![]() รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้ก้าวหน้า (4/3/2011) นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การวิจัยและพัฒนาสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ : มิติใหม่ในทศวรรษหน้า" ระบุรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้ก้าวหน้า เพื่อความมั่นคงในภารกิจการดูแลป้องกันประเทศ
|
วันนี้ (4 มี.ค.54) เวลา 13.30 น. ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การวิจัยและพัฒนาสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ : มิติใหม่ในทศวรรษหน้า" โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) และผู้บังคับบัญชาระดับสูงในสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมและกองทัพให้การต้อนรับ โดยมีหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานวิจัยภาครัฐและเอกชน องค์การมหาชน มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังทิศทางและนโยบายนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนงานวิจัยเทคโนโลยีและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ ตามแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของรัฐบาล โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การวิจัยและพัฒนาสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ : มิติใหม่ในทศวรรษหน้า" สรุปสาระสำคัญว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่หลากหลาย ทั้งภาคการผลิต เกษตร อุตสาหกรรม บริการ แต่ขณะเดียวกันก็พึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง จะเห็นได้จากสัดส่วนของการส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สูงถึงร้อยละ 60 ที่บวกกับมูลค่าการนำเข้าแล้วจะมีมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ฉะนั้น เมื่อเกิดวิกฤตหรือความผันผวนในเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยและประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างที่จะรุนแรง ดังนั้น จึงมีแนวคิดในเรื่องการปรับการพัฒนาประเทศให้มีความสมดุล ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต โดยในส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 39 - 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และมีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 โดยมีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทิศทางของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมมุ่งไปที่การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เน้นทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และที่สำคัญคือการพึ่งพาในเรื่องของฐานความรู้ และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นระบบเปิด มีการติดต่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกที่นำมาสู่ความเสี่ยง ในหลายเรื่องจึงต้องพยายามสร้างหลักประกัน ภูมิคุ้มกันหรือสามารถที่จะบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นหลักสำคัญหลักหนึ่งของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และวันนี้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นโอกาสและมีศักยภาพที่จะสร้างและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและต่อความมั่นคง ซึ่งขณะนี้หลายประเทศก็ได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยปัจจุบันต้องถือว่ายังมีขนาดค่อนข้างเล็ก และเป็นการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนแก่กองทัพเป็นหลัก ที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะได้ให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท แต่ก็ไม่ค่อยได้มีการพูดถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมากนัก เพราะมีปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดที่ผ่านมาหลายด้าน ซึ่งกระทรวงกลาโหมมีโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอยู่ในสังกัดถึง 48 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการที่ไม่ใหญ่มากนัก และดำเนินการในเรื่องการซ่อมแซม ผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารที่แตกต่างกันไป และรวมถึงการที่เรามีผู้ประกอบกิจการทางด้านต่อและซ่อมเรืออีกประมาณ 38 แห่ง ซึ่งก็มีขีดความสามารถในระดับหนึ่ง แต่ว่าการส่งออกหรือการแข่งขันในตลาดโลกก็ยังมีอยู่จำกัด ซึ่งแท้จริงแล้วในอดีต กองทัพไทยมีความเข้มแข็งเป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย แต่เมื่อได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นการพึ่งพาการจัดหายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ก็ต้องยอมรับว่ามีความสะดวก รวดเร็ว และในหลายเรื่องก็จะมีราคาที่ไม่แพง แต่ก็มีผลทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศข้างในชะลอตัวหรือหยุดชะงักลง ประกอบกับในช่วงปี 2540 - 2541 ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาวิกฤตทางการเงินอย่างรุนแรง ทำให้กระทรวงกลาโหมประสบกับปัญหาข้อจำกัดทางด้านงบประมาณมากขึ้น ทำให้การพัฒนา การลงทุนของกระทรวงกลาโหมได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านยุทโธปกรณ์และกำลังพลก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งทางรัฐบาลก็มองว่าหากในอนาคตกองทัพสามารถที่จะผลิตยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้น ก็จะเป็นผลดีทั้งในแง่ของการมีหลักประกันความมั่นคง การเสริมสร้างกำลังอำนาจของกองทัพ และการลดความสูญเสียด้านงบประมาณไปพร้อมกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างก้าวหน้านั้น หัวใจคือการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง ซึ่งหน่วยงานวิจัยหลักของกระทรวงกลาโหมยังมีศักยภาพที่ค่อนข้างจำกัด จากงบประมาณที่ได้รับร้อยละ 0.08 ของงบประมาณของกระทรวงกลาโหม รวมทั้งการขาดพื้นฐานในแง่องค์ความรู้ที่จำเป็นต้องสะสม และเนื้อหาของการวิจัยพัฒนาที่ยังไม่สามารถต่อยอดได้ ซึ่งการที่เราจะสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างจริงจังเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาวนั้น จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ดังกล่าวให้ได้ ดังนั้น ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดทำนโยบาย สร้างและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเอง หรือเพื่อการส่งออก จึงต้องมีการส่งเสริมการพัฒนาและสร้างเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง มีนโยบายที่มีความชัดเจน ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเพียงพอ และสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาที่มีคุณค่า หลายประเทศจึงได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับภาคส่วนอื่น ๆ ในประเทศ เช่น เกาหลี อิสราเอล บราซิล ไต้หวัน มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น " ในส่วนของการปรับปรุงและส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานั้น มติคณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติฉบับที่ 8 ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีมาเมื่อต้นเดือนนี้ และยุทธศาสตร์การวิจัยของ 4 ภูมิภาคไปแล้ว ผมก็จึงหวังว่าหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งกระทรวงกลาโหม จะได้นำไปใช้ให้เกิดผลดีต่องานวิจัย และพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์ของการวิจัยของชาติในครั้งนี้ ที่เราเน้นย้ำเป็นพิเศษก็คือ งานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอด นำไปสู่การผลิต หรือเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจและสังคมได้ ซึ่งการจะเกิดการวิจัยที่สามารถต่อยอดได้เช่นนั้น ก็ต้องมีความต้องการของการใช้ผลของการวิจัยอย่างชัดเจน ในแง่นี้ผมคิดว่าในส่วนของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และความต้องการของกองทัพนั้นควรจะเป็นตัวกำหนดในเรื่องของทิศทางของการวิจัยพัฒนา ให้เกิดความสอดคล้องกับความต้องการ ก็จะเป็นแนวทางที่จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ภาพรวมของการวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 ได้เป็นอย่างดี" นายกรัฐมนตรีกล่าว พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจกับการเสริมสร้างความมั่นคงที่ต้องเดินหน้าควบคู่กันไปนั้น ต้องยอมรับว่าการที่เราจะลดความเสี่ยงทางด้านความมั่นคง หรือการที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหาความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ของประเทศ หรือการที่เรามีบทบาทมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ เรามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องต่อไป การวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะต้องทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนอกจากนั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็เป็นอีกแรงส่งหนึ่งที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนทางเรื่องนี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการมีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศแห่งนี้ ก็เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้การทำงานทางด้านนี้มีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และขณะนี้ได้มีความพยายามที่จะเสนอกฎหมายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่จะทำให้ภาครัฐเข้าไปดูแลได้มากขึ้น แต่ติดขัดข้อกฎหมายว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นภารกิจที่อยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้ในกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยขณะนี้ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการวบรวมประเด็นข้อกฎหมายทั้งหมด เพื่อนำมาทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อเรามีความจำเป็นในการที่จะต้องปรับโครงสร้าง ระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการทางด้านนี้ได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย กฎระเบียบอะไรบ้าง ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะให้มีการผลักดันต่อไป ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเราปัจจุบันมีขนาดไม่ใหญ่ แต่ก็มีศักยภาพและประสบการณ์ที่สะสมมากขึ้น อันจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้พัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้ ฉะนั้นหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายร่วมกันในการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ก็มีความมั่นใจว่าเราจะสามารถผลักดันให้เกิดการเติบโต ความก้าวหน้า ซึ่งจะนำมาสู่การลดความเสี่ยงและความมั่นคงในเรื่องของภารกิจของการดูแลป้องกันประเทศได้ ทั้งนี้ รู้สึกชื่นชมที่ได้เห็นความตั้งใจในเรื่องนี้ และเห็นว่าประโยชน์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จะเป็นการสร้างหลักประกันเชิงยุทธศาสตร์ให้แก่ประเทศได้ เสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศให้แก่ประเทศของเรา และที่สำคัญยังขยายไปสู่การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การสร้างโอกาส การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจึงพร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการดำเนินการทางด้านนี้ต่อไปภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน |
เนื้อหาข่าวเดียวกันและคนตั้งกระทู้ก็คนเดียวกันนี่ครับ และกระทู้ก็ยังไม่ตกไปที่หน้าที่ 2 เลยครับ
โทษที นึกว่ายังไม่ลง........