หน้าแรก    ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบคำถาม    เข้าสู่ระบบ      


ในหลวงทรงห่วงภาษาไทย (ย้ำสติคน) (นำมาให้อ่านอีกครั้ง)

โดยคุณ : ขำขำวุ้ย เมื่อวันที่ : 09/02/2009 21:08:10

" พล. อ.เปรม"ย้ำ"ในหลวง"ทรงห่วงภาษาไทยเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าพึงประสงค์ ออกเสียงเพี้ยน วอนคนไทยหวงแหน อย่าพูดไทยคำอังกฤษคำ "แอ๊บแบ๊ว"ฮิต ปธ.องคมนตรียังอยากรู้ความหมาย รมช.ศธ.ยก 7 สาเหตุภาษาไทยวิกฤต พ่อ แม่ส่งลูกเรียนนานาชาติ เด็กไม่สนใจอ่านหนังสือ แต่ชอบเล่นเน็ต-เอสเอ็มเอส ที่ต้องย่อคำ

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ภาษาไทยบนแผ่นดินไทย" ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง "การแก้วิกฤตภาษาไทย" เนื่องในวันภาษาไทย 2550 จัดโดยสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย และคณะครูภาษาไทยเข้าร่วมประมาณ 300 คน

พล. อ.เปรมกล่าวปาฐกถาโดยมีใจความสำคัญว่า คนไทยมีภาษาประจำชาติภาษาเดียวคือภาษาไทย จึงนับว่าคนไทยโชคดีมหาศาล ไม่มีปัญหาในการสื่อสารซึ่งกันและกัน ไม่เหมือนบางประเทศมีภาษาที่ใช้กันมากกว่า 1 ภาษา นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องช่วยกันดำรงและอนุรักษ์ภาษาถิ่นไว้ให้มั่นคงและยั่งยืน เหมือนกัน ตนเป็นคนใต้ มีความภูมิใจในการเป็นชาวใต้ พยายามจะอนุรักษ์ภาษาใต้ดั้งเดิมไว้ แต่ค่อนข้างยากมาก เดี๋ยวนี้คนใต้แหลงใต้เฉพาะสำเนียง แต่คำที่ใช้เป็นภาษากลางเกือบทั้งหมด

พล. อ.เปรมกล่าวต่อว่า มีคนบางกลุ่มพูดกันว่าปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสาเหตุหนึ่งเกิดจากคนไทยมุสลิมพูดภาษาไทยไม่ได้หรือพูดได้บ้าง แต่สื่อกันไม่เข้าใจ ซึ่งไม่เห็นด้วยเลย เพราะมีเพื่อนเป็นชาวมุสลิมหลายคนที่พูดภาษาไทยได้ แต่อาจจะไม่อยากพูด ดังนั้น ปัญหาใหญ่ของ 3 จังหวัดภาคใต้ จึงไม่ใช่เรื่องภาษา แต่มีปัญหาเรื่องความเป็นไทยและความเป็นธรรม

"ภาษาไทยเป็นภาษา ประจำชาติของเรา คนไทยทุกคนจึงต้องเรียนรู้ภาษาไทยให้ดีที่สุด ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน แต่เท่าที่ทราบการศึกษาทุกระดับยังไม่บรรลุผลเป็นที่น่าพอใจ เดาว่าสาเหตุอาจมาจากระบบการศึกษาของเราเปลี่ยนแปลงบ่อยจนจับหลักไม่ได้ อาจจะลอกเลียนต่างประเทศ สำหรับภาษาไทย ผมเห็นว่าลอกใครไม่ได้ ต้องคิดเอง ทำเอง ปรับปรุงเอง พัฒนาเอง" พล.อ.เปรมกล่าว

พล.อ.เปรมกล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาษาไทยมีความผิดเพี้ยนไปจากภาษาไทยที่ใช้กันมา การออกเสียง การพูด การสะกด การการันต์ การใช้คำเปลี่ยนแปลงไปมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงความห่วงใยในความเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยที่เป็นไปอย่างไม่น่าพึง ประสงค์ เคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา เลยทำให้ฟังดูแปลก นั่นคือพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงหวังว่าสมาคมครูภาษาไทยฯ จะให้ความสนใจต่อพระราชกระแสรับสั่งและนำไปคิดแก้ไข

พล.อ.เปรม กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือ "ศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" จากราชบัณฑิตยสถาน เป็นหนังสือที่ดีมาก ผู้ที่ชอบพูดไทยคำฝรั่งคำควรแสวงหาไปอ่านและควรจะนำไปใช้ เพราะไม่ควรมีการพูดไทยคำฝรั่งคำ เพราะผู้สันทัดภาษาอังกฤษฟังไม่เข้าใจ และยังทำให้ความงดงามของภาษาไทยเสื่อมลง แถมผู้พูดอาจจะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษดีพอ บางคนสะกดไม่ถูกด้วยซ้ำ การที่ราชบัณฑิตยสถานจัดทำหนังสือเล่มนี้ออกมาเผยแพร่ คงจะทำให้ภาษาไทยงอกเงยขึ้น และส่งเสริมให้การใช้ภาษาไทยได้หลากหลายขึ้น

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ พล.อ.เปรมกล่าวปาฐกถาได้ยกตัวอย่างถึงคำศัพท์ใหม่ว่า "จากการอ่านหนังสือพิมพ์ทราบว่าราชบัณฑิตฯมีความคิดที่จะเก็บคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ปรากฏตามสื่อหนังสือพิมพ์บ้าง สื่อทีวีบ้าง เช่น คำว่าเด็กแนว เด็กซิ่ล หรือเมื่อไม่กี่วันนี้มีอีกคำหนึ่ง" หลังจากนั้น พล.อ.เปรมได้หยุดคิด ก่อนที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะตะโกนบอกว่า "แอ๊บแบ๊ว" จากนั้น พล.อ.เปรมได้กล่าวต่อถ้าราชบัณฑิตฯเก็บคำศัพท์ใหม่ๆ ภาษาไทยก็จะงอกอย่างรวดเร็ว

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนที่ท่านประธานองคมนตรีจะมา ก็ได้ถาม ดร.กาญจนาว่า คำว่า "แอ๊บแบ๊ว" มาจำคำว่าอะไร ท่านก็บอกว่ามาจากคำภาษาอังกฤษ คือ "แอ๊บนอมอล" กับ "บ้องแบ๊ว" ก็ได้ ดร.กาญจนา ช่วยอธิบายได้เข้าใจมากขึ้น

คุณ หญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวอภิปรายในหัวข้อเรื่อง "การแก้วิกฤตภาษาไทย : มุมมองภาครัฐ" ว่า วิกฤตภาษาไทยมีมานานแล้ว ไม่ว่าการพูดเสียงเพี้ยน ไม่มีคำควบกล้ำ และรวบรัดคำมากเกินไป เช่น คำว่า กระทรวงวัฒนธรรม เป็น กระทรวงวัด คำว่า มหาวิทยาลัย เป็น มหาลัย ส่วนการอ่านมีปัญหาแบ่งวรรคตอนไม่ถูกต้อง สำหรับการเขียนส่วนใหญ่เรียบเรียงประโยคไม่ถูก ใช้คำฟุ่มเฟือย มีการนำคำภาษาต่างประเทศมาใช้โดยไม่จำเป็น และนำภาษาเฉพาะกลุ่มไปใช้ผิดกาละเทศะ ตลอดจนมีการตั้งชื่อเล่น ชื่อร้านค้า ชื่อสินค้าใหม่เป็นภาษาอังกฤษสูงขึ้น จึงถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ไข โดยเริ่มจากพ่อแม่ก่อน เพราะอยู่กับบุตรหลานมากที่สุด ส่วนสถาบันการศึกษาต้องปรับปรุงหลักสูตรใหม่หมด โดยให้นำการคัดไทย ย่อความ และเรียงความกลับมาใช้ในโรงเรียน

"อีกทั้งสถาบันสื่อมวลชนต้องมีจิต วิญญาณ รู้จักกาละเทศะในการใช้ภาษาไทยให้มากขึ้น ขณะนี้พิธีกรรายการโทรทัศน์ไม่ออกเสียงคำควบกล้ำ ร และ ล ซึ่งต้องให้แต่ละสถานีคัดพิธีกรที่ใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องออกไป ขณะเดียวกัน ต้องให้รางวัลแก่สถานีหรือองค์ที่ใช้ภาษาไทยดีเด่นด้วย" คุณหญิงไขศรีกล่าว

นาย วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ภาษาไทยวิกฤตไม่ใช่การใช้ภาษาเฉพาะกลุ่ม อย่างคำว่า แอ๊บแบ๊ว ชิวชิว หรือการร้องเพลงคล้ายกับคนป่วยของศิลปินนักร้อง เพราะภาษาดังกล่าวจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สิ่งที่น่าห่วงคือการใช้ภาษาไทยปนภาษาฝรั่ง และการออกเสียงภาษาไทยสำเนียงฝรั่งของดีเจ ตลอดจนการไม่ออกเสียงคำควบกล้ำ โดยเฉพาะประชาชนภาคเหนือและภาคอีสานไม่ยอมออกเสียงควบกล้ำ การใช้ภาษาพูดแทนภาษาเขียน ส่งผลให้การสื่อสารด้อยประสิทธิภาพ เกิดการใช้ภาษาผิดเพี้ยน ไม่มีความคงทนของภาษาไทย ทำให้ศักยภาพทางภาษา ความงดงาม และความไพเราะของภาษาไทยสูญหายตามไปด้วย

นายวรากรณ์กล่าว ว่า สาเหตุที่ภาษาไทยวิกฤตมี 7 ประการ ได้แก่
1.พ่อแม่ขาดสติปัญญาการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง นิยมให้บุตรหลานศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ
2.ภาครัฐและสังคมไม่สนใจภาษาไทย
3. เด็กไทยไม่อ่านหนังสือ หันไปสนใจโทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต อีกทั้งระบบโรงเรียนให้เรียนหนังสือมากไปจนเด็กเบื่อหน่ายที่จะอ่านหนังสือ นอกโรงเรียน ที่สำคัญสังคมไทยเป็นสังคมบอกเล่า ประชาชนชอบฟังมากกว่าอ่าน จึงเห็นด้วยที่จะผลักดันการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ
4.กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาแทรกแซงภาษาไทย
5.เทคโนโลยีทำให้ต้องย่นย่อคำให้กะทัดรัดในการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตและ การส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ
6.เทคโนโลยีทำให้เกิดค่านิยมกลุ่มย่อยเฉพาะในการสื่อสาร ซึ่งอยากต่อความเข้าใจของบุคคลนอกกลุ่ม
7.การสอนภาษาไทยอ่อน

http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A7455993/A7455993.html


( หลายๆคนในนี้อ่านแล้ว หวังว่าน่าจะซึมซับบ้างนะครับ)