กรุณาอ่านจนจบด้วยครับ....(ตอนที่1)
หลายครั้งที่เรามักจะมีคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถึงวันนี้ได้ผ่านมา 9 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำถามว่า เสื้อเกราะพอไหม? สรุป UAV ควรใช้ไหม? ไปจนถึงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเป็นใคร? ที่ผ่านมารัฐทำอะไรบ้างในการแก้ปัญหา? หรือแม้แต่การพูดคุยกับแกนนำที่เกิดขึ้นนี้ สุดท้ายเป็นทางออกไหม? วันนี้ เรารวบรวมคำถามต่าง ๆ ที่มักจะมีสมาชิกถามกันในเว็บบอร์ดของ ThaiArmedForce.com หรือในเว็บบอร์ดอื่น ๆ ลงไปถามพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 (ส่วนหน้า) หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ที่ทำงานของท่านในค่ายสิรินธร จังหวัดยะลา ท่านใดสงสัยประเด็นใด ตามอ่านได้ใน TAF Special ตอนที่ 73 นี้ครับ
เมื่อเราถามถึงปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พันเอกปราโมทย์เล่าให้เราฟังว่า “สถานการณ์ปัญหาในภาคใต้มันมีเป็นร้อยปี เกิดจากแนวความคิดในการต่อสู้ของกลุ่มคน ซึ่งมันก็เปลี่ยนผ่านไปตามระยะเวลา แต่ในช่วงแรกของการต่อสู้ก็เป็นเรื่องของกลุ่มผู้นำในสังคม หลังจากนั้นก็มีการพัฒนามาจนสู่ยุคปัจจุบัน แต่ก่อนการต่อสู้ก็จะใช้วิธีการต่อสู้ในป่าเขา ซึ่งก็มีหลายกลุ่มด้วยกันไม่ว่าจะเป็น BRN PULO GIMP Bersatu และอีกหลาย ๆ กลุ่มที่เคยต่อสู้มา แต่ในช่วงหลังเรียกว่าเป็นการต่อสู้ในช่วงที่ 3 คือเริ่มตั้งแต่ปี 2547 หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างอาการช็อคพอสมควรเพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น
“หลังจากนั้นก็มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตหมื่นกว่าคน มีทั้งพี่น้องพี่พุทธและไทยมุสลิม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไทยพุทธ ไม่นับรวมความเสียหายทางทรัพย์สิน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็สงผลกระทบเยอะไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกที่เกิดจากการบิดเบือนอุดมการณ์”
มิติของปัญหาจริง ๆ แล้วมีเยอะ สังคมภายนอกอาจจะมองแค่การแบ่งแยกดินแดน แต่จริง ๆ แล้วมันมีมิติที่ซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกัน ทำให้บางครั้งเราไม่สามารถจะแยกได้ว่าเหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์อะไร แต่ในช่วงหลังเราพยายามที่จะแยกให้เห็นชัดเจนว่ามันเป็นเรื่องของอะไร
ตอนนี้เราได้รวบรวมสถิติคดีที่เกิดขึ้นทั้งหมดตั้งแต่ปี 2547 จนถึงขณะนี้ราว 120,000 คดี พอมาตรวจสอบจริง ๆ แล้วมันเป็นคดีความมั่นคงเพียงแค่ 8,500 คดีเท่านั้น ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นคือประมาณร้อยละ 7.9 ซึ่งในส่วนของคดีความมั่นคง 8,500 กว่าคดีนี้เรารู้ตัวผู้กระทำความผิดจริง ๆ ราว 2 – 3 พันคดี ที่รู้ตัวแล้วก็จับกุมได้จำนวนหนึ่ง ก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางศาล ยกฟ้องบ้าง ลงโทษบ้าง เพราะตรงนี้ในการแก้ปัญหานั้น ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายพิเศษ แต่สุดท้ายทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปรกติ ทำให้บางครั้งในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างจะมีปัญหาเพราะเรื่องพยานหลักฐานนั้น ระยะเวลาในการพิจารณาคดีค่อนข้างนาน หาหลักฐานยาก โดยเฉพาะพยาน พอเข้าสู่กระบวนการทางศาลก็มักจะถูกยกฟ้อง ดังนั้นในทางการศาลพวกเขาคือผู้บริสุทธิ์ แต่ในเชิงพฤติกรรมพวกเขาก็ยังน่าสงสัย เพราะหลายคดีที่ศาลยกฟ้องแต่เขาก็มาก่อเหตุซ้ำ เช่นกรณีของบาเจาะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เข้าปฏิบัติการนั้นก็มีราว 6-7 คนที่เคยถูกฟ้องในเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนา แต่สุดท้ายเขาก็มาก่อเหตุอีก และมีอีกหลายกรณี นี่ก็เป็นมิติเชิงบุคคล
อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรมของรัฐในอดีต ซึ่งความจริงนั้นมันมีอยู่ทุกที่ ทุกจังหวัด แต่สำหรับพื้นที่ตรงนี้มันค่อนข้างจะเป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาใช้เป็นพลังในการต่อสู้ เงื่อนไขเรื่องของอิทธิพล อำนาจมืด การเมืองท้องถิ่น หรือภัยแทรกซ้อนซึ่งสำคัญมากเช่น ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน อันนี้ถือว่าเป็นภัยบ่อนทำลายที่สำคัญและเรามีหลักฐานที่เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเหล่านี้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หลายครั้งที่เราเข้าไปจับกุมยาเสพติดหรือน้ำมันเถื่อน ก็มักจะพบหลักฐานการไหลของเงินทุนไปเข้าสู่ขบวนการก่อความไม่สงบเยอะ สุดท้ายก็คือเรื่องของกลุ่มคนที่มีแนวคิดในการต่อสู้เพื่อเอกราช อันนี้ถือเป็นปัญหาหลัก
นอกจากมิติเชิงบุคคลแล้วยังมีมิติเชิงโครงสร้างของความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่เขาคิดว่าเขาได้รับโอกาสในการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียบ แต่ตรงนี้มันเป็นเพียงเงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาสร้างกระแสในพื้นที่เท่านั้นเอง เพราะถ้าเรามองลักษณะการพัฒนาในเชิงโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบโลจิสติกทั้งหลายนั้น แถบนี้แทบจะไม่มีพื้นที่ตรงไหนที่ไม่เป็นถนนลาดยางหรือไม่มีไฟฟ้าเข้าไปถึง ถนนหนทาง น้ำประชาอยู่ในขั้นดี ในเรื่องการพัฒนาการศึกษานั้นตรงนี้ก็อาจจะเป็นประเด็น เพราะเราอาจจะกำหนดนโยบายการศึกษาที่ไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ในระบบการศึกษาของประเทศมันก็ต้องยอมรับอีกว่าเราจะต้องใช้เกณฑ์เดียวกัน เพราะเราต้องเข้าสู่สนามแข่งขันเดียวกัน เพราะพื้นที่ตรงนี้เขาจะเน้นในเรื่องของศาสนา ดังนั้นพอเข้าสู่สนามแข่งขันก็จะสู้ไม่ได้ เพราะการเรียนเขาไม่เข้มข้นเท่า ตรงนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการสอบออกมาต่ำกว่าพื้นที่อื่น
ดังนั้นตรงนี้สิ่งที่ชาวบ้านเขารู้สึกคือเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในโอกาสที่เขาได้ เนื่องจากปัจจัยเดิมที่เขาเข้าเรียนมาแบบนี้ ดังนั้นเขาก็พยายามจะสร้างกระแสตรงนี้ในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้มีสัดส่วนของข้าราชการที่เป็นไปตามสัดส่วนของผู้นับถือศาสนาในพื้นที่
มิติที่สามก็คงเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งค่อนข้างเด่นชัดในพื้นที่สามจังหวัด เพราะพี่น้องส่วนใหญ่ราว 80% นับถือศาสนาอิสลาม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาใช้ในการปลุกระดมและสรรหาเด็กใหม่เข้าสู่ขบวนการก็คือความไม่เป็นธรรมของรัฐที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังคงผลิตซ้ำทางความคิด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าความไม่เป็นธรรมคืออะไร แต่สิ่งที่เขาจะพุดเสมอคือรัฐไม่ให้ความเป็นธรรม เช่นรัฐไปจับแพะหรือผู้บริสุทธิ์ ซึ่งกลายเป็นว่าผู้ถูกจับกุมทุกคนคือแพะ นอกนั้นก็คือเงื่อนไขด้านอัตลักษณ์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองปัตตานี สิ่งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพยายามบ่มเพาะก็คือการสร้างกระแสว่าพื้นที่ตรงนี้ในอดีตคือพื้นที่ดินแดนบริสุทธิ์หรือปัตตานีดารุสซาลาม แต่ที่จริงแล้วถ้าเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยพญาอินทิราที่มาเป็นกษัตริย์และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น แต่ถ้าไปมองย้อนหลังในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นวัดถ้ำพระนอนหรือเมืองโบราณที่ยะรังที่มีอายุ 1,300 กว่าปี สิ่งเหล่านี้มันล้วนเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพยายามจะปลูกฝังว่าบรรพบุรุษเขาถูกรัฐสยามเข้ามาทำลายศาสนา หรือจับเชลย เจาะเอ็นร้อยหวายไปขุดคลองแสนแสบ ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามที่จะอธิบายว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการเจาะเอ็นร้อยหวายและล่ามไปจนถึงกรุงเทพ เพราะคงจะเสียชีวิตกันหมดเสียก่อน หรือการขุดคลองแสนแสบมันก็มีที่มาของการขุดซึ่งมีหลักฐานอยู่แล้ว แต่นี่คือสิ่งที่ขบวนการพยายามปลูกฟังให้หลงเชื่อ
การปลูกฝังว่าพื้นที่นี้เป็นดินแดนบริสุทธิ์ที่ถูกสยามเข้ามายึดครองและทำลายคือการสร้างกระแสให้เด็ก ๆ เหล่านี้หลงเชื่อและทำให้พวกเขาต้องปกป้องผืนแผ่นดินและทวงคืนผืนแผ่นดินคืนมา โดยใช้เครื่องมือทางศาสนาโดยบอกว่าภารกิจนี้เป็นญิฮาด จึงสังเกตได้ว่าเด็กๆ เหล่านี้เขาไม่กลัวเลย ถ้าเรามองย้อนไปเมื่อปี 2547 ในสมัยเหตุการณ์ที่กรือเซะ ซึ่งในตอนนั้นเด็ก ๆ ที่เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารตำรวจนั้น เขาไม่กลัวตาย ทุกพื้นที่เขาใช้ดาบหรือมีดพร้าเข้าไปไล่ฟันเข้าหน้าที่ โดยคนที่เราจับได้และเราสอบถามว่าคุณทำได้ยังไง เขาก็บอกว่าเขาได้รับการปลูกฝังว่าเมื่อไปดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วเจ้าหน้าที่จะมองไม่เห็น เขาแค่สามารถไปฟันแล้วเอาปืนมา คือเขาถูกหลอก
คือเด็กเหล่านี้เป็นเด็กดีทั้งนั้น เพราะกลุ่มเป้าหมายของขบวนการจะเป็นเด็กที่เรารู้กันว่าเป็นเด็กที่พูดน้อย เรียนเก่ง เคร่งศาสนา กีฬาดี เด็กพวกนี้พ่อแม่มักจะไม่รู้เพราะปรกติลูกหลานตัวเองเป็นคนดี อย่างเหตุการณ์กรือแซะที่สะบ้าย้อยนั้น คนที่ตาย 19 ศพเป็นนักกีฬาทั้งหมด และเก่งมาก ๆ ด้วย ส่วนตัวผมเคยสัมผัสกับทุกคนเพราะพวกเขาเป็นนักฟุตบอลในทัวร์นาเม้นทักษิณพัฒนาคัพ ตอนนั้นทีมจังหวัดสตูลซึ่งเป็นแชมป์ยามาฮ่าไทยแลนด์คัพ มาเจอกับเด็กกลุ่มนี้ซึ่งเป็นนักฟุตบอลโนเนมไม่มีใครรู้จักในนัดชิงชนะเลิศ ปรากฏสตูลสู้ไม่ได้ เพราะเขาอยู่ด้วยกันมานาน อันนี้คือกลุ่มเป้าหมายของขบวนการที่จะนำไปบ่มเพาะ
(แหล่งที่มา:http://www.thaiarmedforce.com/taf-special/591-tafspecial73.html)
(ตอนที่ 2)
จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นก็นำมาสู่การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นระยะ แต่โดยภาพรวมก็ยังคงมุ่งในการแก้ปัญหาอยู่ คือในช่วงแรกเราตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จภายในตัวซึ่งส่วนตัวคิดว่าดีมาก ผ่านไประยะหนึ่งก็มีการรื้อฟื้นการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) และสุดท้ายคือการตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้หรือ ศอ.บต. ซึ่งค่อนข้างมีอำนาจเบ็ดเสร็จ
องค์กรในการแก้ปัญหาตอนนี้มีอยู่สามกลไกใหญ่ ๆ กลไกแรกคือกลไกของหน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งใช้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในการแก้ปัญหาซึ่งก็คือ กอ.รมน. โดยประกอบไปด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคงต่าง ๆ ทั้งทหารและฝ่ายปกครองจำนวน 63,247 อัตราในปีนี้ ส่วนที่สองคือ ศอ.บต. ซึ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนา และส่วนที่สามคือกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ทั้ง 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน ตามที่เราทราบอยู่แล้ว ส่วนนี้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมียุทธศาสตร์พระราชทานคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นกรอบในการทำงาน
อันนี้คือกลไกการแก้ปัญหา แต่ก่อนหน้านี้มักจะมีปัญหาในเรื่องของเอกภาพ เพราต่างคนต่างยึดถือในแนวทางของตนเอง ไม่ได้กำหนดเป้าหมายด้วยกัน สุดท้ายพื้นที่ก็ไม่ได้อะไร รัฐบาลจึงมีความคิดใหม่ มีการเขียนแผนพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2555-2557 ขึ้นมาโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 9 วัตถุประสงค์ 5 แนวทางในการขับเคลื่อน และ 29 เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ร่วม เพื่อให้กลไก 3 กลไกหลักนำแนวทางนี้มาจัดทำแผนปฏิบัติการหรือ Action Plan เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ในเชิงบูรณาการณ์ โดยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ขึ้นและมีศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ศปก.กปต. ทำหน้าที่บูรณาการการทำงานทั้ง 3 กลไกให้เกิดเอกภาพ การไปพูดคุยกับกลุ่ม BRN ก็เป็นหนึ่งในนโยบายในวัตถุประสงค์ข้อที่ 8 ที่เขียนเอาไว้คือการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการพูดคุย
อันนี้เป็นกรอบนโยบายในการทำงาน ในพื้นที่ก็เช่นเดียวกัน เราก็นำนโยบายนั้นมาสู่การปฏิบัติ โดยตอนนี้สิ่งที่แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กำหนดเป็นแผนงานเร่งด่วนก็คือเราจัดทำแผน 5 หลัก 2 เสริม โดยยึดถือตามแผนพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และยุทธศาสตร์พระราชทานเป็นปัจจัยหลัก หลักแรกของแผนนี้คือการปฏิบัติการเชิงรุกทางทหาร อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะบทบาทหน้าที่ของเราคือการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งที่เราทำเป็นหลักคือการติดตามคนร้ายที่ก่อเหตุในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการกำหนดเป็นบัญชีเป้าหมายไว้ว่า คนที่เป็นผู้ก่อเหตุระดับสำคัญ 58 เป้าหมาย เราก็แบ่งความรับผิดชอบไปดำเนินการ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพราะเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย หลักที่สองคือการปฏิบัติการในเชิงรับ คือการดูแลพื้นที่ให้มีความปลอดภัย เราใช้กำลังเยอะมากในการดูแลพื้นที่ทั้ง 37 อำเภอ 290 ตำบล 1,970 หมู่บ้าน แค่ภารกิจดูแลครูเพียงอย่างเดียวเราใช้กำลังเป็นหมื่นคนในช่วงเปิดภาคเรียน การมีกำลัง 6 หมื่นกว่าคนนั้นจึงถือว่าไม่เยอะเลย อันนี้คือภารกิจของทหาร อีกส่วนคือภัยแทรกซ้อนที่เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะมีความทับซ้อนกันอยู่เรื่องผลประโยชน์ ซึ่งต้องจัดการขั้นเด็ดขาด โดยปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดการภัยแทรกซ้อนขึ้นมา 1 คณะซึ่งมีความเบ็ดเสร็จในตัว มีการรวมทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ปปส. ปปง. มีอำนาจในการยึดทรัพย์ ซึ่งถือว่าได้ผล ตอนนี้เราสามารถติดตามเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่และนำไปสู่การยึดทรัพย์ได้จำนวนมาก
หลักที่สามคือการนำคนกลับบ้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสานใจสู่สันติของอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เพราะต้องยอมรับว่าในพื้นที่มีความละเอียดอ่อนมาก การปล่อยข่าวลือ การสร้างความหวาดกลัวมีสูงมาก ถ้าเรามองย้อนกลับไปก่อนปี 2547 นั้น กลุ่มขบวนการมีการทดสอบพลังมวลชนด้วยการปล่อยข่าวเรื่องโจรนินจาที่ปล้นและข่มขืนผู้หญิงในปี 2545 สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้าน และวันหนึ่งขบวนการก็ปล่อยข่าวว่าสามารถจับโจรนินจาได้ซึ่งเป็นตำรวจพลร่มสองนาย นำมาสู่การประชาทัณฑ์ของชาวบ้าน ซึ่งนี่คือบททดสอบมวลชนของขบวนการ ตรงนี้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ก็มีกระแสข่าวลือมากมาย ทำให้ชาวบ้านที่เขามีความหวาดกลัวจนหนีออกจากบ้าน บางคนหนีเพราะตกใจไม่ทราบสาเหตุ บางคนหนีเพราะมีคนมาบอกว่าคุณถูกออกหมายจับแล้ว บางคนหนีเพราะถูกออกหมายจับจริง ๆ ไปอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านบ้างหรือพื้นที่อื่น ๆ บ้าง
นโยบายสานใจสู่สันติเกิดจากการเข้าไปคลุกคลีกับผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนาตั้งแต่อดีตแม่ทัพอุดมชัยที่อยู่ในพื้นที่มา 36 ปี ตั้งแต่ท่านเป็นร้อยตรี โดยเฉพาะการเข้าไปขับเคลื่อนกลุ่มผู้นำศาสนาซึ่งถือเป็นผู้นำจิตวิญญาณในพื้นที่ จึงต้องการดึงกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาที่เป็นการตกผลึกทางความคิดร่วมกันระหว่างผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และนักวิชาการ ซึ่งนโยบายนี้มีแนวคิดว่าคนที่ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้ด้วยอุดมการณ์นั้นไม่น่าจะเป็นอาชญากรโดยสันดาน แต่น่าจะเป็นเพราะการถูกบ่มเพาะและบิดเบือนแนวคิดและประวัติศาสตร์ หลายคนที่เราจับตัวได้นั้นให้การว่าเขาคิดว่าเขาเป็นนักรบยูแวซึ่งปฏิบัติการด้วยความเชื่อที่ว่านี่คือภารกิจของเขา นโยบายจะมุ่งไปที่การทำให้คนเหล่านี้กลับมาด้วยการให้โอกาส แต่การให้โอกาสนั้น ด้วยปัจจัยทางกฎหมายทำให้ค่อนข้างลำบาก จึงมีแนวคิดในการใช้กฎหมายบางฉบับเช่นมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ซึ่งคล้าย ๆ กับนโยบาย 66/23 ในอดีต แต่ก็มีข้อติดขัดว่าการใช้มาตรา 21 นั้นต้องใช้ในพื้นที่ที่มีการประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่นที่ 4 อำเภอของสงขลาและยะลา แต่ในการสร้างสถานการณ์นั้น คนสร้างสถานการณ์ไม่จำกัดพื้นที่ เช่นคนอยู่ในสงขลา วันนี้มาที่ปัตตานี อีกวันไปนราธิวาส ดังนั้นคนเหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้าสู่มาตรา 21 ได้เพราะเขายังไปก่อเหตุในพื้นที่อื่น ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีการปรับหรือการทยอยยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินให้มากและใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน
การอำนวยความสะดวกให้คนกลับบ้านเป็นสิ่งที่เราพยายามชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจของภาครัฐว่า ถ้าคุณไม่มีความผิด หรือมีความผิดเล็กน้อยจากความไม่เข้าใจกันในอดีต ตรงนี้เราเปิดโอกาสให้คุณกลับมา ความผิดเล็กน้อยเช่น ผู้ที่ถูกออกหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้น อำนาจของการยกเลิกหมายเป็นอำนาจศาลซึ่งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองสามารถขอให้ศาลยกเลิกได้ถ้าเขาไม่ได้ทำความผิดที่รุนแรง แค่ไปอบรมและปรับเปลี่ยนทัศนคติเล็กน้อย ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ ตอนนี้มีหลายครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวหนีออกจากบ้านเริ่มกลับมาแล้ว
อีกอันหนึ่งคือการเปิดพื้นที่พูดคุย ก็สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในวัตถุประสงค์ข้อ 8 ซึ่งนโยบายสานใจสู่สันตินั้นมีอยู่ข้อหนึ่งคือการเปิดพื้นที่พูดคุยให้ผู้มีความเห็นต่าง หัวใจสำคัญของนโยบายสานใจสู่สันติคือ การยอมรับฟังความเห็นต่างที่ไม่ใช่ความรุนแรง ส่งเสริมให้ทุกคนมาต่อสู้ด้วยกระบวนการทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย การเปิดพื้นที่พูดคุยในพื้นที่ซึ่งเรากระทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยจุดประกายในวันที่ 11 กันยายน 2555 ซึ่งในวันนั้นมีคน 93 คนออกมาพูดคุย ซึ่งเขาสะท้อนว่าเขาเป็นคนที่มีอุดมการณ์เพื่อพี่น้องประชาชนโดยใช้ความรุนแรง แต่ในเมื่อวันนี้ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของเขาได้ล้ำหน้ามวลชนไปมากแล้ว ความหมายก็คือ เขาไม่เคยมาดูแลมวลชนเลย มวลชนต้องการแบบหนึ่ง เขาต้องการแบบหนึ่ง ผู้ได้รับผลกระทบก็คือพี่น้องประชาชน เพราะพี่น้องประชาชนอยากจะให้ต่อสู้ในเชิงสันติ แต่เขาใช้ความรุนแรงในการเข่นฆ่าประชาชนด้วยกัน
ดังนั้นเขาก็คิดว่าวิธีการนี้น่าจะไม่ถูกต้องแล้ว ก็เลยมาพูดคุยในชุดแรก 93 คน นำโดยแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ตอนนี้คนที่ออกมานั้นมีค่อนข้างเยอะ แต่ตัวเลขอย่างเป็นทางการเฉพาะคนที่มีประวัติชัดเจนมีจำนวน 257 คน ทั้งหมดนี้เราแยกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีหมาย ป.วิอาญา กลุ่มนี้ไม่มีกฎหมายใดที่จะถอนหมาย ป.วิอาญาได้ แต่เราจะอำนวยความสะดวกในเรื่องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่นในเรื่องของการหาทนายความ การประกันตัว การดูแลความปลอดภัย อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ แต่ก็ยังต้องเข้าสู่กระบวนการเหมือนเดิม ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าเขาไม่มีเงื่อนไขในการต่อรองตรงนี้ แต่เขาขอเงื่อนไงในการช่วยเหลือการประกันตัวเท่านั้นเอง ซึ่งตอนนี้หลายคนที่ออกมาราว 40 – 50 คนก็อยู่ในกลุ่มนี้ ในส่วนที่สองคือคนที่มีหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งมีค่อนข้างเยอะ ตรงนี้ไม่ยาก ถ้าลักษณะความผิดที่ก่อเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยหรือถูกซักทอด ก็ไปขอปลดหมาย และไปอบรม ในส่วนที่สามคือพวกคนที่ตกใจหรือถูกใส่ร้าย ตรงนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร
นอกจากนั้นนโยบายนี้ยังเข้าไปดูในเรื่องของแหล่งบ่มเพาะ เพราปัญหาในสามจังหวัดเกิดจากการบ่มเพาะเด็ก ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ขบวนการ เช่นกลุ่ม BRN ก็มีกระบวนการการบ่มเพาะเด็กที่เป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่เด็ก ๆ คือตาดีกา เข้าสู่ปอเนาะ จนถึงรั้วมหาลัย ซึ่งมีการบ่มเพาะความคิด ความเชื่อ และความเกลียดชัง เหมือนที่เราถูกปลูกฝังให้เกลียดชังพม่าทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าเราไปเกลียดเขาทำไม ตรงนี้ก็คล้าย ๆ กัน เราเคยพบหลักฐานในโรงเรียนตาดีกานั้น วิชาวาดเขียนเขาให้วาดรูประเบิดรถถัง หรือรูปยิงเครื่องบิน พอโตขึ้นมาก็จะปลูกฝังในเรื่องประวัติศาสตร์ และไปจนถึงอุดมการณ์ในการต่อสู้ ตรงนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ซึ่งเราจัดชุดปฏิบัติการเข้าไปพัฒนาสัมพันธ์กับผู้บริหารโรงเรียนและเด็ก ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน เพื่อเป็นการสร้างเกราะให้เขาและสร้างความเข้าใจให้เด็ก ๆ ในตอนนั้นทางขบวนการก็พยายามเข้ามาพูดในเชิงว่าทหารส่งครูเข้าไปสอนในปอเนาะ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ เพราะเราไม่เคยเข้าไปแทรกแทรงในเรื่องการสอนหรือศาสนาหรือการเรียนการสอนเลย เป็นการเข้าไปผูกมิตรเท่านั้น ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งการประเมินพบว่าเด็กและคุณครูมีทัศนคติที่ดีขึ้นจากที่แต่ก่อนเกลียดเจ้าหน้าที่โดยไม่รู้ตัว
อีกส่วนหนึ่งคือโรงเรียนการเมืองเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เป็นเงื่อนไขและนโยบายของรัฐ โดยมีทั้งการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเอง สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องของหลักศาสนาอิสลาม ทั้งข้อบังคับ ข้อห้ามต่าง ๆ และสร้างความเข้าใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่เราต้องคำนึงถึงตลอด เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะในอดีตเราเข้าไปติดกับในกับดักในเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ขบวนการวางไว้อย่างแยบยลเช่นในกรณีของตากใบหรือกรือแซะ ซึ่งตรงนี้เรายอมรับว่าเราผิดพลาด เพราะเราผิดพลาดจริง ๆ ทำให้เราเสียเรื่องานการเมืองทั้งหมด นโยบายจึงเน้นมากเรื่องสิทธิมนุษยชน ทุกคนจะต้องรู้หลักสิทธิมนุษยชน ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเด็ดขาด การไปปิดล้อมหรือปะทะต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง มีกฎการปะทะ มีผู้นำต่าง ๆ เข้ามาเป็นสักขีพยานด้วย ช่วงหลังถือว่าดีขึ้นเยอะ
สุดท้ายคือการบูรณาการ โดยในระดับรัฐบาลมี ศปก.กปต.คอยดูแล ในระดับพื้นที่มีศูนย์ประสานงานซึ่งมีตัวแทนของส่วนราชการต่าง ๆ มาร่วมด้วย ตอนนี้เรากำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ การจัดทำแผนการเอาชนะการจัดตั้งอำนาจรัฐซ้อนใน 324 หมู่บ้าน มีการกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการทำพื้นที่ให้ปลอดภัยและส่งเสริมความเข้มแข็งของกรรมการหมู่บ้าน เรามีเป้าหมายว่าจะให้ทุกส่วนราชการเข้าไปดูแล ไม่ใช่การใช้ทหารทั้งหมด เพราะทหารมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยเท่านั้น และในอนาคตพอสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เราก็จะทยอยถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ที่ปลอดภัยซึ่งเราเรียกว่าพื้นที่เสริมสร้างการพัฒนา โดยจะถ่ายโอนอำนาจให้ฝ่ายปกครอง เช่นในสงขลา ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะถอนทหารออก เป็นแต่เพียงการถ่ายโอนความรับผิดชอบ เพราะการดูแลในภาพรวมยังเป็นหน้าที่ของกอ.รมน.ภาค 4 สน. อยู่
ใน 324 หมู่บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านที่เราสำรวจแล้วพบว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการจัดตั้งอำนาจรัฐซ้อนซึ่งเรียกว่าหมู่บ้านนาเยาะ ทำให้เรามีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประจำอำเภอขึ้นมาเพื่อเป็นเจ้าภาพในการดูแล โดยมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าซึ่งเราเรียกว่าเป็นผอ.ศปก.อำเภอ มีผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจหมายเลขสองตัวหรือผู้พันทั้งหลายเป็นรอง และมีส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นโครงสร้างของ กอ.รมน.อำเภอ เข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเราต้องมีการพัฒนาหมู่บ้านเป้าหมายให้สำเร็จเพื่อให้สามารถส่งมอบให้ตำรวจและอส.ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในอนาคตเข้ามาดูแล แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะถอนกำลังทหาร เพียงแต่เรานำกำลังทหารที่ดูแลพื้นที่ตรงนี้ไปดูแลพื้นที่อื่น ไปจับกุมและกดดันคนร้ายมากขึ้น แต่ถ้าในอนาคตนั้นสถานการณ์มันดีขึ้นจริง ๆ ความจำเป็นในการใช้กำลังทหารก็จะลดลงไป ซึ่งเมื่อนั้นเราก็จะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้กองทัพภาคที่ 4 และกำลังประจำถิ่นดูแล
ในส่วนแผนงานเสริมนั้นมีเรื่องของงานด้านการปฏิบัติการจิตวิทยาและการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสังคม พี่น้องประชาชน และประชาคมโลก
โดยภาพรวมของเหตุการณ์ในพื้นที่ในตอนนี้นั้น แม้ว่าเหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้น พี่น้องประชาชนยังคงไม่ได้ปลอดภัย 100% แต่สถานการณ์นั้นพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าเรามองในมิติให้ครอบคลุมทั้งมิติความมั่นคงและการพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อมองประชาชนเป็นตัวตั้งตามหลักสงครามประชาชน ในระยะหลังไม่เคยมีเหตุการณ์ครั้งไหนเลยที่ประชาชนมาชุมนุมขับไล่เจ้าหน้าที่ แต่จะมีเพียงสองครั้งที่มีการชุมนุมของชาวบ้านก็คือช่วงปรับย้ายคือช่วงเดือนมีนาคมและช่วงเดือนกันยายน เพราะทหารจะต้องมีการสับเปลี่ยนที่ตั้ง เท่าที่ผมมาอยู่สามปีก็คือมีชาวบ้านมาชุมนุมกัน มานั่งร้องห่มร้องไห้ว่าอย่าย้ายทหารที่อยู่ในพื้นที่ของเขาได้ไหม ซึ่งเป็นคนละภาพกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ถ้าเราดูพัฒนาการในการแก้ปัญหาตรงนี้ถือว่าดีขึ้นมาก ทัศนคติของชาวบ้านดีขึ้นมาก มีความเชื่อใจ มีความเชื่อมั่น ภาวะทางเศรษฐกิจก็ดีมาก โชว์รูมมิตซูบิชิยะลาที่อยู่ไม่ไกลจากตรงนี้ถือว่ามียอดขายมากที่สุดในประเทศไทย รถยนต์ที่มาลงแต่ละช่วงนั้นแทบไม่มีที่จอด รถมอเตอร์ไซต์มหาศาล ธุรกิจที่ดินและบ้านจัดสรรในยะลานั้นสร้างไม่ทัน ราคาแพงกว่าที่หาดใหญ่ซึ่งเราก็ประหลาดใจ ตอนนี้เราก็มีความพยายามที่จะคุยกับผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจเช่นจากสภาพัฒน์ เพราะบ้านแถวนี้ แค่ห้องแถวหนึ่งก็มีราคาถึง 5 – 6 ล้านต่อห้อง ถือว่าสูงมาก ตรงนี้คือมิติการพัฒนาในพื้นที่ที่ทำให้เห็นว่านักธุรกิจในพื้นที่และชาวบ้านมีความมั่นใจมากขึ้น กระแสตรงนี้ถือว่ามาแรงมาก
ในเรื่องของการพูดคุยที่เกิดขึ้นกับกลุ่มแกนนำนั้นก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งจริง ๆ แล้วเรามีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว แต่ในครั้งนี่ค่อนข้างจะเป็นทางการ โดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลาง ตรงนี้ถือว่าเป็นการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ยังไม่ใช่การเจรจา เป็นจุดเริ่มต้น เราไม่สามารถทำให้เหตุการณ์สงบได้ภายในวันสองวัน บทบาทหน้าที่ของกองทัพในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงยังทำหน้าที่ปรกติ ต้องเฝ้าระวังมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะมันมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ ที่ถ้าสถานการณ์ยุติเขาก็จะเสียประโยชน์ ดังนั้นในเรื่องของการพูดคุยในระดับนโยบายและในระดับพื้นที่เราก็มีการพูดคุยกัน เช่น 257 คนที่ออกมาก็เกิดจากการพูดคุย แต่ในการปฏิบัติการทหารนั้นยังคงปฏิบัติการเหมือนเดิม
ตลอดช่วงที่ผ่านมา การแก้ปัญหาโดยใช้การเมืองนำการทหารภายใต้ยุทธศาสตร์พระราชทานเพื่อกำหนดนโยบายของรัฐบาลและนโยบายในพื้นที่อย่างประสานและสอดคล้อง ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่นั้นดีขึ้นตามลำดับ ยังไม่มีการแทรกแทรงจากต่างชาติเลย แม้แต่องค์กรระหว่างประเทศอย่าง OIC นั้นเขาก็มองทิศทางการแก้ปัญหาของไทยดีขึ้นมาก ผมเคยมีโอกาสไปร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศ OIC ครั้งที่ 39 ที่ผ่านมาที่จีบูตินั้น เขามองประเทศไทยดีขึ้นมาก ไม่มีประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันเลย อาจจะมีบ้างเรื่องที่มีมติทั่วไปเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่อิยิปต์นั้น เขาชื่นชมมากถึงพัฒนาการในการแก้ปัญหาของประเทศไทย ดังนั้นคิดว่าตรงนี้ กลุ่มคนที่มีความเห็นต่างเขาก็เริ่มคิดได้ว่าแนวทางการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงนั้นไม่ถูกต้อง เราเทียบกับอาเจาะห์หรือมินดาเนาไม่ได้ เพราะตรงนั้นเขามีกองกำลังชัดเจน มีแกนนำชัดเจน และเขาไม่ทำร้ายพี่น้องประชาชน มันเป็นการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มกบฏ แต่ตรงนี้มันไม่ใช่เพราะประชาชนคือเหยื่อจากการกระทำของขบวนการ ตรงนี้ผมเชื่อว่าหลายคนคิดได้ สังคมเริ่มบีบ ประชาชนเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น เริ่มมีการรวมพลังปฏิเสธความรุนแรง ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ขบวนการอยู่ไม่ได้ ตอนนี้ที่เขาอยู่ได้มากจากอำนาจจากปลายกระบอกปืนที่ข่มขู่ชาวบ้านและสร้างความหวาดกลัวเท่านั้น แต่ชาวบ้านอยากอยู่เหมือนสมัยก่อนที่อยู่อย่างสงบสุข
(แหล่งที่มา:http://www.thaiarmedforce.com/taf-special/591-tafspecial73.html)
(ตอนที่ 3)
ในความหมายของการเมืองนำการทหารนั้น บางทีสังคมอาจจะตีความหมายผิดไปว่าจะเป็นพลเรือนหรือนักการเมืองมานำทหาร จริง ๆ ไม่ใช่ คำว่าการเมืองนำการทหารนั้น เป็นนโยบายที่ไม่ว่านักการเมืองหรือทหารมาทำก็ได้ การเมืองนำการทหารคือการปฏิบัติการใด ๆ ก็ตามที่ทำแล้วได้ใจพี่น้องประชาชน การเมืองนำการทหารที่กองทัพทำอยู่ก็คือการที่ไม่ไปละเมิดต่อพี่น้องประชาชน เราต้องดูแลพี่น้องประชาชน จนถึงเราต้องได้ใจพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการทางทหาร การปฏิบัติการกับภัยแทรกซ้อน การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน การรักษาความปลอดภัย การปฏิบัติตามกฎการปะทะ ซึ่งตรงนี้ล้วนเป็นการการเมืองทั้งสิ้น คือแทนที่เราจะใช้การทหารเข้าไปล้อมปราบโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกพี่น้องประชาชน เราก็จะเปลี่ยนเป็นการทำอะไรก็ได้ที่ได้ใจพี่น้องประชาชน โดยใช้แนวทางกฎหมาย การไม่ละเมิด ฉะนั้นสิ่งที่เรายึดถือมาตลอดในการทำสงครามประชาชนนั้น เราใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร
- มีกรณีศึกษาอันหนึ่งคือชาวบ้านหลายคนไม่ได้เห็นด้วยกับทางขบวนการ แต่พวกเขาไม่สามารถร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ หรือแม้แต่แสดงความไม่เห็นด้วยได้เพราะแนวร่วมในพื้นที่เป็นตัวกดดันอยู่ สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถจะช่วยเจ้าหน้าที่ได้ ตรงนี้จะมีทางแก้ไขหรือช่วยเหลือตรงนี้ได้อย่างไร
เป็นสิ่งที่ยากมาก อย่างที่ผมบอกก็คือขบวนการที่นี่ทำร้ายชาวบ้านซึ่งไม่เหมือนที่อื่นที่มีอุดมการณ์เพื่อประชาชน ซึ่งเราก็เข้าใจว่าชาวบ้านก็เหมือนน้ำท่วมปาก เหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างกำลังสองฝ่าย ขบวนการก็อยู่หลังชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ก็อยู่ข้างหน้า ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือก ตรงนี้เราเข้าใจความรู้สึกของเขาเพราะทุกคนก็ห่วงชีวิตของตนเอง สิ่งที่เราพยายามทำตอนนี้คือการแก้ปัญหาทั้งระบบ ต้องค่อย ๆ ทำต้องใช้เวลานานมาก การแก้ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติทั้งระบบ ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือแนวทางของโรงเรียนการเมืองเคลื่อนที่ ซึ่งสร้างความเข้าใจไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่เห็นด้วยกับรัฐ แต่ต้องสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านที่เห็นต่างด้วย ให้ค่อย ๆ ซึมเข้าไปเรื่อย ๆ ต้องค่อย ๆ พัฒนาให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจ อย่างช่วงแรก ๆ ของสถานการณ์นั้นพี่น้องประชาชนไม่กล้าที่จะแจ้งเบาะแสเลยเพราะเขากลัวและไม่เชื่อมั่น แต่ระยะหลังมีมากขึ้น ผมคิดว่าการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนนั้นเราต้องช่วยกันทั้งประเทศ แต่มันคงไม่สามารถทำได้ภายในพริบตา
เอาง่าย ๆ คือการสร้างกระแสการห้ามขายของวันศุกร์ ซึ่งเคยเกิดเมื่อปี 2547 ซึ่งครั้งนั้นรัฐมนตรีต้องลงมาทุกสัปดาห์ มาเปิดงานธงฟ้าขายของสร้างความเชื่อมั่นอยู่นานมากเกือบ ๆ ปี ด้วยความที่ประชาชนกลัว ในครั้งหลังที่ผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ที่มีการสร้างกระแสการห้ามขายของวันศุกร์ เราใช้การสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่น แค่ประมาณเดือนกว่าทุกอย่างก็เข้าสู่ภาวะปรกติ สุดท้ายเขาก็อยู่ไม่ได้ พอเห็นว่าชาวบ้านไม่เอาด้วย ขบวนการก็ปล่อยข่าวลือว่าการสั่งห้ามขายของวันศุกร์เป็นเรื่องของผู้บัญชาการทหารบกสั่ง ซึ่งชาวบ้านเขาก็ไม่เชื่อ ในการต่อสู้ ถ้าชาวบ้านเขาไม่เอาด้วย ขบวนการก็อยู่ยาก สุดท้ายสังคมโลกก็จะประณามเขาเอง
ตรงนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไม NGO บางกลุ่มหรือมูลนิธิบางมูลนิธิถึงไม่เคยประณามขบวนการเลย แต่เมื่อใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงาน เช่นที่บาเจาะ เขาก็ช่วยกันตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่พอรองผู้กำกับถูกระเบิดจนเสียชีวิตกลับไม่มีองค์กรเหล่านี้ออกมาประณามขบวนการเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ตรงนี้เราทำมาตลอด พอมาเจอเราก็พูดดีตลอด คือคนกลุ่มนี้ก็คือคนไทย อย่างครั้งล่าสุดนั้นเขาทำรายงานหลอก ๆ ไปเสนอการประชุมของสหประชาชาติซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเขา ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม คือการเป็น NGO นั้นเข้าใจว่าคือการอยู่ตรงข้ามกับรัฐ แต่การตรงข้ามกับรัฐนั้นต้องอยู่ในภาวะปรกติ ประชาชนถูกรัฐเอาเปรียบ อันนี้ควรจะเข้าไปดูแล แต่ในมิติปัญหาแบบนี้ NGO เหล่านี้ควรจะต้องคิดได้
ตรงนี้มีบางองค์กรที่เป็นทั้งแนวร่วมทางตรงและแนวร่วมมุมกลับด้วยการเล่นบทบาท NGO ที่ต้องอยู่ตรงข้ามรัฐ สื่อมวลชนก็กลายเป็นแนวร่วมมุกลับโดยไม่รู้ตัว เช่นกรณีของบาเจาะนั้น สื่อมวลชนต่างเข้าไปสัมภาษณ์ลูกเมียของผู้เสียชีวิต แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เสียชีวิตกลับไม่ค่อยเข้าไปสัมภาษณ์ลูกเมียของเจ้าหน้าที่ หรือการที่ชี้ประเด็นว่าสาเหตุเกิดจากกรณีตากใบนั้น เป็นการผลิตซ้ำทางความคิด แต่ไม่มีการพูดต่อว่าเหตุการณ์ฆ่าตัดคอนายไสวกับนายเมธา พริกเล็ก ในปี 2544 ก็เกิดขึ้นก่อนกรณีตากใบ เหตุการณ์ปล้นปืนก็เกิดขึ้นก่อนตากใบ มันล้วนแต่เกิดขึ้นก่อนตากใบทั้งนั้น บางทีสื่อก็อาจจะไม่ได้แยกแยะ ไม่อย่างนั้นเราจะตกเป็นเครื่องมือของขบวนการ ถ้าเราไปสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีวิตนั้น ต่อให้ลูกเป็นผู้กระทำผิดเราก็รัก ลูกใครใครก็รัก แต่พอภาพตรงนั้นถูกสื่อออกไปกลายเป็นว่าเขาเป็นคนดี แต่ต้องเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ดังนั้นเขาจึงต้องเป็นวีรบุรุษ ซึ่งตรงนี้คือการเป็นแนวร่วมมุมกลับโดยไม่รู้ตัว ตรงนี้เราไม่ได้ปิดกั้นหรือลิดรอนสิทธิของสื่อ แต่สื่อเองต้องมีแนวทางการนำเสนอที่ดีเช่นกัน
จริง ๆ แล้วเราไม่ควรจะสื่อมากเกินไปด้วยซ้ำ อย่างวันนั้นผมพยายามบอกว่าเราเสียใจ เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นั้น เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปกป้องชีวิตตัวเองและคุ้มครองฐานที่มั่น ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่ก็ต้องตาย ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็คือการปกป้องชีวิตและสัญลักษณ์ของหน่วยงาน และไม่ถือว่าเป็นความสำเร็จของการปฏิบัติด้วย
แต่ว่าเราก็พอเข้าใจว่าสังคมมีความสะใจ เพราะมันเหมือนกับสังคมถูกแบ่งเป็นสองขั้ว ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้น เพราะไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นเรื่องของคนสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งก็มาเชียร์มะรอโซ จันทรวดี แต่ไม่ได้มองว่าเขาก่อคดีมากี่คดีแล้ว อย่างปืนอาก้าที่เขาใช้นั้นก่อคดีมาแล้ว 35 คดี คนตายไป 39 ศพ ยังมี M4 อีกกระบอกหนึ่งอีก ซึ่งคนเหล่านั้นเขาก็มีสิทธิที่จะมีลมหายใจ แต่ตรงนี้กลายเป็นว่ามะรอโซกลายเป็นวีระบุรุษ มีการนำวีดีโอใน youtube มาเผยแพร่ การนำเรื่องการอาบน้ำศพมาเผยแพร่ การนำผลการเสวนาของนักศึกษาเรื่องวีรบุรุษมะรอโซมาเผยแพร่ ซึ่งถือเป็นแนวร่วมมุมกลับโดยไม่รู้ตัว ตรงนี้ทำไมสังคมไม่ถามกลับว่าการที่มะรอโซมาเป็นหนึ่งในขบวนการและฆ่าคนไปหลายคนนั้นถูกต้องไป โอเคว่าการเข้ามาตรงนี้ของมะรอโซอาจจะเกี่ยวข้องกับตากใบบ้าง แต่เราก็ให้โอกาสเยอะแล้วแต่เขาก็ไม่เคยได้รับโอกาสนั้น
ตรงนี้ทำยาก ตอนนี้สิ่งที่อยากมีสองส่วน ส่วนแรกคือเรื่องการร้องเรียนซึ่งทำเป็นขบวนการ เช่นเมื่อมีคนถูกจับจะมีคนร้องเรียนให้อยากรวดเร็วโดยคนถูกจับยังไม่รู้ตัวเลย และจะร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานในทุกกรณี กว่าจะรู้มันก็ผ่านไปนาน กว่าเรื่องจะไปถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กว่าจะลงมาถึงเรา เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ย้ายไปแล้ว ก็ตรวจสอบยาก แม้ว่าจะน้อยลงแต่ตรวจสอบยาก อย่างกรณีที่ผมเจอกับตัวคือมีการประโคมข่าวว่าเราจับผู้ต้องสงสัยมาซ้อม 7 วัน 7 คืน ไม่ให้ประกอบศาสนกิจ แต่พอมาตรวจสอบแล้วนั้นไม่เป็นความจริง ทุกอย่างมีคำอธิบายได้หมด เช่นผลการตรวจร่างกายของแพทย์หรือภาพการประกอบศาสนกิจ ซึ่งมีหลักฐานพร้อมหมด สุดท้ายผู้ต้องสงสัยคนนี้ถูกจับ ศาลตัดสินประหารชีวิต เพราะเขาไปเกี่ยวข้องกับคดีคดีปล้นปืนที่ฐานปฏิบัติการร้อย ร. 1521 ที่นราธิวาส แต่ตรงนี้ข่าวมันออกไปในสังคมแล้ว
จากที่กล่าวมาคือมีกลไกอยู่สามกลไก งบประมาณปีละ 2 หมื่นล้าน ผมแยกคร่าว ๆ เป็นของกองทัพราว 7 พันล้าน ซึ่งจะถูกใช้ไปในส่วนของค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าเสี่ยงภัยของกำลังพลหกหมื่นกว่าอัตราแทบทั้งหมด มีงบดำรงชีพกับงบบริหารนิดหน่อย นอกนั้นก็เป็นงบในการไปหาชาวบ้านนิดหน่อย ในส่วนที่สองคืองบของ ศอ.บต. ก็คืองบพัฒนาราว 2 – 3 พันล้าน อันนี้ไม่นับรวมการใช้งบกลางของงบประมาณ ในส่วนที่สามคืองบของกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ที่เป็นสัดส่วนราว 50% งบตรงนี้มีเจ้าของ แต่เวลาคนมองการแก้ปัญหาก็จะมองที่ทหาร ซึ่งจริง ๆ แล้วงบที่ทหารได้ราว 35% เท่านั้น ศอ.บต. ราว 15% ที่เหลือก็คือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ
ดังนั้นในเรื่องงบประมาณนั้นเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงค่าเสี่ยงภัยทั้งนั้น เรื่องยุทโธปกรณ์พิเศษก็มีบ้าง ยกตัวอย่างเช่นเสื้อเกราะ ซึ่งเคยมีการส่ง SMS ไปขอรับบริจาคกันทางทีวีนั้น ความจริงแล้วตามอัตราการจัดนั้นมันไม่สามารถที่จะจัดได้ครบทุกคนในครั้งเดียวพร้อมกัน มันมีขั้นตอนของมันอยู่ และเมื่อครบตามอัตราแต่ไม่สามารถจัดได้ครบ 100% เพราต้องคำนวณตามสัดส่วนของคนที่อยู่จริง เพราะเสื้อเกราะและอาวุธเป็นของส่วนกลางไม่ใช้ของส่วนตัว ซึ่งเมื่อดูจากการพักที่กำลังพลจะพักราว 1 ใน 4 นั้น เสื้อเกราะเราก็จะมีพอให้กำลังพลที่กำลังทำงานอยู่คือ 3 ใน 4 มันก็ไม่ครบทุกคน แต่ตอนนี้ก็ยังมีการจัดหาอยู่ การจัดหาก็ส่วนหนึ่ง การจำหน่ายก็ส่วนหนึ่ง ก็จะค่อย ๆ เติมเข้ามา ซึ่งตอนนี้ความจริงยุทโธปกรณ์ก็เริ่มพร้อมขึ้นมาเยอะแล้ว
เรื่องนี้พูดยาก เพราะยุทโธปกรณ์เหล่านั้นในสงครามตามแบบหรือสงครามที่มียุทธบริเวณชัดเจน ยุทโธปกรณ์จำเป็นแน่นอน แต่ในภาคใต้ซึ่งไม่มีแนวรบแน่นอน กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ยุทธศาสตร์ทิ้งภูผา เข้าหามวลชน กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่กับคน ยิงเสร็จมีคนมารับปืนไป ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วก็มาอยู่ปะปนกับชาวบ้าน ก็ไม่รู้จะไปหาใคร ดังนั้นยุทโธปกรณ์ที่ต้องใช้ก็ควรจะเป็นยุทโธปกรณ์ที่อยู่กับคน เช่น ปืนจำเป็นไหม เครื่องแต่งกายจำเป็นไหม เสื้อเกราะจำเป็นไหม แน่นอนจำเป็น อันนี้คือการหาเครื่องมือที่มาใช้งาน ซึ่งตอนนี้ผมว่ายุทโธปกรณ์เหล่านี้ได้เกือบครบแล้ว
ผมขอไม่ตอบตรงนี้ เพราะเป็นเรื่องของระดับสูงขึ้นไป ตรงนี้ผมเป็นระดับปฏิบัติ ซึ่งจริง ๆ การพูดคุยนั้นทำมานานแล้ว การสร้างความเข้าใจต่าง ๆ ก็ทำมานานแล้ว คือมันก็คล้าย ๆ กันในระดับนโยบายซึ่งต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ในระดับพื้นที่ก็เหมือนกัน 93 คนนั้นกว่าจะออกมาไม่ใช่อยู่ ๆ ออกมา แม่ทัพภาคที่ 4 มีการพัฒนาสัมพันธ์และสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจกันจนวันนี้เขามั่นใจที่จะออกมา ข้างบนก็เหมือนกัน เราอย่าไปคิดลบเกินไป ตอนนี้มันอาจจะยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน เอาง่าย ๆ แค่ระดับข้างล่าง แวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หรือ ยะยา การูมอ ก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะพัฒนาสัมพันธ์ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจนออกมา ทั้งหมดเป็นอย่างนั้น
เขาเคยเปรียบเปรยว่า พวกเขาเหล่านั้นแต่ก่อนเคยเป็นหัวหน้าครอบครัว ทุกวันนี้ถ่ายโอนอำนาจในการดูแลครอบครัวให้กับลูกไปแล้ว และหัวหน้าครอบครัวก็ไปเดินทางรอบโลกไป ตอนนี้ลูกก็น่าจะคุยกับหัวหน้าครอบครัวได้บ้าง แต่อาจไม่สามารถสั่งลูกให้ซ้ายหันขวาหันได้แล้ว เพราะอำนาจในการบริหารอยู่ที่ลูก แต่ความสัมพันธ์ก็ยังมีอยู่ มันต้องใช้เวลา มันคงเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง คือในสามจังหวัดมันมีหลายกลุ่ม และมันมีปัจจัยอย่างอื่นเยอะ มีผลประโยชน์เยอะ ดังนั้นในเรื่องของอุดมการณ์แท้ ๆ ผมว่าเขาสั่งกันได้ แต่ในตอนนี้มันมีกลุ่มย่อย ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาโดยแอบหลังขบวนการด้วย
แต่ก่อนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ดังนั้นในการเข้าหามวลชนของเราจะง่าย ผมอยู่ในพื้นที่มานานตั้งแต่เป็นร้อยตรี ชาวบ้านอยู่กับเราหมด ก่อนหน้านี้เขาสร้างอุดมการณ์การต่อสู้ให้กับคนบางกลุ่ม แต่พอเขาเปลี่ยนมาเป็นแนวคิดซึ่งเขาสะสมมาราว 20 กว่าปีในสร้างอุดมการณ์ในการต่อสู้ให้กับคนทั้งหมด และสร้างจิตสำนึกมวลชน ซึ่งมันยากตรงนี้ เมื่อเขาสร้างจิตสำนึกให้มวลชนว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคนที่จะมาต่อสู้ตรงนี้มันก็เลยยาก ที่อยากอีกอย่างหนึ่งก็คือโลกเรามันเป็นโลกาภิวัตน์ไปแล้ว
คิดว่าอยู่ ทุกฝ่ายจะต้องเล่นบทบาทของตนเองให้ได้ และบทบาทนั้นต้องสอดคล้องกัน บางครั้งถ้าเราเล่นบทบาทผิด ๆ ก็อาจพลาดพลั้งโดยไม่รู้ตัว เราต้องเล่นบทบาที่แท้จริงคือเราจะแก้ปัญหา ทุกปัญหามีทางออกอยู่แล้ว การแก้ปัญหาความขัดแย้ง เราไม่สามารถแก้ด้วยความรุนแรง ต้องสันติเท่านั้น ในต่างประเทศเขาก็ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะแก้ได้ บ้านเราอาจจะมีปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งทำให้การแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับปัญหาอื่น ๆ แต่ถ้าเรามองไปที่จุดหมายและมุ่งแก้ปัญหา เชื่อว่ามันก็ไม่ยากเกินไปที่จะแก้ได้
คณะทำงาน ThaiArmedForce.com ขอขอบคุณ
- ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า
(แหล่งที่มา: http://www.thaiarmedforce.com/taf-special/591-tafspecial73.html)