หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ข่าวเกี่ยวกับ 3 จังหวัดแดนใต้จากไทยแลนด์ดารุสลามนิวส์ครับ

โดยคุณ : neosiamese2 เมื่อวันที่ : 15/10/2012 18:15:01

ข็มทิศดับไฟใต้ "เลขาฯสมช.คนใหม่" ใช้ยุทธวิธีทางทหารควบคู่เจรจา

By editor on ศ, 10/12/2012 - 11:11

          "ไม่ต้องถึงขั้นปกครองพิเศษ สูงสุดแค่เป็นนคร จัดการเลือกตั้งแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องปกครองตนเองคงไปไม่ได้" เป็นคำตอบชัดๆ จาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถึงทางออกของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลายฝ่ายเสนอโมเดล เขตปกครองพิเศษ

          แม้ช่วงที่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้พูดคุยกับเลขาธิการ สมช. จะยังไม่มีข่าวเรื่องฟิลิปปินส์บรรลุข้อตกลงกับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามิ กโมโร ให้ตั้ง "เขตกึ่งปกครองตนเอง" เพื่อยุติการสู้รบด้วยอาวุธที่ยืดเยื้อมานานกว่า 40 ปี แต่ก็เชื่อว่าแม้จะพูดกันหลังจากมีข่าวนี้ เลขาธิการ สมช.ก็คงให้คำตอบแบบเดียวกัน

          อย่างไรก็ดี พล.ท.ภราดร ระบุว่า การพูดคุยเจรจากับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ ยังคงเป็นนโยบายหลักที่ฝ่ายความมั่นคงนำโดย สมช.จะเดินหน้าต่อไป

          "เรื่องเจรจาก็ได้ทำไปพอสมควร แต่ภาพที่ออกมาสังคมอาจไม่เข้าใจ เพราะบางครั้งยิ่งเจรจามากยิ่งรุนแรงขึ้น จริงๆ แล้วสาเหตุคือกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่มีหลายกลุ่ม แต่คุยแล้วจะดีขึ้นแน่นอน สมมติมี 100 กลุ่ม คุยได้ 10 กลุ่มก็จะดีขึ้นในส่วนนั้น"

"แยกดินแดน" รากฐานปัญหา

          พล.ท.ภราดร บอกว่า ประเด็นสำคัญที่ได้รับฟังมาจากการพูดคุยเจรจา ชี้ชัดว่าแนวคิดเรื่องการแยกดินแดนยังคงมีอยู่ อันสืบเนื่องมาจากความคิดที่ว่ารัฐไทยไปแย่งดินแดนปัตตานีมาครอบครอง

          "ความเชื่อเรื่องแยกดินแดนยังมีอยู่ แต่ประเด็นรองที่เสริมประเด็นหลักก็มีเยอะ เช่นยาเสพติด น้ำมันเถื่อน การเมืองท้องถิ่น เราก็พยายามแก้ประเด็นรองเพื่อลดน้ำหนักประเด็นหลักด้วย"

          "ฐานของการเคลื่อนไหวยังสรุปได้ว่าเป็นปัญหาภายใน ใช้สื่อบุคคลและสื่อมวลชนเป็นตัวแพร่ข่าว มีประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์เป็นเงื่อนไข ถือเป็นการต่อสู้ทางความคิด ฉะนั้นการต่อสู้แบบนี้ต้องใช้เวลายาวนาน การพัฒนาจะแก้ได้ระดับหนึ่ง เพราะแม้จะมีปัจจัย 4 ครบ แต่นามธรรมยังอยู่ คือเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่บอกว่าอยู่ดีกินดีแล้วเลิกก่อความไม่สงบ นั่นมันเป็นพื้นที่ปกติ ไม่ใช่พื้นที่แบบนี้ เพราะพื้นที่แบบนี้เมื่อเขาอยู่ดีกินดีแล้วก็จะกลับมาคิดเรื่องนามธรรม ความเสมอภาค เอกราช จึงเป็นการต่อสู้ระยะยาว ไอร์แลนด์เหนือ อินโดนีเซีย จบด้วยการเปิดพื้นที่พูดคุย แต่ใช้เวลา 30-40 ปีทั้งนั้นเลย"

          แม้รากฐานอันเข้มแข็งของการต่อสู้ยืดเยื้อจะยังคงอยู่ที่แนวคิดแบ่งแยกดิน แดน แต่ พล.ท.ภราดร ก็ยืนยันว่าไม่หวั่นไหวกับประเด็นนี้ และพร้อมใช้การเจรจาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเข้าใจ

          "เราไม่กลัวแยกดินแดน เพราะในเชิงสัญลักษณ์ชัดเจนว่ารัฐไทยอยู่ตรงนี้ ก็สู้กันชั่วฟ้าดินสลาย ไม่มีแยกดินแดนแน่นอน คนสู้มานานๆ เบื่อแล้วก็ออกมาพูดคุย เหตุลอบวางระเบิดหลังๆ เราจับผู้ต้องหาได้หมด ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องไปคือการเจรจา เพราะการเจรจาเป็นเครื่องมือที่ใช้ต่อสู้กับสงครามทางความคิด เพื่อสื่อให้เข้าใจว่าเขาคิดอะไร และเราคิดอะไร แล้วมาตกผลึกร่วมกัน ทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันได้ ถ้าไม่เปิดพื้นที่พูดคุยก็จบเลย"

          "ยืนยันว่ายุทธศาสตร์หลังจากนี้ไปเราเน้นพูดคุย ยุทธศาสตร์เดิมเปลี่ยนแปลงแล้ว นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 มันบีบวิถีให้มุ่งกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ใช้ปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และเสนอแนวทางร่วมกันได้"

          "กฎหมาย ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) ก็เขียนเอาไว้ชัดเจน ให้มีสภาที่ปรึกษาฯ (สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สปต.) ที่มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม แล้วกฎหมายก็ยังบังคับว่าสภาที่ปรึกษาฯเสนออะไรมาแล้วต้องรับฟังด้วย ฟังแล้วต้องทำ เราก็ทำจริง วิถีนี้มาถูกแล้ว ฉะนั้นถ้าไม่เปิดพื้นที่พูดคุยก็ไปไม่ได้"

หนักใจ "นักรบรุ่นใหม่"

          อย่างไรก็ดี สภาพการณ์ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยยังหลั่งไหลเข้าเป็นแนวร่วมขบวน การก่อความไม่สงบ หรือที่เรียกว่า "นักรบรุ่นใหม่" หรือ "นักรบพันธุ์ใหม่" ซึ่งพบเห็นได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ที่จับภาพผู้ก่อเหตุรุนแรงหลายๆ ครั้งเป็นวัยรุ่นนั้น พล.ท.ภราดร ยอมรับว่ารู้สึกเป็นห่วงตรงจุดนี้มาก

          "เรื่องเยาวชนถือเป็นจุดอ่อนของเรา วัยรุ่นนั้นมีความร้อนแรงในใจ ถ้าเป็นกลุ่มที่พ่อแม่ตายเพราะเจ้าหน้าที่ยิ่งหนัก ตรงนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ และกลุ่มที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงยังคงอยู่คือพวกนี้ ส่วนที่เหลือไฟมอดเกือบหมดแล้ว แนวทางแก้ไขปัญหาคือต้องบีบพื้นที่ในเมืองเพื่อให้กลุ่มที่ต้องการก่อการไม่ สามารถก่อเหตุได้ แล้วออกไปข้างนอก จากนั้นก็ใช้ยุทธวิธีทางทหารเพื่อบังคับวิถีให้ออกมาพูดคุย ด้านหนึ่งยุทธวิธีก็ทำ ด้านหนึ่งก็พูดคุยไปพร้อมกัน นี่คือแนวทางที่เรากำลังดำเนินการ"

          ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่ากลุ่มแนวร่วมหรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ออกมา แสดงตัวเป็นเพียง "ยาหมดอายุ" และกองทัพก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่องการเจรจาอย่างแท้จริงนั้น ทั้งสองประเด็นนี้ พล.ท.ภราดร ปฏิเสธ

          "ไม่ใช่ยาหมดอายุ อย่างชุดแรก 93 คนที่ออกมา บางคนเป็นคนแก่ คดีขาดอายุความแล้วก็จริง แต่บางคนที่คดียังไม่ขาดอายุความเขาก็ใช้ตัวแทน ส่งบุคคลที่สามให้มาลองหยั่งเชิงสังเกตการณ์ดู เรื่องแบบนี้มันทดสอบกันได้ และถ้าเราสร้างความเชื่อใจเชื่อมั่น พวกเขาก็จะไปนำคนที่มีปัญหาแล้วยังไม่หมดอายุความออกมาเพิ่มอีก"

          "ผมยืนยันว่ากองทัพรับได้กับการเจรจา และกองทัพก็เป็นหลักในการเจรจาอยู่ แต่ก็มีความห่วงใยบ้าง เพราะเขาเป็นฝ่ายที่ต้องปะทะสูญเสีย กองทัพห่วงใยพวกตีขลุม ต้องยอมรับว่าการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เมื่อ 30 ปีก่อนไม่เหมือนภาคใต้ มาตรา 17 สัตต (พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่เปิดช่องให้ออกมามอบตัวเพื่อร่วมพัฒนาชาติไทย) แม่ทัพอนุมัติได้เลย แตกต่างกับมาตรา 21 (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ที่ยึดโยงกับศาล ซึ่งเราต้องเร่งทำตรงนี้"

ตั้งทีมปลดล็อคกฎหมายพิเศษ

          เมื่อพูดถึงมาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย พล.ท.ภราดร แย้มให้ฟังว่า จะมีการดำเนินการแบบ "แพ็คใหญ่" เพื่อปลดล็อคปัญหาที่เกิดจากกฎหมายทั้งหมด

          "ได้เสนอตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาพิจารณาแนวทาง เพราะกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาในระดับหนึ่งจริงๆ อย่าง ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ฐานความผิดที่ใช้ดำเนินคดีในพื้นที่้ล้วนมีอัตราโทษสูง เพราะเป็นความผิดฐานกบฏแบ่งแยกดินแดนและก่อการร้าย แต่กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานกลับมีปัญหา นำไปสู่การยกฟ้องเยอะมาก คนถูกจับก็แค้น ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวด้วย ครอบครัวเดือดร้อน ก็ยิ่งแค้นฝังหุ่น ฉะนั้นจึงมีแนวคิดจัดสมดุลของกฎหมายใหม่ว่าจะทำอย่างไร"

          ปัญหานี้เชื่อมโยงกับการพูดคุยกับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ เพราะแม้จะมีช่องทางตามกฎหมายให้ผู้ที่เคยกระทำผิดเพราะหลงผิดหรือมี อุดมการณ์ต่างจากรัฐได้ออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามปกติได้ ซึ่งทุกวันนี้ใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) แต่เนื่องด้วยกระบวนการค่อนข้างยืดยาวถึง 6 ขั้นตอน และยังยึดโยงกับศาล คือต้องให้ศาลอนุมัติจึงจะยกเลิกความผิดแล้วส่งตัวเข้าอบรมได้ ทำให้ไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ

          "รอยต่อของการอำนวยการตรงนี้ต้องนุ่มนวล ทำอย่างไรให้สำเร็จ ไม่ใช่ว่ายื่นศาลแล้ว ถ้าศาลไม่อนุมัติก็ติดคุกเลย มันทำให้คนไม่กล้าเข้ากระบวนการ ตรงนี้เป็นจุดอ่อนอยู่ และคณะกรรมการชุดนี้จะเข้าไปพิจารณาแก้ไข"

ลดโทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

          ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อเรียกร้องจากในพื้นที่มาเนิ่นนาน คือการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งขยายเวลาบังคับใช้คราวละ 3 เดือนมาแล้วเกือบ 30 ครั้ง ประเด็นนี้ สมช.ก็วางแนวทางผ่อนคลายเอาไว้เช่นกัน

          "ต้องลดโทนลงมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะกฎหมายฉุกเฉินใช้ระยะยาวไม่ได้ เราจะพิจารณาจากเซฟตี้โซนทั้งหลาย ถ้าประสบความสำเร็จจะเป็นพื้นที่เปลี่ยนจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯก่อนพื้นที่อื่น"

          พล.ท.ภราดร กล่าวอีกว่า การขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ผ่านมาส่งผลทางจิตวิทยา เพราะมาตรการตามกฎหมายมีมากมายหลายข้อ แต่หากพิจารณาจริงๆ จะพบว่าใช้เพียง 2-3 ข้อ ได้แก่ การจับกุม ควบคุมตัว ตั้งด่าน และเป็นเกราะป้องกันตัวเจ้าหน้าที่เท่านั้น ส่วนมาตรการอื่นๆ อีกเป็น 10 มาตรการไม่ได้ใช้เลย

          "ในเมื่อใช้แค่นี้ทำไมต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เราเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯได้ไหม แล้วเพิ่มมาตรการที่ต้องการเข้าไป เช่น ต้องการคุมตัว 37 วัน ก็ไปแก้กฎหมายเอา" เลขาธิการ สมช. ระบุ 

ชนะศึกแต่แพ้สงคราม

          สถานการณ์ไฟใต้ในห้วง 2-3 สัปดาห์มานี้ ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยึดพื้นที่สื่อไปเกือบหมด ตั้งแต่การก่อเหตุคาร์บอมบ์ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อ 21 ก.ย.2555 ตามด้วยการข่มขู่ให้หยุดทำงานและค้าขายวันศุกร์ ซึ่งเป็นวิกฤติต่อเนื่องมาแล้ว 2 ศุกร์ซ้อน ขณะที่ข่าวสารจากฝั่งรัฐจมหายไปกับความตื่่นกลัว

          "ปัญหาภาคใต้ดูจากสถิติแล้วก็ไม่ได้หนัก เรื่องหยุดวันศุกร์เป็นกรณีที่สื่อขยายออกไป พื้นที่เกิดเหตุยังอยู่ในพื้นที่ที่ควบคุมได้ แต่ข่าวออกไปเยอะ เป็นจุดอ่อนของภาครัฐ ตอนนี้เริ่มดีขึ้น ประเด็นบิดเบือนในลักษณะนี้คนจะยอมรับในตอนต้นเพราะเป็นสภาพบังคับ แต่ในท้ายที่สุดแล้วแพ้สงคราม เราดูเทียบกับประเทศอื่นแม้จะเป็นประเทศมุสลิมก็ไม่ได้ปิดวันศุกร์ จึงชัดเจนว่าเป็นประเด็นที่ฝ้ายโน้นสร้างขึ้นมา"

          "สาเหตุที่ชาวบ้านทำตามไม่ใช่เรื่องจิตใจหรืออุดมการณ์ แต่เป็นสภาพบังคับ รัฐเองก็ไม่สามารถให้ความปลอดภัยประชาชนได้เพียงพอ แต่สุดท้ายประชาชนจะหันมาร่วมมือกับรัฐ เพราะแม้จะกลัวคำข่มขู่ แต่กลัวไม่มีกินมากกว่า ก็จะหันมาบอกรัฐว่าใครข่มขู่ เรื่องความกลัวแก้ลำบาก แต่ทำได้ระยะหนึ่ง ผมถือว่าฝ่ายโน้นทำลายตัวเอง ชนะศึกแต่แพ้สงคราม ชนะยุทธวิธีแต่แพ้ยุทธศาสตร์"

อาเซียนบังคับวิถี "ใต้ใกล้จบ"

          พล.ท.ภราดร บอกด้วยว่า ปี 2556 จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายอย่าง นอกจากเรื่อง "พูดคุยเจรจา" ที่เล่าให้ฟังแล้ว ยังมีเรื่องการกำหนดพื้นที่ "เซฟตี้โซน" เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในความปลอดภัย ทั้งติดซีซีทีวี แสงส่องสว่าง เครื่องเอ็กซเรย์รถยนต์

          "ตอนนี้งบภาคใต้ถ้าเหลือในแต่ละปีห้ามนำไปใช้ที่อื่นหรือเรื่องอื่น ต้องกลับมาภาคใต้เพื่อจัดหาเทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือ อย่างงบปี 2555 ก็ชัดเจน ใช้เฉพาะที่ภาคใต้ เมื่อมีเงินเหลือก็ให้ทำโครงการเสนอมาช่วงปลายปีงบประมาณอีก 3 พันล้านบาท ล่าสุดตัดเหลือ 1.7 พันล้านบาท เน้นโครงการเร่งด่วน ตอบโจทย์ 3 ข้อ คือ ประชาชนมีสุข พื้นที่ปลอดภัย ผู้ก่อเหตุรุนแรงกลับใจมอบตัว"

          "ขณะเดียวกันเราก็เร่งแก้ปัญหารองที่สนับสนุนปัญหาหลัก ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน โดยใช้มาตรการปราบปรามการฟอกเงิน กลุ่มเหล่านี้สมประโยชน์กับขบวนการก่อความไม่สงบโดยธรรมชาติ กลุ่มขบวนการเองก็รับรู้ และมีการแบ่งพื้นที่กัน กลายเป็นเซฟตี้โซนของโจร พื้นที่เหล่านี้ก็จะค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อนได้ เพราะเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มขบวนการ เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปก็โดน"

          พล.ท.ภราดร ไม่ปฏิเสธว่าขบวนการประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง

          "โดยเฉพาะน้ำมันเถื่อน ผลประโยบชน์เยอะจริงๆ แล้วพวกนี้จ่ายเงินเจ้าหน้าที่ ใช้เงินสดอย่างเดียว เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองท้องถิ่นเกี่ยวข้องแน่นอน เราก็รู้ และพยายามจัดการ ให้ ปปง.(สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) เข้าไป เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดก็ส่ง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้เฮงซวยทั้งหมด ทุกวันนี้ก็ดีขึ้นกว่าเดิม"

          ในห้วงที่ประเทศกำลังก้าวสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนในปี 2558 พล.ท.ภราดร มองว่า เป็นโอกาสที่ทำให้การแก้ไขปัญหาความไมสงบในจังหวัดชายแดนใต้ถูกยกระดับความ สำคัญมากขึ้นกว่าเดิม

          "ประชาคมอาเซียนจะบังคับวิถีให้มาเลเซียกับไทยร่วมมือกันมากขึ้น ผมคิดว่าประชาคมอาเซียนจะช่วยลดปัญหาภาคใต้ได้โดยธรรมชาติ การร่วมมือกันระหว่างสมาชิกอาเซียนจะทำให้ผู้ก่อความไม่สงบหลบหนีลำบากขึ้น เพราะสภาวะแวดล้อมมันบีบ"

          และสุดท้ายสถานการณ์ทุกด้านจะบังคับให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐยอมพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย!

 

เครดิตเวป 
http://www.pinonlines.com/v7/





ความคิดเห็นที่ 1


แก้ที่การเมืองแต่แรกก็จบแลัวครับ มัวแต่ลีลากันอยู่นั่นแหละ

โดยคุณ YUKIKAZE เมื่อวันที่ 15/10/2012 09:24:36


ความคิดเห็นที่ 2


แก้ตรงส่วนไหนหรอครับของการเมือง ผมไม่รู้จริงๆ.....ช่วยชี้แจงหน่อยครับท่าน YUKIKAZE

โดยคุณ apisit_aos เมื่อวันที่ 15/10/2012 15:46:36


ความคิดเห็นที่ 3


เห็นหลายครั้งแล้วครับที่บอกว่าแก้ด้วยการเมือง ช่วยชี้แจงด้วยครับผมสงสัยครับ

โดยคุณ ALPHA001 เมื่อวันที่ 15/10/2012 16:26:39


ความคิดเห็นที่ 4


555+++ เอ่อนะ อยากรู้ด้วยคน แก้ตรงไหนเอ่ย

โดยคุณ Borderland เมื่อวันที่ 15/10/2012 17:26:41


ความคิดเห็นที่ 5


ก็แค่คำพูดลอยๆ เห็นตอบแนวนี้ประจำทุกโพส ไม่รู้ว่าหมายความว่าไงและต้องการอะไร เจอยังงี้ต้องรีบเลื่อนลงมาอ่านคอมเม้นท่านอื่นให้ไว 


โดยคุณ MALASMUTU เมื่อวันที่ 15/10/2012 18:15:01