมื่อครั้งสงครามสมรภูมิบ้านร่มเกล้า ทำให้ทางกองทัพได้เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงจุดนี้ ที่แม้ว่ามีเงินก็ไม่อาจจะซื้ออาวุธได้เมื่อยามคับขัน จึงได้อนุมัติวงเงิน จำนวน 3,134 ล้านบาท ในการว่าจ้างบริษัท โนเบลวัตถุระเบิด จำกัด จากประเทศอังกฤษ มาทำการก่อสร้างโรงงานวัตถุระเบิด และวางระบบ ในระบบความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (TURNKEY BASIS) จึงทำให้โรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ แห่งนี้ เป็นโรงงานที่ผลิตดินส่งกระสุนที่มีความทันสมัยที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์
โดยผลิตภัณฑ์หลักที่โรงงานวัตถุระเบิดทหารฯแห่งนี้สามารถได้นั่น คือ ดินส่งกระสุนปืนใหญ่ ดินส่งกระสุนปืนเล็ก ดินส่งลูกระเบิดยิง และกระสุนปืนเล็ก และกระสุนปืนพก ซึ่งกำลังการผลิตของโรงงานวัตถุระเบิดทหารในขณะนี้ ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการของกองทัพอย่างแน่นอน เพราะกำลังการผลิตในปัจจุบันนั้น สามารถผลิตดินส่งกระสุนได้สูงถึง 372 ตัน/ปี แต่ปัจจุบันแผนการผลิต ปี 54 มียอดสั่งซื้อจากหน่วยงานราชการเพียง 20 ตัน/ปี สำหรับกระสุนปืนครบนัด ทางโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ มีกำลังการผลิตได้ 25 ล้านนัด/ปี แต่จากการสั่งซื้อใน ปี 54 มีเพียง 5 ล้านกว่านัดเท่านั้น จะเห็นได้ว่าด้วยศักยภาพที่สูง ทำให้เครื่องจักรบางตัวของทางโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ ไม่ได้รับการใช้งานอย่างเต็มกำลัง ด้วยเหตุนี้เองทาง ศอพท.จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ได้รับการยอมรับจาก NATO เข้าสู่ตลาดการค้าอาวุธ เพื่อนำเงินเข้าสู่ประเทศไทยอีกทางหนึ่ง โดยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พ.ศ....
4.ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ (ศอว.ศอพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญอีกหน่วย คือ มีหน้าที่ตามวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นหลักประกันในความมั่นคงด้านการทหาร ที่สามารถพึ่งตนเองได้ในภาวะที่ไม่ปกติ เพื่อลดการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ลดรายจ่ายงบประมาณในการจัดหา และเพื่อเป็นแหล่งผลิตในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะนำเงินตราเข้าประเทศได้อีกทางหนึ่ง สำหรับที่ ศอว.ศอพท.แห่งนี้ มีโรงงานที่สำคัญอยู่ 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานต้นแบบการวิจัยพัฒนาอาวุธ (รง.ตวพ.ศอว.ศอพท.) มีผลงานในการวิจัยล่าสุด คือ โครงการดัดแปลง ปบค.ขนาด 105 มม. ลากจูง (M425) ให้เป็นแบบอัตตาจรล้อยาง และที่กำลังวิจัย และพัฒนาอยู่ในขณะนี้คือ โครงการวิจัยปืนใหญ่ อัตตาจรล้อยาง ขนาด 155 มม.
โรงงานสร้างปืนใหญ่ และเครื่องยิงลูกระเบิด (รง.ปค.ศอว.ศอพท.) ที่สามารถสร้างปืนใหญ่ขนาด 105 มม. (ปัจจุบันประจำการอยู่ที่ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ) และเครื่องยิงลูกระเบิดขนาดต่าง ๆ (60 มม.ขึ้นไป) และโรงงานผลิตกระสุนปืนใหญ่ และลูกระเบิดยิง (รง.กสย.ศอว.ศอพท.) เป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ สามารถผลิตกระสุนที่มีคุณภาพ และมาตรฐานเดียวกันกับผู้ผลิตต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามที่ NATOกำหนดทุกประการ โดยปัจจุบันสามารถผลิตกระสุนสนับสนุนให้แก่เหล่าทัพต่าง ๆ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายรายการ อาทิเช่น กระสุนปืนใหญ่ ขนาด 105 มม.ชนิดต่าง ๆ ผลิตลูกระเบิดยิงขนาด 60 มม., 81 มม. และ 120 มม.ได้ โดยมีกำลังการผลิตวันละ 3000 นัด เลยทีเดียว
ด้าน พ.อ.ปรีชา สายเพ็ชร ผอ.กนผ.ศอพท. ได้กล่าวว่า โดยพื้นฐานหน้าที่หลัก ศอพท.คือ การผลิตกระสุน อาวุธ ให้กองทัพสามารถพึ่งพาตนเองได้ ปัจจุบันขีดความสามารถที่มีอยู่เกินความต้องการ ถ้าใช้ขีดความสามารถอย่างเต็มกำลัง ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีศักยภาพมาตรฐานสากลเพียงพอที่จะรองรับออเดอร์จากต่างประเทศ ดังนั้น ถ้า พ.ร.บ.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พ.ศ.... ผ่าน จะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก
ซึ่งสอดคล้องกับ พล.ท.ชูศักดิ์ สันติวรวุฒิ ผบ.ศอว.ศอพท. ที่กล่าวว่า ของปัจจุบันขีดความสามารถของ ศอว.ศอพท.ถือได้ว่าเพียงพอต่อความต้องการของกองทัพในยามที่ภาวะปกติ และเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์การปะทะกันในเวลานี้ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ถ้ายืดเยื้อต่อไปทาง ศอว.ศอพท.มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะสนับสนุนกองทัพ แน่นอนว่าถ้าเครื่องจักรที่มีอยู่ในหน่วยงานสามารถผลิตอาวุธ กระสุน ได้อย่างเต็มกำลัง มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องหยุดนิ่งรอวันใช้งาน ประเทศชาติสามารถกระจายออกไปยังต่างประเทศ จะสร้างรายได้สูงถึงพันล้านบาท/ปี เลยทีเดียว
ข้อมูลอาวุธยุทโธปกรณ์ของไทยที่ผลิตเอง จากที่ได้รับการเปิดเผยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็พอที่ประชาชนอุ่นใจได้ว่า “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด”!!
ปรัชวิน บุญชุบ / รายงาน
ต้องแบบนี้สิ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน .... ไทยทำ ไทยใช้(ขายด้วยยิ่งดี) ไทยเจริญ........
ชอบการพึ่งพาตนเองแบบนี้จัง ...
ประเทศไทยนี้ถ้าตั้งใจทำอะไรไม่เเพ้ชาติใดในโลก
ดู จากรูปภาพ ทันสมัยขึ้นเยอะ...สมัยตอนไปดูงาน เมื่อปี 39 ยัง..ไม่ทันสมัยแบบนี้เลย
ต่อไปขอเรื่องการผลิตพวกหมวก เกราะ อุปกรณ์ป้องกันต่างๆได้มั้ยครับคุณ m79a หรือท่านใดที่มีข้อมูล......ขอบคุณตรับ
อย่างนี้ซิแน่จริง