.
และเนื่องจาก ฮ.๖ ถูกใช้งานมานานนับสิบๆปีแล้ว ซึ่งตามกำหนดจะต้องปลดประจำการ ฮ.๖ ทั้งหมดในปี ๒๕๔๖ แต่เนื่องจากติดขัดปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะจัดหา ฮ. แบบใหม่ เพื่อมาทดแทนให้ได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมี ฮ. สำหรับภารกิจช่วยเหลือและกู้ภัย ซึ่งต้องมี ฮ. ไปวางกำลังยังฐานบินทั่วประเทศ รวม ๑๒ หน่วย และยังต้องมี ฮ. สำหรับภารกิจติดตามขบวนเสด็จ ฯ และภารกิจอื่นๆอีกด้วย ทำให้มีการพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้งาน ฮ.๖ ต่อไปอีก เป็นเวลา ๑๒ - ๑๕ ปี แต่เพื่อจะให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงขึ้น จึงจำเป็นจะต้องนำ ฮ.๖ เข้ารับการปรับปรุงโครงสร้าง เครื่องยนต์ และระบบอวิโอนิกส์ เพื่อยืดอายุการใช้งาน โดย ทอ. ได้จัดทำโครงการปรับปรุง ฮ.๖ และมีการเปิดให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกยื่นข้อเสนอทั้งในเรื่องทางเทคนิค และการเสนอราคา ซึ่งผลการพิจารณาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดปรากฏว่าบริษัท ISRAEL AIRCRAFT INDRUSTRIES LIMITED หรือ IAI ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศอิสราเอล ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ทำการปรับปรุง ฮ.๖ มีระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี คือระหว่างปี ๒๕๔๕ - ๒๕๔๗ โดยได้ใช้สถานที่ในการดำเนินการปรับปรุงที่ กองซ่อมอากาศยาน ๒ กรมช่างอากาศ (กซอ.๒ ชอ.) โคกกะเทียม จ.ลพบุรี ซึ่งในโครงการฯ นี้ได้นำ ฮ.๖ ที่ได้รับโอนมาจากกองทัพเรือ ในปี ๒๕๔๖ จำนวน ๒ เครื่อง มาทำการปรับปรุงด้วย ซึ่ง ฮ.๖ ที่ผ่านการปรับปรุงตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้วจะได้รับการเปลี่ยนสีใหม่ด้วย จากเดิมที่เป็นลายพรางสีเขียว เขียวเข้ม และน้ำตาล ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ นั้น ก็ได้เปลี่ยนเป็นลายพรางโทนสีเทา เทาอ่อน และเทาเข้ม ส่วนใต้ท้องก็ยังเป็นสีขาวเช่นเดิม และนี่ก็คงเป็นเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของช่วงเวลา ๔๐ ปีเศษ แห่งการประจำการของ ฮ.๖ กองทัพอากาศไทย สำหรับตอนต่อไปคือตอนที่ ๒ นั้น ก็จะเป็นเรื่องของ ฮ.๖ พระที่นั่ง ครับ
..............................................................................................................
RTAF’s HUEY STORY #1 โดย ASI S.
แม้จะผ่านการฉลองครบรอบ ๔๐ ปี ฮ.๖ (UH-1H) ของกองทัพอากาศไทย มาเป็นเวลาปีกว่าแล้วผมยังอดคิดที่จะเขียนถึงเรื่องราวในอดีตของ ฮ.๖ ไม่ได้ จากการที่ได้เข้าไปดูในวบไซด์ต่างๆที่เขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการเขียนถึงประวัติและภารกิจต่างๆของ ฮ.๖ ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น แต่ผมก็ยังมีข้อมูลบางอย่างเสริมเข้าไป ซึ่งคิดว่าหลายๆท่านอาจยังไม่ทราบ ก็คงจะต้องติดตามกันดูครับ บางทีอาจเป็นประโยชน์ต่อบางท่านไม่มากก็น้อย คงต้องเริ่มกันในยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เปิดฉากการต่อสู้ด้วยอาวุธขึ้นในปี ๒๕๐๘ จากวันนั้นเป็นต้นมา กองทัพอากาศได้จัดอากาศยานแบบต่างๆที่มีอยู่เข้าสนับสนุนภารกิจการปราบปรามผู้ก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการสูญเสียจากการรบและสูญเสียจากอุบัติเหตุในภารกิจสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายอยู่หลายครั้ง ในส่วนของ ฮ.ที่ใช้สนับสนุนฯนั้น หลักๆ คือ ฮ.๔ (H-34C/D) ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนมากพอสมควร แต่บางท่านอาจไม่ทราบว่า ฮ.๔ หลายเครื่องได้สูญเสียจากการประสบอุบัติเหตุและเสียหายจากการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากสภาพเครื่องและสมรรถนะของ ฮ.๔ ที่มีขีดจำกัดบางอย่าง ทำให้ต้องจำหน่าย ฮ. ออกจากประจำการไปจำนวนหนึ่ง ก่อนหน้านั้นในปี ๒๔๙๙ บริษัทเบลล์ เฮลิคอปเตอร์ ประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแบบและพัฒนา ฮ.รุ่นใหม่ออกมาคือ ฮ. Model 204 โดยได้มีการนำเครื่องยนต์แบบเทอร์โบชาฟท์มาติดตั้งทำให้มีสมรรถนะทางการบินสูงกว่า ฮ. แบบเก่าที่ใช้เครื่องยนต์ลูกสูบและได้มีเปิดสายการผลิตเพื่อส่งมอบให้กองทัพสหรัฐฯ และได้เริ่มนำมาใช้งานในเวียดนาม ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ระหว่างนั้นได้มีการพัฒนาต่อมาจนเป็นรุ่น Model 205 ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีสมรรถนะสูงขึ้นมาก และได้รับการสั่งซื้อจำนวนมากจากกองทัพสหรัฐฯ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการรบในเวียดนาม โดยได้รับการกำหนดชื่อทางทหารว่า UH-1 D/H และได้รับฉายาว่า “ IROQUOIS “ แต่มักจะเรียกกันติดปากในหมู่ทหารสหรัฐฯว่า “ HUEY ” มากกว่า นอกจากนั้นยังได้รับการสั่งซื้อจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อมอบให้มิตรประเทศตามโครงการช่วยเหลือทางทหารอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ได้รับมอบคือ ประเทศไทยของเรานั่นเอง โดยกองทัพบกไทยเป็นหน่วยแรกที่ได้รับ ฮ.แบบนี้ ในปี ๒๕๑๐ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีแผนจะมอบให้กับกองทัพอากาศไทย จำนวนหนึ่งฝูง(๒๕ เครื่อง)ด้วย จากนั้นในปี ๒๕๑๑ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงได้มอบ ฮ. UH-1H ชุดแรก จำนวน ๔ เครื่องให้กับ ทอ.ไทย โดยทำการรับมอบเมื่อวันที่ ๒๑ พ.ย.๑๑ กำหนดชื่อใน ทอ.ไทยว่า “ เฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๖ “ หรือ ฮ.๖ และได้รับการบรรจุเข้าประจำการในฝูงบิน ๓๒ กองบิน ๓ ที่ตั้งชั่วคราว ดอนเมือง สำหรับนามเรียกขาน(Callsign) ของฝูงบินนี้คือ “Scorpion” และได้ย้ายไปเข้าที่ตั้งปกติที่โคราช ในเดือน พ.ค.๑๒ (สำหรับเรื่องราวของ กองบิน ๓ นั้น คงจะนำเสนอในโอกาสต่อไป)
โดยกองบิน ๓ นั้นมีฝูงบินในอัตราจำนวน ๓ ฝูงบินคือ ฝูงบิน ๓๑ , ๓๒ และ ๓๓ โดยฝูง.๓๑ บรรจุ ฮ.๔ (H-34C/D) และ ฮ.๕ (H-43B HUSKIE) , ฝูง.๓๒ บรรจุ ฮ.๖ (UH-1H) ส่วน ฝูง.๓๓ นั้น บรรจุด้วย ฮ.๔ (H-34C/D)ล้วนๆ ในส่วนของ ฝูง.๓๒ เมื่อได้รับ ฮ. ชุดแรกมา ก็ได้เร่งทำการฝึกนักบินที่มาทำการบินกับ ฮ.๖ นี้ โดยมีนักบิน ทบ.สหรัฐฯ เป็นครูการบิน ต่อมาในปี ๒๕๑๒ จึงได้รับมอบ ฮ. UH-1H ที่เหลืออีก ๒๑ เครื่อง ซึ่ง ฮ. ในชุดนี้ จำนวน ๑ เครื่องคือ เครื่องหมายเลข ทอ. ฮ.๖- ๗/๑๒ และกำหนดหมายเลขฝูงคือ ๓๒๐๑ ได้ถูกจัดให้เป็น ฮ.พระที่นั่ง แบบใหม่ทดแทน ฮ.๔ พระที่นั่งเดิม (สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับ ฮ.๖ พระที่นั่ง จะนำเสนอในตอนที่ ๒) เมื่อได้รับ ฮ.๖ มากขึ้นทำให้การฝึกนักบินทำได้อย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่เดือนก็มีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจแล้ว ในเดือน พ.ค.๑๒ ได้มีการส่งหน่วยบิน ฮ.๖ หน่วยแรกคือ หน่วยบิน ๓๒๑ ออกไปปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในเขตภาคเหนือตอนล่าง บริเวณพื้นที่รอยต่อสามจังหวัดคือ จ.พิษณุโลก , จ.เพชรบูรณ์ และจ.เลย ซึ่งมีกองกำลัง ผกค.กลุ่มม้งแดง(แม้วแดง) ตั้งฐานที่มั่นกระจายอยู่ตามภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา เช่นที่ ภูเมี่ยง, ภูขัด, ภูหินร่องกล้า และเขาค้อ เป็นต้น โดยมีฐานบินอยู่ที่สนามบินหล่มสัก (บ.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์) ร่วมกับหน่วยบินของ ทอ. หน่วยอื่นๆ เช่น ฮ.๔ จากหน่วยบิน ๓๓๑ , บ.ฝ.๘ (T-6) จากหน่วยบิน ๕๓๑ , บ.ธ.๑ (U-10B) จากหน่วยบิน ๗๑๒ และบ.ต.๒ (O-1) จากหน่วยบิน ๗๑๔ และยังรวมถึงอากาศยานของกองทัพบกที่มาใช้พื้นที่ร่วมกันด้วย โดยภารกิจหลักเป็นการบินส่งกำลังบำรุงให้แก่ กำลังของ บก.ผสม.๓๙๔ ที่ปฏิบัติการรบกับกองกำลัง ผกค. ในพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด ซึ่งในการบินส่งกำลังบำรุงให้กับ บก.ผสม.๓๙๔ นี้ นอกจะต้องบินส่งเสบียงอาหารและยุทธปัจจัยแล้ว ยังจะต้องทำการบินลำเลียงกำลังพลภาคพื้นที่จะต้องผลัดเปลี่ยนหน้าที่กันและยังต้องส่งกลับผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตออกจากพื้นที่การรบด้วย ซึ่ง ฮ.๖ มักถูกยิงต่อต้านจาก ผกค. เสมอ โดยช่วงที่มักจะถูกยิงก็คือ ขณะทำการบินร่อนขึ้น-ลงเพื่อปฏิบัติภารกิจข้างต้น แม้ว่า ฮ.๖ ทุกลำจะได้รับการติดตั้งอาวุธสำหรับป้องกันตนเองคือ ปืนกลอากาศขนาด ๗.๖๒ มม. แบบ M-60 จำนวนสองกระบอก ติดตั้งที่อยู่ที่ด้านข้างซึ่งทำการยิงโดยพลปืนและช่างประจำ ฮ. ก็ตาม แต่ ฮ.๖ เกือบทุกลำที่บินออกไปปฏิบัติภารกิจก็มักจะถูกกระสุนปืนของ ผกค. กลับมาบ่อยครั้ง บางครั้งก็ทำให้นักบินและเจ้าหน้าที่ถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บและมี ฮ.๖ บางเครื่องต้องถูกจำหน่ายออกจากประจำการ เนื่องจากถูกยิงตกและเสียหายเกินกว่าที่จะซ่อมแซมได้ และในการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความเสี่ยงอันตรายเช่นนี้ ทำให้มีนักบิน ฮ.๖ บางท่านได้รับการพิจารณาให้มีสิทธิที่จะได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ซึ่งเป็นเหรียญที่จะพระราชทานให้กับทหารหรือตำรวจ ที่ได้ทำการต่อสู้กับราชศัตรูอย่างกล้าหาญ และถือว่าเป็นเหรียญที่มีความสำคัญสูงสุดและน้อยคนจะมีโอกาสได้รับ ซึ่งท่านนั้นคือ ร.ท.สัมฤทธิ์ มั่งนิมิตร (พล.อ.ต.) โดย ฮ.๖ ที่ตัวท่านบินนั้นจะถูกยิงอยู่หลายครั้ง และก่อนหน้าที่ท่านจะมาบินกับ ฮ.๖ นั้น ท่านได้บินกับ ฮ.๔ มาก่อนและก็ถูกยิงหลายครั้งเช่นกัน แต่กว่าที่ท่านจะได้รับพระราชทาน ฯ ก็ยังต้องใช้เวลาพิจารณาอยู่หลายปี จนมาได้รับเอาเมื่อปี ๒๕๒๔ ขณะมียศนาวาอากาศโท โดยที่ก่อนหน้านั้นสองปี คือในปี ๒๕๒๒ ท่านเคยได้รับพระราชทานเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร ขณะมียศนาวาอากาศตรี ซึ่งก็เนื่องจากวีรกรรมในอดีตของท่านนั่นเอง (ภายหลังเท่าที่ทราบจะมีนักบินและเจ้าหน้าที่ของ ฮ.๖ บางท่าน ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญอีกด้วย) แต่การปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ของ ฮ.๖ นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงพื้นที่ข้างต้นนี้เท่านั้น เพราะทั่วทุกภาคของประเทศไทยในเวลานั้น ล้วนแต่มี ผกค. กลุ่มต่างๆ ปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ภูมิประเทศเป็นป่าเขาที่ยากแก่การเข้าถึงและการส่งกำลังบำรุงเข้าไปสนับสนุนโดยทางภาคพื้น ทำให้ต้องจัดหน่วยบิน ฮ.๖ ไปประจำยังฐานบินหน้าในหลายพื้นที่ของประเทศไทยตลอดมา
ในเดือน ต.ค.๒๐ ได้มีการปรับโครงสร้าง ทอ. ครั้งใหญ่ มีผลทำให้เกิดหน่วยงานใหม่ขึ้นและบางหน่วยงานเดิมบางหน่วยต้องยุบเลิกไป อาทิเช่น กองบินยุทธการ (บย.) และ กองบิน ๓ (บน.๓) โดยในส่วนของ บน.๓ โคราช ที่มี ฮ. ในอัตราอยู่สองฝูงบินคือ ฝูง.๓๑ และฝูง.๓๒ (ส่วนฝูง.๓๓ นั้น ได้ถุกยุบฝูงไปก่อนหน้าแล้วในปี ๒๕๑๕ โดยนำ ฮ. และนักบินตลอดจนเจ้าหน้าที่ไปรวมที่ ฝูง.๓๑ แทน) นั้นได้ถูกยุบและให้นำ ฮ. ทั้งหมดมาบรรจุในกองบิน ๒ โคกกะเทียม จ.ลพบุรี แทน โดยได้จัดตั้งฝูงบิน ๒๐๑ เพื่อรองรับ ฮ.๔ ที่ย้ายมาจาก ฝูง.๓๑ และจัดตั้งฝูงบิน ๒๐๓ เพื่อรองรับ ฮ.๖ จากฝูง.๓๒ (แต่ในปี ๒๕๒๐ นั้น ทั้งสองฝูงบินยังไม่ได้เคลื่อนย้ายมาที่ กองบิน ๒ โคกกะเทียม ในทันที เนื่องจากติดขัดเรื่องความไม่พร้อมของอาคารสถานที่ปฏิบัติงานตลอดจนบ้านพักอาศัยสำหรับครอบครัวของเจ้าหน้าที่ โดยยังคงใช้สนามบินโคราช เป็นที่ตั้ง กองบิน ๒ ส่วนหน้า จนกระทั่งในเดือน เม.ย.๒๓ จึงได้ย้ายเข้าที่ตั้งปกติที่โคกกะเทียม) ในปี ๒๕๒๖ หลังจากที่รัฐบาลและกองทัพได้ใช้การปฏิบัติการทั้งทางด้านทหารและควบคู่ไปกับการปฏิบัติการด้านการเมืองอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี จึงเป็นผลให้กองกำลัง ผกค. ต้องสูญเสียที่มั่นและมวลชน ทำให้ต้องแปรสภาพเป็นกองกำลังขนาดเล็กและได้สูญสลายไปจนหมดสิ้นและได้มีการเข้ามอบตัวเพื่อเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทยในเวลาต่อมา และถึงแม้ว่าการรบกับ ผกค. จะจบลงไปแล้ว แต่ภารกิจอื่นๆ ที่ต้องใช้ ฮ.๖ สนับสนุนก็ยังมีอยู่ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นภารกิจการค้นหาและช่วยชีวิตกรณีอากาศยานประสบอุบัติเหตุหรือถูกยิงตกในพื้นที่การรบ นอกจากนี้ภารกิจการลำเลียงทางอากาศก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของ ฮ.๖ เนื่องจากขีดความสามารถในการขึ้นลงในพื้นที่ต่างๆได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสนามบิน ทำให้ ฮ.๖ มีความคล่องตัวมากยามเมื่อต้องปฏิบัติการลำเลียงสิ่งของต่างๆสบับสนุนหน่วยงานของ ทอ. โดยเฉพาะตามสถานีเรดาร์หรือสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมที่จำเป็นต้องสร้างอยู่บนยอดเขาสูง ที่บางแห่งนั้นไม่มีถนนตัดขึ้นไปถึงอย่างเช่นที่ ภูกระดึง จ.เลย เป็นต้น และนอกจากจะต้องสนับสนุนภารกิจของ ทอ. เองแล้ว เมื่อยามที่พี่น้องประชาชนต้องประสบภัยพิบัติต่างๆไม่ว่าจะเป็น อุทกภัย วาตภัย ธรณีพิบัติภัย และต้องการความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีนั้น ก็มักได้รับร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ ทอ. จัด ฮ.๖ เข้าไปสนับสนุนและให้การช่วยเหลือประชาชนอยู่เสมอๆ ทั้งการลำเลียงอาหาร สิ่งของจำเป็นต่อการยังชีพต่างๆเข้าไปมอบให้กับผู้ที่ประสบภัย รวมทั้งการช่วยเหลือนำผู้เจ็บป่วยออกจากพื้นที่ที่ประสบภัยด้วย ซึ่งนับเป็นภารกิจที่มีความสำคัญมากในยามสงบ
ผมขอย้ายไปกระทู้ปักหมุดนะครับ
ขอย้อนกลับไปในช่วงปี ๒๕๒๐ ซึ่งเป็นช่วงที่การรบกับ ผกค. อยู่นั้น ทอ. ได้มีแนวความคิดเพิ่มศักยภาพในการรบให้กับ ฮ.๖ เพื่อให้สามารถใช้เป็น ฮ.โจมตี ได้ด้วย โดยมีการพัฒนาระบบอาวุธต่างๆเพื่อนำมาใช้ติดตั้งกับ ฮ.๖ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในขณะนั้นคือ สำนักงานวิจัยและพัฒนาอาวุธยุทธภัณฑ์ (วพย.) โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ สถาบันวิจัยและพัฒนาการกองทัพอากาศ (วพ.ทอ.) มีการทดลองนำอาวุธชนิดต่างๆมาติดตั้งกับ ฮ.๖ และนำไปทดสอบทั้งในพื้นที่ทดสอบและบางครั้งจะนำไปทดสอบในพื้นที่การรบจริงก็มี ท่านอาจไม่เชื่อว่า ฮ. อย่าง ฮ.๖ นั้นมีบางเครื่องเคยเป็น ฮ.ทิ้งระเบิดมาแล้ว และเป็นระเบิดขนาด ๒๕๐ ปอนด์ แบบ Mk 81 จำนวน ๔ ลูกอีกด้วย นอกนี้แล้วก็มีระเบิดสังหารพวงขนาด ๒๐ ปอนด์ โดยจะแพ็ครวมกันจำนวน ๖ ลูกต่อ ๑ พวง โดย ฮ.๖ จะติดตั้งไปลำละ ๔ พวง แล้วยังมีการออกแบบและติดตั้งท่อปล่อยลูกระเบิดสังหาร ๒๐ ปอนด์ จำนวน ๑๒ ท่อ ภายในเคบินของ ฮ. และยังได้มีการติดตั้งจอเล็งเป้าหมายในการทิ้งระเบิดในตำแหน่งของนักบินที่ ๒ ด้วย นอกจากลูกระเบิดแล้ว ยังได้เพิ่มอำนาจการยิงให้กับ ฮ.๖ โดยการนำปืนกลอากาศขนาด.๕๐นิ้ว แบบ M-3 ซึ่งเป็นปืนกลหนักที่มีอำนาจการทำลายสูงและมีระยะยิงไกล มาติดตั้งที่ด้านข้างแทนตำแหน่งของปืนกลอากาศขนาด ๗.๖๒ มม. แบบ M-60 อีกด้วย และมีการนำปืนชนิดนี้ไปทำการทดสอบในพื้นที่การรบในภาคเหนือช่วงปี ๒๕๒๓ โดยใช้ในภารกิจการโจมตีทางอากาศสนับสนุนกำลังของ ทบ. ที่ทำการรบกับ ผกค. ที่ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน และที่ อ.เทิง จ.เชียงราย และเท่าที่เคยได้ทราบผลการทดสอบมานั้นในส่วนของลูกระเบิดจะมีปัญหาเรื่องของความแม่นยำในการทิ้งระเบิด เนื่องจาก ฮ. นั้นต่างจาก บ. ตรงที่มีใบพัดประธาน(Main Rotor)อยู่ด้านบนของตัวเครื่อง เมื่อทำการปลดลูกระเบิดแล้วแรงลมจากใบพัดประธานที่พัดลงด้านล่าง จะพัดพาลูกระเบิดให้ปลิวออกไปตกในพื้นที่นอกเป้าหมาย ทำให้ไม่สามารถทำความเสียหายให้กับเป้าหมายได้ และ ฮ. มีความเร็วต่ำทำให้เคลื่อนตัวเข้า-ออกจากเป้าหมายได้ช้ากว่า บ. ทำให้มีโอกาสถูกยิงต่อต้านได้ง่าย อีกทั้งยังมีเสียงดังที่เกิดจากใบพัดประธานที่แหวกตัดอากาศทำให้ ผกค. รู้ตัวและสามารถคาดเดาทิศทางของ ฮ. ก่อนที่จะบินเข้ามาโจมตีได้ ในส่วนของปืนกลอากาศขนาด.๕๐นิ้ว แบบ M-3 นั้นพบว่า แรงสะท้อนถอยหลังของปืนนั้นมีสูงมากทำให้เกิดความสั่นสะเทือนไปทั้งลำขณะทำการยิง ซึ่งมีผลต่อการบังคับการบินของนักบินและอาจทำให้โครงสร้างลำตัวเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งดูแล้วก็คล้ายๆกับกรณีของ บ.จล.๒(AC-47 Spooky) ที่เมื่อทำการยิงปืนกลอากาศขนาด.๕๐นิ้ว แบบ M-3 พร้อมกันทั้งสองกระบอกแล้ว บ. จะเซเพราะแรงสะท้อนถอยหลังของปืน จึงต้องใช้วิธีสลับยิงทีละกระบอก แต่เนื่องจาก บ.จล.๒ นั้นลำใหญ่กว่าและเสถียรภาพทางการบินมีมากกว่า จึงไม่ส่งผลมากเท่ากับ ฮ.๖ เมื่อต้องทำการยิงปืนขนาดเดียวกัน ภายหลังเมื่อมีการสรุปผลการทดสอบแล้ว จึงได้มีการยกเลิกการติดตั้งระบบอาวุธที่กล่าวมา คงเหลือแต่เพียงปืนกลอากาศขนาด ๗.๖๒ มม. แบบ M-60 เท่านั้นที่ยังใช้งานอยู่ แต่ในยามปกติก็จะไม่ได้นำมาติดตั้งไว้ ถ้าจะได้เห็นก็คงจะเป็นในโอกาสวันพิเศษอย่างเช่น วันเด็ก หรือในโอกาสที่จัดให้มีการแสดงการสาธิตค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย และมีการนำ ฮ.๖ มาติดปืนแล้วตั้งแสดงภาคพื้นให้ได้ชมกันเท่านั้น
เรียน คุณ onn40 ขอบคุณมากครับสำหรับบทความดีๆอย่างนี้
และอยากให้นำเสนอฝูงนิน T 33 และ F 84 กับ F 86 ที่ประจำในกองทัพไหยด้วยครับ ( โดยเฉพาะรูปฝีพระหัตย์เครื่อง F 86 บินถวายอารักขาเครื่องบินพระที่นั่งครับ )
หวังว่าไม่รบกวนนะครับขอบคุณมากๆๆ
.
รบกวนนำไปโพสต่อที่กระทู้ที่ปักหมุดไว้ให้ด้วยครับ/ADMIN
RTAF’s HUEY STORY #2 By ASI S.
จากในปี 2511 ที่กองทัพอากาศไทย ได้รับ ฮ.6 (UH-1H) ชุดแรก จำนวน 4 เครื่องแล้ว ต่อมาในปี 2512 ก็ได้รับมอบ ฮ.6 ที่เหลืออีก 21 เครื่อง ซึ่ง ฮ. ในชุดนี้ จำนวน 1 เครื่องคือ เครื่องหมายเลข ทอ. ฮ.๖- ๗/๑๒ และกำหนดหมายเลขฝูงคือ ๓๒๐๑ ได้ถูกจัดให้เป็น ฮ.พระที่นั่ง แบบใหม่ทดแทน ฮ.4 พระที่นั่งเดิม ซึ่งถูกปรับระดับลงไปเป็น ฮ. สำหรับบุคคลสำคัญ (VIP) ซึ่งในเดือน ธ.ค.11 ผบ.ทอ. คือ พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา ท่านได้มาทำการฝึกบินกับ ฮ.6 นี้ด้วย โดยก่อนหน้านี้ในระหว่างปี 2505 - 2511 ท่านได้เคยถวายการบิน ฮ.4 พระที่นั่ง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยตนเองอยู่เสมอเมื่อโอกาสอำนวยให้ และภายหลังที่ทำการฝึกบินกับ ฮ.6 อยู่หลายเดือนจนมีความชำนาญ ท่านจึงได้มีโอกาสถวายการบิน ฮ.6 พระที่นั่ง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
และที่ต้องกล่าวถึงท่าน ผบ.ทอ. (พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา)นั้น ก็เนื่องจากท่านเป็น ผบ.ทอ. ที่รักในการบินมาก โดยเฉพาะการบินกับ ฮ. ถึงแม้ว่าตัวท่านจะเคยเป็นนักบินขับไล่ที่ผ่านทั้งสงครามอินโดจีน ฝรั่งเศส และสงครามมหาเอเชียบูรพามาก่อน แต่เมื่อท่านดำรงตำแหน่ง ผบ.ทอ. ในปี 2503 แล้ว ท่านก็ยังทำการบินกับ ฮ. อยู่เสมอมา (ท่านเริ่มทำการบินกับ ฮ. ครั้งแรกด้วย ฮ.3 (H-19A) เมื่อเดือน มี.ค.2499 ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายแผนและวิจัย) จนแม้กระทั่งวันสุดท้ายในชีวิตราชการของท่าน คือวันที่ 30 ก.ย.2517 ท่านยังได้ทำการบินกับ ฮ.6 พระที่นั่ง (หมายเลข ๓๒๐๑ หมายเลข ทอ. ฮ.๖-๒๙/๑๕)ด้วยตนเอง และเป็นการบินครั้งสุดท้ายของท่านด้วย
นอกจากนี้ท่านยังได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการบินอากาศยานพระที่นั่ง ไว้ในเรื่อง “ การควบคุม และ บินอากาศยานพระที่นั่ง “ และได้ลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ พระราชภารกิจเกี่ยวกับกองทัพอากาศ “ ซึ่งกล่าวถึงข้อบกพร่องและข้อขัดข้อง ไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดถวายการเสด็จพระราชดำเนิน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีความปลอดภัยในทุกโอกาส ผมเลยขอนำบทความที่ท่านเขียนไว้มาถ่ายทอดให้กับท่านผู้อ่านได้รับทราบ จริงๆท่านเขียนไว้หลายเรื่อง แต่ผมขอเลือกเอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ฮ.6 มาเท่านั้น และเรื่องที่เลือกมานั้นจะเป็นการถวายการบินด้วย ฮ.6 พระที่นั่ง ในปีแรก คือปี 2512 แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นภารกิจแรกเลยหรือเปล่า อันนี้ในบทความของท่านก็ไม่ได้กล่าวไว้ครับ
เรื่องที่ ๓
เสด็จ ฯ ทอดพระเนตรการฝึกทักษิณ ๑๒
ที่ จว.นราธิวาส เมื่อ ๒ ส.ค. ๑๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ จากดอนเมืองโดย บ.ล.๕ พระที่นั่ง ไปยัง จว.สงขลา จาก จว.สงขลา ได้เสด็จพระราชดำเนินและประทับแรมในเรือรบของ ทร. เพื่อทรงร่วมการฝึกจนถึง จว.นราธิวาส โดยทรงร่วมการฝึกยกพลขึ้นบกจากเรือรบขึ้นชายหาด จนถึงสนามบิน จว.นราธิวาส ในตอนเช้าเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกแล้ว ได้เสวยพระกระยาหารกลางวันที่สนามบิน และเสด็จ ฯ จากสนามบิน จว.นราธิวาส กลับ จว.สงขลา โดย ฮ.พระที่นั่ง ในตอนบ่าย
ผบ.ทอ. ได้บิน ฮ.๖ จากสงขลา ไปดูการฝึกทักษิณ ๑๒ ที่ชายหาด จว.นราธิวาส เมื่อนำ ฮ. ลงที่ชายหาดแล้ว ก็มอบให้นักบินนำ ฮ. ไปรอที่สนามบิน จว.นราธิวาส เพื่อรับเสด็จ ฯ กลับในตอนบ่าย
เมื่อตอนบินจากสงขลาไปชายหาดนราธิวาสนั้น ใช้เวลาบิน ๔๐ นาที และเมื่อไปถึงนราธิวาสแล้วไม่ได้เติมเชื้อเพลิง คงบินรับเสด็จ ฯ กลับสงขลาด้วยเชื้อเพลิงที่เหลือนั้น ประกอบกับวันนั้นสภาพอากาศไม่ดี จึงเกิดเป็นข้อบกพร่องขึ้น
ผบ.ทอ. ได้บิน ฮ.พระที่นั่ง ขึ้นจากสนามบินนราธิวาส พร้อมด้วย ฮ. ติดตามอีก ๔ เครื่อง เมื่อบินมาได้ประมาณ ๕ นาที พบว่าสภาพอากาศในเส้นทางบินมีฝนตกอย่างหนัก และมีเมฆหนากับได้รับการติดต่อจาก บ. ตำรวจ ซึ่งบินล่วงหน้าว่า สภาพอากาศในเส้นทางเลวมาก แต่ทางทะเลมีสภาพอากาศดี จึงตัดสินใจบินออกทะเลด้วยความจำเป็น เพื่อหลบเมฆหนาและพายุฝน ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาและบังเส้นทางบินอยู่ข้างหน้า เนื่องจากลมแรงทำให้พัด ฮ. ออกทะเลไปมาก และความเร็วเดินทางลดลงด้วย พอบินมาในทะเลได้ประมาณ ๓๐ นาที ไฟแดงของ Master Caution ก็เปิดขึ้น ผู้โดยสารต่างพากันตกใจ โดยเฉพาะสมุหราชองครักษ์ และ พล.ต. ม.ล. จินดา สนิทวงศ์ แพทย์ประจำพระองค์ ตกพระทัยและตกใจมาก สมุหราชองครักษ์ ถึงกับทรงอุทานว่า เครื่องยนต์จะดับหรือ
ขณะนั้น ฮ. ทั้งหมู่บินอยู่ในระยะสูงประมาณ ๑๔๐๐ ฟุต อยู่ในอาการโคลงเคลงและต้องใช้การบังคับมาก เพราะต้องต่อสู้กับพายุฝนตลอดเวลา การที่ไฟแดงเปิด แสดงถึงมีเชื้อเพลิงเหลือน้อย เพียงประมาณ ๑/๔ ของถัง (๓๐๐ ปอนด์) สามารถบินได้อีกประมาณ ๒๐ นาทีเท่านั้น จึงได้ปิดสวิทช์ไฟและแจ้งผู้โดยสารทราบข้อเท็จจริงว่า ไฟแดงนั้นเป็นการ Warning เรื่องเชื้อเพลิง มิใช่เครื่องยนต์จะดับ และมีเวลาพอที่จะบินถึงสงขลาได้ เพราะเห็นแหลมสงขลาอยู่แล้วไม่ต้องตกใจ
หลังจากนั้น ก็หลุดจากพายุฝนเข้าสู่สภาพอากาศโปร่งเป็นปกติ ปรากฏว่า ฮ. ทั้งหมู่ออกมาห่างฝั่งมาก แต่ยังอยู่ในระยะมองเห็นฝั่งด้วยสายตา และพิจารณาเห็นว่าหากจะบินตัดเข้าฝั่งก่อน แล้วบินเลียบชายฝั่งมาสงขลา จะทำให้เสียเวลาและเชื้อเพลิงอาจไม่พอ จึงตัดสินใจบินตัดตรงข้ามทะเลมายังสงขลาเลยทีเดียว และก็บินถึงสงขลาด้วยความเรียบร้อย
เมื่อนำ ฮ. ลงที่หน่วย ตชด. สงขลาแล้ว จึงทราบว่า บ.ตำรวจ ที่บินตรงมาตามเส้นทางบนพื้นดิน ไม่สามารถฝ่าพายุฝนมาได้ ต้องลงพักระหว่างทาง
ได้สังเกตุดูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ เมื่อไฟแดงที่ Master Caution เปิดขึ้น ไม่ปรากฏว่า ทั้งสองพระองค์ทรงแสดงพระอาการวิตกแต่ประการใด
ส่วนผู้โดยสารอื่นๆ รู้สึกว่า จะตกใจกันมาก เมื่อไฟแดงที่ Master Caution เปิดขึ้น โดยเฉพาะ พล.ต. ม.ล. จินดา สนิทวงศ์ แพทย์ประจำพระองค์ ถึงกับยกพระที่ห้อยคอภาวนาปลุกเศก
ข้อบกพร่องสำหรับ Mission นี้ ก็คือ การที่ไม่ได้เติมเชื้อเพลิงให้เต็มที่ก่อนบินกลับจากสนามบินนราธิวาส ทำให้เชื้อเพลิงเกือบจะไม่พอสำหรับการบินที่ต้องหลบหลีกสภาพอากาศเช่นนี้
แต่ก็ได้คำนวณแล้วว่าถังเชื้อเพลิงเหลือน้อย ก็สามารถที่จะบินถึงสงขลา จุดหมายปลายทางได้โดยปลอดภัย
ครับนี่คือ เรื่องราวที่บันทึกจากประสบการณ์การบิน ฮ. พระที่นั่งถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของท่าน ผบ.ทอ. ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการเข้าประจำการของ ฮ.6 ไม่ถึงหนึ่งปี และได้นำมารวบรวมพิมพ์ไว้อีกครั้งในหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่าน โดยผมก็ได้คงเนื้อหาและรูปแบบของการพิมพ์ไว้ตามต้นฉบับเดิม จริงๆแล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้นำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ คงต้องรบกวนท่านที่สนใจไปลองหามาอ่านกันดู แต่คิดว่าอาจจะหายากสักหน่อย เพราะเป็นหนังสือที่พิมพ์มาตั้งแต่ปี 2519 แล้ว
.
กลับมาที่เรื่อง ฮ.6 พระที่นั่ง หมายเลข ๓๒๐๑ ต่อครับ ฮ. เครื่องนี้ได้ปฏิบัติภารกิจในการบินรับ-ส่งเสด็จ ฯ อยู่ได้สามปี ก็ต้องปรับระดับมาเป็น ฮ.พระที่นั่งสำรอง เนื่องจากในปี 2515 นั้น ทอ.ไทย ได้รับ ฮ.6 เพิ่มขึ้นอีก 5 เครื่อง จึงมีการพิจารณาเห็นควรว่าจะต้องจัด ฮ. ในชุดนี้มาทดแทน ฮ. พระที่นั่งเครื่องเดิม เพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยสูงสุด แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
และจากที่มีข้อกำหนดของ ทอ.(ในขณะนั้น)ว่า ฮ.6 จะต้องทำการเปลี่ยนเครื่องยนต์ เมื่ออายุครบ 1,200 ชั่วโมง แต่สำหรับ ฮ.6 พระที่นั่งแล้ว จะต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์เมื่ออายุครบ 200 ชั่วโมง และ ฮ.6 พระที่นั่งหมายเลข ๓๒๐๑ (ฮ.๖-๗/๑๒) ในขณะก็นั้นมีอายุการใช้งานมาแล้ว 854.05 ชั่วโมง จึงเห็นควรให้จัด ฮ. ในชุดนี้จำนวน 1 เครื่องคือ ฮ.6 หมายเลข ทอ. “ ฮ.๖-๒๙/๑๕ ” (หมายเลขสหรัฐฯ 71 - 20204) มาแทน ฮ. พระที่นั่งเครื่องเดิม ซึ่งถ้ามองดูที่หมายเลขของสหรัฐฯ ก็จะเห็นว่า ฮ. ลำใหม่นี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1971 หรือปี 2514 นั่นเอง ก็เรียกว่าใหม่เอี่ยมเลยทีเดียว เพราะเพิ่งมีอายุการใช้งานทั้งตัว ฮ. และเครื่องยนต์แค่ 12.4 ชั่วโมงเท่านั้นเอง โดย ฮ.6 พระที่นั่งเครื่องใหม่ได้รับการกำหนดให้ใช้หมายเลขฝูงคือ ๓๒๐๑
ส่วน ฮ.6 พระที่นั่งเครื่องเดิมที่เคยมีหมายเลขฝูง ๓๒๐๑ (ฮ.๖-๗/๑๒)นั้น ก็ให้เปลี่ยนเป็นหมายเลข ๓๒๐๒ และให้ปรับใช้เป็น ฮ.พระที่นั่งสำรอง โดย ฮ.6 พระที่นั่งหมายเลข ๓๒๐๑(ฮ.๖-๒๙/๑๕)นั้น ถูกใช้ถวายภารกิจการบินรับ - ส่งเสด็จ ฯ อยู่จนกระทั่งถึงปี 2519 จึงได้เลิกใช้งานในภารกิจนี้ เนื่องจากได้มีการจัดหา ฮ.พระที่นั่ง แบบใหม่คือ UH-1N หรือ ฮ.6 ก มาใช้ถวายภารกิจการบินรับ - ส่งเสด็จ ฯ แทน โดยในขณะนั้น ฮ.6 พระที่นั่งหมายเลข ๓๒๐๑ (ฮ.๖-๒๙/๑๕) มีอายุการใช้งานรวม 828 ชั่วโมง และได้ให้ ฮ.6 พระที่นั่งเดิม ทั้งสองเครื่องคือ หมายเลข ๓๒๐๑ และหมายเลข ๓๒๐๒ เปลี่ยนมาใช้งานในภารกิจลำเลียงทางอากาศ โดยมีหมายเลข ๒๐๓๔๗ และหมายเลข ๒๐๓๓๗ ตามลำดับ
แต่โดยส่วนตัวผมเองเข้าใจว่าในขณะนั้น ฮ. ทั้งสองเครื่องก็ยังคงจะต้องใช้ในการสนับสนุนภารกิจการบินรับ - ส่งเสด็จ ฯ ต่อไปด้วย โดยทำหน้าที่เป็น ฮ. ติดตามในขบวนเสด็จ ฯ เนื่องจากในการเสด็จ ฯ แต่ละครั้ง จะมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากร่วมตามเสด็จ ฯ ไปด้วย ดังนั้น ทอ. จึงต้องจัด ฮ. ติดตามในขบวนเสด็จ ฯ ไปอีกประมาณ 2 - 3 เครื่อง (นี่ไม่รวมถึง ฮ. ของ ทบ. และ ตร. ที่จะต้องนำคณะส่วนล่วงหน้าและส่วนที่จะต้องถวายความปลอดภัยไปลงก่อน เนื่องจากพื้นที่ที่เสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ และราษฎรนั้น ล้วนแต่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล บางพื้นที่ก็อยู่ในเขตอิทธิพลของ ผกค. ทำให้บางครั้งจะมี ฮ. ของทุกหน่วยรวมกันมากถึง 12 เครื่อง)
สำหรับในปี 2522 - 2523 กองทัพอากาศได้ถวายการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ตามหลักสูตรของ รร.การบิน กองทัพอากาศ แด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยใช้ ฮ.6 หมายเลข ๒๐๓๓๔ (ฮ.๖-๑๗/๑๒) ด้วย
และนี่ก็คงเป็นเรื่องราวเพียงบางส่วนของ ฮ.6 ของกองทัพอากาศไทย ที่ได้เคยถวายภารกิจการบินรับ-ส่งเสด็จ ฯ ในฐานะเป็น “เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างปี 2512 ถึงปี 2519 แม้จะเป็นเวลาประมาณ 7 ปี แต่บัดนี้เวลาก็ล่วงเลยมา 40 ปีแล้ว คนในยุคปัจจุบันน้อยคนที่จะได้รับทราบเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ก็หวังว่าในอนาคตเมื่อ ฮ.6 หมายเลข ๒๐๓๓๗ (ฮ.๖-๗/๑๒) ซึ่งเคยใช้เป็น ฮ.พระที่นั่งในอดีต ต้องปลดประจำการแล้ว ก็อยากจะให้นำเข้าไปเก็บไว้พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ พร้อมทั้งทำการปรับปรุงสภาพภายนอก(และภายใน ถ้าทำได้)ให้เป็นเหมือนในอดีต ครั้งที่ได้เคยเป็น ฮ.พระที่นั่ง ด้วยก็น่าจะดีครับ และท้ายนี้ขอเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนของ ผู้บังคับฝูงบิน ฮ.6 ท่านแรกของกองทัพอากาศไทย (ฝูง.32 บน.3) ไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติ ซึ่งท่านก็คือ ร.อ.ถาวร เกิดสินธุ์
...................................................................................................
เอกสารอ้างอิง
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา. 2519.
โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารอากาศ บางซื่อ กรุงเทพฯ.
เป็นบทความที่ทรงคุณค่าขออนุญาตเซฟเก็บไว้ครับ
ต้องขอโทษคุณนก ด้วยครับ มัวแต่รีบส่งบทความกับรูป เลยไม่ทันได้ดูที่คุณนกบอก พอดีคิดว่าอยากจะแยกเป็นเรื่องๆไปครับ แต่อย่างงั้นผมขอให้ช่วยนำเรื่องทั้งหมดไปรวมไว้ที่กระทู้ปักหมุดด้วยครับ และขอช่วยให้เปลี่ยนชื่อกระทู้จาก TWINNY STORY ให้เป็น RTAF AIRCRAFT STOY ด้วยครับ
ขอบคุณครับ / ASI S.
เป็น " RTAF AIRCRAFT STORY " ขอโทษทีครับพิมพ์ผิด
TWINNY STORY |
|||||
Ranking : 0 คะแนน |
รายละเอียด :
ผมต้องขออนุญาตท่านเจ้าบ้าน เพื่อขอใช้พื้นที่นำเสนอเรื่องราวของอากาศยานไทย ซึ่งเป็นงานเขียนที่ได้เคยนำลงในหนังสือแทงโก จุดประสงค์เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของอากาศยานไทยในอดีต (แต่จะยกเว้นเรื่องของ ฮ.6 ที่ยังเป็นอากาศยานที่ยังประจำการอยู่) เผื่อบางท่านที่อาจยังไม่เคยได้อ่านจากในหนังสือ สำหรับการนำมาลงนั้น คงจะต้องค่อยๆ ทยอยนำมาลง ภายหลังจากที่หนังสือวางตลาดไปแล้วประมาณ 6 เดือนขึ้นไป และคงต้องขอขอบคุณท่านเจ้าบ้านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ |
||||
![]() |
|||||
โดยคุณ : onn40 ( อ่าน : 272 / ตอบ : ) วันที่ : 2011-04-25 15:03:49 | |||||
(กระทู้ : / ตอบ : ) Ranking : 0 คะแนน |
Re : TWINNY STORY TWINNY STORY BY ASI S. ย้อนกลับไปเมื่อปี 2530 ท่านที่เป็นทหารอากาศ และที่ไม่ใช่ทหารอากาศแต่เป็นผู้ที่มีใจรักในด้านการบิน ก็คงจะจดจำชื่อหมู่บินผาดแผลง “ แสนเมือง “ ของกองทัพอากาศไทย ได้ดี เพราะในวันที่ 27 มี.ค.30 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 72 ปี ของกองทัพอากาศ นั้น หมู่บินนี้ซึ่งใช้ บ.ฝ.12 (T-37) จำนวน 4 เครื่อง ได้ทำการบินแสดงให้ชาวทหารอากาศและประชาชนชม ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นคงเป็นเหตุการณ์ที่หลายคนต้องจะจดจำไปอีกนาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุการชนกันกลางอากาศเหนือสนามบินดอนเมือง ภาพ บ.ฝ.12 ที่พวงหางขาดออกจากลำตัว พลิกตกจากท้องฟ้าเหมือนใบไม้ร่วง โดยมีร่มชูชีพกางออกมาเพียงร่มเดียว เป็นภาพที่สร้างความตกใจให้กับผู้เห็นเหตุการณ์ทุกคน และหลังจากวันนั้นหมู่บินผาดแผลง “ แสนเมือง “ ที่ทำการบินด้วย บ.ฝ.12 มายาวนานกว่า 20 ปี ก็ไม่เคยแสดงการบินผาดแผลง(อย่างเป็นทางการ)ให้เห็นอีกเลย T-37 B (Tweet หรือ Tweety Bird) เป็นหนึ่งในความช่วยเหลือทางทหารตามโครงการ MAP ของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศไทย โดยได้รับมาเมื่อเดือน ส.ค.04 และได้รับการกำหนดชื่อว่า บ.ฝ.12 (เครื่องบินฝึกแบบที่ 12) ซึ่งภายหลังจากการตรวจรับและเข้าประจำการไปเมื่อเดือน ก.ย.04 แล้ว ภายหลังจึงได้จัดให้มีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มี.ค.05 พร้อมๆกับ บ.ข.17 (F-86F Sabre) อีกจำนวน 20 เครื่อง ของฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 12 กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง โดยมีผู้แทนฝ่ายไทยคือ พล.อ.ถนอม กิตติขจร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับมอบจากผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ คือ อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย บ.ฝ.12 จำนวน 8 เครื่องนี้ถือว่าเป็น เครื่องบินฝึกไอพ่นสำหรับศิษย์การบินแบบแรกของ ทอ. ก็ว่าได้ เนื่องจาก บ.ฝ.11 หรือ T-33 ของฝูงบินที่10 (11) กองบินน้อยที่ 1 ที่ได้รับมาก่อนหน้าในปี 2498 นั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อฝึกบินให้กับศิษย์การบินของ รร.การบิน แต่มีภารกิจในการฝึกเปลี่ยนแบบสู่ บ.ไอพ่น (Jet Transition) สำหรับนักบินขับไล่ที่เคยทำการบินกับ บ.ขับไล่ใบพัดก่อนที่จะเปลี่ยนแบบไปทำการบินกับ บ.ขับไล่ไอพ่น บ.ฝ.12 ทั้ง 8 เครื่อง ได้รับการบรรจุในฝูงฝึกขั้นปลาย รร.การบิน โคราช เพื่อใช้ฝึกบินศิษย์การบินชั้นมัธยม เป็นจำนวนประมาณ 115 ชั่วโมง ก่อนที่จะสำเร็จไปเป็นนักบินประจำกองเพื่อทำการบินกับ บ.ไอพ่น ในฝูงบินรบต่อไป ซึ่งศิษย์การบินรุ่นแรกที่ได้ทำการฝึกบินกับ บ.ฝ.12 คือ รุ่น น.28 - 05 - 1 โดยในการฝึกบินจะประกอบไปด้วย การบินเกาะภูมิประเทศ การบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน การบินเดินทาง การบินหมู่ การบินกลางคืน และการบินด้วยเครื่องฝึกบินจำลอง |
||||
![]() |
|||||
โดยคุณ : onn40 วันที่ : 2011-04-25 02:22:58 | |||||
(กระทู้ : / ตอบ : ) Ranking : 0 คะแนน |
Re : TWINNY STORY ซึ่งได้มีการตั้งชื่อเรียก บ.ฝ.12 นี้ว่า “ ทวินนี่ “ (Twinny) เพราะว่าในสมัยก่อน บ.ที่ใช้ฝึกศิษย์การบินทุกแบบจะมีการจัดที่นั่งแบบเรียงตามกัน (Tandem) โดยศิษย์การบินจะนั่งในตำแหน่งหน้าและครูการบินจะอยู่ตำแหน่งด้านหลังซึ่งทำให้มีความยุ่งยากในการฝึกและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่กับ บ.ฝ.12 นั้น นับเป็น บ.ฝึกแบบแรกของ ทอ.ไทย ที่มีการจัดที่นั่งแบบเคียงกัน (Side by Side) ทำให้ศิษย์การบินและครูการบินได้นั่งอยู่คู่กัน เปรียบเสมือนเป็นคู่แฝด (Twin) เนื่องจากศิษย์การบินที่ผ่านการฝึกจากชั้นประถมด้วย บ.ฝึกใบพัด ยังมีประสบการณ์การบินน้อย เมื่อต้องมาทำการฝึกในชั้นมัธยมกับ บ.ไอพ่นที่มีความเร็วสูง การมีครูการบินนั่งอยู่ข้างๆจะสามารถช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นและยังช่วยแก้ไขปัญหาในยามเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย ในปี 2513 ได้มีการรับมอบ บ.ฝ.12 เพิ่มเติมอีกจำนวน 6 เครื่อง โดยเป็น บ.ในรุ่น T-37C ซึ่ง บ.ชุดนี้ตามข้อมูลนั้นระบุว่าเป็นการจัดซื้อจากสหรัฐฯ (หรือจะเป็นการรับมอบตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร อันนี้ไม่ทราบแน่ชัด) และเป็น บ.ใหม่ ไม่ใช่ บ.ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เหมือนชุดที่รับมาในปี 2504 (รวมทั้งในปี 2515 และ 2523 ด้วย) เพราะว่าก่อนหน้านี้ บ.ฝ.12 ที่มีอยู่นั้น (มี บ. ต้องจำหน่ายในปี 2510 , 2511 จำนวน 2 เครื่อง จากอุบัติเหตุระหว่างการฝึกบิน) ไม่เพียงพอต่อจำนวนศิษย์การบินที่เข้ารับการฝึก แม้ว่าในขณะนั้นฝูงฝึกขั้นปลายจะมี บ.ฝ.11 (T-33) บรรจุอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง (แบ่งมาจาก ฝูง.11 บน.1) แต่ก็ใช้สำหรับการฝึกในขั้นที่สูงกว่าเพื่อให้มีความพร้อมก่อนที่จะจบไปบรรจุเป็นนักบินขับไล่ไอพ่นต่อไป |
||||
![]() ![]() |
|||||
โดยคุณ : onn40 วันที่ : 2011-04-25 02:26:59 | |||||
(กระทู้ : / ตอบ : ) Ranking : 0 คะแนน |
Re : TWINNY STORY นอกจากภารกิจการฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยมแล้ว บ.ฝ.12 ยังได้รับภารกิจให้จัดการบินผาดแผลงหมู่ และผาดแผลงเดี่ยว เพื่อทำการแสดงในระหว่างการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศประจำปี ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จ.ลพบุรี อีกด้วย ซึ่งเท่าที่ผมมีข้อมูลที่เก่าที่สุดอยู่ก็คือ ในการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ประจำปี 2511 โดยเป็นการบินผาดแผลงหมู่ 4 ในวันเปิดการแข่งขันฯ (ในวันนั้นยังมีการแสดงการบินผาดแผลงหมู่ 4 อีก 2 หมู่บิน คือ บ.ฝ.8 (T-6) จากฝูง.53 บน.5 และ บ.ฝ.13 (T-28D) จากฝูง.224 บน.2 ด้วย) และในการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ประจำปี 2512 (ซึ่งในช่วงนั้น รร.การบิน ได้ย้ายจากโคราช มาเข้าที่ตั้งใหม่ ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม แล้ว) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ ฯ ไปทรงทอดพระเนตรการแข่งขันฯ ด้วย โดย ทอ. ได้จัดการแสดงการบิน และการสาธิตการใช้อาวุธ ถวายให้ทอดพระเนตร และอีกครั้งในการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ประจำปี 2514 ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ได้เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรการแข่งขันฯ ในวันที่ 24 พ.ย.14 ซึ่งในครั้งนี้ในส่วนของการจัดแสดงการบิน ได้มีการจัดแสดงการบินผาดแผลงหมู่ ของ บ.ฝ.12 จำนวน 7 เครื่อง และการบินผาดแผลงเดี่ยวอีกหนึ่งเครื่อง ถวายให้ทอดพระเนตรอีกด้วย ในการจัดแสดงการบินผาดแผลงหมู่ของ บ.ฝ.12 ในปี 2514 นั้น นักบินที่ทำการบินนั้นจะคัดเลือกจากครูการบินของฝูงฝึกขั้นปลายและครูการบินอาวุโสของ รร.การบิน ที่มีประสบการณ์และมีชั่วโมงบินสูง มาทำการฝึกซ้อมกันอย่างหนักเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งรายชื่อนักบินจำนวน 9 ท่านที่ได้ทำการบินแสดงนั้นประกอบไปด้วย หมายเลข 1 น.ต.วรนาถ อภิจารี (หัวหน้าหมู่บิน) , หมายเลข 2 ร.ท.เฉลิม ชุ่มชื่นสุข (ปีกขวา) , หมายเลข 3 ร.อ.ธานี เอี่ยมจ้อย และ ร.ต.สมพันธ์ แฉล้มเขต (ปีกซ้าย) , หมายเลข 4 ร.ท.พีระ บูรณศิลปิน (Slot) , หมายเลข 5 ร.ท.กมล รัศมิทัต (ปีกนอกซ้าย) , หมายเลข 6 ร.อ.ประพัฒน์ วีณะคุปต์ (ปีกนอกขวา) และหมายเลข 7 ร.อ.ปรีชา นิยมไทย (Second Slot) โดยมีหมายเลข 8 ร.อ.วีระวุธ ลวะเปารยะ เป็นผู้ทำการบินผาดแผลงเดี่ยว (Solo) โดยการบินผาดแผลงหมู่นั้นจะจัดรูปขบวนการบินแบบ Swan และ Arrow Head ซึ่งท่าบินสำหรับทำการแสดงจะประกอบไปด้วย การทำ Loop , Barell Roll , เลี้ยวปีกลึกในระยะต่ำ , Cloverleaf และท่า Bomb Shell ในปี 2515 ทอ. ได้รับมอบ บ. T-37B จำนวน 2 เครื่อง และในปี 2523 ก็ได้รับมอบ บ. T-37B เพิ่มเติมเป็นครั้งสุดท้ายอีก 6 เครื่อง โดยมีพิธีรับมอบ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.23 ซึ่งเป็น บ. ทั้ง 2 ชุดนี้ เป็น บ.เก่าที่เคยใช้งานอยู่ใน ทอ.สหรัฐฯ แต่ก็ได้รับการปรับปรุงสภาพก่อนการส่งมอบให้ ทอ.ไทย เพื่อใช้งานต่อ ซึ่งนอกจากการใช้งานสำหรับฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยมแล้ว ในปี 2524 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเข้ารับการฝึกบินกับ บ.ฝ.12 ตามหลักสูตรของกองทัพอากาศ ในระหว่างเดือน มี.ค. - ต.ค. โดย รร.การบิน ได้จัด บ.ฝ.12 หมายเลข 21 (บ.ฝ.12-21/23) ถวายในระหว่างทรงทำการฝึกบิน และทรงมีชั่วโมงบินกับ บ.ฝ.12 ทั้งสิ้น 240 ชั่วโมง สำหรับภารกิจการแสดงการบินผาดแผลงหมู่เนื่องในโอกาสพิเศษอย่างเช่น มี ผบ.ทอ. ต่างชาติเข้าเยี่ยมชมกิจการของ รร.การบิน หรือโอกาสอื่นๆ ก็จะทำการแสดงการบินอยู่เรื่อยมา และในปี 2526 จึงได้รับการตั้งชื่อหมู่บินผาดแผลงนี้อย่างเป็นทางการว่า “ แสนเมือง ” และที่เป็นเกียรติประวัติสำคัญคือ การได้มีโอกาสทำการบินแสดงต่อหน้าพระพักตร์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในระหว่างการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ประจำปี 2526 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.26 ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายที่หมู่บินแสนเมือง ได้ทำการแสดงการบินถวายให้ทรงทอดพระเนตร ภายหลังจากที่ได้ใช้ทำการฝึกศิษย์การบินมาเป็นเวลากว่า 35 ปี และสร้างนักบินรบให้กับ ทอ. เป็นจำนวนมาก ก็ได้ถึงเวลาที่จะต้องปลดประจำการจาก ทอ. ซึ่งเหตุผลก็เพื่อความปลอดภัยต่อศิษย์การบินและครูการบิน และจากการที่ ทอ. ได้จัดซื้อ บ.ฝึกแบบใหม่ซึ่งมีความทันสมัยและสามารถใช้ทดแทนการฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยมด้วย บ.ไอพ่น ได้คือ PC-9 หรือ บ.ฝ.19 ซึ่งมีจำนวนเพียงพอที่จะใช้ฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยมแล้ว จึงได้ทำการปลดประจำการ บ.ฝ.12 ในปี 2539 และแม้ว่าในทุกวันนี้หลายๆคนอาจยังจดจำท่วงท่าการบินที่สวยงามของหมู่บินแสนเมืองได้ และอยากให้มีการจัดตั้งหมู่บินผาดแผลงขึ้นมาอีกครั้งในนาม “ แสนเมือง ” โดยใช้ บ.ฝ.19 แต่เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยด้านต่างๆในปัจจุบันนี้แล้ว ก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้ว ................................................................................... |
||||
![]() ![]() |
|||||
โดยคุณ : onn40 วันที่ : 2011-04-25 15:19:27 | |||||
![]() (กระทู้ : / ตอบ : ) Ranking : 1 คะแนน |
Re : TWINNY STORY ผมได้ทำการย้ายมาเป็นกระทู้ปักหมุดให้นะครับ เพราะเป็นบทความที่ให้ความรู้เป็นอย่างดีและถ้ามีเรื่องต่อๆไป ตามที่เจ้าของกระทู้ได้บอกไว้ ขอให้นำมาลงที่กระทู้นี้ต่อเนื่องได้เลยครับ |
||||
โดยคุณ : nok วันที่ : 2011-04-25 03:25:35 | |||||
(กระทู้ : / ตอบ : ) Ranking : 0 คะแนน |
Re : TWINNY STORY ขอบคุณมากครับ เดี๋ยวผมจะได้ลงเรื่อง ฮ.6 ต่อไปเลย |
โดยคุณ : onn40 วันที่ : 2011-04-25 03:42:41 | |
บทความดีมีประโยชน์จริงๆครับ ว่าแต่ อีตาnok เพื่อนLove ไม่เอาเรือง อารายหว่า มาแจมมั่งเหรอครับ เผื่อมีประโยชน์แก่เพื่อนฝูงลูกหลานได้ชมกัน
สำหรับเรื่องที่นำมาลงทั้ง 3 เรื่องนั้น ได้เคยตีพิมพ์ไว้ในนิตยสารแทงโก ดังต่อไปนี้
RTAF HUEY STORY #1 ในฉบับที่ 216 เดือน ก.ย.53
RTAF HUEY STORY #2 ในฉบับที่ 217 เดือน ต.ค.53
TWINNY STORY ในฉบับที่ 218 เดือน พ.ย.53
และเรื่องที่คุณ ddd2521 นั้นอยากให้นำมาลงนั้น จะต้องลงตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโกก่อน จากนั้นอีกประมาณ 6 เดือน ผมจะนำมาลงต่อไว้ในกระทู้นี้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
TROJAN STORY (T-28D) ในฉบับที่ 224 เดือน พ.ค.54
THUNDERJET STORY (F-84G) ในฉบับที่ 225 เดือน มิ.ย.54
SABRE STORY (F-86F) ในฉบับที่ 226 เดือน ก.ค.54
ส่วนเรื่อง T-33 และเรื่องอื่นๆ นั้น อยู่ในโครงการเขียนต่อไปครับ
ซึ่งถ้าต้องการชมก่อน คงต้องรบกวนให้ซื้ออ่านครับ และเหตุผลที่ต้องทำแบบนี้นั้นก็เพื่อความเหมาะสม เพราะนโยบายของนิตยสารแทงโกนั้น ไม่ใช่ ทำเพื่อธุรกิจหรือหวังผลกำไรจากการขาย แต่เพื่อให้คนรักการบินได้รับความรู้รวมถึงข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และเพื่อให้หนังสือยังอยู่ต่อไปได้ จึงต้องมีผู้สนับสนุนซึ่งก็คือ ผู้อ่าน นั่นเองครับ และต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ได้เข้ามาชม ซึ่งกระทู้นี้ก็จะอัพเดทเรื่องใหม่ไปทุกเดือนครับ
.
DRAGONFLY STORY BY ASI S.
A-37 B DRAGONFLY เป็นเครื่องบินโจมตีขนาดเบา ซึ่งบริษัท CESSNA ได้ทำการพัฒนามาจาก บ.ฝึก แบบ T-37 ตามความต้องการของ ทอ.สหรัฐฯ ในปี 2506 ที่ต้องการเครื่องบินที่ใช้สำหรับปราบปรามผู้ก่อการร้ายโดยใช้ระยะทางวิ่งขึ้นสั้นหรือสามารถวิ่งขึ้นจากสนามบินชั่วคราวได้ โดยได้มีการออกแบบปีกใหม่และติดตั้งเครื่องยนต์แบบเทอร์โบเจ็ตที่ให้กำลังขับสูงกว่า T-37 และ ทอ.สหรัฐฯ ได้กำหนดชื่อว่า A-37 A โดยได้มีการนำไปทดสอบสมรรถนะทางการรบในเวียดนาม ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ต่อมาในปี 2510 ก็ได้รับการพัฒนาต่อไปเป็นรุ่น A-37 B ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ที่มีกำลังขับสูงขึ้นและได้รับการสั่งสร้างจำนวน 577 เครื่องเพื่อใช้งานใน ทอ.สหรัฐฯ และมอบให้กับชาติพันธมิตร
A-37 B ได้รับการออกแบบให้สามารถติดตั้งอาวุธได้หลายชนิด ซึ่งนอกจากปืนกลอากาศขนาด7.62 มม. ชนิด 6 ลำกล้องแบบ GAU-2 B/A Minigun ที่ติดตั้งอยู่ภายในส่วนหัวของเครื่อง โดยมีอัตราการยิงที่ 3,000 นัด/นาที และสามารถบรรทุกกระสุนไปได้ครั้งละ 1,500 นัดแล้ว ใต้ปีกทั้งสองข้างยังมีไพล่อนสำหรับติดตั้งอาวุธรวมจำนวน 8 ตำแหน่ง (หรือ 8 ตำบล) แต่ใน ทอ.ไทย จะเรียกตำแหน่งติดตั้งอาวุธนี้ว่า Station โดยนับจากตำแหน่งนอกสุดของปีกซ้ายเป็น Station 1 และนับต่อเรื่อยไปจนถึงตำแหน่งนอกสุดของปีกขวาเป็น Station 8 แต่สำหรับ Station 3 และ Station 6 นั้นจะสงวนไว้ใช้เฉพาะการติดตั้งถังเชื้อเพลิงชนิดปลดทิ้งได้ขนาด 100 แกลลอนเท่านั้น ซึ่งถังเชื้อเพลิงทั้ง 2 ถังนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการติดตั้งอย่างถาวรเลย (ลองดูภาพ บ.จ.6 ของ ทอ.ไทย ทุกภาพจะต้องเห็น 2 ถังนี้ติดตั้งอยู่ตลอด) ดังนั้นก็จะเหลือตำแหน่งติดตั้งอาวุธจำนวน 6 Station ซึ่งอาวุธที่นำมาติดตั้งนั้นก็มีหลายชนิดทั้งลูกระเบิดทำลาย , ระเบิดเพลิงหรือนาปาล์ม , กระเปาะจรวดขนาด 2.75 นิ้ว และอาวุธอื่นๆ รวมน้ำหนักอาวุธสูงสุด 5,680 ปอนด์
ในปี 2515 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มอบ บ. A-37 B จำนวน 17 เครื่องให้กับ ทอ.ไทย ซึ่งในเรื่องที่มาของการได้รับนั้น ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าเป็นการจัดซื้อแบบ FMS (Foreign Military Sales) จากสหรัฐฯ ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่ว่า ก็น่าจะเหมือนการจัดซื้อ บ.จ.5 (OV-10 C) ในปี 2514 แต่จากเท่าที่ค้นหาข้อมูลจากหลายๆแหล่งก็ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการจัดซื้อ และในปี 2515 เองนั้น ทอ.ไทย ก็ยังคงได้รับมอบอากาศยานแบบอื่นๆจากสหรัฐฯ ตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร (แบบให้เปล่า) อยู่อีกด้วย ดังนั้นก็คงน่าจะเป็นการมอบให้มากกว่าที่จะเป็นการจัดซื้อ (อีกทั้งในตอนนั้น ทอ.เวียดนามใต้ ก็ยังได้รับมอบ A-37 B จากสหรัฐฯ จำนวนมากถึง 254 เครื่อง) โดยได้มีการส่งมาทำการประกอบที่ศูนย์ซ่อมอากาศยาน กรมช่างอากาศ ดอนเมือง ในระหว่างเดือน ก.ค.- ส.ค.15 ซึ่งเมื่อทำการประกอบและทดสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ส่งให้ไปบรรจุในฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 43 กองบิน 4 ตาคลี เพื่อใช้ทำการฝึกนักบินที่ได้เปลี่ยนแบบให้มาบินกับ A-37 B ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเคยทำการบินกับ บ.ข.17 (F-86 F) มาก่อน ในระหว่างนั้น ผบ.ทอ. (พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา) ก็ได้มาทำการบินทดสอบกับ A-37 B อยู่หลายเที่ยวบินก่อนที่จะมีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 29 ก.ย.15 ที่ลานจอดอากาศยาน กองบัญชาการกองทัพอากาศ โดยมีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนส่งมอบในนามรัฐบาลสหรัฐฯ และมี จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทนรับมอบในนามรัฐบาลไทย และได้รับการกำหนดชื่อให้เป็น เครื่องบินโจมตีแบบที่ 6 หรือ บ.จ.6
ฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 43 หรือ ฝูง.43 ในยุคของ บ.จ.6 นั้น มี น.ท.กันต์ พิมานทิพย์ เป็นผู้บังคับฝูงบินท่านแรก (ท่านเป็นผู้ฝูง บ.ข.17 ท่านสุดท้ายของ ทอ.ไทย และยังเป็นผู้ฝูง บ.จ.6 ท่านแรกของ ทอ.ไทย) ซึ่งนามเรียกขาน (Callsign) ของฝูง.43 นี้ใช้คำว่า “Cobra” ส่วนคำขวัญของ บ.จ.6 ในขณะประจำการในฝูง.43 นั้นคือคำว่า “ Small But Deadly” (ซึ่งคงจะพอแปลความหมายได้ว่า ถึงตัวจะเล็กแต่ก็มีพิษสงที่ทำให้ถึงตายได้) เมื่อได้เข้าประจำการในฝูง.43 แล้ว ภารกิจแรกนั่นคือการฝึกนักบินพร้อมรบ (Combat Ready) ให้มีจำนวนเพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจ เพราะในขณะนั้นการสู้รบกับ ผกค. ก็ยังคงดำเนินไปอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และในต้นเดือน พ.ย.15 ฝูง.43 ได้ส่งหมู่บิน บ.จ.6 เข้าร่วมในการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศประจำปีเป็นครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งในการเข้าแข่งขันในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะต้องออกไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่การรบจริง ในเดือน ม.ค.16 ฝูง.43 ได้ส่ง บ.จ.6 ออกไปปฏิบัติภารกิจเป็นครั้งแรก โดยจัดหน่วยบินที่ 432 ซึ่งเป็นหน่วยบินเฉพาะกิจ (ฉก.243) ออกไปปฏิบัติการโดยประจำอยู่ที่ฐานบินนครพนม โดยมีภารกิจการบินลาดตระเวนทางอากาศและการโจมตีทางอากาศสนับสนุน กอ.ปค.เขต 2 (กองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์) โดยมีพื้นที่รับผิดชอบแถบ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ในส่วนของหน่วยที่ตั้งปกติที่ฝูง.43 ตาคลี นั้น ตั้งแต่เดือน ม.ค.16 เป็นต้นมา ก็ได้ส่ง บ.จ.6 ไปทำการบินโจมตีทางอากาศ เพื่อทำลายฐานปฏิบัติการและกองกำลังตลอดจนแหล่งสะสมเสบียงของ ผกค. เพื่อสนับสนุน กอ.ฝร.16 (กองอำนวยการฝึกร่วมปี 16 , ซึ่งเป็นการฝึกแบบปฏิบัติในสถานการณ์จริง เพื่อสนับสนุนการปราบปราม ผกค. ของหน่วยภาคพื้นภายในห้วงระยะเวลาและเพื่อเป็นการพัฒนาแนวคิดในระบบการรบร่วมอากาศ - ภาคพื้น) ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจให้เข้าพิสูจน์ทราบ ทำลาย ริดรอนกำลังและอิทธิพลของ ผกค. ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก,จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย ซึ่งสถานการณ์ในภาพรวมมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารมากกว่าพื้นที่อื่น โดยพื้นที่ที่เรามักคุ้นชื่อกันดีก็คือ เขาค้อและภูหินร่องกล้านั่นเอง ซึ่งในเวลาต่อมาก็ยังคงต้องใช้ บ.จ. 6 เข้าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายแถบนี้อย่างต่อเนื่องมาอีกหลายปี
นอกจากนี้ในภาคตะวันออก ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้ใช้ บ.จ.6 เข้าทำการโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นและแหล่งสะสมเสบียงของ ผกค. ซึ่งในแถบนี้นั้นจะเป็นที่ตั้งของกองกำลัง ผกค. เขตงาน 404 ที่ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากจีนแดงผ่านมาทางกองกำลังเขมรแดง นอกจากนี้ ผกค. ในเขตนี้บางส่วนยังมีการเข้าไปตั้งฐานที่มั่นและแหล่งสะสมเสบียงอยู่ในเขตกัมพูชาอีกด้วย ซี่งจังหวัดที่มีพื้นที่ที่ติดกับประเทศกัมพูชาอย่าง จ.ปราจีนบุรี (ในเวลานั้น) แถบด้าน อ.ตาพระยา และ อ.อรัญประเทศ จะเป็นพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของกองกำลัง ผกค. ในเขตงานนี้ ซึ่งในการปฏิบัติการนั้น บ.จ.6 ของฝูง.403 จะบินตรงมาจากตาคลี เพื่อเข้าทำการโจมตีทางอากาศและเมื่อเสร็จภารกิจก็จะบินกลับตาคลี
ในปี 2520 ฝูงบิน 43 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นฝูงบิน 403 โดยที่ยังคงใช้ บ.จ.6 ปฏิบัติภารกิจต่อไปตามเดิม แต่ในกลางปี 2523 ทอ. ได้มีการพิจารณาปรับวางกำลังทางอากาศขึ้นใหม่ โดยให้ยุบรวมฝูงบินโจมตีแบบ บ.จฝ.13 (T-28 D) จากเดิมที่เคยมีอยู่ 2 ฝูงบินคือ ฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 211 (อุบลฯ) และฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 231 (อุดรฯ) ให้เหลือเป็นฝูงบินเดียว โดยนำ บ.จฝ.13 ของฝูง.211 ไปรวมไว้ที่ ฝูง.231 และฝูง.211 นั้นก็ได้รับโอน บ.จ.6 จากฝูง.403 มาใช้งานแทน โดยยังคงใช้นามเรียกขานว่า “ Eagle” ตามเดิมเหมือนที่ ฝูง.211 เคยใช้มาตั้งแต่ครั้งที่ยังประจำการด้วย บ.จฝ.13 (ปี 2520 - 2523) ส่วนคำขวัญของ บ.จ.6 ในช่วงที่ได้ประจำการในฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 211 นั้นก็ได้ใช้คำว่า “ On Time On Target “ ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ ตรงเวลา ตรงเป้าหมาย “ นั่นเอง (จริงๆแล้วความหมายนั้นสามารถจะอธิบายได้มากกว่านี้ครับ แต่ก็ขอเอาสั้นๆงายๆแบบนี้หละครับ)
เมื่อ บ.จ.6 ได้ย้ายมาอยู่ที่อุบลฯ ภารกิจนั้นได้มีความแตกต่างจากเดิมที่เคยเป็นการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกองกำลัง ผกค. เปลี่ยนมาเป็นการโจมตีทางอากาศต่อกองกำลังต่างชาติที่ทำการรุกล้ำอธิปไตยของไทยในพื้นที่ด้านอิสานใต้ ตั้งแต่ จ.อุบลฯ เรื่อยไปจนถึง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา (เนื่องจากในปี 2522 เมื่อกองทัพเวียดนามได้บุกเข้ายึดครองประเทศกัมพูชาและล้มล้างการปกครองของรัฐบาลเขมรแดง แต่เขมรแดงรวมถึงเขมรกลุ่มอื่นคือ กลุ่มของเจ้าสีหนุ กลุ่มของนายซอน ซาน (เขมรสามฝ่าย) ได้ร่วมทำการสู้รบเพื่อต่อต้านกองทัพเวียดนามและกองกำลังเขมรกลุ่มเฮง สัมริน ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลที่มีเวียดนามให้การสนับสนุนอยู่ กลุ่มเขมรสามฝ่ายที่ต่อต้านเวียดนามนั้นได้ถูกโจมตีจนต้องถอยร่นมาตั้งฐานที่มั่นอยู่ใกล้ตะเข็บแนวชายแดนไทย เมื่อกองทัพเวียดนามส่งกำลังเข้าทำการกวาดล้างแล้วก็มักจะฉวยโอกาสรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยไปด้วยเสมอๆ) การที่ต้องทำการบินโจมตีทางอากาศเพื่อผลักดันกองกำลังต่างชาติออกไปนี้ ถือเป็นภารกิจที่ยากลำบากและมีความเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ใช่เป็นกองกำลังขนาดเล็กแบบ ผกค. ที่มักมีเพียงอาวุธขนาดเล็กทำการต่อต้านเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว แต่เป็นหน่วยทหารระดับกองพันหรือระดับกรมที่มีกำลังพลจำนวนมากรวมถึงอาวุธหนักนานาชนิดทั้งรถถัง ปืนใหญ่ ปตอ. รวมถึงจรวดนำวิถีต่อสู้อากาศยานอีกด้วย ซึ่งระหว่างปี 2523 - 2530 นั้นเป็นช่วงเวลาที่นักบิน บ.จ.6 ต้องปฏิบัติภารกิจอย่างหนักและต่อเนื่อง
ในปี 2526 ฝูง.211ได้สูญเสีย บ.จ.6 พร้อมกับนักบินอีกสองนายจากการถูกยิงต่อต้านด้วย ปตอ. ขณะเข้าทำการโจมตีทางอากาศต่อกองกำลังต่างชาติที่บริเวณช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และในปี 2528 ก็ได้สูญเสีย บ.จ.6 อีกหนึ่งเครื่องพร้อมด้วยนักบินอีกหนึ่งนายจากการถูกยิงด้วยจรวดนำวิถีต่อสู้อากาศยานแบบ SA-7 ระหว่างการโจมตีทางอากาศที่บริเวณช่องโอบก อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ นอกจากนี้เมื่อปี 2527 ในระหว่างการฝึกผสม AIR THAMAL III ระหว่าง ทอ.ไทย กับ ทอ.มาเลเซีย ที่กองบิน 56 หาดใหญ่ (การฝึกครั้งนี้จริงๆแล้วเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ในการที่จะทำการปราบปรามกลุ่ม จคม. (โจรคอมมิวนิสต์มลายา) ที่ก่อการร้ายอยู่ทั้งในเขตแดนไทยและมาเลเซีย) ก็ได้สูญเสีย บ.จ.6 ไปอีกหนึ่งเครื่องพร้อมนักบินสองนาย ในระหว่างการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายซึ่งเป็นค่ายพักของ จคม. บนเทือกเขาสันกาลาคีรี ในเขตท้องที่ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดมาจนทุกวันนี้ว่าเกิดจาก บ.ขัดข้องหรือว่าถูกยิงโดย จคม.
ในปี 2528 ได้มีการจัดซื้อ บ.จ.6 มาเพิ่มเติมจำนวน 2 เครื่อง เนื่องจากที่ผ่านมานั้นมีการสูญเสีย บ.จ.6 ทั้งจากอุบัติเหตุและจากการรบไปแล้วหลายเครื่อง ทำให้ ฝูง.211 มี บ.ไม่เพียงพอต่อภารกิจในขณะนั้น ซึ่ง บ.ทั้ง 2 เครื่องที่ซื้อมานี้เป็นรุ่น OA-37 B ที่เคยผ่านการใช้งานอยู่ใน ทอ.สหรัฐฯ มาก่อนและยังเป็นรุ่นที่ได้รับการติดตั้งท่อเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศที่ตรงส่วนหัวด้วย (ก่อนหน้านั้นในปี 2518 ทอ.ไทย เคยได้รับ บ.จ.6 จำนวน 1 เครื่อง จากสหรัฐฯ เข้าใจว่า บ.เครื่องนี้จะให้มาทดแทน บ.จ.6 ที่จำหน่ายไปจากอุบัติเหตุเมื่อปี 2517) โดยในช่วงแรกๆที่เข้าประจำการนั้น บ.ทั้งสองเครื่องนี้ก็ยังคงใช้สีตามแบบเดิมที่เคยใช้ใน ทอ.สหรัฐฯ มาก่อนคือเป็นสีเทาทั้งลำ แต่ต่อมาภายหลังปี 2532 จึงได้เปลี่ยนมาเป็นสีลายพรางเหมือนเครื่องอื่นๆในฝูง
หลังจากปี 2532 เป็นต้นมา แนวชายแดนไทยด้านอิสานใต้ก็เข้าสู่ความสงบ ภายหลังจากที่กองทัพเวียดนามได้ถอนทหารออกจากกัมพูชา ภารกิจการรบที่เคยมีมายาวนานของ บ.จ.6 ก็สิ้นสุดลง คงเหลือก็แต่การบินลาดตระเวนเพื่อเฝ้าสังเกตุความเคลื่อนไหวในแถบแนวชายแดนเท่านั้น นอกจากนั้นก็จะเป็นภารกิจในการฝึกร่วมกับ ทอ.ชาติต่างๆ ซึ่ง บ.จ.6 ได้เข้าร่วมทำการฝึกอยู่ทุกครั้ง นอกจากนี้ยังมีภารกิจพิเศษอย่างเช่น การสนับสนุนการฝึกยิงอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศของฝูงบินขับไล่ โดย บ.จ.6 ทำหน้าที่ในการบินปล่อยพลุส่องสว่างที่ใช้เป็นเป้ายิงสำหรับอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบไซด์ไวเดอร์ (AIM-9 P) และไพธ่อน 3 (Python III) อีกด้วย และในเดือน เม.ย.37 ภายหลังจากประจำการใน ทอ.ไทย มาได้ 22 ปี ก็ถึงเวลาที่จะต้องปลดประจำการ บ.จ.6 และฝูง.211 ก็ได้รับการบรรจุ บ.ข.18 ข/ค (F-5 E/F) ที่ได้รับโอนมาจากฝูง.403 บน.4 ตาคลี เข้าประจำการแทน
แต่หลังจากนั้นในปี 2538 ได้มีการนำ บ.จ.6 ที่ปลดประจำการไปแล้ว (บางเครื่อง) กลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง ในภารกิจทดสอบการทำฝนหลวงตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิธีการยิงกระสุนสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ที่ได้ผลิตขึ้นเองในประเทศ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์วิทยาศาสตร์และพัฒนาระบบอาวุธกองทัพอากาศกับสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่เลือกใช้ บ.จ.6 นั้น ก็เพราะก่อนหน้านั้นในปี 2536 ก็ได้เคยใช้งานในภารกิจนี้มาแล้ว ซึ่ง บ.จ.6 ถือว่าเป็น บ. ที่มีความเหมาะสมในการใช้ติดตั้งแผงเครื่องยิงกระสุนสารเคมี เนื่องจากในการทดสอบนั้นจะต้องบินขึ้นไปที่ความสูง 20,000 ฟุต เพื่อยิงกระสุนสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์เข้าไปในกลุ่มเมฆเย็นเพื่อทำให้เกิดฝนตก อีกทั้งในตอนนั้น บ.จ.6 ก็ยังค่อนข้างมีสภาพที่ดีอยู่เพราะเพิ่งปลดประจำการไปได้ไม่นาน แต่ในปี 2539 ก็ได้เลิกใช้งาน บ.จ.6 และเป็นการสิ้นสุดการปฏิบัติภารกิจอย่างถาวรนับแต่นั้นมา
ตลอดเวลา 20 กว่าปีใน ทอ.ไทยนั้น ฝูงบิน บ.จ.6 ทั้งที่ตาคลีและอุบลฯ ได้ร่วมสร้างวีรกรรมในการปกป้องอธิปไตยของชาติเสมอมา แม้วันเวลาผ่านมาแล้วเป็นสิบปี แต่ก็เชื่อว่าอีกหลายๆท่านก็ยังคงอดที่จะคิดถึงเจ้าแมลงปอตัวน้อยนี้ไม่ได้
..............................................................................................
สำหรับในท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ กองบิน 2 เป็นอย่างสูง ที่ได้ให้เกียรตินำบทความเรื่อง “ เรื่องของอาร์มกองบิน 2 ” ที่ผมเคยเขียนลงไว้ในหนังสือแทงโก ฉบับที่ 156 กันยายน 2548 (หน้า 43 - 45) ไปลงไว้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่ระลึก “ 90 ปี กองบิน 2 ” ซึ่งผมเพิ่งจะได้มีโอกาสเห็นหนังสือเล่มนี้เอาก็เมื่อต้นเดือน ต.ค.53 นี้เอง ก็รู้สึกเสียดายที่ผมไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ไม่งั้นคงอาจจะพอช่วยอะไรได้บ้าง ก็หวังว่าเมื่อถึงปี พ.ศ.2562 ซึ่งจะเป็นวาระที่กองบิน 2 ครบรอบ 100 ปี ผมคงจะมีโอกาสได้ช่วยเหลืออะไรบ้างเล็กๆน้อยๆ ในการสนับสนุนการจัดทำหนังสือที่ระลึกครั้งนั้นด้วย
ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูลและประวัติเครื่องบินในดวงใจของผมอีกลำครับ
เห็นภาพนี้แล้ว นึกถึงเหตุการณ์วีรกรรมของ เรืออากาศเอก ไพบูรณ์ ชุ่มมะโน
๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๗ เวลา ๐๙๑๐ ในการฝึกร่วมผสม ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๓ AIRTHAMAL 3 ภารกิจโจมตีเป้าหมายภาคพื้นชายแดนไทย-มาเลเซีย ร่วมกับกองทัพอากาศมาเลเซีย บริเวณ ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา (ความจริงการฝึก Air Thamal เป็นการแฝงการปฏิบัติการจริงของทั้งสองกองทัพอากาศต่อกองกำลังที่เป็นภัยต่อทั้งสองประเทศ) ถูกทหารฝ่ายตรงยิงด้วยอาวุธไม่ทราบชนิด ใส่เครื่องบินโจมตีแบบ ๖ (เอ-37 บี) หมายเลข ๒๑๑๑๑ Sel.No. 71-0796 (บ.จ.๖-๑/๑๕) สังกัดฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ ๒๑๑ กองบิน ๒๑ อุบลราชธานี ทำให้เครื่องตกกระแทกพื้น เป็นเหตุให้ เรืออากาศเอก ไพบูรณ์ ชุ่มมะโน และ เรืออากาศโท ปรวัฒน์ ส่องสว่าง นักบินเสียชีวิต และเมื่อปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา มีการขุดค้นพบซากเครื่องบินเครื่องดังกล่าวที่ ยะลา
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 220 ม.ค.2554
Provider Story By ASI S.
ช่วงที่กำลังเริ่มเขียนเรื่องนี้อยู่นั้น ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ฝูงบิน 601 กองบิน 6 ได้จัดงานฉลองครบรอบ 30 ปีของ บ.ล.8 (C-130H) ที่ได้เข้าประจำการใน ทอ.ไทย ซึ่งนับว่า บ.ล.8 นี้ได้เป็น บ.ที่ใช้เป็นม้างาน (Workhorse) หลักของ ทอ.ไทย ในภารกิจการลำเลียงทางอากาศตลอดช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา แต่ว่าก่อนที่จะมี บ.ล.8 นั้น ทอ.ไทย ได้เคยมี บ.ลำเลียงที่ใช้เป็นม้างานหลักอยู่ก่อนหน้า ซึ่ง บ.แบบที่ว่าก็คือ บ.ล.4/4ก (C-123B/K Provider) และคงต้องย้อนกลับไปในปี 2507 เมื่อ ทอ.ไทย ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ โดยมอบ บ.ลำเลียงทางยุทธวิธีแบบ C-123 B ชุดแรกจำนวน 8 เครื่อง โดย ทอ.ได้กำหนดชื่อว่า “ เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 4 “ หรือ บ.ล.4 โดย บ.ทั้ง 8 เครื่องได้ถูกบรรจุในฝูงบิน 61 กองบิน 6 ร่วมกับ บ.ล.2 (C-47 Dakota)
และเนื่องจากเป็น บ.ที่มีความทันสมัยและมีสมรรถนะสูงกว่า บ.ลำเลียงแบบเก่า อีกทั้งยังใช้ปฏิบัติภารกิจได้หลายรูปแบบ จากการออกแบบให้พื้นระวางบรรทุกมีลักษณะกว้างและแบนราบ ในส่วนท้ายมีช่องทางขนถ่ายสัมภาระ โดยสามารถเปิดออกเป็นทางลาด (Ramp)ขึ้น-ลงได้ ซึ่งไม่เคยมีใน บ.ลำเลียงของ ทอ. แบบใดมาก่อน ดังนั้นภารกิจการลำเลียงทางอากาศที่เคยใช้ บ.ล.2 เป็นหลัก จึงถูกแทนที่ด้วย บ.ล.4 ซึ่งประกอบไปด้วย การเคลื่อนย้ายกำลังพลและสิ่งของ การบินเมล์ไปยังกองบินต่างจังหวัดและต่างประเทศ การบินส่งกำลังสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ และภารกิจพิเศษอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันก็คือ ภารกิจที่ บ.ล.8 (C-130H) ทำอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
บ.ล.4 เป็น บ. หนึ่งในสองแบบของ ทอ.ไทย (อีกแบบคือ บ.ล.2) ที่ได้ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจยังต่างประเทศ ใน 2 เหตุการณ์คือ ภารกิจในกองกำลังทางอากาศของสหประชาชาติ หรือ UN ในระหว่างสงครามเกาหลี ซึ่งอยู่ในระหว่างปี 2493 - 2519 และอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ การเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อสาธารณรัฐเวียดนาม (เวียดนามใต้) ในฐานะประเทศสมาชิกองค์การซีโต้ (SEATO) ที่ประเทศไทยนั้นก็ได้เป็นสมาชิกอยู่ด้วย ในสงครามเวียดนาม ระหว่างปี 2507 - 2514 โดยทั้งสองเหตุการณ์นั้น ทอ.ไทย ได้รับมอบหมายให้จัดส่งเครื่องบิน นักบินและเจ้าหน้าที่ ไปให้การสนับสนุนภารกิจด้านการลำเลียงทางอากาศในฐานะ หน่วยบินลำเลียงของกองทัพอากาศไทย ซึ่งจะขอเริ่มที่ภารกิจในสงครามเวียดนามก่อน เพราะเป็นสมรภูมิแรกที่ได้จัดส่ง บ.ล.4 เข้าไปปฏิบัติภารกิจ
ในปี 2509 เมื่อ ทอ.ไทย ได้รับมอบ บ.ล.4 (C-123 B) เพิ่มเติมอีกจำนวน 2 เครื่อง ก็ได้นำ บ.ทั้ง 2 เครื่องนี้รวมถึงนักบินและเจ้าหน้าที่ ส่งไปปฏิบัติภารกิจยัง สาธารณรัฐเวียดนาม (เวียดนามใต้) ในฐานะเครื่องบินลำเลียงของ หน่วยบินลำเลียงกองทัพอากาศไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม (บล.ทอ.วน.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หน่วยบินวิคตอรี่” นั่นเอง โดยได้ไปขึ้นการบังคับบัญชากับ ฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 19 (19th Air Commando Squadron,Troop Carrier) ของ ทอ.สหรัฐฯ ซึ่งมีที่ตั้งหน่วยอยู่ที่ ฐานทัพอากาศตันซอนนุท ในเมืองไซ่ง่อน (ก่อนหน้านี้ ในปี 2507 ซึ่งเป็นปีแรกที่ส่งกำลังพลจาก ทอ. ไปสนับสนุนนั้น หน่วยบินวิคตอรี่ของ ทอ.ไทย ได้จัดส่งเพียงนักบินและเจ้าหน้าที่ เพื่อไปทำการบินให้กับ บ.C-47 ของฝูงบินที่ 413 กองบินที่ 33 ทอ.เวียดนามใต้ ร่วมกับนักบินเวียดนามใต้ ) ซึ่งในตอนนั้นมี C-123 K ของ ทอ.สหรัฐฯ แต่ติดเครื่องหมายของ ทอ.ไทย (นัยว่าเป็นการให้เกียรติแก่ ทอ.ไทย ที่ได้ส่งกำลังพลเข้าร่วมการรบด้วย) และทำการบินร่วมกันโดยใช้นักบินและเจ้าหน้าที่ไทยกับของทางฝ่ายสหรัฐฯ ปฏิบัติงานอยู่ก่อนหน้าแล้ว (ที่เป็นสีลายพราง มีเครื่องหมาย ทอ.ไทย และมีตัวอักษรสีขาว WE ติดที่แพนหางดิ่ง)
การปฏิบัติการในเวียดนามของหน่วยบินวิคตอรี่นั้น เป็นการบินลำเลียงทางอากาศทั้งกำลังพล เสบียงอาหารและอาวุธ (Airlift) การทิ้งยุทธบริภัณฑ์ (Airdrop) การส่งกลับผู้บาดเจ็บ ( Air Evacuate) การส่งทางอากาศ (Airborne) ตลอดจนภารกิจอื่นๆตามที่ได้รับการร้องขอ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ในพื้นที่ของเวียดนามใต้ แต่ก็จะเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังเวียดกงที่แอบแฝงหรือยึดครองอยู่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอันตรายมากพอสมควร เพราะในการปฏิบัติภารกิจนั้นมักจะต้องบินในระดับต่ำหรือบางครั้งต้องลงจอดเพื่อส่งสัมภาระในพื้นที่เสี่ยง และเนื่องจากไม่มีการติดตั้งอาวุธไว้เพื่อใช้ป้องกันตนเอง จึงมักถูกกำลังของเวียดกงยิงต่อต้านและทำให้ บ.ได้รับความเสียหายกลับมาอยู่เป็นประจำ
นอกจากนี้ในระหว่างที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในเวียดนามใต้นั้น ก็ได้มีนักบินของ ทอ.ไทย บางท่านได้ผ่านการตรวจสอบเพื่อเป็นครูการบิน (IP : Instructor Pilot) กับ บ. C-123 K (ซึ่งในขณะนั้น ทอ.ไทย ยังไม่มีใช้งาน) อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ทอ.สหรัฐฯ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเดิมนั้นเค้าจะไม่ยอมให้นักบินต่างชาติเป็นครูการบินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเมื่อเป็นครูการบินแล้วก็จะต้องทำการบิน C-123 K ที่มีนักบินผู้ช่วยและเจ้าหน้าที่เป็นของ ทอ.สหรัฐฯ ทั้งสิ้น และในการปฏิบัติภารกิจนั้น IP จะต้องทำการบินทุก 3 วันและมีเวลาพัก 1 วันสลับกันไป ซึ่งในแต่ละวันที่ทำการบินก็จะต้องเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลาหกโมงเช้าไปจนกระทั่งหกโมงเย็น เมื่อรวมชั่วโมงบินเฉลี่ยในแต่ละเดือนก็จะมากกว่า 100 ชั่วโมงขึ้นไป และก่อนที่จะผ่านการตรวจสอบเป็นครูการบินได้นั้น ก็จะต้องผ่านการตรวจสอบเป็นผู้บังคับอากาศยาน (Aircraft Commander) หรือนักบินที่ 1 มาก่อนแล้วด้วย ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติสำหรับนักบิน C -123 ของไทยในสงครามเวียดนาม
หน่วยบินวิคตอรี่ (บล.ทอ.วน.) ได้ปฏิบัติภารกิจในเวียดนามใต้ร่วมกับ ฝูงบินลำเลียงทางยุทธวิธีที่ 19 (19th Tactical Airlift Squadron) หรือในชื่อเดิมคือ ฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 19 (19th Air Commando Squadron,Troop Carrier) ซึ่งเป็นฝูงบินในสังกัดของ กองบินลำเลียงทางยุทธวิธีที่ 315 (315th Tactical Airlift Wing) ทอ.สหรัฐฯ อยู่จนกระทั่งถึงเดือน ธ.ค.14 จึงได้มีคำสั่งให้หน่วยบินวิคตอรี่ถอนตัวกลับประเทศไทย รวมระยะเวลาที่ปฏิบัติภารกิจในสาธารณรัฐเวียดนาม (เวียดนามใต้) เป็นเวลา 7 ปี และมีจำนวนเที่ยวบินมากกว่า 10,000 เที่ยวบิน โดยมีกำลังพลผลัดเปลี่ยนกันไปปฏิบัติงาน 7 ชุดๆละ 3 ผลัด ซึ่งผลจากการปฏิบัติภารกิจตลอด 7 ปีนั้นนั้น ทำให้กำลังพลของหน่วยบินวิคตอรี่ ได้รับการเชิดชูวีรกรรมด้วยการมอบเหรียญตราทั้งจากเวียดนามใต้และกองทัพสหรัฐฯ อีกด้วย
สำหรับภารกิจในสงครามเกาหลี (ซึ่งเหตุการณ์การรบเกิดขึ้นเมื่อกองทัพเกาหลีเหนือภายใต้การสนับสนุนจากจีน ได้ส่งกำลังบุกเข้ามาในเกาหลีใต้เมื่อ เดือน มิ.ย.93 และฝ่ายเกาหลีใต้ได้ร้องขอความช่วยเหลือจาก สหประชาชาติ หรือ UN ให้ส่งกองกำลังเข้าไปช่วยเหลือ ประเทศไทย ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ได้ส่งกำลังเข้าร่วมรบด้วย โดยการสู้รบได้ยุติในปี 2496 แต่กองกำลังของสหประชาชาติยังคงต้องคงกำลังไว้ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาสันติภาพ สำหรับในส่วนของกำลังทางอากาศของ ทอ.ไทย นั้น ได้มีการส่งหน่วยบินลำเลียงหน่วยแรกไปเมื่อเดือน มิ.ย.94 โดยใช้ บ.ล.2 เป็น บ.ลำเลียงของหน่วยบิน) บ.ล.4 ได้ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจในสงครามเกาหลี ครั้งแรกในปี 2511 โดยในวันที่ 11 พ.ย.11 พล.อ.ท.ประเสริฐ ห่วงสุวรรณ เสนาธิการกองบินยุทธการ (เสธ.บย.) ได้เป็นหัวหน้าคณะตรวจเยี่ยมและนำ บ.ล.4 จำนวน 2 เครื่อง (หมายเลข 40561 และ 40574 ซึ่งเป็น บ. 2 ใน 4 เครื่อง ที่ได้รับมอบเพิ่มเติมในปี 2511) ไปสับเปลี่ยนแทน บ.ล.2 ที่ใช้งานอยู่ก่อนหน้านี้ และได้ทำพิธีรับมอบกันในวันที่ 14 พ.ย.11 ในการปฏิบัติภารกิจของหน่วยบินลำเลียงของกองทัพอากาศไทยในประเทศญี่ปุ่น (บล.ทอ.ญี่ปุ่น) นั้น จะเป็นหน่วยบินสมทบของกองบินลำเลียงทางยุทธวิธีที่ 374 (374th Tactical Airlift Wing) ทอ.สหรัฐฯ และมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ฐานทัพอากาศตาชิกาว่า โดยมีภารกิจคือ การบินลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์ระหว่างฐานทัพในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังสหประชาชาติส่วนหลังกับที่ตั้งกองกำลังส่วนหน้าในประเทศเกาหลีใต้ บล.ทอ.ญี่ปุ่น ได้ปฏิบัติภารกิจอยู่จนถึงปี 2519 จึงหมดภารกิจและกำลังพลชุดสุดท้ายคือ ชุดที่ 24 ก็ได้เดินทางกลับประเทศไทย เป็นอันสิ้นสุดภารกิจในต่างแดนของ บ.ล.4
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ในปี 2514 ฝูง.61 ได้รับ บ.ล.4 อีก 4 เครื่อง และในปี 2515 กับปี 2516 อีกปีละ 2 เครื่อง ซึ่งในรุ่นที่ได้รับในปี 2515 จะพิเศษหน่อยก็ตรงเป็น บ. HC-123 B ซึ่งเป็นรุ่นที่มีเรดาร์ติดตั้งอยู่ที่ตรงส่วนหัวของเครื่อง และเคยใช้งานอยู่ในหน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ (U.S. Coast Guard) ในภารกิจการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลมาก่อน ทำให้ ทอ.ไทย มี บ.ล.4 (C-123 B) รวมทั้งสิ้น 22 เครื่อง นอกจากนี้ในปี 2516 ยังเป็นปีแรกที่ ทอ.ไทย ได้รับ บ.แบบ C - 123 K อีกจำนวน 8 เครื่องด้วย และได้มีการกำหนดชื่อ บ.รุ่นนี้ว่า
“ เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 4 ก ” หรือ บ.ล.4 ก และบรรจุเข้าประจำการในฝูง.61 ร่วมกับ บ.ล.4 (C-123 B) ในปี 2518 ทอ.ไทย ยังได้รับ บ.ล.4 ก เพิ่มเติมอีก 10 เครื่อง และในปี 2519 อีก 2 เครื่อง รวมจำนวน บ.ล.4 ก ที่ ทอ.ไทย ได้รับทั้งสิ้นจำนวน 20 เครื่อง ซึ่งจะว่าไปแล้ว บ,ล.4 ก หรือ C - 123 K นั้น เดิมก็คือ C-123 B นั่นเอง แต่ได้รับการดัดแปลงให้ติดตั้งเครื่องยนต์ไอพ่นแบบเทอร์โบเจ็ต รุ่น J 85 GE 17 ซึ่งให้แรงขับ 2,850 ปอนด์ ที่ใต้ปีกข้างละ 1 เครื่อง เพื่อช่วยเสริมสมรรถนะในระหว่างการบินขึ้นและร่อนลงจอด
ภารกิจของ บ.ล.4 และ บ.ล.4 ก นอกเหนือจากภารกิจที่ได้กล่าวไปในช่วงต้นแล้ว ก็ยังเคยได้รับภารกิจพิเศษในการถวายการบินในฐานะเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อีกด้วย โดยในปี 2516 ได้ดัดแปลง บ.ล.4 หมายเลข 0-40571 (หมายเลข ทอ. ล.4 -18/14) นอกจากนี้ในปี 2519 ก็ยังได้ดัดแปลง บ.ล.4 ก หมายเลข 55-569 (หมายเลข ทอ. ล.4 ก - 7/16) ให้เป็น บ.พระที่นั่ง ทดแทน บ.ล.4 พระที่นั่งเครื่องเดิมอีกด้วย ซึ่งการจัด บ.ทั้งสองแบบให้เป็น บ.พระที่นั่ง นั้นก็เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสนามบินที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในขณะนั้นนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีภารกิจพิเศษบางอย่างเช่น การบินทำลายพืชไร่ (พ่นสารเคมี) ของ ผกค. ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่างระหว่างปี 2515 - 2517 ซึ่งภารกิจนี้ได้ใช้ บ.ล.4 ปฏิบัติการหลายร้อยเที่ยวบิน นอกจากนี้ยังมีภารกิจการส่งทางอากาศด้วยการทิ้งสป. (Airdrop) ซึ่งเป็นการทิ้งเสบียงอาหารลงไปสนับสนุนผู้อพยพ ที่ บ.ผาตั้ง จ.เชียงราย (เดิมคนกลุ่มนี้เป็นทหารจีนคณะชาติที่ร่วมทำการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังสิ้นสุดสงครามก็ได้ถูกทหารจีนคอมมิวนิสต์และกองทัพพม่าปราบปรามจนต้องถอยร่นเข้ามาอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทยแถบ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ต่อมาในปี 2513 ได้มีการอพยพคนกลุ่มนี้บางส่วนไปตั้งเป็นหมู่บ้านป้องกันตนเองอยู่ที่ บ.ผาตั้ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งอยู่บนเทือกดอยผาหม่น เพื่อใช้เป็นกองกำลังกันชนป้องกันการแทรกซึมของ ผกค.) ในระหว่างปี 2518 - 2522 อีกด้วย (ในภารกิจนี้นอกจาก บ.ล.4 และ บ.ล.4 ก แล้ว บางภารกิจยังได้ใช้ บ.จธ.2 และ ฮ.6 ร่วมด้วย)
ในเดือน ต.ค.20 ได้มีการปรับโครงสร้างกองทัพอากาศครั้งใหญ่ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ บ.ล.4 และ บ.ล.4 ก นั้น คือ การจัดอัตราฝูงบินในสังกัดของกองบิน 6 ใหม่ โดยให้ บ.ล.4 (C - 123 B) ไปบรรจุในฝูงบิน 601 ส่วน บ.ล.4 ก (C - 123 K) ให้บรรจุในฝูงบิน 602 (ร่วมกับ บ.ล.5) แต่ต่อมาภายหลังเมื่อ ทอ.ไทย ได้จัดซื้อ บ.ล.8 (C - 130 H) เพื่อเข้าประจำการทดแทน บ.ล.4 ในฝูง.601 มากขึ้นแล้ว ก็จึงค่อยๆลดชั่วโมงการใช้งาน บ.ล.4 (C - 123 B) ลงรวมทั้งได้ทยอยปลดประจำการออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา เนื่องจาก บ.เหล่านี้ขาดแคลนอะหลั่ยที่จะใช้ซ่อมบำรุงทำให้เกิดปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในการบินตามมา อีกทั้งยังมีความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงทำให้เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการ และในตอนนั้น ทอ.ไทย เองก็ไม่ได้รับการสนับสนุนแบบให้เปล่า ตามโครงการความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ เหมือนแต่ก่อนแล้ว ซึ่งในช่วงปี 2523 ก็ได้เคยมีการศึกษาแนวทางในการที่จะเปลี่ยนเครื่องยนต์ทั้ง บ.ล.4 และ บ.ล.4 ก จากเดิมที่เป็นเครื่องยนต์แบบลูกสูบมาเป็นแบบเทอร์โบพรอป เพื่อให้สามารถยืดระยะเวลาใช้งานต่อไปได้อีก (เหมือนเช่นโครงการดัดแปลง ฮ.4 (H - 34)ให้เป็น ฮ.4 ก (S - 58T) ที่ประสบความสำเร็จในการดัดแปลง) ซึ่งก็ได้มีการส่ง บ.ล.4 หนึ่งเครื่องไปทำการทดสอบการติดตั้งเครื่องยนต์แบบใหม่ที่สหรัฐฯ แต่ผลสรุปก็พบว่ามีความไม่คุ้มค่าในการดำเนินการ จึงได้ล้มเลิกโครงการนี้ไป
ในที่สุดก็ได้ทำการปลดประจำการ บ.ล.4 (C - 123 B) เครื่องสุดท้ายไปก่อนปี 2532 ส่วน บ.ล.4 ก (C - 123 K) ที่ไปบรรจุในฝูง.602 นั้น ก็ยังได้ถูกใช้งานต่อมาอีก แต่ว่าหลังปี 2530 มานั้นก็เหลือ บ.ล.4 ก ที่ใช้งานได้ไม่ถึงสิบเครื่อง นอกนั้นได้ทยอยปลดประจำการไปก่อนหน้าแล้ว จนกระทั่งในปี 2534 ทอ. ได้มีคำสั่งให้งดการใช้งานและให้นำ บ.ที่มีสภาพสมบูรณ์จำนวน 3 เครื่องไปเก็บรักษาไว้ที่ กองบิน 2 จ.ลพบุรี และหากเมื่อมีความจำเป็นก็จะนำกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 14 มี.ค.34 ฝูง.602 จึงได้มีพิธีส่งเที่ยวบินสุดท้ายของ บ.ล.4 ก ทั้งสามเครื่องไปยัง กองบิน 2
หลังจากที่ถูกจอดทิ้งไว้ที่ กองบิน 2 มาได้ไม่ถึงสองปี ในปลายปี 2535 ทอ. ก็ได้นำ บ.ล.4 ก จำนวน 2 เครื่องกับ บ.ล.4 ก ที่อยู่ในครอบครองของมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยฯ อีก 1 เครื่อง มาทำการฟื้นฟูสภาพเพื่อนำกลับมาปฏิบัติภารกิจอีกครั้ง ในการทำฝนหลวงสนองตามพระราชดำริ (ก่อนหน้านั้นในปี 2530 ฝูง.602 ได้เคยจัดตั้งหน่วยบินเฉพาะกิจสำหรับปฏิบัติการฝนหลวง โดยใช้ บ.ล.4 ก เป็น บ.ปฏิบัติการด้วย) โดยเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศ และมอบให้ฝูงบิน 602 เป็นหน่วยรับผิดชอบในการปฏิบัติการฝนหลวงด้วย บ.ล.4 ก ซึ่งก็ได้ทำภารกิจนี้เรื่อยมาจนกระทั่งในปี 2539 จึงได้ยุติการใช้งานและปลดประจำการ บ.ล.4 ก อย่างถาวร
ขอบคุณครับ สำหรับสิ่งดีๆ
ให้ความรู้เรื่องอากาศยานของทอ.ไทยมากเลยครับ อยากรู้เรื่องAC-47 Spooky ของบน.46
หวังว่าพี่คงนำมาลงให้อ่านกันนะครับ
หมดแล้วหรอน่าจะมี มาจนถึง กริฟเพน เข้าประจำการเลยนะ รออ่านอยู่
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 221 ก.พ.2554
ฮ.๔ พระที่นั่ง แห่งกองทัพอากาศไทย โดย ASI S.
สืบเนื่องมาจากการที่ได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ฮ.๔ พระที่นั่ง ของกองทัพอากาศไทยในหนังสือฉบับหนึ่ง และจากที่ได้คุยกับผู้เขียนเรื่องนี้ (ทาง E-mail) ทำให้ได้ทราบว่าในการบันทึกข้อมูลของกองทัพอากาศ โดยกรมช่างอากาศนั้น ได้มีการบันทึกข้อมูลการเป็น ฮ.๔ พระที่นั่ง ของฝูงบิน ๖๓ กองบิน ๖ ไว้เพียงบางเครื่อง รวมถึงข้อมูลในเวบไซด์ของพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ เมื่อเปิดเข้าไปดูตรงส่วนของ ฮ.๔ ก็จะพบข้อมูลว่ามีการดัดแปลง ฮ.๔ ให้เป็น ฮ.พระที่นั่ง ในปี ๒๕๐๗ และ ๒๕๐๙ เท่านั้น แต่สำหรับเรื่องของการดัดแปลง ฮ.๔ ให้เป็น ฮ.พระที่นั่ง เครื่องแรกจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นในปี ๒๕๐๕ นั้น ไม่ได้มีการบันทึกไว้
เรื่องนี้ผมก็เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงไม่มีการบันทึกไว้ ทั้งๆที่ได้มีการใช้งาน ฮ.๔ เป็น ฮ.พระที่นั่ง ภายหลังจากที่ได้รับมอบมาเพียงไม่ถึงสองเดือน และยังมีภาพถ่ายของ ฮ. เครื่องนี้ในขณะที่ได้ใช้งานเป็น ฮ.พระที่นั่ง แล้วด้วย ซึ่ง ฮ.๔ เครื่องที่ว่านี้มี หมายเลข ทอ. คือ “ ฮ.๔-๑๒/๒๕๐๕ ” หมายเลขเครื่อง (Ser.No.) 54 - 3021 และมีหมายเลขฝูง.๖๓ คือ ๖๓๔๕ โดยเป็น ฮ.รุ่น H-34C Choctaw ๑ ในจำนวน ๑๓ เครื่องแรกที่ ทอ.ไทย ได้รับมอบจากสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๒๖ เม.ย.๐๕ นอกจากนี้ ฮ. ในชุดนี้อีกหนึ่งเครื่องคือ หมายเลข ทอ. “ ฮ.๔-๑๐/๒๕๐๕ ” หมายเลขเครื่อง(Ser.No.) 54 - 933 และมีหมายเลขฝูง.๖๓ คือ ๖๓๔๓ ก็ได้ถูกดัดแปลงให้เป็น ฮ. สำหรับบุคคลสำคัญ (VIP) เพื่อใช้เป็น ฮ. ติดตามในขบวนเสด็จฯ พร้อมกันอีกด้วย
ทีนี้มาดูกันก่อนว่าการนำ ฮ.๔ (ทั้งรุ่นที่ได้รับในปี ๒๕๐๕ , ๒๕๐๗ และ๒๕๐๙) มาใช้เป็น ฮ.พระที่นั่ง ในภารกิจบินรับ-ส่งเสด็จฯ นั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงตัว ฮ. อย่างไรบ้าง อย่างแรกที่เห็นได้จากภายนอกคือ สีของเครื่อง ซึ่งจะถูกพ่นสีใหม่และมีรูปแบบรวมถึงสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นถึงการเป็น ฮ.พระที่นั่ง ส่วนภายในเครื่องก็จะตกแต่งห้องโดยสารใหม่ โดยจัดให้มีเก้าอี้พระที่นั่งและสิ่งอำนวยความสะดวก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงที่นั่งสำหรับข้าราชบริพาร ส่วนระบบอื่นๆนั้น อย่างเช่น เครื่องยนต์ ระบบเดินอากาศ และระบบสื่อสารนั้น ก็คงจะต้องจัดหาของที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดและมีความทันสมัยที่สุดเท่าที่จะหาได้นำมาติดตั้ง คงจะยกเว้นก็แต่กับ ฮ.๔ พระที่นั่ง เครื่องแรก (ฮ.๔-๑๒/๒๕๐๕) เพราะ ฮ.๔ ในชุดแรกนี้ทั้ง ๑๓ เครื่องนี้ ล้วนแต่เป็น ฮ. ที่ผ่านการใช้งานในกองทัพสหรัฐฯมาแล้วหลายปี สังเกตุจากหมายเลขเครื่อง (Serial Number หรือ Ser.No.) ที่ขึ้นต้นด้วย 54 ซึ่งจะหมายถึงว่ามันถูกสร้างขึ้นในปี 1954 หรือปี พ.ศ.๒๔๙๗ ดังนั้นสภาพตัวเครื่องและระบบต่างๆจึงยังไม่ค่อยดีนัก แต่ถึงอย่างไรนั้นก็ถือว่ายังมีสมรรถนะด้านการบินดีกว่า ฮ.๓ (H-19) ที่เคยใช้เป็น ฮ.พระที่นั่ง มาก่อนหน้า
โดย ฮ.๔ หมายเลข ทอ. “ ฮ.๔-๑๒/๒๕๐๕ ” และมีหมายเลขฝูงคือ “ ๖๓๔๕ ” นั้นได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็น ฮ.พระที่นั่ง ภายหลังจากมีคำสั่งให้กองทัพอากาศ จัด ฮ.๔ (H-34C) จำนวน ๔ เครื่อง และ บ.ล.๒ (C-47) จำนวน ๕ เครื่อง เพื่อถวายเป็นอากาศยานพระราชพาหนะและอากาศยานติดตามในขบวนเสด็จฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหารที่ประจำยังฐานปฏิบัติการชายแดนตลอดจนหน่วยทหารของชาติภาคีซีโต้ (SEATO) ที่เข้ามาประจำในประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ การดัดแปลงเริ่มดำเนินการในบ่ายวันที่ ๑๒ มิ.ย.๐๕ ที่กองโรงงานการซ่อม กรมช่างอากาศ (ดอนเมือง) และเสร็จเมื่อเวลา ๑๗๐๐ ของวันที่ ๑๓ มิ.ย.๐๕ (ส่วน ฮ.สำหรับบุคลสำคัญ หรือ ฮ.VIP นั้น ดัดแปลงเสร็จเมื่อเวลา ๐๒๐๐ ของวันที่ ๑๔ มิ.ย.๐๕) และ ผบ.ทอ. คือ พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา ได้ทำการบินทดสอบด้วยตนเองในเย็นวันนั้นเลย
ในตอนเช้าวันที่ ๑๔ มิ.ย.๐๕ ฮ. ทั้ง ๔ เครื่องได้วิ่งขึ้นจากดอนเมือง เพื่อไปรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดย ฮ.พระที่นั่ง หมายเลข ๖๓๔๕ ถวายการบินโดย ผบ.ทอ. และ ร.ท.ยงยุทธ สมบุญ และได้บินไปลงยังค่ายของทหารสหรัฐฯ ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อทรงเยี่ยมเป็นเวลาประมาณ ๓๐ นาที ต่อจากนั้นได้ขึ้นบินไปยัง รร.การบิน (โคราช) และเปลี่ยนไปประทับ บ.พระที่นั่ง แบบ บ.ล.๒ (C-47) เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยัง จ.อุบลราชธานี และ จ.นครพนม ตามลำดับ ในส่วนของ ฮ.พระที่นั่ง นั้นเมื่อลงส่งเสด็จฯ ที่ รร.การบิน (โคราช) แล้ว ก็ได้บินตรงไปยัง จ.นครพนม เพื่อรอรับเสด็จฯ จากนครพนม เพื่อไปทรงเยี่ยมหน่วยทหารที่ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ในเวลา ๑๔๓๐ และเสด็จฯ กลับมาประทับแรมที่ จ.นครพนม ในตอนเย็น
ในเช้าวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๕ มิ.ย.๐๕ ฮ. ทั้ง ๔ เครื่องได้วิ่งขึ้นจากนครพนม ไปยังสนามบินแพร่ เพื่อรอรับเสด็จฯ ในเวลา ๑๒๐๐ และได้เสด็จฯ โดย ฮ.พระที่นั่ง จาก จ.แพร่ ไปยัง อ.ปัว จ.น่าน และเสด็จฯ ต่อเพื่อไปประทับแรมที่ จ.เชียงราย ในวันที่ ๑๖ มิ.ย.๐๕ เวลา ๐๗๐๐ ได้เสด็จฯ โดย ฮ.พระที่นั่ง จาก จ.เชียงราย เพื่อไปทรงเยี่ยมหน่วยทหารที่ อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน และ เสด็จฯ กลับมายัง จ.เชียงราย และทรงเปลี่ยนไปประทับ บ.พระที่นั่ง แบบ บ.ล.๒ (C-47) เพื่อเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยัง จ.เชียงใหม่ จึงเป็นอันหมดภารกิจของ ฮ.พระที่นั่ง ในการเสด็จฯ ครั้งนี้
และนี่ก็เป็นเรื่องราวของภารกิจในการถวายการเสด็จพระราชดำเนิน ด้วย ฮ.๔ พระที่นั่ง เป็นครั้งแรก โดยบทความแบบเต็มๆของเรื่องนี้ นักบิน ฮ.๔ ของฝูง.๖๓ ท่านหนึ่ง ซึ่งใช้นามปากกาว่า “ ๖๓ ” เป็นผู้เขียนไว้ในชื่อเรื่อง “ พระบารมีปกเกล้า ” และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ “ นิตยสารการบิน ” ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙ เดือน กันยายน ๒๕๐๕ ซึ่งผมก็ได้คัดย่อเฉพาะเนื้อหาเพียงบางส่วนมานำเสนอไว้ เพื่อให้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว ภารกิจในการเป็น ฮ.พระที่นั่ง ของ ฮ.๔ นั้น ได้เกิดขึ้นครั้งแรกจริงๆ ในปี ๒๕๐๕ ไม่ใช่ในปี ๒๕๐๗ อย่างที่มีการบันทึกไว้ครับ และ ฮ.๔ พระที่นั่ง หมายเลข ๖๓๔๕ ได้ถูกใช้งานในฐานะ ฮ.พระที่นั่ง อยู่จนถึงปี ๒๕๐๗
ก็ได้มีการนำ ฮ.๔ ชุดที่ ๓ ซึ่งเป็น ฮ.รุ่น UH-34D Seahorse ที่ได้รับมอบจากสหรัฐฯในปี ๒๕๐๗ มาดัดแปลงเป็น ฮ.พระที่นั่ง ทดแทน โดยได้นำ ฮ.๔ หมายเลข ทอ. “ ฮ.๔-๒๑/๐๗ ” และมีหมายเลขเครื่อง(Ser.No.) 63 - 8255 มาดัดแปลงเป็น ฮ.พระที่นั่ง และกำหนดให้ใช้หมายเลขฝูง.๖๓ คือ หมายเลข ๖๓๐๑ นอกจากนี้ยังได้ทำการดัดแปลง ฮ.๔ ในชุดนี้อีก ๒ เครื่องคือ ฮ.๔ หมายเลข ทอ. “ ฮ.๔-๒๔/๐๗ ” หมายเลขเครื่อง(Ser.No.) 63 - 8258 และ “ ฮ.๔-๒๕/๐๗ ” หมายเลขเครื่อง(Ser.No.) 63 - 8259 มาดัดแปลงเป็น ฮ.พระที่นั่งสำรอง และยังใช้เป็น ฮ.สำหรับบุคคลสำคัญ หรือ ฮ.VIP เพื่อติดตามในขบวนเสด็จ ฯ ด้วย โดยกำหนดให้ใช้หมายเลขฝูง.๖๓ คือ หมายเลข ๖๓๐๒ และ ๖๓๐๓ ตามลำดับ
โดยในภารกิจการบินรับ-ส่งเสด็จ ฯ ท่าน ผบ.ทอ. ก็มักจะเป็นผู้ถวายการบินด้วยตนเองเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม นอกจากนี้ในบางคราวที่ ท่าน ผบ.ทอ. ต้องเดินทางไปตรวจราชการตามหน่วยงานของ ทอ. ที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัดอย่างเช่น กองบิน , ฝูงบิน หรือสถานีเรดาร์ และในการเดินทางนั้นต้องจัดให้ใช้ ฮ. เป็นพาหนะ ท่านก็จะทำการบินด้วย ฮ.พระที่นั่ง หมายเลข ๖๓๐๑ หรือ ฮ. VIP หมายเลข ๖๓๐๒ ด้วยตนเองเสมอ (สำหรับ ฮ.พระที่นั่ง ในยามที่ไม่ได้มีภารกิจการบินรับ-ส่งเสด็จฯ นั้น ภายในห้องโดยสารตรงส่วนเก้าอี้พระที่นั่งของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะต้องใช้ผ้าคลุมไว้ตลอดและห้ามมิให้ใครเข้าไปนั่งโดยเด็ดขาด * ที่ต้องบอกเรื่องนี้เพราะคิดว่าบางท่านอาจจะสงสัยครับ)
ในปี ๒๕๐๙ ทอ.ไทย ได้รับรับมอบ ฮ.๔ รุ่น UH-34D Seahorse เพิ่มเติมอีก ๑ เครื่อง คือ หมายเลขเครื่อง(Bu.No.)153129 และได้รับหมายเลข ทอ. คือ “ ฮ.๔-๓๔/๐๙ “ จึงได้มีการพิจารณานำ ฮ. เครื่องนี้มาดัดแปลงเป็น ฮ.พระที่นั่ง แทน ฮ. หมายเลข ๖๓๐๑ (ฮ.๔-๒๑/๐๗) และเมื่อดัดแปลงเสร็จก็กำหนดให้ใช้หมายเลข ๖๓๐๑ แทน (ส่วน ฮ. หมายเลข ๖๓๐๑ (ฮ.๔-๒๑/๐๗) เดิมนั้น ก็ได้นำไปใช้ในภารกิจการลำเลียงทางอากาศ แต่ไม่ทราบหมายเลขฝูง.๖๓ จนมาเจออีกทีตอนที่โอนมาอยู่ กองบิน ๓ แล้ว โดยมีหมายเลข ๓๑๕๐ และเป็น ฮ.๔ ลายพรางเครื่องแรกและเครื่องเดียวของ ทอ.ไทย ภายหลังเมื่อ ฮ. เครื่องนี้ได้รับการดัดแปลงเป็น ฮ.๔ก (S-58T) และเข้าประจำการในฝูงบิน ๒๐๑ กองบิน ๒ โคกกะเทียม ก็ได้รับหมายเลขฝูง คือ ๒๐๑๕๔)
ต่อมาในปี ๒๕๑๐ ได้มีการจัดตั้ง กองบิน ๓ ขึ้นมาอีกครั้ง (ภายหลังจากที่ได้ยุบไปเมื่อปี ๒๔๘๘)จุดประสงค์ก็เพื่อให้เป็น กองบินเฮลิคอปเตอร์ โดยได้รับโอน ฮ. ทั้งหมดมาจากฝูง.๖๓ กองบิน ๖ และได้จัดตั้งฝูงบินรองรับจำนวน ๓ ฝูงบิน คือ ฝูงบิน ๓๑ เป็น ฮ.๔ (พระที่นั่ง,บุคลสำคัญ และลำเลียง/กู้ภัย) และ ฮ.๕ (H-43B) , ฝูงบิน ๓๒ เป็น ฮ.๖ ( UH-1H ซึ่งรอจะเข้าประจำการในปี ๒๕๑๑) และฝูงบิน ๓๓ เป็น ฮ.๔ (ลำเลียง/กู้ภัย) ซึ่งในส่วนของ ฮ.๔ พระที่นั่ง และ ฮ.สำหรับบุคลสำคัญ นั้น ได้มีการเปลี่ยนมาใช้หมายเลขของ ฝูง.๓๑ คือ ฮ. หมายเลข ๖๓๐๑ (ฮ.๔-๓๔/๐๙) เปลี่ยนมาเป็นหมายเลข ๓๑๐๑ , ฮ. หมายเลข ๖๓๐๒ (ฮ.๔-๒๔/๐๗) เปลี่ยนมาเป็นหมายเลข ๓๑๐๒ และ ฮ. หมายเลข ๖๓๐๓ (ฮ.๔-๒๕/๐๗) เปลี่ยนมาเป็นหมายเลข ๓๑๐๓
มีการใช้งาน ฮ.๔ พระที่นั่ง หมายเลข ๓๑๐๑ อยู่จนถึงกลางปี ๒๕๑๒ จึงยุติการใช้งานในฐานะ ฮ.พระที่นั่ง เนื่องจาก ทอ. ได้นำ ฮ.๖ (UH-1H) ของฝูง.๓๒ มาจัดถวายเป็น ฮ.พระที่นั่งแบบใหม่ ส่วน ฮ.๔ หมายเลข ๓๑๐๑ นั้นก็ปรับไปใช้เป็น ฮ.สำหรับบุคลสำคัญ หรือ ฮ.VIP แทน และต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนภารกิจ ฮ. ๔ หมายเลข ๓๑๐๑ รวมถึง ฮ. หมายเลข ๓๑๐๒ และ ๓๑๐๓ จากภารกิจบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ มาเป็นภารกิจการลำเลียงทางอากาศสนับสนุนหน่วยงานทั้งของ ทอ. เองรวมถึงหน่วยงานอื่นๆด้วย เนื่องจากในขณะนั้นได้ใช้ ฮ.๖ ในภารกิจเป็น ฮ. ติดตามในขบวนเสด็จฯ แทนทั้งหมดแล้ว
รวมระยะเวลาที่ ฮ.๔ ได้ทำการถวายภารกิจการบินรับ-ส่งเสด็จ ฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ถึง ๒๕๑๒ เป็นเวลาประมาณ ๗ ปี ซึ่งก็ถือว่าไม่นานนัก แต่ ฮ.๔ ก็ยังคงประจำการอยู่ใน ทอ. จนกระทั่งต่อมาในปี ๒๕๒๐ ได้มีการปรับปรุงสมรรถนะ ฮ.๔ ให้สูงขึ้น โดย บริษัทไทยแอม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทย เป็นผู้ดำเนินการดัดแปลง ฮ.๔ จำนวน ๑๘ เครื่อง ซึ่งในจำนวน ฮ.๔ ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการดัดแปลงเป็น ฮ.๔ก (S-58T ) ในครั้งนี้ได้มี ฮ. ที่เคยใช้เป็น ฮ.พระที่นั่ง และ ฮ.สำหรับบุคลสำคัญ หรือ ฮ.VIP รวมอยู่ด้วย จำนวน ๓ เครื่อง (ดูตามตารางที่ท้ายเรื่องนี้)
และนี่คงเป็นเรื่องของ ฮ.๔ ที่ได้ปฏิบัติภารกิจในการถวายการบินรับ-ส่งเสด็จ ฯ ในฐานะ ฮ.พระที่นั่ง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ในอดีตซึ่งผ่านมานานหลายสิบปีแล้ว ผมก็เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ศึกษามา แม้ว่าข้อมูลอาจยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก แต่ก็คงพอที่จะช่วยให้ท่านที่สนใจในเรื่องของอากาศยานของ กองทัพอากาศไทยในอดีต ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ไปบ้างไม่มากก็น้อย และท้ายนี้คงต้องร่วมแสดงความยินดีกับการเข้าประจำการของ ฮ.พระที่นั่ง (หรือที่เรียกเป็นทางการในปัจจุบันว่า ฮ.พระราชพาหนะ) แบบใหม่ คือ เฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๑๐ หรือ “ ฮ.๑๐ ” (Sikosky S-92 A) ด้วย ครับ ...
ลำดับ |
แบบ ฮ. |
ปีที่เข้าประจำการ |
หมายเลขสหรัฐฯ (Ser.No./Bu.No) |
หมายเลข ทอ. (RTAF.No) |
หมายเลข ฝูง.๖๓ |
หมายเลข ฝูง.๓๑ |
หมายเลข ฝูง.๒๐๑ (ฮ.๔ก) |
ภารกิจ (๒๕๐๕ - ๒๕๑๒) |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
1. |
H-34C |
2505 |
54 - 933 |
๑๐/๒๕๐๕ |
๖๓๔๓ |
๓๑๕๓ |
๒๐๑๕๓ |
ฮ.บุคคลสำคัญ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2. |
H-34C |
2505 |
54 - 3021 |
๑๒/๒๕๐๕ |
๖๓๔๕ |
? |
- |
ฮ. พระที่นั่ง |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
3. |
UH-34D |
2507 |
63 - 8255 |
๒๑/๐๗ |
๖๓๐๑ |
๓๑๕๐,๓๑๕๔ |
๒๐๑๕๔ |
ฮ. พระที่นั่ง |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
4. |
UH-34D |
2507 |
63 - 8258 |
๒๔/๐๗ |
๖๓๐๒ |
๓๑๐๒ |
- |
ฮ.บุคคลสำคัญ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
5. |
UH-34D |
2507 |
63 - 8259 |
๒๕/๐๗ |
๖๓๐๓ |
![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/06/2011 22:13:53
ความคิดเห็นที่ 39
ต่อมาในปี ๒๕๑๐ ได้มีการจัดตั้ง กองบิน ๓ ขึ้นมาอีกครั้ง (ภายหลังจากที่ได้ยุบไปเมื่อปี ๒๔๘๘)จุดประสงค์ก็เพื่อให้เป็น กองบินเฮลิคอปเตอร์ โดยได้รับโอน ฮ. ทั้งหมดมาจากฝูง.๖๓ กองบิน ๖ และได้จัดตั้งฝูงบินรองรับจำนวน ๓ ฝูงบิน คือ ฝูงบิน ๓๑ เป็น ฮ.๔ (พระที่นั่ง,บุคลสำคัญ และลำเลียง/กู้ภัย) และ ฮ.๕ (H-43B) , ฝูงบิน ๓๒ เป็น ฮ.๖ ( UH-1H ซึ่งรอจะเข้าประจำการในปี ๒๕๑๑) และฝูงบิน ๓๓ เป็น ฮ.๔ (ลำเลียง/กู้ภัย) ซึ่งในส่วนของ ฮ.๔ พระที่นั่ง และ ฮ.สำหรับบุคลสำคัญ นั้น ได้มีการเปลี่ยนมาใช้หมายเลขของ ฝูง.๓๑ คือ ฮ. หมายเลข ๖๓๐๑ (ฮ.๔-๓๔/๐๙) เปลี่ยนมาเป็นหมายเลข ๓๑๐๑ , ฮ. หมายเลข ๖๓๐๒ (ฮ.๔-๒๔/๐๗) เปลี่ยนมาเป็นหมายเลข ๓๑๐๒ และ ฮ. หมายเลข ๖๓๐๓ (ฮ.๔-๒๕/๐๗) เปลี่ยนมาเป็นหมายเลข ๓๑๐๓ มีการใช้งาน ฮ.๔ พระที่นั่ง หมายเลข ๓๑๐๑ อยู่จนถึงกลางปี ๒๕๑๒ จึงยุติการใช้งานในฐานะ ฮ.พระที่นั่ง เนื่องจาก ทอ. ได้นำ ฮ.๖ (UH-1H) ของฝูง.๓๒ มาจัดถวายเป็น ฮ.พระที่นั่งแบบใหม่ ส่วน ฮ.๔ หมายเลข ๓๑๐๑ นั้นก็ปรับไปใช้เป็น ฮ.สำหรับบุคลสำคัญ หรือ ฮ.VIP แทน และต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนภารกิจ ฮ. ๔ หมายเลข ๓๑๐๑ รวมถึง ฮ. หมายเลข ๓๑๐๒ และ ๓๑๐๓ จากภารกิจบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ มาเป็นภารกิจการลำเลียงทางอากาศสนับสนุนหน่วยงานทั้งของ ทอ. เองรวมถึงหน่วยงานอื่นๆด้วย เนื่องจากในขณะนั้นได้ใช้ ฮ.๖ ในภารกิจเป็น ฮ. ติดตามในขบวนเสด็จฯ แทนทั้งหมดแล้ว รวมระยะเวลาที่ ฮ.๔ ได้ทำการถวายภารกิจการบินรับ-ส่งเสด็จ ฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ถึง ๒๕๑๒ เป็นเวลาประมาณ ๗ ปี ซึ่งก็ถือว่าไม่นานนัก แต่ ฮ.๔ ก็ยังคงประจำการอยู่ใน ทอ. จนกระทั่งต่อมาในปี ๒๕๒๐ ได้มีการปรับปรุงสมรรถนะ ฮ.๔ ให้สูงขึ้น โดย บริษัทไทยแอม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทย เป็นผู้ดำเนินการดัดแปลง ฮ.๔ จำนวน ๑๘ เครื่อง ซึ่งในจำนวน ฮ.๔ ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการดัดแปลงเป็น ฮ.๔ก (S-58T ) ในครั้งนี้ได้มี ฮ. ที่เคยใช้เป็น ฮ.พระที่นั่ง และ ฮ.สำหรับบุคลสำคัญ หรือ ฮ.VIP รวมอยู่ด้วย จำนวน ๓ เครื่อง (ดูตามตารางที่ท้ายเรื่องนี้) และนี่คงเป็นเรื่องของ ฮ.๔ ที่ได้ปฏิบัติภารกิจในการถวายการบินรับ-ส่งเสด็จ ฯ ในฐานะ ฮ.พระที่นั่ง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ในอดีตซึ่งผ่านมานานหลายสิบปีแล้ว ผมก็เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ศึกษามา แม้ว่าข้อมูลอาจยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก แต่ก็คงพอที่จะช่วยให้ท่านที่สนใจในเรื่องของอากาศยานของ กองทัพอากาศไทยในอดีต ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ไปบ้างไม่มากก็น้อย และท้ายนี้คงต้องร่วมแสดงความยินดีกับการเข้าประจำการของ ฮ.พระที่นั่ง (หรือที่เรียกเป็นทางการในปัจจุบันว่า ฮ.พระราชพาหนะ) แบบใหม่ คือ เฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๑๐ หรือ “ ฮ.๑๐ ” (Sikosky S-92 A) ด้วยครับ ... ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/06/2011 22:27:34
ความคิดเห็นที่ 40
* หมายเหตุ เนื่องจาก ฮ.บุคคลสำคัญ หรือ ฮ.VIP นั้นมีรูปแบบภายนอกเหมือนกับ ฮ. พระที่นั่ง ทุกประการ ยกเว้นรายละเอียดในการตกแต่งและการจัดที่นั่งภายในห้องโดยสาร เนื่องจากต้องจัดเตรียมไว้เพื่อใช้เป็น ฮ. พระที่นั่งสำรองด้วย จึงต้องนำมารวมไว้ในตารางนี้ด้วยเช่นกัน สำหรับในช่องหมายเลขฝูง.๒๐๑ (ฮ.๔ก) นั้นใส่ไว้เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ฮ.๔ก เครื่องใดบ้างที่ในอดีต ได้เคยใช้เ
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/06/2011 22:31:42
ความคิดเห็นที่ 41
* หมายเหตุ เนื่องจาก ฮ.บุคคลสำคัญ หรือ ฮ.VIP นั้นมีรูปแบบภายนอกเหมือนกับ ฮ. พระที่นั่ง ทุกประการ ยกเว้นรายละเอียดในการตกแต่งและการจัดที่นั่งภายในห้องโดยสาร เนื่องจากต้องจัดเตรียมไว้เพื่อใช้เป็น ฮ. พระที่นั่งสำรองด้วย จึงต้องนำมารวมไว้ในตารางนี้ด้วยเช่นกัน สำหรับในช่องหมายเลขฝูง.๒๐๑ (ฮ.๔ก) นั้นใส่ไว้เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ฮ.๔ก เครื่องใดบ้างที่ในอดีต ได้เคยใช้เป็น ฮ.พระที่นั่ง และ ฮ.บุคคลสำคัญ มาก่อน เอกสารอ้างอิง : นิตยสารการบิน กองบินยุทธการ ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙ กันยายน ๒๕๐๕
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/06/2011 22:42:02
ความคิดเห็นที่ 42
The Last Claws![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/03/2018 09:56:40
ความคิดเห็นที่ 43
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 222 มี.ค.2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2011 20:25:41
ความคิดเห็นที่ 44
TWIN PAC STORY โดย ASI S. หลังจากที่ได้เขียนเรื่อง “ ฮ.๔ พระที่นั่ง “ ไปแล้ว ผมก็คิดว่าน่าจะเขียนเรื่องของ ฮ.๔ก หรือ S - 58T ต่อไปเลย เนื่องจากมันเป็น ฮ. ที่ได้รับการดัดแปลงมาจาก ฮ.๔ (H-34C/D) ซึ่งได้ประจำการอยู่แล้วใน ทอ. โดย ฮ.๔ นั้น เราได้รับเข้าประจำการครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๐๕ และในเวลาต่อมาก็ยังได้รับมอบมาอีกหลายชุด รวมจำนวน ๖๐ เครื่อง (นับถึงปี ๒๕๑๒) แต่เมื่อผ่านการใช้มาหลายปี มี ฮ. ต้องจำหน่ายออกจากประจำการไปจำนวนมากพอสมควร ทั้งจากอุบัติเหตุและจากภารกิจการสนับสนุนการปราบปราม ผกค. จากที่เคยมีใช้งานอยู่ที่ กองบิน ๓ โคราช จำนวน ๒ ฝูงบิน คือ ฝูง.๓๑ และ ฝูง.๓๓ (ฝูงละประมาณ ๒๐ กว่าเครื่อง) ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ แต่ต้องมายุบ ฝูง.๓๓ ในปี ๒๕๑๕ เพื่อนำ ฮ. ไปรวมไว้ที่ ฝูง.๓๑ เพียงฝูงบินเดียว เนื่องจากจำนวนที่ลดลงของ ฮ.๔ จากการที่ต้องจำหน่ายออกจากประจำการ ซึ่งสาเหตุหลักนั้นมาจากการเกิดอุบัติเหตุ และส่วนหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุนั้นก็มาจากการขัดข้องของเครื่องยนต์ลูกสูบแบบ Wright R-1820-84 ที่ติดตั้งกับ ฮ.๔ นั่นเอง จนกระทั่งต่อมาในปี ๒๕๑๘ ทอ. ได้มีแนวคิดในการยืดอายุการใช้งานของ ฮ.๔ ออกไป เนื่องจากในเวลานั้น บริษัท ซิกอร์สกี้ ซึ่งเป็นผู้สร้าง ฮ.๔ (H-34C/D) นั้นได้ปิดสายการผลิต ฮ. แบบนี้ไปตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ แล้ว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องอะไหล่ที่จะใช้สำหรับการซ่อมบำรุงเพื่อให้ ฮ.สามารถปฏิบัติการต่อไปได้ และอีกส่วนหนึ่งจากการที่ได้เห็นตัวอย่างจาก ฮ. S - 58T ของ แอร์อเมริกา ที่ประจำอยู่ที่ฐานบินอุดรฯ ซึ่งได้ทำการดัดแปลงจาก ฮ. UH-34D ที่เคยใช้งานอยู่ก่อนแล้ว โดยนำชุดดัดแปลง (Conversions) ของ บริษัท ซิกอร์สกี้ มาทำการดัดแปลงที่อุดรฯ จำนวน ๕ เครื่อง ในปี ๒๕๑๔ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนปฏิบัติการ(ลับ)ในประเทศลาว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็น ฮ. ที่มีสมรรถนะทางการบินสูงกว่า ฮ.๔ มาก จึงได้มีการจัดทำโครงการปรับปรุงสมรรถนะ ฮ.๔ โดยได้มอบให้ บริษัทไทยแอม (Thai Airways Aircraft Maintainance : THAI - AM ) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทย (ตั้งขึ้นในปี ๒๕๑๐) เป็นผู้ดำเนินการในการดัดแปลง โดยใช้ชุดดัดแปลง (Conversions) ซึ่งเป็นแผนแบบของ บริษัท ซิกอร์สกี้ แบบ S-58T มาทำการดัดแปลง ฮ.๔ จำนวน ๑๘ เครื่อง ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดในการดัดแปลงนี้คือ การเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ลูกสูบแบบ Wright R-1820-84 จำนวน ๑ เครื่อง (ให้กำลัง ๑,๕๒๕ แรงม้า และใช้เชื้อเพลิงชนิด ออคเทน เกรด ๑๑๕/๑๔๕) มาเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบชาฟท์ แบบ Pratt & Whitney PT6 Twin-Pac จำนวน ๒ เครื่อง (ให้กำลัง ๑,๙๔๐ แรงม้า และใช้เชื้อเพลิงเกรด เจพี-๔) ทำให้มีสมรรถนะทางการบินสูงขึ้นจากเดิมมาก และยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ถูกลงกว่าเดิมด้วย ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2011 20:27:36
ความคิดเห็นที่ 45
ในการดำเนินการนั้น ทอ. ได้ส่งมอบ ฮ.๔ ให้ บริษัทไทยแอม (ในขณะนั้นส่วนของฝ่ายการช่าง ที่ดำเนินการดัดแปลงนั้น อยู่ที่สนามบินดอนเมือง ฝั่งตะวันตก หรือตรงฝ่ายการช่าง บ.การบินไทย ในปัจจุบัน) ทำการปรับปรุงเครื่องแรกเมื่อเดือน ก.ย.๒๐ ภายหลังจากดัดแปลงเสร็จในเดือน เม.ย.๒๑ และได้ทำการทดสอบสมรรถนะทางการบินอยู่หลายเดือน ก่อนจะส่งมอบกลับไปให้ ทอ. เมื่อเดือน ม.ค.๒๒ จากนั้น ทอ. จึงได้ทยอยส่ง ฮ.๔ เข้ารับการดัดแปลงครั้งละ ๒ - ๓ เครื่อง เนื่องจาก ฮ.๔ (ซึ่งในขณะนั้นได้โอนมาบรรจุที่ฝูงบิน ๒๐๑ กองบิน ๒ โคกกะเทียม แล้ว แต่ ฮ. ทั้งหมดยังต้องอยู่ที่โคราช (กองบิน ๒ ส่วนหน้า) เพราะการปรับปรุงสถานที่ปฏิบัติงานและบ้านพักอาศัยสำหรับข้าราชการและครอบครัวที่โคกกะเทียม ยังไม่เรียบร้อย) ยังต้องใช้งานทางด้านยุทธการอยู่ด้วย อีกทั้ง บริษัทไทยแอม ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการดัดแปลง ฮ. ได้พร้อมกันทีเดียวทั้งหมด ดังนั้นเมื่อส่ง ฮ. ชุดแรกเข้ารับการดัดแปลงได้ระยะหนึ่ง (แต่ยังไม่แล้วเสร็จ) ก็จะส่ง ฮ. ชุดใหม่ตามเข้าไปอีก และเมื่อ ฮ. ชุดแรกดัดแปลงแล้วเสร็จ ก็จะนำกลับเข้ามาประจำการ พร้อมทั้งส่ง ฮ. ที่เหลือเข้าไปดัดแปลงต่อไป ดังนั้นในช่วงปี ๒๕๒๒ - ๒๕๒๓ เราจึงมีโอกาสได้เห็นภาพ ฮ.๔ และ ฮ.๔ก ของฝูง.๒๐๑ ปฏิบัติงานอยู่ร่วมกัน และเมื่อ ฮ.๔ เครื่องสุดท้ายได้ดัดแปลงเสร็จในปี ๒๕๒๓ (แต่บางข้อมูลบันทึกว่าเป็นปี ๒๕๒๕) จึงได้รับการกำหนดชื่อให้เป็น “ เฮลิคอปเตอร์ แบบที่ ๔ ก “ หรือ “ ฮ.๔ก “ ช่วงเวลานั้นเองก็ได้มีการเคลื่อนย้าย ฝูงบิน ๒๐๑ และ ฝูงบิน ๒๐๓ เข้าที่ตั้ง(ปกติ)โคกกะเทียม ซึ่งในขณะนั้นการปฏิบัติการปราบปราม ผกค. ก็ยังดำเนินอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทำให้ต้องใช้ ฮ.๔ก เข้าทำการสนับสนุนอยู่เป็นประจำ โดยภารกิจหลักของ ฮ.๔ก คือการค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ และมีภารกิจรองคือ การลำเลียงทางอากาศ ซึ่ง ฮ.๔ก ในช่วงนั้นก็ต้องติดตั้งอาวุธสำหรับป้องกันตนเองด้วย โดยติดตั้งปืนกลอากาศ ขนาด ๗.๖๒ มม.แบบ M-60D จำนวน ๒ กระบอก ที่ข้างประตูห้องโดยสาร และอีกกระบอกที่หน้าต่างด้านซ้ายของตัวเครื่อง ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2011 20:29:09
ความคิดเห็นที่ 46
และภายหลังจากการปราบปราม ผกค. ได้สิ้นสุดลงในปี ๒๕๒๖ ก็ได้มีการส่งหน่วยบิน ฮ.๔ก ออกไปประจำยังกองบินต่างๆ หน่วยละ ๑ เครื่อง (แต่บางกองบินหรือบางฝูงบินสนามก็อาจจะเป็น หน่วยบิน ฮ.๖ จากฝูงบิน ๒๐๓) ในการเตรียมพร้อมเพื่อทำหน้าที่เป็น ฮ. ช่วยเหลือและกู้ภัย กรณีมีอากาศยานอุบัติเหตุ รวมถึงภารกิจการลำเลียงทางอากาศสนับสนุนหน่วยงานของ ทอ. อย่างเช่น สถานีเรดาร์ หรือสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคม ที่ตั้งอยู่ตามยอดเขาต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ต้องประสบภัยพิบัติต่างๆ อย่างในกรณีเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเดือน พ.ย.๓๑ ซึ่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในตอนนั้นการส่งความช่วยเหลือเข้าไปทางภาคพื้นทำได้ลำบากมากเพราะเส้นทางถูกตัดขาด ดังนั้นการส่งความช่วยเหลือเข้าไปด้วยวิธีที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดก็คือ ทางอากาศ ทอ. ได้ส่ง ฮ.๔ก ทำการบินเข้าไปส่งอาหารและของใช้ที่จำเป็นต่อการยังชีพ ตลอดจนการรับ-ส่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และหน่วยกู้ภัยเข้าไปให้ความช่วยเหลือและทำการลำเลียงผู้บาดเจ็บออกมาจากพื้นที่เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาล และอีกเหตุการณ์คือ กรณีพายุไต้ฝุ่นเกย์ พัดถล่ม อ.ปะทิว และ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เมื่อเดือน พ.ย.๓๒ ในเหตุการณ์นี้ก็มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนั้นยังทำความเสียหายให้พื้นที่เป็นบริเวณกว้างด้วย โดย ทอ. ก็ได้ส่ง ฮ.๔ก เข้าไปให้ความช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งทั้ง ๒ เหตุการณ์นี้ นักบินและเจ้าหน้าที่ของ ฮ.๔ก ต้องทำงานอย่างหนักอยู่เป็นเวลาหลายเดือนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2011 20:31:09
ความคิดเห็นที่ 47
ก็นับว่าเป็นภารกิจที่ ฮ.๔ก ได้ทำอยู่เสมอมา นับแต่ได้เข้าประจำการ และเมื่อผ่านการใช้งานมาเป็นเวลาหลายปี ก็มีแผนที่จะปลดประจำการ ฮ.๔ก ในปี ๒๕๔๑ เนื่องจาก ทอ.ไทย ได้กำหนดอายุการใช้งาน ฮ. แต่ละแบบเป็นระยะเวลาไม่เกิน ๓๕ ปี ซึ่งเมื่อดูจากปีที่เข้าประจำการคือ ระหว่างปี ๒๕๒๒ - ๒๕๒๓ แล้ว บางท่านก็อาจจะมองว่าอายุการใช้งานของ ฮ.๔ก ยังไม่น่าจะครบ ๓๕ ปี ตามที่ได้กำหนด แต่คงต้องอย่าลืมว่า ตัวโครงสร้างของ ฮ.๔ก นั้น เดิมก็คือ ฮ.๔ นั่นเอง ซึ่ง ฮ.๔ จำนวน ๑๘ เครื่องที่นำมาดัดแปลงมาเป็น ฮ.๔ก นั้น ได้รับเข้าประจำการใน ทอ.ไทย ระหว่างปี ๒๕๐๕ - ๒๕๑๙ และบางเครื่องนั้นยังถูกใช้งานมาก่อนแล้วหลายปีในกองทัพสหรัฐฯ กว่าที่จะนำมามอบให้ ทอ.ไทย ใช้งานต่อ ซึ่งในจำนวน ฮ.๔ (หรือ ฮ.๔ก) ทั้งหมดนี้ เครื่องที่ใหม่สุดถูกสร้างขึ้นในปี 1963 หรือ ๒๕๐๖ (ส่วนเครื่องที่เก่าที่สุดถูกสร้างขึ้นในปี 1954 หรือ ๒๔๙๗) ซึ่งเมื่อเอาปี ๒๕๐๖ ตั้งแล้วบวกอีก ๓๕ ปี ก็จะออกมาตรงกับปี ๒๕๔๑ นั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ฮ.๔ก อีกหลายเครื่องนั้นมีอายุการใช้งานเกินกำหนดไปแล้วเกือบสิบปี ซึ่งก็รวมถึง ฮ.๔ก เครื่องที่ ๑๙ ที่ได้รับมาจากกระทรวงเกษตรฯ ในปี ๒๕๓๐ ด้วย ซึ่งตามแผนการปลดประจำการ ฮ.๔ ก นั้น ทอ. ได้กำหนดความต้องการจัดหา ฮ. เพื่อทดแทนจำนวน ๑๔ เครื่อง แต่เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี ๒๕๔๐ เป็นเหตุให้ค่าเงินบาทตกลงมาก (ค่าเงินบาทเคยอ่อนค่าลงไปต่ำสุดถึง ๕๖ บาทต่อ ๑ ดอลล่าร์ เมื่อเดือน ม.ค.๔๑) ทำให้งบประมาณที่ ทอ. ได้รับ สามารถนำไปจัดหา ฮ.๖ง หรือ Bell 412 EP เข้าประจำการทดแทน ฮ.๔ ก ได้เพียง ๔ เครื่องเท่านั้น ดังนั้นในปี ๒๕๔๑ ทอ. จึงต้องคงประจำการ ฮ.๔ ก ที่ยังมีสภาพเหมาะสมที่จะใช้งานต่อไปอีกระยะหนึ่งจำนวน ๕ เครื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้งานด้านยุทธการ และได้กำหนดแผนการว่าจะให้ ฮ.๔ ก ทั้ง ๕ เครื่อง ปลดประจำการในปี ๒๕๔๖ แต่ต่อมาก็ได้ปรับแผนการที่จะปลดประจำการใหม่เป็นในปี ๒๕๔๒ และในเดือน ก.ย.๔๒ จึงได้มีการปลดประจำการ ฮ.๔ก อย่างเป็นทางการ โดย ฮ. ที่เหลือทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ที่ กองบิน ๒ และมี ๑ เครื่อง ได้ถูกนำมาตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ (หมายเลข ๒๐๑๑๗ (ฮ.๔ก-๖๔/๓๐) ที่ได้รับมาจากกระทรวงเกษตรฯ) ในปี ๒๕๕๑ ได้มีความร่วมมือระหว่าง ทอ. กับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , จังหวัดภูเก็ต ,มูลนิธิเพื่อทะเลไทย และหน่วยงานภาคเอกชนอีกหลายแห่ง เพื่อจัดทำโครงการ “ฝูงบินปะการังเพื่อทะเล” ขึ้นมาวัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นการสร้างแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ และส่งเสริมให้จังหวัดภูเก็ต เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก รวมทั้งเพื่อลดความเสียหายของปะการังธรรมชาติ และลดความแออัดของนักดำน้ำในแหล่งดำน้ำธรรมชาติ อันจะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นอีกด้วย โดยได้ดำเนินการนำอากาศยานของ ทอ. ที่ปลดประจำการไปแล้วได้แก่ บ.ล.๒ (C-47 DAKOTA) จำนวน ๔ เครื่อง และ ฮ.๔ก จำนวน ๖ เครื่อง ไปจัดวางเป็นแนวปะการังเทียม ที่พื้นทะเลบริเวณ อ่าวบางเทา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในระดับความลึก ๑๖ - ๑๘ เมตร และห่างจากชายฝั่งประมาณ ๑ กม. ซึ่ง บ. และ ฮ. ทั้งหมดนำมาจาก กองบิน ๒ โดยก่อนหน้าที่จะส่งไปยัง จ.ภูเก็ต นั้น ก็ได้มีการทำความสะอาด และถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์บางอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล รวมทั้งสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อนักดำน้ำออกไปด้วย และโครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.๕๑ จะเห็นได้ว่าแม้จะปลดประจำการไปแล้วเป็นสิบปี แต่ ฮ.๔ก ก็ยังได้มีโอกาสทำประโยชน์แก่ประเทศชาติอีกครั้งหนึ่ง ในปัจจุบันนอกจากที่ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศแล้ว ถ้าอยากไปชม ฮ.๔ก ก็คงต้องไปที่กองบิน ๒ จ.ลพบุรี เพราะยังมี ฮ.๔ก อีกหลายเครื่องเก็บไว้อยู่ เมื่อถึงคราววันเด็กของทุกปี ก็จะนำออกมาตั้งแสดงให้เด็กๆ และผู้ที่สนใจได้ชมกันอย่างใกล้ชิด แต่ถ้ายังอยากเห็นลีลาการบินชนิดที่บางท่านอาจไม่เชื่อว่า ฮ.๔ก จะทำได้ก็ลองเข้าไปใน GOOGLE แล้วพิมพ์คำว่า “ ฮ.4ก “ จะเจอเวบที่เป็นวิดีโอคลิปการแสดงการบิน ฮ.๔ก ของฝูง.๒๐๑ อยู่ซึ่งถ้าได้ดูแล้วจะทึ่งกับความสามารถของนักบินและสมรรถนะของ ฮ. ครับ .............................................................................................. ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2011 20:36:28
ความคิดเห็นที่ 48
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2011 20:43:48
ความคิดเห็นที่ 49
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 223 เม.ย.2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/09/2011 03:42:00
ความคิดเห็นที่ 50
CHIPMUNK STORY BY FS.1 ASI S. ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา กองทัพอากาศไทยได้เริ่มทำการฟื้นฟูกำลังทางอากาศขึ้นอีกครั้ง ได้มีการสั่งซื้ออากาศยานหลายแบบเข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมากทั้งจากสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น บ.เก่าทีผ่านการใช้งานมาแล้วและเป็นของเหลือใช้จากสงคราม แต่ก็ได้รับการปรับปรุงสภาพมาแล้ว ซึ่งในส่วนของ บ.ที่ใช้สำหรับฝึกบินนั้น นอกจาก บ.ฝ.8 (T-6 Texan) ที่สั่งซื้อจากสหรัฐฯแล้ว ในปี 2492 ก็ยังได้มีการสั่งซื้อ บ.ฝึกทางทหารแบบ DHC-1B-2-S2 Chipmunk สร้างโดยบริษัท De Havilland Canada ประเทศแคนาดา จำนวน 18 เครื่อง เพื่อนำมาใช้สำหรับฝึกศิษย์การบินของ ทอ. ซึ่ง บ.ชุดนี้ได้รับมอบในปี 2493 และปี 2494 และได้รับการกำหนดชื่อว่า เครื่องบินฝึกแบบที่ 9 หรือ บ.ฝ.9 (หมายเลข ทอ. ฝ.9 -1/93 ถึง ฝ.9 -18/94) บ.เหล่านี้ถูกบรรจุในฝูงฝึกขั้นต้นของ กองโรงเรียนการบิน นครราชสีมา (โคราช) เพื่อใช้ฝึกศิษย์การบินชั้นประถมร่วมกับ บ.ฝ.7 (Miles Magister) แต่เนื่องจาก บ.ฝ.7 ในขณะนั้น (ปี 2494) มีสภาพเก่าและสมรรถนะไม่คอยดีนักเมื่อเทียบกับ บ.ฝ.9 จึงได้มีการจัดหา บ.มาทดแทน ซึ่งก็ยังเป็น บ.ฝึกแบบ Chipmunk แต่เป็นรุ่น T.20 ซึ่งเป็นรุ่นที่ผลิตเพื่อการส่งออกทางทหารและสร้างโดยบริษัท De Havilland ประเทศอังกฤษ จำนวน 48 เครื่อง บ.ชุดนี้ได้รับมอบ 2 เครื่องแรกในปลายปี 2494 (หมายเลข ทอ. ฝ.9 -19/94 และ ฝ.9 -20/94) และในปี 2495 จำนวน 25 เครื่อง (หมายเลข ทอ. ฝ.9 -21/95 ถึง ฝ.9 -45/95) การได้รับ บ.ฝ.9 ในปี 2495 ทำให้ ทอ.มีเครื่องบินฝึกเพิ่มขึ้นจึงได้ปลดประจำการ บ.ฝ.7 ออกไป (แต่น่าเสียดายที่ในตอนนั้นไม่มี บ.ฝ.7 แม้แต่เครื่องเดียวที่ถูกนำเข้าไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ จึงทำให้ในปัจจุบันไม่มี บ.แบบนี้ตั้งแสดงให้ได้ชมกัน และแม้แต่ภาพถ่ายของ บ.แบบนี้ในขณะที่ประจำการอยู่ก็ยังปรากฎให้เห็นน้อยมาก) และเมื่อถึงปี 2497 ก็ได้รับมอบ บ.ฝ.9 ที่เหลืออีก 21 เครื่อง (หมายเลข ทอ. ฝ.9 -46/97 ถึง ฝ.9 -66/97) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/09/2011 03:45:36
ความคิดเห็นที่ 51
ซึ่งความแตกต่างของ บ.ฝ.9 รุ่นที่สร้างในแคนาดากับอังกฤษ ที่เห็นได้ชัดคือ ฐานล้อหน้าของรุ่นที่สร้างในแคนาดา จะเป็นแท่งกลมๆ ส่วนรุ่นที่สร้างจากอังกฤษจะมีแผ่นแฟริ่งหุ้มฐานล้อหน้าเพื่อลดแรงต้านในขณะทำการบิน มองดูจะเห็นเป็นแผ่นแบนๆ นอกจากนี้ตรงโคนฐานล้อด้านซ้ายตรงส่วนที่ติดกับปีก จะมีดวงไฟสำหรับส่องทางติดอยู่ด้วย (แต่ตอนหลังดวงไฟนี้ได้ถูกถอดออกไป) ส่วนอีกที่ๆต้องสังเกตุดีๆก็คือ ชิ้นส่วนประทุนห้องนักบิน (Canopy) ตรงกรอบช่องด้านบน (Sunroof) ทั้งสองกรอบ ซึ่งรุ่นที่สร้างในแคนาดาจะมีขนาดเล็กกว่า สำหรับในส่วนของเครื่องยนต์ เท่าที่ค้นข้อมูลดูก็จะใช้เครื่องยนต์รุ่นเดียวกันคือ Gipsy Major 10 Series 2 ที่ให้กำลัง 145 แรงม้า เมื่อได้รับ บ.มาครบตามจำนวนที่สั่งซื้อในปี 2497 แล้ว ก็ได้บรรจุเข้าในฝูงฝึกขั้นต้น ทดแทน บ.ฝ.9 ชุดแรกที่สั่งซื้อจากแคนาดา และนำ บ.ที่สร้างจากแคนาดาทั้งหมดไปบรรจุใน สโมสรการบินพลเรือน กองทัพอากาศ ร่วมกับ บ.ฝ.10 (Tiger Moth) และ บ.ส.3 (Piper Cub) ที่ใช้เป็น บ.ฝึกอยู่แล้วก่อนหน้าแล้วตั้งแต่ปี 2495 โดยได้มีการเปลี่ยนสีและรูปแบบจากเดิมที่ทั้งลำเคยเป็นสีโลหะ และคาดด้วยแถบใหญ่สีเหลืองที่กลางปีกและโคนหาง มาเป็นสีที่ออกแบบโดยสโมสรการบินพลเรือน (ในเรื่องสีของ บ.ฝ.9 ที่ใช้ในขณะที่บรรจุในหน่วยฝึกบินพลเรือนของ ทอ. ตั้งแต่ปี 2497 ถึง 2532 เท่าที่ผมได้ศึกษามานั้น มีไม่น้อยกว่า 5 แบบ ซึ่งในที่นี้จะขอไม่กล่าวถึงเนื่องจากจะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/09/2011 03:47:49
ความคิดเห็นที่ 52
บ.ฝ.9 ของฝูงฝึกขั้นต้น เป็น บ.ฝึกแบบแรกที่ใช้ฝึกศิษย์การบินชั้นประถม ซึ่งเป็นการฝึกคนจากที่ไม่เคยทำการบินเลย ให้สามารถทำการบินได้ด้วยตนเอง ซึ่งศิษย์ฯจะต้องทำการฝึกบินตามขั้นตอนที่วางไว้และต้องเรียนรู้จนสามารถทำการบินเดี่ยวให้ได้ตามชั่วโมงที่กำหนด จึงจะผ่านขึ้นไปสู่การเป็นศิษย์การบินชั้นมัธยมต่อไป ซึ่งขั้นตอนที่ใช้ฝึกจะประกอบไปด้วย การบินเกาะภูมิประเทศก่อนการปล่อยเดี่ยว การบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน การบินเดินทาง การบินหมู่ การบินกลางคืน และการบินด้วยเครื่องฝึกบินจำลอง ซึ่งก็มักมีศิษย์ที่ไม่สามารถผ่านการทดสอบและต้องถูกคัดออก (Wash Out) และพ้นสภาพจากการเป็นศิษย์การบินอยู่เสมอ ในด้านการบินนั้น บ.ฝ.9 ถือว่าเป็น บ.ฝึกที่มีสมรรถนะดีมากแบบหนึ่ง สามารถทำการบินผาดแผลงได้ดีในทุกท่า โดยเฉพาะท่าควงสว่าน (Spin) ซึ่งเป็นท่าอันตราย เพราะในการบินแล้วถ้า บ.เกิดการเข้าควงสว่านแล้วแก้ไขไม่ทัน บ.ก็จะตกลงสู่พื้นดินได้ ดังนั้นท่านี้จึงต้องเป็นท่าบังคับที่ศิษย์การบินจะต้องฝึกทำและแก้ไขให้ได้ แต่ที่ผ่านมาก็มักมีศิษย์ฯและครูการบินเองต้องจบชีวิตจากการฝึกบินด้วยท่านี้อยู่หลายครั้ง เนื่องจากไม่สามารถแก้การควงสว่านได้ทันเพราะระยะความสูงไม่พอ ซึ่งว่ากันว่า บ.ฝ.9 รุ่นที่สร้างจากแคนาดานั้นจะแก้การเข้าควงสว่านได้ดีกว่ารุ่นที่สร้างจากอังกฤษ ดังนั้นถ้าจะต้องฝึกท่านี้จะต้องทำในระยะความสูงพอสมควรเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรในภาคอากาศใหม่ โดยให้ศิษย์การบินชั้นประถม ทำการฝึกบินด้วย บ.ฝ.9 จำนวน 20 ชั่วโมงและทำการฝึกต่อด้วย บ.ฝ.8 (T-6) อีกจำนวน 95 ชั่วโมง แล้วจึงจะผ่านขึ้นสู่ชั้นมัธยมต่อไป ซึ่งศิษย์ฯจะต้องทำการบินเดี่ยวด้วย บ.ฝ.9 ให้ได้ภายใน 20 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกคัดออก (Wash Out) การฝึกจะเริ่มจากให้ศิษย์ฯทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ในห้องนักบิน (Cockpit) จากนั้นจึงจะทำการบินเที่ยวแรก โดยศิษย์ฯนั่งในตำแหน่งหน้าส่วนครูการบินจะนั่งในที่นั่งด้านหลัง แต่ว่าครูการบินจะเป็นผู้บินให้ดูก่อนจากนั้นจึงปล่อยให้ศิษย์ฯลองทำการบินในท่าทางต่างๆ ในเที่ยวต่อๆไปจึงให้ศิษย์ทำการบินด้วยตนเองโดยมีครูเป็นผู้เช็คขั้นตอนการปฏิบัติ (Procedure) ของศิษย์ฯและคอยช่วยเหลือหากเกิดความผิดพลาดที่ศิษย์ฯไม่สามารถแก้ไขได้ ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/09/2011 03:50:02
ความคิดเห็นที่ 53
บ.ฝ.9 ถูกใช้ฝึกศิษย์การบินชั้นประถมของ รร.การบิน (ตั้งแต่อยู่ที่โคราช จนย้ายที่ตั้ง รร.การบิน มาอยู่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ในปี 2512) มานานมากกว่า 20 ปี มีศิษย์การบินผ่านการฝึกบินมาแล้วหลายสิบๆรุ่น ซึ่งถือว่าเป็น บ.ฝึกที่มีอายุการใช้งานนานมากพอๆกับ บ.ฝ.8 ที่อยู่ร่วมกันในฝูงฝึกขั้นต้น ซึ่ง บ.เก่ากับนักบินใหม่ไม่ใช่เรื่องดี ในช่วงปี 2515 จึงได้มีโครงการจัดหา บ.ฝึกแบบใหม่เพื่อมาใช้ทดแทน บ.ทั้งสองแบบ ซึ่งต่อมา ทอ. ก็ได้มีการพิจารณาจัดซื้อ บ.ฝึกแบบ CT-4 A Airtrainer จากประเทศนิวซีแลนด์ มาใช้งาน และในปี 2517 เมื่อได้รับ บ.ฝึกแบบใหม่คือ CT-4 A หรือ บ.ฝ.16 รวมทั้ง บ.ทอ.4 จันทรา ที่สร้างโดยกรมช่างอากาศอีก 12 เครื่อง มาใช้ทำการฝึกแทน บ.ฝ.9 และ บ.ฝ.8 แล้ว จึงได้เลิกใช้งาน บ.ทั้งสองแบบ (แต่ บ.ฝ.8 นั้นได้ปลดประจำการจาก ทอ. ไปเลย // สำหรับในส่วนของ บ.ทอ.4 จันทรา ในขณะนั้นยังไม่ได้กำหนดชื่อให้เป็น บ.ฝ.17 และก็มีข้อมูลว่า บ.แบบนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้โครงสร้างของ บ.ฝ.9 ที่ปลดประจำการแล้ว ซึ่งในหนังสือช่างอากาศ ฉบับเดือนกันยายน 2517 ที่เป็นเรื่องของ บ.ทอ.4 จันทรา นั้น กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเป็นการวิเคราะห์และวิจัยข้อมูลด้านอากาศพลศาสตร์ และด้านโครงสร้างจากเครื่องบินฝึกบางแบบของกองทัพอากาศ แล้วทำการดัดแปลงและสร้างลำตัวขึ้นใหม่จากข้อมูลที่ศึกษาได้ ซึ่งเมื่อสังเกตุดูจะเห็นว่า บ.ฝ.9 กับ บ.ทอ.4 นั้นมีความคล้ายคลึงกันมากโดยเฉพาะปีกและฐานล้อ จึงน่าจะเป็นอย่างที่มีข้อมูลว่าคือ เป็นการนำโครงสร้างของ บ.ฝ.9 มาเป็นพื้นฐานในการสร้าง บ.ทอ.4) และฝูงฝึกขั้นต้น รร.การบิน ก็ได้โอน บ.ฝ.9 ที่เหลืออยู่ทั้งหมดไปให้กับหน่วยฝึกการบินพลเรือนกองทัพอากาศ (ซึ่งเดิมก็คือ สโมสรการบินพลเรือน กองทัพอากาศ) โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงของ กรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ (บพร.) มีที่ตั้งอยู่ที่สนามบินดอนเมือง ฝั่งตะวันตก แต่ต่อมาในปี 2522 ก็ได้ยุบกรมการบินพลเรือน ทอ. และโอนภารกิจไปให้ กรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดูแลแทน แต่เนื่องจากยังมีภารกิจการฝึกบินพลเรือนอยู่ จึงได้มีการตั้งฝูงบิน 604 กองบิน 6 ขึ้นมาในปี 2522 เพื่อรองรับงานด้านการฝึกบินพลเรือน ดังนั้น บ.ฝ.9 จึงได้มาบรรจุที่ฝูง.604 ร่วมกับ บ.แบบอื่นคือ บ.ฝ.17 จันทรา , บ.พ.1 (Cessna 150) และ บ.ชอ.1 (PL-2) ซึ่ง บ. 2 แบบหลังมีเพียงแบบละ 1 เครื่องเท่านั้น (ภายหลัง ฝูง.604 ได้รับ บ.ต.2 (O-1) จากฝูง.531 บน.53 มาอีกจำนวนหลายเครื่อง) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/09/2011 03:52:08
ความคิดเห็นที่ 54
จนกระทั่งถึงปี 2532 หลังจากผ่านการใช้งานมานานสามสิบกว่าปี ก็ถึงเวลาที่จะต้องปลดประจำการ ซึ่งในขณะนั้นหน่วยฝึกการบินพลเรือนกองทัพอากาศ ของฝูงบิน 604 นั้น มี บ.ฝ.9 เหลืออยู่ประมาณ 5 เครื่องเท่านั้น ซึ่งทั้ง 5 เครื่องนี้ก็ถือเป็น บ.ฝ.9 ชุดสุดท้ายที่ยังทำการบินอยู่ ซึ่งนอกจากจะปลดประจำการ บ.ฝ.9 แล้ว ก็ยังได้ปลดประจำการ บ.ฝ.17 และ บ.ชอ.1 ไปพร้อมกันด้วย และเมื่อมีการตั้งชมรมอนุรักษ์อากาศยานไทย ขึ้นมาในปี 2534 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์และบูรณะเครื่องบินเก่าที่ปลดประจำการแล้วเพื่อประโยชน์ในด้านการบินของชาติ ชมรมฯก็ได้รับ บ.ฝ.9 ที่ปลดประจำการจาก ทอ. มาทำการฟื้นฟูสภาพให้ทำการบินได้อีกครั้ง และในปี 2536 หลังจากที่ได้รับการจดทะเบียนและยกฐานะเป็น มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แล้ว ก็ได้จัดให้มีการแสดงการบินเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาส เจริญพระชนมายุครบ 60 พระชันษา ขึ้นในวันที่ 7 ม.ค.36 ในงานมีการแสดงการบินหมู่ของ บ.จากหน่วยงานต่างๆกว่า 100 เครื่อง ซึ่งรวมถึงหมู่บิน บ.ฝ.9 จำนวน 4 เครื่องด้วย และนี่คงเป็นเรื่องราวในอดีตเพียงบางส่วนของ บ.ฝ.9 ที่เคยประจำการในกองทัพอากาศไทย ในส่วนตัวแล้วจำได้ว่าราวปี 2530 มีโกดังรับซื้อของเก่าแถวต้นถนนบางนา-ตราด ใกล้ๆกับสี่แยกบางนา ซึ่งน่าจะเป็นตรงที่ตั้งภัตตาคารมังกรหลวงในปัจจุบัน มีปีกของ บ.ฝ.9 ที่เคยบรรจุในฝูงฝึกขั้นต้น รร.การบิน ซึ่งเป็นปีกสีโลหะคาดด้วยแถบสีเหลือง ตั้งเรียงซ้อนกันอยู่หน้าร้านหลายสิบปีกแต่มองไม่เห็นส่วนของลำตัว เข้าใจว่าคงไปประมูลซาก บ.มาจาก ทอ. แล้วคงเตรียมแยกชิ้นส่วนเอาไปขายต่อเพราะอีกไม่กี่เดือนก็หายไปหมด คิดไปแล้วก็น่าเสียดายเหมือนกัน และท้ายนี้ในวาระที่ รร.การบิน จะครบรอบ 70 ปี ในปลายปีนี้ (12 ธ.ค.2554) ก็คิดว่าคงจะต้องมีการจัดงานที่ระลึกขึ้นด้วย และในฐานะที่ บ.ฝ.9 นั้นได้เคยใช้เป็น บ.สำหรับฝึกศิษย์การบินของ รร.การบิน มาตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นกองโรงเรียนการบิน (โคราช) เรื่อยมาจนถึงยุค โรงเรียนการบิน (กำแพงแสน) ซึ่งเป็นเวลายี่สิบกว่าปีนั้น ก็อยากเห็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวกับ บ.ฝ.9 เป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อคนรุ่นหลังจะได้รับทราบสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและเกิดความภาคภูมิใจ เพราะเมื่อเห็น บ.ฝ.9 ที่ตั้งแสดงอยู่ตรงลานจอด บ. หน้ากองฝึกการบิน รร.การบิน แล้วผมก็นึกไม่ออกจริงๆว่าหมายเลข “ 2123 ” ที่เห็นที่ข้างลำตัวและใต้ปีกนั้นหมายถึงอะไร เพราะตามจริงแล้วนั้นจะต้องขึ้นต้นด้วยเลขลำดับการเข้าประจำการของ บ.ฝ.9 และต่อด้วยเลขปีที่เข้าประจำการ โดยมีเครื่องหมายขีด (-) คั่นกลางระหว่างตัวเลขทั้งสองข้างต้น อย่างเช่น 45 - 95 ก็จะหมายถึงเป็น บ.ฝ.9 เครื่องที่ 45 และเข้าประจำการในปี 2495 เป็นต้น ดังนั้นเลข 2123 จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับ บ.ฝ.9 เลย แต่คิดว่าน่าจะเป็นเลขเด็ด เพราะยังเห็นมี บ.เอฟ-16 จำลอง (ขนาดประมาณ 1 ใน 5 ของ บ.จริง) ตั้งบนแท่นตรงหน้าประตูทางเข้ากองฝึกการบิน ซึ่งก็ใช้หมายเลข 2123 เหมือนกัน เพียงเปลี่ยนมาใช้เป็นตัวเลขไทยเท่านั้น ก็หวังว่าในอนาคตเมื่อได้มีการซ่อมทำสี บ.ฝ.9 เครื่องที่ว่านี้อีกครั้ง ก็อยากเห็นการแก้ไขให้ถูกต้องตามอดีตที่มันเคยเป็นมานะครับ ........................................................................................ ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/09/2011 03:54:06
ความคิดเห็นที่ 55
*บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 226 ก.ค.2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/12/2011 19:44:47
ความคิดเห็นที่ 56
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 224 พ.ค.2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/10/2011 23:30:23
ความคิดเห็นที่ 57
TROJAN STORY By FS.1 ASI S. หลังจากที่ ฝูงบินขับไล่ทิ้งระเบิดที่ 23 กองบินน้อยที่ 2 โคกกะเทียม (ลพบุรี) ได้ปลดประจำการ บ.ข.15 (F8F-1/1B BEARCAT) ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ใบพัดแบบสุดท้ายของ ทอ.ไทย ไปเมื่อปี 2504 (นับเป็นแบร์แคทฝูงสุดท้ายของ ทอ.ไทย และยังเป็นฝูงสุดท้ายของโลกอีกด้วย) บรรดานักบินของฝูง.23 ที่เคยทำการบินกับแบร์แคทก็ต้องกลับมาทำการบินกับ บ.ฝ.8 (T-6 TEXAN)ไปพลางๆก่อน เพราะในปี 2505 นั้น นักบินเหล่านี้ก็จะได้ทำการบินกับ บ.แบบใหม่ ที่จะได้รับการบรรจุลงในฝูง.23 นั่นคือ บ.ฝึกแบบ T-28D TROJAN ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ จะมอบให้แก่ ทอ.ไทย ตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร โดย บ.เหล่านี้แม้ว่าเดิมจะได้รับการออกแบบมาให้เป็น บ.ฝึก (T-28A และ T-28B) แต่ต่อมาก็ได้รับการดัดแปลงให้สามารถติดตั้งอาวุธเพื่อเป็น บ.โจมตี สำหรับภารกิจการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด (Close Air Support) ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (COUNTER - INSERGENCY) และสหรัฐฯได้นำ บ.ที่ได้รับการดัดแปลงมาแล้วนั้น มอบให้แก่ชาติพันธมิตรหลายๆประเทศซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยในปี 2505 นั้น เป็นปีแรกที่ ทอ.ไทย ได้รับมอบ บ. T-28D จำนวน 40 เครื่อง (ซึ่ง บ. T-28D เหล่านี้ เป็น บ.ที่ได้รับการดัดแปลงมาจาก T-28A และเคยประจำการอยู่ใน ทอ.สหรัฐฯ) โดยทยอยรับมอบเป็นรุ่นๆ รวม 3 รุ่น ซึ่ง ทอ. ได้กำหนดชื่อให้เป็น บ.ฝ.13 (เครื่องบินฝึกแบบที่ 13 โดยมีหมายเลข ทอ. ตั้งแต่ ฝ.13 -1/05 ถึง ฝ.13 - 40/05) และทั้งหมดได้รับการบรรจุเข้าประจำการใน ฝูง.23 สำหรับนักบิน บ.ฝ.13 รุ่นแรกๆของฝูง.23 นั้น ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นนักบินชั้นประทวนที่เคยทำการบินกับแบร์แคทและทีซิกซ์มาก่อน แต่ภายหลังก็จะมีนักบินชั้นสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาจาก รร.นายเรืออากาศ เข้ามาบินกับ บ.ฝ.13 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่เป็นจุดเด่นของ บ.ที่ได้รับในปี 2505 เท่าที่เห็นคือ ทั้งลำจะเป็นสีโลหะแต่จะยกเว้นเฉพาะตั้งแต่แนวกึ่งกลางของด้านข้างลำตัวลงไปจนถึงใต้ท้องเท่านั้น (ไม่รวมปีก) ที่ถูกพ่นไว้ด้วยสีเทาอ่อน ปลายใบพัดจะตัดตรง(แต่ไม่ทุกลำ) และทีใต้ปีกแต่ละข้างนั้น จะมีกระเปาะปืนกลอากาศขนาด .50 นิ้ว (โดยกระเปาะปืนนั้นจะมีอยู่สองแบบ แบบแรกนั้นจะมีรูปทรงแบบแค็ปซูล ส่วนอีกแบบนึงนั้นจะเป็นรูปทรงแบบกล่องสี่เหลี่ยม แต่ส่วนหัวและส่วนท้ายของกระเปาะแบบนี้จะมีลักษณะโค้งมน) 1 กระเปาะและตำบลติดตั้งอาวุธจำนวน 2 ตำแหน่ง (ใน ทอ.ไทย จะเรียกตำบลติดอาวุธนี่ว่า Station) เมื่อรวมตำแหน่งติดตั้งอาวุธที่ใต้ปีกทั้งสองข้างก็จะเป็น 4 ตำแหน่ง (4 Stations) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/10/2011 23:33:05
ความคิดเห็นที่ 58
เมื่อทำการฝึกนักบินพร้อมรบของ บ.ฝ.13 ได้จำนวนหนึ่งแล้ว ในปลายปี 2505 ก็ได้มีการส่ง บ.ฝ.13 พร้อมกับนักบินและเจ้าหน้าที่ ออกไปประจำยังยังฐานบินชายแดนที่ กองบิน 2 รับผิดชอบในการบังคับบัญชาจำนวน 2 ฐานบินได้แก่ ฐานบินอุบล และฐานบินอุดร ทดแทน บ.ฝ.8 หรือ “ทีซิกซ์” ที่เคยใช้งานอยู่ก่อนหน้านี้ซึ่งจำนวน บ. ที่ส่งไปในช่วงแรกนั้นยังมีจำนวนไม่มากนัก คือน่าจะไม่เกิน 12 เครื่องต่อฐานบินเท่านั้น ในระหว่างปี 2507 - 2509 นั้น ฝูง.23 ก็ยังได้รับ บ.ฝ.13 เพิ่มเติมอีก 38 เครื่อง (รวม 9 รุ่น โดยมีหมายเลข ทอ. ตั้งแต่ ฝ.13 - 41/07 ถึง ฝ.13 - 78/09) ซึ่ง บ.ฝ.13 ของ ทอ.ไทย ที่ได้รับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปนั้น (ส่วนใหญ่)จะเป็น บ.ที่ได้รับการปรับปรุงให้สามารถติดตั้งอาวุธได้มากขึ้น โดยมีการพัฒนากระเปาะปืนกลอากาศขนาด .50 นิ้ว แบบใหม่ให้มีแฟริ่งหุ้มกระบอกปืนขนาดเล็กลงและยังมีผลทำให้ลดแรงต้านขณะทำการบินลงด้วย โดยได้เลื่อนตำแหน่งของกระเปาะปืนนี้เข้ามาอยู่ด้านในชิดกับฐานล้อหลัก จึงทำให้สามารถเพิ่มตำแหน่งติดตั้งอาวุธที่ใต้ปีกได้อีกข้างละ 1 ตำแหน่ง ซึ่งเมื่อรวมกับของเดิมก็จะทำให้ บ.ในรุ่นที่ได้รับการปรับปรุงแล้วนี้มีตำบลติดตั้งอาวุธใต้ปีกรวม 6 ตำแหน่ง (6 Stations) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกเครื่องที่ได้รับตั้งแต่ปี 2509 จะต้องเป็น บ.ที่ดัดแปลงให้เป็นแบบ 6 Stations ทั้งหมด เพราะของอย่างนี้มันอยู่ที่สหรัฐฯเค้าจะมอบให้ ซึ่งในบางทีนั้นอาจจะมี บ.ที่ยังไม่ได้ดัดแปลงให้มีตำบลติดอาวุธเป็นแบบ 6 Stations ปนๆ มาอยู่บ้าง ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/10/2011 23:35:14
ความคิดเห็นที่ 59
และจากเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกในปี 2508 ทำให้ ทอ. ต้องมีการจัดกำลังทางอากาศเพื่อใช้ในการสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตามแผนยุทธการ ทอ.ที่ 1/08 โดยในส่วนของกองบิน 2 นั้น ได้มีการจัดฝูงบินในอัตราสนามชายแดนขึ้นมาได้แก่ ฝูงบินผสมที่ 21 ฐานบินเชียงใหม่ , ฝูงบินผสมที่ 22 ฐานบินอุบลฯ และฝูงบินผสมที่ 23 ฐานบินอุดรฯ (อัตรานี้ยังรวมถึงฝูงบินที่ 20 ฐานบินโคกกะเทียม ซึ่งใช้ บ.ล.2 (C-47) ในการบินลำเลียงทางอากาศสนับสนุนฝูงบินผสมทั้ง 3 ฐานบิน ข้างต้นด้วย) โดยในส่วนของ บ. ที่ส่งไปบรรจุในฐานบินเหล่านี้ได้แก่ บ.ฝ.13 จากฝูง.23 และ บ.ธ.1 (U-10B Super Courier) จากฝูง.22 ซึ่งทั้งสองฝูงบินนี้เป็นฝูงบินในอัตราปกติของกองบิน 2 โดยในแต่ละฝูงบินผสมนั้นก็จะได้รับการบรรจุ บ.ฝ.13 จำนวนประมาณ 16 เครื่อง ส่วน บ.ธ.1 นั้นจะได้รับการบรรจุไว้ 2 เครื่อง นอกจากนี้ยังมี บ.ล.2 (C-47) อีก 1 - 2 เครื่องด้วย ต่อมาในปี 2511 ทอ.ไทย ก็ได้รับ บ.ฝ.13 เพิ่มเติมอีก 3 รุ่น รวม 10 เครื่อง (หมายเลข ทอ. ฝ.13 - 79/11 ถึง ฝ.13 - 88/11) และในปลายปี 2511 นั้นเอง ก็ได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อ ทอ. ของ บ.ฝ.13 ให้เป็น บ.จฝ.13 (เครื่องบินโจมตีฝึกแบบที่ 13) เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจที่ใช้นั่นคือ การโจมตีทางอากาศ (นอกจากนี้ยังใช้ในภารกิจ การบินคุ้มกันทางอากาศและการบินลาดตระเวนติดอาวุธอีกด้วย) โดย บ.ฝ.13 ที่ได้รับมาก่อนหน้านั้นก็ยังคงให้ใช้หมายเลขประจำเครื่อง (หมายเลข ทอ.) ตามเดิมของ บ.ฝ.13 ต่อมาในปี 2512 ได้มีการแก้ไขแนวความคิดในการใช้กำลังทางอากาศสนับสนุนการปราบปราม ผกค. ตามคำสั่งยุทธการ ทอ. 1/12 โดยให้จัดกำลังทางอากาศสนับสนุนกำลังภาคพื้นตามความจำเป็นของสถานการณ์ ซึ่งในส่วนของกองบิน 2 ที่มีฝูงบินออกไปประจำยังฐานบินชายแดนนั้น ได้มีการปรับอัตรากำลังรวมทั้งเปลี่ยนชื่อของฝูงบินสนามชายแดนในความรับผิดชอบใหม่คือ ฝูงบินผสมที่ 21 ฐานบินเชียงใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็นฝูงบินที่ 221 (221 ST Tactical Fighter Squadron และมีนามเรียกขาน (Callsign)ของฝูงบินว่า “ Thunder ” ) , ฝูงบินผสมที่ 22 ฐานบินอุบลฯ เปลี่ยนชื่อเป็นฝูงบินที่ 222 (222 ND Tactical Fighter Squadron และมีนามเรียกขานของฝูงบินว่า “ Comet ” ) และฝูงบินผสมที่ 23 ฐานบินอุดรฯ เปลี่ยนชื่อเป็นฝูงบินที่ 223 (223 RD Tactical Fighter Squadron และมีนามเรียกขานของฝูงบินว่า “ Starlight ” ) ส่วนฝูงบินที่ 20 ฐานบินโคกกะเทียม นั้น (หมายเหตุ * ก่อนหน้านั้นในปี 2510 ฝูงบินนี้ได้ส่ง บ.ล.2 (C-47 Dakota) กลับคืนไปให้ฝูงบิน 62 กองบิน 6 ดอนเมือง เพื่อใช้ในภารกิจลำเลียงทางอากาศและได้เปลี่ยนมาใช้ บ.ฝ.13 แทน) เปลี่ยนชื่อเป็น ฝูงบินที่ 224 (224 TH Tactical Fighter Squadron และมีนามเรียกขานของฝูงบินว่า “ Delta ” ) และนำมา บ.จฝ.13 มาใช้เหมือนกับฝูงบินอื่นๆ แต่ว่าพอถึงปี 2514 ก็ได้ยุบฝูงบินนี้ไป และมีการนำชื่อ “ Delta ” นี้มาใช้เป็นชื่อนามเรียกขานของ ฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 21 ซึ่งเป็นฝูงบินในอัตราปกติของกองบิน 2 และมี บ.จ.5 (OV-10C Bronco) เป็น บ.ประจำฝูงบิน (หมายเหตุ * สำหรับ บ.ธ.1 (U-10B) ที่เคยบรรจุอยู่ในฝูง. 22 มาตั้งแต่ปี 2506 นั้น ก็ได้โอนไปให้ ฝูงบิน 71 กองบิน 7 สัตหีบ ไปตั้งแต่ปี 2510 เช่นกัน ซึ่งมาถึงตรงนี้หลายๆท่านอาจจะสับสนในเรื่องของ บ.ที่ประจำการในกองบิน 2 เพราะมีการโอนย้ายไปกันมาอยู่หลายครั้ง แต่ทั้งนี้คงต้องให้ไปดูประวัติของ บ. แบบนั้นๆ ประกอบด้วยจะได้ลดความสับสนลงได้บ้าง เพราะแม้แต่ผมเองในขณะที่เขียนเรื่องนี้ก็ยังต้องดูข้อมูลประกอบไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะงงเหมือนกัน) และสำหรับในส่วนของฝูงบินที่ 221 ฐานบินเชียงใหม่นั้น ในปี 2516 ก็ได้เปลี่ยนแบบ บ. จาก บ.จฝ.13 มาเป็น บ.จ.5 (OV-10C) และได้ประจำการอยู่เชียงใหม่ จนกระทั่งปลดประจำการในปี 2547 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/10/2011 23:37:42
ความคิดเห็นที่ 60
ในปี 2513 ทอ.ไทย ก็ได้รับ บ.จฝ.13 อีก 1 รุ่น รวม 10 เครื่อง (เป็นรุ่นที่ 16 โดยมีหมายเลข ทอ. ตั้งแต่ จฝ.13 - 89/13 ถึง จฝ.13 - 98/13) และจากภาพถ่ายของ บ.ในรุ่นนี้ที่ผมมีอยู่ ซึ่งถ่ายในปี 2513 ที่ฐานบินอุดรฯ ในภาพจะเห็นว่ายังไม่ได้มีการพ่นเครื่องหมายแสดงสัญชาติของ บ.ที่ข้างลำตัวและที่ปีก รวมถึงรูปธงไตรรงค์ที่แพนหางดิ่งด้วย โดยแต่ละเครื่องจะมีเพียงหมายเลขเครื่อง (Serial Number : Ser.No.) พ่นไว้ที่แพนหางดิ่งเท่านั้น ซึ่งตอนแรกผมก็เข้าใจว่า บ.เหล่านี้เป็นของ หน่วยบินไฟร์ฟลาย เพราะทุกอย่างเหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของสี , การแสดงเฉพาะเพียงหมายเลขเครื่องและสัญลักษณ์เก้าอี้ดีดตัว รวมทั้งตำบลติดอาวุธที่ใต้ปีก ด้วยความสงสัยจึงมาไล่ดูหมายเลขที่หางจึงรู้ว่านี่เป็น บ.ที่ได้รับมอบจากสหรัฐฯ นั่นเอง แต่ตรงนี้มีข้อสังเกตุคือ ในปี 2513 นั้นจะเป็นปีสุดท้ายที่หน่วยบินไฟร์ฟลายนี้ทำการบินด้วยนักบินไทย (เรื่องราวของหน่วยบินไฟร์ฟลายนั้น ท่านพลอากาศเอก วีระวุธ ลวะเปารยะ ได้กรุณาถ่ายทอดประสบการณ์ที่ท่านได้ร่วมปฏิบัติภารกิจการรบในสมรภูมิลาวกับหน่วยบินไฟร์ฟลาย ไว้ในนิตยสารแทงโกหลายฉบับแล้ว ซึ่งนับเป็นประโยชน์อยากมากต่อผู้ที่สนใจรวมทั้งตัวผมเองด้วย) ซึ่งข้อสงสัยต่อมานั้นคือ นี่จะเป็น บ.ที่รับมอบมาจาก บ.ที่เคยใช้งานอยู่หน่วยบินไฟร์ฟลายหรือเปล่า อันนี้คงต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป (แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะใช่) ต่อมาในช่วงปลายปี 2514 และในปี 2515 ทอ.ไทย ได้รับ บ.จฝ.13 เพิ่มเติมจากสหรัฐฯ อีกรวม 17 เครื่อง (จาก 3 รุ่น และมีหมายเลข ทอ. ตั้งแต่ จฝ.13 - 99/14 ถึง จฝ.13 - 115/15) ซึ่ง ทอ.ได้นำ บ.เหล่านี้ไปบรรจุลงในฝูงบิน 53 กองบิน 5 ประจวบฯ ทดแทน บ.ฝ.8 (T-6 Texan) ซึ่งเก่ามากและใช้งานอยู่ในฝูงบิน 53 มาตั้งแต่ปี 2494 (ข้อสังเกตุเล็กน้อยเกี่ยวกับ บ.เหล่านี้คือ ทั้งหมดจะเป็น T-28D ที่ได้รับการดัดแปลงมาจาก T-28B และเคยประจำการอยู่ใน ทร.สหรัฐฯ ซึ่งต่างจาก บ.จฝ.13 ที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ที่จะเป็น บ. T-28D ที่ได้รับการดัดแปลงมาจาก T-28A และเคยประจำการอยู่ในทอ.สหรัฐฯ แต่ในเรื่องของจำนวนตำบลติดตั้งอาวุธใต้ปีกนั้นก็จะมี 6 ตำแหน่ง (6 Stations) เหมือนกัน) ซึ่งฝูงบิน 53 ที่เป็นฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีนั้น ก็ยังคงใช้นามเรียกขานว่า “ Shark ” ตามเดิม แต่ว่า บ.จฝ.13 นั้นก็ได้มาประจำการอยู่ที่ประจวบฯ ได้เพียงไม่ถึงสองปี เพราะเมื่อถึงปลายปี 2516 ฝูงบิน 53 ก็ได้รับการบรรจุ บ.โจมตีแบบใหม่คือ บ.จ.5 (OV-10C) เข้าประจำการแทน โดยได้โอนย้าย บ.จฝ.13 ที่เหลือทั้งหมดไปบรรจุลงในฝูงบินที่ 222 (อุบลฯ) และ 223 (อุดรฯ) ต่อมาในปี 2518 ทอ.ไทย ก็ได้รับมอบ บ.T-28D รุ่นสุดท้าย จำนวน 5 เครื่อง (รุ่นที่ 20 มีหมายเลข ทอ. จฝ.13 - 116/18 ถึง จฝ.13 - 120/18) ทำให้ยอดรวมบรรจุเข้าประจำการของ T-28D หรือ บ.จฝ.13 ของ ทอ.ไทย คือ 120 เครื่อง ซึ่งถ้าดูแล้วจะเห็นว่ามีจำนวนมากทีเดียว เพราะจำนวนขนาดนี้สามารถตั้งฝูงบินรองรับได้ 5 - 6 ฝูงบินเลยทีเดียว แต่อย่าลืมว่า บ.จฝ.13 ทั้งหมดนี้เป็นการทยอยรับมอบมาเป็นรุ่นๆ มาตั้งแต่ปี 2505 (ตัว บ.เองนั้นก็ถูกสร้างมาระหว่างปี ค.ศ.1949 - 1951 หรือปี พ.ศ.2492 - 2494) ดังนั้นในความเป็นจริงจึงมี บ.ที่ต้องจำหน่ายออกจากประจำการเพราะเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุและจากสาเหตุอื่นมาตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ที่เข้าประจำการแล้ว และยิ่งต้องนำมาใช้ในภารกิจการโจมตีทางอากาศ ซึ่งต้องมีการดำลงลงใช้อาวุธด้วยการยิงปืน, จรวด และทิ้งระเบิดแล้ว ทำให้โครงสร้างของ บ.ต้องรับภารกรรมทางการบินอยู่เป็นเสมอๆ เป็นผลทำให้อายุการใช้งานสั้นลงไปอีกด้วย ดังนั้นในช่วงปี 2520 จึงคาดว่าน่าจะมี บ.เหลืออยู่เพียงประมาณครึ่งหนึ่งของยอดที่เข้าประจำการใน ทอ.ไทย เท่านั้น ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/10/2011 23:39:58
ความคิดเห็นที่ 61
ในปี 2520 ได้มีการปรับโครงสร้าง ทอ. ครั้งใหญ่ มีการยกฐานะฐานบินชายแดนขึ้นเป็นกองบินในอัตราปกติ ได้แก่ ฝูงบินที่ 221 ฐานบินเชียงใหม่ เป็น กองบิน 41 , ฝูงบินที่ 222 ฐานบินอุบลฯ เป็น กองบิน 21 และ ฝูงบินที่ 223 ฐานบินอุดรฯ เป็น กองบิน 23 ซึ่งในขณะนั้นมีฝูงบิน บ.จฝ.13 เหลืออยู่ 2 ฝูง คือ ฝูงบินที่ 222 (อุบลฯ) และ ฝูงบินที่ 223 (อุดรฯ) ซึ่งทั้ง 2 ฝูงบินก็ได้เปลี่ยนชื่อตามไปด้วย โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ฝูงบิน 211 และเป็นหน่วยขึ้นตรงของ กองบิน 21 อุบลฯ และ ฝูงบิน 231 ก็เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กองบิน 23 อุดรฯ เช่นกัน และจากการที่ทั้ง 2 ฝูงบินนี้ เป็นฝูงบินขับไล่ยุทธวิธี ทำให้ภารกิจหลักของทั้ง 2 ฝูงบินจึงยังเป็นการโจมตีทางอากาศเหมือนเดิม ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมเพราะสามารถบรรทุกอาวุธไปได้มากพอสมควรและมีความแม่นยำในการใช้อาวุธอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง แต่ในเรื่องของเครื่องยนต์อาจไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์ลูกสูบรุ่นเก่าที่ได้รับการสร้างมานานแล้ว จึงมีความทรุดโทรมไปตามอายุขัยและทำให้เกิดข้อขัดข้องในขณะปฏิบัติภารกิจอยู่บ่อยครั้ง (จำได้ว่าราวปี 2521 ในขณะที่ยังเป็นนักเรียนอยู่นั้น ได้มีโอกาสเห็นหมู่บิน บ.จ.5 และ หมู่บิน บ.จฝ.13 (เป็นการบินหมู่ใหญ่รูปไดมอนด์ 16 เครื่องต่อแบบ โดยในแต่ละแบบจะแยกเป็นหมู่บินย่อย 4 หมู่ๆละ 4 เครื่อง) บินผ่านโรงเรียนที่เรียนอยู่ ได้ยินเสียงของหมู่บิน บ.จ.5 ซึ่งบินนำมาก่อน เป็นเสียงเล็กแหลมมีความหนักแน่นและดังกระหึ่มดูน่าเชื่อถือ แต่พอหมู่บิน บ.จฝ.13 ตามมาเท่านั้นล่ะ กลายเป็นเสียงครางดังลั่นไปหมด ได้ยินแล้วเหมือนเสียงเรือหรือไม่ก็เสียงมอเตอร์ไซค์ช๊อปเปอร์ที่เครื่องยนต์โทรมๆ ฟังแล้วไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือเท่าไหร่ แต่ก็อย่างว่าเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อปที่ใช้งานมาไม่นาน กับเสียงเครื่องยนต์ลูกสูบที่ผ่านการใช้งานมาเป็นสิบๆปีแล้ว ยังไงมันคงเอาไปเทียบกันไม่ได้) ในปี 2523 ได้มีการปรับวางกำลังทางอากาศขึ้นใหม่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมการสำหรับ บ.ข.18 ข/ค (F -5 E/F) ฝูงที่ 2 ที่จัดซื้อไปแล้วและอยู่ระหว่างรอการรับมอบเพื่อจะนำเข้าประจำการที่ฝูง.403 กองบิน 4 ตาคลี ในปี 2524 ดังนั้นจึงต้องมีการปรับวางกำลังของฝูงบินอื่นๆตามไปด้วย โดยให้ย้าย บ.จ.6 (A-37B) ของฝูง.403 ไปไว้ที่ฝูง.211 อุบลฯ ทดแทน บ.จฝ.13 ซึ่งจะต้องย้ายไปรวมกันไว้ที่ฝูง.231 อุดรฯ เพียงฝูงบินเดียว ซึ่งขณะนั้นมี บ.จฝ.13 เหลืออยู่รวมกันประมาณ 40 เครื่องเท่านั้น แต่เมื่อได้มารวมที่ฝูง.231 แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ บ. ทั้งหมด เนื่องจากมี บ. หลายเครื่องมีสภาพทรุดโทรมเครื่องจึงต้องคัดเลือก บ.ที่มีสภาพดีไว้ใช้งานและมีบางเครื่องให้เก็บสำรองไว้ก่อน ส่วนที่เหลือก็คงต้องปลดประจำการไป ซึ่งคาดว่าจะเหลือ บ.ที่ใช้งานได้ไม่น่าเกิน 30 เครื่อง และฝูง.231 ได้ใช้งาน บ.จฝ.13 ในภารกิจการบินโจมตีทางอากาศสนับสนุนการปราบปราม ผกค. จนกระทั่งสิ้นสุดการรบในปี 2526 ต่อมาในปี 2527 จึงได้มีคำสั่งให้ปลดประจำการ บ.จฝ.13 ทั้งหมด เนื่องจาก บ.มีอายุการใช้งานมานานและมีสภาพทรุดโทรมเป็นอย่างมาก และอาจจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อนักบิน ซึ่งขณะนั้นฝูง.231 เหลือ บ.จฝ.13 อยู่เพียง 15 เครื่องเท่านั้น จึงเป็นอันสิ้นสุดภารกิจที่มีมายาวนานของ บ.จฝ.13 กว่า 22 ปี ใน ทอ.ไทย และยังเป็นการสิ้นสุดนามเรียกขาน “ Starlihgt ” ของฝูง.231 ด้วย ซึ่ง บ.ที่ปลดประจำการแล้วนั้น ทอ.ได้ทำความตกลงกับทางจัสแม๊กที่จะขอไม่คืนซาก บ. เพื่อที่จะนำไปเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ ส่วนที่เหลือก็ให้ไปตั้งเป็นอนุสรณ์ตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งต่อมามูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ฯ ก็ได้ขอนำ บ.เหล่านี้บางส่วนมาทำการฟื้นฟูสภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และบูรณะอากาศยานไทยที่ปลดประจำการไปแล้วให้เป็นสมบัติของชาติ ตลอดจนเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบเกี่ยวกับประวัติด้านการบินและมีความตระหนักถึงคุณค่าของอากาศยานไทยในอดีต จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นบางท่านอาจจะสังเกตุเห็นว่า ผมแทบจะไม่ได้กล่าวถึงการปฏิบัติภารกิจการรบของ บ.จฝ.13 เลย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเนื่องจากการที่มันได้ปฏิบัติภารกิจอย่างมากมายในการรักษาอธิปไตยของชาติ ซึ่งคงไม่สามารถนำมาเขียนลงไว้ได้ทั้งหมด และที่ผ่านมามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับ บ.แบบนี้หลายๆ ท่านได้เคยเขียนเรื่องราวเอาไว้แล้วอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิตยสารแทงโกเอง ผมเองก็คงจะเขียนถึงในส่วนของประวัติแบบรวมๆ ของ บ.จฝ.13 เท่านั้น แต่ถ้าท่านใดต้องการทราบเรื่องราวเพิ่มเติม คงต้องแนะนำให้ไปดูที่หอสมุดกองทัพอากาศ ซึ่งจะมีหนังสือ “ ประวัติกองทัพอากาศในการใช้กำลังทางอากาศสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ” ที่ได้พิมพ์ไว้เมื่อปี 2543 อยู่ ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจเรื่องราวของ บ.แบบนี้บ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะชาวโมเดลทั้งหลายที่นิยมประกอบ T-28 ให้เป็นตัวไทย ซึ่งผมคงต้องขอกล่าวถึงเรื่องสีไว้พอเป็นสังเขป (ส่วนเรื่องของสัญลักษณ์ต่างๆ นั้น คงยังไม่ขอกล่าวถึงในตอนนี้) ก็อย่างที่เขียนไว้ในตอนต้นว่า บ.รุ่นแรกๆ ที่เรารับมานั้น จะเป็นสีโลหะทั้งลำแต่จะยกเว้นช่วงกึ่งกลางลำตัวลงมาถึงใต้ท้องที่จะถูกพ่นไว้ด้วยสีเทาอ่อน (ดูตามภาพประกอบ) แต่ต่อมาก็จะได้รับมาเป็นรุ่นที่พ่นสีเทาอ่อนทั้งลำ ซึ่งเป็นสีตามมาตรฐานของ ทอ.สหรัฐฯมาทั้งหมด ซึ่งภายหลัง ทอ.ก็ได้นำมาพ่นให้กับ บ.ที่เป็นสีโลหะด้วยเพื่อเปลี่ยนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด สำหรับ บ.ที่เป็นลายพรางนั้น ผมมีข้อมูลว่าเครื่องแรกสุดที่เห็นประจำการใน ทอ.ไทย นั้นคือ บ.หมายเลข Bu.No.137711 (หมายเลข ทอ. จฝ.13 - 120/18) ซึ่งเป็นสีพรางตั้งแต่ตอนที่รับมาเลย ต่อมาหลังปี 2520 ก็เริ่มเห็นมี บ.ที่เป็นลายพรางมากขึ้นทั้งในฝูง.211 และ 231 แต่ก็ยังถือเป็นส่วนน้อยในฝูง จนเมื่อได้โอนย้าย บ.จากฝูง.211 มารวมไว้ที่ฝูง.231 แล้ว ก็จึงได้เริ่มทยอยเปลี่ยนมาเป็นสีลายพรางทั้งหมดซึ่งจะอยู่ในช่วงปี 2524 และก็ได้ใช้รูปแบบนี้มาจนปลดประจำการ ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/10/2011 23:42:22
ความคิดเห็นที่ 62
มีข้อสังเกตุบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องการบันทึกหมายเลขของ บ. ที่รับมาโดยเป็นการบันทึกของกรมช่างอากาศ ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่า บ. T-28D ที่สหรัฐฯ มอบให้ ทอ.ไทย นั้น ได้ดัดแปลงมาจาก บ. T-28A ของ ทอ.สหรัฐฯ และ บ. T-28B ของ ทร.สหรัฐฯ และเมื่อได้ดัดแปลงให้เป็น บ. T-28D ตามมาตรฐานเดียวกันแล้ว ก็ยังคงให้ใช้หมายเลขลำดับการเข้าประจำการตามเดิมของ บ. เครื่องนั้นๆ โดยของ ทอ.สหรัฐฯ จะใช้การเรียงลำดับแบบ Serial Numbers (Ser.No.) ซึ่งจะมีเลขสองตัวท้ายของปี ค.ศ. ที่เข้าประจำการอยู่ข้างหน้าแล้วจะมีขีดคั่นกลางแล้วตามด้วยเลขลำดับต่อท้ายไปอีกที ยกตัวอย่างเช่น บ.จฝ.13 หมายเลข ทอ. ฝ.13 - 3/05 นั้นมีหมายเลข Ser.No. 51 - 7610 ก็คือขึ้นทะเบียนในปี ค.ศ.1951 และเป็นเครื่องลำดับที่ 7610 (ของอากาศยานทุกแบบที่ขึ้นทะเบียนในปีนั้น) แต่สำหรับของ ทร.สหรัฐฯ จะเป็นการเรียงลำดับแบบ Bureau Numbers (Bu.No.) ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของรูปแบบหมายเลขเพราะเค้าจะแบ่งเป็นยุคๆ โดยกำหนดเป็นซีรี่ย์ โดยใช้หมายเลขหกหลัก (แรกเริ่มเดิมทีมีตัวเลขแค่สี่หลัก แต่ต่อมาเมื่อมีอากาศยานเพิ่มมากขึ้นก็เลยกลายเป็นห้าหลักและมาเป็นหกหลักอย่างที่เห็นในปัจจุบัน) เป็นตัวเลขบอกลำดับการเข้าประจำการเช่น บ.จฝ.13 หมายเลข ทอ. จฝ.13 -120/18 นั้น มีหมายเลข Bu.No. 137711 ก็คือเป็นอากาศยานลำดับที่ 137711 ของ ทร.สหรัฐฯ นั่นเอง แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า บ.จฝ.13 ที่ได้รับมาตั้งแต่ปี 2514 นั้น ได้มีการบันทึกที่ผิดพลาดเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บ.จฝ.13 หมายเลข ทอ. จฝ.13 -106/14 นั้นมีหมายเลขที่บันทึกโดยกรมช่างอากาศว่าเป็น บ.หมายเลขลำดับการเข้าประจำการ (Ser.No.) คือ 54 - 137661 ซึ่งก็หมายความว่าเครื่องตัวนี้เดิมเป็นของ ทอ.สหรัฐฯ แต่เมื่อไปดูที่ตารางลำดับการเข้าประจำการของ ทอ.สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1954 แล้ว กลับไม่พบว่ามีอากาศยานเครื่องใดใช้หมายเลขนี้เลย (ปี ค.ศ.1954 มีอากาศยานตั้งแต่หมายเลข 54 - 001 ถึงหมายเลข 54 - 4051 เท่านั้น) และเมื่อนำหมายเลข 137661 ไปเทียบดูที่ตารางลำดับการเข้าประจำการของ ทร.สหรัฐฯ ก็จะพบว่า บ.เครื่องเป็น T-28B หมายเลข 137661 นั่นเอง จึงเห็นได้ว่าข้อมูลที่เป็นการบันทึกโดยกรมช่างอากาศนั้น มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อดูแล้วก็จะพบว่าเป็นมาตั้งแต่ บ.ที่รับในรุ่นที่ 14 เรื่อยมาจนถึงรุ่นสุดท้ายคือ รุ่นที่ 20 (หมายเลข ทอ. จฝ.13 - 99/14 ถึง จฝ.13 - 120/18 แต่จะยกเว้น บ.หมายเลข ทอ. จฝ.13 - 116/18 ถึง จฝ.13 - 118/18 เท่านั้นที่เป็นการบันทึกที่ถูกต้อง) ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นมานานแล้ว ผมคงไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แต่ก็อยากจะให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบไว้เท่านั้น ซึ่งตอนที่ได้ทำรูปลอกสำหรับติดกับโมเดล T-28 ของ ทอ.ไทย ในชื่อ ASI DECAL เมื่อปี 2550 นั้น ผมเองก็พลาดเหมือนกันที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ดี จึงทำให้ในใบคู่มือซึ่งบอกรายละเอียดเกี่ยวกับหมายเลขการเข้าประจำการ (Ser.No. และ/หรือ Bu.no.) ของ บ. บางส่วนมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ท้ายนี้ก็คงขอฝากบทความเรื่องที่เขียนนี้ให้ผู้ที่สนใจและชื่นชอบ T-28 หรือ บ.จฝ.13 ของไทย ไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์อะไรบ้างเล็กๆน้อยๆ และแม้ว่าเนื้อหาบางส่วนอาจไม่ตรงกับที่บางท่านได้เคยรับรู้รับทราบมาก่อน ก็ให้ถือซะว่าเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งกว่าที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับเครื่องบินไทยในอดีตให้ออกมาเป็นเรื่องๆ นึงนั้น ก็ค่อนข้างจะยากลำบากพอสมควรเพราะมันต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีด้วย แต่คงต้องขอให้ติดตามกันต่อไปครับอีกระยะหนึ่งครับ และสุดท้ายต้องขอกราบขอบพระคุณ คุณลุงบันลือ หรือ เรืออากาศโท บันลือ ฤทธิสมิต ซึ่งท่านเป็นอดีตนักบิน บ.จฝ.13 รุ่นแรก ของ ทอ.ไทย มา ณ โอกาสนี้ ที่ได้กรุณามอบภาพถ่ายของท่านให้มาลงประกอบในบทความเรื่องนี้ ......................................................... ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/10/2011 23:45:21
ความคิดเห็นที่ 63
*บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 225 มิ.ย.2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/12/2011 19:39:14
ความคิดเห็นที่ 64
THUNDERJET STORY by FS.1 ASI S. อย่างที่ทราบกันดีในตอนนี้ ว่าทอ.ไทย ได้รับ บ.ขับไล่แบบใหม่คือ บ.ข.๒๐ หรือ JAS 39 C/D Gripen เข้าประจำการในฝูงบิน 701 กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี แล้ว (แต่ในการทำพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการนั้น จะกระทำกันในช่วงเดือน ก.ค.54) จะว่าไปแล้วนี่ก็คือ ก้าวสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ ทอ.ไทย จาก บ.ข.19 (F-16 A/B) ซึ่งเป็น บ.ขับไล่ในยุคที่ 4 (4 TH Generation Jet Fighters) มาเป็น บ.ขับไล่ในยุคที่ 4.5 (4.5 TH Generation Jet Fighters) อย่างเจ้ากริเพน (และแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ครึ่งก้าว แต่มันก็อาจจะเป็นจุดสุดท้ายก่อนจะก้าวไปสู่ บ.ขับไล่ในยุคที่ 5 (5 TH Generation Jet Fighters) อย่างแท้จริงในอนาคต ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิน 15 ปีหรือเปล่า กว่าที่ ทอ.ไทย จะมีโอกาสได้ครอบครอง บ.ขับไล่ในยุคที่ 5 อย่างเจ้า F-35 ที่เราหมายมั่นว่าจะต้องจัดหาเข้าประจำการให้ได้ในอนาคต) ในเรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทางด้านจิตวิทยาต่อผู้เกี่ยวข้องกับ บ.กริเพน ไม่ว่าจะเป็น นักบิน เจ้าหน้าที่สนับสนุนภาคพื้น ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายใน ทอ. ซึ่งเมื่อเรามองย้อนกลับไปประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว เรื่องแบบนี้ก็เคยได้เกิดขึ้นกับกองทัพอากาศมาแล้ว ในครั้งนั้น ทอ.ไทย ได้ก้าวข้ามจากยุค บ.ขับไล่ใบพัด ไปสู่ยุค บ.ขับไล่ไอพ่น (1 ST Generation Jet Fighters) เป็นครั้งแรก ภายหลังจากการที่ได้รับมอบ บ.ขับไล่ทิ้งระเบิดแบบ F-84G Thunderjet จาก สหรัฐฯ ในปลายปี 2499 หลังจากที่ในปี 2498 ทอ.ไทย ได้รับ บ.ฝึกไอพ่นและ บ.ตรวจการณ์ไอพ่นแบบแรกคือ T-33 และ RT-33 ซึ่งถือว่าเป็น บ.ไอพ่นแบบแรกสุดของ ทอ.ไทย แต่ว่ามันก็ยังไม่ใช่ บ.รบ ที่จะใช้เป็นหลักในการป้องกันภัยทางอากาศสำหรับประเทศไทย ซึ่งจุดประสงค์ในการที่สหรัฐฯ มอบ บ.ฝึกไอพ่นมาให้ก่อนนั้น ก็เพื่อเป็นการเตรียมพื้นฐานของนักบินและเจ้าหน้าที่ของไทยให้มีความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานกับ บ.ไอพ่น ก่อนที่จะได้ปฏิบัติงานกับ บ.ขับไล่ไอพ่นที่จะมอบให้ในเวลาต่อมา และหลังจากจากนั้นในปลายเดือน พ.ย.2499 นักบินของ ทอ.สหรัฐฯ ก็ได้นำหมู่บิน บ.ขับไล่ทิ้งระเบิดแบบ F-84G Thunderjet ชุดแรกจำนวน 4 เครื่อง (ในจำนวน 6 เครื่องแรก) มาลงจอดที่กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง และถัดจากนั้นมาอีก 13 วัน ก็ได้รับ บ.ชุดที่ 2 อีกจำนวน 7 เครื่อง และเมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจรับแล้ว บ.ทั้ง 13 เครื่องนั้นก็ได้ถูกกำหนดชื่อให้เป็นเครื่องบินขับไล่แบบที่ 16 หรือ บ.ข.16 และได้นำไปบรรจุเข้าประจำการใน ฝูงบินขับไล่ทิ้งระเบิดที่ 12 กองบินน้อยที่ 1 ทดแทน บ.ข.15 (F8F-1/1B Bearcat ที่ได้โอนไปให้ กองบินน้อยที่ 2 ใช้งานต่อในช่วงก่อนหน้านี้) ซึ่งในการบินมาส่งมอบนั้น บ.ทั้งหมดก็ยังติดเครื่องหมายของ ทอ.สหรัฐฯ อยู่ แต่ในส่วนของ ทอ. นั้นไม่ได้มีการบันทึกว่า บ. ชุดแรกทั้ง 4 เครื่องนั้น บินมาจากฐานทัพอากาศสหรัฐฯในประเทศใด ซึ่งจะเป็นในประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ที่น่าสังเกตุคือในจำนวนที่รับมาทั้ง 2 ชุดนี้ มี บ.หลายเครื่องนั้นได้เคยประจำการอยู่ในกองทัพอากาศของกลุ่มประเทศนาโต้ อย่างเช่น อิตาลี เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส มาก่อน และภายหลังสหรัฐฯ จึงนำ บ.เหล่านี้มามอบให้ ทอ.ไทย ใช้งานต่อ และต่อมาสหรัฐฯ ก็ได้มอบ บ. F-84G ให้กับ ทอ.ไทย อีก โดยในเดือน ก.ค.2500 ได้มอบ บ.ชุดที่ 3 จำนวน 9 เครื่อง และในเดือน ส.ค.2500 ซึ่งเป็นชุดสุดท้าย อีกจำนวน 9 เครื่อง (ไม่มีข้อมูลวิธีการนำส่งว่าเป็นการบินมาส่งมอบ หรือขนส่งมาทางเรือ) ทอ.ไทย ได้นำ บ.ทั้ง 18 เครื่องนี้บรรจุเพิ่มเติมให้กับฝูง.12 จนครบทั้ง 4 หมวดบิน ซึ่งในแต่ละหมวดบินนั้นจะมี บ. 7 เครื่อง และถ้าสังเกตุจะเห็นว่ามี บ.เหลืออยู่อีก 3 เครื่อง ซึ่งตรงนี้จริงๆ แล้วคงจะไม่เหลือ บ.ที่ไม่ได้ถูกกำหนดหมายเลขของฝูงบิน เพราะว่าเป็นการนำไปเสริมให้กับ บ.ใน 2 ชุดแรกที่ได้จำหน่ายออกจากประจำการไปแล้วจากอุบัติเหตุ (ซึ่งเดี๋ยวผมจะกล่าวต่อไป) ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/12/2011 19:43:25
ความคิดเห็นที่ 65
นักบินที่ได้รับการคัดเลือกให้มาบินกับ บ.ข.16 จึงต้องพยายามเรียนรู้และฝึกฝนฝีมือบินให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องมีการฝึกยุทธวิธีการรบในอากาศทั้งการบินสกัดกั้น การบินโจมตีทางอากาศ ซึ่งเขี้ยวเล็บหลักของ บ.ข.16 ในการรบอากาศสู่อากาศนั้นคือ ปืนกลอากาศ ขนาด .50 นิ้ว แบบ M-3 จำนวน 6 กระบอก โดยติดตั้งที่ส่วนหัวจำนวน 4 กระบอก และที่โคนปีกอีกข้างละ 1 กระบอก โดยแต่ละกระบอกจะมีจำนวนกระสุน 300 นัด ส่วนในภารกิจการโจมตีทางอากาศนั้น สามารถติดตั้งลูกระเบิดขนาดตั้งแต่ 250 ปอนด์ไปจนถึงขนาด 1,000 ปอนด์ที่ตำแหน่งติดตั้งอาวุธใต้ปีกด้านในจำนวน 2 ลูก ซึ่งบางครั้งในตำแหน่งนี้อาจเปลี่ยนมาติดตั้งลูกระเบิดเพลิงหรือที่เรียกในสมัยนั้นว่า “ สกิปบอมบ์ ” (Skip Bomb แต่ภายหลังเรียกกันว่า ระเบิดนาปาล์มนั่นเอง) แทนก็ได้ หรือเมื่อต้องบินเดินทางในระยะไกล ก็จะใช้เป็นตำแหน่งติดตั้งถังเชื้อเพลิงสำรองชนิดปลดทิ้งได้ขนาด 230 แกลลอนด้วย นอกจากนี้ที่ใต้ปีกด้านนอกยังสามารถติดตั้งจรวดอากาศสู่พื้นขนาด 5 นิ้ว แบบ HVAR (High Velocity Aircraft Rocket) ได้ข้างละ 2 - 4 นัด (จรวดแบบนี้มีน้ำหนักหัวรบ 45 ปอนด์ และมีระยะยิงไกลประมาณ 3 ไมล์) เพื่อใช้ยิงทำลายเป้าหมายภาคพื้นอีกด้วย ส่วนในการฝึกและการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศในขณะนั้นจะไปทำการฝึกกันที่ บน.2 โคกกะเทียม แต่ว่าในช่วงก่อนหน้านั้นจะไปทำการฝึกและการแข่งขันฯ กันที่กองบินน้อยที่ 5 ประจวบฯ แต่เนื่องจากมีระยะทางที่ค่อนข้างไกลทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและเวลาในการบินเดินทาง อีกทั้งพื้นที่ที่จะใช้อาวุธนั้นอยู่ภายในพื้นที่ของกองบินและอยู่ใกล้กับตัวเมืองประจวบฯ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการฝึกด้วยอาวุธจริงได้ (เคยมีเหตุการณ์ลูกระเบิดของ บ.ข.15 แบร์แคท หลุดตกไปในกลางเมืองประจวบฯ มาแล้ว เมื่อปี 2499 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก) จึงได้ย้ายมาทำการฝึกและแข่งขันฯ กันที่ บน.2 โคกกะเทียม ในปี 2500 โดยใช้พื้นที่หัวสนามด้านทิศเหนือเป็นพื้นที่ใช้อาวุธ (สำหรับสนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล หรือที่เรียกกันว่า “ ม่วงค่อม ” นั้น มีการดำเนินการสำรวจพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2500 และต่อมาจึงได้เริ่มทำการปรับปรุงพื้นที่และเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในต้นปี 2503) ซึ่งในปี 2500 นี้ บ.ข.16 ยังไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงการฝึกนักบินให้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ แต่ต่อมาในปี 2501 จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมในการแข่งขันเป็นครั้งแรก โดยการแข่งขันในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “ Gunnery Meeting ” บ.ที่เข้าร่วมการแข่งขันนั้นนอกจาก บ.ข.16 ของฝูง.12 แล้ว ยังมี บ.ข.15 (F8F-1/1B Bearcat) จากฝูง.22 , ฝูง.23 และฝูง.43 ส่วน บ.อีกแบบนั้นคือ บ.ฝ.8 (T-6 Texan) จากฝูง.53 และฝูง. 71 ในการแข่งขันนั้นแต่ละฝูงจะจัดนักบินทีมละ 4 คนเพื่อเป็นตัวแทนของฝูงบินเจ้าแข่งกันทั้งในประเภทบุคคลและประเภทคะแนนรวมของฝูงบิน ซึ่งประเภทของการแข่งขันนั้นจะประกอบไปด้วย การทิ้งระเบิดมุมสูง (H.A.B. : High Angle Bombing) การทิ้งระเบิดมุมลาด (L.A.B. : Low Angle Bombing) การยิงปืนมุมสูง (H.A.S. : High Angle Strafe) การยิงปืนมุมลาด (L.A.S. : Low Angle Strafe) ส่วนการยิงจรวดมุมสูงนั้นมีแข่งขันเฉพาะแบร์แคทเท่านั้น ซึ่งนักบินในทีมของฝูง.12 ทั้ง 4 คน นั้นประกอบไปด้วย น.ต.สำราญ แย้มศรีบัว , น.ต.ณรงค์ กฤตยะโชติ , ร.ต.ไสว เย็นทรวง และ จ.อ.สุเทพ คำคุณ ในปี 2502 ทอ.ไทย ได้รับคำเชิญจาก ทอ.สหรัฐฯ ที่ 13 ภาคพื้นแปซิฟิก ให้ส่งหมู่บินขับไล่เข้าร่วมการประลองความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศร่วมกับ ทอ.ชาติพันธมิตรอื่นๆ ในชื่อว่า “ Flying Brothers ” ที่ ฐานทัพอากาศคล๊ากค์ (CLARK AB) ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบินขับไล่ที่ 405 ของ ทอ.สหรัฐฯ ทอ.ไทย จึงได้พิจารณาให้จัดส่ง บ.ข.16 จำนวน 5 เครื่องเข้าร่วม ซึ่งนับว่าเป็นการเดินทางไปทำการฝึกและแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศนอกประเทศเป็นครั้งแรกของ ทอ.ไทย อีกด้วย ในการแข่งขันนั้นประกอบไปด้วยการยิงปืน , ยิงจรวด , ทิ้งระเบิด และการขึ้นบินสกัดกั้น ซึ่งในจำนวนหมู่บินหรือทีมที่เข้าร่วมทั้งหมดนั้น ปรากฎว่าทีมของ ทอ.ไทย ที่ช้ บ.ที่มีสมรรถนะต่ำสุด แต่ก็ยังสามารถทำคะแนนได้ใกล้เคียงกับชาติอื่นๆ ที่ใช้ บ.สมรรถนะสูงกว่าอย่างเช่น F-100 C หรือ F-86F และต่อมาในปี 2503 ทอ.ไทย ก็ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมอีกครั้งในชื่อ “ Flying Brothers 1960 ” และเราก็ยังต้องส่ง บ.ข.16 ไปเข้าร่วมแข่งขันกับ บ.ที่มีสมรรถนะสูงกว่าของชาติอื่นๆ อีกเช่นเดิม แต่นักบินชุดที่ส่งไปนั้นภายหลังที่เสร็จสิ้นการแข่งขัน ก็ยังได้รับคำชมเชยว่ามีฝีมือที่ยอดเยี่ยมเพราะสามารถทำผลงานออกมาได้ดีไม่แพ้กับชาติอื่นที่เข้าร่วมเช่นกัน สำหรับหัวหน้าหมู่บินหรือหัวหน้าทีมทั้ง 2 ครั้งก็คือ น.ต.สำราญ แย้มศรีบัว นั่นเอง (แต่สำหรับในครั้งหลังนี้ท่านได้เลื่อนยศเป็น น.ท. แล้ว) นอกจากเรื่องของการฝึกใช้อาวุธทางอากาศแล้วยังรวมไปถึงการฝึกบินผาดแผลงหมู่ด้วย ซึ่งในเรื่องของการบินหมู่นี้ได้มีการพัฒนาจากการบินหมู่ทาง ยุทธวิธี ให้กลายมาเป็นการบินหมู่ผาดแผลง 9 เครื่อง จุดประสงค์เพื่อใช้ทำการแสดงในระหว่างที่มีการฝึกร่วมกับชาติพันธมิตรซีโต้ (SEATO) รวมถึงวาระสำคัญต่างๆ ของกองทัพอากาศ เพื่อให้กำลังพลของชาติที่เข้าร่วมการฝึกตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวไทย ได้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถของนักบินไทย ที่ได้ทำการบินผาดแผลงหมู่ด้วย บ.ขับไล่ไอพ่น โดยใช้เวลาฝึกฝนภายหลังจากที่ได้รับ บ. เข้าประจำการเพียงปีกว่าๆ เท่านั้น และแต่ละคนนั้นยังมีชั่วโมงบินกับ บ.ข.16 เฉลี่ยเพียงแค่ 100 กว่าชั่วโมงเท่านั้น และเท่าที่มีข้อมูลในเรื่องการแสดงการบินผาดแผลงหมู่ 9 เครื่องของ บ.ข.16 เป็นครั้งแรกนั้นก็คือ ในวันที่ 27 มี.ค.2501 ซึ่งเป็นวันกองทัพอากาศ นั่นเอง สำหรับนักบินในหมู่บินผาดแผลง 9 เครื่องนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าหมู่บินนั้นก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก น.ต.สำราญ แย้มศรีบัว (ชื่อเสียงในเรื่องการบินของท่านในยุคนั้นเป็นที่เลื่องลือในหมู่ชาวทหารอากาศเป็นอย่างยิ่ง และชื่อเล่นของท่านคือ “ แซม ” นั้น ถูกใครต่อใครนำไปตั้งคำต่อท้ายชื่อกันต่างๆ นานา ก็คงด้วยความเด็ดขาดหรือเรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นคนดุ ทั้งในด้านการปกครองและในด้านการบิน นอกจากนี้ท่านยังมี บ.ข.16 ที่ใช้ทำการบินเป็นประจำอยู่ด้วย โดยที่ส่วนหัวของเครื่องนั้นได้เขียนคำว่า “ Honey Sam ” ติดไว้ ซึ่งก็มีภาพถ่ายให้เห็นในช่วงที่จะไปทำการประลองความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศที่ฟิลิปปินส์ทั้ง 2 ครั้ง โดยเป็น บ.หมายเลข 1215 และ 1241 ตามลำดับ) โดยท่านได้เริ่มทำการฝึกตั้งแต่หมู่ 4 ก่อน เมื่อประสบความสำเร็จต่อมาจึงเพิ่มจำนวนเครื่องในหมู่บินเป็น 7 เครื่อง และภายหลังจึงได้เพิ่มเป็นหมู่บิน 9 เครื่อง สำหรับรายชื่อนักบินลูกหมู่อีก 8 ท่านนั้น ขอกล่าวถึงไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป ประกอบไปด้วย หมายเลข 2 ร.ท.พยิน สวัสดิบุตร , หมายเลข 3 ร.ต.ไสว เย็นทรวง , หมายเลข 4 จ.อ.สุเทพ คำคุณ , หมายเลข 5 จ.อ.สามารถ เปี่ยมศรี , หมายเลข 6 จ.อ.ธรรมนูญ เบญจกุล , หมายเลข 7 พ.อ.ท.ปฐม เกิดแสงศรี , หมายเลข 8 จ.อ.ไชยยันต์ พิมพ์ทนต์ และหมายเลข 9 จ.อ.ถนอม พวงเดช (ยศของทุกท่านเป็นยศในขณะนั้น) ในการแสดงนั้นหมู่บินจะเกาะหมู่ในรูป Diamond และ Arrow Head ซึ่งท่าบินสำหรับทำการแสดงจะประกอบไปด้วย การทำ Loop , Barrel Roll , Chandelle , Cuban Eight , Cloverleaf และปิดท้ายด้วยท่า Bomb Shell ซึ่งนอกจากการแสดงในครั้งนี้แล้ว ต่อมาในภายหลังก็ยังได้ทำการบินแสดงอีกหลายครั้ง และยังมีแผนว่าจะเพิ่มจำนวนเป็น 12 เครื่องด้วย ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/12/2011 19:47:26
ความคิดเห็นที่ 66
ในปี 2504 บ.ขับไล่ไอพ่นแบบ F-86F Sabre ที่โด่งดังจากสงครามเกาหลี และเป็น บ.ขับไล่ไอพ่นที่ ทอ.ไทย นั้นต้องการจะได้ไว้ครอบครองมาหลายปีแล้ว ก็ได้ถูกส่งมอบให้กับ ทอ.ไทย ในช่วงต้นปี 2504 ก่อน จำนวน 20 เครื่อง จากที่วางแผนจะมอบให้ทั้งหมด 40 เครื่อง และได้เข้าประจำการในฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 13 กองบินน้อยที่ 1 เป็นฝูงบินแรก โดยได้รับการกำหนดชื่อให้เป็น “ เครื่องบินขับไล่แบบที่ 17 ” หรือ บ.ข.17 ส่วน บ.ที่เหลืออีก 20 เครื่องนั้นจะถูกส่งมอบตามมาในภายหลัง โดย ทอ.ไทย วางแผนไว้ว่าจะนำ F-86F ฝูงที่ 2 นี้ เข้าประจำการในฝูง.12 ในช่วงเดือน ต.ค.2504 ดังนั้นจึงต้องทำการย้าย บ.ข.16 ของฝูง.12 ที่เหลือทั้งหมดไปบรรจุให้กับฝูงบินขับไล่ทิ้งระเบิดที่ 43 กองบินน้อยที่ 4 ตาคลี (ทดแทน บ.ฝ.8 หรือ ทีซิกซ์ ซึ่งในขณะนั้นได้ใช้เป็น บ.รบหลักของฝูง.43 มาตั้งแต่ปี 2502) ซึ่งคาดว่าในเวลานั้นน่าจะมี บ.ข.16 เหลืออยู่ไม่เกิน 20 เครื่องเท่านั้น (เข้าใจว่าจะเป็น 19 เครื่อง) โดยได้มีพิธีส่งมอบ บ.ข.16 ให้กับ บน.4 ในวันที่ 2 ต.ค.2504 และในวันนั้น บ.ทั้งหมดก็ได้บินไปสู่บ้านใหม่ที่ตาคลี เมื่อมาอยู่ที่ตาคลีภารกิจหลักของ บ.ข.16 นั้นต้องเน้นหนักไปในเรื่องของการขัดขวางทางอากาศหรือก็คือการบินโจมตีทางอากาศ ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่เคยทำในช่วงสงครามเกาหลีนั่นเอง ส่วนการป้องกันภัยทางอากาศด้วยการบินสกัดกั้นนั้นก็ยังมีอยู่แต่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น เพราะในภารกิจนี้มี บ.ข.17 ของฝูง.13 และ 12 รับหน้าที่อยู่แล้ว นักบินของ ฝูง.43 ที่เปลี่ยนมาทำการบินกับ บ.ข.16 นั้นก็ล้วนเป็นมือเก่าจากแบร์แคทและทีซิกซ์ทั้งนั้น เมื่อได้ผ่านการฝึกบินเปลี่ยนแบบด้วย บ.ฝ.11 มาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากในการบินกับ บ.ข.16 ซึ่งต่อมาเมื่อนักบินส่วนใหญ่ในฝูงมีความชำนาญและประสบการณ์ในการบินรวมถึงมีชั่วโมงบินที่สูงขึ้นแล้ว ฝูง.43 ก็ได้คัดเลือกนักบินและจัดตั้งเป็นหมู่บินผาดแผลงจำนวน 9 เครื่องด้วยเช่นกัน ซึ่งจุดมุ่งหมายนั้นเพื่อใช้แสดงในโอกาสต่างๆ รวมถึงการแสดงขีดความสามารถของนักบินตาคลีว่าฝีมือในด้านการบินนั้นก็ไม่เป็นรองนักบินจากดอนเมืองเช่นกัน ซึ่งหมู่บินนี้ก็ใช้ชื่อว่า “ King Cobra ” ตามสัญลักษณ์ของกองบินและฝูงบินที่เป็นรูปงูจงอางแผ่แม่เบี้ย แต่ว่าช่วงชีวิตของ บ.ข.16 ที่ตาคลีนั้นสั้นมาก เพราะหลังจากที่ได้รับการบรรจุในฝูง.43 ได้ไม่ถึง 2 ปี ก็ต้องถูกปลดประจำการ เนื่องมาจากการที่ฝูง.12 นั้นจะได้รับการบรรจุ F-86 L หรือ บ.ข.17ก ซึ่งเป็น บ.ขับไล่สกัดกั้นทุกกาลอากาศ เข้าประจำการแทน F-86F หรือ บ.ข.17 ดังนั้นจึงต้องย้าย บ.ข.17 จากฝูง.12 มาให้กับฝูง.43 เพื่อจะได้ใช้งานต่อไป ทำให้จำเป็นจะต้องปลดประจำการ บ.ข.16 ซึ่งขณะนั้นเหลืออยู่จำนวน 17 เครื่องและส่วนใหญ่นั้นก็ยังสามารถทำการบินได้ดีออกไป โดยได้มีคำสั่งให้ปลดประจำการ บ.ทั้งหมดในช่วงเดือน ก.พ.2506 เป็นอันสิ้นสุดชีวิตของ บ.ข.16 ใน ทอ.ไทย ที่ได้ประจำการมาแค่ 6 ปีเศษๆ (ตั้งแต่ปลายปี 2499 ถึงต้นปี 2506) ขอย้อนกลับไปในเรื่องของอุบัติเหตุด้านการบินที่เกิดขึ้นกับ บ.ข.16 ตามที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น ซึ่งจะว่าไปแล้วมันได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ภายหลังจากที่ บ. 2 ชุดแรกเข้าประจำการได้เพียงไม่กี่เดือน โดย บ.ข.16 เครื่องแรกที่ประสบอุบัติเหตุตกขณะทำการฝึกบินนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2500 ที่แถวๆ หัวหมาก และมีอีก 1 เครื่องตกในเขต อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2500 ด้วย (ทั้ง 2 เหตุการณ์ไม่มีนักบินเสียชีวิต เพราะสามารถดีดตัวออกมาได้ทันก่อนที่เครื่องจะตกลงสู่พื้น) นอกจากนี้ยังมี บ.ได้รับความเสียหายจนถึงขั้นจำหน่ายจากการเกิดไฟไหม้ขณะจอดอยู่บนลานจอดอีก 1 เครื่อง เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2500 อีกด้วย แต่ก็ยังมี บ.เครื่องอื่นๆ ที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างทำการฝึกบินอย่างเช่น การบินชนนก การลงนอกสนาม หรือระหว่างการบินขึ้นลงและสาเหตุทางภาคพื้นอื่นๆ อีกหลายเครื่อง เพียงแต่ว่าความเสียหายนั้นจะอยู่ในขั้นที่สามารถทำการซ่อมแซมให้กลับมาทำการบินได้อีก แต่ในเวลาต่อมานั้นจึงได้มีนักบินของฝูง.12 บางท่านที่ต้องจบชีวิตลงขณะทำการบินกับ บ.ข.16 ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะเกิดขึ้นในระหว่างการฝึกใช้อาวุธทางอากาศ ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลพบว่ามี บ.ข.16 ประสบอุบัติเหตุตกขณะทำการใช้อาวุธที่ บน.2 จำนวน 3 เครื่อง และที่สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาลอีก 1 เครื่อง และสูญเสียนักบินไป 3 - 4 นาย และเมื่อถึงเดือน ธ.ค.2501 ซึ่งในขณะนั้น บ.ข.16 ได้เข้าประจำการมาแล้ว 2 ปี ฝูง.12 มีเหลือ บ.อยู่ 26 เครื่อง นั่นเท่ากับว่า 2 ปีแรกนั้น ฝูง.12 ได้เสีย บ.ไปแล้วถึง 5 เครื่อง และเท่าที่ตรวจสอบจากข้อมูลที่มีอยู่ก็น่าจะเชื่อได้ว่ามี บ.ต้องจำหน่ายออกจากประจำการจากสาเหตุต่างๆ ไปในช่วงที่บรรจุเข้าประจำการในฝูง.12 ประมาณ 11 - 12 เครื่อง และยังมีในช่วงที่ประจำการในฝูง.43 อีก 2 เครื่อง ซึ่งก็คงดูได้จากยอดตอนเข้าประจำการที่มีจำนวน 31 เครื่อง แต่เมื่อถึงตอนปลดประจำการในปี 2506 นั้นเหลือ บ.ข.16 อยู่เพียง 17 เครื่องเท่านั้น และนี้คงเป็นเรื่องราวเพียงบางส่วนที่ผ่านมานานกว่าครึ่งศตวรรษของ บ.ข.16 หรือ F-84G Thunderjet ซึ่งได้กลายมาเป็น บ.ขับไล่ไอพ่นแบบแรกของ ทอ.ไทย และแม้ว่ามันจะไม่ใช่ บ.ไอพ่นแบบแรกที่นำ ทอ.ไทย ก้าวเข้าไปสู่ยุคไอพ่น แต่มันก็คือ บ.รบที่ได้ชื่อว่าเป็น บ.ขับไล่ในยุคแรก (1 ST Generation Jet Fighters) ที่ประเทศไทยได้มีไว้ประจำการเป็นครั้งแรกอย่างแท้จริง ............................................................. ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/12/2011 19:49:04
ความคิดเห็นที่ 67
SABRE STORY by FS.1 ASI S. หลังจากที่ ทอ.ไทย ได้มี บ.ขับไล่ไอพ่นแบบแรกคือ บ.ข.16 (F-84G Thunderjet) เข้าประจำการแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2499 และถึงแม้ว่ามันเป็น บ.ขับไล่ไอพ่น แต่ว่าสมรรถนะในการรบทางอากาศนั้นยังเป็นรอง บ.ขับไล่ไอพ่นในยุคเดียวกันค่อนข้างมาก เห็นได้จากการรบทางอากาศในสงครามเกาหลีในช่วงแรกๆ ที่ ทอ.สหรัฐฯ ได้นำ บ.ขับไล่ไอพ่นแบบ F-80 Shooting Star และ F-84 Thunderjet เข้าทำการรบทางอากาศกับ MiG-15 ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และแม้ว่า ทอ.สหรัฐฯ จะเป็นฝ่ายมีชัยชนะในการรบทางอากาศมากกว่า แต่นั่นเป็นเพราะฝีมือ ประสบการณ์ และการฝึกฝนที่ดีกว่าของนักบินสหรัฐฯ แต่ถ้าดูในแง่ของสมรรถนะของ บ.แล้วจะเห็นว่า บ. ทั้ง 2 แบบนั้นมีสมรรถนะและความคล่องตัวด้อยกว่า MiG-15 เป็นอย่างมาก เพราะทั้ง 2 แบบนั้นถูก MiG-15 ยิงตกไปหลายเครื่อง ทำให้ในช่วงเวลานั้นกำลังทางอากาศของสหประชาชาติ (ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ) ไม่สามารถครองอากาศได้อย่างแท้จริง จนภายหลังจากที่ ทอ.สหรัฐฯ นำ บ. F-86 Sabre รุ่นต่างๆ เข้าสู่สมรภูมิเกาหลี ความได้เปรียบจึงกลับมาเป็นของฝ่ายสหประชาชาติ โดยชัยชนะของ F-86 Sabre ที่มีต่อ MiG-15 นั้นมีอัตราส่วนถึง 10 :1 ( MiG-15 ถูกยิงตกถึง 792 เครื่อง ส่วน F-86 นั้นถูกยิงตกเพียง 78 เครื่อง ) ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมากสำหรับการรบทางอากาศในยุคนั้น ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามเกาหลี สหรัฐฯ ก็ได้มอบ บ.F-86F ให้แก่ชาติพันธมิตรตามโครงการความช่วยเหลือทางทหาร ( MDAP) เป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง ทอ.ไต้หวัน ที่ต่อมาได้ใช้ F-86F ทำการรบทางอากาศกับ MiG-15 ของ ทอ.จีนแดง ในปี 2501 และได้ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การรบทางอากาศว่าเป็นการรบทางอากาศด้วยการใช้อาวุธจรวดนำวิถีเป็นครั้งแรกอีกด้วย (แต่ส่วนใหญ่ บ. ของ ทอ.จีนแดง ที่ถูกยิงตกในการรบครั้งนี้ยังคงมาจากการใช้ปืนกลอากาศเป็นหลัก) แต่ในขณะนั้น ทอ.ไทย ก็ยังไม่ได้รับ F-86F เข้าประจำการเหมือนเช่นชาติพันธมิตรอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเสียที ทำให้จำเป็นต้องใช้ บ.ข.16 หรือ F-84G เป็น บ.รบหลักในภารกิจการป้องกันภัยทางอากาศไปตามเดิม แต่ก็ยังคาดหวังว่า สหรัฐฯ นั้นก็จะมอบ F-86F ให้ในอนาคต เพราะได้มีการร้องขอจากฝ่ายไทยไปแล้วว่าต้องการที่จะได้รับ บ.แบบนี้เข้าประจำการ หลังจากที่รอคอยมาหลายปี ในเดือน ต.ค.2503 สหรัฐฯ ก็ได้ส่ง F-86F มาเป็นส่วนล่วงหน้าก่อนจำนวน 1 เครื่อง (บ.เครื่องนี้เป็นรุ่น F-86F-1-NA หมายเลข 51-2907) เพื่อใช้เตรียมความพร้อมให้กับนักบินและเจ้าหน้าที่ของ ทอ.ไทย ได้ใช้ศึกษาและเรียนรู้ถึงสมรรถนะและระบบการทำงานต่างๆ ของ บ.F-86F ก่อนที่จะได้รับ บ.ที่จะมอบให้จริงๆ ต่อไป ซึ่งในเดือนถัดมา พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา ผบ.ทอ. ก็ได้มาทำการทดสอบ บ. F-86F เครื่องนี้ด้วยตัวของท่านเอง โดยทดลองขับเคลื่อน (Taxi) ไปรอบๆ สนามบินดอนเมือง เป็นเวลาสั้นๆ ต่อมาในต้นปี 2504 สหรัฐฯ จึงได้ส่ง บ. F-86F จำนวน 20 เครื่องแรก (จากที่มีแผนว่าจะมอบให้ทั้งหมด 40 เครื่อง) โดยเป็นการขนส่งมาทางเรือและมาทำการประกอบที่ฝ่ายการช่าง ของบริษัทการบินไทย ที่ดอนเมือง บ.ในรุ่นนี้ทั้งหมดเป็นรุ่น F-86F-40-NA ซึ่งเป็นรุ่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อมอบให้ชาติพันธมิตรไว้ใช้งานโดยเฉพาะและจะไม่มีประจำการใน ทอ.สหรัฐฯ (สำหรับ บ.ในรุ่น F-40 นั้นจะมีอยู่ 2 แบบคือ แบบแรกนั้นเป็นการสร้างขึ้นใหม่หมดทั้งลำในปี1955 กับแบบที่ 2 จะเป็นการนำ บ. F-86F-25-NH และ F-86F-30-NA ที่เคยผ่านการใช้งานมาก่อนแล้ว กลับมาทำการเปลี่ยนปีกใหม่ (เป็นแบบ 6-3 ที่ติดตั้ง Slat ตรงชายหน้าปีก) ให้เป็นไปตามมาตรฐานของรุ่น F-40 ที่สร้างขึ้นใหม่ในปี 1955 สำหรับ บ. F-86F-40-NA ที่ ทอ.ไทย ได้รับทั้งหมดนั้น เดิมก็คือ บ.ในรุ่น F-25 และ F-30 ที่ได้รับการนำไปปรับปรุงโดยการเปลี่ยนปีกใหม่นั่นเอง และการบันทึกประวัติการบรรจุเข้าประจำการของ กรมช่างอากาศนั้น ก็จะบันทึกว่าเป็นรุ่น F-25 และ F-30 ตามเอกสารของทางสหรัฐฯ ที่ให้มา แต่สรุปได้ว่า บ. F-86F ของ ทอ.ไทย นั้น เป็นรุ่น F-40 ทั้งหมดครับ) ภายหลังจากการประกอบและทำการทดสอบเสร็จเรียบร้อย จึงดำเนินการตรวจรับและกำหนดชื่อใน ทอ. ให้เป็น เครื่องบินขับไล่แบบที่ 17 หรือ บ.ข.17 และได้บรรจุ บ.ทั้ง 20 เครื่อง (หมายเลข ทอ. ข.17- 1/04 ถึง ข.17- 20/04) ในฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 13 กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง โดยพิธีรับมอบ บ.ข.17 ได้มีขึ้นในวันที่ 3 เม.ย.2504 สำหรับฝูง.13 นี้มีนามเรียกขาน (Callsign) ว่า “ Lightning ” และมีสัญลักษณ์รูปสายฟ้าสีขาวบนพื้นสีแดงพ่นติดไว้ที่แพนหางดิ่งของ บ.ทุกเครื่อง โดยนักบินที่มาทำการบินกับ บ.ข.17 ในช่วงแรกๆ ก็คือ นักบินที่เคยทำการบินกับ บ.ข.16 มาก่อนนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่มีฝีมือและประสบการณ์ด้านการบินรวมทั้งชั่วโมงบินที่สูงมาก อีกทั้งสมรรถนะของ บ.ข.17 ทั้งในด้านความเร็ว ความคล่องตัวและสมรรถนะด้านอื่นๆ ก็ดีกว่า บ.ข.16 เป็นอย่างมาก จึงทำให้การฝึกบินกับ บ.ข.17 เป็นไปอย่างรวดเร็ว (จริงๆ แล้วการฝึกบินได้ดำเนินการมาก่อนที่จะมีพิธีรับมอบคือภายหลังจากผ่านการตรวจรับแล้ว ก็ได้ดำเนินการฝึกบินเลย) ภายหลังจากพิธีรับมอบได้ไม่กี่วัน ทอ.ไทย ก็ได้ส่งหมู่บิน บ.ข.17 ของฝูง.13 จำนวน 5 เครื่อง เข้าร่วมการประลองความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศร่วมกับ ทอ.ชาติพันธมิตรอื่นๆ ในชื่อว่า “ Flying Brothers 1961” ที่ ฐานทัพอากาศคล๊ากค์ (CLARK AB) ประเทศฟิลิปปินส์ ภายหลังหลังจากที่ได้รับคำเชิญจาก ทอ.สหรัฐฯ ที่ 13 ภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งนักบินที่เข้าร่วมในครั้งนี้ประกอบไปด้วย น.ต.จิโรจ บูรณะบุตร (หัวหน้าชุด) , น.ต.พินิจ ผลเจริญ , ร.ท.กันต์ พิมานทิพย์ , ร.ท.เกริกชัย หาญสงคราม และ ร.ท. พิศิษฐ์ ศาลิคุปต์ ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ได้เน้นไปที่การป้องกันภัยทางอากาศ ได้แก่การวิ่งขึ้นสกัดกั้น และการใช้อาวุธอากาศสู่อากาศ ซึ่งประกอบไปด้วยการใช้ปืนกลอากาศ และอาวุธจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ แต่ในส่วนของ ทอ.ไทย นั้นเป็นการใช้เฉพาะปืนกลอากาศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากเราเพิ่งจะได้รับ บ.ข.17 มาใหม่ นักบินทั้งหมดจึงยังไม่มีประสบการณ์ในเรื่องของการใช้จรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ แต่ ทอ.สหรัฐฯ ก็ได้จัดให้หัวหน้าชุดของเราขึ้นไปสังเกตุการณ์การยิงจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ ด้วย บ. F-100F (เป็น บ.ขับไล่/ฝึก 2 ที่นั่งความเร็วเหนือเสียงที่ทันสมัยมากของ ทอ.สหรัฐฯ ในยุคนั้น) เหนือท้องทะเลนอกชายฝั่งของเกาะลูซอน เพื่อจะได้นำประสบการณ์มาถ่ายทอดให้นักบินในฝูงต่อไป ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/12/2011 19:47:26
ความคิดเห็นที่ 68
ในเดือน ต.ค.2504 ภายหลังจากที่ สหรัฐฯ ได้ส่ง บ. F-86F ที่เหลืออีก 20 เครื่องมาให้และได้ทำการประกอบและทดสอบเสร็จเรียบร้อย จึงได้นำเข้าประจำการในฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 12 กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง (หมายเลข ทอ. ข.17- 21/04 ถึง ข.17- 40/04) ทดแทน บ.ข.16 (F-84G Thunderjet) ที่เพิ่งโอนไปให้ฝูงบินขับไล่ทิ้งระเบิดที่ 43 กองบินน้อยที่ 4 ตาคลี ใช้งานต่อเมื่อต้นเดือน ต.ค.2504 และจะเห็นได้ว่าฝูง.12 นั้น ได้ถูกกำหนดให้เป็นฝูงบินขับไล่ยุทธวิธี (Tactical Fighter Squadron) ซึ่งแตกต่างจากฝูง.13 ที่ถูกกำหนดให้เป็นฝูงบินขับไล่สกัดกั้น (Fighter Interceptor Squadron) ทั้งๆ ที่ทั้ง 2 ฝูงบินนี้ก็ใช้ บ.แบบเดียวกันและสามารถติดตั้งอาวุธได้เหมือนๆ กัน ก็เนื่องมาจากภารกิจหลักที่ได้ถูกกำหนดไว้ให้ในแต่ละฝูงบินนั่นเอง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับในปัจจุบันก็คงคล้ายๆ กับ ฝูง.102 และ 103 ของ บน.1 ที่ต่างก็ใช้ บ.ข.19/ก (F-16 A/B) เหมือนกัน แต่จะมีสัดส่วนของภารกิจหลักที่แตกต่างกัน เช่น 70 : 30 หรือ 40 : 60 (เลขตัวหน้าจะเป็นภารกิจการรบอากาศสู่อากาศ ส่วนตัวหลังจะเป็นภารกิจการรบอากาศสู่พื้น) เป็นต้น สำหรับฝูง.12 นั้น มีนามเรียกขาน (Callsign) ของฝูงบินว่า “ Starfire ” ซึ่งเขี้ยวเล็บของ บ.ข.17 นั้นจะประกอบไปด้วย ปืนกลอากาศ ขนาด .50 นิ้ว แบบ M-2 จำนวน 6 กระบอก ติดตั้งอยู่ภายในด้านข้างของส่วนหัว ซึ่งปืนแบบนี้ถือเป็นอาวุธพื้นฐานของ บ.ข.17 สำหรับการรบทั้งแบบอากาศสู่อากาศและอากาศสู่พื้น และมันก็เป็นอาวุธที่ยิง บ.มิก-15 ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ตกในระหว่างสงครามเกาหลีมาแล้วหลายร้อยเครื่อง (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่มันมีระบบศูนย์เล็งที่ทำงานสัมพันธ์กับเรดาร์วัดระยะ ช่วยทำให้นักบินสามารถเล็งเป้าหมายและทำการยิงได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น) ส่วนตำแหน่งติดตั้งอาวุธที่ใต้ปีกนั้น ตำแหน่งคู่ในสุดจะใช้ติดตั้งอาวุธจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ แบบ AIM-9B Sidewinder ซึ่งจรวดแบบนี้ถือเป็นอาวุธนำวิถีแบบแรกสุดของ ทอ.ไทย และของกองทัพไทยอีกด้วย และตำแหน่งถัดออกมาจะเป็นตำแหน่งติดตั้งลูกระเบิดทำลาย ซึ่งสามารถเลือกติดได้ตั้งแต่ขนาด 250 ปอนด์ไปจนถึงขนาด 1,000 ปอนด์ และตำแหน่งนี้ยังเป็นตำแหน่งสำหรับใช้ติดตั้งระเบิดเพลิงหรือนาปาล์มหรือใช้ติดตั้งกระเปาะจรวดอากาศสู่พื้นขนาด 2.75 นิ้ว (ชนิดบรรจุ 7 นัด ซึ่งกระเปาะแบบนี้จะไม่มีหน้าตัดเป็นทรงกลมเหมือน LAU-68 แต่จะมีหน้าตัดเป็นรูป 6 เหลี่ยม ซึ่งผมยังหาข้อมูลไม่ได้ว่ากระเปาะแบบนี้มีชื่อเรียกว่าอะไร) อีกด้วย ถัดออกมาจะเป็นตำแหน่งเฉพาะสำหรับใช้ติดตั้งจรวดอากาศสู่พื้นขนาด 5 นิ้ว แบบ HVAR และตำแหน่งคู่นอกสุดของจะเป็นตำแหน่งติดตั้งถังเชื้อเพลิงสำรองชนิดปลดทิ้งได้ขนาด 200 แกลลอน บ.ข.17 หรือ F-86F ถือว่าเป็น บ.ขับไล่ที่มีสมรรถนะสูงสำหรับ ทอ.ไทย ในยุคนั้น แม้ว่าช่วงเวลาที่เราเพิ่งจะได้รับมอบมานั้น ทอ.สหรัฐฯ จะเลิกใช้งานไปแล้ว เพราะได้นำ บ.ขับไล่แบบใหม่ที่ทันสมัยกว่าเข้าประจำการแทนมาหลายปีแล้วอย่างเช่น บ.ในชุด Century Series อย่าง F-100 , F-101 , F-102 , F-104 และ F-106 ซึ่งเป็น บ. ที่ได้รับการออกแบบให้มีสมรรถนะด้านการบินที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็น บ.ที่มีความเร็วเหนือเสียง (Super Sonic) มีระบบอวิโอนิกส์ที่ทันสมัย รวมทั้งมีการติดตั้งเรดาร์เพื่อใช้ในการค้นหาเป้าหมาย และเป็น บ.ขับไล่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอาวุธหลักที่ใช้ในการรบทางอากาศ จากปืนกลอากาศหรือปืนใหญ่อากาศให้กลายมาเป็นจรวดนำวิถีไปหมดแล้ว และถึงแม้ว่า F-86F จะเป็น บ.ที่มีความเร็วสูงสุดอยู่ในย่านความเร็วเสียง (Transonic) แต่มันก็สามารถทำการบินทะลุกำแพงเสียงได้ โดยใช้วิธีการบินดำลงมาจากระยะความสูงมากๆ แต่วิธีนี้ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้เนื่องจาก บ.จะเริ่มมีอาการขาดเสถียรภาพและเกิดการควงสว่านได้เมื่อมีความเร็วสูงมากกว่าความเร็วเสียง ซึ่งใน ทอ.ไทย นั้นในช่วงแรกๆ ก็ได้มีนักบินหลายท่านได้ทดลองทำการบินแบบนี้ แต่ต่อมาก็ต้องถูกสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด เมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุขึ้นทำให้นักบินเสียชีวิตไป 2 นาย (มีท่านนึงได้ดีดตัวออกมาแต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการดีดตัวที่ถูกต้องทำให้ร่มนั้นกางออกมาทันทีและเกิดการฉีกขาดเมื่อกระทบอากาศขณะที่อยู่ในความเร็วเหนือเสียง ส่วนอีกท่านนั้นไม่ได้ดีดตัวออกมา) สำหรับในเรื่องการฝึกยิงอาวุธจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบ AIM-9B นั้นจะมีการฝึกยิงด้วยลูกจริงน้อยมากในแต่ละปี คงเนื่องจากในตอนนั้นเรามีจรวดอยู่จำนวนไม่มากนัก ดังนั้นเพื่อให้เห็นวิธีการทำงานจริงของจรวดจึงต้องใช้การนำหมู่บิน บ.ข.17 ไปยังพื้นที่การฝึกและทำการยิงให้ดูโดยให้เครื่องของหัวหน้าหมู่บินเป็นผู้ทำการยิง โดยมีเป้าหมายเป็นพลุส่องสว่างที่ถูกปล่อยมาจาก บ.อีกเครื่องหนึ่ง ซึ่งพื้นที่ที่ใช้ทำการฝึกยิงจรวดนำวิถีนั้นจะอยู่เหนือท้องทะเลอ่าวไทย นอกชายฝั่ง ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ส่วนเรื่องของการฝึกยิงปืนอากาศสู่อากาศนั้น ก็ได้ทำการฝึกด้วยการใช้เป้าลากท้ายเหมือนอย่างในปัจจุบันนั่นแหละครับ ซึ่งพื้นที่ที่ฝึกก็เป็นที่นอกชายฝั่งแหลมผักเบี้ยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นการยิงปืนอากาศสู่พื้นนั้นก็ต้องไปที่สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล หรือม่วงค่อม นั่นเอง หลังจากที่นักบินทั้ง 2 ฝูงสามารถทำการบินกับ บ.ข.17 ได้อย่างชนิดที่เรียกว่า “ ติดมือ ” ดีแล้ว แต่ละฝูงจึงเริ่มฟอร์มทีมเพื่อทำการฝึกบินผาดแผลงหมู่ ซึ่งก็คงต้องเริ่มกันที่หมู่ 4 ไปก่อนและค่อยๆ เพิ่มจนเป็นหมู่บิน 9 เครื่องในที่สุด แต่ที่ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งการบินผาดแผลงหมู่ของ ทอ.ไทย นับตั้งแต่ได้มีการแสดงบินผาดแผลงหมู่เกิดขึ้นมานั้น ผมคิดว่าไม่มีใครจะสุดยอดไปกว่าทีมผาดแผลงหมู่ 12 ด้วย บ.ข.17 ของกองบินน้อยที่ 1 ไปได้อีกแล้ว ทีมนี้เป็นทีมของ บน.1 และได้ใช้ชื่อทีมว่า “ ไทเกอร์ ” โดยเป็นการรวบรวมมือผาดแผลง บ.ข.17 ที่ดีที่สุดจากทั้ง 2 ฝูงบิน มาร่วมทำการฝึกอย่างหนักและเสี่ยงตายอยู่นานนับเดือน จนได้มีโอกาสทำการแสดงอวดสายตาบรรดาทหารจากชาติพันธมิตรรวมทั้งพี่น้องประชาชนชาวไทยอย่างเป็นทางการ ในระหว่างการฝึก “ AIR COBRA ” ซึ่งเป็นการฝึกร่วมทางทหารระหว่างชาติพันธมิตรซีโต้ที่จัดให้มีขึ้นในประเทศไทย ในช่วงปลายเดือน เม.ย.2505 ซึ่งหัวหน้าหมู่บินนี้ก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก น.ท.สำราญ แย้มศรีบัว หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า “ แซม ” นั่นเอง สำหรับรายชื่อนักบินของทีมนี้นอกจาก น.ท.สำราญ ฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บิน หรือเป็นหมายเลข 1 แล้ว ก็จะประกอบไปด้วย หมายเลข 2 พ.อ.อ.ถนอม พวงเดช , หมายเลข 3 พ.อ.อ.ธรรมนูญ เบญจกุล , หมายเลข 4 พ.อ.อ.สุเทพ คำคุณ , หมายเลข 5 พ.อ.อ.สามารถ เปี่ยมศรี , หมายเลข 6 พ.อ.อ.เกษม เรืองเดช , หมายเลข 7 พ.อ.อ.มณี มูลนาค , หมายเลข 8 พ.อ.อ.วิฑูรย์ โคตรวิชัย , หมายเลข 9 พ.อ.อ.ไสว อินตะนัย , หมายเลข 10 ร.ท.สุนทร อาญาสิทธิ , หมายเลข 11 ร.ท.กันต์ พิมานทิพย์ และหมายเลข 12 ร.ท.ประสูตร คำสิทธิ ในการแสดงนั้นก็จะใช้รูปแบบการเกาะหมู่และรูปแบบของท่าที่ใช้แสดงการบินเหมือนกับสมัยที่ทำการบินผาดแผลงหมู่ 9 เครื่องด้วย บ.ข.16 (F-84G) ซึ่งหมู่บินจะเกาะหมู่ในรูป Arrow Head สำหรับท่าบินที่ใช้ทำการแสดงจะประกอบไปด้วย การทำ Loop , Barrel Roll , Chandelle , Cuban Eight , Cloverleaf และปิดท้ายด้วยท่า Bomb Shell ซึ่งเท่าที่ได้มีโอกาสชมภาพยนต์ที่ถ่ายไว้ในวันที่ทำการแสดงการบินครั้งนี้ ต้องยอมรับว่านักบินทั้ง 12 ท่านล้วนมีฝีมือสุดยอดมาก เพราะสามารถเกาะหมู่กันได้อย่างเหนียวแน่นไม่ว่าจะอยู่ในท่าบินใด ซึ่งนักบินทุกท่านนั้นจะต้องต่อสู้อยู่กับแรงจีที่กระทำอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการแสดงซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 นาที อีกทั้งยังเป็นการบินที่เสี่ยงชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการบินเกาะหมู่ที่ชิดกันมากและถ้าหากเกิดมีใครพลาดขึ้นมาเพียงคนเดียว จะไม่เพียงแต่ทำให้การแสดงนั้นขาดความสวยงามเท่านั้น แต่ยังอาจทำอันตรายถึงชีวิตให้กับตนเองและนักบินท่านอื่นได้เลยทีเดียว ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/12/2011 19:50:02
ความคิดเห็นที่ 69
ในช่วงเดือน ก.พ. 2506 เมื่อ ทอ.ไทย ได้รับ บ.ขับไล่สกัดกั้นทุกกาลอากาศแบบ F-86L Dog Sabre หรือ บ.ข.17ก และกำหนดให้เข้าประจำการในฝูง.12 ดังนั้นจึงได้มีการโอน บ.ข.17 เดิมของฝูง.12 ทั้งหมดไปให้กับ ฝูง.43 บน.4 ตาคลี เพื่อใช้งานต่อไป และในช่วงเดือน ก.พ.2506 นี้เอง ทอ.ไทย ก็ยังได้รับ บ.ข.17 เพิ่มเติมอีก 10 เครื่องด้วย ซึ่ง บ.ในชุดนี้ทั้งหมดเป็น บ. F-86F-40 ที่เดิมนั้นเป็นรุ่น F-86F-25-NH และได้รับการเปลี่ยนปีกมาแล้ว (สำหรับความแตกต่างของ บ.ในรุ่น F-25 กับรุ่น F-30 ที่เห็นกันชัดๆ เมื่ออยู่ใน ทอ.ไทย นั่นคือ รุ่น F-30 จะพ่นเลขของ Serial Number (Ser.No.) ติดไว้ที่ตรงท่อไอพ่น ส่วนรุ่น F-25 นั้นจะพ่นไว้บนแพนหางดิ่ง) โดย บ.ทั้ง 10 เครื่อง (มีหมายเลข ทอ. ตั้งแต่ ข.17- 41/06 ถึง ข.17- 50/06) ได้ถูกบรรจุใน ฝูง.13 จำนวน 7 เครื่อง เพื่อทดแทน บ. ที่สูญเสียไปก่อนหน้านี้จากภารกิจการบิน ส่วนที่เหลืออีก 3 เครื่องนั้นได้บรรจุให้กับ ฝูง.43 และในปลายปี 2506 นี้ สหรัฐฯ ก็ยังได้มอบ บ. F-86F-40 เพิ่มเติมเป็นชุดสุดท้ายอีกจำนวน 4 เครื่อง (มีหมายเลข ทอ. ข.17- 51/06 ถึง ข.17- 54/06) และได้บรรจุ บ.ทั้ง 4 เครื่องนี้ใน ฝูง.43 ซึ่งเมื่อรวมจำนวน บ.ข.17 หรือ F-86F ที่ได้รับมอบจาก สหรัฐฯ ทั้งหมด จะมีจำนวนรวม 54 เครื่อง ส่วนฝูง.13 นั้นก็ยังคงใช้งาน บ.ข.17 ต่อไปตามเดิมและในปี 2506 นี้ ทอ.ไทย ก็ได้รับคำเชิญจาก ทอ.สหรัฐฯ ที่ 13 ภาคพื้นแปซิฟิก ให้เข้าร่วมในการประลองความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศร่วมกับ ทอ.ชาติพันธมิตรอื่นๆ อีกครั้ง ในชื่อว่า “ Flying Brothers 1963 ” ณ ฐานทัพอากาศคล๊ากค์ (CLARK AB) ประเทศฟิลิปปินส์ โดย ทอ.ไทย ได้ให้ ฝูง.13 จัด บ.ข.17 จำนวน 5 เครื่องพร้อมนักบินและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประลอง (หรือการแข่งขัน) ในครั้งนี้ ซึ่งนักบินจำนวน 5 ท่านนั้นประกอบไปด้วย น.ท.สุรพล โสภาพงษ์ (หัวหน้าชุด) , ร.อ.มานิตย์ พิศิษฐ์เจริญทัต , ร.ท.สหทัย ทิพยเวส , ร.ท. ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ และ ร.ท.ดำรง คงเสถียร ซึ่งผลการแข่งขันนั้นเป็นที่ยอมรับในหมู่ประเทศที่เข้าร่วมว่านักบินไทยนั้น มีฝีมือและขีดความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติอื่นๆ (สำหรับการเข้าร่วมในครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้ายของ ทอ.ไทย ด้วย เนื่องจากในปีถัดมา สหรัฐฯ ได้เข้าสู่สงครามเวียดนามอย่างเต็มตัว กำลังทางอากาศส่วนใหญ่จึงถูกส่งไปเข้าร่วมในการทำสงครามครั้งนี้ ทอ.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก จึงได้ยกเลิกการประลองความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศที่ได้เคยจัดมาทั้งหมดไป) จนเมื่อถึงช่วงเดือน พ.ค. 2509 ฝูง.13 ก็ได้โอน บ.ข.17 ทั้งหมดไปให้กับ ฝูง.43 ภายหลังจากที่ได้รับ บ.ขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงแบบ F-5B Freedom Fighter หรือ บ.ข.18 จำนวน 2 เครื่องเข้าประจำการในฝูง.13 ในฐานะ บ.รบแบบใหม่ของฝูงบิน (ซึ่งก็รวมไปถึง บ.ขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงแบบ F-5A ที่กำลังจะได้รับมอบในปี 2510 ด้วย) สำหรับ ฝูง.43 บน.4 ตาคลี นั้น เมื่อได้รับ บ.ข.17 มาทดแทน บ.ข.16 ตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2506 แล้ว ชื่อหน้าของฝูงบินก็ได้เปลี่ยนไปด้วยจาก “ ฝูงบินขับไล่ทิ้งระเบิด ” มาเป็น “ ฝูงบินขับไล่ยุทธวิธี ” ตามภารกิจเดิมของ ฝูง.12 ซึ่งเน้นหนักภารกิจหลักไปในด้านการโจมตีทางอากาศ โดยมีการบินสกัดกั้นเป็นภารกิจรอง และได้มีการฝึกเปลี่ยนแบบจนนักบินของ ฝูง.43 ทั้งหมดมีความพร้อมรบและสามารถทำการบินกับ บ.ข.17 ได้อย่างดีแล้ว จึงเริ่มมีการจัดตั้งหมู่บินผาดแผลงขึ้น โดยเริ่มจากหมู่ 4 เครื่องก่อนและต่อมาจึงได้เพิ่มจำนวนจนเป็นหมู่บินผาดแผลง 9 เครื่องในเวลาต่อมา ซึ่งหมู่บินนี้ก็ยังใช้ชื่อว่า “ King Cobra ” ตามนามเรียกขาน (Callsign) และสัญลักษณ์ของฝูงบินที่เป็นรูปงูจงอางแผ่แม่เบี้ย (นอกจากนี้รูปงูจงอางยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของกองบินน้อยที่ 4 หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็น กองบิน 4 ในเวลาต่อมาด้วย) สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับสัญลักษณ์รูปงูจงอางแผ่แม่เบี้ยที่ได้มีการออกแบบและถูกนำมาพ่นติดไว้ที่ตัวเครื่องบินของฝูง.43 ทุกแบบนั้น ผมเคยเขียนลงไว้ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 116 ประจำเดือน พ.ค.2545 ในชื่อเรื่องว่า “ จงอางแห่งตาคลี ” ซึ่งถ้าสนใจคงต้องลองไปหาอ่านกันดูครับ ต่อมาภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้มีการจับอาวุธขึ้นต่อต้านรัฐบาลในปี 2508 ทำให้ ทอ. ต้องมีการจัดกำลังทางอากาศเพื่อใช้ในการสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตามแผนยุทธการ ทอ.ที่ 1/08 ซึ่งในส่วนที่ ฝูง.43 นั้นได้รับคำสั่งให้จัดกำลังทางอากาศ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการป้องกันภัยทางอากาศ และต่อมาในปี 2512 ได้มีการแก้ไขแนวความคิดในการใช้กำลังทางอากาศขึ้นใหม่ เนื่องจาก ผกค. ในประเทศไทยนั้น ได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์ภายนอกประเทศมากขึ้น จึงมีการออกคำสั่งยุทธการ ทอ. ที่ 1/12 ให้หน่วยกำลังทางอากาศมีภารกิจในการโจมตีฐานที่มั่นรวมทั้งแหล่งสะสมเสบียงของ ผกค. และภารกิจการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด ซึ่งฝูง.43 นั้นถูกกำหนดให้เป็นหน่วยที่ทำการสนับสนุนกองทัพภาคที่ 3 และกองบัญชาการผสมที่ 394 โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการสนับสนุนอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดคือ พิษณุโลก - เพชรบูรณ์ - เลย โดยมีพื้นที่อย่าง ภูหินร่องกล้า และเขาค้อ ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่ของ ผกค. ในเขตงานนี้และยังเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบทางภาคพื้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ด้านจังหวัดตากรวมถึงบางส่วนในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย ในภารกิจการโจมตีฐานที่มั่นรวมทั้งแหล่งสะสมเสบียงของ ผกค. ที่ฝูง.43 ได้รับคำสั่งนั้น จะเป็นการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายภาคพื้นด้วยการใช้อาวุธปืนกลอากาศขนาด .50 นิ้ว ที่เป็นอาวุธพื้นฐานของ บ. , การโจมตีด้วยจรวดอากาศสู่พื้น (ไม่นำวิถี) ทั้งขนาด 5 นิ้ว และขนาด 2.75 นิ้ว และระเบิดทำลายเอนกประสงค์ขนาด 500 ปอนด์ รวมถึงบางภารกิจนั้นยังได้กำหนดให้ใช้ระเบิดนาปาล์มในการทำลายเป้าหมายด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วในแต่ละภารกิจนั้นอาวุธที่นำมาติดตั้งจะเป็นจรวดขนาด 5 นิ้ว จำนวน 2 ลูก และระเบิดขนาด 500 ปอนด์อีก 2 ลูก ซึ่งนอกจากภารกิจการโจมตีทางอากาศแล้ว ก็ยังมีภารกิจการบินลาดตระเวนติดอาวุธอีกด้วย บ.ข.17 ของ ฝูง.43 นั้นได้ถูกใช้งานมาจนถึงกลางปี 2515 ซึ่งในขณะนั้นมันเป็น บ.ข.17 ฝูงสุดท้ายและฝูงเดียวของ ทอ.ไทย ที่ยังถูกใช้งานอยู่ ดังนั้น บ. ทั้งหมดจึงมีอายุการใช้งานมานานแล้วและยังเป็น บ.ที่ล้าสมัยไปมากแล้วในขณะนั้น อีกทั้ง บ.ส่วนใหญ่ยังมีสภาพทรุดโทรมอีกทั้งยังขาดแคลนอะไหล่ที่จะใช้ทำการซ่อมบำรุง ซึ่งในตอนนั้น ทอ. ก็ได้วางแผนไว้ว่าจะนำ บ. รบแบบใหม่คือ A-37B Dragonfly ที่กำลังจะได้รับจากสหรัฐฯ มาบรรจุเข้าประจำการทดแทนอยู่แล้ว ในช่วงเดือน ก.ค.2515 จึงได้มีคำสั่งให้ปลดประจำการ บ.ข.17 ทั้งหมด (หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ทยอยปลดประจำการไปแล้วบางส่วน) ซึ่งในขณะนั้น ฝูง.43 เหลือ บ.ข.17 เหลืออยู่ประมาณ 10 กว่าเครื่องเท่านั้น (ไม่น่าจะเกิน 16 เครื่องจากเดิมในช่วงที่เคยมีสูงสุดเกือบๆ 30 เครื่องใน ฝูง.43 และจากจำนวน 54 เครื่องที่บรรจุเข้าประจำการใน ทอ.ไทย) และถ้าบางท่านคิดว่าทำไมมันถึงเหลือ บ. อยู่ไม่มากนักในวันที่มีคำสั่งให้ปลดประจำการ ก็คงต้องบอกว่าเป็นเพราะก่อนหน้านี้มันได้เกิดอุบัติเหตุและต้องจำหน่ายออกจากประจำการไปก่อนกำหนดนั่นเอง ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลอยู่นั้นมี บ.ข.17 ของทุกฝูงบินได้ตกระหว่างทำการบินรวมแล้วเกือบ 20 เครื่องเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมี บ. ได้รับความเสียหายถึงขั้นจำหน่ายจากเหตุการณ์ต่างๆ อีกหลายเครื่อง นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงมี บ.เหลืออยู่ไม่มากนักในวันที่มีคำสั่งให้ปลดประจำการ และนี่คงเป็นเรื่องราวเพียงบางส่วนเกี่ยวกับ บ.ข.17 หรือ F-86F SABRE ของ ทอ.ไทย ซึ่งผมได้นำมาถ่ายทอดให้ได้รับทราบถึงอดีตอันควรค่าแก่การจดจำ และถึงแม้ว่าจะประจำการอยู่ใน ทอ.ไทย ได้เพียง 10 ปีเศษๆ แต่มันก็ได้มีส่วนร่วมในการปกป้องอธิปไตยของชาติดังเช่นที่ บ.ในยุคเดียวกันได้ทำมาเช่นกัน และนักบินทุกท่านที่ได้เคยทำการบินกับ บ.ข.17 ก็ยังไม่ลืมเลือนถึงคำขวัญของ F-86F ที่ว่ามันนั้นคือ “ The Last Real Fighter ” ................................................................... ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/12/2011 19:52:17
ความคิดเห็นที่ 70
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 227 ส.ค.2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/01/2012 19:47:12
ความคิดเห็นที่ 71
T-BIRD STORY by FS.1 ASI S. การรบทางอากาศในสงครามเกาหลีนั้น ถือเป็นการเปิดศักราชของการรบทางอากาศยุคใหม่ จากที่เคยใช้เครื่องบินขับไล่ใบพัดในช่วงเริ่มต้นของสงคราม ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องบินขับไล่ไอพ่นเข้าทำการต่อสู้กันแทน มีการพัฒนา บ.รบไอพ่นแบบใหม่เกิดขึ้นทั้งจากของฝ่ายโลกเสรีและฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งหลายๆ แบบนั้นก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามด้วย และ บ.รบไอพ่นแบบแรกที่ สหรัฐฯ ได้นำมาใช้ในสมรภูมิเกาหลีนั้น ก็คือ F-80C Shooting Star ของ ทอ.สหรัฐฯ นั่นเอง ซึ่งต่อบริษัทล๊อคฮีด ที่เป็นผู้สร้างก็ได้มีการพัฒนาให้เป็น TF-80C ซึ่งเป็นต้นแบบของในรุ่นสองที่นั่งเพื่อใช้ทำการฝึกนักบินด้วย และต่อมาในสายการผลิตมันก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น T-33 Shooting Star ในที่สุด ในกองทัพสหรัฐฯ นั้นมันได้ถูกใช้งานสำหรับการฝึกบินขั้นสูงให้กับนักบินทั้งของ ทอ. และ ทร. ในยุคสงครามเย็น (แต่ใน ทร.สหรัฐฯ นั้นมันได้รับการกำหนดชื่อเป็น TV-2) อยู่หลายปีจนภายหลังจึงถูกแทนที่ด้วย บ.ฝึกรุ่นใหม่กว่า นอกจากนี้มันยังได้ถูกส่งมอบให้กับชาติพันธมิตรของ สหรัฐฯ อีกมากกว่า 30 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งเรื่องที่สหรัฐฯ นั้นจะมอบ T-33 ให้กับ ทอ.ไทย นั้น ที่ผ่านมาหลายปีนั้นผมได้เคยศึกษาเรื่องนี้จากเอกสารต่างๆ ทั้งจากที่จัดทำโดยกองทัพอากาศเองและจากแหล่งอื่นๆ แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันน่าจะมีอะไรที่ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงในขณะนั้น ซึ่งก่อนนั้นอื่นผมขอนำเรื่องราวที่ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารของกองทัพอากาศเกี่ยวกับเรื่องของการรับมอบ บ.T-33 ชุดแรกของ ทอ.ไทย ที่ได้เคยตีพิมพ์ในหนังสือ “ 3347 รำลึก ” ซึ่งเป็นหนังสือที่กองทัพอากาศได้จัดทำขึ้นในวาระการปลดประจำการเครื่องบินแบบ T-33 (บ.ฝ.11) และ C-47 (บ.ล.2) ซึ่งในส่วนของการจัดงานนั้น ได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 12 ก.ย.2539 และได้มีการมอบหนังสือที่จัดทำขึ้นให้แก่ผู้เข้าร่วมในงานนี้ โดยในหน้าที่ 11 ของหนังสือเล่มนี้ได้มีการกล่าวถึง บ.T-33 ไว้ดังนี้ T-33 กับกองทัพอากาศไทย เครื่องบิน ที-33 เป็นเครื่องบินไอพ่นแบบแรกของกองทัพอากาศไทย จัดหามาโดยได้รับความช่วยเหลือทางทหารระหว่างกองทัพอากาศไทยและกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 โดยกองทัพอากาศไทยต้องส่งนักบินไปบินมาเองจากประเทศญี่ปุ่น กองทัพอากาศไทยโดย จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้สั่งให้พิจารณาคัดเลือกนักบินที่เหมาะสม เพื่อส่งไปฝึกบินและนำเครื่องบินจากจากประเทศญี่ปุ่นกลับประเทศไทย นักบินชุดแรกที่ได้รับการคัดเลือกคือ 1. พล.อ.ท.ทวี จุลละทรัพย์ เสธ.ทอ. 2. พล.อ.ต.บุญชู จันทรุเบกษา รอง เสธ.ทอ. 3. พล.อ.ต.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร เสธ.บย. 4. พล.อ.จ.มานพ สุริยะ จก.ขว.ทอ. และด้วยเหตุผลบางประการ พล.อ.ต.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ไม่ได้ไปประเทศญี่ปุ่นด้วย คณะนักบินได้เดินทางไปถึงประเทศญี่ปุ่นในกลางเดือน กรกฎาคม 2498 ได้เข้ารับการอบรมวิชาภาคพื้นเกี่ยวกับคุณลักษณะของเครื่องบินไอพ่น และทำความคุ้นเคยกับเครื่องบิน เมื่อผ่านการอบรม ภาคพื้นแล้ว ผู้ที่ได้รับการฝึกภาคอากาศเป็นคนแรกคือ พล.อ.ท.ทวี จุลละทรัพย์ หลังจากผ่านการฝึกกับครูได้ 3 ชม.ก็ได้ปล่อยเดี่ยว คนที่สองคือ พล.อ.ต.บุญชู จันทรุเบกษา และคนต่อมาคือ พล.อ.จ.มานพ สุริยะ หลังจากที่ทั้ง 3 ท่านได้รับการปล่อยให้บินเดี่ยวหมดแล้ว ก็ได้บินหาความชำนาญจนมั่นใจว่าสามารถที่จะนำเครื่องบิน บินกลับประเทศไทยได้ พล.อ.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ก็วางแผนที่จะบินกลับประเทศไทยทันที โดยบินผ่านสนามบินฟิจิ, สนามบินโอกินาวา, ประทศญี่ปุ่น สนามบินคล้าค ประเทศฟิลิปปินส์ สนามบินไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม และ สนามบินดอนเมือง ท่านทั้ง 3 ได้นำเครื่องบินมาถึงสนามบินดอนเมืองด้วยความเรียบร้อย ในต้นเดือนสิงหาคม 2498 ท่ามกลางการต้อนรับของผู้บัญชาการทหารอากาศ และทหารกองเกียรติยศ ครับนี่คือข้อความที่ได้รับการตีพิมพ์อยู่ในหนังสือดังกล่าว ซึ่งผมยังคงเนื้อหาและรูปแบบของการพิมพ์ไว้ตามเดิม และเมื่อได้อ่านแล้วหลายท่านจะสงสัยเหมือนผมหรือเปล่า ข้อแรกคือ ทำไมจึงต้องส่งนายทหารชั้นนายพลที่มีตำแหน่งระดับสูงมากใน ทอ. ไทย เป็นผู้ไปฝึกบินและนำเครื่องกลับมา แทนที่จะเป็นนายทหารนักบินชั้นยศเรืออากาศ หรือ นาวาอากาศ ข้อที่สอง กำหนดการที่จะบินกลับมานั้นขึ้นอยู่กับหัวหน้าชุดของเราคือท่าน พล.อ.ท.ทวี จุลละทรัพย์ หรือ ทอ.สหรัฐฯ นั้นได้กำหนดไว้แล้วกันแน่ ข้อที่สามเครื่องบินทั้ง 3 เครื่องนั้น บินจากญี่ปุ่นมาประเทศไทยโดยมีแต่นักบินชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 3 ท่านทำการบินมาเพียงลำพังหรือเปล่า เชื่อว่าหลายท่านคงสงสัยเหมือนผมเช่นกัน ทีนี้มาว่ากันเป็นข้อๆ สำหรับข้อแรก ผมคิดว่าเรื่องนี้ท่าน ผบ.ทอ. ของเราในขณะนั้นนั้นคงอยากให้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน และยังถือเป็นการให้เกียรติทางฝ่ายสหรัฐฯ อีกด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วคงไม่มี ทอ.ชาติ ไหนในโลกที่จะส่งนายทหารชั้นนายพลและมีตำแหน่งเป็นถึงเสนาธิการทหารอากาศ ไปทำการฝึกบินกับ บ.แบบใหม่โดยใช้เวลาฝึกเพียง 2 สัปดาห์ แล้วก็ให้ท่านเป็นผู้บินข้ามน้ำข้ามทะเลระยะทางไกลหลายพันไมล์กลับมาด้วยตัวเอง แม้ว่าในอดีตทั้ง 3 ท่านนั้นจะเคยเป็นอดีตนักบินขับไล่ที่ผ่านศึกมาทั้งคราวกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส และจากสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งถ้าจะว่ากันตรงๆ แล้ว มันถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากๆ และผมคิดว่าคงไม่มีชาติไหนเค้าทำกัน ข้อต่อมาที่ว่ากำหนดการที่จะบินกลับมานั้นขึ้นอยู่กับหัวหน้าชุดของเราหรือ ทอ.สหรัฐฯ นั้นได้กำหนดไว้แล้วกันแน่ ข้อนี้ผมเชื่อว่ามีการประสานกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายอยู่แล้ว ถึงหมายกำหนดการที่จะนำเครื่องบินกลับมาประเทศไทย ระดับ ทอ.สหรัฐฯ แล้วเค้าคงไม่ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของหัวหน้าชุดของเราหรอกครับ ซึ่งแผนการฝึกทั้งภาคพื้นและภาคอากาศนั้นเค้าก็คงได้กำหนดไว้แล้ว ว่านักบินของเราจะต้องผ่านแต่ละขั้นตอนภายในกี่ชั่วโมง และเชื่อได้ว่าคงต้องเผื่อเวลาไว้แล้วบ้าง เพราะนี้ไม่ใช่การฝึกสำหรับศิษย์การบินเหมือนทั่วๆ ไป ดังนั้นเรื่องวันที่จะเดินทางกลับนั้นเค้าคงต้องกำหนดล่วงหน้าไว้แล้วทั้งวันจริงและวันสำรอง และสำหรับข้อสุดท้าย ซึ่งคำตอบของมันก็จะไปเชื่อมโยงถึงข้อที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 2 ข้อด้วย คือเครื่องบินทั้ง 3 เครื่องนั้น บินมาประเทศไทยโดยนักบินของไทยเพียงลำพัง โดยที่ไม่มีนักบินของ ทอ.สหรัฐฯ ร่วมทำการบินมาด้วยหรือเปล่า เพราะไม่ได้มีการกล่าวถึงในเรื่องนี้ไว้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งในตอนแรกๆ ที่ผมยังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมก็ยังเข้าใจว่าทั้ง 3 เครื่องนั้นได้บินกลับมาประเทศไทย โดยมีเพียงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ ทอ.ไทย ทั้ง 3 ท่านทำการบินเดี่ยวมา เพราะข้อความที่เขียนในหนังสือนั้นมันสื่อให้คิดกันไปในแนวนั้น แต่ภายหลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องราวของเครื่องบินไทยในอดีตมากขึ้น และกลับมาย้อนดูในเรื่องที่ยังสงสัยและค้างคาใจ จึงพอจะเข้าใจแล้วว่าเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นการเขียนขึ้นมาในเชิงชาตินิยม อีกทั้งยังไม่ให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน เพราะในความเป็นจริงแล้วในวันที่ 28 ก.ค.2498 ที่หมู่บินนี้เดินทางมาถึงประเทศไทยนั้น มีภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่คือ ในหน้าที่ 12 (ของหนังสือที่อ้างถึง) นั้นมีภาพที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ ทอ.ไทย ทั้ง 3 ท่าน (ที่บินนำ บ. มา) ยืนบนแท่นรับความเคารพจากผู้ที่เข้าร่วมในพิธีต้อนรับ แต่ในภาพนี้ยังมีท่านที่ 4 อีกท่านหนึ่งซึ่งยืนร่วมอยู่บนแท่นรับความเคารพด้วย ซึ่งเมื่อดูให้ดีแล้วน่าจะเป็นนายทหารระดับสูงของ ทอ.สหรัฐฯ ในชุดบิน (พับแขน) ที่น่าจะมียศไม่ต่ำกว่านาวาอากาศเอกรวมอยู่ด้วย และยังมีอีกภาพในหน้าเดียวกันที่เป็นการถ่ายภาพหมู่ร่วมกันทั้งนักบินของไทยและสหรัฐฯ ซึ่งในภาพนั้นจะมีนักบินของ ทอ.สหรัฐฯ ที่แต่งกายด้วยชุดบินอีกไม่น้อยกว่า 8 คนอยู่ในภาพด้วย (น่าจะเป็น 9 คน) ทำให้ผมเชื่อว่าในความเป็นจริงแล้ว การบินมาประเทศไทยของ T-33 นั้น ต้องเป็นการบินร่วมกันมากับนักบินของทอ.สหรัฐฯ อย่างแน่นอน เพราะ T-33 นั้นเป็น บ.ฝึก 2 ที่นั่งที่สามารถทำการบินได้ทั้งจากที่นั่งหน้าและที่นั่งหลัง แต่ว่าในการบินเดินทางนั้นจะต้องมีการแวะพักและเติมเชื้อเพลิงตามจุดที่กำหนด ซึ่งในช่วงที่ออกจากฐานทัพอากาศโยโกต้า ในประเทศญี่ปุ่นและต้องบินอยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น ผมเชื่อว่านักบินสหรัฐฯ น่าจะต้องเป็นผู้ทำการบินจากในตำแหน่งที่นั่งหน้า ส่วนขาสุดท้ายที่ขึ้นจากไซ่ง่อนมาถึงดอนเมืองซึ่งเป็นการบินเหนือพื้นดินและมีระยะทางไม่ไกลมากนั้น จึงอาจสลับตำแหน่งให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ ทอ.ไทย ทั้ง 3 ท่าน มาเป็นผู้ทำการบินจากในตำแหน่งที่นั่งหน้าดังที่เห็นจากในภาพอื่นๆ ที่ถ่ายจากเหตุการณ์ในวันนั้นเช่นกัน และเชื่อว่านักบินที่จัดให้มาบินกับเครื่องที่มีนายทหารผู้ใหญ่ของ ทอ.ไทย บินมานั้น เค้าคงน่าที่จะต้องจัดนักบินที่มีประสบการณ์และมีชั่วโมงบินสูงๆ ระดับครูการบินด้วยเพื่อความปลอดภัย ยกตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ หน่อยก็อย่างตอนเราที่รับ เอฟ-16 สิครับหรือถ้าให้ใกล้ขึ้นมาอีกหน่อยก็ตอนที่เรารับ บ.กริเพน เมื่อต้นปีนี้ ซึ่งหลักการในการบินนำส่งนั้นก็จะคล้ายๆ กัน ถึงแม้ว่าการได้มาของ บ.นั้นจะต่างกัน (ได้รับแบบให้เปล่ากับแบบที่ต้องซื้อเอง) และจริงๆ ในวันนั้นอาจเป็นการมาถึงประเทศไทยของ T-33 ที่ไม่ใช่มีเพียงแค่ 3 เครื่องที่มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ ทอ.ไทย ทั้ง 3 ท่านร่วมทำการบินมาตามที่มีการบันทึกไว้เท่านั้น แต่ยังน่าจะรวมถึงอีก 3 เครื่องที่ทำการบินโดยนักบินทอ.สหรัฐฯ ทั้งหมดด้วยก็เป็นได้ (มีโอกาสเป็นไปได้เพราะจากในภาพที่กล่างข้างต้น ถ้ามีนักบินสหรัฐฯ 9 คนกับของไทยอีก 3 คน ก็จะรวมกันเป็น 12 คน ซึ่งเท่ากับที่นั่งของ T-33 ทั้ง 6 เครื่องพอดี) เพราะสหรัฐฯ นั้นได้มอบ T-33 ในชุดแรกนี้จำนวนรวม 6 เครื่อง ซึ่งในอีก 6 วันต่อมาคือ วันที่ 3 ส.ค.2498 ก็ได้มีพิธีรับมอบ บ.T-33 ทั้ง 6 เครื่อง (รวมทั้ง บ. RT-33 อีก 3 เครื่อง) อย่างเป็นทางการ โดยมีเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนของทางฝ่ายสหรัฐฯ ในการส่งมอบ และมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นตัวแทนรับมอบของฝ่ายไทย และจากวันนั้นหน้าประวัติศาสตร์แห่งการก้าวเข้าสู่ยุคเครื่องบินไอพ่น (Jet Age) ก็ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ T-33 ทั้ง 6 เครื่องได้ถูกกำหนดชื่อใน ทอ. ให้เป็น “ เครื่องบินฝึกแบบที่ 11 ” หรือ “ บ.ฝ.11 ” และถูกบรรจุเข้าประจำการในฝูงบินที่ 10 กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง โดยมี น.ต.บัญชา สุขานุศาสน์ ทำหน้าที่ผู้บังคับฝูงบิน ในช่วงแรกนั้น บ.ฝ.11 ได้ถูกใช้ในภารกิจการฝึกเปลี่ยนแบบมาสู่ บ.ไอพ่น (Jet Transition) สำหรับนักบินของฝูง.10 ที่ถูกคัดเลือกมาเพื่อที่จะให้ทำหน้าที่เป็นครูการบินต่อไป โดยมีครูการบิน T-33 จาก ทอ.สหรัฐฯ เป็นผู้ทำการฝึกให้ ซึ่งภายหลังเมื่อฝูง.10 นั้นได้มีครูการบิน บ.ฝ.11 ที่เป็นนักบินไทยแล้ว ครูการบินชาวสหรัฐฯ ก็ได้ถูกส่งกลับไปและในฝูงก็จะเหลือแต่นักบินสหรัฐฯ ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของฝูงบินอยู่เท่านั้น และในปี 2499 จึงได้เริ่มทำการฝึกให้กับนักบินไทยทั้งสัญญาบัตรและประทวนที่ได้รับการคัดเลือกไว้เพื่อเตรียมที่จะให้ไปทำการบินกับเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดไอพ่นแบบแรกของ ทอ.ไทย ที่กำลังจะได้รับมอบจากสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2499 ซึ่งก็คือ F-84G Thunderjet นั่นเอง และนักบินเหล่านี้เองก็ล้วนต่างเป็นนักบินแบร์แคทที่มีฝีมือบินและประสบการณ์รวมถึงมีชั่วโมงบินสูงๆ ทั้งสิ้น เมื่อได้รับการคัดเลือกให้มาฝึกบินเปลี่ยบแบบ ( Transition) กับ T-33 ก็สามารถเรียนรู้และทำการปล่อยเดี่ยวจนมีความพร้อมรบได้ตามระยะเวลาที่กำหนด (นอกจากนี้ฝูง.10 ยังมีภารกิจในการลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศด้วย บ.ตฝ.11 หรือ RT-33A อีกด้วย ซึ่งเรื่องของ บ.ตฝ.11 นั้น จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป) ต่อมาในปี 2502 นักบินที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาทำการฝึกเปลี่ยนแบบด้วย บ.ฝ.11 ที่ฝูง.10 จึงได้มีนักบินชั้นสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาจาก รร.นายเรืออากาศ ( ตั้งแต่ รุ่น 1) ซึ่งไม่ได้เคยทำการบินกับแบร์แคทมาก่อนได้เข้ามาทำการฝึกบินด้วย และจากข้อมูลในช่วงเดือน ธ.ค.2501 พบว่าในฝูง.10 นั้นจะมีนักบินจำนวนเพียง 7 คนเท่านั้น (เป็นนักบินที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นครูการบิน บ.ฝ.11 และบินลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศด้วย บ.ตฝ.11) บ.ฝ.11 ถือว่าเป็น บ.ฝึกไอพ่นขั้นสูงที่มีสมรรถนะดี สำหรับใช้ทำการฝึกให้กับนักบินที่จะต้องไปทำการบินกับ บ.ขับไล่ไอพ่นต่อไป ตัว บ.นั้นถูกออกแบบมาอย่างดีและมีความก้าวหน้ามากสำหรับในยุคนั้น นักบินสามารถที่จะบังคับได้ง่ายและสามารถทำการบินได้ดีในทุกท่ารวมทั้งการบินผาดแผลงด้วย มีความปลอดภัยและมีความเชื่อถือ (Reliability) ได้สูง ซึ่งอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ทอ.ไทย หลายๆ ท่านที่ได้เคยทำการบินกับ บ.ฝ.11 มาก่อนนั้น ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงในด้านที่ดีโดยเฉพาะที่ว่า ถ้าผ่านการบินกับ T-33 ได้ในระดับที่ดีแล้ว ก็สามารถที่จะไปบินกับ บ.ไอพ่นที่มีสมรรถนะสูงแบบใดๆ ก็ได้ ในปี 2503 ฝูง.10 ได้ส่ง บ.ฝ.11 เข้าทำการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศเป็นครั้งแรก ซึ่งประเภทที่เข้าทำการแข่งนั้น จะเป็นการการยิงปืนมุมลาด (L.A.S. : Low Angle Strafe) เพียงประเภทเดียวเท่านั้น เพราะ บ.ฝ.11 สามารถที่จะติดตั้งปืนกลอากาศขนาด .50 นิ้ว แบบ M-3 ไว้ภายในส่วนหัวจำนวน 2 กระบอก สำหรับนักบินของฝูง.10 ที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนั้นมี น.ต.ทวนทอง ยอดอาวุธ เป็นหัวหน้าทีม (แต่ครั้งที่สร้างชื่อให้กับ บ.ฝ.11 มากที่สุดก็น่าจะเป็นการเข้าร่วมการแข่งขันในปี 2510 ที่ฝูง.11(หรือฝูง.10 เดิม) สามารถคว้ารางวัลคะแนนรวมประเภทการยิงปืนมาครองได้สำเร็จ โดยสามารถทำคะแนนรวมได้เหนือกว่า บ.ข.18 (F-5A) จากฝูง.13 , บ.ข.17 (F-86F) จากฝูง.43 และ บ.ฝ.13 (T-28D) จากฝูง.20 , 21 , 22 และ 23 ซึ่งนักบินในทีมนี้ประกอบไปด้วย ร.อ.กันต์ พิมานทิพย์ (หัวหน้าทีม) , ร.อ.สามารถ โสดสถิตย์ , ร.อ.เริงชัย สนิทพันธ์ และ ร.ท. ม.จ.ภูริพันธ์ ยุคล) ฝูง.10 ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ฝูง.11 ในปี 2505 ทั้งนี้เพื่อให้ชื่อสอดคล้องกันกับอีก 2 ฝูงของกองบินน้อยที่ 1 คือ ฝูง.12 และ 13 และมีการใช้นามเรียกขาน (Callsign) ของฝูง.11 ว่า “ Checker ” ซึ่งก็มีความหมายถึงการเป็นผู้ตรวจสอบนั่นเอง โดยมีการพ่นสัญลักษณ์ตารางหมากรุกสีเหลืองสลับดำติดไว้บนแพนหางดิ่งของ บ. อีกด้วย และในปีนี้ สหรัฐฯ ก็ได้มอบ T-33 เพิ่มเติมให้กับ ทอ.ไทย อีก 7 เครื่อง และต่อมาในปี 2510 ก็ได้มอบเพิ่มเติมมาให้อีก 2 เครื่อง แต่ว่าทั้ง 2 เครื่องนี้ (กับอีก 1 เครื่องจาก ฝูง.11) ได้ถูกส่งไปบรรจุในฝูงฝึกขั้นปลาย รร.การบิน (โคราช) เพื่อใช้ทำการฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยมภายหลังจากการฝึกบินด้วย บ.ฝ. 12 (T-37) เพื่อให้พร้อมในการบินเปลี่ยนแบบก่อนจะไปบินกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงแบบ F-5 และยังเพื่อให้มีความชำนาญในการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (Instrument) มากขึ้นอีกด้วย ( บ.ฝ.11 ได้ถูกแบ่งจาก ฝูง.11 เพื่อนำมาใช้ฝึกศิษย์การบินมัธยมในฝูงฝึกขั้นปลาย รร.การบิน ในระหว่างปี 2510 - 2516 แต่ว่าก็มีจำนวนเพียง 3 - 4 เครื่องเท่านั้น และหลังจากปี 2516 แล้ว ก็ไม่มีการนำ บ.ฝ.11 มาใช้เพื่อฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยม ในฝูงฝึกขั้นปลาย ของ รร.การบิน อีกเลย) นอกจากนี้ในปี 2512 และ 2513 สหรัฐฯ ก็ได้มอบ T-33 ให้กับ ทอ.ไทย อีกจำนวน 5 และ 7 เครื่องตามลำดับ โดยบรรจุ บ. ทั้งหมดนี้ใน ฝูง.11 ซึ่งในช่วงปี 2515 ได้มี บ.ฝ.11 บางเครื่องได้ถูกกำหนดให้เป็น บ.จฝ.11 (เครื่องบินโจมตีฝึกแบบที่ 11) ด้วย แต่ภายหลังนั้นก็ได้ถูกยกเลิกไป ในเดือน ต.ค.2520 ได้มีการปรับโครงสร้าง ทอ. ครั้งใหญ่ มีผลทำให้เกิดหน่วยงานใหม่ขึ้นและบางหน่วยงานเดิมบางหน่วยต้องยุบเลิกไป อาทิเช่น กองบินยุทธการ (บย.) และ กองบิน 3 (บน.3 นครราชสีมา) และยังมีการยกฐานะฐานบินชายแดนบางแห่งให้ตั้งเป็นกองบินเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งทำให้ต้องมีการกำหนดชื่อฝูงบินใน ทอ. ใหม่ทั้งหมดและในส่วนของ ฝูง.11 นั้นก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อให้เป็น ฝูง.101 และสำหรับกองบิน 1 ดอนเมือง นั้น ทอ. ได้กำหนดไว้ว่าจะให้ย้ายไปใช้พื้นที่ของสนามบินโคราชแทนเพื่อความเหมาะสม เนื่องจากสนามบินดอนเมืองในขณะนั้นเป็นสนามบินพาณิชย์ระหว่างประเทศเพียงสนามบินเดียวของไทย จึงทำให้มีการจราจรทางอากาศที่คับคั่ง และต้องมีการขยายสนามบินดอนเมืองเพื่อรองรับสายการบินต่างชาติที่มีเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ และยังมีเหตุผลในด้านความปลอดภัยในการฝึกบินทางทหารอีกด้วย ฝูง.101 ได้ย้ายเข้าที่ตั้งโคราช ในปี 2522 (ก่อนหน้านั้น ฝูง.103 หรือในชื่อเดิมคือ ฝูง.13 ได้ย้ายไปเข้าที่ตั้งโคราช ไปตั้งแต่ช่วงปี 2520 แล้ว) และในเดือน ธ.ค. 2524 กองทัพอากาศ ได้มอบหมายให้ ฝูง.101 เป็นผู้ถวายการฝึกบินหลักสูตรนักบินพร้อมรบขั้นพื้นฐาน (ไอพ่น) แบบ บ.ฝ.11 แด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2525 โดยทรงมีชั่วโมงบินกับ บ.ฝ.11 ทั้งสิ้น 71 ชั่วโมง 20 นาที ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/01/2012 19:56:59
ความคิดเห็นที่ 72
ในปลายปี 2525 และต้นปี 2526 ทอ.ได้จัดซื้อ T-33 ซึ่งเคยใช้งานอยู่ในกองทัพอากาศฝรั่งเศส จำนวน 12 เครื่อง (ทยอยส่งมอบเป็น 3 ชุดๆละ 4 เครื่อง) เพื่อมาทดแทน บ.ที่ชำรุดและสูญเสียจากการฝึกบินและได้จำหน่ายจากประจำการไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ในปี 2528 ได้มีการพิจารณาปรับวางกำลังทางอากาศในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อให้เหมาะสมกับยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศและการคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเล (ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการดำเนินการยกฐานะฝูงบินอิสระปฏิบัติราชการสนาม 716 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้เป็นกองบินในอัตราปกติคือ กองบิน 56 โดยกองบิน 56 นั้นมีอัตราฝูงบินในความรับผิดชอบจำนวน 1 ฝูงบินคือ ฝูงบิน 561 แต่ว่าในช่วงแรกนั้นยังไม่มีการบรรจุอากาศยานในฝูงบินนี้) โดยให้ย้าย บ.ฝ.11 จำนวน 14 เครื่องและ บ.ตฝ.11 จำนวน 3 เครื่องจาก ฝูง. 101 ไปบรรจุใน ฝูง.561 ในเดือน มิ.ย.2528 โดยมีภารกิจหลักในการฝึกนักบินขับไล่พร้อมรบและการลาดตระเวนทางอากาศ ต่อมาในปี 2531 ก็ได้มีการจัดซื้อ T-33 มาเพิ่มเติมเป็นชุดสุดท้ายอีกจำนวน 7 เครื่อง โดย บ.เหล่านี้เป็น บ.เก่าที่เคยใช้งานอยู่ใน ทอ.สหรัฐฯ มาก่อน ภายหลังจากใช้งานใน ทอ.ไทย มาหลายปี บ.ฝ.11 และ บ.ตฝ.11 ก็ประสบปัญหาด้านโครงสร้างของ บ. ที่มีความทรุดโทรมขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาด้านการซ่อมบำรุงตามมาและยังรวมถึงปัญหาในการขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่อีกด้วย จึงส่งผลให้ความปลอดภัยด้านการบินลดลงอย่างมาก โดยในช่วงหลังๆ ก็มักมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงได้เริ่มมีแนวคิดที่จะปลดประจำการทั้ง บ.ฝ.11 และ บ.ตฝ.11 ทั้งหมดของ ฝูง.561 ซึ่งในช่วงปี 2536 นั้น ทอ.ไทย ก็ได้จัดซื้อ บ. L-39 หรือ บ.ขฝ.1 จำนวน 36 เครื่องจากสาธารณรัฐเชค มาใช้ในภารกิจการฝึกนักบินขับไล่/โจมตีขั้นต้นและในขณะนั้นยังมีแผนจะนำไปบรรจุประจำการใน ฝูง.561 ทดแทน บ.ฝ.11 อีกด้วย (แต่ภายหลังก็ยกเลิกไป) ต่อมาจึงได้มีคำสั่งให้ปลดประจำการ บ.ทั้ง 2 แบบนี้ ในวันที่ 30 ก.ย.2538 และเป็นอันสิ้นสุดการปฏิบัติภารกิจมาอย่างยาวนานถึง 40 ปีใน ทอ.ไทย ของ บ. ที่บรรดาทหารอากาศเรียกชื่อมันอย่างคุ้นเคยว่า “ ที-เบิร์ด ” นับแต่นั้นมา และในตอนท้ายนี้ต้องขอแก้ไขความผิดพลาดในเรื่อง “ THUNDERJET STORY ” ที่ลงในฉบับที่ 225 เดือน มิ.ย.2554 ในหน้าที่ 50 ซึ่งมีข้อความดังนี้ “ และหลังจากจากนั้นในปลายเดือน พ.ย.2498 นักบินของ ทอ.สหรัฐฯ ก็ได้นำหมู่บิน บ.ขับไล่ทิ้งระเบิดแบบ F-84G Thunderjet ชุดแรกจำนวน 4 เครื่อง (ในจำนวน 6 เครื่องแรก) มาลงจอดที่กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง ” ซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องจะต้องเป็น “ พ.ย.2499 ” ครับ ดังนั้นจึงต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ .................................................................. เอกสารอ้างอิง : 3347 รำลึก , โรงพิมพ์ข่าวทหารอากาศ ดอนเมือง กรุงเทพฯ , พ.ศ.2539 ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/01/2012 20:05:24
ความคิดเห็นที่ 73
ฝากถึงคุณอา อสิ อยากให้ลงประวัติเอฟ 5 เอ/บี/ซี และอาร์เอฟ 5 เอ ด้วยครับ
โดยคุณ mana2007
![]() ความคิดเห็นที่ 74
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 228 กย2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/03/2012 06:47:16
ความคิดเห็นที่ 75
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 228 กย2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/03/2012 06:49:50
ความคิดเห็นที่ 76
PANTHER STORY by FS.1 ASI S. นอกจากการมอบ บ. T-33 ชุดแรกจำนวน 6 เครื่องแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สหรัฐฯ ก็ยังได้มอบ บ.ลาดตระเวนไอพ่นแบบ RT-33A ให้อีกจำนวน 3 เครื่องด้วย โดยนักบินของ ทอ.สหรัฐฯ เป็นผู้ทำการบินนำ บ.ทั้ง 3 เครื่องจากประเทศญี่ปุ่นมามอบให้ที่สนามบินดอนเมือง ภายหลังจากการมาถึงของ T-33 ชุดแรกได้เพียงไม่กี่วัน ซึ่งพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการก็ได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 3 ส.ค.2498 พร้อมๆ กับ บ.ฝ.11 ด้วย RT-33A นั้นได้ถูกกำหนดชื่อใน ทอ. ให้เป็น “ เครื่องบินตรวจการณ์ฝึกแบบที่ 11 ” หรือ “ บ.ตฝ.11 ” และถูกบรรจุเข้าประจำการในฝูงบินที่ 10 กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง ร่วมกับ บ.ฝ.11 (สำหรับในเรื่องของหมายเลขต่างๆ ทั้งหมดของ บ.ตฝ.11 นั้น จะแสดงอยู่ในตารางตอนท้ายเรื่องนี้) แต่ภารกิจหลักของมันนั้นต่างกับ บ.ฝ.11 หรือ T-33 ซึ่งมีภารกิจหลัก(ในขณะนั้น)คือ การฝึกบินเปลี่ยนแบบสู่ บ.ไอพ่นสำหรับนักบินขับไล่ที่เคยทำการบินกับ บ.ขับไล่ใบพัดอย่าง บ.ข.15 (Bearcat) และจะต้องไปทำการบินกับ บ.ขับไล่ไอพ่นในอนาคต แต่สำหรับ บ.ตฝ.11 หรือ RT-33A นั้นมันได้ถูกดัดแปลงมาจาก T-33 เพื่อมาใช้เฉพาะในภารกิจการบินลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศเท่านั้น ซึ่งถือเป็นภารกิจในด้านการรวบรวมข่าวกรองทางทหาร และเนื่องจากมันถูกออกแบบให้ทำการบินด้วยนักบินเพียงคนเดียว (โดยในตำแหน่งที่เคยเป็นที่นั่งหลังนั้นใน T-33 นั้น ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นที่ตั้งถังเชื้อเพลิงสำรองจึงทำให้มันมีรัศมีทำการเพิ่มขึ้นมากกว่า T-33 ถึง 20% และยังเป็นที่ติดตั้งเครื่องบันทึกเสียง เพื่อช่วยให้นักบินไม่ต้องมาคอยจดบันทึกรายละเอียดหรือสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นขณะทำการบินอยู่เหนือเป้าหมาย) ดังนั้นผู้ที่จะทำการบินกับมันจึงต้องเป็นนักบิน บ.ฝ.11 ที่มีประสบการณ์และมีชั่วโมงบินสูงพอสมควร และจากการที่มันเป็น บ.ลาดตระเวนไอพ่น มันจึงไม่ได้รับการติดตั้งอาวุธอื่นใด แต่มันจะได้รับการติดตั้งกล้องถ่ายภาพทางอากาศไว้ภายในส่วนหัวสำหรับการถ่ายภาพใน 2 รูปแบบคือ การถ่ายภาพทางดิ่งและการถ่ายภาพทางเฉียง สำหรับในการถ่ายภาพทางดิ่งนั้นมีตำแหน่งติดตั้งกล้องถ่ายภาพทางดิ่งได้จำนวน 3 ตำแหน่ง ส่วนการถ่ายภาพทางเฉียงนั้นจะติดตั้งในตำแหน่งเฉียงด้านขวา , เฉียงด้านซ้าย และเฉียงด้านหน้า อย่างละ 1 ตำแหน่ง ซึ่งรวมแล้วก็จะมีตำแหน่งติดตั้งกล้องทั้งหมดรวม 6 ตำแหน่ง แต่ว่าในการติดตั้งนั้นไม่สามารถจะติดตั้งได้พร้อมกันหมดทั้ง 6 ตำแหน่ง เนื่องจากกล้องถ่ายภาพทางอากาศแต่ละตัวนั้นมีขนาดใหญ่และพื้นที่ภายในหัวของ บ.ตฝ.11 นั้นมีจำกัด ทำให้ต้องเลือกใช้กล้องให้เหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับมอบ แต่ก็สามารถจะติดตั้งพร้อมกันได้สูงสุดพร้อมกันจำนวน 4 กล้อง โดยเลือกได้ว่าจะเป็นการติดตั้งในรูปแบบดิ่ง , เฉียง หรือผสมผสานกันทั้งดิ่งและเฉียง (แต่ตามปกติแล้วก็จะไม่ติดเกิน 3 กล้อง) โดยกล้องที่ใช้ติดตั้งจะเป็นกล้องถ่ายภาพทางอากาศแบบ K-17 , K-22 , K-38 และ KA-1 ซึ่งกล้องทั้งหมดนี้จะใช้ฟิล์มขาว-ดำ ที่มีขนาดความกว้างและความยาวคือ 9 นิ้ว x 250 ฟุต แต่ว่าเมื่อถ่ายออกมาแล้วขนาดของภาพในแต่ละเฟรมจะต่างกันตามคุณลักษณะของกล้องคือ มีทั้งขนาด 9 นิ้ว x 9 นิ้ว และ 9 นิ้ว x 18 นิ้ว ซึ่งฟิล์มจะถูกบรรจุอยู่ในหีบบรรจุฟิล์ม (Magazine) โดยก่อนขึ้นบินเจ้าหน้าที่ก็จะนำหีบบรรจุฟิล์มนี้ไปติดตั้งกับตัวกล้องและจะไปถอดออกมาภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการบิน เพื่อนำฟิล์มที่ถ่ายมานี้ไปดำเนินการผลิตเป็นภาพถ่ายต่อไป การบินลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศถือว่าเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงพอสมควร เนื่องจากในบางครั้งจะต้องบินเข้าไปถ่ายภาพในเขตแดนของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในพื้นที่นั้นอาจมีการวางกำลังของอาวุธต่อต้านอากาศยานหรือบางครั้งอาจมีอากาศยานของฝ่ายตรงข้ามขึ้นทำการสกัดกั้น ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนเส้นทางการบินและการวางแผนในการถ่ายภาพไว้ล่วงหน้าอย่างรัดกุม โดยที่จะต้องให้ภารกิจสำเร็จได้ภายในครั้งเดียว เพราะการบินเข้าไปถ่ายซ้ำในพื้นที่เดิมจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวนักบินมากขึ้น ซึ่งตัวนักบินนั้นจะต้องบังคับเครื่องให้บินไปในพื้นที่เป้าหมายตามแนวบินถ่ายภาพที่วางแผนไว้ ซึ่งจะต้องมีการคำนวณทั้งความเร็ว ระยะสูงบิน ขนาดความยาวของเลนส์กล้องถ่ายภาพ และจังหวะลั่นไกถ่ายภาพไว้ตั้งแต่ก่อนขึ้นทำภารกิจ และในปี 2503 ทอ.ไทย ก็ยังได้รับมอบ บ.RT-33A จากสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 1 เครื่อง ทำให้ในขณะนั้นฝูง.10 มี บ.ตฝ.11 รวมจำนวน 4 เครื่อง และต่อมาในปี 2505 ฝูง.10 นั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฝูง.11 จึงมีการเปลี่ยนหมายเลขประจำฝูงที่พ่นไว้ที่ข้างลำตัวของ บ.ตามไปด้วย ซึ่งในส่วนเรื่องของสีและสัญลักษณ์ของ บ.ตฝ.11 ตั้งแต่ตอนที่ได้รับ บ.ชุดแรกมาในปี 2498 กับอีก 1 เครื่องที่ได้รับเพิ่มเติมในปี 2503 นั้น บ.ทั้ง 4 เครื่องก็ยังคงใช้สีโลหะตามเดิมมาตลอด แต่ก็ได้มีการพ่นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้ที่ตัวเครื่องเพื่อความสวยงามและความน่าเกรงขามอีกด้วย อย่างเช่นที่ส่วนหัวของ บ.ก็ได้พ่นรูปหัวเสือสีแดง ที่เป็นสัญลักษณ์ของ กองบินน้อยที่ 1 ไว้ตั้งแต่ปี 2499 จนต่อมาในปี 2503 ก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปเสือกระโจนแทน ส่วนที่แพนหางดิ่งในช่วงแรกๆ ราวปี 2501 นั้น ก็ได้มีการพ่นรูปมือถือคบเพลิงไว้ แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาไม่นานนัก ต่อมาช่วงหนึ่งก็ได้เปลี่ยนมาเป็นรูปอาร์มของ ฝูง.10 (หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็น ฝูง.11 ในปี 2505) และภายหลังก็ได้เปลี่ยนมาเป็นแถบตารางหมากรุกสีเหลืองสลับดำจำนวน 4 แถว (แนวนอน) ในปี 2505 แต่ต่อมาภายหลังจากนั้นไม่นาน บ.ตฝ.11 ทุกลำก็จะไม่มีการพ่นรูปสัญลักษณ์อะไรติดไว้เลยนอกจากหมายเลขประจำฝูงเท่านั้น หลังจากผ่านการใช้งานมาได้หลายปีจนเมื่อถึงปี 2510 ปรากฏว่า ทอ.ไทย เหลือ บ.ตฝ.11 อยู่เพียง 1 เครื่องเท่านั้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นในปี 2505 และ 2509 บ.ที่ได้รับในชุดแรกทั้ง 3 เครื่องเกิดประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหายถึงขั้นจำหน่ายไปทั้งหมด และในปี 2510 บ.ตฝ.11 ที่เหลือเครื่องสุดท้ายคือ หมายเลข 1124 (บ.ตฝ.11- 4/03) ก็ยังมาประสบอุบัติเหตุตกที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2510 อีกด้วย ทำให้ในขณะนั้นทอ.ไทย ไม่มี บ.ตฝ.11 เหลืออยู่เลย แต่เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจทางยุทธการต่อไปได้ ทอ.ไทย จึงได้ร้องขอรับการสนับสนุน RT-33A จากสหรัฐฯ และก็ได้รับการตอบสนองด้วยการมอบ RT-33A มาให้ในปลายปี 2510 จำนวน 3 เครื่อง และต่อมาในปี 2513 ก็ยังได้มอบเพิ่มเติมให้อีก 1 เครื่อง ซึ่งในช่วงนี้ก็ได้มีการเปลี่ยนสีให้กับ บ.ตฝ.11 โดยจากเดิมที่เคยเป็นสีโลหะก็ได้เปลี่ยนมาใช้เป็นรูปแบบลายพรางเป็นครั้งแรก เพื่อให้มีความเหมาะสมกับภารกิจการบินลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศที่จะต้องปฏิบัติการอยู่เหนือภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา โดยเป็นลายพรางแบบ SEA (Southeast Asia Standard Camouflage) ที่มีสีเขียว เขียวเข้ม น้ำตาล และใต้ท้องเป็นสีขาว ซึ่งสหรัฐฯ ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับอากาศยานของตนที่ส่งเข้าร่วมการทำสงครามในเวียดนาม ซึ่งเราจะเรียกลายพรางแบบนี้อย่างคุ้นเคยว่าเป็นลายพรางแบบเวียดนามนั่นเอง และในปี 2515 ทอ.ไทย ก็ได้สูญเสีย บ.ตฝ.11 ไปอีก 1 เครื่อง (หมายเลขประจำฝูงคือ 1142 และมีหมายเลข ทอ. คือ บ.ตฝ.11 - 6/10) ภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุตกที่ อ.อ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2515 ทำให้เหลือ บ.อยู่เพียง 3 เครื่องเท่านั้น ในช่วงที่ไทยต้องทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเริ่มจากในปี 2508 เป็นต้นมานั้น บ.ตฝ.11 ก็ได้ถือเป็นอากาศยานที่เป็นกำลังหลักของ ทอ.ไทย แบบหนึ่งในด้านการรวบรวมข่าวสาร ข่าวกรองในพื้นที่ปฏิบัติการของ ผกค. ภายในประเทศตลอดจนถึงที่ตั้งกองกำลัง ผกค. ต่างชาติที่ปฏิบัติการอยู่ตามแนวชายแดนหรือลึกเข้าไปในเขตแดนของฝ่ายตรงข้าม เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการดำเนินกลยุทธ์ในการปราบปราม ผกค. ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจที่ทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี จนถึงในช่วงปี 2526 กองกำลัง ผกค. ในประเทศจึงได้สลายตัวไปในที่สุด แต่ว่าภัยคุกคามจากภายนอกนั้นยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศทางด้านตะวันออกที่คอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดครองอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ในช่วงตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา ไทยต้องเผชิญกับการคุกคามของชาติคอมมิวนิสต์อย่างเช่น เวียดนาม ที่ส่งกำลังเข้ามาในประเทศกัมพูชาเพื่อทำการสู้รบกับกองกำลังเขมรสามฝ่าย ซึ่งบางครั้งก็ยังได้จงใจทำการรุกข้ามเข้ามาในเขตแดนไทยด้วย บ.ตฝ.11 จึงถูกใช้ในการลาดตระเวนถ่ายภาพทางยุทธวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเป้าหมายที่ลึกเข้าไปในเขตแดนของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในช่วงเวลานั้น บ.ตฝ.11 ได้ย้ายจากดอนเมืองมาอยู่ที่โคราชแล้ว (ฝูง.101 บน.1 โคราช) ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/03/2012 06:52:39
ความคิดเห็นที่ 77
แต่ในปี 2528 ได้มีการพิจารณาปรับวางกำลังทางอากาศในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อให้เหมาะสมกับยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศและการคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเล จึงมีคำสั่งให้ย้าย บ. ทั้งหมดของ ฝูง.101 ไปบรรจุใน ฝูงบิน 561 กองบิน 56 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยทำการเคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้งสนามบินหาดใหญ่ในเดือน มิ.ย.2528 ต่อมาในปลายปี 2530 ต่อต้นปี 2531 เกิดการความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว ในกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า ทอ.ไทย ได้ใช้กำลังทางอากาศเข้าโจมตีที่มั่นของฝ่ายลาว เพื่อสนับสนุนกำลังภาคพื้นของกองทัพบกในบริเวณพื้นที่ขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงที่เกิดการสู้รบอยู่นั้น บ.ตฝ.11 ที่เคลื่อนย้ายมาวางกำลังที่ กองบิน 6 ดอนเมือง (ฝูง.605) ได้ขึ้นทำการบินถ่ายภาพเป้าหมายที่ตั้งทางทหารอยู่หลายเที่ยวบิน ซึ่งนับว่าภารกิจที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอาวุธต่อต้านอากาศยานนานาชนิดคอยคุ้มกันเป้าหมายอยู่ ภายหลังที่ความขัดแย้งสิ้นสุดลงจึงได้เคลื่อนย้าย บ.ตฝ.11 กลับที่ตั้งหาดใหญ่ แต่ในช่วงกลางปี 2532 ก็มีคำสั่งให้ย้าย บ.ตฝ.11 ทั้ง 3 เครื่อง มาวางกำลังไว้ที่ ฝูง.605 บน.6 อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้ยังได้ทำการเปลี่ยนสี บ.ทั้ง 3 เครื่อง จากลายพรางแบบเวียดนามมาเป็นลายพรางสีเทาสลับฟ้าทั้งลำอีกด้วย (แต่ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าสีของทั้ง 3 เครื่องนั้นได้รับการพ่นไว้อย่างแตกต่างกันจนเห็นได้ชัด) บ.ตฝ.11 ได้มาวางกำลังอยู่ที่ดอนเมือง อยู่เพียงประมาณ 6 เดือนเท่านั้น ในปลายปี 2532 จึงมีคำสั่งให้ย้ายกลับไปหาดใหญ่ตามเดิม ในช่วงหลังๆ ภารกิจการบินลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศที่เป็นงานด้านยุทธการและจะต้องใช้ บ.ตฝ.11 ทำภารกิจ ได้ลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งต่างจากในช่วงที่มีการสู้รบกับ ผกค. เป็นอย่างมาก แต่ก็จะมีภารกิจในการฝึกร่วมทางทหารระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพของมิตรประเทศเพิ่มเข้ามา ซึ่งที่ผ่านมานั้นก็จะจัด บ.ตฝ.11 เข้าร่วมทำการฝึกอยู่เสมอๆ แต่ภายหลังนั้นสภาพของ บ. เริ่มมีความทรุดโทรมมากขึ้น (ซึ่งก็รวมถึง บ.ฝ.11 ด้วย)ทำให้เกิดปัญหาด้านการซ่อมบำรุงและการขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ จึงได้มีแนวคิดที่จะปลดประจำการทั้ง บ.ตฝ.11 รวมทั้ง บ.ฝ.11 ทั้งหมดของ ฝูง.561 และต่อมาจึงได้มีคำสั่งให้ปลดประจำการ บ.ทั้ง 2 แบบนี้ ในวันที่ 30 ก.ย.2538 และเป็นอันสิ้นสุดการปฏิบัติภารกิจอย่างยาวนานถึง 40 ปี ของ บ.ตฝ.11 และสำหรับในชื่อเรื่องนี้ที่ได้ตั้งชื่อว่า “ PANTHER STORY ” นั้นบางท่านอาจสงสัยว่ามันมีที่มาอย่างไร แต่บางท่านอาจคิดว่าก็ไม่เห็นจะน่าสงสัยอะไร เพราะรู้อยู่แล้วว่า ฝูง.561 นั้น ได้ใช้นามเรียกขานว่า “ PANTHER ” อยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วชื่อ PANTHER นั้นเกิดขึ้นมานานมากแล้ว คือตั้งแต่สมัยที่บรรจุอยู่ใน ฝูง.11 และน่าจะใช้เป็นชื่อเรียกเฉพาะของ บ.ตฝ.11 ด้วย เพราะในส่วนของ ฝูง.11 (รวมทั้ง ฝูง.101ในเวลาต่อมา) จะใช้นามเรียกขานว่า “ CHECKER ” แต่จากการที่ได้เห็นภาพถ่ายของ บ.ตฝ.11 เครื่องหนึ่งที่ถ่ายในปี 2513 แสดงให้เห็นว่ามีการพ่นคำว่า “ PANTHER ” ไว้ที่ด้านข้างช่องรับอากาศ และช่วงแรกๆ ที่ย้ายมาอยู่ที่ ฝูง.561 แล้ว ผมก็ยังได้เห็นภาพ บ.ตฝ.11 หมายเลข 56143 นั้น พ่นคำว่า “ PANTHER ” ไว้ที่ด้านข้างช่องรับอากาศด้วยเช่นกัน ซึ่งในเวลานั้น กองบิน 56 ยังใช้รูปสัญลักษณ์ของกองบินเป็นรูปหนุมาน และมีสัญลักษณ์ของ ฝูง.561 เป็นรูปตรีเพชร (อาวุธของหนุมาน) อยู่เลย ซึ่งจำได้ว่าใช้อยู่หลายปีเหมือนกัน และต่อมาถึงได้เปลี่ยนมาเป็นรูปเสือดำ (PANTHER) ซึ่งปีที่เปลี่ยนมาเป็นรูปเสือดำ ถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะเป็นราวปี 2531 หรือ 2532 ประมาณนั้น และนี่จึงได้กลายเป็นที่มาของชื่อเรื่องนี้นั่นเอง สำหรับในส่วนท้ายก็จะเป็นตารางข้อมูลเกี่ยวกับการประจำการเช่น หมายเลขต่างๆ ที่ใช้กับ บ.ตฝ.11 ทั้ง 8 เครื่อง เอาไว้ให้ผู้สนใจในเรื่องเครื่องบินไทยในอดีตได้เก็บไว้เป็นข้อมูลครับ ............................................................... ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/03/2012 06:54:32
ความคิดเห็นที่ 78
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/03/2012 06:56:58
ความคิดเห็นที่ 79
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 146 พ.ย.2547 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
12/03/2012 07:22:57
ความคิดเห็นที่ 80
SPOOKY STORY by FS.1 ASI S. เนื่องจากการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับทางการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เกิดขึ้นในปี 2508 ทางฝ่ายรัฐบาลจึงได้สั่งการให้กองทัพใช้กำลังเข้าทำการปราบปรามโดยในส่วนของกองทัพอากาศ ได้มีการกำหนดแนวทางในการใช้กำลังทางอากาศในการสนับสนุนกำลังภาคพื้นในการปราบปราม ผกค.ขึ้นมา โดยในเวลานั้น บ.ที่ใช้ในการสนับสนุนการปราบปราม ผกค. ในภารกิจโจมตีและคุ้มกันให้กับกำลังภาคพื้นในพื้นที่การรบนั้นมี บ.ฝ.8 (AT/T-6) และ บ.ฝ.13 (T/AT-28D) เป็นหลัก ซึ่ง บ.ทั้ง 2 แบบนี้เป็น บ.ที่ดัดแปลงมาจาก บ.ฝึก ซึ่งสามารถทำการติดตั้งอาวุธประเภทปืน , จรวด และระเบิดได้จำนวนไม่มากนักในแต่ละภารกิจ ในการเข้าทำการใช้อาวุธนั้นจำเป็นต้องรู้พิกัดเป้าหมายค่อนข้างชัดเจนจึงจะทำให้การใช้อาวุธเป็นไปอย่างแม่นยำและสามารถทำความสูญเสียให้กับ ผกค.ได้ แต่ ผกค.นั้นมักจะใช้ยุทธวิธีการเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของกำลังภาคพื้นของฝ่ายเราในเวลากลางคืนหรือการใช้หน่วยจรยุทธ์ทำการซุ่มยิงยานพาหนะในพื้นที่ป่าเขาหรือการซุ่มยิง ฮ.ส่งกำลังบำรุงขณะบินขึ้นลง ทำให้การสนับสนุนของ บ.ทั้ง 2 แบบไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากมีอาวุธน้อยและมีเวลาอยู่ในพื้นที่การรบได้ไม่นานนักจึงทำให้เกิดความสูญเสียแก่กำลังภาคพื้นของฝ่ายเราเป็นจำนวนมากและเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ในเวลาเดียวกันนั้นที่เวียดนาม กองทัพอากาศสหรัฐฯได้ใช้ บ.ลำเลียงแบบ C-47 ที่ดัดแปลงให้สามารถติดตั้งปืนกลอากาศขนาด 7.62 มม. จำนวน 3 ชุด โดยยิงทางข้างลำตัวและเรียก บ.แบบนี้ว่า AC-47 SPOOKY เข้าทำการสนับสนุนกำลังภาคพื้นในพื้นที่การรบได้ผลเป็นอย่างดี ซึ่งในปี 2510 นั้น ทอ.สหรัฐฯมีสปุ๊กกี้ปฏิบัติงานในเวียดนามใต้อยู่ 2 ฝูงบิน โดย บ.ทั้งหมดได้ทำการดัดแปลงติดตั้งปืนที่ฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้นั่นเอง และ ทอ.สหรัฐฯก็ได้ให้การสนับสนุน ทอ.ไทย โดยรับทำการดัดแปลง บ.ล.2 (C-47) ของ ทอ.ไทย ที่ใช้ในภารกิจลำเลียงทางอากาศให้เป็น บ.โจมตีด้วย โดยให้ ทอ.ไทย ส่ง บ.ล.2 หรือที่เรียกกันว่า “ ดาโกต้า ” จำนวน 2 เครื่องคือ หมายเลข 9418 (ล.2 – 20/00) และหมายเลข 9919 (ล.2 – 25/01) ไปรับการดัดแปลงติดตั้งปืนกลอากาศที่ฐานทัพอากาศของสหรัฐฯในเวียดนามใต้ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2510 และได้ส่งกลับมาในเดือน พ.ย.2510 โดย ทอ.ไทย ได้กำหนดชื่อให้เป็น บ.จล.2 (เครื่องบินโจมตี-ลำเลียงแบบที่ 2) เข้าประจำการในฝูงบิน 62 กองบิน 6 ดอนเมือง ซึ่งเมื่อได้รับ บ.มาแล้ว ทอ.จึงได้ส่ง บ.หมายเลข 9418 ไปทดสอบการใช้งานในพื้นที่การรบ โดยให้ประจำอยู่ที่ฐานบินนครพนม ในเดือน ธ.ค.2510 ซึ่งขณะนั้นที่นั่นเป็นฐานบินของ บ.โจมตีและ บ.ปฏิบัติการพิเศษของ ทอ.สหรัฐฯ แต่ในวันที่ 13 ธ.ค.2510 บ.เครื่องนี้ได้ประสบอุบัติเหตุตกที่นครพนมนั่นเอง ส่วน บ.อีกเครื่องหนึ่งคือ หมายเลข 9919 ได้ส่งไปประจำอยู่ที่ฝูงบินผสมที่ 21 ฐานบินเชียงใหม่ ในช่วงเดือน ม.ค.2511 แต่ขณะนั้น ทอ.ไทย ยังมี บ.จล.2 อีกเครื่องหนึ่งคือ หมายเลข 48501(จล.2 -32/11) ซึ่งได้บรรจุเข้าประจำการใน ฝูง.62 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2511 แต่ก็ไม่มีหลักฐานอื่นใดว่า บ.เครื่องนี้ถูกส่งไปดัดแปลงติดตั้งปืนพร้อมกับ 2 เครื่องแรกหรือเปล่า หรือจะเป็น AC-47 มอบมาให้ทดแทนเครื่องที่เพิ่งตกไป (เนื่องจากในช่วงปี 2511 ทอ.สหรัฐฯ ได้ถอน บ.AC-47 ในเวียดนามใต้มาประจำอยู่ที่อุดรฯ เพราะ ทอ.สหรัฐฯได้นำ บ.โจมตีแบบใหม่คือ AC-130 SPECTRE เข้ามาใช้ในการปฏิบัติการทดแทนในเวียดนามและลาว โดยเฉพาะเส้นทางลำเลียงสายโฮจิมินห์) แต่ที่แน่ๆ บ.จล.2 หรือสปุ๊กกี้ 2 เครื่องแรกคือ หมายเลข 9919 และ 9418 (ที่ตกไป)นั้น ยังจะมีสีสันเหมือนกับดาโกต้าเครื่องอื่นๆ ใน ฝูง.62 คือ เป็นสีขาวกับสีเงินอยู่และ บ.ทั้ง 2 เครื่องก็ติดตั้งปืนกลอากาศขนาด 7.62 มม. เพียง 2 ชุดต่อเครื่องเท่านั้น ( * บ.หมายเลข 48501 นั้น เป็น บ.ที่ ทอ.สหรัฐฯ มอบมาให้เพื่อทดแทน บ.หมายเลข 9418 ที่ตกไปจริงๆ / ผู้เขียน) ดังนั้นตั้งแต่ปลายปี 2510 จนถึงปี 2515 ทอ.ไทย จึงมีสปุ๊กกี้ใช้งานอยู่ 2 เครื่องเท่านั้น (ใน 1 หน่วยบินจะมีสปุ๊กกี้ 1 เครื่อง) คือ หมายเลข 9919 และ 48501 โดยจัดหน่วยบิน 621 ปฏิบัติงานในเขตภาคเหนือตอนบนและมีฐานอยู่ที่ ฝูงบินผสมที่ 21 หรือ ฝูงบินที่ 221 ฐานบินเชียงใหม่ ส่วนอีกหน่วยบินหนึ่งคือ หน่วยบิน 622 ปฏิบัติงานในเขตภาคอิสาน โดยใช้ฐานบินนครพนมเป็นฐานปฏิบัติการ แต่สถานการณ์ในขณะนั้น ผกค.ได้ทำการขยายอิทธิพลและการปฏิบัติการทางทหารไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทำให้สปุ๊กกี้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ แม้ว่าในช่วงปี 2514 บ.จ.5 (OV-10C) จะเข้าประจำการแล้วก็ตาม แต่ยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติการรบ เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องทำการฝึกนักบินที่เพิ่งเปลี่ยนแบบมาทำการบินกับ บ.จ.5 ให้เป็นนักบินพร้อมรบเสียก่อน และเนื่องจาก สหรัฐฯเองก็ไม่ได้ให้สปุ๊กกี้มาเพิ่มเติมแก่ ทอ.ไทย อีก เพราะสถานการณ์ในเวียดนามและลาวขณะนั้นรุนแรงมาก ทอ.สหรัฐฯจึงได้มอบสปุ๊กกี้ที่ประจำอยู่ที่อุดรฯ ให้แก่ ทอ.เวียดนามใต้ และ ทอ.ลาว ไปใช้งาน ดังนั้น ทอ.ไทย จึงได้แก้ปัญหาการขาดแคลนสปุ๊กกี้ โดยให้กรมช่างอากาศและกรมสรรพาวุธทหารอากาศร่วมกันดัดแปลงดาโกต้าของ ฝูง.62 อีก 5 เครื่องให้เป็นสปุ๊กกี้เมื่อปลายปี 2515 ทำให้ ทอ.ไทย มีสปุ๊กกี้มากพอที่จะจัดตั้งเป็นหน่วยบินโจมตี-ลำเลียงเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายหน่วยบินคือ หน่วยบิน 620 ดอนเมือง , หน่วยบิน 623 ฐานบินน่าน และหน่วยบิน 624 ฐานบินพิษณุโลก (สำหรับ นบ. 624 นั้นต่อมาในปี 2516 ได้ย้ายลงใต้ไปประจำอยู่ที่ฐานบินสงขลา แต่ก็ยังมีสปุ๊กกี้ประจำอยู่ที่ฐานบินพิษณุโลก ในอัตราหน่วยบินเฉพาะกิจ 240 ซึ่งต่อมาในปี 2518 – 2519 ฉก.240 นี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น หน่วยบิน 6231) ซึ่ง ทอ.ไทย ได้เปลี่ยนสีสปุ๊กกี้ทั้งหมดให้เป็นลายพรางแบบเวียดนามตามสปุ๊กกี้หมายเลข 48501 คือ ด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม , สีเขียวและสีน้ำตาลอ่อน ส่วนใต้ท้องเป็นสีขาว ต่อมาในปี 2518 เมื่อ สหรัฐฯต้องถอนตัวออกจากเวียดนามใต้ ทอ.สหรัฐฯจึงได้มอบ AC-47D อีก 6 เครื่องให้กับ ทอ.ไทย นอกจากนี้ในต้นปี 2520 ทอ.ไทย ยังได้ดัดแปลงดาโกต้าให้เป็นสปุ๊กกี้อีก 1 เครื่อง ทำให้ยอดรวมของสปุ๊กกี้ของ ฝูง.62 มีถึง 14 เครื่อง นอกจากนี้ ฝูง.62 ยังมีดาโกต้าที่ใช้ในภารกิจบินรับ-ส่งเสด็จฯและบุคคลสำคัญ (VVIP / VIP) 3 เครื่องและในภารกิจลำเลียงทางอากาศอีก 10 กว่าเครื่อง และยังมีดาโกต้าที่ดัดแปลงเป็น บ.ตล.2 (RC-47) ในภารกิจถ่ายภาพทางอากาศอีก 4 เครื่อง ทำให้ ฝูง.62 นั้นมี บ.ครอบครองอยู่ถึง 30 กว่าเครื่อง จึงได้มีการพิจารณาโอนย้ายสปุ๊กกี้ทั้ง 14 เครื่องแยกไปตั้งเป็นฝูงบินใหม่คือฝูงบิน 42 กองบิน 4 ตาคลี โดยมีการทำพิธีส่งเครื่องจาก ฝูง.62 ในวันที่ 29 เม.ย.2520 (แต่ในเอกสารของกรมช่างอากาศจะระบุว่าโอนให้ ฝูง.42 ในวันที่ 25 พ.ค.2520) แม้ว่าในขณะนั้นสปุ๊กกี้ส่วนใหญ่ยังคงประจำอยู่ตามฐานบินในภูมิภาคต่างๆ เมื่อโอนมาอยู่ ฝูง.42 จึงได้มีการจัดอัตราหน่วยบิน บ.จล.2 หรือสปุ๊กกี้ใหม่ โดยจัดให้หน่วยบิน 421 ประจำอยู่ฐานบินวัฒนานคร จ.ปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือ จ.สระแก้ว) , หน่วยบิน 422 ประจำฐานบินนครพนม , หน่วยบิน 423 ประจำฐานบินน่าน และหน่วยบิน 424 ประจำอยู่ฐานบินหาดใหญ่ จนเมื่อเดือน ต.ค.2520 คำสั่งปรับโครงสร้างของ ทอ.ครั้งใหญ่ได้ประกาศใช้ มีผลให้หน่วยงานบางหน่วยต้องยุบตัวลงและมีหลายหน่วยงานใหม่เกิดขึ้นแทนที่ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสปุ๊กกี้คือ ฝูงบิน 42 ได้เปลี่ยนชื่อจากตัวเลข 2 หลักมาเป็นตัวเลข 3 หลักคือเป็น ฝูงบิน 402 และได้มีการปรับอัตราของหน่วยบินใน ฝูง.402 ใหม่อีกครั้ง โดยให้มีหน่วยบินโจมตี-ลำเลียง จำนวน 6 หน่วยบินคือ หน่วยบิน 4021 ฐานบินน่าน , หน่วยบิน 4022 ฐานบินนครพนม (ในปี 2522 ได้ย้ายหน่วยบินนี้ไปอยู่ที่กองบิน 23 อุดรฯ) , หน่วยบิน 4023 ฐานบินวัฒนานคร , หน่วยบิน 4024 ฐานบินหาดใหญ่ , หน่วยบิน 4025 กองบิน 21 อุบลฯ และหน่วยบินในที่ตั้งคือ หน่วยบิน 4026 ตาคลี ในระหว่างนี้ ฝูง.402 ได้มีการเปลี่ยนสีให้กับสปุ๊กกี้จากที่มีสีขาวใต้ท้องก็เปลี่ยนมาเป็นสีดำ เนื่องจากเป็นการพราง บ.ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นในยามที่ต้องปฏิบัติภารกิจในเวลากลางคืนและยังได้ออกแบบรูปงูจงอางพ่นติดไว้ที่แพนหางดิ่งด้วย ซึ่งในเรื่องของรูปงูจงอางของสปุ๊กกี้ ฝูง.402 นี้ ตอนที่ได้เคยเห็นภาพครั้งแรกก็ยังเข้าใจว่าเป็นรูปงูจงอางแบบเดียวกับที่พ่นติดไว้กับ บ.ข.18ข/ค (F-5E/F) เนื่องจากภาพที่เห็นนั้นไม่ใช่ต้นฉบับและขาดความชัดเจน จึงได้อนุมานไปว่าน่าจะเป็นแบบเดียวกัน แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นจึงได้ทราบว่าเป็นคนละแบบแน่นอน เนื่องจากในปี 2522 นั้นสปุ๊กกี้หลายเครื่องได้มีรูปงูจงอางพ่นติดไว้ที่แพนหางดิ่งแล้ว ซึ่งในปี 2522 นั้น ฝูง.403 ยังคงใช้ บ.จ.6 (A-37B) อยู่เลย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นรูปงูแบบเดียวกันกับของ บ.ข.18ข/ค ที่อีกตั้ง 2 ปีถึงจะได้รับเข้าประจำการใน ฝูง.403 และเมื่อลองมาเทียบดูกับรูปงูจงอางของ บ.จ.6 แล้ว ถ้าดูไกลๆ ก็อาจจะดูเหมือนกัน แต่เมื่อมาพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่าไม่ใช่แบบเดียวกันเป็นเพียงแค่ดูคล้ายกันเท่านั้นเอง ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
12/03/2012 08:48:26
ความคิดเห็นที่ 81
สำหรับระบบอาวุธที่ติดตั้งกับสปุ๊กกี้นั้นได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจากรุ่นแรก (ฝูง.62) ที่ติดตั้งปืนกลอากาศขนาด 7.62 มม.ชนิด 6 ลำกล้องหรือที่เรียกว่า ปืนมินิกัน แบบ GAU-2B/A (ชื่อ ทอ. คือ ปกอ.7.62-1) ซึ่งตัวปืนนั้นจะติดตั้งอยู่ภายในกระเปาะปืน (Pod Gun) แบบ SUU-11A/A โดยในแต่ละเครื่องจะติดตั้งจำนวน 2 ถึง 3 ชุด โดยแต่ละชุดจะมีกระสุนจำนวน 2,000 นัด ซึ่งอัตราการยิงของปืนแต่ละชุดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 6,000 นัดต่อนาที ถ้าเครื่องไหนติดตั้ง 3 ชุดก็จะมีอัตราการยิงสูงสุดรวมกันถึง 18,000 นัดต่อนาทีเลยทีเดียว (แต่ในทางปฏิบัติจะยิงครั้งละไม่กี่วินาทีเท่านั้น เพราะปืนจะร้อนมากและอาจเกิดการติดขัดได้) แต่ข้อเสียของปืนแบบนี้คือ อำนาจการทะลุทะลวงของกระสุน 7.62 มม.นั้นมีน้อยเกินไป เช่นถ้า ผกค.อยู่ในที่โล่งไม่ค่อยมีที่กำบังก็จะได้ผลดีมาก แต่ถ้า ผกค.ใช้ภูมิประเทศป่าเขาเป็นแหล่งซ่อนพรางและกำบังตัวก็จะทำให้อานุภาพของกระสุนลดน้อยลงไปมาก ในช่วงปี 2518 เป็นต้นมา ได้มีแนวคิดที่จะเพิ่มอานุภาพการทำลายของสปุ๊กกี้ให้สูงขึ้นอีก จึงได้มีการพัฒนาโดยนำปืนกลอากาศขนาด .50 นิ้ว แบบ M-3 (ชื่อ ทอ. คือ ปกอ.50-1ก) จำนวน 2 กระบอกมาติดตั้งบนแท่นปืนที่ได้ดัดแปลงให้ติดตั้งไว้กับตัว บ. และยังได้นำปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 20 มม. แบบเมดเสน (ชื่อ ทอ. คือ ปตอ.20-1) ซึ่งเป็นปืนที่ทหารอากาศโยธินใช้ทำหน้าที่เป็นปืนต่อสู้อากาศยานสำหรับภารกิจการป้องกันฐานบิน มาดัดแปลงติดตั้งบนแท่นยิงที่ทำขึ้นเพื่อใช้ติดตั้งกับสปุ๊กกี้โดยเฉพาะจำนวน 1 กระบอก ทำให้อานุภาพการยิงของสปุ๊กกี้สูงขึ้นมาก (สำหรับ ปกอ.50-1ก นั้นจะมีแรงสะท้อนถอยหลังขณะยิงสูงมากถ้าทำการยิงพร้อมกันทั้ง 2 กระบอก โดยจะทำให้ บ.เซและควบคุมได้ยาก ในทางปฏิบัติจึงต้องสลับกันยิงทีละกระบอก อีกทั้งกระสุนขนาด .50 นิ้ว ของปืนแต่ละกระบอกก็จะนำไปไม่มากนักในแต่ละภารกิจ ส่วน ปตอ. 20-1 หรือปืนเมดเสนนั้นต้องใช้การยิงแบบทีละนัดหรือเป็นชุดสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนขณะทำการยิงจะสูงมากและอาจทำให้พื้น บ.ตรงจุดที่ติดตั้งแท่นปืนเกิดความเสียหายขึ้นได้ และปืนแบบนี้มักเกิดการขัดข้องขึ้นบ่อยๆ เนื่องจากเป็นปืนรุ่นเก่าและกระสุนที่ใช้ต้องเป็นกระสุนเฉพาะของปืนนี้ด้วย ดังนั้นการยิงจึงมักให้เกิดผลทางด้านจิตวิทยาหรือเป็นการข่มขวัญต่อ ผกค.มากกว่าที่จะหวังผลด้านการทำลายล้าง) แต่ว่าการดัดแปลงติดตั้งปืน .50 นิ้วและปืน 20 มม. นั้นไม่ได้ทำหมดทุกเครื่อง จึงยังมี บ.ที่ติดตั้งปืน 7.62 มม. คละกันอยู่ในฝูงด้วยหลายเครื่อง และต่อมาเมื่อได้โอนสปุ๊กกี้จาก ฝูง.62 มาอยู่ ฝูง.42 หรือ 402 แล้ว ก็ได้มีการเพิ่มอานุภาพการยิงของสปุ๊กกี้อีกครั้ง โดยได้เปลี่ยนปืน 20 มม. แบบเมดเสนออก แล้วนำปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม. ชนิด 3 ลำกล้องแบบ M-197 (ชื่อ ทอ. คือ ปญอ.20-3) เข้าติดตั้งแทนที่ในบางเครื่อง ซึ่งปืนแบบนี้ก็ใช้ติดตั้งกับ บ.จธ.2 (AU-23A Peacemaker) เช่นกัน สำหรับยุทธวิธีที่ใช้ในการบินโจมตี ผกค.คือ การบินวนซ้ายเป็นวงกลมแบบก้นหอยเหนือเป้าหมาย โดยนักบินที่ 1 ซึ่งอยู่ด้านซ้ายจะใช้ศูนย์เล็งที่ติดตั้งอยู่ข้างหน้าต่างเป็นที่เล็ง โดยบังคับเครื่องให้ศูนย์เล็งทาบบนเป้าหมาย เนื่องจากปืนทุกกระบอกที่ติดตั้งอยู่นั้นถูกล๊อคมุมและทิศทางการยิงไว้ให้อยู่กับที่ ดังนั้นเมื่อเป้าหมายอยู่ตรงกลางจุดศูนย์เล็งแล้วนักบินจะเป็นผู้ทำการยิงทันที โดย จนท.สรรพาวุธจะมีหน้าที่คอยอำนวยการยิงและบรรจุกระสุนเพิ่มเติมหรือแก้ไขปัญหาเมื่อปืนเกิดขัดข้องขณะทำการยิง ซึ่งในการปฏิบัติภารกิจที่ผ่านมาผลงานในการสนับสนุนการรบของสปุ๊กกี้เป็นที่เลื่องลือและกล่าวขวัญกันมาก โดยเฉพาะในหมู่กำลังภาคพื้นในยามที่ถูก ผกค.ล้อมโจมตีฐานปฏิบัติการและกำลังอยู่ในภาวะคับขันต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งหน่วยภาคพื้นอื่นๆ ไม่สามารถเข้าไปทำการช่วยเหลือได้ เพราะนอกจากจะมีปืนอานุภาพสูงแล้วยังได้ดัดแปลงให้ติดตั้งแท่นปล่อยพลุส่องสว่างแบบ LUU-1 โดยติดตั้งอยู่ตรงประตูท้ายเครื่อง เพื่อใช้ให้ความช่วยเหลือและคอยคุ้มกันแก่ฐานปฏิบัติการของหน่วยกำลังภาคพื้นที่ถูกโจมตีและปิดล้อมอยู่ในเวลากลางคืน ซึ่งสปุ๊กกี้นั้นสามารถบินวนรออยู่ในพื้นที่การรบเป็นเวลานาน 7 – 8 ชั่วโมง อีกทั้งยังสามารถบรรทุกพลุส่องสว่างไปได้จำนวนมากด้วย ทำให้ลดการสูญเสียหรือเพลี่ยงพล้ำของกำลังภาคพื้นฝ่ายเราลงได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีหน่วยบินสปุ๊กกี้กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ และยังเป็นหน่วยบินพร้อมรบตลอดเวลาอีกด้วย จนมีสมญานามให้กับ ฝูง.402 ว่าเป็น “ ฝูงบินพญายม “ เลยทีเดียว ในช่วงปี 2523 – 2524 ได้มีการพิจารณาจัดซื้อ บ.ลำเลียงแบบ “ นอแมด “ (NOMAD) จากประเทศออสเตรเลีย เพื่อจะนำมาบรรจุใช้งานเป็น บ.โจมตี-ลำเลียงใน ฝูง.402 แทนสปุ๊กกี้ และ บ.นอแมดชุดแรกก็ได้ทยอยเข้าประจำการในปี 2525 ซึ่งในขณะนั้นสถานการณ์การสู้รบกับ ผกค.ได้เริ่มลดระดับความรุนแรงลง เนื่องจากฐานที่มั่นของ ผกค.หลายแห่งถูกฝ่ายเรายึดไว้ได้และรัฐบาลในขณะนั้นได้นำนโยบายทางการเมืองเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาด้วย ทำให้ ผกค.และมวลชนแนวร่วมได้พากันเลิกจับอาวุธและทยอยออกมามอบตัวกับทางการเป็นจำนวนมาก จะเหลือก็เพียงฐานที่มั่นใหญ่ๆ ของ ผกค.ที่ถอยร่นไปรวมกำลังกันเป็นกลุ่มใหญ่ไม่กี่กลุ่มในแต่ละภาคเท่านั้น ในปี 2526 เมื่อ ทอ.ไทย ได้รับ บ.จล.9 หรือนอแมดมาเพิ่มอีกหลายเครื่อง จึงได้มีคำสั่งให้สปุ๊กกี้จำนวน 9 เครื่อง ถอดปืนและแท่นปืนออกแล้วให้ทำการดัดแปลงกลับมาเป็น บ.ลำเลียงตามเดิม โดยให้โอน บ.ทั้ง 9 เครื่องไปให้กับฝูงบิน 603 กองบิน 6 ดอนเมือง เพื่อใช้ในภารกิจลำเลียงทางอากาศต่อไป โดยเหลือสปุ๊กกี้ไว้ที่ ฝูง.402 จำนวน 4 เครื่อง ต่อมาภายหลังจากที่ฐานบินพิษณุโลกได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกองบินคือ กองบิน 46 แล้ว จึงได้มีการพิจารณา บ.ที่จะมาประจำการใน ฝูง.461 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มี บ.บรรจุอยู่ จนในปี 2527 จึงได้มีการโอนสปุ๊กกี้และนอแมดของ ฝูง.402 ทั้งหมดมาให้กับ ฝูง.461 และเมื่อได้รับ บ.นอแมดครบตามจำนวนที่สั่งซื้อไปแล้ว ทอ.จึงได้มีคำสั่งให้ถอดปืนของสปุ๊กกี้ทั้ง 4 เครื่องเนื่องจากเสร็จสิ้นภารกิจและโอน บ.ให้กับ ฝูง.603 ไปใช้งานในภารกิจลำเลียงทางอากาศในปลายปี 2528 และได้มีพิธีส่งเครื่องจากกองบิน 46 กลับมาประจำการที่ ฝูง.603 ในวันที่ 4 ก.พ.2529 และถือได้ว่านี่คือ จุดสิ้นสุดเรื่องราวของสปุ๊กกี้แห่ง ทอ.ไทย ที่มีมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา แต่เรื่องราวของสปุ๊กกี้ที่เผยแพร่ออกมาในสื่อต่างๆ ในปัจจุบันนั้นมีน้อยมาก ทำให้คนรุ่นหลังๆ ที่มีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวการปฏิบัติการของสปุ๊กกี้ในยุคสงครามการปราบปราม ผกค. ได้รับข้อมูลน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับภารกิจที่เคยทำมาเป็นเวลายาวนาน จนบางครั้งทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับสปุ๊กกี้ขึ้นได้ อย่างเช่นมีดาโกต้าที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศเครื่องหนึ่งคือ หมายเลข 547 ซึ่งมีสีเป็นลายพราง , ไม่มีเครื่องยนต์และไม่มีแพนหางดิ่ง (Rudder) จอดล้อจมดินอยู่ในสนามหญ้าเครื่องนั้นนั่นแหละ ที่ทำให้ใครต่อใครเข้าใจผิดคิดว่า บ.เครื่องนี้เคยเป็นสปุ๊กกี้ไปนั่น ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่เคยถูกดัดแปลงเป็นสปุ๊กกี้เลย ก็ว่ากันไปครับที่ผมเองจะช่วยได้ก็คือ การเขียนเรื่องๆ นี้ขึ้นมา เพื่อช่วยถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงภารกิจที่นักบินสปุ๊กกี้และ จนท.ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำมาในอดีต แม้ว่าอาจจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอยู่บ้างแต่นั่นก็เป็นธรรมชาติของการเขียนเรื่องเกี่ยวกับอากาศยานของ ทอ.ไทย ในอดีตไปแล้วละครับ ---------------------- ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
12/03/2012 08:53:58
ความคิดเห็นที่ 82
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
12/03/2012 08:58:34
ความคิดเห็นที่ 83
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 229 ต.ค.2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/04/2012 06:50:00
ความคิดเห็นที่ 84
DAKOTA STORY by FS.1 ASI S. ในบรรดาเครื่องบินที่ได้เคยประจำการอยู่ใน ทอ.ไทย ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มี บ.เพียงไม่กี่แบบเท่านั้นที่ได้ประจำการอยู่เป็นเวลานานเกินกว่า 40 ปี กว่าที่จะปลดประจำการ และถ้าจะถามว่าแล้ว บ.แบบใดนั้นประจำการอยู่นานที่สุด ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นก็คงจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก บ.ล.2 (C-47) หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “ ดาโกต้า ” นั่นเอง เพราะมันได้เข้าประจำการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2490 และมาปลดประจำการ (ครั้งสุดท้าย) ในปี 2538 ซึ่งเมื่อนับรวมแล้วก็เป็นเวลาถึง 48 ปีเลยทีเดียว C-47 Skytrain เป็นเครื่องบินลำเลียงทางทหารที่ได้รับการพัฒนามาจากเครื่องบินโดยสารแบบ DC-3 ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบและสร้างโดย บริษัท ดักลาส (Douglas Aircraft Company) แห่งประเทศสหรัฐฯ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการสร้าง C-47 ออกมาเป็นจำนวนมากและได้ถูกนำไปใช้ในภารกิจการลำเลียงทางอากาศสนับสนุนกำลังภาคพื้นของฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดช่วงสงคราม ซึ่งถือได้ว่าส่วนหนึ่งแห่งชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มาจาก C-47 นั่นเอง ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทอ.ไทย ได้เริ่มทำการฟื้นฟูกำลังทางอากาศขึ้นใหม่ หลังจากที่ บ.ส่วนใหญ่นั้นได้เสียหายไปในระหว่างช่วงการเกิดสงคราม โดยในส่วนของ บ.ลำเลียงนั้นได้มีการจัดซื้อ บ.C-47A ที่เคยถูกใช้งานอยู่ในกองทัพอังกฤษจำนวน 8 เครื่องมาใช้งานในปี 2489 (แต่เริ่มใช้งานจริงในปี 2490) โดยกำหนดชื่อให้เป็น “ เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ” หรือ บ.ล.2 และได้รับการบรรจุในฝูงบิน 61 กองบินน้อยที่ 6 ดอนเมือง (แต่ในปี 2492 กองบินน้อยที่ 6 ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น กองบินลำเลียง จนกระทั่งในปี 2496 จึงได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นกองบินน้อยที่ 6 ตามเดิม) เพื่อใช้ในภารกิจในการลำเลียงทางอากาศ โดยในจำนวนนี้มี 1 เครื่องได้ถูกจัดให้เป็น บ.พระที่นั่ง (หมายเลข S/N 44-76517 และมีหมายเลข ทอ. คือ บ.ล.2 - 8/90) และอีก 1 เครื่องให้เป็น บ.สำหรับบุคคลสำคัญ หรือ บ.วีไอพี (หมายเลข S/N 42-100536 และมีหมายเลข ทอ. คือ บ.ล.2 - 6/90) ด้วย ในปลายปี 2493 ได้มีพระบรมราชโองการให้ส่งกำลังทหารเรือและทหารอากาศเข้าร่วมสนับสนุนกองกำลังของสหประชาชาติในระหว่างสงครามเกาหลี ในส่วนของ ทอ.ไทย ได้มีการจัดส่ง บ.ล,2 จำนวน 3 เครื่อง (หมายเลขประจำฝูงคือ บ.ล.102 , บ.ล.103 และ บ.ล.105) เข้าร่วมในกองกำลังสหประชาชาติ โดย บ.ทั้ง 3 เครื่องพร้อมด้วยนักบินและเจ้าหน้าที่ชุดแรกรวม 19 คน ได้ออกเดินทางจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2494 และเดินทางถึงสนามบินตาชิกาว่า ในชานกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 23 มิ.ย.2494 ซึ่งภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายจากกองกำลังสหประชาชาติคือ การบินลำเลียงทางอากาศระหว่างฐานทัพในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังสหประชาชาติส่วนหลังกับที่ตั้งกองกำลังส่วนหน้าในประเทศเกาหลีใต้ บ.ล.2 ได้ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลีอยู่อย่างยาวนาน จนเมื่อถึงปลายปี 2511 จึงได้มีการเปลี่ยนไปใช้ บ.ล.4 (C-123 B) ปฏิบัติหน้าที่แทน ในปี 2496 สหรัฐฯ ได้มอบ บ.C-47 ให้กับ ทอ.ไทย ตามโครงการความช่วยเหลือทางทหาร (MDAP) เป็นรุ่นแรกจำนวน 3 เครื่อง แต่ในปี 2496 ทอ. ก็ยังได้จัดซื้อ บ. DC-3 ที่เคยใช้งานอยู่ในสายการบิน Qantas Empire Airways Limited และได้รับการปรับปรุงสภาพมาแล้ว เพื่อมาใช้งานเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 เครื่อง ทำให้ในช่วงก่อนปี 2500 ทอ.ไทย มี บ.ล.2 (C-47 และ/หรือ DC-3) ใช้งานจำนวน 15 เครื่อง ต่อมาในระหว่างปี 2500 - 2502 สหรัฐฯ ก็ได้มอบ บ.C-47 ให้กับ ทอ.ไทย ตามโครงการความช่วยเหลือทางทหาร (MDAP, SAMAP และ MAP) เพิ่มเติมอีก 11 รุ่น รวมจำนวน14 เครื่อง (มีหมายเลข ทอ. ตั้งแต่ บ.ล.2 - 16/00 ถึง บ.ล.2 - 29/02) ซึ่งในภารกิจการลำเลียงทางอากาศนั้น ถือได้ว่า บ.ล.2 นี้เป็นม้างาน (Workhorse) หลักของ ทอ.ไทย มาเป็นเวลายาวนานนับแต่ปี 2490 เป็นต้นมา กว่าที่จะมี บ.ลำเลียงแบบใหม่และมีสมรรถนะสูงกว่าเข้ามาแทนที่ในฐานะม้างานหลักของ ทอ. ในปี 2507 เมื่อ ทอ.ไทย ได้รับมอบ บ.ลำเลียงแบบใหม่จากสหรัฐฯ คือ C-123 B หรือ บ.ล.4 แล้ว (และ บ.แบบนี้นี่เองที่ในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นม้างานหลักในด้านการลำเลียงทางอากาศของ ทอ. แทนที่ บ.ล.2) จึงได้มีคำสั่งให้โอน บ.ล.2 ทั้งหมดรวมทั้ง บ.ล.2 อีก 2 เครื่องที่ได้รับมาใหม่ในปี 2507 นี้ด้วย (แต่จะยกเว้น บ.ล. 2 ที่เป็น บ.พระที่นั่ง และ บ.สำหรับบุคลสำคัญ) ไปบรรจุที่ฝูงบิน 20 กองบิน 2 โคกกะเทียม เพื่อใช้ในภารกิจการลำเลียงทางอากาศสนับสนุนฝูงบินผสมที่ 21 , 22 และ 23 ซึ่งเป็นฝูงบินในอัตราสนามชายแดนของกองบิน 2 และบางส่วนส่งไปบรรจุในฝูงฝึกขั้นปลาย รร.การบิน และในปี 2507 นี้ก็ได้เป็นปีแรกที่มีการส่งนักบินและเจ้าหน้าที่ของ บ.ล.2 เพื่อไปทำการบินให้กับ บ.C-47 ของฝูงบินที่ 413 กองบินที่ 33 ทอ.เวียดนามใต้ ร่วมกับนักบินเวียดนามใต้ ในภารกิจการสนับสนุนทางด้านการทหารต่อสาธารณรัฐเวียดนาม (เวียดนามใต้) ซึ่งชื่อของหน่วยบินนี้คือ หน่วยบินลำเลียงทหารอากาศไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม (บล.ทอ.วน.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ หน่วยบินวิคตอรี่ นั่นเอง (ซึ่งต่อมาในปี 2509 ทอ.ไทย ก็ได้จัดส่ง บ.ล.4 (C-123B) พร้อมนักบินและเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการสนับสนุนและได้ปฏิบัติภารกิจจนถึงปลายปี 2514 จึงได้ถอนกำลังกลับประเทศไทย) ต่อมาในปี 2510 ได้มีการปรับย้าย บ.ล.2 ทั้งหมดกลับมายังกองบิน 6 โดยให้บรรจุอยู่ในฝูงบิน 62 และในปี 2511 , 2513 , 2514 และ 2515 ก็ได้รับมอบเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ อีก 5 รุ่น รวม 9 เครื่อง (มีหมายเลข ทอ. ตั้งแต่ บ.ล.2 - 32/11 ถึง บ.ล.2 - 40/15) และในปี 2518 - 2519 ก็ได้รับมอบ บ.เป็นรุ่นสุดท้ายอีกจำนวน 14 เครื่อง (มีหมายเลข ทอ. ตั้งแต่ บ.ล.2 - 41/18 ถึง บ.ล.2 - 54/19) ทำให้ยอดรวม บ.ล.2 ที่บรรจุเข้าประจำการใน ทอ.ไทย ทั้งหมดนั้นมีถึง 54 เครื่อง (แต่ขณะนั้นจะเหลือ C-47 ทั้งที่เป็น บ.ลำเลียงคือ บ.ล.2 รวมถึงที่มีการดัดแปลงให้เป็น บ.จล.2 หรือ AC-47 และ บ.ตล.2 หรือ RC-47 เหลืออยู่ไม่ถึง 40 เครื่อง) บ.ล.2 นั้นถือได้ว่าเป็น บ.ลำเลียงที่นักบินให้การยอมรับว่ามีความเชื่อถือได้และมีความปลอดภัยสูงแบบหนึ่งของ ทอ.ไทย และสามารถนำไปใช้ในภารกิจต่างๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลำเลียงทางอากาศ การปฏิบัติการพิเศษ การลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศ และยังสามารถนำมาดัดแปลงติดตั้งอาวุธเพื่อใช้ป็น บ.โจมตีได้ด้วย ซึ่งการนำ บ.ล.2 ไปดัดแปลงให้กลายเป็น บ.โจมตีนั้น ต้องย้อนกลับไปในปี 2510 เมื่อมีการส่ง บ.ล.2 จำนวน 2 เครื่องไปทำการดัดแปลงติดตั้งอาวุธปืนใช้เป็น บ.โจมตี ตามแบบของ ทอ.สหรัฐฯ คือ AC-47 Spooky ที่ฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ ซึ่ง ทอ. ได้กำหนดชื่อให้เป็น เครื่องบินโจมตีลำเลียงแบบที่ 2 หรือ บ.จล.2 และต่อมากรมช่างอากาศและกรมสรรพาวุธทหารอากาศ ก็ได้ร่วมกันทำการดัดแปลง บ.ล.2 ให้เป็น บ.จล.2 เพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง รวมทั้งที่ได้รับมอบจากสหรัฐฯ มาอีกในปี 2518 ทำให้มียอดรวมของ บ.จล.2 ใน ทอ.ไทย ทั้งสิ้น 15 เครื่อง ซึ่งต่อมาในต้นปี 2520 จึงได้มีการพิจารณาปรับย้าย บ.จล.2 ทั้งหมดของ ฝูง.62 ไปตั้งเป็นฝูงบินใหม่คือ ฝูงบิน 42 (หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็น ฝูงบิน 402 ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา) กองบิน 4 ตาคลี และต่อมาในปี 2526 เมื่อ ฝูง.402 ได้รับ บ.จล.9 หรือ Nomad เข้าประจำการมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว จึงได้มีคำสั่งให้ทำการถอดปืนของ บ.จล.2 ออกและดัดแปลงกลับไปเป็น บ.ล.2 ตามเดิม แล้วให้ส่งกลับคืนไปให้ ฝูง.603 เพื่อใช้งานต่อ โดยเหลือ บ.จล.2 ไว้เพียง 4 เครื่อง และต่อมาภายหลังจากที่ฐานบินพิษณุโลก ได้รับการยกฐานะให้เป็นกองบิน คือ กองบิน 46 แล้ว ในปลายปี 2527 จึงได้ย้าย บ.จล.2 ชุดสุดท้ายนี้ไปบรรจุที่ ฝูงบิน 461 กองบิน 46 พิษณุโลก ร่วมกับ บ.จล.9 แต่เมื่อถึงปลายปี 2528 ได้มีคำสั่งให้เลิกใช้งานในภารกิจเป็นการเป็น บ.โจมตี และให้ดัดแปลงกลับมาเป็น บ.ลำเลียงและโอนย้ายกลับมาบรรจุใน ฝูงบิน 603 ดองบิน 6 ดอนเมือง ตามเดิม (สำหรับเรื่องราวของ บ.จล.2 นั้น ผมได้เคยเขียนลงไว้ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 146 เดือน พ.ย.2547 ในชื่อเรื่องว่า “ SPOOKY STORY ” ถ้าท่านใดสนใจก็ลองไปหาอ่านกันดูครับ) สำหรับภารกิจการลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศซึ่งเป็นอีกหนึ่งในภารกิจหลัก ในด้านการรวบรวมข่าวสารและข่าวกรองที่เกี่ยวกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดมาในช่วงที่มีการปราบปราม ผกค. โดยได้มีการดัดแปลง บ.ล.2 ให้เป็น บ.ตล.2 เพื่อใช้ในการถ่ายภาพทางอากาศ ด้วยการเจาะใต้ท้องของ บ.เพื่อใช้เป็นตำแหน่งติดตั้งกล้องถ่ายภาพทางอากาศในแนวดิ่ง และยังรวมไปถึงกล้องถ่ายภาพในแนวเฉียงที่มีตำแหน่งติดตั้งอยู่ที่ประตูด้านท้ายเครื่องอีกด้วย ซึ่งกล้องถ่ายภาพทางอากาศที่กล่าวมานั้นใช้ถ่ายในเวลากลางวันที่มีแสงสว่างเพียงพอเท่านั้น ส่วนการถ่ายภาพในเวลากลางคืนนั้นได้มีการนำกล้องถ่ายภาพทางอากาศที่เป็นการบันทึกภาพด้วยระบบอินฟาเรดสแกนเนอร์ (IR Scanner) มาใช้ ซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นการถ่ายภาพด้วยการหาจุดความร้อน (Hot Spot) ที่เกิดขึ้นมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งในที่นี้ก็คือ ผกค.นั่นเอง และแม้ว่า ผกค.นั้นจะซ่อนพรางอยู่ภายใต้ภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาและยากต่อการตรวจพบแต่เมื่อนำภาพมาวิเคราะห์ก็พอที่จะทราบได้ ซึ่งในการปฏิบัติการนั้น นักบินจะต้องนำ บ.วิ่งขึ้นในตอนกลางคืนเพื่อไปทำการบินถ่ายภาพอยู่เหนือพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นที่ตั้งแหล่งซ่องสุมของ ผกค. ซึ่งนับเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากเพราะนักบินและเจ้าหน้าที่จะต้องผจญกับความหนาวเย็นเป็นเวลาหลายชั่วโมงกว่าที่จะได้กลับมาลงสนามบิน ในปี 2520 ได้มีการปรับย้าย บ.ล.2 และ บ.ตล.2 จากฝูง.62 ให้มาอยู่ในฝูงบิน 603 ตามโครงสร้างใหม่ของ ทอ. โดยมีภารกิจในการลำเลียงทางอากาศและการลาดตระเวนทางอากาศ นอกจากนี้ในปี 2525 ยังได้มีการเริ่มดัดแปลง บ.ล.2 บางเครื่องมาใช้ในภารกิจการทำฝนหลวงอีกด้วย ต่อมาในปี 2527 ได้เริ่มให้มีการทยอยปลด บ.ล.2 ออกจากประจำการเนื่องจากมีอายุการใช้งานมานานและมีสภาพที่ทรุดโทรม ซึ่งในที่นี้ยังรวมไปถึงการลดการใช้งาน บ.ล.2 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการ โดยให้มีการเก็บดอง บ.ที่ยังมีสภาพดีอยู่ไว้ที่ศูนย์ซ่อมอากาศยานโคกกะเทียม จ.ลพบุรี เพื่อหากมีความจำเป็นในอนาคตก็สามารถจะนำ บ.เหล่านี้กลับเข้าประจำการได้อีก ซึ่งต่อมาในปี 2534 ก็ยังได้ปลดประจำการ บ.ล,2 ออกไปอีกหลายเครื่อง ตามนโยบายของ ทอ.ที่ให้ลดการใช้งาน บ.ล.2 โดยให้เหลือ บ.ไว้เพียง 5 เครื่อง เพื่อใช้ในภารกิจการทำฝนหลวงร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ซึ่งในระหว่างปี 2530 - 2535 ได้มีความร่วมมือกันในการปฏิบัติภารกิจการทำฝนหลวงในโครงการที่เรารู้จักกันในชื่อ “ โครงการอิสานเขียว ” นั่นเอง) ในปี 2537 ก็ยังได้มีการนำ บ.บางเครื่องที่ปลดประจำการไปแล้วในปี 2534 กลับมาใช้ในภารกิจการทำฝนหลวงด้วย และ บ.ล.2 ชุดสุดท้ายของ ทอ.ไทย ก็ได้ปฏิบัติภารกิจมาจนถึงปี 2538 จึงได้มีคำสั่งให้ปลดประจำการอย่างเป็นทางการ แต่ว่านั่นก็ยังไม่ใช่การสิ้นสุดชีวิตของ บ.ล.2 ใน ทอ.ไทย อย่างแท้จริง เพราะก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งให้ปลดประจำการในปี 2538 นั้น กองทัพอากาศและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการร่วมกันศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการที่จะดัดแปลง บ.ล.2 ให้สามารถปฏิบัติภารกิจฝนหลวงต่อไปได้อีก ซึ่งในที่สุดข้อเสนอของบริษัท Basler Turbo Conversions LLC ประเทศสหรัฐฯ ในการที่จะดัดแปลง บ.ล.2 หรือ C-47 ให้เป็น บ.ที่มีสมรรถนะสูงขึ้นและสามารถใช้งานต่อไปได้อีกหลายปีตามแผนแบบของบริษัทในรุ่น BT-67 ก็ได้รับการพิจารณาเห็นชอบ ต่อมาจึงได้มีการส่ง บ.ล.2 ที่ปลดประจำการแล้วชุดแรกจำนวน 3 เครื่องไปรับการดัดแปลง (แต่ในตอนนั้น ทอ.จะใช้คำว่า “ ดัดแปร ” ) ที่ประเทศสหรัฐฯ และในต้นปี 2541 บ.เครื่องแรกที่ผ่านการดัดแปลงก็ได้บินกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งได้มีการกำหนดชื่อ ทอ.ของ บ.แบบนี้ว่า บ.ล.2ก นั่นเอง และต่อมาก็ยังได้ทยอยส่ง บ.ล.2 ไปทำการดัดแปลงให้เป็น บ.ล.2ก เพิ่มเติมอีก ซึ่งรวมแล้วมี บ.ที่ผ่านการดัดแปลงจำนวนทั้งสิ้น 9 เครื่อง สำหรับในภารกิจในการเป็นเครื่องบินพระที่นั่งของ บ.ล.2 นั้น ได้เกิดขึ้นในปี 2498 เมื่อกองทัพอากาศได้จัด บ.ล.2 เป็น บ.พระที่นั่ง ถวายแด่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และนครสวรรค์ (รวมถึงที่ กองบินน้อยที่ 4 ตาคลี ด้วย) เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2498 ซึ่งต่อมานั้นก็ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ต่างๆ โดย บ.ล.2 พระที่นั่ง อีกหลายครั้ง นอกจากนี้ยังได้มีการจัดถวาย บ.ล.2 เป็น บ.พระที่นั่งในการเสด็จประพาสต่างประเทศด้วย โดยทรงเสด็จประพาสสาธารณรัฐเวียดนาม (เวียดนามใต้) ตามคำทูลเชิญของประธานาธิบดี โง ดินห์ เดียม ในระหว่างวันที่ 18 - 21 ธ.ค.2502 สำหรับ บ.ล.2 ที่ ทอ.ได้จัดถวายเป็นพระที่นั่งนั้น จะมีอยู่ 2 เครื่องคือ หมายเลข 517 (บ.ล.2 - 8/90 , S/N 44-76517) และหมายเลข 536 (บ.ล.2 - 6/90 , S/N 42-100536) ซึ่งต่อมาในปี 2508 เมื่อ ทอ.ได้จัดซื้อ บ.พระที่นั่งแบบใหม่ที่มีความทันสมัยรวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ดีกว่า เพื่อใช้ในภารกิจการบินรับ-ส่งเสด็จฯ แทน บ.ล.2 คือ HS 748 AVRO หรือ บ.ล.5 แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินโดยใช้ บ.ล.2 ก็จะมีใช้เฉพาะในบางพื้นที่ที่สนามบินนั้นมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจะใช้ บ.ล.5 ทำการบินขึ้นลงได้อย่างเช่น สนามบินหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ หรือสนามบินบางแห่งเท่านั้น ภายหลัง บ.ล.2 (ที่เคยใช้เป็น) พระที่นั่ง หมายเลข 517 ก็ได้ถูกปลดประจำการและนำเข้าตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศในปี 2534 ส่วนหมายเลข 536 นั้น ได้จำหน่ายออกจากประจำการไปก่อนแล้วในปี 2528 จากอุบัติเหตุระหว่างการฝึกบินที่กองบิน 2 นี่คงเป็นเพียงเศษเสี้ยวอันเล็กน้อยแห่งประวัติอันยาวนานเกือบ 50 ปีของ บ.ล.2 ที่ได้เคยปฏิบัติภารกิจอยู่ใน ทอ.ไทย ซึ่งจริงๆ แล้วมันยังมีเรื่องราวอีกมากมายเพียงแต่ไม่สามารถที่จะบรรยายออกมาได้ทั้งหมดในเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ และทุกวันนี้ บ.ล.2ก หรือ BT-67 ของฝูงบิน 461 กองบิน 46 จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็น บ.ที่ได้รับการดัดแปลงมาจาก บ.ล.2 หรือดาโกต้า และได้เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 2541 นั้นก็ยังคงปฏิบัติภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงสนองตามพระราชดำริ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักที่ได้นำไปสู่การเกิดโครงการ การดัดแปลง บ.ล.2 ให้กลายเป็น บ.ล.2ก นี้ขึ้น นอกจากนี้ภารกิจการดับไฟป่า การโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ก็ยังเป็นงานที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย นอกเหนือจากภารกิจทางด้านยุทธการอย่างเช่น การลำเลียงทางอากาศหรือการปฏิบัติการพิเศษอื่นๆ ซึ่งเราคงจะได้เห็น บ.ล.2ก ประจำการอยู่ใน ทอ.ไทย ต่อไปเป็นเวลาอีกหลายปี ............................................................. ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/04/2012 06:55:36
ความคิดเห็นที่ 85
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 230 พ.ย.2554 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/05/2012 10:56:58
ความคิดเห็นที่ 86
TEXAN STORY by FS.1 ASI S. ถ้าจะลองตั้งคำถามกันว่าตั้งแต่แรกเริ่มมีการบินเกิดขึ้นมาในประเทศไทย ในอดีตเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งถึงในปัจจุบันนั้น มีอากาศยานแบบใดของ ทอ.ไทย ที่มีจำนวนบรรจุเข้าประจำการมากที่สุด เชื่อว่าคงมีบางท่านเท่านั้นที่พอจะตอบได้ว่าอากาศยานแบบนั้นคือ บ.ฝ.8 (T-6 TEXAN) หรือที่เรียกกันว่า “ ทีซิกซ์ ” นั่นเอง ซึ่งยอดรวมของการบรรจุเข้าประจำการใน ทอ.ไทย รวมจำนวนถึง 221 เครื่องนั้น ถือเป็นสถิติที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ด้านการบินของไทยตลอดกาล และสถิตินี้ได้เกิดขึ้นในปี 2501 เมื่อ บ.ฝ.8 เครื่องสุดท้ายในจำนวน บ.ฝ.8 ทั้งหมดถูกบรรจุเข้าประจำการ ( หมายเลข ทอ. คือ ฝ.8 - 221/2501) ซึ่งผมเชื่อว่าคงจะไม่มีอากาศยานแบบใดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จะมาทำลายสถิตินี้ไปได้อีกแล้ว T-6 TEXAN เป็น บ.ฝึกขั้นสูง ซึ่งถูกนำมาใช้งานสำหรับการฝึกนักบินใน กองบินทหารบกสหรัฐฯ , กองทัพเรือสหรัฐฯ และกองทัพอากาศอังกฤษ (และยังรวมไปถึงกองทัพอากาศของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ อีกด้วย) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังถูกใช้งานต่อมาหลังจากนั้นอีกหลายปี มันได้ถูกสร้างโดย บริษัท นอร์ท อเมริกัน อวิเอชั่น (North American Aviation) แห่งประเทศสหรัฐฯ โดยเป็นการพัฒนามาจาก บ.ในรุ่น BC-1(Model NA-26) ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นรุ่นต่างๆ ออกมาอีกมากมาย จนกระทั่งกลายเป็น AT-6A (ส่วนใน ทร.สหรัฐฯ จะถูกกำหนดชื่อเป็น SNJ-3) และหลังจากนั้นมันยังได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาอีกจนเป็นรุ่น AT-6D , AT-6F และ AT-6G ในที่สุด ซึ่งใน 3 รุ่นหลังนี้คือ รุ่นที่เข้าประจำการใน ทอ.ไทย นั่นเอง ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังทางอากาศของไทย ได้เหลือรอดมาเป็นจำนวนน้อยมากและเกือบทั้งหมดก็แทบไม่สามารถทำการบินได้เนื่องจากขาดแคลนอะไหล่และเชื้อเพลิง อีกทั้ง บ.ทั้งหลายเหล่านี้ยังเป็นที่ล้าสมัยไปแล้วในเวลานั้น ซึ่งในช่วงปี 2489 - 2490 ได้มีแผนที่จะทำการฟื้นฟูกำลังทางอากาศขึ้นมาอีกครั้ง จุดประสงค์เพื่อให้สามารถปกป้องอธิปไตยของชาติได้ในระดับหนึ่ง มีการเริ่มจัดหา บ.ฝึก , บ.ลำเลียง และ บ.สื่อสาร จากประเทศอังกฤษ และสหรัฐฯ มาใช้งานในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นฟูนี้ ซึ่งในจำนวน บ.ฝึกนี้นอกจากที่มีการจัดซื้อจากประเทศอังกฤษแล้ว ยังได้มีการจัดซื้อ บ.T-6 จากประเทศสหรัฐฯ อีกด้วย ซึ่ง บ.เหล่านี้ล้วนเป็น บ.เก่าที่เคยใช้งานในกองทัพสหรัฐฯ มาก่อนแต่ได้รับการปรับปรุงสภาพมาแล้ว ในปี 2491 บ.T-6D รุ่นแรกจำนวน 30 เครื่อง ( มีหมายเลข ทอ. ตั้งแต่ ฝ.8 - 1/91 ถึง ฝ.8 - 30/91) ได้ถูกส่งมอบให้ ทอ.ไทย และได้รับการกำหนดชื่อเป็น “ เครื่องบินฝึกแบบที่ 8 ” หรือ บ.ฝ.8 ซึ่งคาดว่า บ.ในรุ่นแรกนี้น่าจะได้รับการบรรจุเข้าประจำการใน ฝูงบินที่ 2 และฝูงบินที่ 3 กองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง ก่อนเป็นหน่วยแรกเพื่อใช้ฝึกทบทวนและหาความชำนาญของนักบิน (ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเคยป็นนักบินขับไล่รุ่นเก่าที่ผ่านสงครามมหาเอเชียบูรพามาก่อน) ภายหลังจากที่ไม่ได้ทำการบินกับมาเป็นเวลานานพอสมควร ต่อมาในระหว่างปี 2493 - 2494 ก็ได้รับมอบ บ. T-6D และ T-6F ที่สั่งซื้อไปเพิ่มเติมอีก 5 รุ่น เป็นจำนวน 116 เครื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ รุ่นที่ 2 ตั้งแต่หมายเลข ฝ.8 - 31/93 ถึง ฝ.8 - 60/93 รวม 30 เครื่อง , รุ่นที่ 3 ตั้งแต่หมายเลข ฝ.8 - 61/93 ถึง ฝ.8 - 74/93 รวม 14 เครื่อง , รุ่นที่ 4 ตั้งแต่หมายเลข ฝ.8 - 75/93 ถึง ฝ.8 - 90/93 รวม 16 เครื่อง , รุ่นที่ 5 ตั้งแต่หมายเลข ฝ.8 - 91/94 ถึง ฝ.8 - 120/94 รวม 30 เครื่อง (เฉพาะในรุ่นนี้จะเป็น บ.T-6F ทั้งหมด) และ รุ่นที่ 6 ตั้งแต่หมายเลข ฝ.8 - 121/94 ถึง ฝ.8 - 146/94 รวม 26 เครื่อง และเมื่อรวมจำนวน บ.ฝ.8 ทั้งหมดในขณะนั้นก็จะมีจำนวนรวม 146 เครื่อง (ในข้อมูลของกองทัพอากาศจากหนังสือ “ 72 ปี กองทัพอากาศ ” นั้นระบุว่าได้มีการจัดซื้อ บ.ฝ.8 หรือ T-6 ในรุ่น A , B , C , D , F และ G ระหว่างปี 2491 - 2500 เป็นจำนวน 120 เครื่อง) แต่ว่าในจำนวน 146 เครื่องนี้ก็น่าจะรวมไปถึง บ.T-6D ของกองบินทหารเรือจำนวน 12 เครื่องที่ถูกโอนมาให้กับ ทอ. ในปี 2494 ด้วย (จากเหตุการณ์ที่มีคณะนายทหารเรือกลุ่มหนึ่งก่อการปฎิวัติโดยการจี้จับตัว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ไว้เป็นตัวประกันบน ร.ล.ศรีอยุธยา ภายหลังการปฎิวัติล้มเหลวจึงทำให้กำลังของกองทัพเรือถูกมองว่าเป็นภัยของรัฐบาล จึงได้มีคำสั่งปรับลดกำลังพลรวมไปถึงการยุบหน่วยงานบางหน่วยของกองทัพเรืออย่างกองบินทหารเรือ และให้โอน บ.ทั้งหมดของกองบินทหารเรือรวมทั้งพื้นที่ของกองบินทหารเรือที่สัตหีบ ไปให้กองทัพอากาศใช้งานและดูแลแทน) ซึ่งในเรื่องนี้มีข้อมูลการบรรจุเข้าประจำการของ บ.ฝ.8 ที่เป็นการบันทึกโดยกรมช่างอากาศ จะมีรายละเอียดต่างๆ อย่าง รุ่นที่รับ , ปีที่รับ , หมายเลขผู้สร้างหรือหมายเลขสหรัฐฯ , และหมายเลข ทอ.ไทย อยู่ แต่ว่าในส่วนอื่นๆ อย่างเช่น ในแต่ละรุ่นนั้นรับมาเมื่อวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไรและนำส่งมาอย่างไร รวมถึง บ.ที่มีการรับโอนมาจากกองทัพเรือนั้นแท้จริงแล้วมีจำนวนกี่เครื่องกันแน่ ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้มีการบันทึกไว้ครับ บ.ฝ.8 ที่ได้รับเพิ่มเติมในปี 2493 และ 2494 ได้ถูกส่งไปบรรจุในฝูงบินที่ 3 กองบินน้อยที่ 2 โคกกะเทียม จ.ลพบุรี , ฝูงบินที่ 3 กองบินน้อยที่ 4 ตาคลี (แต่ในช่วงปี 2494 นั้นกองบินน้อยที่ 4 ยังมีที่ตั้งอยู่ที่ จ.ลพบุรี แต่ต่อมาในต้นปี 2496 จึงได้ย้ายเข้าที่ตั้ง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์), ฝูงบินที่ 3 กองบินน้อยที่ 5 ประจวบฯ, ฝูงบินที่ 2 กองบินลำเลียง (กองบินน้อยที่ 6) ดอนเมือง , ฝูงบินที่ 1 กองบินน้อยที่ 7 สัตหีบ และ ฝูงฝึกขั้นปลาย กองโรงเรียนการบิน นครราชสีมา ซึ่งจะเห็นว่ามี บ.ฝ.8 ประจำการอยู่ในทุกกองบินน้อยเลยทีเดียว แต่ว่าจำนวนที่บรรจุนั้นอาจต่างกันตามแต่ภารกิจของแต่ละฝูงบิน อย่างเช่นบางฝูงที่มี บ.ขับไล่อย่างแบร์แคทหรือ บ.ข.15 เป็น บ.รบหลักในฝูงนั้น ก็จะมี บ.ฝ.8 รวมอยู่ในฝูงด้วยแต่จะมีจำนวนไม่กี่เครื่อง เพื่อใช้ทำการฝึกนักบินใหม่ก่อนที่จะไปบินกับแบร์แคท แต่บางฝูงบินที่ไม่ใช่ฝูงบินขับไล่ก็จะใช้ บ.ฝ.8 เป็น บ.รบหลักของฝูงบินในภารกิจการโจมตีทางอากาศ ซึ่งก็จะมี บ.บรรจุในฝูงเป็นจำนวนมากหน่อย ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/05/2012 11:01:00
ความคิดเห็นที่ 87
ในปลายปี 2500 สหรัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร (MAP) แก่ ทอ.ไทย อีกครั้งด้วยการมอบ บ.T-6G จำนวน 75 เครื่อง (ยกเว้นแต่ บ.ฝ.8 เครื่องสุดท้ายคือ หมายเลข ฝ.8 - 221/2501 นั้นได้บรรจุเข้าประจำการในต้นปี 2501) ทำให้ยอดรวมของ บ.ฝ.8 ทั้งหมดของ ทอ.ไทย จะมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 221 เครื่อง ซึ่งจำนวน 221 เครื่องนี้จึงได้กลายเป็นสถิติด้านจำนวนรวมที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินของไทยมาจนถึงทุกวันนี้ และภายหลังจากการตรวจรับเสร็จสิ้น ทอ.ได้นำ บ.ที่ได้รับมาใหม่ไปบรรจุเพิ่มเติมในฝูงบินที่มี บ.ฝ.8 รุ่นเก่าอยู่ รวมทั้งเป็นการทดแทนในส่วนของ บ.ที่จำหน่ายไปจากอุบัติเหตุและที่ชำรุดหรือเสียหายเกินเกณฑ์ที่จะซ่อมแซมได้ ซึ่งเมื่อถึงเดือน ธ.ค.2501 ได้มีข้อมูลยืนยันว่าในขณะนั้น ทอ.ไทย มี บ.ฝ.8 เหลืออยู่ทั้งสิ้น 119 เครื่อง แต่จำนวนนี้ยังไม่ได้รวมไปถึง บ.ฝ.8 ของฝูงฝึกขั้นปลาย กองโรงเรียนการบิน นครราชสีมา ที่ไม่มีข้อมูลยืนยันถึงจำนวนที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะมีอยู่ประมาณ 30 เครื่อง (บวกลบไม่น่าจะเกิน 5 เครื่อง) ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ก็จะเท่ากับว่าในปลายปี 2501 ซึ่งเป็นช่วงที่ บ.ฝ.8 ได้เข้าประจำการมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี จะมี บ.เหลืออยู่ราวๆ 150 เครื่องจากยอดที่ได้เข้าประจำการทั้งหมด 221 เครื่อง ตรงนี้จึงแสดงให้เห็นว่า 10 ปีแรกของการประจำการใน ทอ.ไทย ได้มีการสูญเสีย บ.ฝ.8 ไปประมาณ 70 เครื่องเลยทีเดียว ซึ่งในเวลานั้น (ปี 2501) มีฝูงบินของ ทอ.ไทย ที่ได้รับการบรรจุ บ.ฝ.8 ทั้งสิ้นจำนวน 9 ฝูงบิน ซึ่งจะประกอบไปด้วย ฝูง.13 บน.1 ดอนเมือง จำนวน 17 เครื่อง โดยได้นำ บ.ฝ.8 มาใช้งานเป็น บ.รบหลักแทน บ.ข.15 (F8F-1/1B BEARCAT) ตั้งแต่ปี 2500 ในภารกิจการฝึกบินรบทางยุทธวิธีและเมื่อถึงต้นปี 2504 ฝูง.13 จึงได้รับ บ.ข.17 (F-86F SABRE) เข้าประจำการแทน , ฝูง.22 และ ฝูง.23 บน.2 โคกกะเทียม มี บ.ฝ.8 ใช้งานฝูงบินละ 4 เครื่อง ในภารกิจเป็น บ.ฝึกและตรวจสอบฝีมือบิน และยังใช้ในด้านการเป็น บ.ธุรการอีกด้วย โดยที่ บ.รบหลักของทั้ง 2 ฝูงบินนี้คือ บ.ข.15 และเมื่อถึงปี 2505 ทั้ง 2 ฝูงบินจึงได้เลิกใช้งาน บ.ฝ.8 ไป เมื่อ ฝูง.22 ได้รับ บ.ธ.1 (U-10B SUPER COURIER) และ ฝูง.23 ได้รับ บ.ฝ.13 (T-28D TROJAN) เข้าประจำการแทน , ฝูง.43 บน.4 ตาคลี จำนวน 4 เครื่อง ซึ่งเป็นการใช้งานร่วมกับ บ.ข.15 ที่เป็น บ.รบหลักของฝูงบิน แต่เมื่อได้โอน บ.ข.15 ไปให้กับ ฝูง.23 ในปี 2502 จึงได้รับ บ.ฝ.8 มาเพิ่มเติมจนเกือบเต็มอัตราของฝูงบิน และเมื่อถึงปลายปี 2504 ฝูง.43 ก็ได้รับโอน บ.ข.16 หรือ F-84G THUNDERJET จาก ฝูง.12 มาบรรจุประจำการเป็น บ.รบหลักของฝูงบินแทน แต่ก็ยังคงเหลือ บ.ฝ.8 ไว้ประมาณ 4 เครื่องในหมวดบินที่ 5 เพื่อใช้เป็น บ.ฝึกและตรวจสอบฝีมือบิน และงานด้านการบินทางธุรการ ซึ่งต่อมาเมื่อ ฝูง.43 ได้รับ บ.ข.17 F-86F SABRE มาใช้งานแทน บ.ข.16 ในปี 2506 แต่ว่าก็ยังคงมีการใช้งาน บ.ฝ.8 ในภารกิจดังกล่าวต่อมาจนถึงประมาณปี 2512 (แต่ว่าไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ายังคงใช้งานต่อมาจนถึงปี 2515 เลยหรือไม่) , ฝูง.52 และ ฝูง.53 บน.5 ประจวบฯ จำนวน 23 และ 24 เครื่องตามลำดับ ซึ่งในส่วนของ ฝูง.52 นั้นเป็นฝูงบินที่มีการตั้งใหม่ขึ้นในช่วงปี 2501 โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ฝึกให้กับศิษย์การบินชั้นมัธยมของกองโรงเรียนการบิน ฯ ซึ่งนักบินเหล่านี้เป็นนักบินในส่วนที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำการบินกับ บ.ไอพ่น โดยเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกเพิ่มเติมด้วย บ.ฝ.8 ที่ ฝูง.52 แล้ว ก็จะต้องไปทำการฝึกเปลี่ยนแบบสู่ บ.ไอพ่น (Jet Transition) ที่ ฝูง.10 ด้วย บ.ฝ.11 ต่อไปอีก จากนั้นถึงจะได้รับการบรรจุให้เป็นนักบินในฝูง.12 ซึ่งเป็นฝูงบินขับไล่ไอพ่นต่อไป (ถ้ามาเทียบกับในปัจจุบันก็น่าจะเทียบได้กับการฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยมด้วย บ.ฝ.19 หรือ PC-9 ของฝูงฝึกขั้นปลาย ซึ่งเมื่อศิษย์การบินสำเร็จการศึกษาและได้รับการบรรจุเป็นนักบินประจำกองแล้ว นักบินในส่วนที่ได้ถูกคัดเลือกให้ไปทำการบินกับ บ.ไอพ่น ก็จะต้องไปทำการฝึกบินขับไล่/โจมตีขั้นต้นด้วย บ.ขฝ.1 หรือ L-39 ที่ ฝูง.401 และเมื่อสำเร็จการฝึกแล้วก็จะต้องย้ายไปบรรจุในฝูงบินขับไล่ เพื่อทำการบินกับ บ.ขับไล่ไอพ่นอย่าง บ.ข.18 ข/ค (F-5 E/F) หรือ บ.ข.19/ก (F-16 A/B) ต่อไปนั่นเอง) และฝูง.52 นี้คาดว่าจะถูกยุบไปในช่วงปี 2504 เมื่อฝูงฝึกขั้นปลาย กองโรงเรียนการบิน ได้รับ บ.ฝ.12 หรือ T-37B TWEETY BIRD เข้าประจำการในฐานะ บ.ฝึกไอพ่นแบบแรก (ของฝูงฝึกขั้นปลาย กองโรงเรียนการบิน เพื่อใช้สำหรับฝึกศิษย์การบินมัธยมในส่วนของ บ.ไอพ่น) แต่สำหรับ ฝูง.53 นั้นเป็นฝูงบินที่ได้เริ่มใช้งาน บ.ฝ.8 มาตั้งแต่ช่วงปี 2493 - 2494 แล้ว โดยใช้ในภารกิจการบินโจมตี , การบินลาดตระเวนติดอาวุธ และการบินคุ้มกัน ฮ.ส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการทำสงครามปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา ซึ่ง บ.ฝ.8 ของฝูงบินนี้นับว่ามีบทบาทในภารกิจนี้เป็นอย่างมากโดยยังคงมีการใช้งานเรื่อยมาจนถึงปี 2514 จึงได้นำ บ.จฝ.13 (T-28D) มาใช้บรรจุใช้งานแทนแทน , ฝูง.63 บน.6 ดอนเมือง จำนวน 11 เครื่อง ซึ่งฝูงบินนี้เป็นฝูงบินที่มีการบรรจุอากาศยานผสมผสานกันระหว่าง บ. และ ฮ. คือมีทั้ง บ.ฝ.8 , บ.ส.7 (CESSNA 170) , ฮ.1 (S-51) , ฮ.2ก (UH-12B) และ ฮ.3 (S-55 หรือ H-19A) อยู่รวมกันในฝูงบิน โดย บ.ฝ.8 นั้นถูกบรรจุอยู่ในหมวดบินที่ 5 ในภารกิจการฝึกบินรักษาสภาพสำหรับนักบินในส่วนกลาง ซึ่งต่อมาในปี 2506 ได้มีการโอน บ.ฝ.8 ทั้งหมดไปบรรจุใน ฝูง.62 แต่ว่าเมื่อถึงปี 2510 ก็ได้โอนกลับมาบรรจุลงใน ฝูง.63 อีกครั้งจนถึงปี 2512 จึงได้เลิกการใช้งาน , ฝูง.71 บน.7 สัตหีบ จำนวน 32 เครื่อง ซึ่งฝูงบินนี้ถูกตั้งขึ้นมาในปี 2494 โดยที่ บ.ฝ.8 ส่วนหนึ่งนั้นได้มาจาก บ.ที่เคยเป็นของกองบินทหารเรือมาก่อน ฝูงบินนี้มีภารกิจในการบินลาดตระเวนและการบินชี้เป้าหมาย เพื่อสนับสนุนกองทัพภาคที่ 1(ส่วนหน้า) ในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยใช้สนามบินสัตหีบ (ไม่ใช่สนามบินอู่ตะเภานะครับ) และสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นฐานปฏิบัติการ นอกจากนี้ในปี 2504 ฝูง.71 ยังได้ส่งหน่วยบิน บ.ฝ.8 ไปวางกำลังไว้ที่สนามบินอุดรฯ ด้วยเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในประเทศลาวที่อาจลุกลามข้ามเข้ามายังฝั่งไทย ต่อมาเมื่อถึงปี 2510 จึงได้เลิกใช้งาน บ.ฝ.8 เมื่อมีการบรรจุ บ.ต.1 (O-1) และ บ.ธ.1 (U-10B) เข้าแทนที่ และฝูงบินสุดท้ายคือ ฝูงฝึกขั้นปลาย กองโรงเรียนการบิน นครราชสีมา จำนวนประมาณ 30 เครื่อง ซึ่งฝูงบินนี้ได้รับการบรรจุ บ.ฝ.8 มาตั้งแต่ช่วงปี 2493 - 2494 เพื่อใช้สำหรับฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยม จนกระทั่งในช่วงปี 2501 จึงได้ถูกย้ายไปบรรจุในฝูงฝึกขั้นต้น เพื่อใช้ฝึกศิษย์การบินชั้นประถมต่อจาก บ.ฝ.9 (CHIPMUNK) ซึ่งต่อมาฝูงฝึกขั้นต้น โรงเรียนการบิน (เปลี่ยนชื่อจาก “ กองโรงเรียนการบิน ” ในปี 2505 และได้ย้ายจากโคราชเข้าที่ตั้งใหม่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ในปี 2512) ได้กลายเป็นฝูงบินสุดท้ายของ ทอ.ไทย ที่ได้ทำการบินด้วย บ.ฝ.8 แต่ตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมานั้น ทอ.ไทย เหลือฝูงบินที่ใช้งาน บ.ฝ.8 เพียง 2 ฝูงบินเท่านั้นคือ ฝูง.53 บน.5 ประจวบฯ และ ฝูงฝึกขั้นต้น โรงเรียนการบิน กำแพงแสน ซึ่งคาดว่าในขณะนั้นน่าจะมี บ.ที่ใช้งานได้เหลืออยู่รวมกันไม่เกิน 50 เครื่องเท่านั้น แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นคือ พอถึงปี 2514 ฝูง.53 ก็ได้เปลี่ยนไปใช้งาน บ.จฝ.13 แทน ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเหลือแค่ฝูงฝึกขั้นต้น ฯ เพียงฝูงบินเดียวใน ทอ.ไทย ที่ยังใช้งาน บ.ฝ.8 อยู่ (รวมไปถึง บ.ฝ.9 หรือ CHIPMUNK ก็ยังถูกใช้งานอยู่ร่วมกันในฝูงบินนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เก่าไม่แพ้กันเลย) และแม้ว่า บ.ที่เหลืออยู่เป็นชุดสุดท้ายนี้จะเป็น บ.T-6G ที่ได้รับมาในปี 2500 แต่ว่ามันก็ถูกสร้างมาตั้งแต่ปี 2494 แล้ว ( ตรงกับปี ค.ศ.1951 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามเกาหลี) และกำลังจะหมดอายุการใช้งาน อีกทั้งมันยังเป็น บ.ที่ล้าสมัยไปมากแล้วในเวลานั้น และในช่วงหลังๆ ก็มักเกิดข้อขัดข้องในการใช้งาน มีการลงฉุกเฉินนอกสนามบินจากปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องอยู่เสมอๆ ซึ่งนี่ก็ยังไม่รวมไปถึงอุบัติเหตุที่เกิดจากการฝึกบินที่ทำให้ บ.ได้รับความเสียหายอีกหลายครั้ง จน ทอ. ต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดซื้อ บ.ฝึกขั้นต้นแบบใหม่คือ CT-4A Airtrainer หรือ บ.ฝ.16 จากประเทศนิวซีแลนด์ มาใช้งานทดแทน และต่อมาในต้นปี 2517 เมื่อได้รับ บ.ฝ.16 แล้วจึงได้ทำการปลดประจำการ บ.ฝ.8 ไป แต่ว่าช่วงเวลาที่ปลดประจำการ บ.ฝ.8 ที่แน่ชัดนั้น ผมเองไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเป็นเมื่อใดกันแน่ แต่ก็คาดว่าน่าจะเป็นในช่วงปลายปี 2516 นั่นเอง และสำหรับในเรื่องของสีสันและสัญลักษณ์ของ บ.ฝ.8 ในช่วงที่ยังประจำการอยู่นั้น ในส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็น บ.ที่ได้รับการแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของฝูงบินต่างๆ ไว้อย่างหลากหลายมากที่สุด ซึ่งก็มาจากการที่มันได้รับการบรรจุประจำการในหลายๆ ฝูงบินรวมถึงการที่มันได้ประจำการมาอย่างยาวนานนั่นเอง และในเรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้ในนิตยสารท๊อปกัน ฉบับที่ 39 และ 40 (เม.ย. , พ.ค.2544) ซึ่งก็ผ่านมาสิบปีแล้ว นอกจากนี้เมื่อตอนที่ได้ผลิตรูปลอกน้ำ (Decal) สำหรับติดโมเดลเครื่องบินจำลองของ ทอ.ไทย ในชื่อ “ ASI DECAL ” เมื่อปี 2549 ก็มี บ.ฝ.8 หรือ T-6 รวมอยู่ในการผลิตครั้งนั้นด้วย โดยรูปลอกชุดนั้นสามารถให้เลือกทำได้ถึง 10 รูปแบบ (10 Versions) เรียกกันว่าครบทุกฝูงบินเลยทีเดียว ซึ่งนักเล่นโมเดลเครื่องบินโดยเฉพาะตัวไทยหลายๆ ท่านคงจะทราบกันดี สำหรับในตอนท้ายนี้ก็หวังว่าเรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมด จะทำให้ท่านที่สนใจในเรื่องราวของอากาศยานไทยในอดีตได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์บ้างพอสมควร อย่างน้อยถ้าเกิดมีใครมาถามท่านว่าใน ทอ.ไทย นั้น (เคย) มีเครื่องบินแบบใดที่มีจำนวนมากที่สุด ท่านก็จะตอบได้อย่างมั่นใจว่ามันคือ บ.ฝ.8 (T-6 TEXAN) หรือที่เรียกกันว่าในหมู่ทหารอากาศว่า “ ทีซิกซ์ ” นั่นเอง .......................................................... ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/05/2012 11:03:52
ความคิดเห็นที่ 88
next story : www.facebook.com/Asi Sangtong
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
23/06/2012 08:56:40
ความคิดเห็นที่ 89
next story : www.facebook.com/Asi Sangtong
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/07/2012 07:42:33
ความคิดเห็นที่ 90
CHANTRA STORY * บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 231 ม.ค.2555 ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/12/2012 07:20:15
ความคิดเห็นที่ 91
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 233 ก.พ.2555 ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/12/2012 06:42:47
ความคิดเห็นที่ 92
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 234 มี.ค.2555 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/01/2013 06:49:24
ความคิดเห็นที่ 93
CHOCTAW & SEAHORSE STORY ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/01/2013 06:51:42
ความคิดเห็นที่ 94
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 235 เม.ย.2555 ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
03/02/2013 17:52:53
ความคิดเห็นที่ 95
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 236 พ.ค.2555 ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
03/03/2013 13:47:49
ความคิดเห็นที่ 96
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 237 มิ.ย.2555 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/04/2013 07:21:25
ความคิดเห็นที่ 97
BIRD DOG STORY by ASI S. ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/04/2013 07:28:10
ความคิดเห็นที่ 98
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 238 ก.ค.2555 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/05/2013 09:11:14
ความคิดเห็นที่ 99
Nomad Story ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/05/2013 09:13:33
ความคิดเห็นที่ 100
เยี่ยมครับ เป็นกำลังใจในสิ่งดีๆที่มอบให้ครับ
โดยคุณ jeab2511
![]() ความคิดเห็นที่ 101
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 239 ส.ค.2555 ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/05/2013 07:21:21
ความคิดเห็นที่ 102
Bronco story ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/05/2013 07:22:56
ความคิดเห็นที่ 103
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 240 ก.ย.2555 ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/05/2013 08:07:15
ความคิดเห็นที่ 104
Chickasaw Story by ASI S. ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/05/2013 08:09:15
ความคิดเห็นที่ 105
* บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 241 ต.ค.2555 ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/06/2013 07:22:02
ความคิดเห็นที่ 106
by ASI S. ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/06/2013 07:25:22
ความคิดเห็นที่ 107
*บทความเรื่องนี้ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 242 พ.ย.2555 ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/08/2013 07:00:19
ความคิดเห็นที่ 108
Peacemaker Story by ASI S.
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/08/2013 07:01:58
ความคิดเห็นที่ 109
Peacemaker Story by ASI S. ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/08/2013 07:03:55
ความคิดเห็นที่ 110
เรียน ท่านผู้สนใจในเรื่องของเครื่องบินไทยทุกๆท่าน ที่ผ่านมานั้นผมได้นำผลงานเขียนของผมที่ได้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโกระหว่างปี 2554 - 2556 มานำเสนอไว้ในเวบไซด์นี้ โดยเรื่อง "Peacemaker Story" นั้นได้เป็นงานเขียนเรื่องสุดท้าย แต่จริงๆแล้วผมก็ยังมีงานเขียนเก่าๆ ที่เคยเขียนไว้ในช่วงปี 2544 และ 2546 - 2548 ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารท๊อปกันและแทงโกอีกหลายเรื่อง แต่ยังไม่สามารถนำมาลงไว้ในขณะนี้ได้ ดังนั้นในช่วงนี้จะขอนำภาพถ่ายในอดีตของอากาศยานใน กองทัพอากาศไทย มานำเสนอไว้ให้ท่านผู้สนใจได้รับชมกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นจะเป็นการนำภาพที่อยู่ในเฟซบุ๊คของผม (แต่จะเปิดเข้าไปดูได้เฉพาะผู้ที่แอดเป็นเพื่อนกันเท่านั้น) มาลงไว้ โดยจะทยอยมาลงเป็นระยะๆ ตามความสะดวกของผม สำหรับผู้ที่ชมภาพแล้วเกิดสนใจอยากจะเซฟภาพนี้เก็บไว้เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านประวัติศาสตร์หรือด้านอื่นๆ นั้น ก็ขอความกรุณาว่า อย่านำไปแก้ไข ดัดแปลง หรือตัดต่อภาพเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำไปใส่เครดิตเป็นชื่อภาพของตนเอง เพราะกว่าที่จะนำมาเสนอให้ได้ชมกันนั้น ต้องใช้เวลาและความพยายามในการรวบรวมเป็นสิบปี ขอให้เข้าใจในจุดนี้ด้วย จะขอเริ่มด้วยภาพเก่าๆของ F-5A หรือ บ.ข.18 ของฝูง.231 และ 103 และขอขอบคุณที่ติดตามครับ ..... ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/08/2013 10:25:23
ความคิดเห็นที่ 111
102 TFS. " Starfire" ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
14/08/2013 07:44:46
ความคิดเห็นที่ 112
(ภาพแรก) พล.อ.อ.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ทำการบินทดสอบ บ.ข.15(F8F-1 Bearcat) ในปี 2494 , (ภาพที่ 2) ครอบครัวชาวเขาที่เข้ามาชมการแสดงการบินของกองทัพอากาศ(บ.จากฝูง.10และ12)ที่สนามบินเชียงใหม่ ในปี 2502 ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/08/2013 08:41:36
ความคิดเห็นที่ 113
เรื่อง " พระบารมีปกเกล้า " เขียนโดย " 63 " จากนิตยสารการบิน กองบินยุทธการ ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙ กันยายน ๒๕๐๕ ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/09/2013 08:14:39
ความคิดเห็นที่ 114
พระบารมีปกเกล้า ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/09/2013 08:23:33
ความคิดเห็นที่ 115
The Last Real Fighter ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/09/2013 13:39:28
ความคิดเห็นที่ 116
102 & 403 ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/10/2013 07:23:56
ความคิดเห็นที่ 117
Shark & Thunder ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/10/2013 14:32:54
ความคิดเห็นที่ 118
Tiger & Shark ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/10/2013 07:51:00
ความคิดเห็นที่ 119
Dragonfly & Tweety Bird ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/11/2013 11:09:07
ความคิดเห็นที่ 120
King Cobra ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
11/11/2013 08:52:46
ความคิดเห็นที่ 121
History of King Cobra ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/11/2013 08:52:35
ความคิดเห็นที่ 122
Sabre ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/11/2013 07:03:24
ความคิดเห็นที่ 123
Provider in Action ! ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/12/2013 14:00:27
ความคิดเห็นที่ 124
L-4 & U-10B ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/12/2013 07:22:17
ความคิดเห็นที่ 125
พ.อ.ท.บันลือ ฤทธิสมิต (ร.ท.) กับ T-28 รุ่นแรกของ ทอ.ไทย ที่ได้รับมอบเมื่อปี 2505 (โดยท่านก็เป็นหนึ่งในจำนวนนักบินรุ่นแรกของ บ.แบบนี้ด้วย) ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
20/12/2013 08:14:46
ความคิดเห็นที่ 126
Alba & Alpha ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
03/01/2014 08:18:06
ความคิดเห็นที่ 127
4554 ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
17/01/2014 08:41:32
ความคิดเห็นที่ 128
Orange Tail ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
29/01/2014 07:26:58
ความคิดเห็นที่ 129
Thunder Bull & Comet Bull ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/02/2014 09:08:01
ความคิดเห็นที่ 130
748 & 260 ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
21/02/2014 09:38:50
ความคิดเห็นที่ 131
Old Time at Takhli & khok kathiam Air Base ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/03/2014 10:55:26
ความคิดเห็นที่ 132
Maintenance Times ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
04/04/2014 08:09:17
ความคิดเห็นที่ 133
History of 3rd Wing ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
11/04/2014 08:04:28
ความคิดเห็นที่ 134
Tactical Air Command & Tiger Aerobatic Team ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
21/04/2014 10:01:05
ความคิดเห็นที่ 135
กองบิน 2 1ฺ. Bell-206 (ฮ.ผท.1) 2. UH-1N (ฮ.6ก), S-58T (ฮ.4ก) ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
25/04/2014 09:03:50
ความคิดเห็นที่ 136
Wing 2's Choppers ![]() UH-1H ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
20/05/2014 09:46:30
ความคิดเห็นที่ 137
บ.ข.15 (F8F-1Bearcat) ![]() 1954 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
05/06/2014 08:41:26
ความคิดเห็นที่ 138
UH-12 & Bell 412 ![]() UH-12 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/06/2014 07:27:02
ความคิดเห็นที่ 139
Look Down Shoot Down ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/06/2014 09:12:59
ความคิดเห็นที่ 140
Delivery Day (Sunny Team) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/06/2014 08:17:43
ความคิดเห็นที่ 141
new arrival '1980 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/06/2014 06:58:12
ความคิดเห็นที่ 142
Flying Robot ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/07/2014 06:57:02
ความคิดเห็นที่ 143
Little Python ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
03/07/2014 07:07:18
ความคิดเห็นที่ 144
Trojan in Action
![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
04/07/2014 07:01:56
ความคิดเห็นที่ 145
to 70,000 views ![]() T-41
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/07/2014 07:14:27
ความคิดเห็นที่ 146
Delivery Flight '1988 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/07/2014 08:55:12
ความคิดเห็นที่ 147
Lightning 's Falcon ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/07/2014 07:25:10
ความคิดเห็นที่ 148
The Hunter ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
05/09/2014 11:12:17
ความคิดเห็นที่ 149
103 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/09/2014 08:45:36
ความคิดเห็นที่ 150
กองทัพอากาศไทยในปัจจุบันนี้ครับ
โดยคุณ Nakarin เมื่อวันที่
27/09/2014 00:47:55
ความคิดเห็นที่ 151
Olds Score ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
29/09/2014 07:14:00
ความคิดเห็นที่ 152
สุดยอดเลย ไปหามาจากไหนครับเนี่ย?
โดยคุณ tongwarit
![]() ความคิดเห็นที่ 153
1303/01609 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/12/2014 09:09:18
ความคิดเห็นที่ 154
After 1.2 mach ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
14/03/2015 07:33:49
ความคิดเห็นที่ 155
Two Twele ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/03/2015 09:35:37
ความคิดเห็นที่ 156
last cat ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/04/2015 12:22:13
ความคิดเห็นที่ 157
TIGER & SAM ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
29/04/2015 08:19:00
ความคิดเห็นที่ 158
Lightning Sabre ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/04/2015 07:22:41
ความคิดเห็นที่ 159
Takhli Serpent ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/05/2015 07:31:12
ความคิดเห็นที่ 160
13 sqdn. Texan ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
20/06/2015 06:40:29
ความคิดเห็นที่ 161
in the eyes of Chickasaw ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/06/2015 09:37:27
ความคิดเห็นที่ 162
RTAF HQ in Flood 1952 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/07/2015 09:09:37
ความคิดเห็นที่ 163
Paddy Raven ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/08/2015 09:36:16
ความคิดเห็นที่ 164
Eagle & Son ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/08/2015 07:31:32
ความคิดเห็นที่ 165
Naked Gun ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
12/08/2015 07:13:35
ความคิดเห็นที่ 166
Transition of Spider ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/08/2015 11:24:39
ความคิดเห็นที่ 167
Rising Star // Flt Lt Itthaporn Subhawong (21st RTAF Commander-in-Chief) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/08/2015 09:11:38
ความคิดเห็นที่ 168
Tiny Ass ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/08/2015 07:39:16
ความคิดเห็นที่ 169
Sunny Hawk ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/09/2015 09:10:40
ความคิดเห็นที่ 170
Little BIG ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/09/2015 09:39:29
ความคิดเห็นที่ 171
Eagle Head ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
29/09/2015 09:19:22
ความคิดเห็นที่ 172
THUNDER![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
03/10/2015 08:51:24
ความคิดเห็นที่ 173
Eagle Team ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
12/10/2015 08:46:04
ความคิดเห็นที่ 174
Dart Vader ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/10/2015 06:28:35
ความคิดเห็นที่ 175
Peace Alive ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/10/2015 07:00:21
ความคิดเห็นที่ 176
About to Survive ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/10/2015 07:30:49
ความคิดเห็นที่ 177
West Side Story ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/10/2015 07:13:36
ความคิดเห็นที่ 178
East Side Story ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
05/11/2015 07:10:23
ความคิดเห็นที่ 179
Spiderman ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/11/2015 08:27:54
ความคิดเห็นที่ 180
Thunder Begins ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
20/11/2015 07:40:29
ความคิดเห็นที่ 181
Last Real Cowboy ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
23/11/2015 06:59:55
ความคิดเห็นที่ 182
The Hunter Brothers ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/11/2015 07:12:52
ความคิดเห็นที่ 183
here we go! ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
03/12/2015 08:00:44
ความคิดเห็นที่ 184
We Love The King ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
05/12/2015 07:55:36
ความคิดเห็นที่ 185
piece of mind ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/12/2015 10:33:29
ความคิดเห็นที่ 186
Spitfire : The Secret Service ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/03/2016 09:33:41
ความคิดเห็นที่ 187
Almost Last Flight ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/03/2016 06:58:08
ความคิดเห็นที่ 188
Focus Legend ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
21/03/2016 07:33:24
ความคิดเห็นที่ 189
Bye Bye Humpty Dumpty ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/03/2016 08:26:11
ความคิดเห็นที่ 190
Diamond Chicks ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/04/2016 06:38:52
ความคิดเห็นที่ 191
Four Ship Formation " Lucky Echelon " ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/04/2016 08:34:42
ความคิดเห็นที่ 192
From Urban ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
23/04/2016 09:15:34
ความคิดเห็นที่ 193
It's Five O'Clock Somewhere ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/05/2016 08:46:55
ความคิดเห็นที่ 194
Tiger Family ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/06/2016 07:43:55
ความคิดเห็นที่ 195
Viper Family ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/06/2016 08:25:02
ความคิดเห็นที่ 196
Old Times Scorpion ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
17/06/2016 07:41:32
ความคิดเห็นที่ 197
from Whitehorse & Camel to Lucky ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/06/2016 09:39:32
ความคิดเห็นที่ 198
Focus Family 1982 - 1999 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/06/2016 06:54:32
ความคิดเห็นที่ 199
Remember The Bronco ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/06/2016 07:57:18
ความคิดเห็นที่ 200
THE NON-STOP FIGHTER ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/06/2016 07:20:37
ความคิดเห็นที่ 201
Trojan Family 1962 - 1984 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/06/2016 10:03:09
ความคิดเห็นที่ 202
R.I.P. ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
29/06/2016 10:57:23
ความคิดเห็นที่ 203
Hawkchetti ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/07/2016 09:24:06
ความคิดเห็นที่ 204
Emblem of the King Cobra ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
04/07/2016 08:09:01
ความคิดเห็นที่ 205
Emblem of the Tiger ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/07/2016 08:27:02
ความคิดเห็นที่ 206
from past to future ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
08/07/2016 08:33:33
ความคิดเห็นที่ 207
บทความเรื่อง " แบร์แคทในความเห็นของผม #1 " ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 140 พ.ค.2547 ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
11/07/2016 11:15:39
ความคิดเห็นที่ 208
บทความเรื่อง " แบร์แคทในความเห็นของผม #2 " ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 141 มิ.ย.2547 ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
12/07/2016 06:55:47
ความคิดเห็นที่ 209
บทความเรื่อง " แบร์แคทในความเห็นของผม #3 " ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 142 ก.ค.2547 ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/07/2016 06:51:27
ความคิดเห็นที่ 210
บทความเรื่อง " แบร์แคทในความเห็นของผม #4 " ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 143 ส.ค.2547 ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
14/07/2016 06:34:36
ความคิดเห็นที่ 211
บทความเรื่อง " แบร์แคทในความเห็นของผม #5 " ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารแทงโก ฉบับที่ 144 ก.ย.2547 ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/07/2016 06:16:48
ความคิดเห็นที่ 212
BEARCAT FOREVER ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/07/2016 06:26:59
ความคิดเห็นที่ 213
Four Ship Formation ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/07/2016 10:07:49
ความคิดเห็นที่ 214
๒๘ กรกฎาคม ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2016 09:35:42
ความคิดเห็นที่ 215
County Shark ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/07/2016 08:04:23
ความคิดเห็นที่ 216
13 years of Shark Nose ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/07/2016 07:15:35
ความคิดเห็นที่ 217
UB Tower ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
03/08/2016 07:09:31
ความคิดเห็นที่ 218
AREA 56![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
05/08/2016 09:17:33
ความคิดเห็นที่ 219
REAL MEN LOVES SHARKS ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
08/08/2016 10:10:03
ความคิดเห็นที่ 220
Bell Brothers![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
10/08/2016 10:41:40
ความคิดเห็นที่ 221
STARFIRE '61 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
11/08/2016 08:39:28
ความคิดเห็นที่ 222
Astro Showtime![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
17/08/2016 08:39:35
ความคิดเห็นที่ 223
KING'S FLAG111-11 (ล.๕-๑/๐๘) 1965 - 2016 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/08/2016 09:15:02
ความคิดเห็นที่ 224
HIGHWAY 1O1![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/09/2016 09:44:13
ความคิดเห็นที่ 225
Super Slow![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/09/2016 10:03:12
ความคิดเห็นที่ 226
Pantherman was here![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/09/2016 06:57:17
ความคิดเห็นที่ 227
HEATSEEKER![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
14/09/2016 10:04:26
ความคิดเห็นที่ 228
23113/74-1575 (บข.๑๘-๓๗/๓๑) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/09/2016 11:09:17
ความคิดเห็นที่ 229
PIONEER FALCON ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
29/09/2016 10:26:44
ความคิดเห็นที่ 230
Do you come from a land down under ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
04/10/2016 06:54:10
ความคิดเห็นที่ 231
I'm Tweety Bird![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/10/2016 09:52:43
ความคิดเห็นที่ 232
Flying Seahorse![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
10/10/2016 10:14:20
ความคิดเห็นที่ 233
Live with Shark Teeth![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/10/2016 08:22:09
ความคิดเห็นที่ 234
Landing To Air Force (HS-TLC > 60204)![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/10/2016 08:24:46
ความคิดเห็นที่ 235
FROM DAWN TILL DUSK![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/10/2016 08:27:17
ความคิดเห็นที่ 236
THE GREAT KING![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/10/2016 09:22:17
ความคิดเห็นที่ 237
I Remember U![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
25/10/2016 17:05:25
ความคิดเห็นที่ 238
SAVING HISTORIC HUEY ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/10/2016 14:14:55
ความคิดเห็นที่ 239
Old School![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/10/2016 16:02:47
ความคิดเห็นที่ 240
Today in Memories ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/12/2016 11:25:28
ความคิดเห็นที่ 241
The History of RTAF ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
10/12/2016 10:03:03
ความคิดเห็นที่ 242
Today in Memories * ภาพนี้ถ่ายโดย ร.ท.จตุรงค์ เมืองมณี นักบินของฝูง.11 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/12/2016 10:03:20
ความคิดเห็นที่ 243
Little Flippers ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
17/12/2016 08:08:41
ความคิดเห็นที่ 244
The History of RTAF ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/12/2016 14:48:18
ความคิดเห็นที่ 245
THE BULL BROTHERS ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/12/2016 09:49:36
ความคิดเห็นที่ 246
Emblem of The Legend ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/12/2016 07:56:54
ความคิดเห็นที่ 247
Emblem of The Legend ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/12/2016 07:56:55
ความคิดเห็นที่ 248
CHECKER' 71 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/01/2017 09:50:52
ความคิดเห็นที่ 249
Inspire The Next![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/01/2017 09:06:29
ความคิดเห็นที่ 250
COVER ME ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/01/2017 13:24:58
ความคิดเห็นที่ 251
Once Upon A Time in The Commando West ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
20/01/2017 14:14:01
ความคิดเห็นที่ 252
A Tiger With No Name ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
21/01/2017 11:41:13
ความคิดเห็นที่ 253
The History of RTAF " สมเด็จย่าแห่งปวงชนชาวไทย " สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งทรงพระอิสริยยศ "สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์" ทรงเสด็จเยี่ยมกองบิน 5 (จ.ประจวบคีรีขันธ์) โดยมี น.อ.บัณฑิต โชติชนาภิบาล ผบ.บน.5 และภริยา เฝ้ารับเสด็จฯ ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
25/01/2017 09:36:10
ความคิดเห็นที่ 254
Hold on Tight ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/01/2017 10:48:56
ความคิดเห็นที่ 255
Almost Forgot ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/02/2017 11:10:17
ความคิดเห็นที่ 256
BLADE II ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/02/2017 10:15:02
ความคิดเห็นที่ 257
จ.อ.บันลือ ฤทธิสมิต (ร.ท.) นักบินของฝูง.23 บน.2 โคกกะเทียม ถ่ายภาพกับ บ.ข.15 (F8F-1 BEARCAT) ช่วงประมาณปี 2498 - 2500 โดย บ.เครื่องนี้ได้มีการพ่นชื่อช่างประจำเครื่อง ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาและซ่อมบำรุงติดไว้ด้วย ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/02/2017 15:10:56
ความคิดเห็นที่ 258
The Last Dance ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/02/2017 10:49:53
ความคิดเห็นที่ 259
Permanent Vacation ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/02/2017 10:50:57
ความคิดเห็นที่ 260
The History of RTAF พล.อ.ท.กมล เดชะตุงคะ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายยุทธการ และรักษาราชการเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ (พล.อ.อ./ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์ของกองกำลังกองทัพอากาศไทย ที่เข้าร่วมการประลองความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศ (U.S. - ASIAN FIGHTER WEAPONS CONFERENCE) หรือที่มีชื่อว่า “ FLYING BROTHERS ” ซึ่ง ทอ.สหรัฐฯภาคพื้นแปซิฟิกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในระหว่างวันที่ 24 เม.ย. - 7 พ.ค.2502 ณ ฐานทัพอากาศคล๊าค ประเทศฟิลิปปินส์ โดยท่านได้ขึ้นทำการบินร่วมกับนักบิน ทอ.สหรัฐฯ ด้วย บ.ขับไล่ไอพ่นแบบ F-100F Super Sabre หมายเลข FW994 (F-100F-15-NA s/n 56-3994) ที่มีชื่อเล่นว่า “ JOHNNY ” ของฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 510 (510th Tactical Fighter Squadron) กองบินขับไล่ที่ 405 (405th Fighter Wing) เพื่อทำการบินผ่านกำแพงเสียง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้น่าจะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศไทยได้ว่า ท่านเป็นนักบินไทยคนแรกได้มีโอกาสทำการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
14/02/2017 13:28:18
ความคิดเห็นที่ 261
Let's Fire Again ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/02/2017 18:26:00
ความคิดเห็นที่ 262
Jour au Musée![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
02/03/2017 10:42:14
ความคิดเห็นที่ 263
Delta Dawn![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
20/04/2017 11:39:41
ความคิดเห็นที่ 264
Traveling Panthers![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/05/2017 10:55:23
ความคิดเห็นที่ 265
Memoirs of Wihok![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/06/2017 06:35:55
ความคิดเห็นที่ 266
Rolling Stork![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/07/2017 07:02:21
ความคิดเห็นที่ 267
Perfect Touch![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/08/2017 07:38:53
ความคิดเห็นที่ 268
R E D H O R S E B L V D.![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/09/2017 07:17:33
ความคิดเห็นที่ 269
for the benefits and happiness of the Siamese people![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/10/2017 07:22:29
ความคิดเห็นที่ 270
end of the line![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/11/2017 07:42:02
ความคิดเห็นที่ 271
C O M E T K I D![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/01/2018 10:11:47
ความคิดเห็นที่ 272
VAMPIRE DIARIES![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/01/2018 09:45:50
ความคิดเห็นที่ 273
simple as that![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/02/2018 10:25:04
ความคิดเห็นที่ 274
Southern Panther![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/02/2018 09:51:05
ความคิดเห็นที่ 275
Shark Rider Team![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/03/2018 09:40:47
ความคิดเห็นที่ 276
* ขออภัยรูปใหญ่เกินไปครับ ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/02/2018 10:55:01
ความคิดเห็นที่ 277
ART of RTAF'S SKYTRAIN / DAKOTA![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/02/2018 11:04:28
ความคิดเห็นที่ 278
THE ART OF RTAF'S BEARCAT![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
23/02/2018 10:27:24
ความคิดเห็นที่ 279
Uccello Rosso![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
05/04/2018 10:43:45
ความคิดเห็นที่ 280
Forty and life to go![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
23/05/2018 06:39:55
ความคิดเห็นที่ 281
Time is on my Sidewinder![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/06/2018 09:41:36
ความคิดเห็นที่ 282
Point of Entryรายชื่อนักบิน F-16 ยุคแรก : น.ท.อิทธพร ศุภวงศ์(ผบ.ฝูง.), น.ต.ศรีเชาวน์ จันทร์เรือง(รอง ผบ.ฝูง.), น.ต.วินัย เปล่งวิทยา(นายทหารยุทธการ), น.ต.ชนะ อยู่สถาพร(นายทหารการฝึก), น.ต.ประจิน จั่นตอง, น.ต.แพน มหารักขกะ, น.ต.ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์, น.ต.สุทธิพันธ์ กฤษณะคุปต์, น.ต.ภักดี แสง ชูโต, ร.อ.ทักษพล ณ ลำปาง, ร.อ.ชาญชาย เกิดผล, ร.อ.ธเนศ ชลิตภิรัติ, ร.อ.ประยงค์ เทพรักษ์, ร.อ.ไพฑูรย์ สมัครการ, ร.อ.ธีรวุฒิ บุญเลิศ, ร.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน (ยังมีบางท่านที่ผมจำชื่อท่านไม่ได้หรือรายชื่อตกหล่น จึงต้องขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วยครับ) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/06/2018 09:00:48
ความคิดเห็นที่ 283
inder the Mosquito wing ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/06/2018 09:22:58
ความคิดเห็นที่ 284
Ready to Rock![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/06/2018 09:12:20
ความคิดเห็นที่ 285
SMALL BUT DADDY![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/06/2018 09:37:58
ความคิดเห็นที่ 286
a meow in wonderland![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
04/07/2018 08:54:29
ความคิดเห็นที่ 287
Rock of Ages![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
31/07/2018 10:28:56
ความคิดเห็นที่ 288
Have Bombs will Travel![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
11/08/2018 06:51:49
ความคิดเห็นที่ 289
Dressed to Kill![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
17/07/2018 10:36:24
ความคิดเห็นที่ 290
F i r s t S m a r t ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
21/08/2018 09:42:55
ความคิดเห็นที่ 291
Candle in the Wind![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/09/2018 06:25:31
ความคิดเห็นที่ 292
Lightning strike![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
11/09/2018 09:15:50
ความคิดเห็นที่ 293
Training Day![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/09/2018 06:42:10
ความคิดเห็นที่ 294
How Far ...![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/10/2018 11:15:50
ความคิดเห็นที่ 295
bullet the green sky![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/10/2018 06:21:44
ความคิดเห็นที่ 296
Heavy Duty![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/10/2018 17:24:24
ความคิดเห็นที่ 297
Shine in Time![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
01/11/2018 09:29:22
ความคิดเห็นที่ 298
you're a firework![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
10/11/2018 07:41:09
ความคิดเห็นที่ 299
Old Time Rock and Roll![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
20/11/2018 09:52:07
ความคิดเห็นที่ 300
Popping Pod Market![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/11/2018 09:22:29
ความคิดเห็นที่ 301
Half-Century![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
04/12/2018 16:12:14
ความคิดเห็นที่ 302
All for One ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
25/12/2018 09:57:02
ความคิดเห็นที่ 303
DOWN THE LINE ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/02/2019 11:06:44
ความคิดเห็นที่ 304
big toy ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
03/03/2019 07:54:54
ความคิดเห็นที่ 305
kiss my ass ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
11/03/2019 10:28:15
ความคิดเห็นที่ 306
on the level![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/03/2019 08:39:59
ความคิดเห็นที่ 307
Against the Wind![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
17/05/2019 10:02:04
ความคิดเห็นที่ 308
Don't Shoot Me I'm Only the Flare Dropper![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
17/07/2019 06:19:53
ความคิดเห็นที่ 309
Ram it Down![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
20/07/2019 08:22:59
ความคิดเห็นที่ 310
BAT OUT OF HOME![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
03/08/2019 08:48:42
ความคิดเห็นที่ 311
back to that wild side of life ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/08/2019 10:17:26
ความคิดเห็นที่ 312
the only one serpent ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/08/2019 09:27:04
ความคิดเห็นที่ 313
The Good Old Days ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/08/2019 06:25:46
ความคิดเห็นที่ 314
FAT HAWK ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/08/2019 13:10:56
ความคิดเห็นที่ 315
Chopper ParkThe Lost Wing![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/09/2019 07:05:55
ความคิดเห็นที่ 316
HUEY 50th ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/09/2019 07:14:56
ความคิดเห็นที่ 317
silver duck![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
07/10/2019 07:16:50
ความคิดเห็นที่ 318
Ride the Lightning![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
17/10/2019 09:37:31
ความคิดเห็นที่ 319
like a virgin![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/10/2019 06:25:34
ความคิดเห็นที่ 320
Starfire Farewell'1967![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/11/2019 08:27:59
ความคิดเห็นที่ 321
never send flowers![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/11/2019 10:04:30
ความคิดเห็นที่ 322
be proud( FS1 Saryan K. ) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
21/01/2020 16:07:32
ความคิดเห็นที่ 323
SEVEN YEARS OF THE IVORY![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/01/2020 05:40:32
ความคิดเห็นที่ 324
give my best to my foe ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/02/2020 06:10:09
ความคิดเห็นที่ 325
welcome to the jungle ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
15/02/2020 08:16:53
ความคิดเห็นที่ 326
Tiger Members ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
23/02/2020 07:15:23
ความคิดเห็นที่ 327
Guiding Light ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
16/03/2020 14:10:09
ความคิดเห็นที่ 328
Pictured life from yesterday ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/03/2020 13:23:48
ความคิดเห็นที่ 329
The Hero ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
09/04/2020 07:02:56
ความคิดเห็นที่ 330
Young Guns![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
14/04/2020 07:24:49
ความคิดเห็นที่ 331
Clarktor and the Fat Boy![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/04/2020 06:38:54
ความคิดเห็นที่ 332
" The First of King Cobra "
![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
22/04/2020 06:52:27
ความคิดเห็นที่ 333
SKYEYE STORY ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/02/2022 09:01:02
ความคิดเห็นที่ 334
SKYEYE STORY ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/02/2022 09:06:47
ความคิดเห็นที่ 335
ขอแก้ไขครับ ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
18/02/2022 09:20:21
ความคิดเห็นที่ 336
Spider Migration ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/04/2022 14:54:32
ความคิดเห็นที่ 337
The Pride of Lightning ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/04/2022 14:55:55
ความคิดเห็นที่ 338
Time for Me to Fly ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/04/2022 14:57:05
ความคิดเห็นที่ 339
" The 1st King Cobra of Takhli " ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/04/2022 14:58:41
ความคิดเห็นที่ 340
" From Udorn with Love " ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
06/04/2022 14:59:41
ความคิดเห็นที่ 341
leave no man behind ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/04/2022 11:16:37
ความคิดเห็นที่ 342
born to be wild ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/04/2022 11:18:19
ความคิดเห็นที่ 343
Shabby Brothers ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/04/2022 11:19:27
ความคิดเห็นที่ 344
Power in the Bull ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/04/2022 11:20:30
ความคิดเห็นที่ 345
as far as the eye can see ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
19/04/2022 11:21:12
ความคิดเห็นที่ 346
Flag of the King ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/04/2022 13:52:22
ความคิดเห็นที่ 347
bunch of dead ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/04/2022 13:53:00
ความคิดเห็นที่ 348
Last Batch of Takhli ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/04/2022 13:53:51
ความคิดเห็นที่ 349
Firefighters ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/04/2022 13:54:31
ความคิดเห็นที่ 350
น.ท.สมปอง มณีศิลป์ (พล.อ.อ.ปอง มณีศิลป์ : อดีต ผบ.ทอ. ท่านที่ 18 ระหว่าง 1 ต.ค.2543 ถึง 30 ก.ย.2545) ผบ.ฝูง.202 บน.2 ลพบุรี ระหว่าง 1 ต.ค.2524 ถึง 30 ก.ย.2527 (แต่สมัยนั้นจะใช้ชื่อตำแหน่งว่า "ผบ.บน.2 ฝูง.202") โดยท่านรับตำแหน่ง ผบ.ฝูงบินต่อจาก น.ท.รังสรรค์ ทีขะระ (พล.อ.อ.รังสรรค์ ทีขะระ : อดีตรองเสนาธิการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด) สำหรับภาพนี้ถ่ายที่ลานจอด บ.ของฝูง.202 แต่ไม่ได้ระบุวันที่ถ่าย แต่ก็คาดว่าจะเป็นช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่ง ผบ.ฝูงบินนั่นเอง ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
24/04/2022 13:57:30
ความคิดเห็นที่ 351
for Modeler ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
25/04/2022 07:46:27
ความคิดเห็นที่ 352
Huey of The Kings ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
25/04/2022 07:47:34
ความคิดเห็นที่ 353
Time Flies ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
25/04/2022 07:48:34
ความคิดเห็นที่ 354
goodbye huey 53 years in RTAF ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
25/04/2022 07:50:43
ความคิดเห็นที่ 355
Goodbye Mescalero ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
25/04/2022 07:51:48
ความคิดเห็นที่ 356
Year of the Tiger ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/04/2022 09:14:12
ความคิดเห็นที่ 357
Valley of the Mosquito ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/04/2022 09:15:41
ความคิดเห็นที่ 358
Delta Dawn ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
26/04/2022 09:16:34
ความคิดเห็นที่ 359
ข้าคือแซม เชื่อว่าในปัจจุบันคงแทบจะไม่มีใครรู้จักนักบินท่านนี้อีกแล้ว แต่ในอดีตเมื่อ60กว่าปีที่แล้ว นี่คือนักบินที่มีฝีมือและชื่อเสียงเป็นลำดับต้นๆของกองทัพอากาศไทยเลยทีเดียว ผมคงไม่ไปล้วงลึกถึงประวัติส่วนตัวอะไรของท่าน แต่คงจะพูดถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบินซึ่งเป็นอะไรที่อยู่ในจิตวิญญาณของท่านมาตั้งแต่สมัยเป็นนักบินหนุ่ม จากการที่ในปี2495 ท่านได้เป็นลูกทีมของหมู่บินผาดแผลงหมู่บินแรกของกองทัพอากาศไทย ขณะที่ท่านมียศเรืออากาศโท ซึ่ง บ.ที่ใช้ทำการบินแสดงก็คือ บ.ข.15(F8F-1 BEARCAT) จำนวน4เครื่อง โดยมี น.ต.เฉลิม ทีวะเวช ผบ.ฝูง.2พิเศษ บน.1 ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหมู่บิน ซึ่งปีต่อมาก็ได้เพิ่มจำนวนเป็นหมู่6 อีกด้วย ต่อมาเมื่อกองทัพอากาศไทยได้รับ บ.ขับไล่ไอพ่นแบบแรกคือ บ.ข.16 (F-84G THUNDERJET)เข้าประจำการในปี2499 ท่านก็ได้เปลี่ยนไปทำการบินกับ บ.แบบใหม่จนต่อมาก็ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้บังคับฝูงบินอีกด้วย ในช่วงนั้นไม่มีใครที่ไม่รู้จักแซม เพราะท่านเป็นผู้จัดตั้งหมู่บินผาดแผลงขึ้นและเป็นยังผู้นำหมู่บิน โดยช่วงแรกใช้ บ.จำนวน4เครื่องจนต่อมาก็ได้เพิ่มจำนวนเป็นหมู่7 และในปี2501หมู่บินผาดแผลงหมู่9 (Tiger) ก็ได้ทำการบินแสดงให้ชาว ทอ.และประชาชนคนไทยได้รับชมในงานวันกองทัพอากาศ จนเป็นที่เลื่องลือถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมของนักบินไทย ในปี 2502 และ2503 ท่านได้เป็นผู้นำหน่วยบิน บ.ข.16 ของบน.1 บินเดินทางไปเข้าร่วมทำการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศระหว่างชาติพันธมิตรซีโต้ (SEATO) ที่มีชื่อว่า “FLYING BROTHER” ที่กองบินขับไล่ที่ 405 ของ ทอ.สหรัฐฯ ณ ฐานทัพอากาศคล๊ากส์ ประเทศฟิลิปปินส์ โดยทั้งสองครั้งนี้ ทอ.เราจำต้องใช้ บ.ที่ถือว่ามีสมรรถนะต่ำที่สุดเข้าร่วมแข่งขัน แต่ว่ามันก็คือ บ.รบที่ดีที่สุดเท่าที่เรามีในตอนนั้นแล้ว ส่วนชาติอื่นๆในตอนนั้นได้ใช้ บ.ที่สมรรถนะสูงกว่าอย่าง F-86F SABRE และ F-100 SUPER SABRE กันไปแล้ว ต่อมาเมื่อกองทัพอากาศไทยได้รับ บ.ขับไล่ไอพ่นที่ทันสมัยกว่าเข้าประจำการในปี2504 ซึ่งก็คือ บ.ข.17 (F-86F SABRE) ท่านก็ได้เปลี่ยนไปทำการบินกับ บ.แบบใหม่และยังได้เป็นผู้นำหน่วยในช่วงปีแรกๆอีกด้วย และท่านก็ได้จัดตั้งหมู่บินผาดแผลงขึ้นอีกครั้งและยังคงเป็นผู้นำหมู่บินเองด้วย โดยได้รวมนักบินที่มีฝีมือระดับสุดยอดของ บน.1 และได้เคยร่วมหมู่บินด้วยกันมาตั้งแต่ตอนที่ยังใช้ บ.ข.16 มาร่วมบินด้วยกันอีกครั้ง จนสามารถทำการบินผาดแผลงด้วยหมู่9ได้ และในปี2505 นั้นเป็นช่วงสูงสุดและถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์การบินผาดแผลงหมู่ในประเทศไทย เพราะสามารถทำการบินหมู่ผาดแผลง ด้วย บ.ถึง12เครื่องได้สำเร็จ ซึ่งหมู่บินTiger หมู่12 นี้ได้ทำการบินแสดงให้บรรดาชาติพันธมิตรซีโต้ชมในระหว่างการฝึกร่วม AIR COBRA ให้ได้เห็นถึงศักยภาพของนักบินไทยอีกด้วย (ซึ่งนอกจากตัวท่านที่เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรแล้ว ลูกหมู่ที่เหลือทั้งหมดก็ล้วนแต่เป็นนักบินประทวนชั้นยศพันจ่าอากาศทั้งสิ้น จนพอขยายมาเป็นหมู่12 จึงได้คัดเลือกนายทหารนักบินชั้นสัญญาบัตรเข้าร่วมอีก3ท่าน ซึ่ง1ใน3ท่านนั้นต่อมาได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศอีกด้วย // ภาพยนต์การแสดงการบินหมู่12 เมื่อปี2505นี้ ผมได้นำไปลงไว้ในyoutubeนานมาแล้วครับ) ภายหลังเมื่อท่านได้รับพระราชทานยศสูงขึ้นและต้องย้ายไปรับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่น เรื่องราวทางการบินจึงได้ค่อยๆยุติลงไป แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านต้องจากไปโดยที่ยังไม่ทันได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพอากาศด้วยเหตุจากเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับภาพนี้ถ่ายในปี2503 ขณะเตรียมขึ้นบินเดินทางเพื่อไปเข้าร่วมทำการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ “FLYING BROTHER” ที่ฐานทัพอากาศคล๊ากส์ ประเทศฟิลิปปินส์ สังเกตว่า บ.ข.16 (หมายเลข 1241)ที่ท่านได้เลือกใช้เป็น บ.ประจำตัวในการแข่งขันฯเครื่องนี้ ได้ให้ จนท.ช่างทำการเขียนคำว่า “HONEY SAM” เพิ่มลงไปด้วย สำหรับผมถ้ามีใครถามความเห็นว่าท่านเป็นยังไง ก็ขอตอบได้เลยว่านี่แหละคือ สุดยอดนักบินฝีมือลำดับต้นๆในประวัติศาสตร์การบินของประเทศไทยเลยครับ @ น.อ.สำราญ แย้มศรีบัว ... ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2022 06:56:08
ความคิดเห็นที่ 360
Shark & Scorpion EX AIR THAMAL'96 ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2022 06:57:29
ความคิดเห็นที่ 361
Blur de Takhli ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2022 07:00:19
ความคิดเห็นที่ 362
STARFIRE TEAM '1983 (แข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ 2526) จากซ้าย : น.ต.พิธพร กลิ่นเฟื่อง, ร.ท.สถาพร เจริญศิริ, ร.ท.มนตรี ศรีวัฒน์, ร.อ.ทักษพล ณ ลำปาง ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2022 07:01:46
ความคิดเห็นที่ 363
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ" ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
28/07/2022 07:02:57
ความคิดเห็นที่ 364
the First Tour of Sabre เป็นครั้งแรกที่ชาวอุบลราชธานีมีโอกาสได้เห็น บ.ข.๑๗ (F-86F SABRE) อย่างใกล้ชิด เมื่อ บน.๑ได้ส่งหน่วยบิน บ.ข.๑๗ ของฝูง.๑๓ มาทำการฝึกบินนอกที่ตั้งเป็นครั้งแรกในระหว่าง ๑๔ เม.ย.-๖ พ.ค.๒๕๐๔ ภายหลังจากบรรจุเข้าประจำการได้ไม่นาน ซึ่งนอกจากการมาฝึกบินตามแผนที่วางไว้แล้ว ยังเป็นการมารอรับหมู่บิน บ.ข.๑๗ ที่จะกลับจากการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศระหว่างชาติพันธมิตรซีโต้ (Flying Brothers) ที่ฐานทัพอากาศคล๊ากส์ ประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/10/2022 06:36:37
ความคิดเห็นที่ 365
ผู้บัญชาการทหารอากาศและคณะ ตรวจราชการที่กองบิน ๔ ตาคลี เมื่อปี๒๕๐๘ ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/10/2022 06:38:12
ความคิดเห็นที่ 366
VENUS FAMILY ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
13/10/2022 06:39:40
ความคิดเห็นที่ 367
have gun will travel ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/11/2022 11:15:12
ความคิดเห็นที่ 368
จงอางแห่งตาคลี by ASI S เมื่อหลายปีก่อนผมได้เคยเขียนเรื่องราวที่มีชื่อเดียวกันกับเรื่องนี้ไว้ในนิตยสารแทงโก แต่ในเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องของประวัติความเป็นมาของรูปงูจงอางที่ได้ถือกำเนิดขึ้นและถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของกองบินน้อยที่ 4 หรือกองบิน 4 ในปัจจุบันนี้ และสัญลักษณ์รูปงูจงอางได้ถูกนำมาวาดหรือพ่นติดไว้บนอากาศยานที่ได้บรรจุเข้าประจำการในกองบิน 4 หลายแบบ ทั้งที่เคยประจำการและได้ปลดประจำการไปแล้ว และที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน (บ.ข.19/ก : F-16 A/B) แต่ในวันนี้ผมจะเจาะลงไปถึงอากาศยานแบบหนึ่งที่ได้มีการออกแบบรูปงูจงอางพ่นติดไว้ ซึ่งอากาศยานแบบนี้ได้มีการออกแบบรูปงูจงอางไว้ถึง3แบบในช่วงเวลา3ปีคือ ตั้งแต่ปี 2506 มาจนถึงปี2508 ซึ่งอากาศยานแบบที่ว่านั้นก็คือ เครื่องบินขับไล่แบบที่ 17 หรือ บ.ข.17 (F-86F SABRE)นั่นเอง บ.ข.17 (F-86F SABRE) ของฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 43 กองบิน 4 ตาคลี ได้รับมอบมาใช้งานในปี2506 โดยเป็นการรับโอนต่อมาจากฝูง.12 บน.1 ซึ่งเมื่อได้รับโอนมาแล้วก็ได้ทำการลบสัญลักษณ์รูปเสือกระโจน (หรือจะเรียกว่า “เสือเผ่น” ก็ตามแต่จะเรียกกัน เพราะจริงๆแล้วคำเต็มมันก็มาจากคำว่า “เผ่นโผนโจนทะยาน” นั่นเอง) และรูปดาวเพลิงที่แพนหางดิ่งออก(สำหรับตรงนี้ผมมักจะได้ยินบางคนเรียกว่า “ดาววิ่ง” ซึ่งอันนี้ไม่น่าจะถูกต้องซักเท่าไหร่นัก เพราะตอนนั้นเค้าได้ใช้นามเรียกขานหรือ callsign ว่า “Starfire” ซึ่งควรจะแปลว่า “ดาวเพลิง”มากกว่า อีกทั้งเพลงมาร์ชกองบิน1 ก็ยังมีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า “ตาหมากรุก ดาวเพลิง สายฟ้า เร็วไว” อีกด้วย) และวาดสัญลักษณ์รูปงูจงอางไว้แทน ส่วนที่แพนหางดิ่งได้พ่นแถบสีเขียวตัดขอบด้วยเส้นสีขาวและสีน้ำเงินและมีรูปเครื่องหมายกองบิน4 อยู่ตรงกึ่งกลางของแถบนี้ แต่จุดที่ทำให้มันดูเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษนั่นก็คือ การที่มีแถบสีเขียวตัดขอบด้วยเส้นสีขาวและสีน้ำเงินในลักษณะพาดเฉียงไปกลางลำตัว โดยมีรูปดาวสีขาวจำนวนสี่ดวงอยู่ในแถบนี้ด้วย ซึ่งก็ทำให้มันดูสวยงามยิ่งขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งผมจะขอเรียกสีและลวดลายแบบนี้ว่าเป็นแบบเจนเนอเรชั่นที่ 1 หรือ Gen 1เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงวิวัฒนาการในเรื่องสีสันและรูปแบบของลวดลายได้ง่ายขึ้นและไม่ทำให้สับสนอีกด้วย สำหรับรูปงูจงอางที่ส่วนหัวของบ.ใน Gen นี้นั้นถือว่ามีขนาดใหญ่พอสมควรเลยทีเดียว เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับแบบหลังๆ แต่ผมมีข้อสังเกตในเรื่องนี้อย่างนึงคือ มันน่าจะไม่ใช่การบังพ่นทุกขั้นตอนด้วยแผ่นฉลุลาย(stencil)ทั้งหมดเหมือนอย่างของ บ.ข.16 หรือ F-84G Thunderjet แต่จะเป็นการลงสีและลวดลายด้วยพู่กัน ลงบนโครงสร้างรูปงูจงอางที่เป็นการบังพ่นด้วยแผ่นฉลุลาย(stencil)มากกว่า เพราะเท่าที่ผมได้พิจารณาดูรูปถ่ายหลายๆรูป ก็พบว่า บ.แต่ละลำจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการลงสีและลายเส้นพอสมควรครับ แต่มีเรื่องนึงที่ทำให้หลายๆคนเข้าใจผิดมาจนถึงทุกวันนี้คือ การที่คิดว่าลวดลายและสีใน Gen นี้ นั้นเป็นตัวที่ทำขึ้นมาในวาระพิเศษ คือทำมาเพื่อส่งไปเข้าร่วมการประลองยุทธ์ทางอากาศระหว่างชาติพันธมิตร SEATO ที่มีชื่อว่า “FLYING BROTHER” ณ ฐานทัพอากาศคล๊ากส์ (CLARK AFB) ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งตรงนี้ขอบอกเลยว่าไม่ใช่แน่นอนครับ เพราะ บ.ข.17หรือ F-86F ที่ส่งไปเข้าร่วมฯนั้น มีอยู่เพียง2ครั้งคือในปี 2504และ2506 (เว้นการจัดการแข่งขันฯในปี2505 และหลังปี2506 ไปแล้วก็ได้ยกเลิกจัดการแข่งขันฯ อย่างถาวร เนื่องจากกำลังทางอากาศของ ทอ.สหรัฐฯในภาคพื้นแปซิฟิคต้องเข้าร่วมทำสงครามเวียดนามอย่างเต็มตัว) โดยทั้ง2ครั้งนั้นได้ใช้ บ.จากฝูง.13 เท่านั้น ส่วน บ.ข.17หรือ F-86Fของฝูง.43 นั้นไม่เคยถูกส่งไปครับ (*ส่วนก่อนหน้านี้คือในปี2502และ2503 ทอ.ไทยก็ได้ส่ง บ.ข.16 หรือ F-84G Thunderjet จากฝูง.12เข้าร่วมการแข่งขันฯมาก่อนครับ) และลวดลายและสีสันใน Gen 1นี้ก็ทำกับ บ.ทุกลำในฝูงด้วย ไม่ใช่เลือกทำเพียงบางลำ ส่วนการใช้งานในรูปแบบนี้เท่าที่เห็นก็จะอยู่ระหว่างกลางปี2506มาจนถึงต้นปี2508ครับ สำหรับสีและลวดลายแบบต่อมานั้น ผมจะขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่าเป็นแบบเจนเนอเรชั่นที่ 2 หรือ Gen 2 โดยออกแบบและนำมาใช้ในช่วงต้นปี2508 รูปแบบนั้นจะเป็นการพ่นสีโดยการใช้แผ่นฉลุลาย(stencil)บังพ่นเพียงชั้นเดียวและสีที่ใช้ก็จะมีเพียงสีเดียวคือ สีดำเท่านั้น ซึ่งทำให้การทำสีในรูปแบบนี้ทำได้เร็วกว่ารูปแบบแรกหรือ Gen 1 พอสมควร และข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดเจนคือ ทั้งรูปงูที่ส่วนหัวกับที่แพนหางดิ่งนั้นจะใช้แผ่นฉลุลาย(stencil) อันเดียวกัน จึงทำให้มันมีความเหมือนกันทุกประการ เพียงแต่ตรงแพนหางดิ่งนั้นจะทำเป็นพื้นรูปวงกลมสีฟ้าอ่อนรองรับรูปงูนี้ไว้เพื่อให้เกิดความเด่นชัดขึ้นนั่นเอง แต่รูปแบบ Gen 2 นี้มีอายุสั้นมากเพียงไม่ถึงครึ่งปีก็ถูกแทนที่ด้วยรูปแบบในเจนเนอเรชั่นที่ 3 หรือ Gen 3 ซึ่งเหตุผลมาจากเรื่องใดนั้นคงไม่มีใครจะมาตอบได้อีกแล้ว และรูปแบบที่เข้ามาแทนที่ต่อมานั้นเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 หรือ Gen 3 เริ่มพบเห็นตั้งแต่กลางปี2508เป็นต้นมา รูปแบบนี้ขนาดของงูที่ส่วนหัวนั้นมีขนาดใกล้เคียงกับของ Gen 2 แต่ที่แตกต่างก็คือรายละเอียดและสีที่ใช้ ซึ่งแบบ Gen 3นี้จะเห็นว่ามีรายละเอียดของลายเส้นสูงมาก เพราะสามารถเห็นถึงเกล็ดที่หัวและลำตัวอย่างชัดเจนเลยทีเดียว อีกทั้งยังทำแผ่นฉลุลาย(stencil)แยกออกมาเป็นแต่ละสีอีกด้วย ซึ่งคิดว่าต้องมีแผ่นฉลุลาย(stencil)ไม่น้อยกว่า 4ชิ้นหรือ 4 ชั้นแยกตามสีเลยทีเดียว ส่วนที่แพนหางดิ่งได้มีการพ่นแถบสามเหลี่ยมสีเขียวตัดขอบด้วยเส้นสีขาวและสีน้ำเงิน โดยเส้นขอบนี้จะออกแบบให้มีลักษณะเส้นเรียวสอบลงที่ตรงส่วนปลายอีกด้วย (ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า บ.หลายๆแบบของฝูง.43 ก่อนหน้านี้เช่น บ.ข.15(F8F-1 Bearcat), บ.ข.16(F-84G Thunderjet) และ บ.ฝ.8(T-6 Texan)ก็ได้ใช้สีเขียวพ่นที่ส่วนหัว ปลายปีก และบนแพนหางดิ่งอีกด้วย ซึ่งก็เพราะว่าสีเขียวนี้คือ สีประจำฝูงบิน43 รวมไปถึงกองบิน 4 ด้วยนั่นเอง) นอกจากนั้นยังมีรูปอาร์มกองบินยุทธการพ่นติดไว้ที่แพนหางดิ่งอีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ช่วงท้ายๆของการประจำการของ บ.ข.17 ที่ฝูง.43 ซึ่งถือเป็นเซเบอร์ฝูงสุดท้ายของ ทอ.ไทยนั้น จะพบว่ารายละเอียดของรูปสัญลักษณ์ต่างๆบนลำตัวเช่นรูปงูจงอางหรือรูปอาร์มกองบินยุทธการนั้นได้ค่อยๆหายไปจากลำตัวของมัน จะเหลือไว้ก็ก็แต่แถบสามเหลี่ยมสีเขียวที่แพนหางดิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝูงบินอันสุดท้ายที่เหลืออยู่ (แต่ก็พบว่ามี บ.หลายลำที่เส้นขอบสีขาวและสีน้ำเงินได้หายไปด้วย เหลือไว้แต่เพียงแถบสามเหลี่ยมสีเขียวเท่านั้น) และเท่าที่สังเกตจากรูปถ่ายหลายๆรูปนั้นคาดว่าหลังปี2512 หรือก็คือตั้งแต่ปี2513 เป็นต้นมานั้นจะไม่มี บ.ที่ยังใช้งานได้ลำไหนจะมีรูปงูจงอางที่ส่วนหัวให้เห็นอีกต่อไปแล้ว ที่ผ่านมาผมได้ศึกษาเรื่องราวของประวัติศาสตร์รวมทั้งศิลปะบนลำตัวของอากาศยาน ทอ.ไทยมานานหลายปีพอสมควร และพยายามที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ผ่านทางการนำเสนอเป็นบทความทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโซเชี่ยล และยังรวมไปถึงการที่ได้เคยทำผลิตภัณฑ์รูปลอกน้ำสำหรับติดชุดประกอบพลาสติกจำลองหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “รูปลอกตัวไทย”นั่นเอง แต่เรื่องที่กล่าวมานั้นก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ซึ่งในวันนี้เรื่องราวเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ผมคิดว่าการนำเสนอเรื่องราวในลักษณะนี้ก็อาจจะเป็นการจุดประกายให้คนในรุ่นหลังได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น รวมถึงการทำให้มันมีความถูกต้องตรงตามความเป็นจริงอย่างที่ได้เคยเกิดขึ้นมาในอดีตนั่นเอง... ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
30/11/2022 11:21:12
ความคิดเห็นที่ 369
T-6 TEXAN (true) ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
21/01/2023 06:40:31
ความคิดเห็นที่ 370
“ ROAR ” เสียงคำรามดังกึกก้องไปทั่วท้องฟ้าเหนือสนามบินดอนเมือง เมื่อหมู่บิน บ.ข.17 (F-86F Sabre) ของกองบินน้อยที่ 1 ดอนเมือง ที่มีชื่อว่า“ Tiger ” ได้ทำการบินหมู่ผาดแผลงด้วย บ.จำนวน 12เครื่อง โดยเป็นการบินแสดงระหว่างการฝึกร่วมระหว่างชาติพันธมิตรซีโต้ที่ใช้ชื่อว่า " AIR COBRA " ในช่วงเดือนเมษายน 2505 รายชื่อนักบินของหมู่บินนี้ประกอบไปด้วย หมายเลข 1(หรือหัวหน้าหมู่บิน) คือ น.ท.สำราญ แย้มศรีบัว, หมายเลข 2 พ.อ.อ.ถนอม พวงเดช, หมายเลข 3 พ.อ.อ.ธรรมนูญ เบญจกุล, หมายเลข 4 พ.อ.อ.สุเทพ คำคุณ, หมายเลข 5 พ.อ.อ.สามารถ เปี่ยมศรี, หมายเลข 6 พ.อ.อ.เกษม เรืองเดช, หมายเลข 7 พ.อ.อ.มณี มูลนาค, หมายเลข 8 พ.อ.อ.วิฑูรย์ โคตรวิชัย, หมายเลข 9 พ.อ.อ.ไสว อินตะนัย, หมายเลข 10 ร.ท.สุนทร อาญาสิทธิ, หมายเลข 11 ร.ท.กันต์ พิมานทิพย์ และหมายเลข 12 ร.ท.ประสูตร คำสิทธิ หมู่บินนี้ได้เริ่มทำฝึกทำการบินเกาะหมู่โดยเริ่มมาตั้งแต่หมู่ 4 จนมาเป็นหมู่ 7 และได้กลายมาเป็นหมู่ 9เครื่องตั้งแต่ปลายปี2504 และได้มีโอกาสทำการบินหมู่ผาดแผลงด้วย บ.จำนวน 12เครื่องในที่สุด ซึ่งต้องขอบอกว่านี่คงเป็นเพียงครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การบินของกองทัพอากาศไทย เพราะภายหลังนั้นการบินหมู่ผาดแผลง บ.ข.17(ทั้งของบน.1 และบน.4) นั้นก็กลับไปทำการบินหมู่ด้วย บ.จำนวน 9เครื่องตามเดิม และเชื่อว่าหลายท่านที่สนใจในเรื่องเหล่านี้คงจะเคยมีโอกาสได้ชมภาพยนต์ที่ถ่ายทำการบินหมู่ผาดแผลงในครั้งนี้ ซึ่งผมได้นำไปลงใน YouTube ไว้เมื่อราว10ปีที่แล้ว ซึ่งนั่นคือหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่านักบินของ ทอ.ไทยในยุคสมัยนั้น มีฝีมือการบินที่ยอดเยี่ยมจนได้รับการยอมรับจากชาติพันธมิตรเป็นอย่างมาก แต่ที่น่าเสียดายคือคุณภาพของภาพยนตร์ในตอนที่นำไปลงไว้นั้น ค่อนข้างจะมีปัญหาด้านความชัดเจนเป็นอย่างมาก เพราะต้องแปลงภาพจากฟิล์มภาพยนตร์ขาวดำขนาด 16 มม.ที่มีสภาพชำรุดไปสู่ม้วนวิดีโอเทป และกว่าที่จะนำวิดีโอเทปนั้นไปแปลงภาพไปสู่ไฟล์ภาพดิจิตอลนั้นก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี (ท่านที่สนใจจะชมก็ให้เข้าไปที่ YouTube แล้วค้นหาด้วยการพิมพ์คำว่า “ RTAF F-86F ” ได้เลยครับ) และแม้ว่าเรื่องราวเหตุการณ์นี้จะล่วงเลยผ่านกาลเวลามานานถึง60ปีแล้วก็ตาม แต่ว่ามันก็ยังคงเป็นตำนานอันน่าภาคภูมิใจของกองทัพอากาศไทยไปอีกนานแสนนานครับ ... ![]()
โดยคุณ onn40 เมื่อวันที่
27/01/2023 10:54:58
|