ทีม thaireform
มีคำถามนานัปการเกี่ยวกับการจัดหายุทโธปกรณ์ ของกองทัพ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังช่วงการปฏิวัติรัฐประหาร เดือนกันยายน 2549 เริ่มตั้งแต่การจัดหาเครื่องบินขับไล่ “กริฟเฟ่น” เข้าประจำการที่ กองบิน 7 จำนวน 1 ฝูงบิน โดยจัดหา 2 ระยะ ทว่าโครงการนี้ผ่านฉลุยด้วยการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็น บวกกับประสิทธิภาพของเครื่องบินในเจนเนอเรชั่นที่ 4.5 ที่พอจะมีน้ำหนักใน การจัดหาเข้าประจำการ
แต่กริฟเฟ่น ไม่ได้เป็น “บิ๊ก โปรเจ็คส์” โครงการเดียวที่กองทัพจัดหา แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังเข้าคิวในการเข้าประจำการ เพราะได้มีการทยอยอนุมัติงบประมาณ และ โครงการ หลังช่วงการปฏิวัติรัฐประมาณเมื่อปี 2549 อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่เข้าประจำการ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนาดกลาง MI-17 V5 จำนวน 3 เครื่อง วงเงิน 995 ล้านบาทได้เข้ามาประจำการที่กองทัพบก เพื่อใช้ทดแทน ฮ. ชีนุก ที่มีปัญหาเรื่องซ่อมบำรุงและอะไหล่ทดแทน กองทัพบกยังได้ ดำเนินการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ UH-60 - M / Black Hawk เพื่อใช้ในภารกิจด้านยุทธการ และ ยุทธวิธี เพิ่มเติมอีก 3 เครื่อง วงเงินกว่า 3 พันล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวบรรจุอยู่ในแผนงบประมาณปี 2554 แล้วขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ทั้งนี้กองทัพบก มี เฮลิคอปเตอร์ UH-60 - L /Black Hawk ประจำการแล้ว 7 เครื่อง เมื่อครั้งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก และ ได้รับการอนุมัติจัดหาเพิ่มเติมไปแล้วเมื่อ ปีงบประมาณ 2553 ซึ่งเป็นรุ่น L อีก 3 เครื่อง วงเงิน ประมาณ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการผลิตเพื่อส่งมอบให้ กองทัพบกไทยในปีหน้า นอกจากนั้น กองทัพบกยังรอการอนุมัติการจัดซื้อ เฮลิคอปเตอร์ Black Hawk รุ่น M จากที่สภาฯสหรัฐเสนอ โดยกองทัพจัดหาตามแผนงบฯ ปี 54นี้เป็นรุ่นที่มีความทันสมัย โดยพัฒนาให้มีใบพัดพิเศษพร้อมเครื่องยนต์ ที 700 –GE-701 ดี โดยให้กำลังสูงสุด 2,000 แรงม้า มีคอมพิวเตอร์ระบบจัดการยานพาหนะร่วม และ ห้องนักบินที่มีอุปกรณ์แบบใหม่ มีระบบตรวจสภาพอากาศ เมฆฝนที่เหมาะกับสภาพอากาศที่แปรปรวนในประเทศไทย ทั้งนี้ กองทัพบก มีแผนในการจัดหา เฮริคอปเตอร์รุ่นดังกล่าว เข้าประจำการให้ครบ 33 ลำ กองทัพสหรัฐฯ จะส่งมอบ ฮ.โจมตีคอบบร้า มือ 2 จำนวน 4 ลำ ที่สหรัฐฯปลดประจำการและยกให้ กองทัพบกไทยโดยไม่คิดมูลค่า แต่ให้รัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณจากที่กองทัพบกเสมอ เพื่อทำการปรับสภาพเพื่อนำฮ.รุ่นนี้ ใช้งานในภารกิจโจมตีได้ โดยคาดว่าจะส่งมอบให้ไทยได้ในปลายปีนี้เช่นกัน ไม่เท่านั้น กองทัพบกกำลังจัดหารถถัง Oplot จากประเทศยูเครนเพื่อทดแทน รถถังM-41 ที่กำลังจะปลดประจำการในหลายหน่วย เช่น ม.พัน 2 รอ. ,ม.พัน 4 รอ., ม.พัน 9 ,ม.พัน 8 ขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกแบบ และ บรรจุอยู่ในแผนงบประมาณปี 54 ที่ผ่านสภาฯไปแล้ว ทั้งนี้ได้ดำเนินการจัดหาในระยะแรกเข้าประจำการ 1-2 กองพัน (คันละ120 ล้านบาท) ประจำการที่ ม.พัน 2 รอ. หรือ ม.พัน 8 เพื่อใช้ในพื้นที่ชายแดนไทย –กัมพูชา ตอบสนองการป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้น โดยรถถังที่ไทยสั่งผลิตจะติดปืนใหญ่ขนาด 125 มม. คาดว่าจะส่งมอบได้ปลายปีนี้ หรือ ปีหน้า ทั้งนี้ รถถังรุ่นดังกล่าว มีประจำการในประเทศจอร์เจีย และ ยูเครนไม่มากนัก ทั้งนี้ กองทัพบก ยังรอการส่งมอบรถหุ้มเกราะล้อยาง BRT 3E1 จากยูเครนที่กองทัพบกจัดหาในระยะแรก 101 คัน และ ระยะที่ 2 จำนวน 121 คัน ขณะนี้มีการส่งมอบในระยะแรกแล้ว 14 คัน คาดว่าจะดำเนินการส่งมอบให้ครบตามจำนวนได้ในปี 2555 กองทัพเรือ ยังมีโครงการการจัดหาเรือดำน้ำมือสอง ชั้น U206A จากประเทศเยอรมัน จำนวน 6 ลำ วงเงิน 7.7 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในอนาคต โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ซึ่งมีการอนุมัติกรอบงบประมาณปี 55 ของทุกกระทรวงไปแล้ว ซึ่งกองทัพเรือ โดยกระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรงบลงทุนจำนวนหนึ่งสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจัดอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ Modernization Plan Vision 2020 ที่กองบัญชาการกองทัพไทยได้จัดทำขึ้น เพื่อเสนอให้รัฐบาลได้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดหายุทโธปกรณ์ที่จำเป็นต่อ ภัยคุกคามด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ในอนาคต แต่ที่เราได้รวบรวมมายังไม่ใช่ทั้งหมด หากยังมีอาวุธที่ได้มีการอนุมัติจัดซื้อก่อนหน้านี้ในนามของกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นการจัดซื้อวิธีพิเศษ เน้นที่ภารกิจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ในภารกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูเหมือนว่าการจัดหาเครื่องมือตรวจการณ์เพิ่มเติม เช่น โครงการเรือเหาะเพื่อความมั่นคง ที่ปัจจุบันพยายามปรับแก้ไขให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด และ ยังสามารถใช้กล้องตรวจการณ์ได้ แม้จะไม่เป็นตามที่ได้มีการเปิดโครงการไว้ก็ตาม แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าโครงการดังกล่าวตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในช่วง การจัดหาตอนเริ่มระยะแรก เหมือนเช่นเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที -200 ที่กลายเป็นที่แดกดันกันไปทั่ว ถึงขั้นตอน ระเบียบวิธีการ ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ที่ถูกพ่อค้าหลอกขาย โดยใช้ ”ความเชื่อ” เป็นเครื่องมือ ไม่นับรวม อาวุธประจำการ ประเภทปืน “ทราโว้” ที่มีการจัดหาเพื่อทยอยเข้าประจำการอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งเสื้อเกราะ เลยไปถึงการจัดหาเครื่องมือสำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ เครื่องมือควบคุมฝูงชน ตั้งแต่อุปกรณ์ รถฉีดน้ำ ที่ทั้งหมดนั้นเป็นการจัดหาแบบ “วิธีพิเศษ” เพื่อเลี่ยง ม.190 ของรัฐธรรมนูญ ในการทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ แต่เหล่าทัพต่างๆ ย้ำว่า “วิธีพิเศษ” คือการต่อรองเพื่อให้ฝ่ายผู้ซื้อได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งการจัดหาด้วย “วิธีพิเศษ” กลายเป็นประเด็นรองที่ถูกวิจารณ์มากกว่า การซื้ออาวุธแบบ “บิ๊กล็อต”และ มีความต่อเนื่องติดต่อกันทุกเหล่าทัพ พร้อมถูกโจมตีเมื่อเข้าครม. โดยโหมประโคมข่าวเรื่องการอนุมัติ เพื่อเอาใจกองทัพ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำหน้าที่ “กระดูกสันหลัง” ให้กับ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ “ปมประเด็น” ที่ภาคประชาสังคม ควรตรวจสอบคือ เรื่อง “วิธีการจัดซื้อ” เลยไปถึงรายละเอียดในเรื่อง สเปค ความคุ้มค่าของงบประมาณ ต่อโครงการนั้น ๆ เพราะอย่าลืมว่า ในการจัดซื้ออาวุธของกองทัพที่ผ่านมา ถูก “ชะลอ” และไม่ได้รับการพัฒนามานาน เนื่องจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ นโยบายการแบ่งสรรงบประมาณในด้านอื่นที่หนุนส่งคะแนนเสียงทางการเมืองอยู่ใน อัตราส่วนที่มากกว่า แต่เมื่อมีการจัดสรรงบประมาณ โดยใช้ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ เข้ามาจับ เหมือนเช่นประเทศอื่นดำเนินการอยู่ การจัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคงจึงขยับตัวในเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้น ทำให้กองทัพ เพิ่งเริ่มจัดหาอาวุธ อย่างเป็นรูปธรรมได้ใน 5 ปีหลังนี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าต้องดำเนินการ เพราะอาวุธที่ประจำการอยู่ก็เก่าเก็บ บางอย่างมีประจำการตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ปัญหาที่แท้จริงจึงไม่ได้เกิดจากการที่เหล่าทัพจะจัดหาอาวุธที่เหมาะสม เข้าประจำการ หากแต่เป็น “กรรมวิธี” ในการจัดซื้อ ทั้ง “วิธีพิเศษ” ที่มีเหล่าทัพจะมีคณะกรรมการฯ ในการพิจารณาทุกระดับชั้น แต่หนีข่าวฉาวเรื่อง “นายหน้า” ที่วิ่งเข้าออกดิวส์งานกันจนคนในกองทัพรู้ไปทั่ว สิ่งเหล่านี้ กองทัพเอง ต้องยอมรับว่าหลายโครงการ ก็มี “กลิ่น” เรื่อง “ค่าคอมมิชชั่น” ในเปอร์เซ็นต์ ที่ “โอเวอร์” เกินกว่าจะรับได้ ทำให้บางโครงการ “ราคา” กับ ”ของ” ไม่อยู่ในระดับที่สมดุล และรัฐสูญเสียงบประมาณ ไปกับสิ่งเหล่านี้ ทั้งที่ไม่ควรจะมี ในช่วงที่ “สังคม” ได้ให้โอกาสกองทัพ ได้พัฒนาตัวเองในศักยภาพการทำหน้าที่ทหารตามรัฐธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และ ทุกเหล่าทัพ พึงตระหนักว่า โดยส่วนใหญ่คนในสังคมเข้าใจในความจำเป็นต่อการพัฒนากองทัพ หากแต่ “ยอมรับไม่ได้” ที่จะให้การจัดหาหลายครั้ง ได้อาวุธ ที่ “ห่วย” ไม่คุ้มค่า “งบประมาณ” มาใช้ เพราะในอดีต มีภาพสะท้อนที่เป็นตัวอย่างให้เห็นหลายโครงการ อีกทั้งมี “บิ๊กทหาร” หลายคนที่เกษียณร่ำรวย อู่ฟู่ เพราะมี “โปรเจ็คส์” ทิ้งทวนเป็น “โบนัส” ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปลดเกษียณ ในสังคมเปิด ที่ข้อมูลข่าวสารไหล่บ่า จึงยากนักที่ “กองทัพ”จะปิดข้อมูล หรือ “แหกตา” คนส่วนใหญ่ได้ เหมือนในอดีต ดังนั้น “แนวความคิด“ ในการจัดหาอาวุธ จึงต้องผูกติดไปกับ”สำนึก”ของ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาทุกขั้นตอน ไล่ตั้งแต่หน่วยใช้ กรมสรรพาวุธ คณะกรรมการจัดหาฯ คณะกรรมการคัดเลือกแบบฯ คณะกรรมการมาตรฐานยุทโธปกรณ์ เหล่าทัพ กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม และ คณะรัฐมนตรี เพื่อให้การกระบวนการกลั่นกรองมีประสิทธิภาพ และ เพื่อที่สังคมจะได้มีฉันทามติร่วมกัน ที่ยอมรับการจัดซื้ออาวุธ เข้าประจำการในทุกเหล่าทัพ อ้างอิง : มติชน วันนี้ ครับ เรือดำน้ำอาจยังมีหวัง งบปี 2555
ถ้าทางเยอรมันใจดียืดเวลาให้ก็มีลุ้นครับ
น่าจะมาครบทั้ง3พี่น้องไปเลย ไทยรัฐ ข่าวสด มติชน ..... หรืออีกมุมก็ได้ คมชัดลึก ไทยโพสท์ หรือกึ่งๆแบบเดลินิวส์ก็ดี โพสท์ทูเดย์ด้วยเอ้า!!
เท่าที่ดู ผมว่า GT200 นั้นหละ ที่ ทำให้ การจัดซื้อ ดูหมอง ๆ ไป
ปืน ทราโว ผมว่า เป็นปืนดีที่ผ่านการทดสอบจริง มาแล้ว
เรื่องการจัดซื้ออาวุธนั้น อย่างเช่น การซื้อเครื่องบิน รถถัง เรือดำน้ำ มิใช่ว่าขอซื้อปุ๊บวันนี้แล้วจะได้ซื้อเลย เป็นความเข้าใจผิดของคนทั่วไปครับ
การจัดซื้อ จะต้อง ขอ ครม.ในกรอบวงเงินว่า จะซื้อ แต่ยังไม่ระบุแบบ ไปก่อนว่า ขอเงินซื้อจำนี้ ๗๐๐๐ ล้าน ครม.จะอนุมัติไหม สำหรับการจัดซื้อ อะไร และหากมีรายละเอียดว่า อะไรเท่าไหร่
เมื่อ ครม.อนุมัติ ก็ต้องกลับมา ให้บริษัท ต่าง ๆ ยื่นเสนอมาว่า ใครจะขายอะไร ตรงนี้หละที่บริษัททั้งหลายชอบอ้างว่า ล็อคสเปค เพราะกำหนดจำนวน ประเภทภารกิจ และวงเงิน พร้อมรายละเอียด ซึ่งบางบริษัททำไม่ได้ แต่ความเป็นจริงกองทัพเขาอยากได้อะไร เค้าก็กำหนดสเป๊คแบบนั้นอยู่แล้ว ตรงตัว
เมื่อสรุปว่าใครชนะ หรือ คณะกรรมการพิจารณาว่าจะเอาอะไร ก็เสนอ ครม.ไปอีก ว่า จะขอซื้ออะไร แบบไหน วงเงินเท่าไหร่ (ตรงนี้เงินอาจจะน้อยลง) เมื่อ ครม.อนุมัติ ถึงจะไปลงนามซื้อ
กรณีเครื่องบินขับไล่กิปเปน ต้องเข้า ครม.อย่างน้อย ๒ ครั้ง คือ ขอซื้อเครื่องบินขับไล่ ๑๒ เครื่อง วงเงิน XXX ล้านบาท จากนั้นจึง ขอ ครม.ว่า ตกลงจะขอซื้อแบบครึ่งทาง ๖ เครื่อง แบบ GRIPEN 39 C/D วงเงินเท่านี้บาท แล้วถึงจะไปซื้อได้
กรณีเรือดำน้ำ ต้องเข้า ครม. ๒ ครั้งเป็นอย่างน้อยครับ ๑ ขอซื้อเรือดำน้ำ (จะระบุจำนวนหรือเปล่า) วงเงิน XXX ล้านบาท เมื่อ ครม.อนุมัติ ถึงจะขอไปอีกว่า ตกลงขอซื้อรุ่นนี้ จำนวน XX ลำ วงเงิน XXX ล้านบาท สรุปว่า หากยุบสภา ยังไงก็ไม่ทัน ต้องไปผูกพัน ครม.หน้า
แนะนำว่า ทร.จัดสัมมนา เรื่องความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำปกป้องน่านน้ำไทย เชิญ ครม. และผู้เชี่ยวชาญไทย ต่างประเทศ เชิญสื่อ ประชาชน จัดใหญ่ หอประชุมกองทัพเรือ มีบริษัทเรือดำน้ำมาออกบูท (ฟรี) แนะนำเรือดำน้ำตนเอง เลยครับ เอาให้เป็นเรื่องระดับชาติ คำตอบมันคือ "ซื้อ" แต่แบบไหนเท่านั้นเอง
เรื่องการนำเสนอข้อมูล ต้องยอมรับว่า ทร.อาจจะนำเสนอในเรื่องของเหตุผลและความจำเป็นค่อนข้างช้าและไม่ทั่วถึงอยู่บ้าง ซึ่ง ทร.ได้ริเริ่มโครงการเรือดำน้ำครั้งใหม่นี้มานานพอสมควรแล้ว มีการจัดตั้งสำนักงานและคณะทำงานศึกษารวบรวมข้อมูล กว่าจะมาเป็นการจัดตั้งเรือดำน้ำ แต่ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมา่ก็อยู่ในวงแคบๆ จนกระทั่งใกล้จะเข้า ครม.ถึงได้มีข่าวออกมาเยอะหน่อย ที่น่าเสียดายคือ ทร.น่าจะมองหาเรือดำน้ำมือสองมานานแล้ว โดยมองว่าเป็นการเริ่มต้นด้วยโครงการที่ราคาไม่สูงมาก (ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าโครงการราคาแพง) เน้นโครงสร้างสนับสนุนพื้นฐานและอุปกรณ์การฝึกเพื่อสร้างองค์ความรู้และเตรียมพร้อมสำหรับโครงการเรือใหม่ราคาแพงในอนาคต แต่เรือดำน้ำมือสองก็หาได้ยากเนื่องจากโครงการเรือดำน้ำเป็นโครงการที่ลงทุนสูง ใครมีใช้ก็อยากจะใช้ให้นานและคุ้มค่าที่สุด พอดีจังหวะตรงกับที่เยอรมนีปลดเรือดำน้ำชั้น 206A ก่อนเวลาเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณจนต้องลดจำนวนเรือประจำการลง และพร้อมจะปรับปรุงเรือให้ใหม่และรวมโครงสร้างสนับสนุนพื้นฐานและอุปกรณ์การฝึกมาในแพคเกจเดียวกันด้วยในราคาที่ถูกมากๆ จึงทำให้ ทร.เร่งเข็นโครงการนี้เข้า ครม.ก่อนยุบสภา เพราะ ทร.มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเยอรมนีจนเขาเสนอโครงการนี้ให้กับเราก่อน แต่ถ้าเรามัวแต่ช้าและมีลูกค้ารายอื่นเข้ามาสุดท้ายก็คงต้องยอมปล่อยให้ลูกค้าที่มีความเป็นไปได้ที่จะซื้อจริงมากที่สุด
ตามที่ ท่านท้าวฯ กล่าวมานั้นถูกครับ แต่ปัญหาคือ ทร. เสนอเรื่องรายละเอียดเข้า กห. แต่ กห. ไม่เอาเข้า ครม. นี่แหละที่ทำให้เกิดความรู้สึกเสียดายโอกาสครับ และเงินที่จะจัดหานั้นเตรียมไว้แล้วและและเป็นงบส่วนของ ทร. เองไม่ได้ของบลับหรืองบเพิ่มเติมแต่อย่างใด ถ้าวืด จะนำไปใช้ในส่วนไหน ซึ่งหากจะจัดหา เรือ ด. แบบอื่นก็คงไม่เพียงพอในการจัดหา ถ้าจะขอเพิ่มเพื่อจัดหาความหวังยิ่งริบหรี่