พอดีเมื่อเช้านี้ผ่านไปแถวกองบินเลยนั้งแวะดื่มกาแฟเห็น A-10 บินเกาะหมู่กันมาเลยอยากทราบว่าเค้าฝึกอะไรกันรึเปล่าเพราะว่าตัวผมเองไม่ได้ติดตามข่าวสารเลยครับช่วงนี้ ขอบคุณล่วงหน้านะครับ
น่าจะเป็นการฝึกCope Tiger นะคับ เพราะโคราชก็บินสนั่นหูเลย
COPE TIGER 2011 ครับ
การฝึกผสม COPE TIGER 2011
กองทัพอากาศ ร่วมกับ กองทัพอากาศสิงคโปร์ และกองกำลังสหรัฐอเมริกา จัดการฝึกปฏิบัติการทางอากาศที่มีการสนธิกำลังทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้รหัสการฝึก “Cope Tiger 2011” ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยจัดตั้งกองอำนวยการฝึก ฯ ณ กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา
การฝึกผสม Cope Tiger 2011 เป็นการฝึกใช้กำลังทางอากาศร่วมกันระหว่าง ๓ ชาติ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงความพร้อมรบของหน่วยบินที่เข้าร่วมการฝึก พัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติ การทางอากาศผสม และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
สำหรับหน่วยที่เข้าร่วมการฝึก ประกอบด้วย กองทัพอากาศ, กองทัพบก, กองทัพอากาศสิงคโปร์, กองทัพอากาศและนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา มีกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกกว่า ๒,๐๐๐ คน โดยมีผู้อำนวยการฝึก ฯ ของทั้ง ๓ ชาติ เป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบได้แก่ นาวาอากาศเอก ถาวรวัฒน์ จันทนาคม รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ เป็นผู้อำนวยการ ฝึก ฯ ฝ่ายไทย, Col. Neo Hong Keat ผู้อำนวยการฝึก ฯ ฝ่ายสิงคโปร์ และ Col. Robert A. Hustun ผู้อำนวยการฝึก ฯ ฝ่ายสหรัฐอเมริกา
ในส่วนของรูปแบบการฝึก แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
- การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) เป็นการอบรมภาควิชาการ การฝึกวางแผน และการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์สมมติ โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์สมมติที่กำหนด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์จริง โดยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ ๖ – ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ฐานทัพเรือชางฮี สาธารณรัฐสิงคโปร์
- การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยได้จัดตั้งกองอำนวยการฝึกผสม Cope Tiger 2011 ณ กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา มีส่วนควบคุมการฝึก (Combined Exercise Control Group : CECG) ทำหน้าที่ควบคุม ให้การสนับสนุนทางยุทธการและการข่าว รวมถึงการประเมินผล การฝึก มีหน่วยบิน และหน่วยต่อสู้อากาศยานเป็นหน่วยเข้าร่วมการฝึก ใช้พื้นที่การฝึก ณ กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา กองบิน ๒๓ จังหวัดอุดรธานี สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศ น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ศูนย์ฝึกทางยุทธวิธีกองทัพบก จังหวัดลพบุรี และกองพลทหารม้าที่ ๑ ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
สำหรับการดำเนินการฝึก จะครอบคลุมทั้งการฝึกภาคอากาศ และการฝึกภาคพื้น ในส่วนของการฝึกภาคอากาศ เป็นการฝึกยุทธวิธีการรบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศและประสบการณ์ของนักบิน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การฝึกเตรียมความพร้อม (Work-Up Training) และการฝึกใช้กำลังทางอากาศขนาดใหญ่ (Large Force Employment) โดยจะทำการฝึกตามภารกิจที่กำหนด อาทิ การบินขับไล่ขั้นมูลฐาน ยุทธวิธีการรบทางอากาศระหว่างเครื่องบินต่างแบบ การป้องกันทางอากาศเชิงรุกและเชิงรับ การขัดขวางทางอากาศและการสนับสนุนทางอากาศ โดยใกล้ชิด การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ การลำเลียงทางอากาศยุทธวิธี การโดดร่มยุทธวิธี การรบกวนเรดาร์และวิทยุสื่อสาร ซึ่งได้มีการวางแผนการฝึกไว้มากกว่า ๑,๑๐๐ เที่ยวบิน มีอากาศยานสมรรถนะสูงจากทั้ง ๓ ประเทศเข้าร่วม การฝึกจำนวน ๙๘ เครื่อง อาทิ
- F-16 A/B, F-16 ADF, F-5, ALPHA JET, L-39, C-130, UH-1H จากกองทัพอากาศ
- F-16 C/D, F-16 D Plus, F-5 S/T, G550 AEW, KC-130, CH-47 จากกองทัพอากาศสิงคโปร์
- F-15 C/D, F/A-18, A-10, C-17A, HC-130, C-130, KC-135 จากกองทัพอากาศ และนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา
ในส่วนภาคพื้น เป็นการฝึกของหน่วยต่อสู้อากาศยาน (Air Defense Exercise) ประกอบด้วยการฝึกวางกำลังและเคลื่อนย้ายหน่วยยิง การฝึกแลกเปลี่ยน และการฝึกต่อสู้อากาศยาน มีการนำกำลังภาคพื้นเข้าร่วมการฝึก ได้แก่
- เรดาร์ Giraffe 40, เรดาร์ Giraffe 180, เรดาร์ Skyguard, หน่วยยิง RBS-70, หน่วยยิง QW-2, หน่วยยิง ปตอ. 30 mm Mauser จากกองทัพอากาศ
- เรดาร์ DR 172 ADV, เรดาร์ LAADS, หน่วยยิง ปตอ.40 mm AA Gun, หน่วยยิง ปตอ. 20 mm AA Gun, เรดาร์ Flycatcher และชุดจรวดนำวิถี HN-5 A(M) จากกองทัพบก
- หน่วยยิง I-Hawk, หน่วยยิง Rapier, หน่วยยิง Mistral, เรดาร์ P-Star, หน่วยยิง RBS-70, เรดาร์ AMB, หน่วยยิง ปตอ.35 mm AA Gun/FCE และ Air Defence Control Section: ADCS จากกองทัพอากาศสิงคโปร์