คุณลักษณะของทหารม้า
ทหารม้าต้องประกอบด้วยคุณลักษณะที่จำเป็นและสำคัญของเหล่าคือ
- ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ ( Mobility ) พาหนะที่ใช้ไม่ว่าจะเป็น ม้า ยานยนต์ ยานเกราะ หรืออากาศยาน
- อำนาจการยิงรุนแรง ( Fire power ) ได้แก่ อาวุธประจำกายและอาวุธประจำยานพาหนะ หรือประหน่วยซึ่งมีหลายชนิด และหลายขนาด สามารถทำการยิงได้ตั้งแต่ระยะใกล้จนถึงระยะไกล
- อำนาจการทำลายและข่มขวัญ ( Shock action ) เป็นผลที่ได้มาจากการปฏิบัติการอย่างรุนแรง ด้วยอาวุธที่มีอำนาจการทำลายสูง เช่น ปืนใหญ่และปืนกลประจำรถประกอบกับรูปร่าง ขนาด เสียงที่เกิดจากเครื่องยนต์ สายพาน และของอาวุธรวมทั้งมีเกราะกำบังที่ยากแก่การทำลายและความรวดเร็วในการเคลื่อนที่สูง สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเกิดผลในทางทำลายแล้ว ยังได้ผลในการข่มขวัญของฝ่ายตรงข้าม คือก่อให้เกิดความตระหนกตกใจและชะงักงันให้แก่ข้าศึกได้เป็นอย่างดีด้วย ภายใต้คำขวัญ “รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด”
ภารกิจของทหารม้า
ทหารม้าเป็นกำลังรบหลักส่วนหนึ่งของกองทัพบก ซึ่งสามารถมอบภารกิจให้ทำการรบโดยลำพังหรือผสมเหล่าได้เป็นอย่างดี ซึ่งภารกิจในการรบที่หน่วยทหารม้ารับผิดชอบได้แก่ ภารกิจดังต่อไปนี้
- เป็นหน่วยในการลาดตระเวน การเข้าตี การระวังป้องกันและออมกำลังให้กับหน่วยใหญ่
- เป็นหน่วยหลักในการดำเนินกลยุทธ์
การแบ่งประเภทของทหารม้า
ศูนย์การทหารม้า ได้กำหนดหลักนิยมและรูปแบบการจัดหน่วยทหารม้าโดยแบ่งประเภทของทหารม้าไว้ดังนี้
- ทหารม้าลาดตระเวน หมายถึง หน่วยทหารม้าที่จัดขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจลาดตระเวน และระวังป้องกัน โดยเฉพาะไม่ว่าจะเป็น กองพันลาดตระเวน หรือกองร้อยลาดตระเวนทุกรูปแบบ จัดอยู่ในประเภททหารม้าลาดตระเวนทั้งสิ้น
- ทหารม้ารถถัง หมายถึง หน่วยทหารม้าที่ดำเนินกลยุทธ์หลัก โดยมีรถถังเป็นยานรบไม่ว่าจะเป็นกองพันรถถังของกองพลทหารราบ หรือกองพันรถถังในอัตราของกรมทหารม้า จัดอยู่ในประเภททหารม้ารถถังทั้งสิ้น
- ทหารม้าบรรทุกยานเกราะ หมายถึง หน่วยทหารม้าที่ใช้ดำเนินกลยุทธ์หลัก โดยมียานยนต์สายพานหุ้มเกราะเป็นยานรบหลัก สามารถเคลื่อนที่และทำการรบบนยานรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารม้ารถถังโดยตลอด จะลงรบบนดินเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินกลยุทธ์ทางพื้นดิน เพื่อชดเชยจุดอ่อนของทหารม้ารถถังเท่านั้น
- ทหารม้าขี่ม้า ปัจจุบันกองทัพบกสงวนไว้เพียง 1 กองพัน คือ “กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์” ที่สนามเป้า กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในภารกิจแห่นำตามเสด็จเป็นการเชิดชูเกียรติ วัฒนธรรมประเพณีของชาติ และเป็นการรักษาตำนาน
- ทหารม้าอากาศ เป็นทหารม้าที่ใช้อากาศยาน ( เฮลิคอปเตอร์ ) เป็นยานรบหลัก เป็นหน่วยที่มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูงมาก ซึ่งจัดอยู่ในประเภททหารม้าลาดตระเวน เพื่อเอาชนะขีดจำกัดของภูมิประเทศทหารม้าประเภทนี้ มหาอำนาจบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ มีการจัดและเคยใช้ปฏิบัติการได้ผลมาแล้วในสงครามเวียดนาม ปัจจุบัน ทบ. ได้อนุมัติหลักการในการจัดตั้งแล้ว 4 กองร้อย เป็นหน่วยขึ้นตรงกับกองทัพบก ฝากการบังคับบัญชาไว้กับ พล.ม.2 รอ. คือ กองร้อยทหารม้าอากาศที่ 1
หน่วยทหารม้าในปัจจุบัน
หน่วยทหารม้า ที่เป็นกำลังรบในปัจจุบัน ทั้งที่จัดตั้งแล้วและยังอยู่ในการดำเนินการจัดตั้งมีอยู่ 2 กองพล, 6 กรม, 31 กองพัน และ 5 กองร้อยอิสระ และอีก 1 กองร้อยทหารม้าอากาศ มีที่ตั้งอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ จังหวัดที่มีหน่วยทหารม้าอยู่ นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว ได้แก่ สระบุรี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, น่าน, อุตรดิตถ์, แพร่, กาญจนบุรี, นครศรีธรรมราช และร้อยเอ็ด
ทำไมทหารม้าถึงใส่นาฬิกาข้อมือขวา ทหารม้าบางท่านก็กล่าวว่าสาเหตุคือ การใช้มือถือบังเหียนและแส้ด้วยมือซ้ายขณะที่ขี่ม้า เมื่อต้องการดูเวลาการใส่นาฬิกาที่ข้อมือขวาจึงสะดวกกว่า บางท่านก็ว่าเวลาติดเครื่องยนต์รถถังต้องใช้มือซ้ายกดปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ จึงใส่นาฬิกาที่มือขวาเพื่อดูเวลาติดเครื่องยนต์ บางท่านก็ให้เหตุผลว่าเวลาสวมหมวกพลประจำรถแล้วต้องกดกระเดื่องเพื่อพูดซึ่งจะอยู่ทางซ้ายของหมวก จึงต้องใส่นาฬิกาที่ข้อมือขวาเพื่อดูเวลาเทียบกับผู้บังคับบัญชาหรือคนอื่นๆ แต่จากการสอบถาม ฯพณฯท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านได้กรุณาเล่าเรื่องให้ฟังดังนี้ “ ในเรื่องการใส่นาฬิกาข้อมือขวาจะพูดว่าเป็นเราก็ไม่ผิด หรือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ไม่ผิด ในตอนนั้นก็มีสองคนที่ใส่นาฬิกาข้อมือขวา เราใส่นาฬิกาข้อมือขวาตั้งแต่เป็นนายทหารเด็กๆ (สมัย ร.อ.) สาเหตุคือ สมัยเป็นผู้บังคับกองร้อยรถถัง แบบ77 เนื่องจากคันบังคับเลี้ยวที่จะยื่นมือซ้ายไปจับอยู่ในช่องเล็กๆ ทำให้นาฬิกาติดช่องนั้นอยู่เสมอ จึงเปลี่ยนมาใส่ข้างขวา ตอนนั้นใครจะใส่นาฬิกาข้อมือขวาหรือข้อมือซ้ายตามแต่ใครจะชอบ ในสมันนั้นกำลังพลไม่ค่อยจะมีใครใส่นาฬิกากันสักเท่าไหร่ เพราะมีราคาแพง ครั้นสมัยเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าจึงให้กำลังพลใส่นาฬิกาข้อมือขวาและใส่เดือยโลหะ อาจกล่าวได้ว่าการใส่นาฬิกาข้อมือขวาของทหารม้าน่าจะเริ่มเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ตอนนั้น จริงๆแล้วทหารม้าทุกนายควรใส่เดือยโลหะด้วย นายสิบก็ใส่ได้”
ที่มา www.tefcenter.com